Skip to main content

จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล

ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้น เห็นได้ชัดว่าเจ้าหน้าที่รัฐจงใจบิดเบือนเพื่อปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ที่แม้มีได้เป็นการต่อต้านรัฐบาลโดยตรงก็ตาม 

ซ้ำร้าย การตั้งข้อหาอย่างบิดเบือนนั้นเองได้นำมาซึ่งกระแสทัดทาน ไม่เห็นด้วย จนกระทั่งอาจลุกลามไปสู่การต่อต้านรัฐบาลที่คุกคามเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนอย่างหนักข้อขึ้นทุกวัน แม้ในที่ประชุมทางวิชาการนานาชาติ ที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาความรู้ และย่อมเป็นผลดีทั้งกับประเทศชาติ และประชากรโลก รัฐบาลเผด็จการประยุทธ จันทร์โอชาก็ยังไม่รู้จักอดกลั้น ไม่รู้จักละเว้น ไม่เข้าใจมาตรฐานสากล ไม่รู้จักละเว้น 

จากกรณีนี้ แวดวงวิชาการทั่วโลกจึงออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลไทยยกเลิกการตั้งข้อหาว่านักวิชาการทั้ง 5 นั้นมีความผิด ที่น่าตกใจที่สุดในชีวิตทางวิชาการกว่า 20 ปีของผมคือ การที่สมาคมวิชาการทั่วโลก ทั้งทวีปยุโรป อมเริกา ออสเตรเลีย เอเชีย ต่างก็เรียกร้องไปในทิศทางเดียวกันคือให้ยกเลิกการตั้งข้อหากับทั้ง 5 นักวิชาการนั้น  

เอาแค่คร่าวๆ เช่น AAS (สมาคมเอเชียศึกษา) EUROSEAS (สมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งยุโรป) (http://www.newmandala.org/international-statement-support-…/) และล่าสุดคือ AAA (สมาคมมานุษยวิทยาอเมริกัน) ซึ่งใหญ่กว่า มีอิทธิพลข้ามพื้นที่ครอบคลุมทั่วโลกมากกว่าสองสมาคมแรกยิ่งนัก (http://www.americananthro.org/Particip…/AdvocacyDetail.aspx…) ก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องในเรื่องเดียวกัน 

ครั้งสุดท้ายที่สมาคม AAA เอ่ยถึงเรื่องอื้อฉาวในประเทศไทยน่าจะเมื่อช่วงสงครามเย็น ที่มีกรณีนักมานุษยวิทยาอเมริกันถูกกล่าวหาว่าทำงานให้รัฐบาลอเมริกันในสงครามปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์ในไทย มีการสอบสวนใหญ่โต แล้วเรื่องก็จบไป แต่ทิ้งบาดแผลไว้มากมายทั้งในวงการมานุษยวิทยาโลกและในแวดวงวิชาการไทย 

คราวนี้มาเรื่องที่เห็นชัดว่าคนในสมาคมนานาชาติต่างๆ ที่เดิมอาจจะมีสมาชิกไม่เห็นด้วยกันกับรายละเอียดเรื่องต่างๆ มาก่อน มีความขัดแย้งกันภายในมาก่อน มางานนี้ สมาคมทั้งหลายเหล่านี้ไม่มีทางจะเห็นแตกต่างกันเป็นอื่นได้แน่ๆ นี่ก็เพราะว่า ไม่มีนักวิชาการที่ไหนในโลกเขาทนนิ่งเฉยกับเรื่องการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการแบบนี้ได้ ไม่มีใครเขาจะยอมให้ทหารมาตั้งข้อหากับนักวิชาการที่เพียงแค่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของตัวเองได้ ไม่มีใครเขายอมรับได้ว่าการปกป้องสิทธิตนเองเป็นภัยต่อชาติได้  

แต่ที่ยิ่งน่าเป็นห่วงคือกระแสของนักวิชาการในประเทศไทยเองต่างหาก จนป่านนี้ยังไม่เห็นมหาวิทยาลัยลุกขึ้นมาปกป้องบุคคลากรที่ทรงคุณค่าของตนเอง จนป่านนี้ยังมีนักวิชาการไทยอีกมากที่นิ่งเฉย หรืออาจจะไ่รู้สึกรู้สาด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ใหญ่หลวงแค่ไหน 

ผมนึกเล่นๆ ว่านี่ถ้านักวิชาการไทยคนไหนลุกมายกคาถาว่า "อย่างน้อยไทยก็ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร" แล้วล่ะก็ ผมคงจะประกาศไม่คบหาทำงานกับคนคนนั้นได้จนตายเลยทีเดียว 

แต่แค่จะมีนักวิชาการคนไหนพูดอะไรทำนองที่ว่า "นั่นมันบ้านเธอ นี่มันบ้านฉัน มาตรฐานวิชาการบ้านฉันเป็นแบบนี้ อย่ามายุ่งกับฉัน นักวิชาการโลกจะมารู้อะไรดีกว่านักวิชาการไทย นักวิชาการในโลกนี้จะมาเข้าใจอะไรกับเงื่อนไขในประเทศไทย" แล้วยิ่งถ้าผมรู้ว่าเขาเรียนจบจากต่างประเทศ จากยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นมาแล้วล่ะก็ ผมคงกระอักกระอ่วนใจที่จะทำงานด้วยได้ 

หากแวดวงวิชาการไทยอยากมีมาตรฐานโลกแต่ไม่ลุกมาปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเอง หากมหาวิทยาลัยไทยมองไม่เห็นว่าการที่นักวิชการทั่วโลกเขามาแสดงออกช่วยปกป้องเสรีภาพของนักวิชาการไทยนั้น มันแสดงถึงความตกต่ำของแวดวงวิชาการมากแค่ไหนแล้ว มหาวิทยาลัยไทยเลิกดัดจริตอยากมีมาตรฐานสากลได้แล้วล่ะ เลิกส่งคนไปเรียนต่างประเทศสักทีเถอะ เลิกส่งลูกหลานพวกคุณเองไปเรียนต่างประเทศเถอะ สั่งสอนกันเองตามวัดตามวากันไปนี่แหละ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา