Skip to main content

การอัตวินิบาตกรรมของคุณนวมทอง ไพรวัลย์ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นัยหนึ่งถือว่าเป็นการประท้วงต่อการรัฐประหาร อีกนัยหนึ่งถือเป็นการยืนยันความจริงจังและบริสุทธิ์ใจต่ออุดมการณ์ อีกนัยหนึ่งอาจปลุกเร้าสำนึกของผู้ร่วมอุดมการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็เกรงว่าจะเป็นความสูญเสียที่สูญเปล่า

 นัยยะต่างๆเหล่านั้นล้วนนำเรากลับไปสู่คำถามที่เกินเลยไปกว่าเพียงการตระหนักถึงความสำคัญของประชาธิปไตย  เป็นการนำสังคมไทยไปสู่คำถามใหญ่ๆที่ว่า อุดมการณ์คืออะไร ทำไมคนจึงยอมตายเพื่ออุดมการณ์

คำถามนี้ส่วนหนึ่งช่วยให้เราเข้าใจต่อไปด้วยว่า ทำไมเราจึงควรเข้าใจการต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้ในฐานะที่เป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ ทำไมหลายกลุ่มจึงยืนยันว่าการต่อต้านรัฐประหารไม่ใช่การพิทักษ์ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ตลอดจนประเด็นที่ว่า ทำไมอุดมการณ์ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่สิ่งเพ้อฝัน แต่ปฏิบัติได้จริง และเหมาะกับสังคมไทยปัจจุบัน

เพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่การจากไปพร้อมๆกันของคุณนวมทอง ไพรวัลย์ นักประชาธิปไตยสามัญชนที่ยิ่งใหญ่ (เสียชีวิต 31 ตค. 2549) และคลิฟฟอร์ด เกียร์ตซ์ (Clifford Geertz) นักมานุษยวิทยาคนสำคัญของโลก (เสียชีวิต 30 ตค. 2549) ผู้เขียนขออาศัยแรงบันดาลใจจากคุณนวมทองมาทำความเข้าใจธรรมชาติของอุดมการณ์ ผ่านแนวคิดของเกียร์ตซ์

เกียร์ตซ์เสนอว่า "มนุษย์เป็นสัตว์ประเภทหนึ่งที่ถูกยึดโยงอยู่ในเครือข่ายของการให้ความหมายที่ตนเองปลุกปั่นมันขึ้นมา" (Interpretation of Culture, 1973, p. 5) ดังนั้นการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์จึงต้องอาศัยการ 'ตีความ' หรือเรียกอีกอย่างว่า 'การทำความเข้าใจ'  

การที่คุณนวมทองอุทิศชีวิตตนเองเพื่อประกาศอุดมการณ์จึงเป็นการกระทำที่มีความหมายอย่างหนึ่ง ไม่สามารถประเมินได้ด้วยตัวเลขโพลล์ของสำนักต่างๆ เราต้องทำความเข้าใจความหมายที่คุณนวมทองสื่อ ไม่ใช่ไป "เพิ่มการประชาสัมพันธ์การทำงานของ คมช.ให้มากขึ้น" ดังคำกล่าวของพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. (ไทยโพสต์, 2 พย. 2549) และ พ.อ.อัคร ทิพยโรจน์ โฆษกกองทัพบก (กรุงเทพธุรกิจ, 1 พย. 2549)

นั่นเพราะการกระทำของมนุษย์วางอยู่บนการให้ความหมายต่อข้อเท็จจริงต่างๆ เกียร์ตซ์กล่าวว่า "ความคิด เกิดขึ้นมาจากการเสกสรรค์และการจัดการของระบบสัญลักษณ์ ด้วยการที่ความคิดให้ความหมายหลักๆแก่การกระทำ ความคิดจึงเป็นต้นแบบให้กับการกระทำลักษณะต่างๆ อันได้แก่การกระทำทางกายภาพ การกระทำทางชีวภาพ การกระทำทางสังคม และการกระทำทางจิตใจ" (เล่มเดิม, p. 214)

"แบบแผนของวัฒนธรรมก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นศาสนา ปรัชญา สุนทรียศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรืออุดมการณ์ ล้วนเป็นโปรแกรมที่เป็นแม่แบบหรือพิมพ์เขียวสำหรับการจัดการทางสังคมและจิตใจ" (เล่มเดิม, p. 216)

ดังนั้นไม่ว่าเราจะเอาข้อเท็จจริงมากมายแค่ไหนไปกองต่อหน้าคุณนวมทอง ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงความยึดมั่นต่ออุดมการณ์ของคุณนวมทองได้ เช่นเดียวกับที่ไม่ว่าฝ่ายต่อต้านรัฐประหารจะนำข้อมูลมากมายแค่ไหนไปกองให้คณะรัฐประหารดู ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ของคณะรัฐประหารได้ การกระทำของคุณนวมทองจึงไม่ได้เป็นผลมาจากการรู้ข้อมูลน้อยไป แต่เพราะเขาให้ความหมายต่อชีวิตและโลกต่างออกไปจากที่คณะรัฐประหารเข้าใจ

อันที่จริงหากเข้าใจดังนี้ เราจะไม่เพียงเข้าใจการกระทำของคุณนวมทองได้ แต่เราจะเข้าใจได้ด้วยว่า การกระทำของคณะรัฐประหารก็มีฐานะเป็นอุดมการณ์เช่นกัน เพียงแต่ต่างฝ่ายต่างยืนอยู่บนการให้ความหมายที่แตกต่างกัน และฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง กล่าวคือ

ประการแรก มนุษย์ล้วนให้ความหมายต่อสิ่งต่างๆ ล้วนใส่ความคิดฝันไปในการกระทำ 'ก่อน' ที่จะลงมือกระทำสิ่งใดทั้งสิ้น มนุษย์ทุกคนจึงกระทำไปโดยอาศัยหลักทฤษฎี หรือแนวทางอะไรบางอย่างเป็นเครื่องโน้มนำทั้งสิ้น (แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าการกระทำตาม 'สามัญสำนึก' เพราะสามัญสำนึกก็เป็นระบบความหมายอย่างหนึ่ง ถูกให้ความหมายก่อนแล้วเช่นกัน อ่านเพิ่มเติมได้ใน Clifford Geertz "Common Sense as a Cultural System" In Local Knowledge)

อุดมการณ์ทางการเมืองจึงเป็นแนวทางทางการเมือง เป็นโลกทัศน์ทางการเมือง ที่ทำให้ชีวิตทางการเมืองเป็นไปอย่างปกติธรรมดาแบบใดแบบหนึ่ง โลกทัศน์ดังกล่าวนี้แสดงชัดเจนในจดหมายและเสื้อที่คุณนวมทองสวมคืนนั้นว่า คุณนวมทองมองโลกประชาธิปไตยก่อนการรัฐประหารว่ามีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อย่างน้อย 14 ตุลาคม 16, 6 ตุลาคม 19 และ 17 พฤษภาคม 35 ในขณะเดียวกัน คุณนวมทองยึดมั่นในความเท่าเทียมกันของประชาชน ภายใต้อำนาจสูงสุดของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยไม่ยอมรับอำนาจการปกครองของทหารและตำรวจอย่างสิ้นเชิง

ประการที่สอง การกล่าวว่าอุดมการณ์บางอย่าง เพ้อฝัน เลื่อนลอย เป็นเพียงอุดมคติ ติดทฤษฎี ผิดยุค ไม่สมจริง เป็นการกล่าวหาอย่างไม่เข้าใจความสำคัญของระบบความหมายของมนุษย์ เพราะในเมื่อการกระทำทางการเมืองใดๆล้วนเป็นการกระทำตามอุดมการณ์ แนวทางทางการเมืองที่อ้างกันว่า ปฏิบัติได้จริง ติดดิน เหมาะสมกับข้อเท็จจริงของสังคม ก็ล้วนแต่เป็นการกระทำตามอุดมการณ์เช่นกันทั้งสิ้น

การกล่าวหาว่าอุดมการณ์ใดเพ้อฝัน จึงเป็นการทำลายความเชื่อถือระหว่างคนที่เชื่อในอุดมการณ์ที่ต่างกัน และบ่อยครั้งที่อุดมการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่าเพ้อฝัน เป็นอุดมการณ์ที่มีอำนาจในสังคมการเมืองด้อยกว่าอุดมการณ์ที่อ้างว่าสมจริง ความสมจริงของอุดมการณ์ทางการเมือง จึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างของผู้ยึดครองอำนาจนำในสังคม

ดังนั้นการที่โฆษกทหารบกไม่เข้าใจว่า "ไม่มีคนไทยคนไหนที่มีอุดมการณ์สูงขนาดต้องทำร้ายตัวเองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยกับการปฏิรูปครั้งนี้" เพราะท่านคิดว่า "เนื่องจากคณะปฏิรูปฯ เข้ามา...ด้วยสันติวิธี มาด้วยการยอมรับของประชาชน ... ภายใต้เจตนาบริสุทธิ์" (กรุงเทพธุรกิจ, 1 พย. 49) นั้น  

สาเหตุที่ลึกลงไปกว่านั้นคือ เป็นเพราะท่านหลงเชื่อไปเองว่า แนวทางทางการเมืองที่ตนยึดมั่นอยู่เท่านั้นที่ 'สมจริง' 'เหมาะกับสภาพความเป็นจริง' ทั้งๆที่ท่านก็น่าจะเข้าใจได้ไม่ยากว่า การล้มล้างอุดมการณ์ที่คนยึดมั่นอยู่ย่อมเป็นการล้มล้าง 'โลก' ที่คนๆนั้นเคยอยู่อย่างเป็นปกติธรรมดา คนๆนั้นจึงอาจยอมตายเพื่อปกป้องโลกของเขาได้ ทำนองเดียวกับที่ทหารยอมตายได้เพื่อปกป้องอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์จากการคุกคามของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในอดีต

ประการที่สาม ปกติแล้วบทบาทของอุดมการณ์มักเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง  เกียร์ตซ์กล่าวว่า "เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การแสดงออกทางอุดมการณ์จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ... ทั้งนี้เพื่อเรียกร้องยืนยันให้คงไว้ซึ่งอุดมการณ์เดิม หรือไม่ก็เพื่อนำเสนออุดมการณ์ใหม่" (เล่มเดิม, p. 218)  

ดังนั้น เมื่ออยู่ๆโลกประชาธิปไตยแบบที่คุณนวมทองอาศัยอยู่เป็นปกติธรรมดาถูกทำลายลง คุณนวมทองก็ต้องการแสดงออกเพื่อเรียกร้องให้คงไว้ซึ่งอุดมการณ์เดิม ไม่ต่างจากการเรียกร้องของพวกนักศึกษา หรืออภิสิทธิ์ชนอื่นๆ (รวมทั้งผู้เขียนบทความนี้) ต่างกันที่นักศึกษาและอภิสิทธิ์ชนมีพื้นที่แสดงความเห็นในบรรยากาศเช่นนี้ได้  

เมื่อไม่สามารถเรียกร้องให้คณะรัฐประหารฟังได้ คุณนวมทองจึงเสมือนถูกผลักให้เข้าไปอยู่ในโลกที่เขาไม่คุ้นเคย เกิดความตระหนก กลายเป็นคนที่ตกไปอยู่ต่างวัฒธรรมต่างธรรมเนียมประเพณีที่เขาไม่สามารถปรับตัวได้ ยอมรับไม่ได้ จนถึงขั้นฝืนทนดำรงชีพอยู่ด้วยไม่ได้ต่อไป  

หากคณะรัฐประหารปวารณาว่าได้กระทำรัฐประหารครั้งนี้เพื่อประชาธิปไตย แทนที่ท่านจะพยายามประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจท่าน ท่านต่างหากที่เป็นฝ่ายต้องทำความเข้าใจประชาชนที่ยึดมั่นในประชาธิปไตยจนอาจยอมตายเพื่ออุดมการณ์นี้ได้  

และเพื่อแสดงความจริงใจที่จะทำความเข้าใจประชาชน สิ่งแรกที่ท่านต้องทำคือการเปิดพื้นที่การแสดงออกทางการเมือง ด้วยการยกเลิกกฎอัยการศึกและคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด

(เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ, วันพุธที่ 8 พฤศจิกายน 2549)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย วันที่ 23 เมษายน 2557
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากอำมาตย์ชนะ...โลกวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การบอกเล่าเรื่องราวของ "คนอื่น" ที่ต่างจากเรามากๆ ให้ "พวกเรา" อ่าน อย่างมากก็ทำได้แค่ บอกเล่าผ่านถ้อยคำ ผ่านประสบการณ์ที่ "พวกเรา" ต่างคุ้นเคยกันดี พูดอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องคนอื่นคือ "การแปล" หรือ "การแปร" เรื่องที่แตกต่างให้คุ้นเคย เป็นการดัดแปลงของคนอื่นให้เราเข้าใจในภาษา ในสัญญะแบบที่พวกเราเองรับรู้อยู่ก่อนแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดท้ายชั้นเรียนวิชา "มานุษยวิทยาอาหาร" กับนักเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกเมื่อสองวันก่อนด้วยมื้อการไปกินอาหารไทยพื้นๆ แสนอร่อยราคาประหยัดที่แพร่งภูธร พระนคร ตลอดภาคการศึกษา พวกเราพยายามเข้าใจอาหารผ่านหลายๆ คำถาม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (13 กพ. 57) ไปเยี่ยมชม Kyoto Museum for World Peace ตามคำบอกเล่าของหลายๆ คน และตามความประสงค์ของผู้ร่วมเดินทาง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชวนให้คิด มีถ้อยคำหลอกหลอนมากมาย มีภาพความรุนแรง มีบทเรียนที่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ มีการเห็นคนไม่เป็นคน และสุดท้ายสะท้อนใจถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย