Skip to main content
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้

 
ผมได้คำตอบว่า อาการโกรธนี้เป็นอาการเหมือนคนอกหัก อกหักจากการที่ถูกฝรั่งที่พวกเขาเฝ้าทะนุถนอม บูชา และอยากเลียนแบบให้เหมือนมาตลอดชีวิต กลับมาหักหลังพวกเขา พวกเขาโกรธเพราะพวกเขาจงรักภักดีต่อพ่ออเมริกัน พ่อยุโรป พ่อฝรั่งหัวแดงเหล่านี้มาตลอดชีวิต พวกเขาไม่เข้าใจว่า ถึงขนาดนี้แล้ว เหตุใดพวกเขาจึงยังถูกหักหลัง ถูกทิ้งขว้างจากพ่อฝรั่งเหล่านี้
 
แต่ลึกลงไปกว่านั้นคือ ผมคิดว่าพวกเขาโกรธฝรั่งก็เพราะค่านิยมที่ฝรั่งสนใจเรียกร้องในขณะนี้ ขัดแย้งกับการพยายามรักษาตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขาในเวทีอำนาจขณะนี้
 
ถ้าไปถามพวกเขา เขาจะไม่ยอมรับหรอกว่าโกรธเพราะเหตุนี้ แต่ลองค่อยๆ พิจารณาดูว่า เป็นจริงอย่างที่ผมเข้าใจหรือไม่ ลองนึกดูว่า แต่ละคนที่ออกมาแสดงอาการรังเกียจฝรั่ง แท้จริงแล้ว พวกเขานั่นแหละที่เป็นผู้นำของการนำเข้าวัฒนธรรมฝรั่ง พวกเขานั่นแหละที่บูชาฝรั่งจะตายไป 
 
นับตั้งแต่นักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกากลุ่มหนึ่ง คนกลุ่มนี้เป็นลูกหลานของพวกทาสนโยบายสงครามเย็นของอเมริกัน ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าร่ำเรียนมาจากสหรัฐอเมริกา แต่กลับมาประณามว่าอเมริกันแทรกแซงไทย พวกเขาไม่รู้หรอกหรือว่า อเมริกันแทรกแซงไทยมาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อคุณแม่พวกเขา และก็แทรกแซงให้พวกเขาไปร่ำไปเรียนกลับมา แล้วทำไมจึงเพิ่งจะมาว่าอเมริกันแทรกแซงตอนนี้ ตอนนั้นที่พวกนักศึกษาเดินขบวนประท้วงการแทรกแซงของอเมริกันน่ะ พวกคุณไปอยู่ไหนล่ะ ถ้าไม่ใช่กำลังมัวเมากับอเมริกันอยู่นั่นแหละ
 
ลองดูอีกคนที่ออกมาประณามฝรั่ง รายนี้เป็นนักแต่งเพลง จะแต่งเพลงแต่ละทีก็ต้องดูเทรนในยุโรป ในอเมริกา หากจะไม่ถึงกับลอกมาทั้งดุ้น เพลงไทยกลายเป็นเพลงแบบที่เราได้ฟังกันในยุคนี้ได้อย่างไร ก็ด้วยการฉีกตัวเองออกมาจากเพลง "ไทยเดิม" ด้วยการเดินตามแนวเพลงต่างประเทศ จากยุโรป จากอเมริกาแบบแนวของนักแต่งเพลงผู้นี้นั่นแหละ 
 
เมื่อเทียบกับเพลงยุคก่อนหน้าเพลงวัยรุ่นปัจจุบัน อย่างเพลงสุนทราภรณ์ เพลงลูกกรุง สมัยนั้นเขายังนำเพลงไทยเดิมมาดัดแปลงให้เข้ากับเพลงสากล แต่เพลงวัยรุ่นปัจจุบันเป็นอย่างไร ยังเหลือกลิ่นอายของเพลงไทยเดิมแค่ไหน ไม่มีเอาเสียเลย แม้แต่เนื้อเพลงก็ยังเลิกใช้สัมผัสแบบกลอน กันไปแล้ว แถมยังมีการใช้สัมผัสแบบฝรั่งเสียอีก
 
ส่วนอีกคน จะหาซื้อข้าวของอะไรให้ลูกหลานที ก็ต้องซื้อของยุโรป รถยนต์เอเชียดีๆ มีตั้งมากมายทำไมไม่ซื้อให้หลาน ที่จริงตัวอย่างแบบนี้มีมากมาย เราก็รู้ๆ กันอยู่ว่าบรรดาไฮโซไทยนั้น ลุ่มหลงสินค้าฝรั่งแค่ไหน กระทั่งบินไปซื้อหากันถึงที่ พวกที่ไม่มีปัญญา ไม่มีเงินพอ ก็กระเสือกกระสนหาซื้อของมือสอง ไม่ก็หาของปลอมมาหิ้วไปหิ้วมาให้หายปมด้อย
 
แล้วการต่อต้านก็แสดงนิสัยการบริโภคของพวกเขาเองนั่นแหละ ที่เป็นทาสฝรั่งอยู่ก่อนแล้ว บ้างก็ว่าจะเลิกกินไวน์ กินเหล้าจากยุโรป อเมริกาแล้ว จะไม่เข้าร้านนั้นร้านนี้แล้ว โถ่ ก็มีแต่พวกเขาเหล่านั้นนั่นแหละที่เป็นทาสสินค้าฝรั่ง คนทั่วไปเขาไม่ได้เป็นทาสฝรั่งมากเท่าพวกคุณจนต้องลุกมาต่อต้านฝรั่งกันตอนนี้หรอก
 
หันไปดูพวกคลั่งมาตรฐานการพูดภาษาอังกฤษ ตอนนั้นก็ว่ากันเสียๆ หายๆ ว่าผู้นำประเทศพูดภาษาอังกฤษไม่เป็น พูดไม่ชัด พูดไม่ถูกไวยากรณ์ สู้ผู้นำการเคลื่อนไหวมวลชนต่อต้านรัฐบาลก็ไม่ได้ สู้หัวหน้ารัฐบาลก่อนหน้าก็ไม่ได้ อย่างนี้ถ้าไม่เรียกว่าเป็นทาสฝรังแล้วจะเรียกอะไร 
 
ภาษาที่ใช้สื่อสารได้รู้เรื่องกับภาษาตามหลักไวยากรณ์นั่นเรื่องหนึ่ง สำเนียงเหมือนเจ้าของภาษากับสำเนียงต่างถิ่นนั่นอีกเรื่องหนึ่ง ผู้ใช้ภาษาอังกฤษในโลกนี้ส่วนใหญ่เขาไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้มากนัก การเหยียดหยามกันด้วยความคิดเรื่อง "ความเป็นมาตรฐาน" ของภาษา เป็นอุดมการณ์ภาษาอย่างหนึ่ง ประเทศไทยเป็นประเทศที่คลั่งภาษามาตรฐาน เป็นประเทศที่ใช้ภาษามาตรฐานกดขี่ ย่ำยี ทำลายภาษาถิ่น ล้างผลาญภาษาที่หลากหลายมาตลอด ต่างกับหลายๆ ประเทศในโลกนี้
 
วิธีคิดเกี่ยวกับภาษามาตรฐานของคนไทยจึงระบาดไปถึงการตัดสินความเป็นมาตรฐานของภาษาต่างประเทศไปด้วย ทั้งๆ ที่คนยุโรป คนอเมริกัน และคนใช้ภาษาอังกฤษอื่นๆ ในโลกเขาไม่ได้จำเป็นต้องเข้าใจแบบเดียวกันนี้ ดูอย่างคนสิงคโปร์ คนอินเดีย คนมาเลเชีย ที่อัตราการรู้ภาษาอังกฤษสูงกว่าคนไทยลิบลิ่ว เขายังไม่มาตัดจริตพูดสำเนียงอังกฤษมาตรฐานแบบที่คนไทยบางกลุ่มเรียกร้องคนไทยด้วยกันเองเลย เขาไม่เห็นจะต้องมาบูชาการพูดภาษาอังกฤษให้เหมือนฝรั่ง แบบที่คนไทยบางกลุ่มบูชาฝรั่งเลย
 
นักประวัติศาสตร์อย่างธงชัย วินิจจะกูลเคยสรุปเอาไว้ว่า ชนชั้นนำสยามในศตวรรษที่ 19 จัดลำดับวิวัฒนาการทางสังคมให้ชาวป่าอยู่ต่ำสุด สูงขึ้นมาคือชาวบ้าน สูงกว่านั้นคือชาวเมือง แต่สูงที่สุดคือชาวตะวันตก ชนชั้นนำไทยบูชาฝรั่งมาตลอด ตามก้นฝรั่งมาตลอด มาวันนี้กลับจะมาต่อต้านฝรั่งน่ะ เป็นไปได้ไม่ตลอดหรอก
 
หากแต่เรื่องสำคัญกว่านั้นคือ ชนชั้นนำไทยไม่เพียงสนใจแต่เปลือกนอกของวัฒนธรรมฝรั่ง สนใจแต่สิ่งฉาบฉวย สนใจแต่ความเป็นฝรั่งที่ให้ความสะดวกสบาย แต่ชนชั้นนำไทยยังสนใจแต่ความเป็นฝรั่งที่เสริมต่อความเป็นชนชั้นสูงของพวกตน ยามที่ฝรั่งหยิบยื่นอำนาจวาสนา หยิบยื่นกำลัง พลานุภาพให้ พร้อมๆ กับความสะดวกสบายและหน้าตาของข้าวของเครื่องใช้ ลีลาของการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่ยกพวกตนให้สูงเหนือคนสามัญ ชนชั้นนำย่อมยินดี 
 
แต่เมื่อใดที่ฝรั่งเปลี่ยนไป เมื่อฝรั่งสอนอะไรที่ทำลายฐานะของตนเอง เมื่อฝรั่งส่งเสริมการทำลายสถานภาพพิเศษของตนเอง พวกเขาก็ไม่อยากรับ ไม่เอาด้วยกับสาระของคำสอนฝรั่งเหล่านั้น พอฝรั่งเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องประชาธิปไตย เรื่องเสรีภาพ เรื่องความเสมอภาค เรื่องเหล่านี้มันรบกวนสถานภาพของชนชั้นนำ พวกเขาจึงหงุดหงิด ต่อต้าน และแสดงอาการอกหักกับความภักดีที่ตนเคยมีให้อย่างสุดจิตสุดใจต่อฝรั่ง
 
นักศึกษาทางวัฒนธรรมที่ไม่หยุดความคิดตนเองไว้ด้วยแนวคิดวัฒนธรรมแบบเมื่อร้อยปีก่อนย่อมรู้ดีว่า วัฒนธรรมนั้นไหลเวียน ติดต่อ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และวัฒนธรรมไม่ได้ตัดขาดจากกระบวนการต่อสู้ ขัดแย้งกันของอำนาจ ยิ่งกว่านั้น วัฒนธรรมท้องถิ่นกับวัฒนธรรมสากลผสมผสาน ปรับปรุงกันไปมาเสมอ เมื่อโลกหันทิศทางไปสู่การส่งเสริมวัฒนธรรมเสรีนิยม วัฒนธรรมเสมอภาคนิยม และวัฒนธรรมประชาธิปไตย วัฒนธรรมอำนาจนิยมก็จะต้องถูกท้าทายตลอดไป
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา