Skip to main content

เดอร์ แรธสเคลเลอร์เป็นบาร์เบียร์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ตั้งอยู่ในตึกกิจกรรมนักศึกษา (ที่นี่เรียกว่า Memorial Union) ตึกกิจฯ นี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1928 โน่นเลย บาร์เบียร์แห่งนี้ก็น่าจะอายุไม่น้อยไปกว่าตึกที่มันอาศัยอยู่เท่าใดนัก

ว่ากันว่าบาร์นี้ตกแต่งแบบสไตล์เยอรมัน ชื่อก็เป็นเยอรมัน หลังคาโค้ง สีออกน้ำตาล มีเครื่องประดับตกแต่งที่เกี่ยวพันกับการดื่มเบียร์ อย่างแก้วเบียร์ต่างๆ นอกจากวาดลวดลายแล้วยังมีภาพฝาผนังแบบ "ซ้ายๆ" อย่างภาพแสดงความคิดเรื่องการใช้แรงงาน ภาพยกย่องผู้หญิงสีผิว ฯลฯ 

แรธสเคลเลอร์หันด้านหนึ่งออกไปทางระเบียงริมทะเลสาบเมนโดตา ในฤดูร้อนจึงแทบไม่มีใครนั่งด้านในบาร์แห่งนี้ เนื่องจากผู้คนอยากสำราญกับอากาศนอกอาคาร ก่อนหรือหลังความหนาวเบ็นอันยาวนานเกินกว่า 8 เดือน แต่ก็ด้วยเพราะความหนาว ถึงที่สุดแล้วแรธสเคลเลอร์ก็กลายเป็นที่นั่งเล่นที่คนสำราญอย่างอบอุ่นในห้องที่มีเตาผิงที่ใช้ไม้เผาไฟจริงๆ ขนาดใหญ่ 2 ด้านของตัวบาร์ 

ที่จริงบาร์นี้ตั้งอยู่ติดกับโรงอาหาร แต่โรงอาหารจะขายอาหารเฉพาะเวลากลางวัน ส่วนแรธสเคลเอลร์ขายทั้งกลางวันเย็นจนค่ำมืดดึกดื่น เสมือนบาร์ทั่วไป แต่ปิดสักห้าทุ่มหรือเที่ยงคืนครึ่ง ถ้าเป็นสุดสัปดาห์ 

บาร์แห่งนี้มีเมนูอาหารเฉพาะของตัวเองอยู่ ที่ผมชอบก็เช่น รูเบน เป็นแชนด์วิชร้อนที่นาบขนมปังทาเนยกับกะทะแบนจนกรอบ แล้วเอาแฮมที่เรียกว่าคอร์นบีฟวาง เอาชีสวาง แล้วใส่กระหล่ำดองที่เรียกซาวเวอเคราต์ เอาขนมปังประกบกัน ตั้งบนกะทะแบนอีกสักหน่อย พลิกไปมาจนชีสละลายค่อยเสิร์ฟ  

อาหารที่ผมชอบอีกจานของที่นี่ก็คือเฟรนชฟรายส์ เขาใช้มันฝรั่งสดหั่นทั้งเปลือกคลุกแป้งนิดหน่อยแล้วทอด กินกับรูเบนแล้วไขมันพุ่งดีจัง ทุกวันธรรมดาที่นี่จะมีอาหารพิเศษประจำวัน อย่างวันจันทร์มีปีกไก่ทอด วันศุกร์มีฟิชแอนชิบส์แต่เอาเฟรนชฟรายส์แทนชิบส์ก็ได้ บางทีผมก็กินเกซาดิย่า อาหารสไตล์แม็กซิกันเหมือนมะตะบะแต่กรอบกว่าหน่อยแห้งกว่าบางกว่าหน่อย ไส้มักมีชีส ผมชอบตรงครีมทีเอามาทาก่อนกิน 

ที่จริงอาหารที่กินที่นี่บ่อยๆ คือสลัด สลัดที่แรธสเคเลอร์มีหลายสไตล์ ขนาดพอเหมาะที่จะกินเป็นมื้อหนึ่งได้ แบบอิ่มแล้วรู้สึกได้กินอาหารสุขภาพ แต่ถ้าวันไหนอยากง่ายๆ ไวๆ ตอนกลางวันหรือตอนเย็น บางทีผมก็กินแฮมเบอร์เกอร์ ตอนหน้าร้อนสั่งชีสเบอร์เกอร์ชิ้นหนึ่งกับเบียร์แก้วหนึ่งไปนั่งกินริมน้ำนี่ ผ่อนคลายดีมากเลย 

เหนือสิ่งอื่นใด แรธสเคลเลอร์มีชื่อเสียงเรื่องเบียร์ ไม่ใช่ว่าที่นี่ทำเบียร์เองหรอกครับ ยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ที่นี่มีเบียร์สดให้เลือกน่าจะเกือบ 20 ชนิด ยิ่งตอนฤดูร้อนนี่ นอกจากเบียร์หลากรสนั่นแล้ว ยังมีเบียร์ที่บางโรงเบียร์เอารถมาจอดขายเองอีกนับสิบชนิด ดื่มเท่าไหร่ก็ไม่ถ้วนสักที เบียร์บางรสชิมแล้วก็ลืมไปแล้วว่าเคยชิมหรือยัง บางรสนี่จำได้แน่ๆ ว่าเคยดื่มตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน ยังจำรสได้ติดลิ้น จนเดี๋ยวนี้ก็ยังมีขายอยู่ บางรสจำได้ว่าแฮลกอฮอแรงมาก ดื่มแก้วขนาด 500 cc แก้วเดียวมึนตึ๊บเลย  

แต่เดี๋ยวนี้มีเบียร์รสใหม่ๆ อีกมากมาย เพราะรัฐวิสคอนซินมีโรงเบีร์เปิดใหม่อีกมากมาย เท่านี่รู้มีโรงเบียร์ที่เปิดใหม่ระหว่างที่ผมจากวิสคอนซินมา 7 ปีนับได้สัก 4 โรงได้ เบียร์ใหม่ๆ ที่สะดุดหูสะดุดลิ้นมากคือเบียร์สไตล์เบลเยี่ยม ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยเห็นว่าดาดดื่นขนาดนี้ 

เมื่อสองเดือนก่อนในวันอากาศร้อนหรือกำลังสบายๆ ผมเลือกกินเบียร์ลาเกอร์ใสๆ โรงเบียร์หนึ่งมีชื่อมากคือนิวกรารัส ตั้งชื่อตามชื่อเมืองที่ชาวสวิสย้ายมาตั้งรกราก โรงเบียร์นี้ก็อยู่ที่นั่น มีเบียร์หลายรส รสหนึ่งที่ดังคือ Spotted Cow วัวจุดถือเป็นอัตลักษณ์ชาวสวิสที่มักเลี้ยงวัวนมมาทำชีส เบียร์รสเบาดื่มคล่องคอกลิ่นหอมหวน แต่ผมมักไม่ดื่มเบียร์นี้กับอาหาร เพราะจะตัดรสเบียร์นี้หายหมดเกลี้ยง 

ถ้าอยากได้รสที่เข้มขึ้นอีกนิด ผมจะดื่มเบียร์สีอำพันเข้ม จำพวก Amber ผมชอบของ Capital Brewery เป็นลาเกอร์เหมือนกัน แต่รสเข้มขึ้น โรงเบียร์นี้ทำเบียร์ใหม่ๆ ออกมาอีกหลายรส อย่าง Island Wheat และ Supper Club พวกนี้เป็นเบียร์ฤดูร้อน ดื่มดับกระหายและเรียกน้ำย่อย ดื่มก่อนอาหารดีกว่าดื่มกับอาหาร 

ถ้าเอารสจัดขึ้นอีก มีเบียร์ของโรงเบียร์ใหม่ชื่อ Hopalicious เป็นเบียร์สไตล์ Pale Ale โรงเบียรนี้ผลิต ale เป็นหลัก เรียกตัวเองว่า Ale Asylum เดิมอาจมีโรงเบียร์นี้อยู่แล้ว แต่น่าจะขายเฉพาะในร้าน ผมไม่เคยได้ดื่ม จนกลับมาคราวนี้จึงมีขายทั่วไปทั้งขวดและเบียร์สดจากแทป นี่เป็นเบียร์ที่คนนิยมกลิ่น hop ต้องดื่มจริงๆ เขาคุยว่าใช้ hop ถึง 5 ชนิด สไตล์เบียร์แบบ ale ที่เนื้อหนาๆ ข้นๆ ยิ่งทำให้ได้สัมผัสมากขึ้น บางทีผมดื่มเวลากินสลัด ตัดกับรสผักสดและน้ำสลัดดี 

ยังมีเบียร์อีกมากที่แรธสเคลเลอร์ แถมบางช่วงเดือนจะมีเบียร์แนะนำพิเศษ อย่างช่วงนี้มี Tokyo Sauna กับเบียร์ Pumpkin ที่มีเครื่องเทศผสมด้วย อันแรกผมชอบ รสจัดดี ผลิตโดย Karben4 โรงเบียร์ใหม่เอี่ยมของแมดิสันอีกเหมือนกัน ส่วนเบียร์ฟักทอง ผมชิมแล้วไม่ค่อยชอบ แต่ก็น่าจะดื่มเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนกัน เพราะไหนๆ ก็มีเฉพาะในฤดูฟักทองคือช่วงใกล้ๆ Thanksgiving ที่จะถึงเร็วๆ นี้เท่านั้นเอง (วันหลังกลับไปชิมมาแล้ว ติดใจกลับมาดื่มอีกหลายครา)

เล่ามายาวเหยียดกลายเป็นเรื่องเบียร์ไปเสีย กลับมาที่แรธสเคลเลอร์ ที่นี่จึงเป็นที่ดื่มกินสังสรรค์ของชาววิสคอนซิน ราคาอาหารอย่างแพงสุดก็ไม่เกิน 8 เหรียญ จะกินเฟรนชฟรายส์ก็ 2-4 เหรียญ ป๊อบคอร์น 2 เหรียญกินไม่หมด เบียร์แก้วเล็ก 500cc ก็ 5 เหรียญ, 700cc ก็ 7 เหรียญ หรือมาหลายคนยกเหยือกราวๆ 1600cc ก็แค่ 13 เหรียญ แต่ต้องเป็นสมาชิกของมหาวิทยาลัยหรือเป็นแขกของสมาชิกที่นี่นะครับ จึงจะกิน-ดื่มที่นี่ได้ 

นอกจากอาหาร แรธสเคลเลอร์มีเวทีที่มักมีการแสดงแทบทุกสัปดาห์ แต่ตอนฤดูร้อนเขามักแสดงดนตรีที่ระเบียง The Terrace ด้านนอกซึ่งก็มีเวทีเช่นกัน วันฝนตกหรือฤดูที่อากาศหนาวเย็น ก็มาแสดงด้านใน โดยเฉาพะสุดสัปดาห์มักมีเทศกาลดนตรีบ้าง มีคนมาจองคิวแสดงดนตรีบ้าง บางวันเขาก็ฉายถ่ายทอดสด(อเมริกัน)ฟุตบอลจอใหญ่  

คงเดาได้ไม่ยากว่าผมชอบแรธสเคลเลอร์มากแค่ไหน ชอบตั้งแต่มาครั้งเรียนที่นี่แล้ว แม้จะมีโอกาสน้อยนักที่จะได้นั่งเล่นที่นี่เพราะทั้งต้องประหยัดค่าใช้จ่ายและเรียนหนัก ตอนนี้มีโอกาสได้นั่งมากขึ้น พึ่งพิงทางกายและทางใจที่นี่มากขึ้น แม้บางคนอาจไม่ชอบอาหารที่นี่ ไม่ได้ชอบดื่มเบียร์นัก แต่หากมาแมดิสัน ก็ควรหาโอกาสมานั่งที่นี่ มาชิมเบียร์ที่เดอร์ แรธสเคลเลอร์สักแก้ว ก็จะได้ดื่มด่ำบรรยากาศทางวิชาการอันเข้มข้นหลากหลายของมหาวิทยาลัยแห่งนี้แล้ว

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้