Skip to main content

ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้


เคยได้ยินไหมครับว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยโด่งดังบางคนสอนมากมายจนกระทั่งนับได้ว่า 8 วิชาต่อหนึ่งภาคการศึกษา เคยได้ยินไหมครับว่าอาจารย์บางคนเข้าห้องสอนแล้วสอนไปจนหมดชั่วโมงก็เพิ่งจะรู้ว่าสอนเนื้อหาผิดวิชา ผมไม่ได้จะโทษอาจารย์หรอก แต่จะโทษระบบมหาวิทยาลัยไทยมากกว่า ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วโดยทั่วๆ ไปมหาวิทยาลัยมักกำหนดภาระการสอนที่ "ต้องสอน" ไว้เพียง 4 วิชาต่อปี (บางคณะในธรรมศาสตร์เคยกำหนดไว้เพียง 2 วิชาต่อปีเท่านั้น แต่เกิดอะไรไร้สาระบางอย่างขึ้น ขอไม่เล่า สุดท้ายต้องสอน 4 วิชาต่อปี) แต่เมื่อทำตารางสอนจริงๆ อาจารย์ส่วนใหญ่จะสอนมากกว่านั้น จนอาจจะถึง 10 วิชาต่อปีทีเดียว

ในต่างประเทศ ที่อื่นผมไม่แน่ใจ แต่ที่สหรัฐอเมริกา เขาแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 3 กลุ่ม1. มหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย 2. มหาวิทยาลัยเพื่อการสอน 3. มหาวิทยาลัยศิลปศาสตร์ (liberal arts college*) แบบที่สามเป็นมหาวิทยาลัยขนาดเล็กที่เน้นการสอนระดับปริญญาตรี นักศึกษาจะเรียนร่วมกันหมดร่วม 2 ปี เรียนวิชาคละเคล้ากันแล้วแต่จะชอบ แล้วค่อยมาระบุเอาในปีสูงๆ ว่า ตกลงสนใจจะเน้นสาขาวิชาอะไร เท่าที่ผมรู้ มหาวิทยาลัยแบบนี้ไม่มีในประเทศไทย 

แต่สองแบบแรกเป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่ และผมอยากจะบอกว่า ที่จริงมหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่เป็นแบบที่สอง คือเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการจัดการเรียนการสอน มากกว่าที่จะเน้นการส่งเสริมการวิจัย ทำไมจะไม่เป็นอย่างนั้นล่ะ ก็ดูจากภาระการสอนก็ได้ อาจารย์ส่วนใหญ่สอนกันอย่างน้อย 3-4 วิชาต่อภาคการศึกษา แล้วจะเอาเวลา เอาสมอง เอาเรี่ยวแรงที่ไหนไปคิดทำงานวิจัย ไปเขียนบทความวิชาการ ไปสัมมนาวิชาการ ไปเขียนหนังสือ ไปแต่งตำราได้ล่ะ

ไม่ใช่ว่าอาจารย์ที่ทำได้จะไม่มี แต่มีน้อย และด้วยเงื่อนไขพิเศษบางอย่างเท่านั้น พูดง่ายๆ คือ ระบบมหาวิทยาลัยไทยไม่เอื้อกับการสร้างมหาวิทยาลัยวิจัย ที่คุยกันว่าเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยน่ะ ก็แค่โอ้อวดกัน แต่ส่วนใหญ่ถ้าเอาภาระงานสอนตั้งหารด้วยผลงานวิชาการแล้วล่ะก็ ภาระงานสอนจะมากกว่าผลงานวิชาการหลายเท่าตัวทีเดียว

ทำไมมหาวิทยาลัยไทยจึงเน้นการสอน เดิมที ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ที่ผมเพิ่งเริ่มเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย (ผมเริ่มงานปี 2539) คณะผมเพิ่งจะพัฒนาระบบการคิดภาระงานของอาจารย์ ผมได้รับมอบหมายให้ร่างระบบภาระงานขึ้นมา ขณะนั้นยังไม่มีแนวคิดเรื่องมหาวิทยาลัยวิจงวิจัยอะไร ผลงานอาจารย์จะตีค่าออกมาเป็นคะแนน เมื่อดูระบบที่เคยใช้อยู่จึงได้รู้ว่า ระบบเดิมไม่ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการเขียนงานวิชาการ ผมเสนอว่า หากใครจะได้สองขั้น ควรมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเป็นอย่างน้อย หลายคนทักว่า จะเอาอย่างนั้นเลยเหรอ จะไม่มีคนได้ 2 ขั้นเลยนะ

การเร่งให้คณาจารย์ผลิตงานวิจัยเพิ่งจะมีมาเมื่อไม่ถึง 10 ปีมานี้เอง ที่จริงผมคิดว่าไม่ถึง 5 ปีดีด้วยซ้ำ เมื่อผมกลับไปทำงานหลังจบปริญญาเอกใหม่ๆ ผมเสนอให้คณะมีฝ่ายวิจัยเป็นตัวเป็นตน คณะยังไม่ทำเลย มาจนเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมานี้เองที่เริ่มมีฝ่ายวิจัยทั่วทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดิมไม่มีหรอกครับ ไม่ใช่เพียงเพราะโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติอะไรนั่นหรอก แต่เพราะระบบประกันคุณภาพกับการแข่งขันในระดับโลกที่ทบวงฯ นำเข้ามาใช้อย่างงูๆ ปลาๆ นั่นเอง ที่เพิ่งจะมากระตุ้นให้มหาวิทยาลัยไทยเร่งงานวิจัย โดยเฉพาะทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 

พูดแบบนักเศรษฐศาสตร์การเมืองก็คือ เพราะระบบเสรีนิยมใหม่ที่เข้ามาทำให้เกิดการแปลงสินค้าสาธารณะให้เป็นสินค้าเอกชนให้หมด เกิดการ privatization มหาวิทยาลัยกันทั่วโลก รวมทั้งเกิดการ privatization กิจการของรัฐ ทั้งการสาธารณะสุข โรงพยาบาล การศึกษาระดับต่างๆ นั่นหละ ที่ส่งผลกระทบให้มหาวิทยาลันต้องแข่งขัน ต้องเร่งสร้างงานวิจัย

แต่ผลมันไม่อย่างนั้น เพราะแทนที่ระบบทั้งหมดมันจะปรับไปทางนั้น แต่มันกลับกลายเป็นว่า อาจารย์ทุกวันนี้มีแรงบีบทั้งด้านการสอนและการวิจัย เดิมที อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยก็มักทำงานสอนไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ทำวิจัยไปเรื่อยๆ เมื่อผลงานมากพอ ถ้าไม่ยอมบากหน้าหอบเอกสารไปขอตำแหน่งทางวิชาการเอง ก็มักจะมีลูกศิษย์ลูกหาที่เห็นใจ อยากให้อาจารย์ตนมีหน้ามีตา ก็ช่วยกรอกผลงาน ช่วยขอตำแหน่งให้ อาจารย์ไทยส่วนใหญ่จึงเป็นศาสตราจารย์กันยากใกล้เกษียณ หรือจนเกษียณแล้วไม่ขอตำแหน่งทางวิชาการเลยก็มี

แต่ทุกวันนี้ไม่อย่างนั้น ถ้าใครเข้ามาทำงาน ต้องขอตำแหน่งภายในกี่ปีกี่ปี เขาระบุไว้ในสัญญาเลย หากได้ ผศ. แล้ว จะต้องได้ รศ. ภายในกี่ปี เขาก็ระบุไว้ หากไม่ได้ ศ. หรือเป็น รศ. แต่ไม่มี ดร. เขาก็จะไม่ต่ออายุหลังเกษียณให้ ระบบนี้ดีไหม ก็ดีนะครับถ้าเห็นว่าเป็นการเร่งรัดและบีบให้อาจารย์ทำงานวิชาการ แต่ในทางกลับกัน ภาระงานสอนมากมายมันค้ำคออาจารย์อยู่ 

ถามว่าทำไมอาจารย์ต้องสอนมากด้วยเล่า ผมว่ามีสองสาเหตุด้วยกัน หนึ่ง อาจารย์เลือกสอนมากเอง เพราะงานสอนในมหาวิทยาลัย เมื่อสอนเกินจากภาระงานขั้นต่ำ ก็จะมีรายได้พิเศษ พูดง่ายๆ คือ รับสอนเกินภาระงานก็เพราะจะได้ค่าสอนพิเศษเพิ่มขึ้น ยิ่งหากสอนโครงการพิเศษ ก็จะได้รายได้มากมาย มากขนาดที่อาจารย์บางคนสอนหนังสืออย่างเดียวอาจมีรายได้เดือนละเป็นแสนเลยทีเดียว

สอง เลือกไม่ได้ เพราะหากไม่สอนมากกว่าภาระขั้นต่ำ ก็จะกลายเป็นคนไร้น้ำใจ เพราะเพื่อนๆ อาจารย์สอนกันเป็นส่วนใหญ่ ที่ต้องช่วยๆ กันสอน เพราะแต่ละคณะ แต่ละภาควิชาในมหาวิทยาลัยขณะนี้จะมีแหล่งรายได้พิเศษของตนเองกัน นั่นก็คือบรรดาโครงการพิเศษต่างๆ นั่นเอง พวกนักศึกษาที่เรียนโครงการพิเศษจงรู้ไว้เถิดว่า เงินจากกระเป๋าสตางค์พ่อแม่ผู้ปกครองคุณขณะนี้เป็นเงินหลักที่ใช้เลี้ยงดูระบบมหาวิทยาลัยไทยอยู่ ดูอย่างคณะผม มีเพียงโครงการพิเศษปริญญาตรีโครงการเดียว รับนักศึกษาปีละ 100 คน เพียงเท่านี้ รายได้จากโครงการพิเศษก็เป็นสัดส่วนหลักของงบประมาณของคณะแล้ว 

คณะใหญ่ๆ บางคณะก็จัดการคนละแบบ เช่น บางที่ให้อาจารย์ทุกคนเฉลี่ยภาระงานกันอย่างเสมอหน้า แล้วนำเอารายได้ทั้งหมดมาเฉลี่ยให้อาจารย์ หรือบางคณะก็จ่ายเป็นโบนัสแทน บางคณะจ่ายเป็นการพาเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ โดยรวมแล้ว พลังงานของแต่ละคณะล้วนทุ่มเทไปที่การสอน ลองคิดดูว่า คณะที่มีโครงการพิเศษเป็น 10 โครงการ จะมีรายได้ปีละมากเท่าไร แล้วอย่างนี้ใครจะมีแรงมาทำวิจัย หรือไม่ก็คือ ใครจะอยากทุ่มเททำวิจัย

เอาเป็นว่าขอเล่าเรื่องภาระงานสอนที่เป็นอุปสรรคสำหรับการพัฒนางานวิชาการไว้แค่นี้ก่อน ตอนต่อไปค่อยเล่าปัญหาใหญ่ๆ อื่นๆ ต่อครับ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย วันที่ 23 เมษายน 2557
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากอำมาตย์ชนะ...โลกวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การบอกเล่าเรื่องราวของ "คนอื่น" ที่ต่างจากเรามากๆ ให้ "พวกเรา" อ่าน อย่างมากก็ทำได้แค่ บอกเล่าผ่านถ้อยคำ ผ่านประสบการณ์ที่ "พวกเรา" ต่างคุ้นเคยกันดี พูดอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องคนอื่นคือ "การแปล" หรือ "การแปร" เรื่องที่แตกต่างให้คุ้นเคย เป็นการดัดแปลงของคนอื่นให้เราเข้าใจในภาษา ในสัญญะแบบที่พวกเราเองรับรู้อยู่ก่อนแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดท้ายชั้นเรียนวิชา "มานุษยวิทยาอาหาร" กับนักเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกเมื่อสองวันก่อนด้วยมื้อการไปกินอาหารไทยพื้นๆ แสนอร่อยราคาประหยัดที่แพร่งภูธร พระนคร ตลอดภาคการศึกษา พวกเราพยายามเข้าใจอาหารผ่านหลายๆ คำถาม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (13 กพ. 57) ไปเยี่ยมชม Kyoto Museum for World Peace ตามคำบอกเล่าของหลายๆ คน และตามความประสงค์ของผู้ร่วมเดินทาง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชวนให้คิด มีถ้อยคำหลอกหลอนมากมาย มีภาพความรุนแรง มีบทเรียนที่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ มีการเห็นคนไม่เป็นคน และสุดท้ายสะท้อนใจถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย