Skip to main content

ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว

ถึงกระนั้น ผมก็อยากเสนอความเห็นให้พิจารณาถึงจังหวะก้าวและความเข้าใจสถานะความเคลื่อนไหวของพวกคุณสักหน่อย เพื่อที่ว่าพวกคุณจะได้ไม่คิดเพียงว่าย่างก้าวของพวกคุณเป็นเพียงส่วนหนึ่งหรือดำเนินตามโมเดลของขบวนการนักศึกษาในอดีต 

จริงอยู่ที่ย่างก้าวของพวกคุณในขณะนี้คือการแสดงตนเพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการใช้อำนาจอย่างอยุติธรรมและไร้ความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร พร้อมกับทั้งเรียกร้องมโนธรรมสำนึกของประชาชนทั่วไปให้เข้าใจถึงปัญหาพื้นฐานของการอยู่ใต้ระบอบเผด็จการอย่างในปัจจุบัน การเคลื่อนไหวของพวกคุณในขณะนี้จึงดูละม้ายคล้ายกันกับการเคลื่อนไหวของคณะนักศึกษาในอดีต  

อย่างไรก็ดี ผมก็ยังหวังว่าพวกคุณจะมองเห็นความแตกต่างอย่างสำคัญของการเคลื่อนไหวในขณะนี้กับการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในอดีต แม้ว่าอำนาจที่พวกคุณนำธงต่อสู้อยู่นั้นจะเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จดังในอดีต แต่พวกคุณก็ต้องประเมินโฉมหน้าของเผด็จการในปัจจุบันให้แหลมคมยิ่งขึ้น 

ดังที่มีผู้มากประสบการณ์และเฝ้าประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดคนหนึ่งวิเคราะห์ไว้ถึงเงื่อนไขของการต่อสู้กับเผด็จการในอดีต ผมเห็นด้วยแต่ก็จะไม่กล่าวซ้ำความเห็นนั้น ผมแค่อยากเสนอเพิ่มเติมว่า เผด็จการปัจจุบันอาจมีโฉมหน้าแตกต่างออกไปบ้าง ก็ด้วยเพราะมีผู้สนับสนุนที่มีต้นทุนทางสังคมและต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูง ซึ่งก็คือเหล่า "ชนชั้นสูงระดับล่าง" (แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า upper middle class) สนับสนุนอยู่อย่างหนาแน่น ผมหวังว่าคุณจะพิจารณาเงื่อนไขนี้อย่างถี่ถ้วน เพื่อที่ว่าการต่อสู้ของพวกคุณจะเห็นเงื่อนงำที่ยากเย็นเพราะไม่มีทางที่จะหาฉันทานุมัติจากสังคมได้โดยง่าย 

ในอีกด้านหนึ่ง ผมคิดว่าก็ควรพิจารณาเงื่อนไขส่งเสริมใหม่ๆ คือพลังสนับสนุนและพลังความหวังต่อความก้าวหน้าของสังคมที่มีมาจากประชาชนผู้ด้อยเสียง ผู้ไม่ถูกรับรู้ในสังคม พลังในเชิงโครงสร้างที่เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ของคนกลุ่มนี้ ที่ผมขอเรียกว่า "ชนชั้นใหม่" จะเป็นเงื่อนไขใหม่ๆ ที่เกินเลยความคาดหวังของเผด็จการ ด้วยเพราะมันสมองของเผด็จการมองข้ามพลังเหล่านี้ พวกเขาจึงประเมินพลังเหล่านี้ต่ำเกินไปกว่าแค่เดินถือปืนข่มขู่ในหมู่บ้านแล้วพวกเขาก็จะเงียบสงบลงเอง เกินไปกว่าแค่มวลชนไร้สำนึกที่ถูกชักจูงล่อหลอกโดยนักการเมือง 

อีกพลังหนึ่งที่เป็นเงื่อนไขใหม่ซึ่งคณะรัฐประหารครั้งนี้เผชิญอย่างรุนแรงเหนือความคาดหมายเกินกว่าการรัฐประหารครั้งที่แล้ว เป็นพลังที่อำนาจเผด็จการในอดีตเคยได้รับการสนับสนุนคือ พลังทัดทานจาก "โลกสากล" ที่เรียกว่าโลกสากลเพราะไม่ใช่แค่ลมประชาธิปไตยตะวันตก แต่ทั้งญี่ปุ่น เหาหลีใต้ ไต้หวัน และพลังก้าวหน้าในอาเซียนเอง ก็ทั้งส่งสัญญาณและเฝ้าระวังอยู่อย่างเงียบๆ ว่าการถดถอยลงของก้าวย่างประชาธิปไตยในประเทศไทยจะนำมาซึ่งการกลับมาของพลังอนุรักษ์นิยมในภูมิภาค ที่ผ่านมาผมเห็นพวกคุณเข้าใจและเข้าหาพลังเหล่านี้ได้ดี หากแต่ผมก็ยังอยากเสนอให้พิจารณาว่า พวกคุณจะสานต่อกับพลังทัดทานใหม่ๆ ที่เผด็จการไทยไม่คุ้นเคยมาก่อนเหล่านี้อย่างไร  

แต่ถึงอย่างนั้น ก็อย่างประเมินเผด็จการคณะนี้ต่ำเกินไป อาการ "เลือดเข้าตา" "เสือลำบาก" ก็อาจจะก่อโศกนาฏกรรมโง่ๆ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วได้ ผมยังหวังว่าความกล้าหาญของพวกคุณจะไม่กลับกลายเป็นความดันทุรัง แม้ว่าจุดสมดุลนี้จะหาได้ยาก แต่ผมก็ยังเชื่อมั่นในวิจารณญาณของพวกคุณว่าจะไม่ตัดปัจจัยความบ้าบอไร้สติของคณะรัฐประหารนี้ออกไปเสีย  

สุดท้าย ผมอยากจะบอกว่า พวกคุณได้จุดไฟของการลุกขึ้นยืนไปอีกก้าวหนึ่ง ผมคิดว่าสังคมก็ไม่ได้อยากจะวางภาระหนักอึ้งนี้ให้พวกคุณเสียสละโดยลำพัง เพียงแต่จังหวะและโอกาสที่สังคมจะสานต่อแปลงพลังนี้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงอาจจะต้องแลกด้วยความอดทนของพวกคุณบ้าง ก็หวังว่าพวกคุณจะคิดอ่านอย่างสงบนิ่งและหนักแน่นพอ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา