Skip to main content
 
 
เมื่อวันจันทร์ (11 สค.) หลังจากใช้เวลาอยู่ใน Field Museum (ซึ่งพอดีมีนิทรรศการว่าด้วยกำเนิดของ Field Museum ที่เกี่ยวข้องกับกำเนิดของมานุษยวิทยาอเมริกันอย่างยิ่ง) ไปกว่า 4 ชั่วโมงแล้ว ผมลังเลอย่างยิ่งที่จะเข้าชม The Art Institute of Chicago ต่อ เพราะเกรงว่าจะไม่ทันได้ครุ่นคิดอะไรกับความรู้และความรู้สึกแบบอัดแน่นจากเมื่อ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา 

 
แต่แล้วผมก็ตัดสินใจเข้าสถาบันศิลปะทั้งๆ ที่มีเวลาเพียงอีกหนึ่งชั่วโมงครึ่งก็จะถึงเวลาปิดแล้ว มีสิ่งเดียวที่ดึงผมเข้าไปได้ในเวลาที่เหลือน้อยนิด นั่นก็คือภาพเรอเน มากริตต์ขนาดมหึมาหน้าสถาบันศิลปะแห่งนี้ 
 
อย่างที่หลายๆ คนทราบดีอยู่แล้วว่า สถาบันศิลปะแห่งนี้มีคอลเล็คชั่นงานศิลปะจำนวนและชิ้นงานสำคัญๆ เทียบกันไม่ได้กับสถาบันศิลปะแห่งอื่นๆ เช่น หากจะเทียบงานศิลปะสมัยใหม่แล้ว ก็เทียบไม่ได้เลยกับ the MoMA ของนิวยอร์ค แต่จากการใช้เวลาโฉบๆ ชมและถ่ายรูปแบบไวๆ ก็พบว่าที่นี่ก็พอจะมีงานชิ้นดังๆ เท่าที่ความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลป์อันจำกัดของผมจะประเมินได้อยู่นับสิบชิ้น
 
แต่ที่เกินคาดและผมถือว่าคุ้มค่าเป็นส่วนตัวคือการแสดงนิทรรศการพิเศษที่รวมรวมผลงานของมากริตต์น่าจะนับ 100 ชิ้นมาแสดงในช่วงเวลาที่ผมไปเยี่ยมชมพอดี ภาพหลายภาพ ผลงานหลายชิ้น ล้วนผ่านหูผ่านตามาหลายต่อหลายครั้ง หลายคนก็คงเคยเห็นและติดตาติดใจ แต่โอกาสที่จะได้เห็นภาพต้นฉบับอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ คงเป็นไปได้ยากมาก เสียดายที่เขาไม่ให้ถ่ายภาพ
 
ผลงานเท่าที่ผมจดมาตามความประทับใจที่มีอยู่เดิมต่อภาพเหล่านี้ก็ได้แก่ The Lovers ภาพคนคลุมผ้าจูบกัน, This is not a pipe อันโด่งดัง, Threatening Weather เมฆก่อรูปความฝัน, The False Mirror ดวงตาสะท้อนท้องฟ้า, The Human Condition ภาพทิวทัศน์ที่สนิทกับทิวทัศน์, The Rape ที่ผมบันทึกมา, Black Magic ภาพนู๊ดลวงตาที่ไม่ค่อยพูดถึงกันนัก
 
The Red Model ภาพรองเท้ารูปเท้า, The Healer คนใส่หมวกคลุมผ้าตัวเป็นกรงนก, Clairvoyance ศิลปินวาดรูปไข่แต่กลายเป็นนกในผ้าใบ, Time Transfixed รถไฟวิ่งออกมาจากเตาผิงข้างผนัง ที่จริงมีงานอื่นๆ อีกมากมาย แต่ผมเลือกงานเหล่าน้เพราะติดตาประทับใจเองมาเนิ่นนานแล้ว
 
 
เมื่อเทียบกับภาพเขียนพวกเซอร์เรียลคนอื่นๆ ผมชอบมากริตต์ตรงที่การใช้ภาพและสัญลักษณ์ที่ปกติสามัญทั่วไป แถมยังใช้สีเรียบง่าย สดใส และมักใช้เทคนิคการเขียนภาพแบบสมจริง แต่กลับสามารถตั้งคำถามและสร้างความรู้สึกแปลกใหม่ได้อย่างน่าประหลาด มากริตต์ไม่ค่อยเล่นกับเซ็กซ์และความรุนแรงอย่างตรงไปตรงมาหรือเกรี้ยวกราดมากนัก แต่เขาจะอาศัยรูปสัญลักษณ์ที่ต้องตีความ ที่จริงก็มีบ้างเหมือนกันที่เขาวาดรูปคนกินนกแบบสดๆ เลือดสาด แต่ก็ต้วยโทนสีที่เงียบสงบ ที่จะมียากบ้างก็บรรดาสัญลักษณ์เฉพาะตัวของเขาเองที่กลายเป็น motif เฉพาะตัวของเขา เช่นเมฆ หมวก กระดาษตัด เสาประดับโค้งๆ ดวงตา
 
ในแง่ความคิด ผมชอบงานมากริตต์ตรงที่งานเขาตั้งคำถามกับการถ่ายทอดความจริงทางศิลปะ เช่น การเล่นกับภาพแทนความจริงผ่านการล้อเลียนภาพสามมิติด้วยการทำให้มันสองมิติ การเล่นกับภาพลวงตาที่ประกอบจากมุมมองและการจัดวางภาพ การพิจารณาความซับซ้อนและทับซ้อนกันของอักษร ภาพ และความจริง เช่นภาพอันโด่งดังคือ This is not a pipe. และการท้าทายความเข้าใจแบบปกติสามัญด้วยการนำเอาสัญลักษณ์ที่ไม่เข้ากัน ไม่เป็นระบบต่อเนื่องกัน อยู่กันคนละที่ละทางมาวางไว้ด้วยกันจนเกิดความหมายแปลกใหม่ เกิดความรู้สึกประหลาด
 
ประเด็นเหล่านั้นบอกเล่าอยู่ในนิทรรศการพิเศษนี้อย่างครบครันด้วยคำบรรยายภาพมากมาย จนกระทั่งบางครั้งผมดูไปอ่านไปแล้วรู้สึกว่ามันมากเกินไปด้วยซ้ำ
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มาดูภาพด้วยตาตนเองอย่างใกล้ชิดแล้ว ก็เห็นความพิถีพิถันประณีตบรรจงในการทำงานศิลปะของมากริตต์ ผลงานของมากริตต์ส่วนใหญ่เป็นภาพสีน้ำมัน ขนาดไม่ใหญ่มาก แต่บางภาพก็ใหญ่มาก เมื่อได้ดูภาพใกล้ๆ จนได้เห็นฝีแปรงพู่กัน ได้เห็นการสอดสี ก็ทำให้เข้าใจวิธีการสร้างภาพของมากริตต์ ที่อาศัยเทคนิคแบบภาพสมจริงเป็นหลัก แต่สร้างความไม่สมจริงจากการประกอบภาพ อย่างไรก็ตาม มากริตต์ก็ทดลองสร้างภาพที่สื่อสารกันระหว่างภาพวาดหลายๆ ภาพ ข้ามกรอบรูปด้วยเช่นกัน ผลงานของเขาลางชิ้นจึงไม่ได้เป็นเพียงภาพๆ เดียวโดดๆ แต่ประกอบจากหลายๆ ภาพ
 
นอกจากนั้น การได้มาดูเองยังทำให้ได้เห็นขนาดของภาพ สี และแสง ที่แตกต่างจากที่เคยคิดเคยเห็นหรือไม่มีโอกาสจินตนาการได้ชัดเจนเท่ากับที่เมื่อได้เห็นภาพต้นฉบับ เช่น This is not a pipe. นั้น มีขนาดใหญ่กว่าที่ผมเคยจินตนาการไว้มากนัก นอกจากนั้นงานครั้งนี้ยังรวบรวมเอาภาพถ่ายและภาพพิมพ์จำนวนหนึ่งของมากริตต์มาแสดงด้วย ทำให้ได้เห็นผลงานที่มักไม่ค่อยเห็นกันนักมากขึ้น แต่ที่น่าผิดหวังหน่อยหนึ่งคือ เขาน่าจะนำภาพยนตร์ที่มากริตต์น่าจะมีส่วนร่วมสร้างกับศิลปินคนอื่นๆ มาแสดงบ้าง 
 
ณ ที่ซึ่งเคยเก็บทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์มาก่อนแห่งนี้ ยังมีผลงานศิลปะเอเชีย ศิลปะยุโรป และศิลปะอเมริกันพื้นเมืองอีกมากมายที่ผมยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากพอในการศึกษา-ชื่นชม แม้จะถูกตราหน้าว่า "ซื้อของโจร" มาก่อนแล้วก็ตาม สถาบันแห่งนี้ก็ยังมีบทบาทสำคัญในการให้การศึกษาเทียบเคียงสุนทรีย์ศาสตร์ทั้งที่หลากหลายและที่เป็นสากลของมนุษยชาติผ่านวัตถุทางศิลปะ ทั้งแก่ชาวเมืองนี้เองและผู้เข้าเยี่ยมชมจากทั่วโลก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย วันที่ 23 เมษายน 2557
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากอำมาตย์ชนะ...โลกวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การบอกเล่าเรื่องราวของ "คนอื่น" ที่ต่างจากเรามากๆ ให้ "พวกเรา" อ่าน อย่างมากก็ทำได้แค่ บอกเล่าผ่านถ้อยคำ ผ่านประสบการณ์ที่ "พวกเรา" ต่างคุ้นเคยกันดี พูดอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องคนอื่นคือ "การแปล" หรือ "การแปร" เรื่องที่แตกต่างให้คุ้นเคย เป็นการดัดแปลงของคนอื่นให้เราเข้าใจในภาษา ในสัญญะแบบที่พวกเราเองรับรู้อยู่ก่อนแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดท้ายชั้นเรียนวิชา "มานุษยวิทยาอาหาร" กับนักเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกเมื่อสองวันก่อนด้วยมื้อการไปกินอาหารไทยพื้นๆ แสนอร่อยราคาประหยัดที่แพร่งภูธร พระนคร ตลอดภาคการศึกษา พวกเราพยายามเข้าใจอาหารผ่านหลายๆ คำถาม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (13 กพ. 57) ไปเยี่ยมชม Kyoto Museum for World Peace ตามคำบอกเล่าของหลายๆ คน และตามความประสงค์ของผู้ร่วมเดินทาง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชวนให้คิด มีถ้อยคำหลอกหลอนมากมาย มีภาพความรุนแรง มีบทเรียนที่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ มีการเห็นคนไม่เป็นคน และสุดท้ายสะท้อนใจถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย