Skip to main content

สิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ปีนี้ไม่ค่อยชวนให้ผมรู้สึกอะไรมากนัก ความหดหู่จากเหตุการณ์เมื่อกลางปีที่แล้วยังคงเกาะกุมจิตใจ ยิ่งมองย้อนกลับไปก็ยิ่งยังความโกรธขึ้งและสิ้นหวังมากขึ้นไปอีก คงมีแต่การพบปะผู้คนนั่นแหละที่ชวนให้รู้สึกพิเศษ วันสิ้นปีก็คงจะดีอย่างนี้นี่เอง ที่จะได้เจอะเจอคนที่ไม่ได้เจอกันนานๆ สักครั้งหนึ่ง 

 
แรกเลยคือการได้พบเจอลูกๆ ของอาจารย์ที่เคยเรียนด้วย เด็กๆ พวกนี้เมื่อก่อนพวกเขาก็โผล่หน้าแว๊บไปแว๊บมาเมื่อเราไปหาอาจารย์บ้าง หาเพื่อนๆ บ้าง ได้เห็นกันก็แค่ผ่านๆ หรือจะได้กินอาหารด้วยกัน เมื่อพวกเขาอิ่มแล้ว 7 ปีก่อนตอนเขาเป็นวัยรุ่นหรือยังเป็นเด็กเล็กๆ พวกเขาก็จะหายหน้ากันไปเข้าห้อง ไม่ก็ดูทีวี หรือไปวิ่งเล่น แทบไม่ได้คุยกัน
 
แต่เมื่อโตขึ้นถึงวันนี้ คนหนึ่งกำลังจะทำงานบริษัท กินเงินเดือนมากกว่าแม่ที่เป็นศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย คนหนึ่งเลือกเส้นทางอุดมการณ์ทำงานการเมืองผลักดันนโยบายเพื่อคนรุ่นใหม่ คนหนึ่งทำงานบริษัทการเงินใหญ่โต อีกคนกำลังเรียนการออกแบบวิดีโอเกมส์
 
อีกคนเจริญรอยตามพ่อเป็นนักล่า เรียนเรื่องการล่าสัตว์ ซึ่งพ่อก้าวหน้าไปไกลถึงขั้นสามารถฆ่าหมีด้วยธนูดอกเดียวมาแล้ว อีกคนเคยถีบจักรยานทั่วสหรัฐฯ เพื่อระดมทุนการกุศลแล้วขณะนี้เป็นครูประวัติศาสตร์ อีกคนพาแฟนบุคคลิกแปลกจากชาวนาวิสคอนซินมาแนะนำครอบครัว ส่วนเด็กอีกคนเมื่อ 7 ปีก่อนยังแบเบาะ ขณะนี้นี้โดตขึ้นมาเป็นเด็กดื้อเหลือขอ
 
ชีวิตของพวกเพื่อนเองก็เปลี่ยนแปลงกันไปไม่ใช่น้อย เพื่อนคนหนึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ เกษียณอายุแล้ว อายุ 70 กว่า ขณะนี้ย้ายจากบ้านขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็กมีอาณาบริเวณในชุมชนที่ใครๆ ก็อยากอยู่ ไปอยู่อพาทเมนท์ผู้สูงอายุ แถมภรรยายังต้องไปอยู่อีกที่หนึ่ง เป็นที่สำหรับดูแลผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลพิเศษ 
 
เมื่อได้ไปเยี่ยมทั้งสองแล้ว ก็ให้สะท้อนใจกับชีวิต และคิดถึงจุดจบของชีวิตที่ยุ่งยากยิ่งขึ้นทุกวัน เมื่อโลกเทคโนโลยีพัฒนาไปเรื่อยๆ คนสูงวัยก็กังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเมื่อไหร่ตนจะหมดอายุขัยสักที
 
เพื่อนอีกคู่หนึ่งมีชีวิตที่กำลังจะเปลี่ยนไปอย่างเหลือเชื่อ คนสามีออกจากงานใชัแรงงานหนัก มาเป็นคนจัดแต่งกะบะไม้ประดับ รวมทั้งช่วยภรรยาที่ทำงานอดิเรกอย่างขะมักเขม้น คือการทำกระถางประดับ ที่ออกแบบเก๋ไก๋เฉพาะตัวแต่ละชิ้นไม่เหมือนกัน ขณะนี้กำลังรุ่งมาก เดินทางออกร้านตามงานอาร์ตแฟร์ตามรัฐต่างๆ ไม่เว้นแต่ละเดือน 
 
จนเร็วๆ นี้สองสามีภรรยานี้กำลังคิดจะขายบ้านไปอยู่คอนโดฯ ส่วนภรรยายจะออกจากงาน เพื่อกลายเป็นศิลปินเต็มตัว ยิ่งได้ไปดูสตูดิโอสองคนนี้แล้วก็ให้ทึ่งในความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมกับนับถือในความกล้าหาญที่คิดจะเปลี่ยนแปลงชีวิตในวัยปลาย 50 แล้ว
 
อีกคู่หนึ่งเป็นคนไทยที่มาใช้ชีวิตที่นี่หลายสิบปีแล้ว ทั้งคู่ทำงานหนัก สามีขณะนี้อายุ 80 กว่า ภรรยา 60 กว่า จนขณะนี้เกษียณแล้ว ไปซื้อบ้านหลังใหญ่อยู่นอกเมืองแมดิสัน บ้านอยู่ริมน้ำ บรรยากาศงดงามเหมาะกับบั้นปลายชีวิต สองสามีภรรยาไม่คิดจะกลับเมืองไทย ผิดกับคนไทยหลายๆ คนที่ลงแรงเก็บเงิน ฝันว่าสักวันจะกลับไปสบายในบั้นปลายที่เมืองไทย 
 
น่านับถือในความมุ่งมั่นทำมาหากินเก็บหอมรอมริบ น่าทึ่งกับสังคมเศรษฐกิจอเมริกันที่เปิดโอกาสให้คนใช้แรงงานที่มีวินัย สามารถมีชีวิตที่ดีไม่ต่างจากหรืออาจจะดีกว่าคนที่ร่ำเรียนสูงๆ ได้ แต่ก็น่าเห็นใจพี่ๆ คนไทยทั้งสองคนนี้ที่อย่างไรเสียพวกเขาก็ยังคงรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในฐานะทางสังคมของตนเอง จึงไม่ค่อยคบเพื่อนฝรั่งเท่าไหร่นัก
 
เพื่อนอีกคนเลือกเส้นทางชีวิตที่น่าทึ่งตั้งแต่เมื่อหลายปีที่แล้ว และจนบัดนี้ก็ยังยืนยันใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่ เขาเลือกอยู่กินกับผู้หญิงคนหนึ่ง ที่มีลูกกับสามีที่เลิกกับเธอไป เพื่อนคนนี้เลี้ยงลูกภรรยาราวกับลูกตนเอง ส่วนเด็กคิดอย่างไรกับเขานั้น พอจะเดาได้แต่ก็ไม่อยากกล่าอะไรให้เพื่อนช้ำใจนัก 
 
ชีวิตเพื่อนคนนี้น่าทึ่งตั้งแต่รู้จักกันมากว่า 10 ปีแล้ว เขาเป็นคนไนจีเรีย ถูกเลี้ยงดูโดยคนขาวในอังกฤษ พูดอังกฤษทั้งสำเนียงและลีลาการใช้ภาษาแบบชาวอังกฤษที่มีการศึกษาสูง มาเริ่มทำงานในสหรัฐฯ ในอาชีพเซลแมน แล้วค่อยๆ เรียนเป็นนักบิน จนปัจจุบันเป็นนักบินมือหนึ่งของสายการบินอเมริกันมานานเกือบ 10 ปีแล้ว บินทั้งภายในและต่างประเทศ น่าทึ่งที่สังคมนี้เปิดโอกาสให้คนที่ต่อสู้สามารถเปลี่ยนชีวิตได้มากขนาดนี้
 
ยากที่จะพูดคำส่งความสุขปีใหม่ปีนี้ แต่เมื่อได้เจอเพื่อนๆ และครูบาอาจารย์เก่าๆ ก็มีความสุขที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ถึงกับฉับพลันเลวร้ายนัก แต่ก็พอได้สัมผัสความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยคิดถึงมาก่อน สุดท้ายก็รู้สึกดีขึ้นมาบ้างที่ปีใหม่นี้ได้เข้าใจสังคมอเมริกันมากขึ้น และได้เรียนรู้ชีวิตมนุษย์มากขึ้น

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา