Skip to main content

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเข้าร่วมกิจกรรมสังคมวิชาการซ้ำซ้อนกันหลายงาน ตั้งแต่บรรยายเรื่องการทำวิจัยในเวียดนามให้นักศึกษาบัณฑิตศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟัง ต่อด้วยปาร์ตี้ประจำปีของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหา'ลัยวิสคอนซิน ซึ่งเป็นงานแบบ potluck party และก็ฟองดูปาร์ตี้เล็กๆ ที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าขนมปังจุ่มชีสต้มเดือด ทั้งหมดนั้นได้อะไรสนุกๆ มามากมาย

วันที่คุยกันเรื่องการวิจัย ผมก็เล่าไปว่าก่อน ระหว่าง และหลังการวิจัยที่เวียดนามผมทำอะไรบ้าง ทำไมไปที่นั่น ไปแล้วอยู่อย่างไร ทำอะไร มีใครช่วยบ้าง แล้วรอดมาได้อย่างไร จนหลังจากนั้นขณะนี้ผมคิดอะไรกับการวิจัยของผม กำลังพัฒนาอะไรอยู่ พูดแบบรวบรัดในเวลาแค่ 1 ชั่วโมงนี่ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ ไม่นับรูปอีกมากมาย ทั้งหมดก็ยังความทรงจำเก่าๆ และความสุขที่ได้พูดถึงงานวิจัยอันบ้าบิ่นที่จนบัดนี้ยังผลิตงานออกมาจากข้อมูลที่เก็บมาได้ไม่หมดสิ้น

หลังการบรรยาย เพื่อนเก่าและเพื่อนใหม่สองสามคนก็ไปนั่งดื่มกันที่บาร์ของมหา'ลัย ใช่ครับ ที่นี่เขามีความรับผิดชอบกันดีพอที่จะเปิดบาร์กลางมหา'ลัยเลย เป็นของสโมสรนักศึกษาด้วยซ้ำ ต้องอายุถึง 21 ต้องเป็นสมาชิกมหา'ลัย ถึงจะดื่มได้ เครื่องดื่มหลักคือเบียร์ เดี๋ยวนี้มีให้ชิมก่อนสั่ง จิบๆ ชิมสัก 2-3 รสค่อยซื้อก็สุขแล้ว

เราคุยกันหลายเรื่อง ส่วนใหญ่ก็งานของแต่ละคน คนหนึ่งทำวิจัยเรื่องชาวจาม (Cham) ในเวียดนามและกัมพูชา ดูบ้าบิ่นมากกว่าผมหลายเท่านัก เป็นอเมริกัน พูดจาม เวียด ขแมร์ รู้เรื่องความเชื่อมโยงชาวจามกับหมู่เกาะ รู้เรื่องสังคมจามปัจจุบัน ชอบตัวอักษรเหมือนผม อีกคนทำเรื่อง ตชด. ในไทย เป็นคนเกาหลี ไปตระเวนชายแดนมาโชกโชน ศึกษาทั้งประวัติศาสตร์และปัจจุบัน อีกคนเป็นเพื่อนร่วมชั้นตั้งแต่สมัยผมเรียน จนบัดนี้เขายังไม่จบ เป็นอาจารย์สอนกาเมลาน (วงฆ้องวง-ระนาดชวา) อยู่ที่คณะดนตรีวิทยาที่มหา'ลัยวิสคอนซิน กลับจากวิจัย ethnomusicology ในชวามา เราสี่คนนั่งคุยกันไม่จบสักเรื่อง

ปลายสัปดาห์ในปาร์ตี้ของศูนย์ฯ มีคนมากมาย นับได้น่าจะเกิน 30 คน งานจัดที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่งที่ศึกษาประวัติศาสตร์ Cebu ในฟิลิปปินส์ ได้เจอทั้งอาจารย์เก่าๆ ที่คุ้นเคย และนักเรียนใหม่ๆ นักเรียนอเมริกันคนหนึ่งเอาทุเรียนไปแต่ปอกไม่เป็น ผมเลยช่วยปอก แกะเปลือกออกมาแล้วก็เวียนไปวงแตกไปทุกวงคุย อาหารที่แต่ละคนทำมาก็สุดจะอวดความเป็น Southeast Asianist ของตนเอง ไม่ว่าจะทำโดยมือคนในหรือคนนอกก็ตาม ผมทำ "เหมียนส่าว" ผัดวุ้นเส้นแบบเวียดนามไป งานนี้ดื่มกินกันสำราญพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้กันไป ไม่รู้ว่าใครจะจำเรื่องราวที่คุยกันได้กี่มากน้อย

ผมเองได้คุยแลกเปลี่ยนกับอาจารย์จากเวียดนามที่ได้ทุนมาทั้งศึกษาและเป็นผู้ช่วยสอนที่นี่ เธออายุน้อยมาก (หรือผมอายุมากแล้วนั่นแหละ) มาจากเมืองที่ผมเคยไปทำวิจัยคือเมืองไลอันไกลโพ้น แต่เธอเป็นคนเวียด สอนที่มหา'ลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนาม น่าสนใจที่ทุนใหม่ๆ เหล่านี้กำลังแทรกเข้าไปดึงเอาคนรุ่นใหม่จากที่ซึ่งเคยปิดกั้นความรู้จากโลกภายนอก สงสัยว่าเมื่อเขาเหล่านี้กลับไปแล้วจะทำอะไรได้มากแค่ไหน หรือจะเปลี่ยนอะไรเธอได้บ้าง

คนรุ่นใหม่อีกคนที่ได่คุยคือนักศึกษาจากไต้หวัน ผมถามเรื่องพิพิธภัณฑ์ในไต้หวัน ถามเรื่องวัตถุจัดแสดงที่นั่น เธอก็ตอบได้น่าสนใจดี ผมนึกในใจ "ถ้าถามเด็กไทยเรื่องพิพิธภัณฑ์ไทย คงจะได้คำตอบชวนหงุดหงิดใจ" เธอชวนสนทนาเรื่องอนาคตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เธอมาเรียนที่นี่ปีเดียว กำลังค้นหาความสนใจอยู่ ผมบอกไปว่าถามตัวเองว่าอนาคตสัก 5 ปี หรือ 10 ปีอยากทำอะไร อยากอยู่ที่ไหนในโลก ถ้าที่ไต้หวันหรือที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาขานี้จะมีอนาคต แต่ถ้าอยู่ในอเมริกาก็ลำบาก

วันกินชีสจิ้มจุ่ม มีคนไม่กี่คน ก็ล้วนแต่นักอะไรต่างๆ ที่ทำงานวิจัยงานเขียนกันมหาศาล อาจารย์คนหนึ่งเพิ่งจบใหม่ เป็นชาวอิรัก จบจาก SOAS อังกฤษ หลังจากนั่งเงียบมานาน เมื่อคนถามเรื่องอิรัก เขาก็พรั่งพรูเรื่องอิรักอย่างรัวๆ ผมจับใจความได้บ้างไม่ได้บ้างเพราะตามรายละเอียดไม่ทัน แถมฟังสำเนียงอังกฤษไม่ถนัด แต่พอถึงตาตัวเองแลกเปลี่ยนเรื่องไทยบ้าง ก็ทำให้เข้าใจว่า พอลงรายละเอียดเรื่องตัวเอง คนก็คงเข้าใจไม่ได้ง่ายๆ นักเหมือนกัน  

มีตอนหนึ่งที่อาจารย์คนหนึ่งซึ่งทั้งชีวิตสนใจประวัติศาสตร์การเมืองกับการทหารถามว่า ทหารจะมีเวลามาติดตามหรือว่าตอนนี้ใครพูดอะไรทำอะไรอยู่ที่ไหน ผมตอบไปว่า ทหารมีเวลาเยอะ ตอนนี้สนุกใหญ่ที่มีงานทำ เมื่อก่อนไม่มีอะไรทำ ก็คิดดูสิว่าไทยไม่มีสงครามอะไรกับใคร วันๆ ทหารเข้ากรมกองไปทำอะไรล่ะ ตอนนี้สิถึงจะมีงานทำ ทำเอาอาจารย์ท่านนั้นไปไม่ถูกเลย

สังคมวิชาการแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาได้เพราะมีคนใช้ชีวิตด้านการศึกษาเล่าเรียนมาอยู่ด้วยกันเท่านั้น แต่ยังต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง ตั้งแต่การเดินทางสะดวก ไปจนถึงความเปิดกว้างทางความคิด รวมทั้งพลังงานอันล้นเหลือของแต่ละคนที่จะอยากรู้จักกัน อยากสังสันทน์ประกอบการสนทนาอันเคร่งเครียดกันได้บ่อยๆ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา