Skip to main content

หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 

แต่อย่างที่อาจารย์และสังคมไทยทราบดี ว่าในทางการเมือง ผมมีความคิดเห็นไม่ลงรอยกับอาจารย์อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่การเดินขบวนของ กปปส. และมวลชนที่สนับสนุนแนวทางเดียวกัน อาจารย์คงไม่ได้ใส่ใจอะไรกับข้อวิจารณ์ของผมมากนัก มาจนวันนี้ ในโอกาสที่อาจารย์พูดได้มากกว่าผม แต่ผมก็ยังไม่เห็นว่าอาจารย์ได้สนใจข้อท้วงติงที่ผ่านมาของผมเลย เพราะดูเหมือนอาจารย์จะยังคงสนับสนุนทิศทางของประเทศที่ไปคนละทิศกับการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชน 

เอาล่ะ ผมจะไม่อ้อมค้อม ผมขอวิจารณ์ข้อเสนอของอาจารย์ในปาฐกถามเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมาตามข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news/95994) อย่างตรงมาว่า นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่อาจารย์ใช้วิชาชีพมานุษยวิทยาในการผลักให้สังคมไทยไม่เพียงหันเหออกไปจากเส้นทางของประชาธิปไตย แต่ยังต้องตกไปสู่หุบเหวของอำนาจเผด็จการทหาร นี่เป็นอีกครั้งที่อาจารย์ไม่ได้ใช้โอกาสที่อาจารย์มีมากกว่าหลาย ๆ คน ช่วยเตือนสติผู้มีอำนาจให้เคารพอำนาจของประชาชน เคารพบุญคุณที่ประชาชนเลี้ยงดูเขามา 

ในข้อสรุปตามข่าว แม้ว่าอาจารย์จะเสนอปัญหาข้อสำคัญของสังคมไทยว่าเป็นปัญหาเรื่องความอยุติธรรม แต่อาจารย์ก็โยนความผิดให้นักการเมืองฝ่ายเดียว ส่วนกับข้าราชการประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการทหาร แม้แต่จะกล่าวถึงความฉ้อฉลของทหารในอดีต มาบัดนี้อาจารย์ก็ยังไม่กล้า ส่วนความฉ้อฉลของทหารในปัจจุบันเล่า ผมคงไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องบัดสีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งผู้คนในครอบครัวรับตำแหน่ง การเข้าไปรับตำแหน่งกรรมการบริหารองค์กรต่าง ๆ หรือเรื่องด่างพร้อยที่หาทางกลบเกลื่อนกันไปอย่างหน้าด้าน ๆ แต่ผมจะกล่าวถึงเฉพาะเรื่องที่เห็นตำตาว่าเลวร้าย แต่อาจารย์ก็หลีกเลี่ยงไม่กล่าวถึง 

อาจารย์ครับ อาจารย์เชื่ออย่างนั้นจริง ๆ หรือว่าระบบอุปถัมภ์ของชาวบ้านและนักการเมืองเป็นปัญหาสำคัญจนถูกมองว่าเป็นต้นตอของการซื้อเสียง เอาล่ะ นั่นก็เป็นปัญหาสำคัญแน่ ๆ แต่ปัญหาตำตาขณะนี้มีอะไรทำไมอาจารย์ไม่กล่าวถึง แล้วการอุปถัมภ์ในวงราชการล่ะ การสร้างระบบอุปถัมภ์ให้ข้าราชการกลายเป็นผู้อุปถัมภ์ชาวบ้าน ให้ชาวบ้านเป็นเบี้ยล่างล่ะ เป็นปัญหาไหม แล้วที่เราระบบการบริหารประเทศ กระบวนการยุติธรรม ระบบการออกกฎหมายที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหาร มันไม่ใช่การหวนกลับไปสร้างระบบอุปถัมภ์ที่มีข้าราชการอยู่บนยอดของการเป็นผู้อุปถัมภ์หรอกหรือ  

นอกจากนั้น ผมคงไม่ต้องยกชื่องานและไล่เรียงทบทวนวรรณกรรมทางวิชาการในระยะเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาจำนวนมากให้อาจารย์อ่านนะครับว่ามีงานของใครบ้าง ทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมทั้งผมเอง ที่ศึกษาแล้วเสนอว่า ก่อนการรัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมานั้นระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว ระบบอุปถัมภ์ในท้องถิ่นลดทอนพลังลงไปมากแล้ว การเมืองเปลี่ยนไปแล้ว ประชาชน ชาวบ้านเข้าใจประชาธิปไตยมากขึ้นแล้ว อาจารย์ไม่คิดว่าข้อเสนอเหล่าน้ีเป็นประเด็นข้อถกเถียงที่จะต้องมาพิจารณากันหรอกหรือ  

อาจารย์ครับ มวลชนที่ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านนักการเมืองน่ะ ไม่ได้มีแต่ฝ่ายที่อาจารย์เห็นอกเห็นใจเท่านั้นหรอกนะครับ มวลชนที่เขาตื่นรู้แล้วลุกฮือขึ้นมาต่อต้านระบบอุปถัมภ์ที่มีข้าราชการประจำอยู่บนยอดสุดน่ะ ก็มีไม่น้อยหรืออาจจะมากกว่ามวลชนที่สนับสนุนอำนาจอุปถัมภ์ของข้าราชการด้วยซ้ำ นั่นย่อมแสดงว่าความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยไม่ได้มีเฉพาะการลดทอนพลังลงของระบบอุปถัมภ์ในท้องถิ่น แต่ยังมีการต่อต้านท้าทายระบบอุปถัมภ์ที่เคยอยู่ในอำนาจของข้าราชการประจำด้วย  

อาจารย์ไม่คิดว่ามวลชนที่เรียกร้องให้มีการรัฐประหารคือมวลชนที่ฟื้นฟูระบบอุปถัมภ์ของข้าราชการประจำเหรอครับ แล้วข้อเรียกร้องที่มีแนวโน้มค้ำจุนอำนาจทหารแบบของอาจารย์ล่ะ จะไม่กลับไปเรียกอำนาจที่อาจารย์เคยท้าทายให้กลับมาครอบงำประเทศอีกหรอกหรือ หรือเพราะขณะนี้อาจารย์เข้าไปอยู่บนยอดของระบบอุปถัมภ์นี้ด้วยแล้ว ก็เลยเลิกคิดจะท้าทายมันแล้ว 

เอาล่ะ ถ้าจะเข้าประเด็นใหญ่ของอาจารย์ว่า ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยคือปัญหาเรื่องความอยุติธรรม แต่ความอยุติธรรมน่ะแสดงออกแค่ในเรื่องการใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม อย่างคนจนติดคุก กับเรื่องการมองว่าชาวบ้านเป็นปัญหา อย่างเรื่องการจัดระเบียบปากคลองตลาด แค่นั้นเหรอครับ  

ผมว่าข้อเสนอของอาจารย์ประหลาดมากตรงที่ว่า ปัญหาที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบมองเห็นคือปัญหาเรื่องความอยุติธรรม แต่อาจารย์กลับเสนอแนวทางการแก้ไขจากมุมมองของผู้ที่ประท้วงเรียกร้องให้ทหารเข้ามาแก้ปัญหาประเทศ แต่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่พวกเขาเป็นคนกรุงเทพฯ ไม่ใช่หรือ คนเหล่านี้ส่วนมากเขาอยู่บนยอดหรือเป็นชนชั้นกลางระดับบนไม่ใช่หรือ แล้วข้อเรียกร้องของเขาวางอยู่บนการดูถูกประชาชนระดับล่างลงมาไม่ใช่หรือ ถ้าอย่างนั้นคนเหล่านี้ไม่ใช่เหรอครับที่เป็นกลุ่มคนซึ่งค้ำจุนความอยุติธรรมอยู่ คนเหล่านี้ไม่ใช่เหรอครับที่กินอยู่ได้บนความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย 

แต่ส่วนประชาชนอีกส่วนที่เขาได้รับผลกระทบจากความอยุติธรรม เป็นบรรดาคนจนที่ติดคุก เป็นคนที่ถูกไล่ที่ ถูกจัดระเบียบ เป็นคนหาเช้ากินค่ำ เป็นชนชั้นกลางระดับล่างไม่มีเงินเดือนประจำน่ะ พวกเขาเป็นประชากรส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารไม่ใช่เหรอ พวกเขาไม่ได้อยากให้มีการปฏิรูปไม่ใช่เหรอ พวกเขาอยากให้มีการเลือกตั้ง อยากให้นักการเมืองที่พวกเขาควบคุมได้ผ่านการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศไม่ใช่เหรอ 

ข้อเสนอของอาจารย์ประหลาดก็ตรงนี้แหละครับ อาจารย์มองปัญหาในมุมคนกลุ่มหนึ่ง แต่เลือกทิศทางการแก้ปัญหาจากมุมคนอีกกลุ่มหนึ่ง คนกลุ่มแรกคือผู้รับผลจากปัญหาโดยตรง แต่เขาเสนอทางแก้ปัญหาที่อาจารย์ไม่ยอมรับ ตรงกันข้าม อาจารย์กลับเลือกทางแก้ปัญหาของคนกลุ่มหลัง ซึ่งเป็นกลุ่มคนซึ่งมีส่วนสร้างระบบความอยุติธรรมขึ้นมา เป็นกลุ่มคนที่ก่อปัญหาให้คนกลุ่มแรก ทำไมอาจารย์ไม่เลือกฟังบ้างล่ะครับว่าคนที่ถูกความอยุติธรรมกระทำกับเขาทุกเมื่อเชื่อวันนั้น เขาสรุปบทเรียนมาว่าอย่างไร แล้วทหารจะแก้ปัญหาพวกเขาได้จริงหรือ ในเมื่อทุกวันนี้พวกเขาก็ยังถูกความไม่ยุติธรรมรังแกอยู่ตลอด แต่คนกลุ่มที่อาจารย์ฟังเขาน่ะ เขาไม่ได้มีปัญหา เขาต่างหากที่ก่อปัญหา 

ความประหลาดยิ่งกว่านั้นคือ อาจารย์ไม่สนใจความอยุติธรรมที่คณะรัฐประหารเองสร้างขึ้นมา บรรดาการใช้อำนาจซึ่งชาวโลกเขาประณามกันทุกเมื่อเชื่อวันตลอดระยะเวลาจนจะสองปีแล้วน่ะ ไม่สมควรนับว่าเป็นความอยุติธรรมที่ก่อปัญหากับสังคมไทยหรอกหรือ ยกตัวอย่างเช่น 

1. คำสั่งคสช. ที่ 13/2559 มีความยุติธรรมอย่างไร 

2. การดำเนินคดีประชาชนด้วยศาลทหาร มีความยุติธรรมอย่างไร 

3. การเรียกตัวบุคคลต่าง ๆ ไปปรับทัศนคติ การจับกุมตัวนักศึกษาโดยพลการไม่แสดงหมายจับ การคุกคามการจัดประชุม เสวนา การแสดงความเห็นสาธารณะที่ไม่ได้ก่อให้เกิดการชุมนุมทางการเมือง หากแต่ละเว้นการจับกุมกลุ่มมวลชนที่สนับสนุนทหารหากแต่ก็เป็นการชุมนุมทางการเมือง มีความยุติธรรมอย่างไร  

4. การรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ ฉีกกฎหมายสูงสุดของประเทศ แล้วตั้งรัฐบาลเองตามอำเภอใจของกลุ่มคณะรัฐประหาร แล้วนิรโทษกรรมตนเองไปทั้งข้างหน้าและย้อนหลัง เป็นความยุติธรรมอย่างไร  

ภายใต้อำนาจเผด็จการเหล่านี้ อาจารย์คิดว่าจะเกิดการปฏิรูปให้เกิดความยุติธรรมได้หรือครับ การปิดปากประชาชน ปิดปากนักการเมือง คุกคามสื่อมวลชน ด้วยอำนาจเผด็จการเหล่านี้ จะเป็นพื้นฐานที่ดีให้เกิดความยุติธรรมได้หรือครับ การที่มีเพียงคนแบบอาจารย์ธีรยุทธกับบรรดาทหาร ที่สามารถพูดอย่างไรก็ได้โดยไม่เปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาจากผู้ที่เห็นต่าง จะก่อให้เกิดการปฏิรูปที่นำมาซึ่งสังคมที่ยุติธรรมได้อย่างไรครับ  

อาจารย์ครับ อาจารย์ไม่เพียงไม่วิจารณ์การกระทำเหล่านั้นของทหาร แต่อาจารย์ยังส่งเสริมระบอบรัฐประหารให้เดินหน้าการปฏิรูปต่อไป ให้กระทำอย่างเร่งด่วนไม่ต้องขยายเวลาไปอีกนาน (ตามข่าว http://prachatai.org/journal/2016/04/65087) แล้วอาจารย์ยังเสนอกระบวนการที่ปูทางให้เกิดระบอบอภิสิทธิ์ชน นำข้อเสนอจากรายชื่อบุคคลที่ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองจากประชาชน แล้วนี่เป็นระบบที่แสดงความศรัทธาต่อชาวบ้านอย่างไร หรือชาวบ้านที่น่าเลื่อมใสมีแต่บรรดาปราชญ์ชาวบ้าน บรรดาผู้ทรงภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ล้วนแต่อยู่ในข่ายใยของระบบอุปถัมภ์ขององค์กรพัฒนาที่ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าใครบ้างที่เป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ไม่กี่คนเหล่านั้น ส่วนชาวบ้านที่เขาต่อต้านการรัฐประหาร เป็นชาวบ้านที่อยู่ใต้ระบบความอยุติธรรม ความเห็นของพวกเขาไม่น่ารับฟังเพราะล้วนตกอยู่ใต้อิทธิพลของนักการเมืองอย่างนั้นหรือ แล้วจะมีกระบวนการอย่างไรให้เขาได้มีส่วนร่วมถ้าไม่ยกเลิกอำนาจของคณะรัฐประหารไปโดยเร็วเสียที  

ผมคิดมาตลอดว่าสักวันหนึ่งจะต้องแยกแยะให้ชัดเจนว่ามีนักวิชาการคนใดที่สนับสนุนการรัฐประหาร แล้วผมจะไม่เริ่มจากใครอื่นไกล แต่จะเริ่มจากบรรดานักวิชาการที่อยู่ในสายอาชีพเดียวกัน ก็คือนักมานุษยวิทยาและสถาบันทางวิชาการที่ใช้ชื่อมานุษยวิทยานี่แหละ เพียงแต่คอยโอกาสว่าจะได้นำเสนอในเวทีวิชาการสากลให้ชาวโลกเขารับรู้กัน   

แต่ไม่ทันต้องรอโอกาสนั้น ในระหว่างที่สังคมไทยกำลังครุกรุ่นด้วยปัญหารุมเร้าต่าง ๆ นานา ก็มีนักวิชาการที่นิยมเผด็จการเสนอหน้ากันออกมาปกป้องประคับประคองการรัฐประหาร เพียงแต่ผมก็ไม่นึกเลยว่า นักวิชาการคนแรก ๆ ที่จะต้องกล่าวถึงว่าเป็นนักมานุษยวิทยาที่พยายามประคับประคองเผด็จการทหาร ก็คืออาจารย์ธีรยุทธ บุญมีนั่นเอง 

 

6 เมษายน 2559

ยุกติ มุกดาวิจิตร

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา