Skip to main content

ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม

ผมไม่มีปัญหากับการที่จะถ่ายรูปแต่งตัวแบบไหนหรือไม่แต่งมากมาย เพื่อถ่ายรูปคัทเอาต์ เพราะผมเข้าใจดีว่าการทำประชาสัมพันธ์ต้องการอะไร แล้วผ่านการคิดมาบ้างพอสมควร และถึงจะเรื่องโป๊จะเปลือยอย่างไร ก็แล้วแต่วัตถุประสงค์ อย่างที่กลุ่มนักศึกษาซึ่งเคยประท้วงเรื่องชุดนักศึกษา ก็เคยทำคัทเอาต์แรงๆ มาแล้ว ซึ่งผมก็เคยเห็นด้วยกับพวกเขาในตอนนั้น
 
แต่ผมว่า คำถามที่คนถกเถียงกันเรื่องคัทเอาต์ชุดนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความสงสัยที่มีต่อกิจกรรมการเชียร์ของนักศึกษาด้วย จะเชียร์กันไปเพื่ออะไร เชียร์ลีดเดอร์มีไว้ทำไมกันแน่
 
ผมไม่แน่ใจว่าการแสดงออกด้วยการส่งเสียงดังๆ การฝึกซ้อมอย่างหนัก จนเรียกว่าหนักเกินกว่าที่อดีตเชียร์ลีดเดอร์มหาวิทยาลัยใกล้ตัวผมจะเข้าใจได้ (คือเธอยืนยันว่า สมัยเธอไม่ได้หนักหนาขนาดนี้) แล้วล่ะก็ ผมก็ไม่รู้ว่ากิจกรรมนี้จะทำไปเพื่ออะไรกันแน่
 
ข้อดีส่วนหนึ่งการเชียร์คงช่วยให้นักศึกษาจะได้ทำกิจกรรมร่วมกัน จะได้ฝึกใช้ชีวิตร่วมกัน ฝึกทักษะทางสังคมต่างๆ ทำความเข้าใจการทำงานร่วมกัน รวมทั้งฝึกการเป็นผู้นำของสังคม ที่อาจเริ่มจากระเบียบความพร้อมเพรียง แต่สำหรับผม นั่นก็เป็นการร่วมสังคมและการมีภาวะผู้นำที่อยู่ในระดับหยาบเสียเหลือเกิน ไม่ต่างกับกิจกรรมวิ่งและทำอะไรให้ตรงตามจังหวะง่ายๆ แบบทหาร
 
แต่หลายต่อหลายครั้ง กิจกรรมนี้กลายเป็นกิจกรรมที่อยู่เหนือการเรียนการสอน จนเหมือนกับว่า พวกเขาเข้ามาเพื่อมีสังคมเป็นหลัก มากกว่าที่จะเข้ามาเพื่อศึษาหาความรู้ หรือมหาวิทยาลัยเดี๋ยวนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อให้ความรู้อีกแล้วจริงๆ นั่นแหละ
 
ผมเคยตักเตือนนักศึกษาคนหนึ่งที่มาขอลาเรียนเพื่อไปร่วมกิจกรรมเชียร์ในห้องเรียนกว่าร้อยคนด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่า "คุณเสียเงินแพงๆ มาเรียนโครงการพิเศษภาษาอังกฤษที่ได้สิทธิพิเศษคือการได้เรียนในกรุงเทพฯ ก็เพื่อไปร่วมกิจกรรมเชียร์อย่างนั้นหรือ คุณแน่ใจหรือว่าพ่อแม่ผู้ปกครองคุณที่เสียเงินให้คุณมาเรียนเขาเข้าใจสิ่งที่คุณเลือกจะทำ" ในที่สุดนักศึกษาคนนั้นก็ตัดสินใจนั่งเรียนต่อ อาจจะเพราะอับอายเพื่อนหรือสำนึกได้ก็ไม่ทราบ
 
ปัจจุบันกิจกรรมการเชียร์กลายเป็นกิจกรรมสำคัญและเบียดเบียนการใช้พื้นที่ว่างและพื้นที่เงียบสงบในมหาวิทยาลัยอย่างยิ่ง สมัยก่อนที่ท่าพระจันทร์ โรงอาหารริมน้ำ (เรียกกันว่าโรงอาหารเศรษฐ) เป็นที่พบปะกันของพวกเด็กเนิร์ดที่จะมานั่งถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิด เป็นที่สุมหัวของพวกชอบอ่านชอบเขียน เป็นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องห้องเรียน อาจารย์คนไหน ฯลฯ
 
แต่ปัจจุบัน ตรงไหนว่าง ไม่ว่าจะเวลาไหน ก็จะกลายเป็นที่ฝึกซ้อมการเป็นเชียร์ลีดเดอร์อย่างไม่เว้นเวลา หรือเพราะพื้นที่ถกเถียงย้ายไปอยู่ในพื้นที่ออนไลน์หมดแล้ว หรือเพราะไม่มีใครสนใจกิจกรรมทางปัญญากันแล้ว
 
ในหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงของความขัดแย้งทางการเมืองและการปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษาใน 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ ผมนับถือกิจกรรมการเชียร์ในงานบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ที่กล้าแสดงออก กล้ายืนหยัดที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก และกล้าแม้จะต้องฝ่าฝืนการใช้อำนาจป่าเถื่อนของทหาร
 
งานบอลฯ หลายปีที่ผ่านมาจึงทำให้ผมรู้สึกว่า ผมเองก็ต้องทบทวนความเข้าใจของตนเองเสียใหม่ เพราะเดิมที เมื่อเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ ผมไม่เคยเข้าร่วมงานบอลฯ และการเชียร์ เพราะผมเข้าใจว่า งานบอลฯ และการเชียร์แบบที่ทำกันนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของโซตัส และเป็นระบบที่สืบทอดความเป็นสถาบันนิยมและระบบชนชั้นทางการศึกษา
 
แต่เมื่อเดี๋ยวนี้การเชียร์กลับมาเน้นการแสดงออกที่เรือนร่างแบบในคัทเอาต์ที่กำลังถกเถียงกัน และกิจกรรมการเชียร์โดยทั่วๆ ไปก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการแสดงออกทางความคิดในฐานะปัญญาชนผู้มีเสรีภาพทางความคิด และมีความกล้าหาญที่จะแสดงออกแม้จะถูกกดทับปิดกั้น ผมก็ชักจะกลับมาไม่แน่ใจว่า ตกลงนักศึกษาธรรมศาสตร์คิดว่าการเชียร์และการมีเชียร์ลีดเดอร์ มีไปเพื่ออะไรกันแน่
 
มากไปกว่านั้น ผมก็ชักสงสัยว่า การเอาจริงเอาจังกับการเชียร์มากจนล้นพ้นนั้น ไปด้วยกันได้กับการพัฒนาการศึกษาหรือไม่ หรือมหาวิทยาลัยมีไว้เพื่อมาฝึกความพร้อมเพรียง ฝึกการยิ้มต่อหน้าคนนับพัน และฝึกการแสดงออกทางเรือนร่างของนักศึกษาบางคน มากกว่าจะมาสร้างการถกเถียงความคิด มาสร้างความรู้ มาพัฒนาการศึกษา กันแน่

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย วันที่ 23 เมษายน 2557
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากอำมาตย์ชนะ...โลกวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การบอกเล่าเรื่องราวของ "คนอื่น" ที่ต่างจากเรามากๆ ให้ "พวกเรา" อ่าน อย่างมากก็ทำได้แค่ บอกเล่าผ่านถ้อยคำ ผ่านประสบการณ์ที่ "พวกเรา" ต่างคุ้นเคยกันดี พูดอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องคนอื่นคือ "การแปล" หรือ "การแปร" เรื่องที่แตกต่างให้คุ้นเคย เป็นการดัดแปลงของคนอื่นให้เราเข้าใจในภาษา ในสัญญะแบบที่พวกเราเองรับรู้อยู่ก่อนแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดท้ายชั้นเรียนวิชา "มานุษยวิทยาอาหาร" กับนักเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกเมื่อสองวันก่อนด้วยมื้อการไปกินอาหารไทยพื้นๆ แสนอร่อยราคาประหยัดที่แพร่งภูธร พระนคร ตลอดภาคการศึกษา พวกเราพยายามเข้าใจอาหารผ่านหลายๆ คำถาม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (13 กพ. 57) ไปเยี่ยมชม Kyoto Museum for World Peace ตามคำบอกเล่าของหลายๆ คน และตามความประสงค์ของผู้ร่วมเดินทาง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชวนให้คิด มีถ้อยคำหลอกหลอนมากมาย มีภาพความรุนแรง มีบทเรียนที่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ มีการเห็นคนไม่เป็นคน และสุดท้ายสะท้อนใจถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย