Skip to main content

เมื่อวันส่งท้ายปีเก่าพาแขกชาวไทยคนหนึ่งไปเยี่ยมชมภาควิชามานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ก็เลยทำให้ได้รู้จักอีก 2 ส่วนของภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่ว่ามีความจริงจังลึกซึ้งขนาดไหน ทั้งๆ ที่ก็ได้เคยเรียนที่นี่มา และได้กลับมาสอนหนังสือที่นี่ แต่ก็ไม่เคยรู้จักที่นี่มากเท่าวันนี้
 

วิชามานุษยวิทยาแบบอเมริกันมี 4 สาขาใหญ่ สาขาหนึ่งศึกษาวัฒนธรรม สาขาหนึ่งศึกษาภาษา ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินมีสาขาแรก ส่วนสาขาที่สองส่วนหนึ่งกลายเป็นหน้าที่ต่างหากของภาควิชาภาษาศาสตร์ มีวิชาที่ผมสอนเทอมที่แล้วคือ "ภาษาและวัฒนธรรม" ที่กำลังจะกลายเป็นวิชาบังคับให้นักเรียนภาษาได้เรียนทางด้านมานุษยวิทยาภาษาด้วย ส่วนอีก 2 สาขาที่ยังคงเป็นจุดเด่นของภาควิชานี้ที่นี่คือ สาขาโบราณคดีและสาขามานุษยวิทยาชีวภาพ หรือที่เดิมเรียกว่ามานุษยวิทยากายภาพ

เมื่อครั้งที่ผมเรียนที่นี่ร่วม 10 ปีก่อน ได้เรียนวิชาโบราณคดีเพียงวิชาเดียว ส่วนวิชามานุษยวิทยาชีวภาพไม่ได้เรียน แต่ที่จริงนักศึกษาไม่ว่าจะระดับตรี โท หรือเอก ก็สามารถเลือกเรียนวิชาข้ามทั้ง 3 สาขาได้ ได้มากจนกระทั่งบางคนอาจจบโดยได้รับสองปริญญา เช่นนักเรียนผมคนหนึ่ง เขาศึกษามานุษยวิทยาชีวภาพควบกับมานุษยวิทยาวัฒนธรรม

วันนี้ได้มาพบกับอาจารย์ท่านหนึ่ง ชื่อแดเนียล เบ็นเด็น (Danielle M. Benden) อายุยังน้อยมาก เธอเป็นทั้งอาจารย์ผู้บรรยายและเป็นภัณฑารักษ์ประจำภาควิชามานุษยวิทยาเพียงคนเดียว แต่งานหลักของเธอนั้นมากมายมหาศาล ตั้งแต่จัดระบบบรรดาโบราณวัตถุและกระดูกทั้งของจริงและของจำลอง ตลอดจนจัดการเรียนการสอน และทำโครงการจัดแสดงโบราณวัตถุและกระดูกต่างๆ ทางด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยาชีวภาพ

เบ็นเด็นเล่าว่า ภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่เริ่มเก็บโบราณวัตถุและกระดูกมาตั้งแต่ค.ศ. 1897 จนขณะนี้ก็ร้อยกว่าปีแล้ว โบราณวัตถุเหล่านี้จึงมีจำนวนมหาศาล เฉพาะห้องเก็บของเหล่านี้ก็วันนี้ผมก็นับได้ 4 ห้องเล็กกับอีก 1 ห้องใหญ่ๆ แล้ว และที่จริงผมรู้ว่ายังมีข้าวของพวกนี้ซุกซ่อนอยู่ในชั้นเก็บของห้องอาจารย์อีกหลายท่าน และยังมีห้องเรียนที่เป็นห้องทดลองในตัวที่เพิ่งสร้างอย่างทันสมัยอีกอย่างน้อยเท่าที่เห็นวันนี้ 4 ห้อง โดยรวมแล้วจึงได้เห็นว่าภาควิชาได้ลงทุนอย่างมหาศาลกับการศึกษาทางด้านนี้

ผมก็เลยตื่นตาตื่นใจไปกับทั้งของที่ภาควิชาเก็บไว้และวิธีการจัดการดูแลและการทุนเทของภาควิชา เนื่องจากภาควิชานี้ไม่ได้มีพิพิธภัณฑ์ ของพวกนี้จึงเก็บไว้ใช้ในเพื่อการเรียนการสอนและจัดแสดงชั่วคราวเท่านั้น คนทั่วไปจึงมีโอกาสน้อยมากที่จะได้เห็น 

โบราณวัตถุที่เบ็นเด็นภัณฑารักษ์ผู้พาชมอยากอวดในวันนี้มีมากมาย ที่เด่นๆ ก็เช่นบรรดาใบมีดหินกระเทาะขนาดเล็ก ใหญ่ หัวขวานหิน หัวธนูที่ทำจากหินแก้วใส เหล่านี้มาจากแทบทุกทวีป เครื่องปั้นดินเผาอายุตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพันปีจากทั่วโลก ชิ้นพิเศษๆ ก็เป็นเศษเครื่องปั้นดินเผาของมนุษย์ยุคแรกเริ่ม นอกจากนั้นก็พวกกระดูกและกะโหลกมนุษย์โบราณและมนุษย์วานร ของเหล่านี้เก็บสะสมมานานโดยคณาจารย์ที่สอนภาควิชานี้มาก่อน และทั้งที่ได้มาจากแหล่งโบราณคดีต่างๆ 

ที่ผมเพิ่งทราบเป็นความรู้ใหม่คือ บรรดากระดูกและกะโหลกมนุษย์โบราณและมนุษย์วานรนั้น แม้ส่วนมากนักเรียนจะได้เรียนจากของจำลองทำเป็นวัสดุเรซิน ก็จะต้องเป็นการจำลองทีละชิ้นมาจากกะโหลกและกระดูกของจริงต้นฉบับที่บางชิ้นเก็บไว้ในสถาบันการศึกษาในทวีปต่างๆ ทั่วโลก เช่นบางชิ้นจำลองมาจากสถาบันวิชาการในแอฟริกา วิธีนี้จึงทำให้สามารถได้รายละเอียดของร่องรอยต่างๆ อย่างครบถ้วน เสมือนศึกษาจากกระดูก กะโหลกจริงกันเลยทีเดียว

นอกจากนั้นภัณฑารักษ์ท่านยังเล่าถึงโครงการที่ท่านกำลังจะจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ ขนาดเล็ก จะใช้วัตถุจัดแสดงราวๆ ไม่เกิน 100 ชิ้น เรื่องโบราณคดีของวิสคอนซิน ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็นความเชี่ยวชาญหนึ่งของภาควิชานี้ ที่ก็มีนักโบราณคดีที่ศึกษาเรื่องนี้เพียง 2 คนเท่านั้น แต่กระบวนการจัดนิทรรศการนี้นั้นต้องใช้เวลาเตรียมการเป็นปี เมื่อร่างโครงการแล้วก็ให้นักศึกษานำไปเสนอให้ชาวบ้านในชุมชนชาวอเมริกันพื้นเมืองได้วิจารณ์เสนอแนะความเห็น และก็นำมาสู่การพัฒนาเนื้อหาการจัดแสดง นิทรรศการนี้จวนจะนำเสนอแล้ว ปลายเดือนหน้านี้หากมีโอกาสจะไปชมมาเล่าให้อ่านกันครับ

ของอีกส่วนหนึ่งที่ภัณฑารักษ์ตื่นเต้นอยากอวดนักวิชาการจากไทยสองคนวันนี้คือ ชุดเครื่องแต่งกายพร้อมเครื่องประดับศีรษะของตัวละครเรื่องสังข์ทอง ซึ่งเป็นของเก่าที่นักมานุษยวิทยาชื่อดังคือเจนและลูเซียน แฮงส์ (Jane and Lucian Hanks) ที่มาศึกษาวิจัยในประเทศไทยตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง บริจาคไว้ ความเป็นมาเป็นอย่างไรไม่แน่ชัด แต่เมื่อได้เห็นสภาพหน้ากากเจ้าเงาะ ชฎานางรจนา และเสื้อชุดละครบางส่วนแล้ว ก็น่าประทับใจกับการเก็บรักษาข้าวของเป้นอย่างดีของที่นี่

น่าเสียดายที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้เคยรู้จักด้านนี้ของภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่มากนัก จึงไม่ได้ชวนให้ผมอยากศึกษาความรู้ด้านนี้มากเท่าที่ควร แต่ผมก็หวังที่จะได้บอกกล่าวกับคณาจารย์และนักศึกษาที่นี่ว่า พวกเธอมีของดีอีกมากมายที่ควรนำเสนอให้อย่างน้อยนักศึกษาต่างสาขาในภาควิชาเดียวกันได้รับรู้

ส่วนนักวิชาการไทยเองก็หนีไม่พ้นที่จะสะท้อนใจว่า การเรียนการสอนด้านนี้ในประเทศไทยทำไมจึงดูไม่น่าตื่นเต้น ไม่น่าสนุกเท่ากับที่ภัณฑารักษ์วัยเยาว์ท่านนี้ชี้ชวนให้ดูให้ชมให้เรียนรู้ก็ไม่ทราบ ทำไมบรรดาข้าวของโบราณในประเทศไทยมันจึงศักดิ์สิทธิ์เกินเอื้อมจนผู้สนใจไม่สามารถหยิบจับลูบคลำได้ก็ไม่ทราบ ทำไมความรู้โบราณและพิพิธภัณฑ์จึงมักไม่ค่อยประสานเชื่อมโยงกับผู้คนและชุมชนมากนักก็ไม่ทราบ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย วันที่ 23 เมษายน 2557
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากอำมาตย์ชนะ...โลกวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การบอกเล่าเรื่องราวของ "คนอื่น" ที่ต่างจากเรามากๆ ให้ "พวกเรา" อ่าน อย่างมากก็ทำได้แค่ บอกเล่าผ่านถ้อยคำ ผ่านประสบการณ์ที่ "พวกเรา" ต่างคุ้นเคยกันดี พูดอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องคนอื่นคือ "การแปล" หรือ "การแปร" เรื่องที่แตกต่างให้คุ้นเคย เป็นการดัดแปลงของคนอื่นให้เราเข้าใจในภาษา ในสัญญะแบบที่พวกเราเองรับรู้อยู่ก่อนแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดท้ายชั้นเรียนวิชา "มานุษยวิทยาอาหาร" กับนักเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกเมื่อสองวันก่อนด้วยมื้อการไปกินอาหารไทยพื้นๆ แสนอร่อยราคาประหยัดที่แพร่งภูธร พระนคร ตลอดภาคการศึกษา พวกเราพยายามเข้าใจอาหารผ่านหลายๆ คำถาม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (13 กพ. 57) ไปเยี่ยมชม Kyoto Museum for World Peace ตามคำบอกเล่าของหลายๆ คน และตามความประสงค์ของผู้ร่วมเดินทาง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชวนให้คิด มีถ้อยคำหลอกหลอนมากมาย มีภาพความรุนแรง มีบทเรียนที่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ มีการเห็นคนไม่เป็นคน และสุดท้ายสะท้อนใจถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย