Skip to main content

ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 

 

ผมเพิ่งได้รับเชิญไปเสนองานในการประชุมวิชาการในโอกาสครบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กแก่งกิจการและภาษาต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studie) ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ และก็ได้มีโอกาสเที่ยวในกรุงโซลและบริเวณใกล้เคียงอีกสองวัน 

 

เรื่องที่อยากจะเขียนหลายตอน เพราะมีหลายเรื่อง ที่จริงเรื่องที่มี passion มากที่สุดคือเรื่องอาหารการกิน แต่เอาไว้ก่อนดีกว่า ขอเริ่มที่เรื่องที่เห็นได้ชัด และช่วยให้เข้าใจ "ความเป็นเกาหลี" แบบที่คนเกาหลีเลือกนำเสนอ  

 

เกาหลีที่ไปไม่ว่าจะครั้งแรกหรือครั้งที่สอง ก็มักจะมีเพื่อนชาวเกาหลีนำเสนอผ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ เกี่ยวข้องย้อนกลับไปถึงราชวงศ์และประวัติศาสตร์เกาหลี ตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นในต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อนเกาหลีจึงมักพาไปดูวังเวียงต่างๆ  

 

ไปคราวนี้ ผมได้นักศึกษาปริญญาเอกชาวเกาหลีที่มาเรียนมานุษยวิทยากับผมที่ธรรมศาสตร์พาเที่ยว ก็จึงได้ความรู้มากมาย ขอเรียกรวมๆ ว่า “เพื่อน” แทนแล้วกัน เพราะบางครั้งก็เป็นคำอธิบายจากชาวเกาหลีคนอื่นๆ ผมไปดูวังสองแห่ง แห่งแรกคือที่พำนักชั่วคราวของกษัตริย์ราชวงศ์โชซอน (Joseon) ที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 - 20 เป็นราชวงศ์สุดท้าย ก่อนหน้านี้เป็นราชวงศ์ซิลลา (Silla) ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ก่อนคริสตกาล 50 กว่าปีมาจนถึงศตวรรษที่ 10  

 

ที่ได้เรียนรู้จากการเดินทางครั้งนี้มีหลายอย่าง หนึ่งคือ อำนาจการปกครองในเกาหลี ทั้งเหนือและใต้ เป็นอิสระจากจีนมายาวนาน ดูได้ จากวัฒนธรรม โบราณวัตถุ ความเชื่อท้องถิ่น และอักษร ส่วนตัวผมสนใจอักษรเป็นพิเศษ อักษรเกาหลีที่ใช้ในปัจจุบันคิดขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 แล้วมีการพิมพ์เผยแพร่หนังสือด้วยอักษรนี้ควบคู่กับอักษรและภาษาจีนตั้งแต่อย่างน้อยศตวรรษที่ 15 เช่นกัน เรื่องอักษรนี้ดูจะเป็นเรื่องสำคัญมาก บริเวณลานหน้าพระราชวังกีอองบุ๊กคุงจึงมีหุ่นกษัตริย์ที่ประดิษฐ์อักษรเกาหลีตั้งอยู่ นอกจากนั้นยังมีธรรมเนียมการสร้างสถาปัตยกรรมหินครอบพระพุทธรูป (เรื่องนี้เล่าอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ) ธรรมเนียมการทำสุสานเป็นเนินดินขนาดใหญ่ของราชวงศ์ซิลลา 

 

อีกอย่างที่ได้รู้คือ เกาหลีไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ข้อนี้ไม่แปลก แต่ได้รู้ก็ดี นอกจากมีอาณาจักรเล็กน้อยอย่างน้อย 3-4 อาณาจักรที่ผลัดกันเป็นใหญ่แล้ว แต่ละอาณาจักรก็มีอิทธิพลตั้งต้นจากถิ่นต่างๆ ทางใต้ของเกาหลีใต้บ้าง ทางเหนือบ้าง ภาคกลางบ้าง แต่ที่มีอิทธิพลมากและสืบทอดอำนาจยาวนานคือราชวงศ์ซิลลาและราชวงศ์โชซอน 

 

ราชวงศ์ซิลลามีพื้นฐานปรัชญาความคิดสำคัญคือพุทธศาสนา ส่วนราชวงศ์โชซอนอาศัยปรัชญาขงจื่อเป็นหลัก ที่น่าสนใจคือ เพื่อนเกาหลีอธิบายว่า การที่สถาปัตยกรรมเกาหลียุคโชซอนเรียบง่าย เพราะมีหลักคิดแบบขงจื่อ ผมไม่รู้ว่าขงจื่อในความคิดของเกาหลีเป็นอย่างไรบ้าง แต่เคยอ่านงานของผู้เชี่ยวชาญขงจื่อในเอเชีย เขียนเปรียบเทียบเกาหลี จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม แล้วพบว่า ขงจื่อในเกาหลีนั้นมีอิทธิพลมากยิ่งกว่าในจีนด้วยซ้ำ คงจะเพราะสืบเนื่องยาวนาน สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้จากสถาปัตยกรรมคือ ความเรียบง่าย และไม่ค่อยมีรูปบูชาอะไร ส่วนใหญ่เป็นเส้นสายลวดลายประดับที่เป็นรูปทรงเลขาคณิตและนามธรรม ส่วนสีสันก็มีโทนสีที่ไม่ฉูดฉาด ไม่ค่อยมีทองประดับ 

 

อย่างไรก็ดี เพื่อนเกาหลีเล่าว่า โบราณสถานหลายแห่งถูกทำลายไปด้วยน้ำมือของทหารญี่ปุ่น โบราณวัตถุจำนวนมากก็ถูกขโมยไปญี่ปุ่น ผมถามซื่อๆ ว่าทำไมญี่ปุ่นถึงต้องทำลายวัฒนธรรมเกาหลี เพื่อนเล่าว่า เพราะเขาต้องการทำให้เกาหลีกลายเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่น กลายเป็นญี่ปุ่นอย่างแท้จริง ในช่วงที่ญี่ปุ่นมาปกครองเกาหลีราว 30 ปีก่อนสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พระราชวังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ส่วนมากก็ถูกทำลายไป แล้วจึงได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ 

 

ผมถามคนเกาหลีว่า ที่เห็นนักเรียนจำนวนมากสวมชุดประจำชาติเกาหลีนั้น เป็นเพราะเขารักวัฒนธรรมเดิมหรืออย่างไร เพื่อนเกาหลีหัวเราะแล้วบอกว่า ไม่น่าจะใช่ คนรุ่นใหม่เขาไม่สนใจหรอก เขาคงแต่งตัวมาเดินเพราะครูสั่งให้ทำการบ้าน ให้แต่งตัวมาเดินในย่านพระราชวังแล้วถ่ายรูป แต่ผมก็เห็นหลายคนเหมือนเขาชอบอยู่ ถึงอย่างนั้นก็ตาม เพื่อนเกาหลียืนยันว่า คนเกาหลีไม่ได้สนใจราชวงศ์อะไรหรอก เพราะช่วงที่กษัตริย์เสียอำนาจนั้น คนเกาหลีไม่ได้มีส่วนรู้สึกถึงความเป็นประเทศ ไม่ทันได้มีการพัฒนาสำนึกว่ากษัตริย์เกาหลีกับประชาชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นมาเลย การเสียอำนาจที่สำคัญคือเสียให้ญี่ปุ่นนั้น ก็เหมือนเป็นการเสียอำนาจของกษัตริย์เองมากกว่า 

 

ผมจึงคิดว่า ความภูมิใจในโบราณสถานและวัฒนธรรมเกาหลี คือการสร้างสำนึกความเป็นเอกเทศของเกาหลี การเป็นเกาหลีที่ไม่อยู่ใต้การปกครองของคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น มากกว่าจะถึงกับเป็นการหลงใหลในประเพณีดั้งเดิมหรือประวัติศาสตร์ดั้งเดิมของเกาหลี

 

ชมภาพได้ที่ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.782899915181728.1073741843.173987589406300&type=1&l=92b62ebfe9

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา