Skip to main content

ท่านถามอย่างนี้กับสื่อมวลชน ต่อหน้าสาธารณชน ใครเขาจะกล้าตอบ ก็ในเมื่อท่านมีปืนอยู่ในมือ ใครเอาปืนจี้หัวท่านไว้แล้วท่านจะตอบความในใจที่ขัดความรู้สึกเขาได้ไหมล่ะ เรื่องแค่นี้น่าจะเข้าใจนะ

 
ที่จริงประเทศชาติเสียหายตั้งแต่ท่านยังไม่ได้ยึดอำนาจแล้ว ตั้งแต่ท่านไม่ปกป้องประชาชนยังไม่พอแต่กลับร่วมสังหารประชาชนเมื่อปี 2553 แล้ว แต่ท่านไม่ยอมรับความผิดพลาดของตนเอง แล้วยังมาก่อความเสียหายเพิ่มอีก 
 
แต่ก็เอาล่ะ พูดกันดีๆ ก็ได้ คงมีหลายคนตอบคำถามนี้ไปแล้ว ผมแค่อยากตอบในแบบของผมบ้าง
 
ข้อแรก "ประชาชนสูญเสียสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน" สิ่งนี้ชาวโลกปัจจุบันเขาเรียกกันว่าสิทธิมนุษยชน (ไม่ทราบว่าเรียนกันบ้างไหมในโรงเรียนทหารน่ะ แล้วเรียนเพื่อให้ดื่มด่ำซึมซับหรือเรียนเพื่อหาวิธีละเมิดแบบนุ่มนวลไร้ร่องรอยกันแน่) ประเทศไทยก็ยอมรับสิ่งนี้ ถ้ารัฐบาลของท่านจะไม่ยอมรับก็ประกาศมาเลยตรงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อมว่าเคารพแต่จะไม่ปฏิบัติตาม
 
เอาง่ายๆ นักวิชาการจะจัดสัมมนาให้ความรู้นักศึกษาและประชาชนเรื่องประชาธิปไตยแม้แต่ในรั้วมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ ใครจะเดินขบวนประท้วงโดยสงบแม้ว่าจะเป็นเรื่องปากท้องก็ไม่ได้ ใครจะวิจารณ์ก็ไม่ได้ ฯลฯ แถมท่านยังไม่เคลียร์ว่าคนที่ถูกจับไปทำไมเขาต้องหนีเมื่อถูกปล่อยตัวมา ทำไมถูกจับเกินกำหนดเวลาของกฎหมาย ทำไมมีคำบอกเล่ามากมายว่าลูกน้องท่านทรมานหรือคุกคามว่าจะทำร้ายพวกเขา นี่ยังไม่นับการอ้างกฎหมาย 112 มาใช้คุกคามประชาชน
 
ข้อสอง "วิถีประชาธิปไตยหยุดชะงักลง" โดยไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาได้ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น พัฒนาการในระดับท้องถิ่นในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญ จนทำให้ประชาธิปไตยเริ่มลงหลักปักฐานในท้องถิ่น การระงับการเลือกตั้งท้องถิ่นส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการกระจายอำนาจ กระทบกระบวนการตัดสินใจในท้องถิ่น กระทบพัฒนาการของเครือข่ายประชาชนในท้องถิ่น
 
ผลเสียร้ายแรงคือการทำให้การเมืองแบบตัวแทนไร้ความหมาย ทำให้การเมืองไทยย้อนกลับไปสู่การเมืองที่ระบบตัวแทนล้มเหลวอีกครั้ง เนื่องจากการรวบอำนาจกลับคืนสู่กลุ่มบุคคลไม่กี่คน รวบอำนาจสู่ข้าราชการ นักธุรกิจ และนักวิชาการไม่กี่คน ยิ่งพวกท่านคงอำนาจไว้นานเท่าไหร่ ระบบประชาธิปไตยก็จะยิ่งเสื่อมทรามลง ประชาธิปไตยสมบูรณ์อะไรของท่านน่ะ ไม่ต้องพูดถึงหรอก ดูจากที่ท่านบริหารประเทศมาเกือบ 4 เดือนแล้ว ท่านไม่รู้ด้วยซ้ำว่าประชาธิปไตยคืออะไร จะมาสร้างความสมบูรณ์ให้ได้อย่างไร
 
ข้อสาม "สูญเสียธรรมาภิบาลของการบริหารประเทศ" หลักการข้อหนึ่งทำสำคัญของระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบันคือการแยกอำนาจเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลกันและกัน ทุกวันนี้ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นอะไรได้เลย เพราะไม่มีทางที่ประชาชนจะตรวจสอบการบริหารงานของพวกท่านได้ สภานิติบัญญัติพวกท่านก็ตั้งขึ้นเอง รัฐบาลพวกท่านก็ตั้งขึ้นเอง พวกท่านไม่มีโยงใยอะไรกับประชาชนเลย จะให้ประชาชนเชื่ออะไรได้ ท่านจะอยู่ในตำแหน่งนานแค่ไหนก็ไม่มีใครรู้ ขณะนี้แม้แต่อัยการสูงสูดยังหวั่นเกรงว่าท่านจะเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญของพวกเขาเลย
 
เมื่อไม่มีการตรวจสอบการใช้อำนาจโดยประชาชน แม้แต่วิจารณ์ก็ยังไม่ได้ ไม่ชอบ ไม่อยากฟัง หงุดหงิดไปหมด อยากจับไปหมด แล้วใครจะรับรองพวกท่าน จะให้เชื่อตามเพลงท่านอย่างเดียวน่ะเหรอ ไม่ตลกฝืดไปหน่อยหรือ มีเด็กอมมือที่ไหนเชื่อท่านบ้างถ้าท่านไม่มีปืนน่ะ ธรรมาภิบาลตามเสียงเพลงท่านน่ะเหรอ
 
ข้อสี่ "ทิศทางของประเทศสั่นคลอน" เมื่อไม่มีการตรวจสอบอำนาจรัฐได้อีกต่อไป อนาคตของประเทศจะไปทางไหนไม่มีทางรู้ ระบบเส้นสายจะกลับมาในระบบราชการ ทั้งจะมีสร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่เอื้อกับคนบางกลุ่มบางพวก ท่านบอกเองว่าท่านไม่ได้มาจากประชาชน นโยบายท่านก็จึงไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน พวกคนเก่งรายล้อมท่านน่ะ มีสักกี่คนกันที่เข้าใจตาสีตาสา มีสักกี่คนที่เอาใจชาวบ้านมาใส่ในนโยบาย 
 
เมื่ออำนาจการกำหนดชะตาของประเทศอยู่ในมือพวกท่านไม่กี่คนอย่างลึกลับตรวจสอบไม่ได้ ใครที่ไหนจะอยากมาลงทุนในประเทศนี้อีกต่อไป ท่านคิดว่าเงินทองที่ท่านใช้อยู่มาจากน้ำพักน้ำแรงของชาวไร่ชาวนาแล้วขายข้าวพวกนั้นมาซื้ออาวุธ มาหาน้องๆ หนูๆ บำเรอปรนเปรอพวกท่านได้เหรอ ท่านไม่ได้เข้าใจอะไรง่ายๆ แค่นั้นใช่ไหม เงินตราต่างประเทศที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในรูปการท่องเที่ยว ที่มาลงทุนในโครงการต่างๆ ท่านจะบอกว่าไม่สำคัญเหรอ แล้วถ้าพวกเขาไม่มั่นใจที่จะมาเที่ยว ไม่รู้ว่าลงทุนไปแล้วอนาคตพวกคนเก่งรอบตัวท่านจะเสนอนโยบายอะไร ใครจะอยากมาลงทุน
 
ข้อห้า "ทำลายการศึกษา" ข้อนี้เป็นความสนใจส่วนตัวของผมเองในฐานะคนในระบบการศึกษา ค่านิยม 12 ประการของท่านไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาความคิดความอ่านเลย หากไม่นับการลิดรอนเสรีภาพที่พวกท่านทำกันรายวันแล้ว ค่านิยม 12 ประการกลับส่งเสริมระบบคุณค่าแบบอาวุโส อำนาจนิยม และลดทอนคุณค่าความเป็นคนให้อยู่ใต้ความนิยมต่อความเชื่อไร้เหตุผล สร้างความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ความเป็นไทย ทั้งยังส่งเสริมระบอบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความก้าวหน้าของสังคม
 
นอกจากนั้น การหว่านโปรยเศษอำนาจของพวกท่านให้กับผู้บริหารมหาวิทยาลัยส่งผลเสียต่อการบริหารมหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง เอาง่ายๆ ว่า จะเป็นไปได้อย่างไรที่ใครจะสามารถทำงานเต็มเวลาได้มากกว่าหนึ่งงาน ท่านนายกรัฐมนตรีเองก็เหมือนกัน ที่ทำอยู่ทุกวันนี้หลายๆ ตำแหน่งน่ะ ทำได้ดีสักตำแหน่งหรือ ผลเสียอีกประการที่สำคัญคือ เมื่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าไปรับใช้เผด็จการแล้ว เสรีภาพในการแสดงออกในมหาวิทยาลัยจะยังมีอยู่ได้อย่างไร หากการศึกษาไม่ได้วางอยู่บนเสรีภาพในการแสดงออก การศึกษาจะก้าวหน้าไปได้อย่างไร
 
ข้อหก "ทำลายชื่อเสียงของประเทศชาติ" ชื่อเสียงของประเทศชาติย่อยยับไปตั้งแต่วินาทีที่ท่านทำรัฐประหารแล้ว นี่ท่านยังไม่รู้ตัวอีกหรือ ไม่มีใครบอกความจริงข้อนี้กับท่านบ้างเลยหรือ แล้วการแสดงปาฐกถารายสัปดาห์ของท่าน การแสดงทัศนะต่อเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ของท่าน การใช้คำพูดดูถูกผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตของท่าน การพูดจาดูหมิ่นคนที่ท่านกล่าวหาว่าเป็นอาชญากร ตลอดจนการใช้วาจาที่ไม่รู้จักระงับควบคุมตัวเอง ตีสำนวนราวกับไม่รู้ฐานะว่าตนเองเป็นผู้นำของชาติอยู่ ใช้วาจาไม่เคารพให้เกียรติประชาชนที่จ่ายภาษีเลี้ยงดูพวกท่านอยู่
 
เหล่านี้ทำลายชื่อเสียงของประเทศชาติอย่างย่อยยับ ทำให้ไทยกลายเป็นเมืองที่น่าขบขันปนน่าสมเพชมากกว่าตลกอย่างบันเทิง ทำให้คนไทยทั้งชาติดูเป็นคนไม่รู้กาละเทศะแบบผู้นำ ทำให้คนไทยดูเสื่อมทรามทางมนุษยธรรมที่กล่าวร้ายได้แม้กระทั่งเหยื่อของอาชญากรรม ฯลฯ เสื่อมเสียความน่าคบหา ไม่น่ามาเยี่ยมเยือน น่าอับอายในหลายด้านเสียจนสุดจะพรรณนาในพื้นที่แคบๆ ได้
 
แค่นี้เพียงพอไหมที่จะตอบว่าประเทศชาติเสียหายอะไรบ้างตั้งแต่วินาทีที่ท่านทำรัฐประหารเข้ามาบริหารประเทศ
 
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร