Skip to main content

มีเพื่อนขอให้ผมช่วยแนะนำร้านอาหารในฮานอยให้ แต่เห็นว่าเขาจะไปช่วงสั้นๆ ก็เลยแนะนำไปไม่กี่แห่ง ส่วนร้านเฝอ ขอแยกแนะนำต่างหาก เพราะร้านอร่อยๆ มีมากมาย เอาเฉพาะที่ผมคุ้นๆ แค่ 2-3 วันน่ะก็เสียเวลาตระเวนกินจนไม่ต้องไปกินอย่างอื่นแล้ว

เอาจริงๆ ถ้าจะเขียนเรื่อง phở หรือเฝอ (เขียนเป็นไทยว่า เฝ่อ จะได้เสียงใกล้เสียงฮานอยที่ผมคุ้นมากกว่า แต่คนไทยคุ้นที่จะออกเสียงว่าเฝอ ก็เฝอไปก็แล้วกันครับ) ผมเขียนได้ยาวเลยล่ะครับ  

 

เอาสั้นๆ คือเฝ่อ “ไม่เท่ากับ” ก๋วยเตี๋ยว เพราะสำหรับคนไทย ก๋วยเตี๋ยวหมายถึงอาหารเส้นประเภทต่างๆ แต่เฝอเป็นเพียงก๋วยเตี๋ยวชนิดเดียว จะว่าไป ภาษาเวียดนามก็ไม่มีคำที่รวบรวมอาหารเส้นทั้งหมดด้วยชื่อเดียวกันแบบที่คนไทยใช้คำว่าก๋วยเตี๋ยวหรอกครับ อาหารเส้นแต่ละอย่างก็จะมีชื่อแตกต่างกันไปตามชื่อชนิดเส้นและเครื่องปรุงหลักของมัน  

 

เฝอภาคเหนือ โดยเฉพาะที่ฮานอย มีลักษณะเฉพาะตั้งแต่เส้นสดนุ่ม น้ำซุปใสแต่รสชาติเข้มข้น เฝอเนื้อมีกลิ่นเครื่องเทศเข้มกว่าเฝอไก่ ผักโรยมีแต่ต้นหอม ผักชี อาจมีหัวหอมบ้าง เฝอไก่เพิ่มใบมะนาวซอยนิดหน่อย

 

ช่วงวันหยุดปีใหม่นี้ หากใครไปฮานอย ผมมีร้านเฝอในฮานอยที่อยากแนะนำอยู่จำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่มีแต่เฝอเนื้อวัว สำหรับโลเกชั่น ให้เอาชื่อถนนใส่กูเกิ้ลแมผส์ดูก็จะเจอแล้วล่ะครับ เดินหานิดหน่อยคงไม่เป็นไร ถนนในย่านเมืองเก่าฮานอยระยะทางสั้นๆ ครับ

 

ร้านแรก เป็นร้านที่ผมกินมานานเกินสิบปี คือร้านที่ผมไม่เคยรู้จักชื่อ รู้แต่ว่าอยู่ตรงมุมถนนบ้าดด่าน (Bát Đàn) ตัดกับถนนห่างเดี๋ยว (Hàng Điếu) ร้านจะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับศาลเจ้าเล็กๆ แห่งหนึ่ง ผมรู้จักร้านนี้จากเพื่อนคนหนึ่ง ที่บ้านอยู่บานเมืองฮานอย แต่เขาก็ยืนยันว่า เมื่อไหร่ที่มีโอกาส เขาก็จะดั้นด้นมากินที่นี่  

 

ผมเองไปกินทีไรก็ยังเจอคนขายหน้าเดิม ร้านนี้อร่อยทั้งเฝอเนื้อและเฝอไก่ ที่พิเศษอีกอย่างคือ ร้านนี้มีเฝ่อซ่าว (phở xào) หรือเฝอผัด ที่ขายดีมากเป็นที่นิยมมากมานานนับสิบปีแล้วเช่นกัน แต่ถึงอย่างไร ผมก็แนะนำว่า ควรหาโอกาสเวียนไปลองทั้งเฝอน้ำและเฝอผัดครับ

 

