Skip to main content

อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ

สำหรับใครก็ตามที่เริ่มทำวิทยานิพนธ์หรือผ่านกระบวนการทำวิทยานิพนธ์มาแล้ว จะจบหรือยังไม่จบดีหรือไม่ผ่านไปแล้วก็แล้วแต่ คงเคยคิดบ้างว่า ทำไมกรรมการวิทยานิพนธ์ถึงโหดนัก ทำไมกรรมการวิทยานิพนธ์ต้องการโน่นต้องการนี่ แก้โน่นแก้นี่ในงานของเราจนแทบจะไปเหลือเค้างานที่เราคิดว่าเป็นของเราอีกต่อไปเลย บางคนคิดว่า จบมาแล้วไม่รู้สึกภูมิใจกับวิทยานิพนธ์เลย ถูกแก้กระทั่งการใช้สรรพนามในการเขียน เหมือนงานไม่ใช่ของเรา

 

เข้าใจถูกแล้วครับ วิทยานิพนธ์ไม่ใช่งานของคุณคนเดียวหรอก แต่เป็นงานของกรรมการทุกคนด้วย เพียงแต่วิทยานิพนธ์เป็นผลงานร่วมที่คุณผู้เขียนวิทยานิพนธ์เป็นผู้รับผิดและรับชอบมากที่สุด วิทยานิพนธ์จะดีหรือไม่ดี เมื่อจบมาแล้ว จะด้วยการกลั้นใจลงนามของกรรมการหรือไม่ คุณคนเขียนก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบมากที่สุด

 

แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการทำงานวิชาการ หลังวิทยานิพนธ์ ถ้าคุณยังจะทำงานวิชาการต่อไป ยังมีโลกที่กว้างใหญ่ของงานวิชาการอีก คนที่สอบวิทยานิพนธ์ เจอกรรมการแค่ 3-4 บ้าง 5-6 คนบ้าง แล้วกลัวหรือบ่นว่าทำไมกรรมการโหดกันนัก เมื่อจบแล้วไปอยู่ในโลกวิชาการที่ใหญ่กว่านี้จะรู้ว่า ไม่มีใครเขาแคร์ปริญญาคุณหรอก ถ้างานคุณไม่ดีจริงน่ะ แล้วอย่างไรเสีย คุณก็จะต้องต่อปากต่อคำกับคนอื่นๆ ที่จะดาหน้ากันเข้ามาประเมินคุณแบบไม่สนใจที่มาที่ไปของคุณกันไปตลอดชีวิตนั่นแหละ กับแค่กรรมการไม่กี่คนที่ยังคงความเป็นศิษย์เป็นครูกันน่ะ เป็นสภาพแวดล้อมทางวิชาการที่มีความเมตตากรุณาเป็นที่ตั้งที่สุดแล้ว

 

กระนั้นก็ตาม ในโลกวิชาการสากล วิทยานิพนธ์ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการศึกษาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์สายวิชาการ เน้นนะครับว่า นี่พูดเฉพาะสายวิชาการ เพราะสายวิชาชีพน่ะ แค่ทำ IS ก็จบปริญญาโทหรือแม้แต่ปริญญาเอกได้แล้ว แต่จะเอามาเทียบกับสายวิชาการไม่ได้ เพราะข้อเรียกร้องต่างกัน

วิทยานิพนธ์คือการสร้างข้อเสนอที่ชัดเจน มีลำดับการให้เหตุผลที่เป็นระบบด้วยหลักฐานข้อมูลสนับสนุนอย่างหนักแน่น ในระดับปริญญาโท วัดกันที่ว่าได้เสนออะไรหรือเปล่า แล้วข้อเสนอนั้นได้รับการนำเสนอด้วยเหตุผลและหลักฐานอย่างหนักแน่นหรือเปล่า ในระดับปริญญาเอกนั้น ต้องแสดงให้เห็นด้วยว่าผู้เสนอได้ค้นพบอะไรใหม่ ได้ต่อยอดเพิ่มพูนความรู้อะไรขึ้นไป สรุปแล้ว วิทยานิพนธ์ก็คืองานวิจัยดีๆ นี่เอง ข้อนี้ใครที่อยู่ในแวดวงอุดมศึกษาย่อมทราบดีอยู่แล้ว

 

ในต่างประเทศ ผมก็ขออ้างสหรัฐอเมริกาอีกนั่นแหละ วิทยานิพนธ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการจบการศึกษาก็จริง แต่ไม่มีก็ไม่ได้ปริญญา บางคนว่าในระบบยุโรป วิทยานิพนธ์จะดูสำคัญกว่าเพราะเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ใช้วัดความสำเร็จของการศึกษา แต่ที่จริงก็วัดความสำคัญต่างกันยาก แถมยังขึ้นกับสาขาวิชา บางสาขาวิชา วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในยุโรปคาดหวังต่ำกว่าวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ แต่นั่นก็ยังขึ้นกับเงื่อนไขอื่นๆ อีกมาก เช่น ความเข้มข้นของมหาวิทยาลัย ความคาดหวังจากกรรมการวิทยานิพนธ์ เป็นต้น

 

ในสหรัฐฯ มีทุนวิจัยสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกมากมาย บางสาขาทางสังคมศาสตร์อย่างมานุษยวิทยา มีอย่างน้อยเท่าที่ผมนับได้ 5 แหล่งทุนด้วยกันสำหรับคนอเมริกัน แล้ว 3 ใน 5 แหล่งทุนนั้นก็สำหรับใครก็ได้ที่เรียนที่สหรัฐฯ ถึงไม่ใช่ American citizen ก็ขอได้ นี่ยังไม่นับว่าบางมหาวิทยาลัยยังมีทุนสนับสนุนบางลักษณะอีกด้วย

 

ทุนเหล่านี้ส่วนมากเป็นทุนรัฐบาล จำนวนทุนที่ให้นั้น เมื่อสัก 10 ปีก่อนที่ผมเรียน ทุนวิจัยทางสังคมศาสตร์ อย่างมานุษยวิทยา สังคมวิทยา หรือภูมิศาสตร์ ก็ให้ตั้งแต่ 20,000 - 25,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี (ส่วนมากให้ปีเดียวคือปีที่เก็บข้อมูล) ขณะนี้อาจมากกว่านั้นเล็กน้อย ทุนเหล่านี้ไม่มีเงื่อนไขอะไร ให้เปล่าเลย แม้จะเป็นนักศึกษาต่างชาติก็ให้เปล่า แล้วหากนักศึกษาเรียนไม่จบล่ะ ไม่จบก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องใช้ทุนใดๆ ทั้งสิ้น (ถ้าเจอ ปปช. ไทย แบบนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ถูกจ้องเล่นงานว่า "ส่อ" ทุจริตไปแล้วล่ะครับ)

 

ผมไม่รู้ว่ามีการประเมินความสูญเสียจากทุนเหล่านี้บ้างหรือไม่ หรือเขาประเมินความคุ้มค่าของเงินเหล่านี้อย่างไร แต่ผมบอกได้เลยว่า เงินที่ลงทุนกับวิทยานิพนธ์เหล่านี้คุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับเงินที่ใช้สนับสนุนให้ได้งานวิจัยดีๆ สักหนึ่งชิ้น หากเทียบค่าตัวกันระหว่างนักศึกษาเดนตาย ที่อยากได้ทุนทำวิจัย ซึ่งทั้งต่อชีวิตทางวิชาการและเป็นเกียรติประวัติ กับอาจารย์ที่ค่าตัวจะสูงกว่ากันเกินเท่าตัวแล้ว หากมีคนจบเกินครึ่งหนึ่งของเงินที่เขาลงทุนไปก็ถือว่าคุ้มแล้ว 

 

หากวัดเอาหยาบๆ เอาจากคนเท่าที่ผมรู้จัก คนที่ได้ทุนราว 80% เรียนจบ หากเป็นอย่างนี้จริง ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ส่วนหนึ่งก็เพราะกระบวนการของการคัดเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่จะให้ทุนนั้นเข้มข้นมาก บรรดากรรมการน่าจะตาถึงพอที่จะดูออกว่าใครน่าจะเรียนจบหรือไม่จบ อีกส่วนหนึ่งนั้น คนที่เรียนปริญญาเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ต่างก็รู้ตัวดีว่ากำลังเดินบนเส้นทางสายลำบาก หลายคนเป็นหนี้ค่าลงทะเบียนเรียน หลายคนเรียนจนอายุมากและเสี่ยงกับอนาคตมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเรียนไม่จบก็จะยิ่งลำบาก

 

คราวนี้หันมาดูทุนทำวิทยานิพนธ์ไทยบ้าง อมยิ้มเลยล่ะสิครับ มันน่ารักจุ๋มจิ๋มมากใช่ไหมล่ะ แล้วมีใครให้ทุนบ้างล่ะ ที่เห็นชัดๆ สม่ำเสมอก็แหล่งเดียวใช่ไหมล่ะ บางมหาวิทยาลัยมีเงินสนับสนุน แต่ได้มาเอาไปเป็นค่าพิมพ์ตัวเล่มส่งมหาวิทยาลัยตอนเรียนจบก็แทบจะหมดแล้ว ไม่เหลือแม้แต่จะกินข้าววันเอาตัวเล่มไปส่ง แต่เอาล่ะ ปัจจุบันก็ถือว่าดีขึ้นกว่าสมัยที่ผมต้องแบมือขอเงินพ่อแม่เรียนปริญญาโทมากนัก เพราะอย่างน้อยก็มีทุนของแหล่งทุนหนึ่งที่ให้เงินพอสมควรทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เอ่ยชื่อเลยดีกว่า ทุนของ สกว. นั่นแหละ ผมก็สนับสนุนนักศึกษาให้ขอทุนนี้อยู่สม่ำเสมอ 

 

แต่ปัญหาคือ นอกจากทุนจะน้อย น้อยจนไม่มีใครมีชีวิตอยู่ด้วยทุนนั้นได้ในระหว่างทำวิทยานิพนธ์โดยเฉพาะในระดับปริญญาโท และระเบียบการใช้เงินจะจุกจิกมากแล้ว การรับทุนทำวิทยานิพนธ์นี้ยังมีข้อผูกพัน แถมไม่ใช่ผูกพันกับนักศึกษา แต่ผูกพันกับอาจารย์ อาจารย์ต้องเขียนงานส่งด้วย อาจารย์ต้องเข้าร่วมกระบวนการตรวจสอบผลงานเป็นระยะๆ จากผู้ให้ความเห็นจากต่างสถาบันการศึกษา ต่างสาขาวิชา ต่างระบบความคิดด้วย 

 

ผลก็คือ ทุนลักษณะนี้มีส่วนในการปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการและมีส่วนในการปิดกั้นการพัฒนาความรู้ในแนวทางของแต่ละสถาบัน แต่ละสำนักคิด แต่ละสาขาวิชาไปอย่างถึงที่สุด ผลงานที่มีคุณภาพ บางทีไม่ได้ทุนเพราะทำวิจัยประเด็นที่สังคมไทยปิดกั้นโดยไร้เหตุผลทางวิชาการ (ว่าจะไม่พูดเรื่องนี้แล้วเชียว แต่ก็อดไม่ได้อยู่ดี) แถมทุนยังทำให้อาจารย์ต้องคิดหนักกับการแบกภาระงานเขียน ที่ก็แทบจะนำไปใช้ประโยชน์อะไรต่อไปไม่ได้มากนัก

 

การรับทุนวิทยานินพธ์ในระดับปริญญาเอกยิ่งแล้วใหญ่ นอกจากอาจารย์ต้องง้องอนแหล่งทุนแทนนักศึกษา ต้องกรอกเอกสารแสดงเกรียรติประวัติมากมายตามแบบฟอร์มที่ระบุแล้ว หากนักศึกษาเรียนไม่จบ อาจารย์ยังต้องเป็นหนี้ด้วย ทำไปทำมา แทนที่จะส่งเสริม ก็กลับจะสร้างกำแพงปิดกั้นการขอทุน อาจารย์จำนวนมากไม่กล้าขอรับทุนให้นักศึกษาปริญญาเอกของตนเอง เพราะไม่กล้ารับประกันนักศึกษาตนเอง สุดท้าย อาจารย์ที่สอนระดับปริญญาเอกส่วนใหญ่ก็เลยต้องจำใจเรียกร้องนักศึกษาให้ควักกระเป๋าตนเองถูๆ ไถๆ ทำวิทยานิพนธ์กันจนจบกันมาได้โดยไม่มีทุน แล้วอย่างนี้จะไปเรียกร้องให้วิทยานิพนธ์ทำดีๆ ไปทำงานภาคสนามไกลๆ อยู่ในพื้นที่นานๆ ไปทำวิจัยต่างประเทศ อะไรต่อมิอะไรได้อย่างไร

 

ส่วนอาจารย์ตั้งมากมายที่รับทุนรัฐบาลไปทำวิจัยหลักล้าน หลักสิบๆ ล้านจากสถาบันอะไรก็แล้วแต่ แล้วกลับไม่ส่งงานวิจัย หรือทำเสร็จแล้วผลงานกลับไม่มีประโยชน์ กลายเป็นกองกระดาษใต้บันไดประจำภาควิชาต่างๆ ที่รอชั่งกิโลขาย หรือไม่ก็หลงลืมตั้งทิ้งไว้จนสุดท้ายกลายเป็นอาหารปลวกน่ะ ไม่มีการประเมินกันว่าสูญเปล่าแค่ไหนเมื่อเทียบกับการให้ทุนนักศึกษาทำวิทยานิพนธ์

วิทยานิพนธ์เป็นก้าวแรกก็จริง แต่ก็เป็นก้าวสำคัญของการทำงานวิชาการในอนาคต ในโลกวิชาการสากล นักวิชาการส่วนใหญ่ต่อยอดการทำงานจากวิทยานิพนธ์ของตน แน่นอนว่าเมื่อเป็นอาจารย์แล้วก็ต้องทำงานใหม่ แต่การทำวิทยานิพนธ์เป็นรากฐานสำคัญในการก้าวต่อไปในดลกวิชาการทั้งสิ้น 

 

แต่ในสังคมวิชาการไทย อาจารย์ไทยบางคนที่ก็จบจากต่างประเทศมานั่นแหละ กลับมองวิทยานิพนธ์ว่าเป็นเพียงแบบฝึกหัด ให้ค่าวิทยานิพนธ์ต่ำกว่างานวิจัยที่ไม่มีใครเปิดอ่านของตนเอง อาจารย์บางคนทำวิจัยมาตลอดชีวิต ยังทำงานได้ไม่ดีเท่าวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาตนเองเลย แต่สังคมวิชาการไทยก็ไม่อยากลงทุนกับวิทยานิพนธ์

 

ท้ายสุด เมื่อคุณเขียนวิทยานิพนธ์จบแล้วเกิดเรียนจบขึ้นมา จะด้วยทุนรอนของใครก็แล้วแต่ โลกวิชาการไทยก็ไม่ให้คุณค่ากับวิทยานิพนธ์ เรืองนี้เอาไว้มาเล่าในตอนต่อไป

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา