Skip to main content

เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน

ครั้งสุดท้ายที่ผมเดินทางมารู้จักเมืองไลคือเมื่อปี 2004 เมื่อสิบกว่าปีก่อน เมืองไลมีบ้านเรือนที่สวยงานจำนวนมาก ตัวเมืองไลเอง เมื่อมองลงมาจากที่สูง จะเห็นทุ่งเมืองไลทอดตัวอยู่ขนาบลำห้วยหนึ่ง บริเวณนั้นมีที่นาและบ้านเรือนผู้คนตั้งอยู่ ทางเข้าเมืองไลมีสองทาง ทางหนึ่งวิ่งตรงไปยังสะพานข้ามห้วย จะเห็นหาดหินกว้างบริเวณปากน้ำที่จะไปบรรจบกับอีกสองลำน้ำ คือน้ำหนากับน้ำแต๊ (ที่คนไทยเรียกตามฝรั่งเศสว่าน้ำดำ) อีกทางหนึ่งคือข้ามสะพานก่อนถึงเมือง แล้ววิ่งเลาะหมู่บ้านริมเขาไป จะผ่านบ้านไตขาวจำนวนเกือบร้อยหลังคาเรือน เรียงรายริมนา มีครั้งหนึ่งที่ผมได้อาศัยข้าวปลาจากเรือนแถบนี้เมื่อมาเยือนเมืองไล

ณ ที่ตั้งของเมืองไล ฝั่งหนึ่งของน้ำดำมีท่าเรือ ที่ผมเคยล่องน้ำดำสำรวจเส้นทางและผู้คนจากเมืองไลไปยังเมืองเจียน ก่อนที่บริเวณนั้นทั้งหมดจะจมอยู่ใต้ลำน้ำดำเหนือเขื่อนเซอนลาในปัจจุบัน ตรงท่าเรือ ที่ก็เป็นเพียงหาดทรายริมน้ำดำ มีเมืองเก่าของชาวฝรั่งเศส อีกฝั่งหนึ่งเป็นบ้านของชาวไต เรียกบ้านจาง ตั้งรายล้อมยอดเขาเล็ก ๆ ที่เหมือนเป็นชะง่อนผา อันเป็นที่ตั้งของเรือนเจ้าเมืองเมืองไลในอดีต เรือนนี้เป็นเรือนแบบฝรั่ง ถูกทิ้งร้างมานานแล้ว บ้านจางนี้ตั้งอยู่บนเส้นทางไปเมืองแต๊ จัดเป็นเมืองทางทิศตะวันตกสุดของชายแดนจีน-เวียดนาม

เมืองไลในอดีตมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดสงคราม “ปราบฮ่อ” ของสยาม จนเกิดบันทึกสองมุมมองคือ มุมของแม่ทัพบันทึกโดยเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี กับบันทึกของไพร่พลคือนิราศหนองคาย ที่เมื่อพิมพ์แล้วก็ถูกเผา นอกจากนั้นยังมีพงศาวดารเมืองไล หากแต่จะมีใครสักกี่คนที่สนใจว่า เมืองไลสำคัญอย่างไร

หากจะเล่าย่อ ๆ จากบันทึกของฝรั่งเศส เวียดนาม ชาวไต และผลการศึกษาต่าง ๆ อีกมากในภาษาอังกฤษ เมื่อกบฏไท่ผิงพ่ายแพ้กองทัพจีนแล้วหนีลงมาเวียดนาม ถูกเรียกว่า “ฮ่อ” โดยชาวไต พวกนี้มีหลายกลุ่ม บางกลุ่มปล้นฆ่าชาวไตและคนในเวียดนาม บางพวกได้เข้ากับพวกไต ปราบปรามพวกฮ่อด้วยกัน จนเมื่อฝรั่งเศสขยายอำนาจขึ้นมาภาคเหนือในทศวรรษ 1870 พวกฮ่อ ไต และเวียดนาม รวมกำลังกันต่อต้านฝรั่งเศส จนกระทั่งปี 1890 นั่นเองที่ฝรั่งเศสกับสยามทำสนธิสัญญาแบ่งเขตแดนกัน

ในความวุ่นวายนั้น เจ้าเมืองเมืองไลมีบทบาทสำคัญไม่น้อยทีเดียว บันทึกต่าง ๆ เล่าว่า แดววันแสงกับลูกชื่อแดววันจิ (ที่มักออกเสียงว่า แดววันตรี นั่นแหละ) มีกำลังเข้มแข็งมากเนื่องจากสมทบกำลังกับพวกฮ่อ จึงได้มีอำนาจเหนือเมืองของพวกไตหลายเมือง เมื่อกองทัพสยามขึ้นมา ได้จับน้องชายและน้องเขยของแดววันจิไปกรุงเทพฯ (คนพวกนี้น่าจะมีส่วนในการทำบันทึกพงศาวดารเมืองไล) แดววันจิกับพวกฮ่อจึงนำกำลังไปเผาหลวงพระบาง จากนั้นฝรั่งเศสก็นำทัพขึ้นมาจากหล่าวกาย (Lào Cai) ปราบปรามอำนาจของพวกไตขาว

หากแต่ในท้ายที่สุด ฝรั่งเศสให้พวกเจ้าเมืองปกครองดังเดิม แต่ต้องยอมรับอำนาจเหนือกว่าของฝรั่งเศส ส่วนเจ้าเมืองไลก็ได้รับฐานะใหม่ กลายเป็นเจ้าเมืองเหนือเมืองไตขาวและไตดำจำนวนหนึ่ง จนมาถึงยุคของลูกของแดววันจิคือแดววันลอง ฝรั่งเศสแต่งตั้งเขาเป็นเสมือนกษัตริย์ของพวกไต ที่สำคัญคือเมื่อเขามีอำนาจเหนือเดียนเบียนฟู ทำให้ชาวไตขาวเข้าไปอาศัยในเมืองแถงเป็นจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน แต่เมื่อฝรั่งเศสแพ้ในสงครามเดียนเบียนฟู แดววันลองและครอบครัวต้องหนีไปอยู่ฝรั่งเศส แล้วบ้านเรือนเขาที่เมืองไลก็ถูกทิ้งร้าง

เมืองไลในทศวรรษที่ผมทำวิจัยจนปัจจุบันถูกทำให้สับสนหลายครั้ง เมืองไลถูกเรียกว่า ลายเจิว ในภาษาเวียดนามมาแต่ดั้งเดิม แต่ในทศวรรษ 2000 เมืองไลถูกรวบเป็นส่วนหนึ่งกับเดียนเบียนฟู แล้วตั้งเป็นจังหวัดลายเจิว แต่กลับมีตัวอำเภอเมืองอยู่ที่เมืองแถง ต่อมาเมื่อเมื่อรัฐบาลจะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นนำ้ดำที่เซอนลา ซึ่งจะทำให้น้ำท่วมเมืองเจียน เมืองไตขาวขนาดใหญ่อีกเมือง และท่วมมาจนถึงเมืองไล ลายเจิวใหม่ก็ถูกตั้งขึ้นมา ณ เมืองของไตขาว คนม้ง คนเย้า และคนลื้อ ที่ตามเดื่อง (Tam Đường) และบิ่งลือ (Bình Lư) ส่วนเมืองแถงก็กลายเป็นจังหวัดเดียนเบียนฟูแยกจากเมืองไลดังเดิม

 

 

 

จนในปัจจุบัน เมืองไลไม่ได้ถูกทิ้งร้างไปเสียทีเดียว เมืองไลกลาายเป็น เทศบาลเมืองไล (Thị xã Lai Châu) ขึ้นกับจังหวัดลายเจิว แต่น้ำท่วมทุ่งนาเมืองไลไปจนหมดสิ้น บ้านเรือนที่เคยตั้งอยู่ริมนา ก็ถูกโยกย้ายไตั้งอยู่ริมถนน บรรดาที่ตั้งบ้านเรือนเก่า ๆ ทั้งก่อนเข้าเมืองและนอกเมือง ก็ถูกน้ำท่วมไปจนหมดสิ้น เมืองจัน ที่เคยหนาแน่นที่สุดในเขตเมืองไล และเป็นเมืองบริวารที่สำคัญของเมืองไล ก็จมอยู่ใต้น้ำเสียส่วนใหญ่ ส่วนเรือนของแดววันลองที่เคยตั้งตระหง่านอยู่บนชะง่อนผา ก็เกือบจะถูกน้ำท่วมเสียเช่นกัน

 

 

 

แต่การกลับมาเมืองไลครั้งนี้ก็ทำให้เกิดความสนใจใหม่ ๆ ได้รับรู้และรู้จักเรื่องราวกับผู้คนใหม่ ๆ อีกมาก ผมตื่นเต้นที่ได้เข้าไปพบชาวเมืองซอ เมืองไตขาวที่สำคัญคู่กับเมืองไล ตื่นเต้นที่ได้เจอชาวขมุที่สร้างเรือนแบบไตและพูดได้ทั้งภาษาไตและภาษาเวียดอาศัยอยู่ริมทางก่อนเข้าเมือง และได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากเขื่อนไฟฟ้าขนาดเล็กถึง 3 เขื่อนกั้นลำน้ำหนา กับการเปิดชายแดนเวียดนาม-จีนบริเวณใกล้ ๆ เมืองซอที่คึกคักขนาดมีรถพ่วงขนาดใหญ่ขนสินค้าผ่านไปมาตลอดเส้นทาง

 

 

 

อีกสิบปีให้หลัง คงไม่มีใครสนใจเรื่องราวของเมืองไล อดีตของดินแดนและผู้คนในที่แห่งนี้คงถูกลบเลือนไปอีกมาก ผมจำต้องกล่าวอำลาเมืองไลอันเกรียงไกร แต่ผมก็ตั้งใจว่าจะกลับมาเยี่ยมเยียนทำความเข้าใจผู้คนที่ได้พบปะในการเดินทางครั้งนี้อีกอย่างแน่นอน

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงผมก็นึกไม่ถึงว่าจะมีคนสนใจข่าวนี้กันมากนัก เรื่องอาจจะเป็นเพราะมีการใช้คำในการรายงานข่าวเบื้องต้นอย่างคลาดเคลื่อนไป ก็เลยทำให้เป็นที่น่าตกใจ แต่อีกนัยหนึ่งก็ชี้ให้เห็นปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนกระทั่งเมื่อมีการแสดงการต่อต้านด้วยการปฏิเสธที่จะอยู่ใต้อำนาจกดทับนั้น คนก็จึงตอบรับกันอย่างกระหน่ำ อย่างไรก็ดี ผมก็อยากชี้แจงให้กระจ่างเพิ่มเติมว่า ทำไมผมจึงเลือกที่จะแสดงสถานภาพในการเดินทางมาต่างประเทศของผมในครั้งนี้เพิ่มเติมผ่านข้อเขียนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพิ่งผ่านมาเพียง 5 เดือนอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะถามว่า หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้วขบวนการประชาชนจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่หากมองย้อนกลับไป แล้วมองไปข้างหน้าอีกสักหน่อย ก็น่าจะลองคิดถกเถียงกันบ้างว่า ขบวนการประชาชนน่าจะไปทางไหนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
TED รายการบรรยายสาธารณะที่มีชื่อเสียงและผมก็ติดตามเรียนรู้มาสม่ำเสมอ ได้เผยแพร่คลิปบรรยายของคีท เชน นักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอข้อถกเถียงว่า ภาษามีความเชื่อมโยงกับการออมตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ผมเพิ่งได้ยินเกี่ยวกับการศึกษานี้มาตั้งแต่ต้นภาคการศึกษานี้ในชั้นเรียนวิชามานุษยวิทยาภาษา ที่นักศึกษาคนหนึ่งเอ่ยถึงการศึกษานี้ และเพิ่งได้ดูด้วยตัวเองเมื่อ 3-4 วันก่อนนี้เอง เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยนำไปให้นักศึกษาดูและถกเถียงกันในชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การอัตวินิบาตกรรมของคุณนวมทอง ไพรวัลย์ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นัยหนึ่งถือว่าเป็นการประท้วงต่อการรัฐประหาร อีกนัยหนึ่งถือเป็นการยืนยันความจริงจังและบริสุทธิ์ใจต่ออุดมการณ์ อีกนัยหนึ่งอาจปลุกเร้าสำนึกของผู้ร่วมอุดมการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็เกรงว่าจะเป็นความสูญเสียที่สูญเปล่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแตกต่างจากการสอนหนังสือในระดับโรงเรียนก็คงจะตรงที่ว่า ผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนการสอนมาก่อน อาจจะมีการอบรมเรื่องการเรียนการสอนบ้าง มีการประเมินผลให้ผู้สอนพิจารณาปรับปรุงตนเองบ้าง มีการประเมินตนเองบ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว ผู้สอนมีส่วนสร้างระบบการเรียนการสอนด้วยตนเอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"อาร์บอรีทั่ม" (Arboretum) เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ร่วม 3 พันไร่ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สวนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่ก็อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก หากขยันเดิน สักชั่วโมงหนึ่งก็ถึง ถีบจักรยานไปก็สัก 20 นาที อาจเร็วกว่าขับรถที่ต้องเจอกับป้ายหยุด ทางแยก ไฟสัญญาณ กว่าจะถึงก็สัก 30 นาที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการมิได้มีสถานภาพพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ในสังคม เพียงแต่อาชีพนักวิชาการเป็นอาชีพที่ต้องพัฒนาความคิดความอ่านตลอดเวลา นักวิชาการจึงไม่ควรมีขอบเขตของความคิดความอ่าน พร้อมๆ กับที่ไม่ควรปิดกั้นขอบเขตของความคิดคนอื่น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กว่า 3 เดือนที่ผ่านมาผมไปชมการแสดงดนตรีไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ นึกเสียดายที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่มาเรียนไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เลย เมื่อวานนี้ (ตามเวลาที่อเมริกา) ผมก็เพิ่งออกจากห้องแสดงดนตรีมา จนทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า นี่ผมอยู่ในโลกไหนกัน แล้วทำไมที่ที่ผมอยู่เป็นปกติเขาถึงไม่ทำสถาบันการศึกษาให้เป็นสถานที่บ่มเพาะความเจริญของจิตใจได้อย่างนี้บ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดอร์ แรธสเคลเลอร์เป็นบาร์เบียร์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ตั้งอยู่ในตึกกิจกรรมนักศึกษา (ที่นี่เรียกว่า Memorial Union) ตึกกิจฯ นี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1928 โน่นเลย บาร์เบียร์แห่งนี้ก็น่าจะอายุไม่น้อยไปกว่าตึกที่มันอาศัยอยู่เท่าใดนัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเข้าร่วมกิจกรรมสังคมวิชาการซ้ำซ้อนกันหลายงาน ตั้งแต่บรรยายเรื่องการทำวิจัยในเวียดนามให้นักศึกษาบัณฑิตศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟัง ต่อด้วยปาร์ตี้ประจำปีของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหา'ลัยวิสคอนซิน ซึ่งเป็นงานแบบ potluck party และก็ฟองดูปาร์ตี้เล็กๆ ที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าขนมปังจุ่มชีสต้มเดือด ทั้งหมดนั้นได้อะไรสนุกๆ มามากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผ่านมาได้ 3 สัปดาห์ วิชาที่ผมสอนที่วิสคอนซินเริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆ ในห้องมีนักเรียน 10 คน ขนาดพอๆ กับที่เคยสอนที่ธรรมศาสตร์ แต่ที่ต่างคือในห้องเดียวกันนี้มีทั้งนักเรียนปริญญาตรี โท และเอกเรียนร่วมกัน เพียงแต่ข้อกำหนดของงานและความคาดหวังจากนักเรียนระดับ ป.ตรีกับ ป.โท-เอก ย่อมแตกต่างกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ท่านถามอย่างนี้กับสื่อมวลชน ต่อหน้าสาธารณชน ใครเขาจะกล้าตอบ ก็ในเมื่อท่านมีปืนอยู่ในมือ ใครเอาปืนจี้หัวท่านไว้แล้วท่านจะตอบความในใจที่ขัดความรู้สึกเขาได้ไหมล่ะ เรื่องแค่นี้น่าจะเข้าใจนะ