ร้านที่สอง ชื่อ Phở Thìn เป็นร้านดังเก่าแก่อยู่เลขที่ 13 ถนนหล่อดุ๊ก (Lò Đúc) ปกติคนจะเรียกว่าร้านเฝอหล่อดุ๊ก ผมรู้จักร้านนี้จากเพื่อนกินชาวฮานอยคนหนึ่ง เพื่อนคนนี้เดิมทีที่ทำงานเขาอยู่ใกล้ร้านนี้ เขาเองเป็นคนเวียดนามที่ปกติไม่ค่อยกินเนื้อ แต่บอกว่า หากเขาจะกินเฝอหรือจะแนะนำใคร ก็จะพามาร้านนี้ ร้านนี้มีร้านรวงชัดเจน ไม่ใช่ร้านริมถนนแบบร้านแรก ราคาสูงกว่าร้านแรกเพราะเฝอชามใหญ่กว่า ใส่เนื้อมากกว่า  

 

ร้านนี้เท่าที่จำได้จะมีแต่เฝอเนื้อวัว ทั้งเนื้อสด (tái) และเนื้อสุก (chín) “เนื้อสุก” ที่ว่านี่ เขาต้มนานพอสมควร แต่ไม่ถึงกับเปื่อย เขาจะต้มทั้งชิ้นใหญ่ๆ แล้วแขวนไว้ เวลาจะเสิร์ฟเขาจึงจะหั่น ด้านในของเนื้อจึงไม่แห้งเกินไป  

 

ร้านต่อมา ผมไม่เคยรู้ชื่อร้านเหมือนกัน เป็รเฝอร้านใหม่ที่มาแรงมากในย่านเมืองเก่าฮานอย ตั้งอยู่บนถนนเอิ๋วเฉี่ยว (Ấu Triệu) ผมรู้จักร้านนี้จากที่เคยไปพักโรงแรมบนถนนนี้โรงแรมหนึ่ง ปกติร้านนี้จะปิดเร็ว เปิดแต่เช้าตรู่ราว 6 โมงเช้า พอสัก 11 โมงเช้าก็หมดแล้ว วันนั้นผมจำเป็นต้องหาอะไรรองท้องแต่เช้า ก็เลยได้ชิม แล้วก็เข้าใจทันทีว่าทำไมคนจึงมากินกันมากนักและทำไมจึงหมดเร็ว

 

เฝอร้านนี้เขาอร่อยที่น้ำซุปจริงๆ น้ำต้มกระดูกวัวที่ต้มไว้ทั้งวัน เพื่อขายเฉพาะไม่กี่ชั่วโมงก่อนเที่ยง มีความหนักแน่นในรสชาติทว่าสีสันใสสะอาดมาก เนื้อวัวร้านนี้มักเสิร์ฟแบบ tái คือซอยบางๆ วางดิบๆ ลงมาในจาน เมื่อเราจะกิน พอได้น้ำซุปร้อนๆ ที่ต้มไว้นับสิบชั่วโมงเข้าไป เนื้อก็จะสุกพอดี พร้อมชะรสและความฉ่ำของเนื้อลงไปในชามนั้นเอง

 

เฝออีกร้านหนึ่งที่เจอโดยบังเอิญแต่รสชาติตราตรึงมากคือเฝอในร้านอาหารทะเล ชื่อ Đại Hải อยู่เลขที่ 25 ถนนตงด่าน (Tông Đàn) ใกล้ๆ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ร้านนี้แปลกตรงที่เป็นร้านอาหารขนาดค่อนข้างใหญ่ มีอาหารหลายชนิด ชื่อร้านก็สื่อถึงความเชี่ยวชาญอาหารทะเล แต่แปลกที่กลับมีเฝอเนื้อที่อร่อยมากอยู่ ร้านนี้รู้สึกจะมีเฝอไก่ด้วย แต่ผมไม่เคยลอง ลองแต่เฝอเนื้อ

 

ร้านนี้กลิ่นเครื่องเทศค่อนข้างชัดสักนิด แต่ไม่ได้มากจนกระทั่งกลบเกลื่อนรสเนื้อในน้ำซุปเฃย หลายคนที่มาชิมที่นี่เอ่ยปากว่า น้ำซุปเนื้อแบบนี้หายากมากในบ้านเรา ด้วยความที่เป็นร้านใหญ่ ร้านนี้ก็ดีที่มีอาหารอื่นๆ ให้เลือกอีกมากมาย แต่หลายคนก็นิยมไปเพียงเพื่อจะกินเฝออยู่ดี 

 

อีกร้านคือ เฝอเลขที่ 10 ถนนหลีก๊วกซือ (Phở 10 Lý Quốc Sư) เฝอร้านนี้ปัจจุบันกลายเป็นร้านที่มีหลายสาขาไปแล้ว ร้านดั้งเดิมอยู่หมายเลข 10 ถนนหลีก๊วกซือที่ว่า หากแต่ร้านอื่นๆ ที่เป็นสาขา ก็ใช้ชื่อเดียวกันนี้ แต่ตั้งอยู่ที่ถนนต่างๆ ผมเองไม่เคยลองกินที่ร้านต้นกำเนิด เพราะคิวยาวมาก เคยแต่ไปชิมที่ร้านที่หมายเลข 42 ถนนห่างโวย (Hàng Vôi) ไม่ไกลจากร้านดั้งเดิมนัก แค่ข้ามไปคนละฝั่งกับ “ทะเลสาบคืนดาบ”  

 

ทีแรกผมก็ไม่ค่อยไว้ใจร้านนี้นัก เพราะเห็นว่าเป็นร้านที่นักท่องเที่ยวนิยมกินกัน แต่เมื่อเพื่อนกินคนฮานอยอีกคนหนึ่งพาไป เมื่อได้ชิมแล้ว ผมก็ว่าร้านนี้ก็แนะนำให้เพื่อนๆ ไปกินได้เหมือนกัน เฝอร้านนี้มีความเป็นเฝอไซ่ง่อนผสมกับเฝอฮานอย ทั้งสีและรสชาติน้ำที่จัดขึ้นกว่าเฝอฮานอยที่แนะนำมาข้างต้น และชนิดของผักที่ใส่และยกมาให้กินเคียงกับเฝอ แม้จะยังไม่ถึงกับเฝอฮวา ถนนปาสเตอร์ อันเป็นเฝอไซ่ง่อนที่โด่งดังที่ผมเคยกินเมื่อสิบกว่าปีก่อน แต่ก็นับได้ว่าร้านนี้ทำเฝอได้ดีทีเดียว แถมร้านนี้ยังมีของกินเล่นอื่นๆ อีกมาก มีรายการอาหารค่อนข้างหลายหลาย เป็นร้านใหญ่นั่งสบาย  

 

สุดท้าย หากใครอยากลองเฝอบ้านๆ แบบที่ตื่นเช้าขึ้นมาแล้วคนฮานอยจะเดินไปหากินใกล้ๆ ตลาดสดล่ะก็ ผมขอแนะนำเฝอลองม์ (Phở Long) ร้านนี้อยู่ในย่านตลาดแบ๊คควา (Chợ Bách Khoa) ย่านที่ผมเคยอาศัยอยู่เมื่อสิบกว่าปีก่อนสมัยที่ไปเก็บข้อมูลทำงานวิจัยในเวียดนาม เฝอร้านนี้น้ำใส รสชาติดี เส้นเยอะหน่อย ด้วยความที่เป็นเฝอราคาย่อมเยาในชุมชนละแวกบ้าน คนกินส่วนใหญ่ก็คนแถวนั้น ร้านเปิดเฉพาะช่วงเช้า กลางวันก็เริ่มวาย  

 

ยังมีอาหารเส้นอีกมากมายที่อยากแนะนำให้เพื่อนๆ ไปลอง และมั่นใจว่าหลายจานหากินไม่ได้ในเมืองไทย เช่น บู๋นเซียว บู๋นจ่า บู๋นส็อบหมุ่ง บู๋นทาน เหมียนเลือน เหมียนงาน เหมียนหวีด แล้วยังมีอาหารเส้นภาคกลางอย่างบู๋นบ่อหเว๋ บู๋นบ่อนามโบะ หมี่หวั่นถัน ฯลฯ เอาไว้โอกาสหน้าครับ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา