Skip to main content

อันที่จริงผมก็นึกไม่ถึงว่าจะมีคนสนใจข่าวนี้กันมากนัก เรื่องอาจจะเป็นเพราะมีการใช้คำในการรายงานข่าวเบื้องต้นอย่างคลาดเคลื่อนไป ก็เลยทำให้เป็นที่น่าตกใจ แต่อีกนัยหนึ่งก็ชี้ให้เห็นปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนกระทั่งเมื่อมีการแสดงการต่อต้านด้วยการปฏิเสธที่จะอยู่ใต้อำนาจกดทับนั้น คนก็จึงตอบรับกันอย่างกระหน่ำ อย่างไรก็ดี ผมก็อยากชี้แจงให้กระจ่างเพิ่มเติมว่า ทำไมผมจึงเลือกที่จะแสดงสถานภาพในการเดินทางมาต่างประเทศของผมในครั้งนี้เพิ่มเติมผ่านข้อเขียนนี้

 
อย่างที่ให้สัมภาษณ์ไปแล้วในมติชนออนไลน์ว่า หลังการรัฐประหารผมได้ปลีกตัวออกไปเวียดนามเกือบหนึ่งเดือน ซึ่งก็ไปอย่างเป็นทางการ เนื่องจากผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้นักศึกษาปริญญาเอกชาวเวียดนามที่สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง พอดีช่วงนั้นนักศึกษากำลังจะสอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ ผมก็ถือโอกาสที่คณะรัฐประหารอาจคุกคามผม หลบไปปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษา ด้วยการลาไปราชการอย่างถูกระเบียบ 
 
แต่ในระหว่างนั้น เพื่อนนักวิชาการแนะนำให้ผมสมัครทุนช่วยเหลือนักวิชาการที่ประสบภัยการเมือง ทุนนี้ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เขาเปิดให้สามารถไปอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก ทุนที่ว่านี้อยู่ภายใต้องค์กรที่เรียกว่า Institute of International Education ในหน่วยย่อยของเขาชื่อ Scholar Rescue Fund (SRF) แต่ด้วยความที่ภัยคุกคามจะมาถึงผมเมื่อไหร่ก็ได้ ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวิสคอนซินจึงหาทุนในมหาวิทยาลัยเขาให้ผมก่อนในตำแหน่ง visiting assistant professor สอนหนังสือภาคการศึกษาละหนึ่งวิชาเป็นเวลาหนึ่งปี ระหว่างนั้นผมก็ดำเนินการเรื่องการสมัครทุน SRF ไปเรื่อยๆ ซึ่งที่จริงก็ตั้งแต่ที่อยู่เวียดนาม จนกระทั่งเดือนกันยายนที่ผ่านมาจึงรู้ผลว่าได้รับทุนนี้
 
การสมัครทุนนี้ ซึ่งผมก็อยากแนะนำให้เพื่อนนักวิชาการที่สนใจลองสมัครกันดู นอกจากจดหมายแนะนำตัวจากนักวิชาการ 4 คน ที่รู้จักผลงานทางวิชาการและความเสี่ยงทางการเมืองของผู้สมัคร รายละเอียดผลงานวิชาการและการบริการสังคม ตัวอย่างผลงานวิชาการที่ตีพิมพ์ และประวัติการทำงานและรายชื่อผลงานที่ตีพิมพ์แล้ว ต้องให้เหตุผลอธิบายว่าทำไมผู้สมัครจึงคิดว่าตนเองจะประสบภัยการเมือง แล้วภัยนั้นจะมีผลต่อการใช้ชีวิตและการทำงานอย่างไร สำหรับผมเอง ผมอธิบายไปอย่างยืดยาว แต่จะขอเล่าโดยสรุปและไม่เอ่ยชื่อคนต่างๆ ดังนี้
 
1. SRF ถามว่า “ทำไมจึงคิดว่าตนเองจะถูกคุกคามจากคณะรัฐประหาร” ผมตอบว่าการเข้าร่วมกิจกรรมบริการสังคมก่อนหน้าการรัฐประหารของผมมีส่วนทำให้ผมถูกคุกคามจากคณะรัฐประหาร เพราะกิจกรรมเหล่านั้นเป็นกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย อันเป็นกิจกรรมที่คณะรัฐประหารนี้ถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ตั้งแต่การร่วมก่อตั้ง “กลุ่มสันติประชาธรรม” ปี 2551 “ศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553” (ศปช.) “คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112” ปี 2554 และ “สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย” (สปป.) 2557 เพื่อรณรงค์การเลือกตั้ง จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร ซึ่งผมก็ได้จัดกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารในทันทีที่เกิดการรัฐประหาร 
 
2. SRF ถามว่า “ที่ว่าคณะรัฐประหารอาจตีความการร่วมกิจกรรมของคุณไปตามความเข้าใจของเขาเองหมายความว่าอย่างไร" ผมยกตัวอย่างกิจกรรมทางวิชาการและการส่งเสริมประชาธิปไตยของเพื่อนนักวิชาการบางคน ที่ถูกตีความว่าเป็นการปลุกระดม เป็นภัยต่อความมั่นคง หรือกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนของบางคน ถูกตีความว่าเป็นความเข้าใจผิด เป็นการได้ข้อมูลผิดพลาด เหล่านี้คือการตีความของคณะทหารเอง เพื่อใช้ข่มขู่คุกคามสิทธิเสรีภาพ ไม่ได้มาจากการสืบสาวข้อเท็จจริง หรือเป็นการเข้าใจข้อเท็จจริงแบบทหาร ซึ่งไม่เข้าใจหลักประชาธิปไตยและไม่เข้าใจหลักสิทธิมนุษยชนโดยสิ้นเชิง
 
3. SRF ถามว่า “ทำไมคุณจึงไม่ถูกเรียกตัว” ผมให้ข้อมูลว่า ในบรรดาคนที่ถูกเรียกตัว กว่า 60% เป็นคนที่ถูกมองว่าเป็นคนเสื้อแดง นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยก็ถูกมองอย่างนั้น ในจำนวนนั้น ราวเกือบ 24% เป็นนักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม นักศึกษา นอกจากนั้น กรณีที่ถูกเพ่งเล็งอย่างมากคือกรณีที่เกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ซึ่งในการตีความของคณะรัฐประหาร ไม่สามารถรู้ได้แน่ว่าขอบเขตของการหมิ่นสถาบันฯ อยู่ที่ไหน ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่ผ่านกระบวนการยุติธรรมและหลุดจากคดี 112 แล้วจำนวนหนึ่ง ก็กลับถูกเรียกให้ไปรายงานตัวอีก นี่ยิ่งทำให้สรุปได้ว่า ใครที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้อยู่ในข่ายที่อาจถูกเรียกตัวเมื่อไหร่ก็ได้
 
แม้ว่าผมจะยังไม่ถูกเรียกตัวในขณะนั้น ก็ไม่ได้มีหลักประกันอะไรว่าผมจะไม่ถูกเรียกตัวในท้ายที่สุด ผมเล่าว่า ในขณะนี้มีนักวิชาการที่ร่วมกิจกรรมมากมายที่ไม่ได้ถูกเรียกตัว แต่ก็ไม่ได้หมายความพวกเขาจะดำเนินชีวิตตามปกติสุขได้ เพราะต่างก็เผชิญกับการถูกข่มขู่ หรือไม่ก็ถูกกีดกันไม่ให้สามารถแสดงความคิดเห็นได้ มีการจับตามองใกล้ชิดไม่เว้นแม้ในห้องเรียนหรือการประชุมทางวิชาการต่างๆ ที่ในที่สุดแล้วก็อาจจะนำไปสู่การจับกุมและถูกบังคับให้หยุดแสดงออกไปในที่สุด ไม่ต่างอะไรกับคนที่ถูกเรียกตัวไป (ขณะนั้นกรณีจับกุมนักวิชาการจากที่ประชุม จากการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ยังไม่เกิดขึ้น)
 
4. SRF ถามว่า “ทำไมไม่รอจนกว่าจะถูกเรียกตัวแล้วค่อยสมัครขอความช่วยเหลือ” ผมตอบว่าหากรอจนถึงขนาดนั้นก็จะไม่มีโอกาสออกมานอกประเทศ จะถูกกักกันตัวไว้ในประเทศ หลายคนที่เมื่อถูกเรียกตัวไปแล้ว ก็ไม่สามารถกลับมามีชีวิตตามปกติได้ดังเดิม บางคนยังถูกคุกคามอย่างต่อเนื่องด้วยวิธีการต่างๆ ที่ผมเล่าให้เขารับรู้ไปแต่ไม่สามารถเล่าในที่นี้ได้เนื่องจากเจ้าตัวอาจจะเดือดร้อน บางคนที่ไม่ได้ถูกเรียกตัวอย่างเป็นทางการแต่กลับ “ถูกเชิญ” ไปข่มขู่คุกคามอย่างรุนแรงจนทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้ และสำหรับคนที่ถูกเรียกตัวไป การเดินทางไปต่างประเทศก็จะถูกจำกัด ต้องขออนุญาตจากคณะรัฐประหาร นอกจากนั้นยังมีประกาศในหน่วยงานของรัฐ ไม่ให้ติดต่อร่วมงานกับบุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัว นับเป็นมาตรการทางสังคมที่กดดันคนเหล่านี้อีก
 
ผมบอกไปด้วยว่า ผมไม่คิดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นภายใน 1-2 ปี แต่ผมคิดว่า การได้ออกมาทำงานอย่างเป็นอิสระสักระยะหนึ่ง จะดีกว่าต้องทำงานอยู่ในสภาพที่ไร้เสรีภาพและมีโอกาสถูกคุกคามได้เสมอในขณะนี้
 
หลังจากเขาประกาศว่าผมได้รับทุนสักพัก ทาง SRF ก็ติดต่อมาว่า วารสาร The Chronicle of Higher Education ของสหรัฐอเมริกาสนใจจะสัมภาษณ์ผม SRF ถามว่าผมสมัครใจให้สัมภาษณ์ไหม และยินดีทำในนามของผู้ได้รับทุนนี้ไหม เขาย้ำว่าผมจะไม่ทำก็ได้ แต่ผมยินดีทำ ผมบอกเขาไปว่า ที่ผมให้สัมภาษณ์ก็ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
 
1. ผมอยากให้โลกรู้ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการคุกคามสิทธิมนุษยชนอย่างหนัก อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม อันเนื่องมาจากการใช้กฎหมายอย่างฉ้อฉล อันเนื่องมาจากการไม่เคารพกฎหมายของคณะรัฐประหารและพรรคพวกที่เข้าร่วม ผมอยากใช้ตนเองเป็นตัวอย่างของผู้คนอีกจำนวนมากที่ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งๆ ที่ประเทศไทยยังมีคนนั่งลอยหน้ากินเงินเดือนภาษีประชาชนในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอยู่อย่างไม่รู้จักละอายแก่ใจ
 
2. ผมอยากให้ academic activists หรือนักวิชาการผู้ทำกิจกรรมบริการสังคมทั่วโลกรับรู้ว่า กิจกรรมบริการสังคม ไม่ว่าจะที่ใดในโลก ยังคงได้รับการเหลียวแลจากสังคมนานาชาติอยู่ พวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว พวกเขายังมีคนให้การสนับสนุน พวกเขายังมีโอกาสที่จะได้รับการช่วยเหลือให้เดินหน้าทำงานทางวิชาการและงานกิจกรรมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง
 
3. ข้อที่ผมไม่ได้บอก SRF ก็คือว่า ผมต้องการให้คนที่ประเทศไทยรับรู้ความร้ายแรงของการรัฐประหารในประเทศไทย ว่าอยู่ในระดับเดียวกับความร้ายแรงในประเทศที่มีความรุนรงมากในขณะนี้ หากพิจารณาสภาพแวดล้อมของการสัมภาษณ์และการให้ความช่วยเหลือของ SRF นักวิชาการที่ได้รับความช่วยเหลือส่วนใหญ่มาจากประเทศที่ดวงไฟประชาธิปไตยริบหรี่ ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่สิทธิเสรีภาพถูกคุกคามอย่างร้ายแรง อย่างซีเรีย อียิปต์ อิรัก ฯลฯ ผมอยากให้โลกและรัฐบาลไทยเองรับรู้ว่าสถานะด้านสิทธิเสรีภาพของประเทศไทยขณะนี้ตกต่ำลงถึงขนาดนั้น
 
บทสัมภาณษ์ที่ได้เผยแพร่ไปแล้ว และที่จะตามมาในหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและในประเทศไทย อาจก่อปัญหากับผมมากยิ่งขึ้น แต่ผมก็ยินดีที่จะบอกเล่าความจริงที่เกิดขึ้นในมุมหนึ่งของโลกให้สังคมโลกรู้ เพื่อหวังว่าจะช่วยให้สถานการณ์ในประเทศไทยดีขึ้นในทางที่ไม่ใช่แค่สงบร่มเย็นสามัคคี แต่ต้องให้ได้กลับไปเป็นสังคมที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเสมอหน้ากันด้วย

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี