Skip to main content

หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด

ที่จริงจะพูดไปเรื่องนี้อย่างไรเสียก็ว่ากันได้ทุกคน ว่ากันได้ตั้งแต่สมัยอดีตนายกฯ คนที่เป็นที่นิยมมาก จนถึงผู้มีอำนาจในทุกวันนี้ จนถึงชาวบ้านตาดำๆ อย่างเราๆ ใครๆ ก็ทำผิดกันได้ทั้งนั้น แล้วหลายคนก็ไม่ยอมรับผิดของตนเองกันได้ทั้งนั้น แต่ความผิดบางกรณีถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของสังคม เพราะเป็นความผิดต่อสาธารณชน ไม่ใช่ความผิดต่อใครคนใดคนหนึ่ง

เช่นว่า ความผิดที่ดูเล็กน้อย เหมือนไม่เป็นภัยแต่ดูใจบุญอย่างกรณีนกเงือก หรือความผิดที่ดูผู้กระทำกลับอ้างการตกเป็นเหยื่อของการลวงโลกเสียเองอย่างกรณี GT200 รวมทั้งกรณีศิลปินที่มีส่วนร่วมกับการปูทางไปสู่การรัฐประหารที่บัดนี้พิสูจน์แล้วว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง แต่ผู้กระทำกลับปฏิเสธราวกับว่าขณะนั้นรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งๆ ที่ก็ยังร่วมหัวจมท้ายกับขบวนการทำลายสิทธิเสรีภาพมาจนหลังรัฐประหาร ตลอดจนกรณีก่อนหน้านั้นที่ใหญ่ๆ ก็คงจำกันได้ที่อดีตนายกฯ คนหนึ่งยอมรับเองว่ามีการสั่งให้ใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุมทางการเมือง แต่ไม่ยอมรับผิด กลับบอกว่า "โชคร้ายที่มีคนตาย" 

เรื่องนี้มีสามคำถามที่น่าคิดคือ 1. ทำไมสังคมจึงสนใจบางความผิดของบางคนเป็นพิเศษ 2. ทำไมการยอมรับผิดของบางคนจึงยากเย็นนัก แล้ว 3. ทำไมประเทศไทยจึงไม่สามารถเอาผิดกับผู้มีอำนาจได้เสียที 

แน่นอนบางคนคงอยากจะบอกว่า เรื่องนี้มันก็เลวกันทุกฝ่ายนั่นแหละ แต่ที่ผมว่าที่เลวร้ายยิ่งกว่า สร้างความผิดหวังต่อสังคมยิ่งกว่า และทำลายความเชื่อมั่นต่อความดีงามมากที่สุด ก็คือกรณีของคนที่ออกตัวแรงกับสังคมว่าเป็นคนดี อยู่ข้างความถูกต้อง อยู่ตรงข้ามกับคนโกง ทำดีให้สังคมรับรู้สม่ำเสมอ แต่เมื่อตนเองทำผิดพลาด กลับเฉไฉแถไปมาด้วย "คำแก้ตัว" (คำนี้สำคัญนะครับ เป็นคนละคำกับ "เหตุผล") ต่างๆ นานา 

นี่ชวนให้คิดถึงข้อเท็จจริงทางสังคมอย่างหนึ่งของวัฒนธรมไทยว่า การรักษาหน้าตาสำคัญกว่าความละอายต่อการทำบาป สังคมไทยให้ความสำคัญกับหน้าตาทางสังคม มากกว่าหลักการในอุดมคติ เขาจึงยอมผิดหลักการแต่ไม่ยอมเสียหน้า อุดมคติเป็นสิ่งที่อยู่ในใจ หลายครั้งทำดีตามอุดมคติแล้วไม่ได้หน้า ได้เพียงความรู้สึกดีอยู่ในใจคนเดียว แต่คนไทยชอบทำดีพร้อมกับได้หน้า เพราะหน้าตามาพร้อมกับฐานะพิเศษทางสังคม 

หน้าตาสำคัญเพราะหน้าตารักษาความคาดหวังต่อบทบาทตามสายสัมพันธ์ทางสังคม คนที่มีอำนาจ ผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ผู้ที่สังคมให้ความนับถือยกย่อง ย่อมไม่อยากสูญเสียสถานภาพทางสังคม เพราะในกลไกทางสังคมของสังคมไทย เมื่อใครก็ตามมีอำนาจ มีคนยกย่องสรรเสริญ เขาย่อมมีโอกาสได้รับอภิสิทธิ์พิเศษ และยิ่งมีโอกาสได้สืบทอดให้คงอยู่ในสถานภาพพิเศษนั้นไปได้นานๆ มากกว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในสถานะเช่นนั้น 

ลึกไปกว่านั้น ผมว่ามีอีกส่วนที่ผมคิดว่าอาจจะทำให้คนเหล่านี้ไม่ยอมรับผิด คนเหล่านี้อาจจะเกรงกลัวโทษทัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าการเสียหน้า เพราะการรับผิดทางสังคมย่อมอาจจะส่งผลให้เขากลายเป็นผู้สารภาพผิดในทางนิตินัยไปด้วยโดยปริยาย ข้อนี้ผมไม่รู้เหมือนกันว่าในทางกฎหมายจะถือได้หรือเปล่าว่า เมื่อผู้ทำผิดได้รับสารภาพผิดต่อสาธารณชนไปแล้ว ก็เหมือนปูทางไปสู่การต้องรับผิดในกระบวนการยุติธรรมไปด้วย 

ประเด็นที่ใหญ่ยิ่งกว่านั้นคือ "วัฒนธรรมการปล่อยให้คนผิดลอยนวล"(impunity) ที่จริงผมไม่ได้รู้เรื่องนี้มากนัก ก็อ่านเอาจากหลายๆ คนที่เคยเขียนไว้แล้ว แนวคิดนี้พูดถึงการปล่อยปละละเลยไม่ให้เกิดความรับผิดชอบของความผิดในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้ก่อความผิดเป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง  

นี่ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็น "นักการเมือง" ในความหมายแคบ แต่ยังรวมถึงคนมีอำนาจในการบริหารประเทศ พูดง่ายๆ คือ ผู้นำเผด็จการที่อ้างว่าเข้ามายึดอำนาจเพื่อกำจัดนักการเมือง ตัวเขาเองก็เป็นนักการเมืองด้วยเหมือนกัน และต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองที่ต้องสามารถถูกดำเนินการด้วยกระบวนการยุติธรรมได้เช่นกัน แต่คนผิดที่ขี้ขลาดและหน้าด้านส่วนมากก็ย่อมนิรโทษกรรมตนเองให้ปลอดจากความผิดทั้งหมดทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็คือประกาศตั้งแต่แรกที่ทำผิดว่า พวกเขาไม่ยอมรับผิด

ความไม่รับผิดต่อความผิดสาธารณะของผู้มีอำนาจ เป็นพื้นฐานของการปล่อยให้ผู้มีอำนาจที่กระทำผิดลอยนวล เมื่อเราปล่อยปละละเลยต่อการลงโทษผู้มีอำนาจที่กระทำผิด ผู้ที่เป็นเหยื่อของความผิดเหล่านั้นก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม สังคมก็ไม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้ สุดท้ายสังคมก็ไม่อาจไปสู่การให้อภัยกันแล้วหันหน้ากลับมากล้ำกลืนจนสุดท้ายยอมปรองดองกันได้  

แล้วสุดท้าย วัฎจักรการไม่รู้จักรับผิดก็ผลิตซ้ำตัวมันเอง สังคมจึงปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอำนาจกระทำผิดต่อประชาชนได้ต่อไปอย่างซ้ำซาก จนกลายเป็นวัฒนธรรมไม่รับผิดของสังคมไทย

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
 การที่ประธานรัฐสภาปัดข้อเรียกร้องของประชาชนกว่า 3 หมื่นคน ที่นำโดยคณะนิติราษฎร์และคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ด้านหนึ่งนับเป็นความขลาดเขลาของประธานรัฐสภา ด้านหนึ่งสะท้อนความขลาดเขลาของพรรครัฐบาลที่บอกปัดข้อเสนอนี้มาตั้งแต่ ครก.112 เริ่มรณรงค์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 บ้านเก่าเมืองหลัง เป็นสำนวนของคนไทดำในเวียดนาม เมื่อก่อน พอได้ขึ้นไปเยี่ยมเยือนพี่น้องชาวไทดำที่เซอนลาแต่ละครั้ง ก็จะถูกพวกคนเฒ่าคนแก่ล้อว่า “เหมือนพวกหลานๆ กลับมาเยี่ยมบ้านเก่าเมืองหลังสินะ” ในความหมายที่ว่า เหมือนผมได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนนั่นเอง ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ก็ห่างหายไปแค่เพียงหลายเดือน หรืออย่างมากก็ในรอบปี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  ขอบอกว่า วันนี้นอยกับบูราวอย (Michael Burawoy) พอสมควร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมติดตามละคร "แรงเงา" อย่างใกล้ชิด...จากที่เพื่อนๆ เล่ากันน่ะ ไม่ได้ดูเองหรอก (เพราะไม่มีทีวีดู ไม่ชอบดูทีวี และไม่ดูทีวีมาหลายปีแล้ว) แต่ก็เกิดสงสัยว่า "ทำไมไอ้ผอ.มันโง่งี้(วะ)" ถ้าจะตอบว่า "ผู้ชายหล่อก็เหมือนผู้หญิงสวยนั่นแหละ มันโง่" ก็คงจะดูโง่ไปหน่อย ก็เลยลองคิดต่อดูว่า หนึ่ง ที่จริงไม่ได้มีแต่ ผอ.ในละครแรงเงาโง่อยู่คนเดียวหรอก พระเอกละครไทยกี่เรื่องต่อกี่เรื่อง มันก็โง่แบบนี้กันทั้งนั้นแหละ ส่วนใหญ่เลยนะผมว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดเทอมนี้อดพานักอ่านตัวยงคนหนึ่งที่บ้านไปงานสัปดาห์หนังสือ เพราะเธอขาแพลง เจ็บถึงขั้นเข้าเฝือกและใช้ไม้เท้าเดิน เธอบอก "เอาไว้มีงานอีกครั้งลุงต้องพาหนูไปนะ" วันนี้ก็เลยขอเขียนอวยนักเขียนสักหน่อย (คนเราไม่ต้องคอยหาทางวิจารณ์ข้อด้อยคนอื่นกันทุกเมื่อเชื่อวันก็คงสามารถจรรโลงสังคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผ่านมาสี่วัน ถ้าจะให้บอกว่าประทับใจอะไรกับปราสาทหินบ้าง คงยากที่จะบอก เพราะวิ่งผ่านหินก้อนต่างๆ มากมายเสียจนไม่ทันได้หยุดคิดกับอะไรต่างๆ ดีที่ได้นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักมานุษยวิทยามากมายมาให้ความรู้ข้างๆ หูเวลาท่านถกเถียงกัน จึงพอจะเก็บเกี่ยวเชื่อมโยงอะไรมาได้บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร