Skip to main content

ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร

(1)

หากจะลองทบทวนดูสักหน่อย จะเห็นขั้นตอนของการขยายขอบวงของการก้าวพ้นความกลัวนี้เป็นลำดับ หลังจากนักศึกษาที่แสดงออกอย่างสงบสันติในวาระครบหนึ่งปีรัฐประหาร แต่กลับถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่กล้าแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ และการเรียกตัวนักศึกษาที่ทำกิจกรรมสะท้อนเสียงของประชาชนผู้เดือดร้อนจากการร่วมมือของเจ้าหน้ารัฐกับกลุ่มทุนในการเบียดบังทรัพยากรท้องถิ่นจนกลายไปเป็นการต่อต้านเผด็จการทหาร ประชาชนก็เริ่มให้ความสนใจสนับสนุนนักศึกษาสสองกลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อยๆ  

จากการชุมนุมสนับสนุนนักศึกษาหน้าโรงพักปทุมวัน โรงพักพระราชวัง และศาลทหาร ก็ขยายไปสู่การลงชื่อในแถลงการณ์ของกลุ่มนักเขียน ซึ่งขยับจากไม่กี่สิบคนในวันที่อ่านแถลงการณ์เมื่อ 27 มิย. 58 ไปเป็นหลัก 10,000 คนในวันที่ 28 มิย. 58 ในขณะที่กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยที่จำนวนมากแทบไม่เคยแสดงออกทางการเมืองมาก่อน หรือแม้แต่คณาจารย์ที่เคยสนับสนุนขบวนการประชาชนที่เรียกร้องการฉีกรัฐธรรมนูญโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งมาก่อน ก็กลับเข้าร่วมแสดงตนอย่างเปิดเผย ทั้งลงชื่อถึง 281 ชื่อภายในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน ดังที่มีแถลงการณ์ในวันที่ 30 มิย. 58 

(2)

หลายคนมองว่าการลงชื่อในแถลงการณ์ก็เป็นแค่บัญชีหางว่าว แถมหลายคนอาจเกรงว่าจะถูกนำชื่อของพวกเขาไปใช้สร้างชื่อเสียงของคนนำขบวน หรือบ้างก็เกรงว่าจะถูกนำไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่พวกเขาไม่ต้องการในภายหลัง การลงชื่อในแถลงการณ์จึงเป็นการแสดงออกที่ผู้ลงนามต้องไตร่ตรองแล้วอย่างระมัดระวังยิ่งนัก แม้กระนั้น ปฏิกิริยาของประชานต่อการจับกุมนักศึกษาได้กระตุ้นให้คนจำนวนมากเลือกที่จะแสดงตน การลงชื่อในแถลงการณ์จึงมีความหมายมากกว่าเพียงรายนามที่เสมือนคนนิรนาม  

ยิ่งในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานที่คณะรัฐประหารยังมีกำลังอำนาจและแสดงการข่มขู่ประชาชนอยู่ตลอดอย่างทุกวันนี้ การลงนามในแถลงการณ์ต่างๆ ที่แสดงการขัดขืนสวนทางกับอำนาจเผด็จการอย่างชัดเจน ย่อมเป็นการแสดงหน้าค่าตาของประชาชนอย่างประจักษ์แจ้ง ว่าพวกเขาได้ก้าวออกมาแสดงตนประกาศว่า ระบอบที่เป็นอยู่ไม่ชอบธรรม

นี่คือการตอบโต้ต่อความไม่ชอบธรรมของการใช้อำนาจอย่างตรงไปตรงมา หลังการรัฐประหาร การแสดงออกของประชาชนถูกปิดกั้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง นั่นก็อาจปิดปากประชาชนไปได้บ้าง แต่เมื่อการแสดงออกของนักศึกษาซึ่งเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่แสดงตนอย่างสันติ รวมทั้งกลุ่มนักศึกษาที่ต่อสู้เพื่อความเดือดร้อนของประชาชน แต่พวกเขากลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงในการกำราบ นำพวกเขาไปกักขัง กระทั่งเรียกพวกเขาว่าเป็น "คนร้าย" สังคมก็ยิ่งตั้งคำถามมากขึ้นว่า สิ่งที่รัฐบาลทำนี้ถูกต้องแล้วหรือ

(3)

หากจะไม่ประเมินถึงขั้นที่ว่าประชาชนที่สนับสนุนนักศึกษากำลังแสดงออกทางการเมืองอยู่ อย่างน้อยที่สุด ประชาชนก็กำลังแสดงความห่วงใยต่ออนาคตของประเทศ นักศึกษาเพียง 14 คนที่แสดงออกอย่างสันติและหวังดีต่อสังคมและประเทศ จะต้องมาเสียอนาคตเพียงเพราะผู้นำเผด็จการเกรงกลัวว่าการแสดงออกของนักศึกษาจะฟ้องให้เห็นความไม่ถูกต้องของตนเอง เพียงเพราะเกรงว่าจะควบคุมสถานการณ์ไม่ได้จึงใช้มาตรการที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ นี่ยิ่งเป็นแรงขับสำคัญที่เกินความอดกลั้นของประชาชนที่รักความเป็นธรรม

การแสดงออกของประชาชนส่วนหนึ่งจึงออกมาในรูปของความเป็นศิษย์กับครู รวมทั้งความเป็นญาติพี่น้องเพื่อนฝูงมิตรสหาย ถ้อยคำที่ว่า "เราคือเพื่อนกัน" และ "คณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง" แสดงออกอย่างชัดเจนว่า สายใยทางสังคมของความเป็นเพื่อน เป็นครูกับศิษย์ มีความสำคัญทาบทับอยู่กับความสัมพันธ์ทางการเมืองในฐานะประชาชน ยิ่งเมื่อใครที่ไปเยี่ยมนักศึกษาที่เรือนจำได้พบพ่อแม่ของนักศึกษา ได้ทราบความห่วงใยความเดือดร้อนของนักศึกษา และทราบว่าคณาจารย์จำนวนมากก็กำลังดำเนินการหาทางช่วยเหลือด้านการเรียนของนักศึกษา ก็ย่อมรู้สึกสะเทือนใจกับการที่พลังความหวังดีต่อสังคมที่แสดงออกบนพื้นฐานของความรักเพื่อนมนุษย์ กลับจะต้องถูกปราบปรามอย่างรุนแรงราวกับเป็นโจรผู้ร้าย

(4)

ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทย "นักศึกษา" มีที่ยืนเฉพาะของตนเอง ถ้าพวกเขาไม่ใช่นักศึกษาที่เฉื่อยชา ที่ศึกษาเล่าเรียนเพื่อจบไปทำงานกินเงินเดือนสูง ก็ยังมีสถานะของประชาชนหนุ่มสาวผู้แสวงหาอุดมคติและเสียสละเพื่อประชาชนผู้เสียเปรียบ เสียงที่บอกว่านักศึกษามีหน้าที่ศึกษาเล่าเรียน ไม่ใช่มาแสดงออกทางการเมือง จึงเป็นเสียงที่จงใจปิดหูปิดตาตนเองต่อสถานะความเป็นประชาชนของนักศึกษา บ้างที่เบาหน่อยก็บอกว่า ภายใต้ระบอบเผด็จการอย่างนี้ เคลื่อนไหวไปก็มีแต่จะเจ็บตัว ถูกลืมไป หรือไม่ก็กลายเป็นเครื่องมือของใครไปเสียเปล่าๆ หรือบ้างที่สนับสนุนอำนาจเผด็จการก็บอกว่า นักศึกษาต้องรู้จักหน้าที่ เป็นนักศึกษาก็ต้องศึกษาเล่าเรียน

เสียงเหล่านี้มองข้ามไปว่าหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยก็คือการปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตนเอง ประการหนึ่งคือสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติโดยไม่ละเมิดผู้อื่น นักศึกษาเหล่านี้ไม่ได้ก่อความวุ่นวายอะไรเลย ไม่ได้ใช้กำลังปิดกั้นสถานที่ราชการหรือสถานที่สาธารณะใดๆ ไม่ได้เอาปืนเอาอาวุธไปบังคับขู่เข็ญใคร ไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วต้องมานิรโทษกรรมต่อความผิดที่ตนเองรู้แก่ตัวดีว่าก่อกรรมลงไป  

หากยึดมั่นในคุณธรรมของสังคมประชาธิปไตย การปกป้องสิทธิเสรีภาพเป็นปฏิบัติการขั้นพื้นฐานของประชาชน ใครที่เรียกร้องให้ทำลายหรือปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ใครที่ปกป้องอำนาจเผด็จการต่างหาก ที่ไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง ผู้คนในสังคมประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเพียงพ่อค้าแม่ขาย เป็นนักเรียนนักศึกษา เป็นครูบาอาจารย์ หรือเป็นผู้ประกอบอาชีพอื่นใดเพียงเท่านั้น แต่ผู้คนในสังคมประชาธิปไตยยังเป็นประชาชนที่มีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่จะต้องร่วมกันปกป้องอีกด้วย

(5)

ประการสำคัญ หากรัฐบาลและคณะผู้เผด็จการจะไม่สนใจรับฟังเสียงเหล่านี้ ประชาชนทั่วไปก็ควรไตร่ตรองพิจารณาเสียงสะท้อนของนักศึกษาและประชาชนผู้สนับสนุนนักศึกษาให้ถี่ถ้วน ประชาชนไม่ได้จำเป็นต้องเห็นว่านักศึกษาคือ "พลังบริสุทธิ์" แต่นักศึกษาก็ไม่จำเป็นต้อง "มีใครอยู่เบื้องหลัง"  

ลองนึกดูง่ายๆ ว่า ใครจะอยู่เบื้องหลังนักศึกษากลุ่มดาวดินที่พยายามส่งเสียงแทนประชาชนที่เดือดร้อน ในสภาวะปัจจุบันที่ไม่มีนักการเมืองเป็นปากเสียงให้ประชาชนได้ ในภาวะที่การแสดงออกถูกปิดกั้น ใครจะได้ประโยชน์จากการแสดงออกของกลุ่มดาวดิน หรือในภาวะที่การแสดงออกทางสัญลักษณ์ทุกประเภทเพื่อเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออกถูกปิดกั้นหมด ใครจะได้ประโยชน์จากการเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออก หากไม่ใช่ประชาชนทั้งหมดที่ไม่สามารถจะส่งเสียงแสดงความเห็นในโอกาสและสถานที่ที่ประชาชนไว้วางใจ เป็นตัวของตัวเอง และรู้สึกปลอดภัยได้ในภาวะการณ์ปัจจุบัน

การปิดป้ายว่ากลุ่มนักศึกษามีเบื้องหลัง คือการบอกปัดปัญหาที่รุมเร้ารัฐบาลอยู่มากกว่า รัฐบาลจะต้องยอมรับฟังและแก้ไขปัญหาเหล่านี้มากกว่า เพราะนั่นคือปัญหาปากท้องของประชาชนที่นักศึกษาเรียกร้อง นั่นคือปัญหาสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่นักศึกษาสะท้อน คือปัญหาความไม่สมประกอบตามครรลองสังคมประชาธิปไตย ที่นักศึกษาละประชาชนจำนวนมากเรียกร้อง

สุดท้ายขอสรุปว่า ความรู้สึกก้าวข้ามขีดความกลัวนี้ไม่ได้มาจากความกล้าหาญที่มีมากขึ้น แต่มาจากความสำนึกต่อคุณธรรมพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย มาจากความรู้สึกถึงการคุกคามสวัสดิภาพขั้นพื้นฐานจากอำนาจไม่ชอบธรรมจนขีดสุดของความอดทน มาจากการทำหน้าที่ประชาชนที่จะต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตนเองโดยสงบและสันติ สำนึกนี้จะแจ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าสังคมไทยกลับไปเดินบนเส้นทางสู่สังคมประชาธิปไตยอีกครั้ง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา