Skip to main content

เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู

คนต่างชาติมักไม่สนใจว่า เดียนเบียนฟูเป็นชายแดนของเวียดนามกับลาว และคงลืมไปว่า พื้นที่ระหว่างเดียนเบียนฟูกับเมืองคนเวียดในที่ราบลุ่มน้ำแดงนั้น เต็มไปด้วยคนไตและชนชาติอื่น ๆ ในที่สูงและที่ราบระหว่างหุบเขา และก็คงไม่มีใครสนใจว่า ใจกลางของเมืองคนไตก่อนที่คนไตจะรู้จักแค่เมืองแถงกับเมืองไลจากพงศาวดารเมืองแถง พงศาวดารเมืองไล ซึ่งจดบันทึกจากเชลยที่จับไปจากสองเมืองนั้น อยู่ที่ใด และยังมีเมืองอื่น ๆ อะไรอีกบ้างไล่เรียงมาจนเกือบถึงฮานอย

เมื่อเริ่มทำวิจัยใหม่ ๆ เมืองลา หรือเมืองไหน ๆ สำหรับผมก็ดูไม่แตกต่างจากเมืองเวียด คือมีความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมมาเสมอ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมและนักวิจัยแบบผมทำคือ ต้องเข้าไปในบ้านในเรือน ต้องกินข้าวกินเหล้า ต้องสนทนาพูดคุยกับผู้คนในพื้นที่และเวลาของผู้คน เพื่อจะได้เห็นได้รับรู้ชีวิตของพวกเขา (หมายความว่า ยังมีนักวิจัยแบบอื่นที่หลีกเลี่ยงการกินข้าวกับชาวบ้าน เลี่ยงการดื่มเหล้ากับชาวบ้าน เลี่ยงการนั่งคุยในบ้านชาวบ้าน) จึงทำให้เห็นว่า แม้ในเมืองที่นักวิจัยประเภทฉาบฉวยมองข้ามไปอย่างเมืองลา ก็มีสาระเฉพาะตัวของคนไตในเวียดนามอยู่อย่างสืบเนื่องนับสิบ ๆ ปี

เมื่อได้เดินทางมาอย่างสม่ำเสมอ ผมจึงกลับแปลกใจที่การมาเมืองลาเที่ยวนี้ผมกลับไม่สนใจความเปลี่ยนแปลงมากเท่ากับความคงเส้นคงวาหรือการยืนยันในตัวตนของผู้คนที่เมืองลาอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะจากอาหารการกิน ข้าวของเครื่องใช้ ตลอดจนการจัดการเรื่องเหนือธรรมชาติ ในเรือนที่ผมคุ้นเคย มักมีความเปลี่ยนแปลงเสมอ ๆ ในเรื่องที่อยู่อาศัย แต่เมื่อเข้ามาในครัวเรือน เมื่อได้ร่วมสนทนา เมื่อเริ่มการทักทายอย่างคนสนิทชิดเชื้อ เครื่องเรือน ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันจำนวนหนึ่งถูกนำมาใช้ และยังคงได้รับการรักษาไว้และถูกใช้ในแบบ "ดั้งเดิม"

การพบเห็นสิ่งเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน สำคัญยิ่งกว่าวิธีวิจัยแบบนักวิจัยบางประเภท ที่เที่ยวบังคับบ้าง ขอร้องบ้าง ให้คนนุ่งเสื้อ แต่งกายแบบในตำรามาแสดงหน้ากล้อง เพื่อให้ได้ความเป็น “คนพื้นเมืองแท้” ตามจินตนาการของนักวิจัย แทนที่จะสนใจว่าคนในท้องถิ่นจัดการต่อรองกับความเปลี่ยนแปลงและการคงตัวตนไว้อย่างไร

สิ่งหนึ่งที่มักยังไม่เปลี่ยนแปลงคือที่นั่ง การนั่ง และพานกินข้าวที่สานด้วยหวาย ซึ่งเริ่มมีการดัดแปลงจากชั้นเดียวเป็นสองชั้น จากสานแบบหนึ่งไปเป็นสานแบบใหม่ ๆ บางเรือนยังยืนยันท่านั่งแบบยองๆ เก้าอี้เตี้ยที่วางบนพื้น หรือไม่ก็การนั่งบนฟูกรองพื้น แต่เก้าอี้ขายาวขึ้น หรือฟูกหนาขึ้น ส่วนภาชนะใส่ข้าวเหนียว ที่มักจะสรรหากันมาประดับโต๊ะอาหาร ก็ยังจะต้องเป็นของดั้งเดิมที่มีรูปทรงและวัสดุที่หลากหลาย ปัจจุบันข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้กลายเป็นสินค้าไปหมดแล้ว หากแต่ผู้ซื้อไม่ใช่นักท่องเที่ยวเท่ากับเป็นคนในวัฒนธรรมนี้เอง

สิ่งที่ได้รับการสืบทอดมาในระยะเกือบ 20 ปีที่ผมมาเมืองลาคือความเคร่งครัดในการจัดโต๊ะอาหาร และความเคร่งครัดในการต้อนรับแขก จานพริกกับเกลือสำหรับสำรับข้าวที่ "เป็นทางการ" และจอกเหล้าสองจอกสำหรับผีเรือน การดื่มเหล้าเพื่อรับขวัญผู้มาเยือน การสรรหาอาหารพื้นเมืองตามฤดูกาลที่หาได้ไม่ยากในตลาด สิ่งเหล่านี้ทำให้อาหารมื้อพื้น ๆ ธรรมดา ๆ กลายเป็นมื้ออาหารที่ยืนยันตัวตนของเจ้าเรือนจนแขกผู้มาเยือนตื่นตะลึง

สำหรับเรือนที่ผมคุ้นเคยและมักต้องขอไหว้ผีเรือน แน่นอนว่าห้องหับที่เคยเป็นที่บูชาผีเรือนแบบดั้งเดิม ซึ่งไม่มีรูป ไม่มีข้อความใด ๆ มีแต่สัญลักษณ์แทนผีขวัญ ขณะนี้เปลี่ยนไปเป็นแบบคนเวียด หรือคล้ายคนจีน คือเป็นโต๊ะบูชา แถมมีรูปประดับกันแทบจะหมดแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่บางเรือนพยายามแสดงความแตกต่างคือ การประดับประดาด้วยสิ่งแสดง "ความเป็นคนไต" อย่างเรือนที่ผมคุ้นเคยก็เอาข้อความเขียนอักษรไตดำมาประดับหิ้งบูชาผีเรือน

เรื่องราวของผียังคงอยู่ในชีวิตประจำวัน ก่อนกินข้าว เมื่อจะจิบเหล้า ก็มีการพรมเหล้าข้ามไหล่ แสดงการเลี้ยงผี ที่ผมประทับใจคือเมื่อหมอรักษาโรคด้วยวิธีการสมัยใหม่คนหนึ่งเปิดปากแนะนำเจ้าของร้านขายอาหารคนหนึ่งว่า "แม่ของพี่คนนี้เป็นมดนะ เก่งมากเลย ที่เรือนเรา (ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์) เมื่อไหร่ก็ตามที่จะทำพิธี แม่ก็จะต้องให้มดคนนี้มาทำพิธี)" น่าเสียดายที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าเจ้าของร้านขายอาหารที่ทำอาหารไตได้หลากหลายจานและรสชาติเป็นที่ชื่นชอบของคนที่นี่ ไม่ได้น่าสนใจแค่พูดภาษาไตได้ไพเราะและทำธุรกิจเก่งเท่านั้น

แต่ถ้าจะให้ดูการยืนยันความเป็นไตกันให้จริงจังเข้าไปอีก ผมก็จะแนะนำว่าควรเดินไปให้ถึงท้ายหมู่บ้าน ที่จะมี "ป๋าแฮว" หรือป่าช้าของแต่ละหมู่บ้านตั้งอยู่ ป่าช้าจะมีสิ่งก่อสร้างถาวร ซึ่งมักจะเป็นคอนกรีตทรงเหมือนหลุมฝังศพคนจีนและคนเวียด แต่หากดูให้ทั่ว ก็จะเห็นศพที่เพิ่งประกอบพิธี ที่ยังมีเครื่องประดับประดาแบบ "ดั้งเดิม" โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เพิ่งเสียชีวิตใหม่ ๆ มาครั้งนี้ ผมก็ไม่พลาดที่จะต้องเข้าไปดูป่าช้าของหมู่บ้านที่คุ้นเคยแห่งหนึ่ง แล้วก็พบกับหลุมฝังศพของคนที่เพิ่งเวียชีวิตไม่กี่วันที่ผ่านมา ยิ่งเธอเป็นคนอายุยืนถึงร้อยปี ก็ยิ่งทำให้เห็นเครื่องเคราต่าง ๆ ค่อนข้างครบครัน

ในท่ามกลางการพยายามกลืนกลายคนไตให้กลายเป็นเวียดในทุก ๆ มิติ ผมก็ยังเห็นการยืนยันในความเป็นไตอยู่ทั้งในชีวิตประจำวันและพิธีกรรม หรือว่าพลังการกลืนกลายที่นี่ไม่รุนแรงนัก หรือว่าความสืบเนื่องของสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ที่นี่มีสูง การคงความเป็นตัวตนไว้จึงไม่ต้องพยายามขุดคุ้ยรื้อฟื้นอะไรมากนัก แต่ที่แน่ ๆ คือไม่ใช่ว่าคนที่นี่ไม่อยากเปลี่ยน เพียงแต่เนื้อหาสาระดั้งเดิมยังคงมีน้ำหนักอยู่ในชีวิตของพวกเขาอยู่ไม่น้อย

 

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา