Skip to main content

เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้ ส่วนตัวผมเอง ระหว่างนั่งดูไป ก็หาวิธีที่จะดูละครเรื่องนี้หลายวิธีด้วยกัน วิธีแรกเลยคือ ผมดูละครเรื่องนี้แบบอ่านนิยายนักสืบแนวแฟนตาซีเพราะเรื่องราวเดินเรื่องด้วยการสืบหาตัวละครตัวหนึ่งที่หายไป วิธีการสืบหามีความแฟนตาซีที่ ทั้งตัวละครเองก็แฟนตาซี และวิธีการเข้าไปสู่เส้นทางของการค้นหาก็แฟนตาซี ลองไปดูกันแก็แล้วกันครับว่าเขาค้นหาใครกัน แล้วสุดท้ายเจอกันหรือไม่ แล้วอย่างไรต่อ 

อีกวิธีหนึ่งที่ผมใช้ดูคือ ดูว่าละครเรื่องนี้เป็นอุปมานิทัศน์ (allegory) ของอะไรที่นอกเหนือไปจากเนื้อหาตรงไปตรงมาของละคร ละครพูดเรื่องความทรงจำ ละครพูดเรื่องการค้นพบตัวตนด้านอื่นของตัวละคร ละครพูดเรื่องอัตภาวะของคนที่มักไม่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม ละครพูดเรื่องภาวะ disillusion ความตาสว่างเมื่อได้ค้นพบกับอีกด้านหนึ่งของสังคมที่ไม่ได้ถูกเล่า และนั่นชวนให้คิดไปถึงได้ทั้งเรื่องส่วนตัว สังคม และกระทั่งประวัติศาสตร์การเมืองไทย 

แต่วิธีที่ผมอ่านอีกแบบคือ อ่านจากคนอ่านนิทาน เพราะละครเรื่องนี้เขียนบทให้เป็นนิทานและมีตัวละครจากนิทานเป็นเค้าโครงเรื่องหลัก ถ้าจะเล่าคร่าวๆ โดยที่จะไม่พยายามเปิดเผยเนื้อเรื่องมากนักก็คือ ในเรื่องมีตัวละครหลักเป็นตัวละครหญิงจากนิทานสี่คนสี่เรื่อง ตัวละครเดินทางเข้าไปในโลกของเรื่องราวในอีดตของตนเองที่ตัวละครบางตัวเองก็ไม่รับรู้ หากแต่เมื่อเข้าไปรับรู้โลกนั้นแล้ว ตัวละครก็มีปฏิกิริยาต่างๆ กันไป 

นักคติชนและนักมานุษยวิทยาอ่านนิทานหลายแบบ เช่น แบบฟรอยด์ที่มุ่งหาปมขัดแย้งทางเพศ หรือแบบหนึ่งคือการแยกชิ้นส่วนของนิทานออกเป็น motif แล้วดูว่าโมทิฟต่างๆ กระจายตัวไปในภูมิภาคต่างๆ ของโลกอย่างไร อีกแบบคืออ่านหาโครงสร้างของการดำเนินเรื่องของนิทาน คนที่ประสบความสำเร็จในการอ่านวิธีหลังนี้มากที่สุดคือโคลด์ เลวี่-สโตรทส์  

เลวี่-สโตรทส์หาโครงสร้างและความขัดแย้งของตัวละครและโครงเรื่อง เขาพบว่านิทานที่มักดูไร้สาระไม่เป็นเรื่องเป็นราวไม่มีเหตุผล แท้จริงแล้วมีโครงสร้างที่ดูมีเหตุมีผลกำกับอยู่ นิทานมักจะดำเนินเรื่องไปแล้วเกิดความขัดแย้ง หากความขัดแย้งประนีประนอมได้ลงตัว นิทานก็จะดำเนินต่อไป หากไม่เกิดการประนีประนอม ซึ่งมักจะเกิดการตายลงของตัวละคร หรือเกิดเหตุบางอย่างที่แก้ปัญหาไม่ได้ นิทานก็จะจบลง 

ยังมีวิธีอ่านนิทานอีกแบบคืออ่านโดยโยงกับบริบททางประวัติศาสตร์และสังคมของนิทาน ซึ่งผมมักจะใช้อ่าน ผมจึงดูละครพร้อมอ่านนิทานด้วยวิธีที่ว่า ละครเรื่องนี้ไม่ได้แค่เอา 2 โลกของ fairy tales นั้นมาเจอกัน แต่ยังสร้างโลกใหม่ คือโลกที่ตีความ โลกที่อ่าน โลกที่ประเมินคุณค่าโลกในนิทานทั้งสองนั้นจากทัศนะของผู้ประพันธ์และผู้กำกับละครเรื่องนี้เอง มันจึงเป็นอีกโลกหนึ่ง คือโลกที่ 3 ของการอ่านนิทาน ผมจึงตั้งคำถามว่า ทำไมผู้เล่านิทานทั้งสองด้านนี้จึงตีความ จึงประเมินนิทานแบบนั้น 

นิทานที่ละครเรื่องนี้เอามาเล่าเป็นนิทานพื้นบ้านของยุโรป ส่วนใหญ่มาจากนิทานพื้นบ้านของชาวเยอรมัน เหตุใดพี่น้องกริมม์จึงเก็บนิทานเหล่านี้มาเป็นสิ่งที่คนอ่านนิทานกริมม์มักไม่ค่อยสนใจกันนัก อันที่จริงพี่น้องกริมม์ (วิลเฮล์มและเจคอบ ) ทำงานทางวิชาการด้านคติชนวิทยาและภาษาศาสตร์ ทั้งสองมีชีวิตอยู่ในปลายศตวรรษที่ 18 ถึงกลางศตวรรษที่ 19  

ระยะนั้นมีการศึกษาค้นหาความเป็นชาติเยอรมันจากชีวิตสามัญของชาวเยอรมัน ภายใต้แนวทางของแฮรเดอร์ นักปรัชญาเยอรมันที่เสนอแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมแห่งชนชาติ จนกลายมาเป็นพื้นฐานของแนวคิดชาตินิยมและเป็นพื้นฐานของสาขาวิชาสำคัญ 3 สาขาคือคติชนวิทยา ภาษาศาสตร์ และมานุษยวิทยา พูดง่ายๆ คือ คอลเล็คชั่นนิทานกริมม์เป็นพื้นฐานสำคัญของการค้นหารากเหง้าความเป็นเยอรมันจากคนสามัญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนา 

ประเด็นคือ เราจะอ่านนิทานกริมม์อย่างไร กริมม์เองใน ค.ศ. ที่ 19 อ่านจากมุมของนักคติชนและนักภาษาศาสตร์ ถือว่านิทานเป็นรากเหง้าของชาติ ไม่ว่ามันจะมีความรุนแงโหดร้าย ป่าเถื่อนในทัศนะของคน ค.ศ. ที่ 21 อย่างไร แต่คนในโลกของนิทานนั้นเองเล่า คนใน ค.ศ. 18-19 หรือก่อนหน้านั้น เขาอ่านหรือฟังนิทานเรื่องเหล่านี้กันอย่างไร คงเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก ส่วนดีสนีย์ใน ค.ศ. ที่ 20 คงอ่านนิทานที่พวกกริมม์เก็บมาอีกแบบแล้วคิดว่า เล่าเรื่องแบบนี้ไปขายคนอเมริกันที่ฝันเผื่อนอยู่ในชีวิตที่ "ดีงาม" (เฉพาะแต่ในสหรัฐฯ เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) เขาจึงดัดแปลงนิทานเหล่านั้นให้เข้ากับบริบทอเมริกันดรีม  

แล้วคนปัจจุบันอ่านนิทานทั้งสองเวอร์ชั่นนั้นอย่างไร เท่าที่ผมเห็น วิธีอ่านนิทานกริมม์ของละครเรื่องนี้เป็นวิธีอ่านที่ "ปัจจุบัน" จากมุมมอง "สตรีนิยม (สายหนึ่ง)" เป็นการตัดสินนิทาน บทบาทในนิทาน ตัวละครในนิทาน กระทั่งการตีความของตัวละคร "ในละครเรื่องนี้" เองไปสักนิด  

อย่างเช่น การที่ตัวละครบางตัวตกตะลึงเมื่อพบว่าเรื่องดั้งเดิมของเธอนั้น ไม่ได้จบลงอย่างสวยงาม อีกตัวละครจำต้องจมปลักอยู่กับอดีตอันมืดมนของตนเองจนไม่สามรถกลับไปมีชีวิตในโลกนิทานแสนหวานของเธออีกต่อไปได้ อีกตัวละครเลือกเข้าใจอดีต "อันโหดร้าย" ของเธอแล้วอยู่อย่างตระหนักถึงความจริงพร้อมๆ กับโลกเสมือนแสนหวาน อีกตัวละครลังเลที่จะอยากหรือไม่อยากรู้จักตัวเอง 

ละครเรื่องนี้จึงนำเอาโลกของนิทาน 2 โลก คือโลกของนิทานที่สดใสงดงามจบลงอย่างชื่นมื่น มาปะทะกับโลกของนิทานที่ไม่ได้สวยงามและมักจะจบลงอย่างโหดร้าย พูดง่ายๆ คือ เอานิทาน fairy tales ในเวอร์ชั่นของวอลดีสนีย์ที่คนสมัยนี้คุ้นเคยกันไปทั่วโลก มาวางตัดกับนิทานเรื่องเดียวกันในเวอร์ชั่นเก่าแก่ของพี่น้องกริมม์ เวอร์ชั่นของดีสนีย์ที่จบอย่างแฮปปี้เอ็นดิ้งเสมอ เมื่อมาเจอกับเวอร์ชั่นเก่าที่มีเพียงเค้าโครงบางอย่างของตัวละครเท่านั้นที่ใกล้เคียงกัน แต่บทบาทและเนื้อหาของเรื่องราวที่ดำเนินไปต่างกันลิบลับ 

แต่ไม่เท่านั้น ผู้เล่านิทานสองเวอร์ชั่นนั้นเองก็ยังนำเสนอการตีความ การประเมินคุณค่านิทานทั้งสองเวอร์ชั่นนั้นแทรกเข้าไปด้วย จนทำให้นิทานทั้ง 4 เรื่องที่ผสมกันออกมาเป็นละครเรื่องนี้เชื่อมโยงไปสู่ระบบคุณค่าใหม่ๆ ของสังคมในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งยังทำให้นิทานทั้ง 2 เวรอ์ชั่นนั้นเป็นอุปมาอุปมัยเล่าเรื่อง เล่าประเด็นอื่นๆ ที่คนในโลกปัจจุบันสนใจ  

จะชอบมุมมองเหล่านั้นของคนทำละครและผู้แสดงหรือไม่ก็ตาม ผมก็ยังคิดว่าละครเรื่องนี้เสนอการอ่านและเล่านิทานอย่างสร้างสรรค์ไปอีกแบบหนึ่ง และท้าทายให้คนดูคิดต่อได้อีกมากทีเดียว 

ละครยังเล่นอีก 2 รอบสุดท้ายในวันนี้ (1 ตุลาคม 2560) ไปสนับสนุนกันได้นะครับที่ Democracy Theatre ถนนพระราม 4

#TheDarkFairyTales #นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา