Skip to main content

ท่านถามอย่างนี้กับสื่อมวลชน ต่อหน้าสาธารณชน ใครเขาจะกล้าตอบ ก็ในเมื่อท่านมีปืนอยู่ในมือ ใครเอาปืนจี้หัวท่านไว้แล้วท่านจะตอบความในใจที่ขัดความรู้สึกเขาได้ไหมล่ะ เรื่องแค่นี้น่าจะเข้าใจนะ

 
ที่จริงประเทศชาติเสียหายตั้งแต่ท่านยังไม่ได้ยึดอำนาจแล้ว ตั้งแต่ท่านไม่ปกป้องประชาชนยังไม่พอแต่กลับร่วมสังหารประชาชนเมื่อปี 2553 แล้ว แต่ท่านไม่ยอมรับความผิดพลาดของตนเอง แล้วยังมาก่อความเสียหายเพิ่มอีก 
 
แต่ก็เอาล่ะ พูดกันดีๆ ก็ได้ คงมีหลายคนตอบคำถามนี้ไปแล้ว ผมแค่อยากตอบในแบบของผมบ้าง
 
ข้อแรก "ประชาชนสูญเสียสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน" สิ่งนี้ชาวโลกปัจจุบันเขาเรียกกันว่าสิทธิมนุษยชน (ไม่ทราบว่าเรียนกันบ้างไหมในโรงเรียนทหารน่ะ แล้วเรียนเพื่อให้ดื่มด่ำซึมซับหรือเรียนเพื่อหาวิธีละเมิดแบบนุ่มนวลไร้ร่องรอยกันแน่) ประเทศไทยก็ยอมรับสิ่งนี้ ถ้ารัฐบาลของท่านจะไม่ยอมรับก็ประกาศมาเลยตรงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อมว่าเคารพแต่จะไม่ปฏิบัติตาม
 
เอาง่ายๆ นักวิชาการจะจัดสัมมนาให้ความรู้นักศึกษาและประชาชนเรื่องประชาธิปไตยแม้แต่ในรั้วมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ ใครจะเดินขบวนประท้วงโดยสงบแม้ว่าจะเป็นเรื่องปากท้องก็ไม่ได้ ใครจะวิจารณ์ก็ไม่ได้ ฯลฯ แถมท่านยังไม่เคลียร์ว่าคนที่ถูกจับไปทำไมเขาต้องหนีเมื่อถูกปล่อยตัวมา ทำไมถูกจับเกินกำหนดเวลาของกฎหมาย ทำไมมีคำบอกเล่ามากมายว่าลูกน้องท่านทรมานหรือคุกคามว่าจะทำร้ายพวกเขา นี่ยังไม่นับการอ้างกฎหมาย 112 มาใช้คุกคามประชาชน
 
ข้อสอง "วิถีประชาธิปไตยหยุดชะงักลง" โดยไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาได้ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น พัฒนาการในระดับท้องถิ่นในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญ จนทำให้ประชาธิปไตยเริ่มลงหลักปักฐานในท้องถิ่น การระงับการเลือกตั้งท้องถิ่นส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการกระจายอำนาจ กระทบกระบวนการตัดสินใจในท้องถิ่น กระทบพัฒนาการของเครือข่ายประชาชนในท้องถิ่น
 
ผลเสียร้ายแรงคือการทำให้การเมืองแบบตัวแทนไร้ความหมาย ทำให้การเมืองไทยย้อนกลับไปสู่การเมืองที่ระบบตัวแทนล้มเหลวอีกครั้ง เนื่องจากการรวบอำนาจกลับคืนสู่กลุ่มบุคคลไม่กี่คน รวบอำนาจสู่ข้าราชการ นักธุรกิจ และนักวิชาการไม่กี่คน ยิ่งพวกท่านคงอำนาจไว้นานเท่าไหร่ ระบบประชาธิปไตยก็จะยิ่งเสื่อมทรามลง ประชาธิปไตยสมบูรณ์อะไรของท่านน่ะ ไม่ต้องพูดถึงหรอก ดูจากที่ท่านบริหารประเทศมาเกือบ 4 เดือนแล้ว ท่านไม่รู้ด้วยซ้ำว่าประชาธิปไตยคืออะไร จะมาสร้างความสมบูรณ์ให้ได้อย่างไร
 
ข้อสาม "สูญเสียธรรมาภิบาลของการบริหารประเทศ" หลักการข้อหนึ่งทำสำคัญของระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบันคือการแยกอำนาจเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลกันและกัน ทุกวันนี้ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นอะไรได้เลย เพราะไม่มีทางที่ประชาชนจะตรวจสอบการบริหารงานของพวกท่านได้ สภานิติบัญญัติพวกท่านก็ตั้งขึ้นเอง รัฐบาลพวกท่านก็ตั้งขึ้นเอง พวกท่านไม่มีโยงใยอะไรกับประชาชนเลย จะให้ประชาชนเชื่ออะไรได้ ท่านจะอยู่ในตำแหน่งนานแค่ไหนก็ไม่มีใครรู้ ขณะนี้แม้แต่อัยการสูงสูดยังหวั่นเกรงว่าท่านจะเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญของพวกเขาเลย
 
เมื่อไม่มีการตรวจสอบการใช้อำนาจโดยประชาชน แม้แต่วิจารณ์ก็ยังไม่ได้ ไม่ชอบ ไม่อยากฟัง หงุดหงิดไปหมด อยากจับไปหมด แล้วใครจะรับรองพวกท่าน จะให้เชื่อตามเพลงท่านอย่างเดียวน่ะเหรอ ไม่ตลกฝืดไปหน่อยหรือ มีเด็กอมมือที่ไหนเชื่อท่านบ้างถ้าท่านไม่มีปืนน่ะ ธรรมาภิบาลตามเสียงเพลงท่านน่ะเหรอ
 
ข้อสี่ "ทิศทางของประเทศสั่นคลอน" เมื่อไม่มีการตรวจสอบอำนาจรัฐได้อีกต่อไป อนาคตของประเทศจะไปทางไหนไม่มีทางรู้ ระบบเส้นสายจะกลับมาในระบบราชการ ทั้งจะมีสร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่เอื้อกับคนบางกลุ่มบางพวก ท่านบอกเองว่าท่านไม่ได้มาจากประชาชน นโยบายท่านก็จึงไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน พวกคนเก่งรายล้อมท่านน่ะ มีสักกี่คนกันที่เข้าใจตาสีตาสา มีสักกี่คนที่เอาใจชาวบ้านมาใส่ในนโยบาย 
 
เมื่ออำนาจการกำหนดชะตาของประเทศอยู่ในมือพวกท่านไม่กี่คนอย่างลึกลับตรวจสอบไม่ได้ ใครที่ไหนจะอยากมาลงทุนในประเทศนี้อีกต่อไป ท่านคิดว่าเงินทองที่ท่านใช้อยู่มาจากน้ำพักน้ำแรงของชาวไร่ชาวนาแล้วขายข้าวพวกนั้นมาซื้ออาวุธ มาหาน้องๆ หนูๆ บำเรอปรนเปรอพวกท่านได้เหรอ ท่านไม่ได้เข้าใจอะไรง่ายๆ แค่นั้นใช่ไหม เงินตราต่างประเทศที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในรูปการท่องเที่ยว ที่มาลงทุนในโครงการต่างๆ ท่านจะบอกว่าไม่สำคัญเหรอ แล้วถ้าพวกเขาไม่มั่นใจที่จะมาเที่ยว ไม่รู้ว่าลงทุนไปแล้วอนาคตพวกคนเก่งรอบตัวท่านจะเสนอนโยบายอะไร ใครจะอยากมาลงทุน
 
ข้อห้า "ทำลายการศึกษา" ข้อนี้เป็นความสนใจส่วนตัวของผมเองในฐานะคนในระบบการศึกษา ค่านิยม 12 ประการของท่านไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาความคิดความอ่านเลย หากไม่นับการลิดรอนเสรีภาพที่พวกท่านทำกันรายวันแล้ว ค่านิยม 12 ประการกลับส่งเสริมระบบคุณค่าแบบอาวุโส อำนาจนิยม และลดทอนคุณค่าความเป็นคนให้อยู่ใต้ความนิยมต่อความเชื่อไร้เหตุผล สร้างความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ความเป็นไทย ทั้งยังส่งเสริมระบอบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความก้าวหน้าของสังคม
 
นอกจากนั้น การหว่านโปรยเศษอำนาจของพวกท่านให้กับผู้บริหารมหาวิทยาลัยส่งผลเสียต่อการบริหารมหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง เอาง่ายๆ ว่า จะเป็นไปได้อย่างไรที่ใครจะสามารถทำงานเต็มเวลาได้มากกว่าหนึ่งงาน ท่านนายกรัฐมนตรีเองก็เหมือนกัน ที่ทำอยู่ทุกวันนี้หลายๆ ตำแหน่งน่ะ ทำได้ดีสักตำแหน่งหรือ ผลเสียอีกประการที่สำคัญคือ เมื่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าไปรับใช้เผด็จการแล้ว เสรีภาพในการแสดงออกในมหาวิทยาลัยจะยังมีอยู่ได้อย่างไร หากการศึกษาไม่ได้วางอยู่บนเสรีภาพในการแสดงออก การศึกษาจะก้าวหน้าไปได้อย่างไร
 
ข้อหก "ทำลายชื่อเสียงของประเทศชาติ" ชื่อเสียงของประเทศชาติย่อยยับไปตั้งแต่วินาทีที่ท่านทำรัฐประหารแล้ว นี่ท่านยังไม่รู้ตัวอีกหรือ ไม่มีใครบอกความจริงข้อนี้กับท่านบ้างเลยหรือ แล้วการแสดงปาฐกถารายสัปดาห์ของท่าน การแสดงทัศนะต่อเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ของท่าน การใช้คำพูดดูถูกผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตของท่าน การพูดจาดูหมิ่นคนที่ท่านกล่าวหาว่าเป็นอาชญากร ตลอดจนการใช้วาจาที่ไม่รู้จักระงับควบคุมตัวเอง ตีสำนวนราวกับไม่รู้ฐานะว่าตนเองเป็นผู้นำของชาติอยู่ ใช้วาจาไม่เคารพให้เกียรติประชาชนที่จ่ายภาษีเลี้ยงดูพวกท่านอยู่
 
เหล่านี้ทำลายชื่อเสียงของประเทศชาติอย่างย่อยยับ ทำให้ไทยกลายเป็นเมืองที่น่าขบขันปนน่าสมเพชมากกว่าตลกอย่างบันเทิง ทำให้คนไทยทั้งชาติดูเป็นคนไม่รู้กาละเทศะแบบผู้นำ ทำให้คนไทยดูเสื่อมทรามทางมนุษยธรรมที่กล่าวร้ายได้แม้กระทั่งเหยื่อของอาชญากรรม ฯลฯ เสื่อมเสียความน่าคบหา ไม่น่ามาเยี่ยมเยือน น่าอับอายในหลายด้านเสียจนสุดจะพรรณนาในพื้นที่แคบๆ ได้
 
แค่นี้เพียงพอไหมที่จะตอบว่าประเทศชาติเสียหายอะไรบ้างตั้งแต่วินาทีที่ท่านทำรัฐประหารเข้ามาบริหารประเทศ
 
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงผมก็นึกไม่ถึงว่าจะมีคนสนใจข่าวนี้กันมากนัก เรื่องอาจจะเป็นเพราะมีการใช้คำในการรายงานข่าวเบื้องต้นอย่างคลาดเคลื่อนไป ก็เลยทำให้เป็นที่น่าตกใจ แต่อีกนัยหนึ่งก็ชี้ให้เห็นปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนกระทั่งเมื่อมีการแสดงการต่อต้านด้วยการปฏิเสธที่จะอยู่ใต้อำนาจกดทับนั้น คนก็จึงตอบรับกันอย่างกระหน่ำ อย่างไรก็ดี ผมก็อยากชี้แจงให้กระจ่างเพิ่มเติมว่า ทำไมผมจึงเลือกที่จะแสดงสถานภาพในการเดินทางมาต่างประเทศของผมในครั้งนี้เพิ่มเติมผ่านข้อเขียนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพิ่งผ่านมาเพียง 5 เดือนอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะถามว่า หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้วขบวนการประชาชนจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่หากมองย้อนกลับไป แล้วมองไปข้างหน้าอีกสักหน่อย ก็น่าจะลองคิดถกเถียงกันบ้างว่า ขบวนการประชาชนน่าจะไปทางไหนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
TED รายการบรรยายสาธารณะที่มีชื่อเสียงและผมก็ติดตามเรียนรู้มาสม่ำเสมอ ได้เผยแพร่คลิปบรรยายของคีท เชน นักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอข้อถกเถียงว่า ภาษามีความเชื่อมโยงกับการออมตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ผมเพิ่งได้ยินเกี่ยวกับการศึกษานี้มาตั้งแต่ต้นภาคการศึกษานี้ในชั้นเรียนวิชามานุษยวิทยาภาษา ที่นักศึกษาคนหนึ่งเอ่ยถึงการศึกษานี้ และเพิ่งได้ดูด้วยตัวเองเมื่อ 3-4 วันก่อนนี้เอง เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยนำไปให้นักศึกษาดูและถกเถียงกันในชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การอัตวินิบาตกรรมของคุณนวมทอง ไพรวัลย์ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นัยหนึ่งถือว่าเป็นการประท้วงต่อการรัฐประหาร อีกนัยหนึ่งถือเป็นการยืนยันความจริงจังและบริสุทธิ์ใจต่ออุดมการณ์ อีกนัยหนึ่งอาจปลุกเร้าสำนึกของผู้ร่วมอุดมการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็เกรงว่าจะเป็นความสูญเสียที่สูญเปล่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแตกต่างจากการสอนหนังสือในระดับโรงเรียนก็คงจะตรงที่ว่า ผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนการสอนมาก่อน อาจจะมีการอบรมเรื่องการเรียนการสอนบ้าง มีการประเมินผลให้ผู้สอนพิจารณาปรับปรุงตนเองบ้าง มีการประเมินตนเองบ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว ผู้สอนมีส่วนสร้างระบบการเรียนการสอนด้วยตนเอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"อาร์บอรีทั่ม" (Arboretum) เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ร่วม 3 พันไร่ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สวนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่ก็อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก หากขยันเดิน สักชั่วโมงหนึ่งก็ถึง ถีบจักรยานไปก็สัก 20 นาที อาจเร็วกว่าขับรถที่ต้องเจอกับป้ายหยุด ทางแยก ไฟสัญญาณ กว่าจะถึงก็สัก 30 นาที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการมิได้มีสถานภาพพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ในสังคม เพียงแต่อาชีพนักวิชาการเป็นอาชีพที่ต้องพัฒนาความคิดความอ่านตลอดเวลา นักวิชาการจึงไม่ควรมีขอบเขตของความคิดความอ่าน พร้อมๆ กับที่ไม่ควรปิดกั้นขอบเขตของความคิดคนอื่น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กว่า 3 เดือนที่ผ่านมาผมไปชมการแสดงดนตรีไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ นึกเสียดายที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่มาเรียนไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เลย เมื่อวานนี้ (ตามเวลาที่อเมริกา) ผมก็เพิ่งออกจากห้องแสดงดนตรีมา จนทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า นี่ผมอยู่ในโลกไหนกัน แล้วทำไมที่ที่ผมอยู่เป็นปกติเขาถึงไม่ทำสถาบันการศึกษาให้เป็นสถานที่บ่มเพาะความเจริญของจิตใจได้อย่างนี้บ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดอร์ แรธสเคลเลอร์เป็นบาร์เบียร์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ตั้งอยู่ในตึกกิจกรรมนักศึกษา (ที่นี่เรียกว่า Memorial Union) ตึกกิจฯ นี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1928 โน่นเลย บาร์เบียร์แห่งนี้ก็น่าจะอายุไม่น้อยไปกว่าตึกที่มันอาศัยอยู่เท่าใดนัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเข้าร่วมกิจกรรมสังคมวิชาการซ้ำซ้อนกันหลายงาน ตั้งแต่บรรยายเรื่องการทำวิจัยในเวียดนามให้นักศึกษาบัณฑิตศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟัง ต่อด้วยปาร์ตี้ประจำปีของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหา'ลัยวิสคอนซิน ซึ่งเป็นงานแบบ potluck party และก็ฟองดูปาร์ตี้เล็กๆ ที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าขนมปังจุ่มชีสต้มเดือด ทั้งหมดนั้นได้อะไรสนุกๆ มามากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผ่านมาได้ 3 สัปดาห์ วิชาที่ผมสอนที่วิสคอนซินเริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆ ในห้องมีนักเรียน 10 คน ขนาดพอๆ กับที่เคยสอนที่ธรรมศาสตร์ แต่ที่ต่างคือในห้องเดียวกันนี้มีทั้งนักเรียนปริญญาตรี โท และเอกเรียนร่วมกัน เพียงแต่ข้อกำหนดของงานและความคาดหวังจากนักเรียนระดับ ป.ตรีกับ ป.โท-เอก ย่อมแตกต่างกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ท่านถามอย่างนี้กับสื่อมวลชน ต่อหน้าสาธารณชน ใครเขาจะกล้าตอบ ก็ในเมื่อท่านมีปืนอยู่ในมือ ใครเอาปืนจี้หัวท่านไว้แล้วท่านจะตอบความในใจที่ขัดความรู้สึกเขาได้ไหมล่ะ เรื่องแค่นี้น่าจะเข้าใจนะ