Skip to main content

ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา ผมสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เนื่องจากเป็นการสอนชั่วคราว จึงรับผิดชอบสอนเพียงวิชาเดียว แต่ผมก็เป็นเจ้าของวิชาอย่างเต็มตัว จึงได้เรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่นี่เต็มที่ตลอดกระบวนการ มีหลายอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย จึงอยากบันทึกไว้ ณ ที่นี้ ให้ผู้อ่านชาวไทยได้ทราบกัน

ประสบการณ์แปลกใหม่ของการสอนที่นี่เริ่มตั้งแต่การปฐมนิเทศพนักงานใหม่เลยมหาวิทยาลัยวิสคอนซินจัดปฐมนิเทศให้ทั้งอาจารย์และเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยอักษรศาสตร์ (College of Letters and Science ซึ่งมีภาควิชาทั้งทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สังกัดอยู่เป็นจำนวนมาก) พร้อมๆ กัน โดยใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง ไม่ใช่ 2-3 วัน หรือเป็นสัปดาห์อย่างมหาวิทยาลัยไทย ที่นี่เขาเริ่มด้วยการกล่าวถึงปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่สลักไว้ที่ตึกบริหารของมหาวิทยาลัย ข้อความดังกล่าวคือ "Whatever may be the limitations which trammel inquiry elsewhere, we believe that the great state University of Wisconsin should ever encourage that continual and fearless sifting and winnowing by which alone the truth can be found."  

ข้อความดังกล่าวแปลคร่าวๆ ได้ว่า "ไม่ว่าจะมีข้อจำกัดใดที่ขัดขวางการค้นคว้าอยู่ที่แห่งไหน เราเชื่อมั่นว่ามหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งรัฐวิสคอนซินจะผลักดันอย่างยิ่งยวดให้การกลั่นกรองแยกแยะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและปราศจากความกลัวเกรงด้วยหลักการนี้เท่านั้นที่ความจริงจะได้รับการค้นพบ" ข้อความดังกล่าวมาจากชาร์ส เค อดัมส์ (Charles K. Adams) อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ผู้บริหารซึ่งล้วนเป็นผู้หญิงกล่าวยืนยันว่า นี่เป็นความภูมิใจต่อหลักเสรีภาพทางวิชาการของมหาวิทยาลัยแห่งนี้

เมื่อเริ่มเตรียมการสอน ภาควิชามานุษยวิทยาให้ผมเลือกสอนวิชาที่ผมถนัดที่สุด เขาพิจารณาจากประวัติความสนใจและผลงานตีพิมพ์ของผม แล้วพบว่าผมสามารถสอนวิชามานุษยวิทยาภาษา มานุษยวิทยาการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และทฤษฎีและการวิจัยทางมานุษยวิทยา ผมเลือกสอนวิชา "ภาษากับวัฒนธรรม" (หรือมานุษยวิทยาภาษานั่นแหละ) ในภาคแรก ผมเลือกสอนวิชานี้เพราะตั้งใจจะเขียนตำราด้านนี้และเป็นวิชาที่สอนต่อเนื่องถึง 5-6 ปีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนั้น วิชานี้ก็ไม่ได้เปิดสอนที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินมานานเกือบสิบปีแล้วด้วย นี่เป็นหลักการสำคัญของการจัดการสอนในระดับอุดมศึกษา ที่ควรให้อิสระกับผู้สอนที่จะเลือกสอนในวิชาที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญที่สุด

ก่อนเปิดภาคการศึกษา อาจารย์จะต้องเตรียมรายชื่อตำราและเอกสารต่างๆ ที่จะใช้ให้พร้อมก่อนอย่างน้อยเป็นเดือน เพื่อที่ห้องสมุดและศูนย์หนังสือของมหาวิทยาลัยจะได้สั่งหนังสือได้ทัน สำหรับวิชาของผม ผมกำหนดให้นักศึกษาต้องอ่านหนังสือทั้งเล่ม 3 เล่ม (ปริญญาโทและเอกต้องอ่าน 5 เล่ม) และในแต่ละสัปดาห์ต้องอ่านเอกสารล่วงหน้าก่อนเข้าเรียนประมาณ 70-100 หน้า ที่จริงนี่นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับบางวิชาที่กำหนดให้อ่านตั้งแต่ 150-200 หน้าก่อนเข้าเรียน แต่จากประสบการณ์ผม ผมพบว่าเมื่อกำหนดให้นักศึกษาอ่านมากเกินไป พวกเขาก็จะอ่านข้ามๆ ไม่สนใจรายละเอียดเท่าที่ควรเพราะไม่มีเวลาเพียงพอ ก็จะทำให้ไม่เข้าใจตำรับตำราอย่างดีพอ  

สำหรับเอกสารประกอบการอ่าน มหาวิทยาลัยจะมีเจ้าหน้าที่ซึ่งนำเอารายชื่อเอกสารของอาจารย์ไปหาต้นฉบับแล้วถ่ายสำเนาระบบดิจิตอล จากนั้นเขาก็จะนำสำเนาเหล่านั้นขึ้นเว็บไซต์ห้องสมุดเพื่อเป็นเอกสารสำรองของแต่ละวิชา เมื่อนักศึกษาเข้าไปดูเอกสารประกอบการบรรยายของแต่ละวิชา ก็จะเห็นรายละเอียดตามที่อาจารย์ระบุไว้เลยว่าสัปดาห์นี้อ่านเอกสารอะไรบ้าง นักศึกษาก็จะสามารถดาวน์โหลดเอกสารแต่ละชิ้นมาอ่านได้ทันที จะพิมพ์ออกมาเป็นกระดาษหรือจะอ่านจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ตามสะดวก  

ส่วนหนังสือเล่ม นักศึกษาอาจไปซื้อที่ศูนย์หนังสือของมหาวิทยาลัยหรือจะสั่งเองก็ได้ หรือจะไม่ซื้อเลย ก็สามารถอ่านจากที่ห้องสมุดสำรองไว้ให้ตามที่อาจารย์แจ้งไปแต่ละภาคก็ได้

การจัดระบบเหล่านี้อันที่จริงก็ไม่ค่อยต่างจากสมัยที่ผมเคยเรียนที่นี่เท่าใดนักแต่ที่สะดวกมากในปัจจุบันคือการจัดทำเอกสารประกอบการอ่านรายสัปดาห์สำรองในรูปดิจิตอล ทำให้ประหยัดกระดาษและประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก นอกจากนั้น การบริหารจัดการผ่านอีเมล์ ทำให้การบริหารจัดการรวดเร็วและลดการใช้กระดาษได้มากเช่นกัน ระบบดิจิตอลใช้มากระทั่งการส่งเกรดที่ทำได้โดยผ่านการล็อกอิน แล้วกรอกเกรดเป็นอันเสร็จ ไม่เหมือนมหาวิทยาลัยบางแห่งในประเทศไทยที่มีระบบดิจิตอลเอาไว้ให้เรียกได้ว่ามี แต่พอเอาจริงเอาจังก็กลับต้องพิมพ์กระดาษแล้วลงนามอยู่เหมือนเมื่อ 20 ปีที่แล้วเช่นเดิม  

ที่น่าสังเกตอีกข้อคือการจัดห้องเรียนร่วมกันต่างระดับการศึกษา ห้องเรียนในวิชาระดับปริญญาตรีตั้งแต่ปี 3 ขึ้นไป จะเปิดให้นักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกมาร่วมเรียนด้วยกันได้ ส่วนห้องเรียนระดับปริญญาโทและเอกในปีต้นๆ ก็เปิดให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีปีสูงสามารถร่วมเรียนได้เช่นกัน แม้ว่านักศึกษาจะมีระดับการศึกษาที่แตกต่างกัน แต่อาจารย์ก็จะสามารถใช้เกณฑ์การวัดผลที่แตกต่างกันระหว่างนักศึกษาต่างระดับได้ เช่น ห้องเรียนที่ผมสอนในภาคที่แล้ว มีนักศึกษาทั้งหมด 10 คน มี 4 คน ที่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก  

ข้อดีของการจัดให้นักศึกษาต่างระดับกันเรียนร่วมกันคือ ข้อแรก ประหยัดต้นทุนของการจัดการศึกษา ที่สำคัญคือทำให้อาจารย์ไม่ต้องแยกสอนเป็นห้องๆ ในแต่ละระดับ อย่างที่ผมเคยสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิชาเดียวกันนี้ หากเปิดภาคเรียนเดียวกัน ผมต้องเปิดถึง 3 ห้อง สอนเนื้อหาคล้ายๆ กันในระดับปริญญาตรี โท และเอก หากผมทำอย่างนี้ก็จะนับเป็นผลงานการสอนจำนวน 3 วิชา แต่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเปิดเพียงวิชาเดียว และนับเป็นจำนวนวิชาสอนเพียงหนึ่งวิชา ดังนั้น มหาวิทยาลัยก็จะประหยัดค่าจ้างสอน นอกจากนั้นยังประหยัดห้องเรียน แทนที่จะต้องจัดห้อง 3 ห้อง ก็จัดเพียงห้องเดียว

ข้อดีอีกประการหนึ่งคือ นักศึกษาจะได้แลกเปลี่ยนกันข้ามระดับการศึกษา นักศึกษาปริญญาตรีจะได้เรียนรู้จากนักศึกษาระดับสูงขึ้นไป ส่วนนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกก็จะได้เรียนรู้จากนักศึกษาระดับปริญญาตรีได้เช่นกัน เนื่องจากนักศึกษาปริญญาตรีมักยังไม่มีกรอบจำกัดการคิดมาก เมื่อตั้งคำถามอะไรจึงมักเต็มไปด้วยความท้าทาย กล้าคิดมากกว่า เท่าที่ผมสอนมายังไม่เคยรู้สึกกังวลว่านักศึกษาระดับปริญญาตรีจะตามไม่ทันรุ่นพี่ๆ เนื่องจากในบทเรียนที่เหมือนๆ กัน นักศึกษาแต่ละระดับก็จะเรียนรู้ได้แตกต่างกัน ระดับปริญญาตรีเน้นทำความเข้าใจเนื้อหามากกว่า ส่วนระดับปริญญาโทและเอกเน้นความลึกซึ้ง สามารถนำไปดัดแปลงสู่การวิจัยได้ และมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ

ประสบการณ์ที่ดีในภาคการศึกษาที่ผ่านมาอีกประการหนึ่งคือ การสอนในห้องเรียนที่มีนักศึกษาจากหลายๆ ประเทศ หลายๆ สาขาวิชามาเรียนร่วมกัน นักศึกษาจำนวน 10 คนในห้องผม มีทั้งนักศึกษาอเมริกันครึ่งฝรั่งเศส อเมริกันครึ่งฟินแลนด์ อเมริกันครึ่งอเมริกาใต้ อเมริกันครึ่งไทย-จีน มีนักศึกษาจีนสองคน นักศึกษาไทยที่ศึกษาเกี่ยวกับพม่าหนึ่งคน นักศึกษาอเมริกันที่เคยอยู่ประเทศลาวหนึ่งคน นักศึกษาเกาหลีใต้ที่เคยอาศัยในอินโดนีเซียหนึ่งคน และนักศึกษาซาอุดีอาระเบียอีกหนึ่งคน นอกจากนั้น ส่วนผสมของสาขาวิชาของนักศึกษาก็น่าสนใจ ผมมีนักศึกษาเรียนเอกเศรษฐศาสตร์ เอกมานุษยวิทยา เอกภาษาศาสตร์ นักเรียนวิศวกรรมศาสตร์ นักเรียนเอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอกภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ส่วนผสมที่แตกต่างกันมากมายนี้ช่วยทำให้ห้องเรียนที่ผมสอนภาคที่แล้วกลายเป็นห้องสนทนาที่นักศึกษาแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์กันเองผ่านบทเรียนของแต่ละสัปดาห์อ่านสนุกสนานถึงขั้นเมามัน หลังจบภาคการศึกษา นักศึกษาหลายคนเอ่ยปากกันเองว่า "เสียดายที่จะไม่ได้เจอกันอีกแล้ว"  

มหาวิทยาลัยนานาชาติเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างประเทศ ระหว่างวัฒนธรรมได้อย่างกว้างขวาง ข้อนี้นับเป็นข้อได้เปรียบของมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ในประเทศไทย ห้องเรียนโครงการนานาชาติที่ผมเคยสอนมีน้อยครั้งที่จะได้พบกับห้องเรียนที่มีส่วนผสมที่หลากหลายเช่นนี้ ส่วนใหญ่เป็นห้องเรียนที่นักศึกษาไทยมาฝึกใช้ภาษาอังกฤษกันมากกว่า ขาดการเรียนรู้จากกันและกัน นอกจากนั้น โครงการนานาชาติแบบมหาวิทยาลัยไทยยังยัดเยียดความเป็นไทยแบบอนุรักษนิยมและอำนาจนิยมให้กับนักศึกษาทั้งต่างชาติและไทย

โครงการนานาชาติในมหาวิทยาลัยไทยจึงมักเหมือนโรงเรียนมัธยมไทยที่เรียกหลักสูตรตนเองว่าอุดมศึกษาแต่ใช้ภาษาอังกฤษจัดการเรียนการสอนแทนเท่านั้นเอง

สิ่งที่แตกต่างอย่างมากกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยคือเมื่อหมดภาคการศึกษา ส่งเกรดเรียบร้อยแล้ว อาจารย์ไม่จำเป็นต้องเขียนรายงานตอบคำถามแปลกๆ เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนว่าได้สอนครบตามเนื้อหาหรือไม่ ขาดตรงไหนไปมากกว่า 25% หรือไม่ ทำไมถึงขาด คราวต่อไปถ้าสอนจะชดเชยอะไร อย่างไร ฯลฯ ไม่ต้องตอบคำถามตั้งแต่ต้นภาคการศึกษาแบบที่ต้องตอบที่มหาวิทยาลัยไทยว่า วิชาที่สอนตอบโจทย์ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของวิชานี้หรือไม่ อย่างไร ที่นี่มีการประเมินจากนักศึกษาเพียงครั้งเดียว จากนั้นตลอดภาคการศึกษาไม่ต้องรายงานอะไรใครทั้งสิ้น  

พูดง่ายๆ คือ มหาวิทยาลัยที่นี่ให้อิสระในการจัดการเรียนการสอนและให้เกียรติคณาจารย์ว่าเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ ไม่ใช่ลูกจ้างที่นายจ้างต้องคอยสอดส่องจับจ้องเหมือนในมหาวิทยาลัยไทย  

อันที่จริงผมได้เรียนรู้อะไรอีกมากมายจากการสอนหนังสือที่นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักศึกษา แต่หลักๆ ที่สำคัญคือ ผมพบว่าแม้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วในห้องเรียน นักศึกษาที่นี่จะมีคุณภาพสูงกว่านักศึกษาในประเทศไทย แต่นักศึกษาที่เรียนดี ซึ่งก็คือตั้งใจเรียน ทำงานหนักสม่ำเสมอ มีความสามารถในการสื่อสารดี และมีความคิดสร้างสรรค์สูงนั้น มีคุณภาพไม่ได้สูงเกินไปกว่านักศึกษาไทยที่ผมเคยรู้จักมามากมาย พูดง่ายๆ คือ นักศึกษาที่เก่งที่สุดที่นี่ก็ไม่ได้เก่งไปกว่านักศึกษาไทยที่เก่งที่สุดเลย แต่ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า เมื่อนักศึกษาไทยเติบโตไปแล้ว มีอะไรหรือที่ทำให้นักศึกษาไทยจึงไม่สามารถพัฒนาให้ความสามารถพวกเขาเติบโตไปได้อย่างนักศึกษาที่นี่  

ผมคิดว่าหลักการพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ระบบมหาวิทยาลัยที่นี่แตกต่างจากระบบมหาวิทยาลัยไทยคือหลักการเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งจะต้องส่งเสริมการเรียนรู้อย่างถึงที่สุด ผมคิดว่าการศึกษาไทยแพ้การศึกษาอเมริกันที่ตรงนี้นี่เอง

 
(ที่มา:มติชนรายวัน 12 มกราคม 2558)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงผมก็นึกไม่ถึงว่าจะมีคนสนใจข่าวนี้กันมากนัก เรื่องอาจจะเป็นเพราะมีการใช้คำในการรายงานข่าวเบื้องต้นอย่างคลาดเคลื่อนไป ก็เลยทำให้เป็นที่น่าตกใจ แต่อีกนัยหนึ่งก็ชี้ให้เห็นปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนกระทั่งเมื่อมีการแสดงการต่อต้านด้วยการปฏิเสธที่จะอยู่ใต้อำนาจกดทับนั้น คนก็จึงตอบรับกันอย่างกระหน่ำ อย่างไรก็ดี ผมก็อยากชี้แจงให้กระจ่างเพิ่มเติมว่า ทำไมผมจึงเลือกที่จะแสดงสถานภาพในการเดินทางมาต่างประเทศของผมในครั้งนี้เพิ่มเติมผ่านข้อเขียนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพิ่งผ่านมาเพียง 5 เดือนอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะถามว่า หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้วขบวนการประชาชนจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่หากมองย้อนกลับไป แล้วมองไปข้างหน้าอีกสักหน่อย ก็น่าจะลองคิดถกเถียงกันบ้างว่า ขบวนการประชาชนน่าจะไปทางไหนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
TED รายการบรรยายสาธารณะที่มีชื่อเสียงและผมก็ติดตามเรียนรู้มาสม่ำเสมอ ได้เผยแพร่คลิปบรรยายของคีท เชน นักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอข้อถกเถียงว่า ภาษามีความเชื่อมโยงกับการออมตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ผมเพิ่งได้ยินเกี่ยวกับการศึกษานี้มาตั้งแต่ต้นภาคการศึกษานี้ในชั้นเรียนวิชามานุษยวิทยาภาษา ที่นักศึกษาคนหนึ่งเอ่ยถึงการศึกษานี้ และเพิ่งได้ดูด้วยตัวเองเมื่อ 3-4 วันก่อนนี้เอง เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยนำไปให้นักศึกษาดูและถกเถียงกันในชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การอัตวินิบาตกรรมของคุณนวมทอง ไพรวัลย์ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นัยหนึ่งถือว่าเป็นการประท้วงต่อการรัฐประหาร อีกนัยหนึ่งถือเป็นการยืนยันความจริงจังและบริสุทธิ์ใจต่ออุดมการณ์ อีกนัยหนึ่งอาจปลุกเร้าสำนึกของผู้ร่วมอุดมการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็เกรงว่าจะเป็นความสูญเสียที่สูญเปล่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแตกต่างจากการสอนหนังสือในระดับโรงเรียนก็คงจะตรงที่ว่า ผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนการสอนมาก่อน อาจจะมีการอบรมเรื่องการเรียนการสอนบ้าง มีการประเมินผลให้ผู้สอนพิจารณาปรับปรุงตนเองบ้าง มีการประเมินตนเองบ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว ผู้สอนมีส่วนสร้างระบบการเรียนการสอนด้วยตนเอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"อาร์บอรีทั่ม" (Arboretum) เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ร่วม 3 พันไร่ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สวนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่ก็อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก หากขยันเดิน สักชั่วโมงหนึ่งก็ถึง ถีบจักรยานไปก็สัก 20 นาที อาจเร็วกว่าขับรถที่ต้องเจอกับป้ายหยุด ทางแยก ไฟสัญญาณ กว่าจะถึงก็สัก 30 นาที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการมิได้มีสถานภาพพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ในสังคม เพียงแต่อาชีพนักวิชาการเป็นอาชีพที่ต้องพัฒนาความคิดความอ่านตลอดเวลา นักวิชาการจึงไม่ควรมีขอบเขตของความคิดความอ่าน พร้อมๆ กับที่ไม่ควรปิดกั้นขอบเขตของความคิดคนอื่น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กว่า 3 เดือนที่ผ่านมาผมไปชมการแสดงดนตรีไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ นึกเสียดายที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่มาเรียนไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เลย เมื่อวานนี้ (ตามเวลาที่อเมริกา) ผมก็เพิ่งออกจากห้องแสดงดนตรีมา จนทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า นี่ผมอยู่ในโลกไหนกัน แล้วทำไมที่ที่ผมอยู่เป็นปกติเขาถึงไม่ทำสถาบันการศึกษาให้เป็นสถานที่บ่มเพาะความเจริญของจิตใจได้อย่างนี้บ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดอร์ แรธสเคลเลอร์เป็นบาร์เบียร์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ตั้งอยู่ในตึกกิจกรรมนักศึกษา (ที่นี่เรียกว่า Memorial Union) ตึกกิจฯ นี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1928 โน่นเลย บาร์เบียร์แห่งนี้ก็น่าจะอายุไม่น้อยไปกว่าตึกที่มันอาศัยอยู่เท่าใดนัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเข้าร่วมกิจกรรมสังคมวิชาการซ้ำซ้อนกันหลายงาน ตั้งแต่บรรยายเรื่องการทำวิจัยในเวียดนามให้นักศึกษาบัณฑิตศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟัง ต่อด้วยปาร์ตี้ประจำปีของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหา'ลัยวิสคอนซิน ซึ่งเป็นงานแบบ potluck party และก็ฟองดูปาร์ตี้เล็กๆ ที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าขนมปังจุ่มชีสต้มเดือด ทั้งหมดนั้นได้อะไรสนุกๆ มามากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผ่านมาได้ 3 สัปดาห์ วิชาที่ผมสอนที่วิสคอนซินเริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆ ในห้องมีนักเรียน 10 คน ขนาดพอๆ กับที่เคยสอนที่ธรรมศาสตร์ แต่ที่ต่างคือในห้องเดียวกันนี้มีทั้งนักเรียนปริญญาตรี โท และเอกเรียนร่วมกัน เพียงแต่ข้อกำหนดของงานและความคาดหวังจากนักเรียนระดับ ป.ตรีกับ ป.โท-เอก ย่อมแตกต่างกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ท่านถามอย่างนี้กับสื่อมวลชน ต่อหน้าสาธารณชน ใครเขาจะกล้าตอบ ก็ในเมื่อท่านมีปืนอยู่ในมือ ใครเอาปืนจี้หัวท่านไว้แล้วท่านจะตอบความในใจที่ขัดความรู้สึกเขาได้ไหมล่ะ เรื่องแค่นี้น่าจะเข้าใจนะ