Skip to main content

ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม

ผมไม่มีปัญหากับการที่จะถ่ายรูปแต่งตัวแบบไหนหรือไม่แต่งมากมาย เพื่อถ่ายรูปคัทเอาต์ เพราะผมเข้าใจดีว่าการทำประชาสัมพันธ์ต้องการอะไร แล้วผ่านการคิดมาบ้างพอสมควร และถึงจะเรื่องโป๊จะเปลือยอย่างไร ก็แล้วแต่วัตถุประสงค์ อย่างที่กลุ่มนักศึกษาซึ่งเคยประท้วงเรื่องชุดนักศึกษา ก็เคยทำคัทเอาต์แรงๆ มาแล้ว ซึ่งผมก็เคยเห็นด้วยกับพวกเขาในตอนนั้น
 
แต่ผมว่า คำถามที่คนถกเถียงกันเรื่องคัทเอาต์ชุดนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความสงสัยที่มีต่อกิจกรรมการเชียร์ของนักศึกษาด้วย จะเชียร์กันไปเพื่ออะไร เชียร์ลีดเดอร์มีไว้ทำไมกันแน่
 
ผมไม่แน่ใจว่าการแสดงออกด้วยการส่งเสียงดังๆ การฝึกซ้อมอย่างหนัก จนเรียกว่าหนักเกินกว่าที่อดีตเชียร์ลีดเดอร์มหาวิทยาลัยใกล้ตัวผมจะเข้าใจได้ (คือเธอยืนยันว่า สมัยเธอไม่ได้หนักหนาขนาดนี้) แล้วล่ะก็ ผมก็ไม่รู้ว่ากิจกรรมนี้จะทำไปเพื่ออะไรกันแน่
 
ข้อดีส่วนหนึ่งการเชียร์คงช่วยให้นักศึกษาจะได้ทำกิจกรรมร่วมกัน จะได้ฝึกใช้ชีวิตร่วมกัน ฝึกทักษะทางสังคมต่างๆ ทำความเข้าใจการทำงานร่วมกัน รวมทั้งฝึกการเป็นผู้นำของสังคม ที่อาจเริ่มจากระเบียบความพร้อมเพรียง แต่สำหรับผม นั่นก็เป็นการร่วมสังคมและการมีภาวะผู้นำที่อยู่ในระดับหยาบเสียเหลือเกิน ไม่ต่างกับกิจกรรมวิ่งและทำอะไรให้ตรงตามจังหวะง่ายๆ แบบทหาร
 
แต่หลายต่อหลายครั้ง กิจกรรมนี้กลายเป็นกิจกรรมที่อยู่เหนือการเรียนการสอน จนเหมือนกับว่า พวกเขาเข้ามาเพื่อมีสังคมเป็นหลัก มากกว่าที่จะเข้ามาเพื่อศึษาหาความรู้ หรือมหาวิทยาลัยเดี๋ยวนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อให้ความรู้อีกแล้วจริงๆ นั่นแหละ
 
ผมเคยตักเตือนนักศึกษาคนหนึ่งที่มาขอลาเรียนเพื่อไปร่วมกิจกรรมเชียร์ในห้องเรียนกว่าร้อยคนด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่า "คุณเสียเงินแพงๆ มาเรียนโครงการพิเศษภาษาอังกฤษที่ได้สิทธิพิเศษคือการได้เรียนในกรุงเทพฯ ก็เพื่อไปร่วมกิจกรรมเชียร์อย่างนั้นหรือ คุณแน่ใจหรือว่าพ่อแม่ผู้ปกครองคุณที่เสียเงินให้คุณมาเรียนเขาเข้าใจสิ่งที่คุณเลือกจะทำ" ในที่สุดนักศึกษาคนนั้นก็ตัดสินใจนั่งเรียนต่อ อาจจะเพราะอับอายเพื่อนหรือสำนึกได้ก็ไม่ทราบ
 
ปัจจุบันกิจกรรมการเชียร์กลายเป็นกิจกรรมสำคัญและเบียดเบียนการใช้พื้นที่ว่างและพื้นที่เงียบสงบในมหาวิทยาลัยอย่างยิ่ง สมัยก่อนที่ท่าพระจันทร์ โรงอาหารริมน้ำ (เรียกกันว่าโรงอาหารเศรษฐ) เป็นที่พบปะกันของพวกเด็กเนิร์ดที่จะมานั่งถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิด เป็นที่สุมหัวของพวกชอบอ่านชอบเขียน เป็นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องห้องเรียน อาจารย์คนไหน ฯลฯ
 
แต่ปัจจุบัน ตรงไหนว่าง ไม่ว่าจะเวลาไหน ก็จะกลายเป็นที่ฝึกซ้อมการเป็นเชียร์ลีดเดอร์อย่างไม่เว้นเวลา หรือเพราะพื้นที่ถกเถียงย้ายไปอยู่ในพื้นที่ออนไลน์หมดแล้ว หรือเพราะไม่มีใครสนใจกิจกรรมทางปัญญากันแล้ว
 
ในหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงของความขัดแย้งทางการเมืองและการปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษาใน 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ ผมนับถือกิจกรรมการเชียร์ในงานบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ที่กล้าแสดงออก กล้ายืนหยัดที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก และกล้าแม้จะต้องฝ่าฝืนการใช้อำนาจป่าเถื่อนของทหาร
 
งานบอลฯ หลายปีที่ผ่านมาจึงทำให้ผมรู้สึกว่า ผมเองก็ต้องทบทวนความเข้าใจของตนเองเสียใหม่ เพราะเดิมที เมื่อเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ ผมไม่เคยเข้าร่วมงานบอลฯ และการเชียร์ เพราะผมเข้าใจว่า งานบอลฯ และการเชียร์แบบที่ทำกันนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของโซตัส และเป็นระบบที่สืบทอดความเป็นสถาบันนิยมและระบบชนชั้นทางการศึกษา
 
แต่เมื่อเดี๋ยวนี้การเชียร์กลับมาเน้นการแสดงออกที่เรือนร่างแบบในคัทเอาต์ที่กำลังถกเถียงกัน และกิจกรรมการเชียร์โดยทั่วๆ ไปก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการแสดงออกทางความคิดในฐานะปัญญาชนผู้มีเสรีภาพทางความคิด และมีความกล้าหาญที่จะแสดงออกแม้จะถูกกดทับปิดกั้น ผมก็ชักจะกลับมาไม่แน่ใจว่า ตกลงนักศึกษาธรรมศาสตร์คิดว่าการเชียร์และการมีเชียร์ลีดเดอร์ มีไปเพื่ออะไรกันแน่
 
มากไปกว่านั้น ผมก็ชักสงสัยว่า การเอาจริงเอาจังกับการเชียร์มากจนล้นพ้นนั้น ไปด้วยกันได้กับการพัฒนาการศึกษาหรือไม่ หรือมหาวิทยาลัยมีไว้เพื่อมาฝึกความพร้อมเพรียง ฝึกการยิ้มต่อหน้าคนนับพัน และฝึกการแสดงออกทางเรือนร่างของนักศึกษาบางคน มากกว่าจะมาสร้างการถกเถียงความคิด มาสร้างความรู้ มาพัฒนาการศึกษา กันแน่

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา