Skip to main content

ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 

กรณีทุบรถ คนทุบมีฐานะดี มีอำนาจต่อรองสูง ทำลายของส่วนบุคคล ละเมิดของส่วนตัว ไม่ได้ตั้งใจประท้วงปัญหานโยบายแต่แรก โทสะส่วนบุคคล ส่วนการขยายไปเป็นเรื่องสาธารณะนั้น ไม่แน่ใจว่าคนทุบรถคิดไว้แต่แรกหรือเปล่า หรือเพราะสื่อมวลชนและสังคมขยายประเด็นกันไปเอง 

ที่น่าแปลกใจก็คือ คนทุบรถกลายเป็นผู้มีส่วนเปิดโปงปัญหาของการบริหารราชการไป ทั้งๆ ที่อันที่จริงเป็นการละเมิดผู้อื่นที่มากีดขวางทางตน ไม่ได้ตั้งใจประท้วงความผิดผลาดเชิงนโยบายหรือการบริหารอะไรเลย  

กรณีทุบลิฟ คนทุบเป็น "คนพิการ"* อำนาจต่อรองน้อย ทำลายของสาธารณะ ตั้งใจทำเพื่อประท้วงปัญหาการบริหารและนโยบาย อาจมีโทสะส่วนตัว แต่การบันดาลโทสะในที่นี้ถือเป็นตัวแทนปัญหาส่วนรวมที่กว้างใหญ่กว่ากรณีทุบรถมาก อาจไม่ได้คิดวางแผนแต่แรกเช่นกัน แต่เป็นไปได้ว่าจะคิดทำให้เป็นประเด็นสาธารณะด้วยวิธีใดมานานแล้ว เพราะประสบปัญหานี้ด้วยตนเองมานานแล้ว 

แต่ผมกำลังคิดว่า กรณีนี้จะไม่ได้รับความสนใจมากเท่ากรณีแรก ส่วนหนึ่งเพราะสังคมไทยสนใจคนพิการน้อยอยู่แล้ว มีคนเคารพที่จอดรถที่มีสัญลักษณ์รถเข็นมากน้อยแค่ไหน กฎหมายมีบทลงโทษการจอดรถในที่คนพิการจริงจังแค่ไหน มีบัตรสำหรับคนพิการใช้แสดงสิทธิพิเศษในการจอดที่แบบนั้นไหม เพราะคนพิการบางคนไม่ได้ต้องนั่งรถเข็นเสมอไป แต่เขาสัญจรลำบากไม่น้อยกว่าคนใช้รถเข็น 

เห็นได้ชัดว่าสังคมไทยหมักหมมปัญหานี้ไว้ ไม่ถือว่าคนเหล่านี้เป็นคนเท่ากับคนที่เดินเหินสบาย สังคมไทยไม่เอาใจใส่กับสิทธิการสัญจรไปมาของพวกเขา ไม่ต้องอะไรมาก ไปดูกระทรวงสาธารณสุขสิครับ ดูสิว่ารถวีลแชร์คันไหนจะวิ่งบนทางเท้าในกระทรวงนี้ได้บ้าง ลำพังแค่คนจะเดินบนทางเท้าในกระทรวงนี้ยังลำบากเลย นี่ขนาดกระทรวงที่ตามหน้าที่ต้องดูแลสุขภาวะของคนนะครับ 

ฉะนั้น กรณีทุบรถมีพื้นฐานมาจากความขัดแย้งส่วนตัว ที่มีปัญหาเชิงนโยบายและการบริหารเป็นโครงสร้างอีกชั้น คนทุบไม่ได้ทุบไปที่ตัวปัญหาใหญ่ ส่วนกรณีทุบลิฟมีพื้นฐานจากความขัดแย้งระหว่างสังคม แสดงออกผ่านคนพิการ กับปัญหาเชิงนโยบายและการบริหารของรัฐและบริษัทสัมปทานจากรัฐ เป็นการทุบไปที่ปัญหาใหญ่ 

กรณีทั้งสองชวนให้นึกถึง civil disobedience แล้วนึกเทียบว่าบางกรณีอาจเป็น uncivil disobedience การประท้วงสังคม ประท้วงรัฐ ผ่านการสื่อสารด้วยวิธีรุนแรง ส่วนหนึ่งเป็นการทำผิดเพื่อให้สังคมรับรู้ปัญหา  

การที่คนในสังคมต้องใช้วิธีรุนแรงตัดสินปัญหาความขัดแย้ง ไม่ว่าจะระหว่างบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับรัฐหรือบริการสาธารณะ ย่อมชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของสถาบันการจัดการความขัดแย้ง ซึ่งก็คือกระบวนการยุติธรรมหรือองค์กรกลางที่ทำงานอย่างที่ควรทำ ถ้าสถาบันเหล่านั้นทำงานอย่างแข็งขัน จริงจัง อย่างเสมอหน้ากัน อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล คนที่ลงไม้ลงมือกันเองก็คงไม่เกิดบ่อยนักขนาดนี้ 

แต่ในสังคมที่สถาบันจัดการความขัดแย้งไม่ทำงานดี หรือไม่มีเอาเสียเลย การประท้วงรุนแรง การจัดการปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีรุนแรงของประชาชนด้วยกันเอง การปะทะกัน ก็จะเกิดขึ้นอีกต่อไปเรื่อยๆ เพราะประชาชนไม่ไม่ที่พึ่งที่ดีกว่าการลงมือลงไม้กันนั่นเอง

*หมายเหตุ: มีผู้อยู่ในแวดวงนักต่อสู้เพื่อคนพิการท้วงติงว่า คำว่า “คนทุพลภาพ” ไม่เหมาะสม ขอเปลี่ยนคำเป็น "คนพิการ" ตามข้อท้วงติงครับ ภาษาอังกฤษปัจจุบันก็พยายามเลี่ยงคำว่า disable ไปใช้คำว่า physically challenged แทน อาจแปลว่า “ผู้ประสบความท้าทายทางกายภาพ”

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
  ขอบอกว่า วันนี้นอยกับบูราวอย (Michael Burawoy) พอสมควร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมติดตามละคร "แรงเงา" อย่างใกล้ชิด...จากที่เพื่อนๆ เล่ากันน่ะ ไม่ได้ดูเองหรอก (เพราะไม่มีทีวีดู ไม่ชอบดูทีวี และไม่ดูทีวีมาหลายปีแล้ว) แต่ก็เกิดสงสัยว่า "ทำไมไอ้ผอ.มันโง่งี้(วะ)" ถ้าจะตอบว่า "ผู้ชายหล่อก็เหมือนผู้หญิงสวยนั่นแหละ มันโง่" ก็คงจะดูโง่ไปหน่อย ก็เลยลองคิดต่อดูว่า หนึ่ง ที่จริงไม่ได้มีแต่ ผอ.ในละครแรงเงาโง่อยู่คนเดียวหรอก พระเอกละครไทยกี่เรื่องต่อกี่เรื่อง มันก็โง่แบบนี้กันทั้งนั้นแหละ ส่วนใหญ่เลยนะผมว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดเทอมนี้อดพานักอ่านตัวยงคนหนึ่งที่บ้านไปงานสัปดาห์หนังสือ เพราะเธอขาแพลง เจ็บถึงขั้นเข้าเฝือกและใช้ไม้เท้าเดิน เธอบอก "เอาไว้มีงานอีกครั้งลุงต้องพาหนูไปนะ" วันนี้ก็เลยขอเขียนอวยนักเขียนสักหน่อย (คนเราไม่ต้องคอยหาทางวิจารณ์ข้อด้อยคนอื่นกันทุกเมื่อเชื่อวันก็คงสามารถจรรโลงสังคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผ่านมาสี่วัน ถ้าจะให้บอกว่าประทับใจอะไรกับปราสาทหินบ้าง คงยากที่จะบอก เพราะวิ่งผ่านหินก้อนต่างๆ มากมายเสียจนไม่ทันได้หยุดคิดกับอะไรต่างๆ ดีที่ได้นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักมานุษยวิทยามากมายมาให้ความรู้ข้างๆ หูเวลาท่านถกเถียงกัน จึงพอจะเก็บเกี่ยวเชื่อมโยงอะไรมาได้บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร