Skip to main content

เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 

อาจารย์ภาสกรให้แนวทางมาก่อนหน่อยนึงว่า ละครดัดแปลงจากบทละครชื่อ Death and the Maiden แสดงในวาระ 40 ปี 6 ตุลา แต่เลื่อนมาแสดงเดือนนี้แทน

ดูละครจบ ผมก็ไม่รู้ว่าละคร "รื้อ" น่ะรื้ออะไรได้บ้าง แต่ผมเสนอให้แลกเปลี่ยนประเด็น 4-5 ประเด็น สำหรับหลายคนประเด็นเหล่านี้ก็คงเป็นเรื่องพื้น ๆ แหละครับ แต่ก็ขอบันทึกไว้สั้น ๆ ไว้ก็แล้วกัน แล้วจะพยายามไม่เล่าเรื่องราวของละครมากนัก
 
1. function of art ความเป็นศิลปะกับการมีบทบาทเสนอความจริง ละครหรืองานศิลปะทั่วมีข้อได้เปรียบงานวิจัยหรือตำราวิชาการหลายอย่าง นอกจากนำเสนอเรื่องอารมณ์ความรู้สึกได้ดีกว่าแล้ว ยังสามารถสื่อถึงความจริงที่วิธีการทางวิชาการสื่อไม่ได้ 
 
นอกจากนั้น ในภาวะที่การพูดความจริงถูกปิดกั้น ความจริงหลายอย่างต้องพูดผ่านศิลปะ ที่อาศัยความกำกวม แต่สื่อถึงระดับของความหมายได้หลายชั้น เปิดให้มีการคิดวิเคราะห์ ตีความ ถกเถียงได้มาก นี่ยิ่งเป็นข้อได้เปรียบของศิลปะ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมเผด็จการ และน่าจะยิ่งมีบทบาทในสังคมไทยยุคเผด็จการปัจจุบัน
 
2. art as analogy หากจะวางละครนี้ในบริบทของมัน แน่นอนว่าเป็นบริบทเฉพาะของการเมืองชิลีหลังยุคเผด็จการปิโนเช่ แต่ละครเรื่องนี้ไม่ได้สื่อถึงเรื่องนี้เฉพาะในบริบทของมันแน่นอน เพราะเมื่อนำมาวางทาบกับการเมืองเผด็จการในประเทศอื่น ๆ แล้ว ก็กลับทำให้เราเข้าใจการเมืองเผด็จการและภาวะหลังเผด็จการของที่อื่น ๆ ได้ดีเช่นกัน การนำละครเรื่องนี้มาทาบกับวาระ 40 ปี 6 ตุลาของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวจึงทำหน้าของของการละครแบบนี้ได้ดีทีเดียว
 
ผมบอกเล่าไปว่า นี่ทำให้นึกถึงอะไรหลาย ๆ อย่าง เช่น หนังสือ 1984 ของ George Orwell ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการอ่านเพื่อเข้าใจภาวะการปิดกั้นเสรีภาพของสังคมเผด็จการอย่างข้ามพื้นที่ ข้ามกาลเวลาได้เช่นกัน ดังที่ผมได้ไปพบว่า ในเวียดนามขณะนี้ก็มีการเผยแพร่ 1984 ฉบับแปลภาษาเวียดนามในความหมายเดียวกันกับที่ประเทศไทย
 
3. trauma representation ผมเคยอ่านงานศึกษาทางมานุษยวิทยา (Charred Lullabies: Chapters in an Anthropography of Violence พิมพ์ปี 1996 เขียนโดย E.V. Daniel) ที่พยายามเข้าใจผู้ประสบกับภาวะบาดแผลทางจิตใจอันเนื่องมาจากถูกกระทำรุนแรงจากวิกฤติการทางการเมือง ความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากการเป็นเหยื่อของความรุนแรงทำให้ผู้เป็นเหยื่อไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวอะไรต่าง ๆ ที่เขาประสบมาได้ ในหนังสือเล่มนั้น คนเขียนจึงอาศัยวิธีอื่นในการรับรู้เรื่องราวของเหยื่อ นั่นคือผ่านงานศิลปะ ทั้งทัศนศิลป์และเรื่องเขียน ของผู้ประสบความรุนแรง
 
ละครเรื่องนี้เป็นหนึ่งในวิธีการเล่า trauma ของคน ไม่ว่าจะเป็นคนชิลี หรือคนที่อื่น ๆ ที่ประสบภาวะการถูกกระทำรุนแรงนั้นได้อย่างดี
 
4. gender of the victim ทำไมบทละครนี้และเราจะเห็นบทละครเกี่ยวกับเหยื่อของความรุนแรงจำนวนมาก จึงเล่าถึงเหยื่อของความรุนแรงด้วยผู้หญิงและความเป็นผู้หญิง ทั้งผู้หญิงในเชิงกายภาพและในเชิงวัฒนธรรมถูกใช้เป็นสื่อแสดงความเป็นเหยื่อของความรุนแรงเสมอ บ่อยมากเสียจนทำให้ทั้งผู้หญิงและเหยื่อความรุนแรงถูกตีตรา พร้อมอาจจะเป็นการสถาปนาสัญลักษณ์หลักของการเป็นเหยื่อความรุนแรง บดบังการเข้าใจเหยื่อความรุนแรงจากมุมมองอื่น
 
ลองคิดดูว่าถ้าเหยื่อความรุนแรงเป็นคนเพศอื่น ๆ เป็นผู้ชาย เป็นคนข้ามเพศที่เป็นชาย เราคงจะเข้าใจทั้งความรุนแรงและเหยื่อความรุนแรงต่างออกไปได้บ้าง เช่น อันที่จริงเหยื่อที่เป็นสัญลักษณ์ความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลา มักจะเป็นผู้ชาย ด้วยเหตุที่พวกเขาเป็นผู้ชายด้วยหรือเปล่าที่ทำให้สังคมไทยสนใจเหยื่อและความรุนแรงในเหตุการณ์นั้นน้อยเกินไป
 
5. political context บริบททางการเมืองของละครเรื่องนี้กับการเมืองไทยก็น่าสนใจ ในบริบทดั้งเดิมของละครเรื่องนี้ เป็นยุคหลังปิโนเชลงจากอำนาจใหม่ ๆ  ปิโนเช่เป็นประธานาธบดีชิลีปี 1973-1990 ขึ้นสู่อำนาจด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา เมื่อเทียบกับไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐอเมริกาเสื่อมอำนาจลงตั้งแต่ 1975 หลังไซ่ง่อนแตก ในไทย ปี 1990 ประชาธิปไตยครึ่งใบเริ่มเสื่อมลง อีกสองปีจากนั้นเกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 (1992) 
 
เมื่อเทียบกันแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในชิลี ที่หลังปิโนเช่มีการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องกับความรุนแรง มีกระบวนการของการก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จ หรือ transitional justice ไม่ถึงกับทำได้ดีนัก แต่ก็ยังดูดีกว่าประเทศไทยมาก สิ่งที่เกิดขึ้นในชิลีเกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง เกิดขึ้นแทบจะพร้อม ๆ กับการตกต่ำลงของเผด็จการทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างในไทย ช่วงทศวรรษ 1980-1990 แต่ทำไมสถาบันทหารไทยถึงหวนกลับมามีอำนาจได้อีกในทศวรรษ 2000-2010 ข้อนี้ยังต้องศึกษากันต่อไป
 
ยังมีประเด็นที่ผู้ชมคนอื่น ๆ และผู้จัดละครเองแลกเปลี่ยนกับผู้ชมอีกมากมาย เป็นบรรยากาศการพูดคุยหลังละครที่เข้มข้น สร้างสรรค์ และได้ความรู้จากหลายกหลายมุมมองและประสบการณ์อย่างยิ่ง ผมได้เรียนรู้ ได้คิดเพิ่มเติมอีกมากมาย
 
ยังไปดูกันได้ครับ ที่สถาบันปรีดีฯ ทองหล่อ โดยคณะละครพระจันทร์เสี้ยว จะแสดงต่อวันนี้ (20 พย.) รอบบ่ายสองและสองทุ่ม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงผมก็นึกไม่ถึงว่าจะมีคนสนใจข่าวนี้กันมากนัก เรื่องอาจจะเป็นเพราะมีการใช้คำในการรายงานข่าวเบื้องต้นอย่างคลาดเคลื่อนไป ก็เลยทำให้เป็นที่น่าตกใจ แต่อีกนัยหนึ่งก็ชี้ให้เห็นปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนกระทั่งเมื่อมีการแสดงการต่อต้านด้วยการปฏิเสธที่จะอยู่ใต้อำนาจกดทับนั้น คนก็จึงตอบรับกันอย่างกระหน่ำ อย่างไรก็ดี ผมก็อยากชี้แจงให้กระจ่างเพิ่มเติมว่า ทำไมผมจึงเลือกที่จะแสดงสถานภาพในการเดินทางมาต่างประเทศของผมในครั้งนี้เพิ่มเติมผ่านข้อเขียนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพิ่งผ่านมาเพียง 5 เดือนอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะถามว่า หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้วขบวนการประชาชนจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่หากมองย้อนกลับไป แล้วมองไปข้างหน้าอีกสักหน่อย ก็น่าจะลองคิดถกเถียงกันบ้างว่า ขบวนการประชาชนน่าจะไปทางไหนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
TED รายการบรรยายสาธารณะที่มีชื่อเสียงและผมก็ติดตามเรียนรู้มาสม่ำเสมอ ได้เผยแพร่คลิปบรรยายของคีท เชน นักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอข้อถกเถียงว่า ภาษามีความเชื่อมโยงกับการออมตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ผมเพิ่งได้ยินเกี่ยวกับการศึกษานี้มาตั้งแต่ต้นภาคการศึกษานี้ในชั้นเรียนวิชามานุษยวิทยาภาษา ที่นักศึกษาคนหนึ่งเอ่ยถึงการศึกษานี้ และเพิ่งได้ดูด้วยตัวเองเมื่อ 3-4 วันก่อนนี้เอง เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยนำไปให้นักศึกษาดูและถกเถียงกันในชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การอัตวินิบาตกรรมของคุณนวมทอง ไพรวัลย์ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นัยหนึ่งถือว่าเป็นการประท้วงต่อการรัฐประหาร อีกนัยหนึ่งถือเป็นการยืนยันความจริงจังและบริสุทธิ์ใจต่ออุดมการณ์ อีกนัยหนึ่งอาจปลุกเร้าสำนึกของผู้ร่วมอุดมการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็เกรงว่าจะเป็นความสูญเสียที่สูญเปล่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแตกต่างจากการสอนหนังสือในระดับโรงเรียนก็คงจะตรงที่ว่า ผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนการสอนมาก่อน อาจจะมีการอบรมเรื่องการเรียนการสอนบ้าง มีการประเมินผลให้ผู้สอนพิจารณาปรับปรุงตนเองบ้าง มีการประเมินตนเองบ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว ผู้สอนมีส่วนสร้างระบบการเรียนการสอนด้วยตนเอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"อาร์บอรีทั่ม" (Arboretum) เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ร่วม 3 พันไร่ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สวนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่ก็อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก หากขยันเดิน สักชั่วโมงหนึ่งก็ถึง ถีบจักรยานไปก็สัก 20 นาที อาจเร็วกว่าขับรถที่ต้องเจอกับป้ายหยุด ทางแยก ไฟสัญญาณ กว่าจะถึงก็สัก 30 นาที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการมิได้มีสถานภาพพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ในสังคม เพียงแต่อาชีพนักวิชาการเป็นอาชีพที่ต้องพัฒนาความคิดความอ่านตลอดเวลา นักวิชาการจึงไม่ควรมีขอบเขตของความคิดความอ่าน พร้อมๆ กับที่ไม่ควรปิดกั้นขอบเขตของความคิดคนอื่น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กว่า 3 เดือนที่ผ่านมาผมไปชมการแสดงดนตรีไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ นึกเสียดายที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่มาเรียนไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เลย เมื่อวานนี้ (ตามเวลาที่อเมริกา) ผมก็เพิ่งออกจากห้องแสดงดนตรีมา จนทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า นี่ผมอยู่ในโลกไหนกัน แล้วทำไมที่ที่ผมอยู่เป็นปกติเขาถึงไม่ทำสถาบันการศึกษาให้เป็นสถานที่บ่มเพาะความเจริญของจิตใจได้อย่างนี้บ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดอร์ แรธสเคลเลอร์เป็นบาร์เบียร์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ตั้งอยู่ในตึกกิจกรรมนักศึกษา (ที่นี่เรียกว่า Memorial Union) ตึกกิจฯ นี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1928 โน่นเลย บาร์เบียร์แห่งนี้ก็น่าจะอายุไม่น้อยไปกว่าตึกที่มันอาศัยอยู่เท่าใดนัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเข้าร่วมกิจกรรมสังคมวิชาการซ้ำซ้อนกันหลายงาน ตั้งแต่บรรยายเรื่องการทำวิจัยในเวียดนามให้นักศึกษาบัณฑิตศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟัง ต่อด้วยปาร์ตี้ประจำปีของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหา'ลัยวิสคอนซิน ซึ่งเป็นงานแบบ potluck party และก็ฟองดูปาร์ตี้เล็กๆ ที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าขนมปังจุ่มชีสต้มเดือด ทั้งหมดนั้นได้อะไรสนุกๆ มามากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผ่านมาได้ 3 สัปดาห์ วิชาที่ผมสอนที่วิสคอนซินเริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆ ในห้องมีนักเรียน 10 คน ขนาดพอๆ กับที่เคยสอนที่ธรรมศาสตร์ แต่ที่ต่างคือในห้องเดียวกันนี้มีทั้งนักเรียนปริญญาตรี โท และเอกเรียนร่วมกัน เพียงแต่ข้อกำหนดของงานและความคาดหวังจากนักเรียนระดับ ป.ตรีกับ ป.โท-เอก ย่อมแตกต่างกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ท่านถามอย่างนี้กับสื่อมวลชน ต่อหน้าสาธารณชน ใครเขาจะกล้าตอบ ก็ในเมื่อท่านมีปืนอยู่ในมือ ใครเอาปืนจี้หัวท่านไว้แล้วท่านจะตอบความในใจที่ขัดความรู้สึกเขาได้ไหมล่ะ เรื่องแค่นี้น่าจะเข้าใจนะ