Skip to main content

หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง

ผมไปเกียวโตครั้งแรกตั้งแต่ปีค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (CSEAS) มหาวิทยาลัยเกียวโตเชิญไปสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (workshop ก็คือ ไปอบรม เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างเข้มข้นนั่นแหละ) เป็นเวลา 5 วัน ตลอด 5 วันนั้นได้ความรู้และได้ใช้สมองมากมาย

ไปครั้งนั้น ผมได้ความรู้มากมาย ได้พบและแลกเปลี่ยนความคิดกับนักวิชาการใหญ่ๆ ของโลกอย่าง Anthony Reid ที่ใครก็ตามที่ศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สักเพียงเล็กน้อยก็ควรหางานเขามาอ่าน (มีแปลเป็นไทย) แต่ที่เหลือ ล้วนเป็นนักวิชาการจาก "ซีกโลกใต้" คือชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และชาวเอเชียตะวันออก รวมทั้งชาวญี่ปุ่นด้วย เพราะแม้ญี่ปุ่นผลิตความรู้มากมาย แต่ไม่ได้เป็นเจ้าโลกด้านสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้ผมอยากรู้เรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น

หลังจากนั้น เกียวโตเชิญร่วมกิจกรรมอีก 2 โครงการ โครงการหนึ่งเป็นผลจากการแลกเปลี่ยนความคิดกับหนังสือของ James Scott ชื่อ The Art of Not Being Governed: An Anarchist History of Upland Southeast Asia ("ศิลปะของการไม่ถูกปกครอง : ประวัติศาสตร์ชาวอนาธิปัตย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" พิมพ์ปี 2009) หนังสือเล่มนี้ถูกวิจารณ์ในแวดวงของผู้ที่ศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปทั่วโลก 

แต่กิจกรรมที่ CSEAS แห่งเกียวโตจัดคือ ไม่วิจารณ์แบบเสียๆ หายๆ แต่สร้างความรู้ขึ้นมาขยายความเข้าใจจาก Scott พร้อมกันนั้น ให้นักวิชาการจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้วิจารณ์ ในส่วนของผมเอง ผมอาศัยข้อมูลจากการศึกษาชาวไทในเวียดนาม มาใช้อ่านงาน Scott เล่มนี้ ซึ่งก็ทั้งได้ประเด็นจาก Scott และได้มีมุมแลกเปลี่ยนกับ Scott มากมาย สุดท้ายได้งานเขียนใหม่มาอีกชิ้นหนึ่ง ได้คิดเกี่ยวกับพื้นที่ศึกษาของตนเอง อย่างเชื่อมโยงกับประเด็นทางทฤษฎีเกี่ยวกับการก่อเกิดรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น

อีกโครงการหนึ่งเป็นการริเริ่มของนักประวัติศาสตร์ นักมานุษยวิทยา และนักวิทยาศาสตร์สิ้งแวดล้อมจากเกียวโต ไต้หวัน และหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (โดย Academia Sinica) ว่าด้วย "connectivity" หรือการเชื่อมต่อกันในหลายๆ ลักษณะของธรรมชาติ ผู้คน สังคม ซึ่งมีทั้งการแลกเปลี่ยนและต่อรองกับอำนาจในลักษณะต่างๆ 

โครงการนี้เป็นการทำงานข้ามสาขาวิชาและข้ามประเทศในซีกโลกใต้ โครงการนี้ไม่มีนักวิชาการจากซีกโลกเหนือร่วมเลยด้วยซ้ำ มีอยู่ 2 ครั้งที่โครงการนี้ไปสัมมนากันที่ Academia Sinica ในไทเป ทำให้ได้เห็นโลกทางวิชาการของไต้หวันพอสมควร โครงการนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2012-2014 เพิ่งสิ้นสุดลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เอง

จากการร่วมงานกับ CSEAS แห่งม.เกียวโตมา 6 ปี ผมเขียนบทความใหม่ๆ เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเวียดนามได้ 6 ชิ้น 

2 ชิ้นครึ่ง เป็นงานว่าด้วยวิธีวิทยาหรือแนวทางและท่าทีทางวิชาการของการศึกษาภูมิภาคนี้โดยชาวภูมิภาคเอง เขียนเป็นไทย 2 (หรือนับว่าชิ้นครึ่ง) และอังกฤษ 1 ผมเรียกมันว่า "เพื่อนบ้านศึกษา" (neighbor studies) ฉบับภาษาพิมพ์ไปชิ้นหนึ่งแล้วและกำลังจะพิมพ์อีก ส่วนฉบับภาษาอังกฤษ ยังไม่ได้พิมพ์

อีก 2 ชิ้นครึ่ง เป็นบทความภาษาอังกฤษชิ้นหนึ่ง กำลังเข้าสู่กระบวนการจัดพิมพ์แล้ว เป็นบทความจากโครงการที่แลกเปลี่ยนความคิดกับ James Scott ส่วนอีกชิ้นมาจากโครงการ connectivity ผมเขียนถึงนักวิชาการในเวียดนาม ในฐานะที่เป็นผู้ต่อรองอัตลักษณ์ระหว่างการเป็นชนกลุ่มน้อยกับการเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเวียดนาม ภาษาอังกฤษกำลังพัฒนาเพื่อตีพิมพ์ ภาษาไทยเผยแพร่แล้ว

อีกชิ้นหนึ่ง เป็นผลมาจากการอ่านงานเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วหันมาทำความเข้าใจพัฒนาการใหม่ในภูมิภาคนี้ คือการพัฒนา ASEAN ข้นมาเป็น "ประชาคมเศรษฐกิจ" ที่ในอนาคตจะพัฒนาต่อไปเป็นประชาคมอาเซียน ผมเขียนบทความตั้งคำถามกับประเด็นต่างๆ ที่อาเซียนให้ความสำคัญและไม่ให้ความสำคัญ งานชิ้นนี้เผยแพร่แล้ว หาได้ทางอินเตอร์เน็ต

ขณะนี้กำลังจะเขียนเพิ่มอีกหนึ่งชิ้น เป็นบททบทวนแนวทฤษฎีสำหรับศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผลมาจากการบรรยายที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา (เมื่อไหร่แน่ ชักจำไม่ได้แล้ว) 

ขอจบรายงานการทำงานกับ CSEAS แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต หากมีโอกาสได้ทำงานกับมหาวิทยาลัยเกียวโตอีก ก็คงได้เล่าเรื่องราวการเดินทาง พร้อมกับกับการแสวงหาทางปัญญาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันอีก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงผมก็นึกไม่ถึงว่าจะมีคนสนใจข่าวนี้กันมากนัก เรื่องอาจจะเป็นเพราะมีการใช้คำในการรายงานข่าวเบื้องต้นอย่างคลาดเคลื่อนไป ก็เลยทำให้เป็นที่น่าตกใจ แต่อีกนัยหนึ่งก็ชี้ให้เห็นปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนกระทั่งเมื่อมีการแสดงการต่อต้านด้วยการปฏิเสธที่จะอยู่ใต้อำนาจกดทับนั้น คนก็จึงตอบรับกันอย่างกระหน่ำ อย่างไรก็ดี ผมก็อยากชี้แจงให้กระจ่างเพิ่มเติมว่า ทำไมผมจึงเลือกที่จะแสดงสถานภาพในการเดินทางมาต่างประเทศของผมในครั้งนี้เพิ่มเติมผ่านข้อเขียนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพิ่งผ่านมาเพียง 5 เดือนอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะถามว่า หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้วขบวนการประชาชนจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่หากมองย้อนกลับไป แล้วมองไปข้างหน้าอีกสักหน่อย ก็น่าจะลองคิดถกเถียงกันบ้างว่า ขบวนการประชาชนน่าจะไปทางไหนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
TED รายการบรรยายสาธารณะที่มีชื่อเสียงและผมก็ติดตามเรียนรู้มาสม่ำเสมอ ได้เผยแพร่คลิปบรรยายของคีท เชน นักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอข้อถกเถียงว่า ภาษามีความเชื่อมโยงกับการออมตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ผมเพิ่งได้ยินเกี่ยวกับการศึกษานี้มาตั้งแต่ต้นภาคการศึกษานี้ในชั้นเรียนวิชามานุษยวิทยาภาษา ที่นักศึกษาคนหนึ่งเอ่ยถึงการศึกษานี้ และเพิ่งได้ดูด้วยตัวเองเมื่อ 3-4 วันก่อนนี้เอง เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยนำไปให้นักศึกษาดูและถกเถียงกันในชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การอัตวินิบาตกรรมของคุณนวมทอง ไพรวัลย์ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นัยหนึ่งถือว่าเป็นการประท้วงต่อการรัฐประหาร อีกนัยหนึ่งถือเป็นการยืนยันความจริงจังและบริสุทธิ์ใจต่ออุดมการณ์ อีกนัยหนึ่งอาจปลุกเร้าสำนึกของผู้ร่วมอุดมการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็เกรงว่าจะเป็นความสูญเสียที่สูญเปล่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแตกต่างจากการสอนหนังสือในระดับโรงเรียนก็คงจะตรงที่ว่า ผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนการสอนมาก่อน อาจจะมีการอบรมเรื่องการเรียนการสอนบ้าง มีการประเมินผลให้ผู้สอนพิจารณาปรับปรุงตนเองบ้าง มีการประเมินตนเองบ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว ผู้สอนมีส่วนสร้างระบบการเรียนการสอนด้วยตนเอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"อาร์บอรีทั่ม" (Arboretum) เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ร่วม 3 พันไร่ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สวนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่ก็อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก หากขยันเดิน สักชั่วโมงหนึ่งก็ถึง ถีบจักรยานไปก็สัก 20 นาที อาจเร็วกว่าขับรถที่ต้องเจอกับป้ายหยุด ทางแยก ไฟสัญญาณ กว่าจะถึงก็สัก 30 นาที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการมิได้มีสถานภาพพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ในสังคม เพียงแต่อาชีพนักวิชาการเป็นอาชีพที่ต้องพัฒนาความคิดความอ่านตลอดเวลา นักวิชาการจึงไม่ควรมีขอบเขตของความคิดความอ่าน พร้อมๆ กับที่ไม่ควรปิดกั้นขอบเขตของความคิดคนอื่น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กว่า 3 เดือนที่ผ่านมาผมไปชมการแสดงดนตรีไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ นึกเสียดายที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่มาเรียนไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เลย เมื่อวานนี้ (ตามเวลาที่อเมริกา) ผมก็เพิ่งออกจากห้องแสดงดนตรีมา จนทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า นี่ผมอยู่ในโลกไหนกัน แล้วทำไมที่ที่ผมอยู่เป็นปกติเขาถึงไม่ทำสถาบันการศึกษาให้เป็นสถานที่บ่มเพาะความเจริญของจิตใจได้อย่างนี้บ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดอร์ แรธสเคลเลอร์เป็นบาร์เบียร์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ตั้งอยู่ในตึกกิจกรรมนักศึกษา (ที่นี่เรียกว่า Memorial Union) ตึกกิจฯ นี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1928 โน่นเลย บาร์เบียร์แห่งนี้ก็น่าจะอายุไม่น้อยไปกว่าตึกที่มันอาศัยอยู่เท่าใดนัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเข้าร่วมกิจกรรมสังคมวิชาการซ้ำซ้อนกันหลายงาน ตั้งแต่บรรยายเรื่องการทำวิจัยในเวียดนามให้นักศึกษาบัณฑิตศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟัง ต่อด้วยปาร์ตี้ประจำปีของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหา'ลัยวิสคอนซิน ซึ่งเป็นงานแบบ potluck party และก็ฟองดูปาร์ตี้เล็กๆ ที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าขนมปังจุ่มชีสต้มเดือด ทั้งหมดนั้นได้อะไรสนุกๆ มามากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผ่านมาได้ 3 สัปดาห์ วิชาที่ผมสอนที่วิสคอนซินเริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆ ในห้องมีนักเรียน 10 คน ขนาดพอๆ กับที่เคยสอนที่ธรรมศาสตร์ แต่ที่ต่างคือในห้องเดียวกันนี้มีทั้งนักเรียนปริญญาตรี โท และเอกเรียนร่วมกัน เพียงแต่ข้อกำหนดของงานและความคาดหวังจากนักเรียนระดับ ป.ตรีกับ ป.โท-เอก ย่อมแตกต่างกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ท่านถามอย่างนี้กับสื่อมวลชน ต่อหน้าสาธารณชน ใครเขาจะกล้าตอบ ก็ในเมื่อท่านมีปืนอยู่ในมือ ใครเอาปืนจี้หัวท่านไว้แล้วท่านจะตอบความในใจที่ขัดความรู้สึกเขาได้ไหมล่ะ เรื่องแค่นี้น่าจะเข้าใจนะ