Skip to main content

พวกคุณไม่ได้เพียงกำลังทำลายพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง หรือกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่พวกคุณกำลังทำลายความหวังที่คนจำนวนมากมีต่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจประเทศชาติ

ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีอะไรที่คาดได้หลายอย่างก็จริง แต่ก็มีสิ่งเหนือความคาดหมายอยู่หลายเรื่องเช่นกัน
 
ที่คาดได้คือ เรารู้แน่อยู่แล้วว่าพรรคใหญ่ที่ครองเสียงภาคเหนือตอนบนและอีสาน ก็จะยังได้เสียงส่วนใหญ่จากที่นั่น เรารู้แน่อยู่แล้วว่าพรรคใหม่ที่มุ่งสืบอำนาจเผด็จการทหารจะได้เสียงไม่น้อย แต่ก็ไม่มีทางมากพอที่จะเป็นที่หนึ่ง พวกเราคาดเดากันอยู่แล้วว่า ภาคกลางและกรุงเทพฯ จะเป็นดินแดนที่มีการพลิกผันรวนเรที่สุด
 
แต่ที่เกินคาดคือ แม้แต่คนกรุงเทพฯ เองก็ยังเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยมากกว่าพรรคฝ่ายเผด็จการ เมื่อรวมกับกลุ่มคนหันหลังให้เผด็จการทหารทั่วประเทศ ก็มีคะแนนเสียงรวมกันมากกว่ากลุ่มคนที่แน่ชัดว่าสนับสนุนการสืบทอดของฝ่ายเผด็จการทหาร
 
ขอย้ำว่า แม้แต่คนกรุงเพทฯ ที่เคยสนับสนุนเผด็จการ เคยสนับสนุนพรรคการเมืองที่สนับสนุนเผด็จการ พวกเขาหลายคนทิ้งนกหวีดแล้วหันมาเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตย หาไม่แล้ว พรรคที่เคยสนับสนุนให้เผด็จการขึ้นสู่อำนาจก็จะไม่พ่ายแพ้ราบคาบราวแมลงเหม็นจนตรอกอย่างทุกวันนี้หรอก หาไม่แล้ว แม้พรรคที่พวกเขาเคยจงเกลียดจงชังอย่างเอาเป็นเอาตาย ก็จะไม่ได้ที่นั่งถึง 1 ใน 3 ของ สส. เขตในกรุงเทพฯ หรอก หาไม่แล้วพรรคหน้าใหม่ก็จะไม่สามารถเบียดพรรคที่ระดมคนมาปูทางให้ทหารตกเวทีการเลือกตั้งกรุงเทพฯ ไปอย่างไร้เงาได้หรอก
 
ความคาดไม่ถึงที่เกี่ยวพันกันต่อมาคือ แม้ว่าหลายคนจะอยากให้เป็นเช่นนั้น แต่คนที่แอบคิดแบบนั้น ก็แทบไม่เชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น คือการที่อดีต สส. ผู้แก่กล้าของพรรคที่สนับสนุนเผด็จการขึ้นสู่อำนาจน่ะ พ่ายแพ้ราบคาบในหลายเขตที่แม้จะเป็นเขต "ของตาย" หรือเขต “เอาเสาไฟฟ้ามาลงก็ยังได้รับเลือก” ก็ตาม สิ่งนี้เกิเขึ้นกระทั่งในถิ่นของพรรคนี้เอง
 
เหนืออื่นใดคือความคาดไม่ถึงที่มีต่อความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ ผมมั่นใจว่าผมพูดไม่ผิดนักหากจะบอกว่า แม้แต่คนในพรรคอนาคตใหม่เองก็คาดไม่ถึงหรอกว่าพวกเขาจะมาได้ไกลถึงเพียงนี้ ไกลขนาดโค่น สส. เขตที่ลงหลักปักฐานในหลายๆ ที่อย่างถล่มทลาย ไกลขนาดที่ สส. เขตจำนวนมากคือคนหน้าใหม่ในแวดวงการเมืองระดับประเทศ ไกลขนาดที่ การจะดิสเครดิตพรรคนี้ได้ ไม่ใช่ด้วยข้อหาเก่าๆ คือ "การซื้อเสียง" อีกต่อไป แต่ต้องใช้กลไกพิศดารทางกฎหมายมากมายเพื่อทำลายล้างกัน
 
แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็ไม่อยากพูดว่าพรรคอนาคตใหม่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง จริงอยู่ว่าพวกเขาทุ่มเทอย่างยิ่ง พวกเขายึดมั่นในหลักการอย่างแน่วแน่ พวกเขาเต็มไปด้วยพลังของคนหนุ่มสาว พวกเขามีข้อเสนอหลายอย่างที่ค่อนข้างหนักแน่น พวกเขาวางแผนหลายด้านอย่างรัดกุม แต่ผมก็ยังเห็นว่า นั่นเป็นเพียงด้านเดียวของความสำเร็จของพวกเขา
 
ที่ว่าอย่างนั้นก็เพราะว่า พรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นมาในจังหวะทางการเมืองที่สอดรับกับพวกเขาอย่างยิ่งหลายประการด้วยกัน เป็นช่วงจังหวะที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพของการเมืองไทยอีกก้าวหนึ่ง
 
หลังการรอคอยอย่างอดทนที่จะให้เผด็จการทหารพิสูจน์ตนเองมานานเกือบ 5 ปี ผู้คนจำนวนมากสังเกตเห็นได้แล้วว่า เผด็จการทหารไม่ใช่คำตอบต่ออนาคตต่อไปของพวกเขาอีกแล้ว ความกลัวต่อ "ผีทักษิณ" ของผู้คนเหล่านี้จำนวมหาศาลเบาบางลง หรือไม่ก็ เมื่อคิดคำนวณแล้วดูจะน้อยลงกว่าความเบื่อหน่ายต่อความกักขฬะและไร้น้ำยาของพวกเผด็จการทหารเต็มทีแล้ว เวลาของเผด็จการหมดลงแล้ว อย่างน้อยก็ในระยะสั้นนี้
 
พูดอีกอย่างคือ อำนาจเผด็จการเกือบ 5 ปีนั่นแหละ ที่สร้างการตัดสินใจแบบใหม่ให้กับคนที่เคยสนับสนุนเผด็จการ หลายคน "ตาสว่าง" หรืออย่างน้อยก็ "เบื่อหน่ายทหาร" มากขึ้น
 
ประการต่อมา เห็นได้ชัดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ได้สร้าง "ช่องว่างระหว่างวัย" ขึ้นทั่วไปในหลายพื้นที่ทางสังคม ความแตกต่างของการตัดสินใจทางการเมืองนั้นเกิดขึ้นระหว่างรุ่นในระดับครัวเรือน คนในครอบครัวเดียวกันจำนวนมากลงคะแนนด้วยฐานความคิดที่แตกต่างกัน คนรุ่นใหม่ Gen Y ที่เพิ่งเลือกตั้งครั้งแรกจำนวนมาก เลือกพรรคใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าตัวเลือกที่ชัดเจนในนั้นก็คือพรรคอนาคตใหม่ ผมเดาว่า ไม่น้อยกว่า 70% ของคนที่เพิ่งมีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก เลือกพรรคอนาคตใหม่
 
แน่นอนว่าข้อสรุปนี้มีข้อยกเว้นมากมาย แต่พูดได้ว่า การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอีกครั้งสำคัญของประเทศไทย
 
ความเปลี่ยนแปลงนี้ยังสะท้อนวิธีคิดเรื่องการเลือกตั้ง ว่าเป็นการเลือกโดยดูจากนโยบาย อุดมการณ์ของพรรคการเมือง มากกว่าสายสัมพันธ์และตัวบุคคล สำหรับผู้ลงคะแนนจำนวนมาก ดังมีพรรคอนาคตใหม่เป็นตัวอย่างสำคัญ ผู้สมัคร สส. เขตมีความสำคัญน้อยกว่าพรรคการเมือง หากมีการเลือกในระบบปาร์ตี้ลิสต์แบบเดิม เชื่อได้ว่า พรรคที่วาดหวังจะสนับสนุนเผด็จการกลับมา จะยิ่งพ่ายแพ้กว่านี้อย่างมากมาย
 
การเลือกพรรคการเมืองสะท้อนคุณภาพการเมืองที่เปลี่ยนไปอย่างยิ่ง ขณะที่ สส. เขตสะท้อนความนิยม และอาจจะรวมทั้งสายสัมพันธ์ใต้ระบบอุปถัมภ์ในระดับท้องถิ่น ที่สั่งสมขึ้นมาจากอำนาจบารมีด้วยทุนทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น หากแต่การเลือกพรรคการเมืองโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้สมัคร สส. เขต และการลงคะแนนเพื่อหวังจะให้เสียงของตนได้ถูกนับในการสนับสนุนพรรคการเมืองเพื่อให้มี สส. ปาร์ตี้ลิสต์นั้น คือการเลือกที่ปลอดจากสายสัมพันธ์ส่วนตัวโดยสิ้นเชิง เป็นการเลือกเพื่อหวังผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศโดยแท้จริง
 
ประการต่อมา การที่พรรคอนาคตใหม่ได้รับความนิยมสูงนั้น ส่วนสำคัญอย่างยิ่งคือการที่พวกเขาเป็นคนหน้าใหม่ในการเมือง เป็นคนรุ่นใหม่ในการเมืองไทย พวกเขาส่วนใหญ่ยังไม่มีประวัติในการเมือง ส่วนใหญ่ยังไร้ที่ติติง เป็นกลุ่มที่สมัยก่อนเราเรียกว่า "เลือดใหม่" ไม่ใช่ "น้ำเน่า" ทางการเมือง นี่สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยปัจจุบันต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงจากระบอบน้ำเน่าทางการเมืองอย่างก้าวกระโดด
 
การหลุดจากระบอบอุปถัมภ์ การเลือกผู้แทนหน้าใหม่ การเลือกพรรคเลือกนโบายมากกว่าตัวบุคคล การที่คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขันทั้งในฐานะผู้สมัคร สส. และผู้ออกเสียงเลือกตั้ง การตัดสินอนาคตอย่างสันติด้วยการเลือกตั้ง เหล่านี้คือภาวะทางการเมืองแบบใหม่ของไทยที่ก้าวหน้าขึ้น สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่หรือที่เราอยากให้เกิดขึ้นในหน้าใหม่ของการเมืองไทย
 
หากกล่าวเฉพาะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหน้าใหม่ ในบริบทโลกาภิวัตน์ขณะนี้ คนรุ่นใหม่จำนวนมากมีความใฝ่ฝันและมีศักยภาพจริงที่จะย้ายครอบครัวไปทำมาหากินในต่างประเทศ คนรุ่นใหม่ที่ผมรู้จักจำนวนมากเริ่มคิดว่าตนเองไม่ได้เป็นประชากรของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น พวกเขายังคิดว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก การที่พวกเขาหันมาใส่ใจการเมืองไทย ไม่เพียงลบคำสบประมาทที่พวกคนเฒ่ามีต่อพวกเขาว่าเฉื่อยชาทางการเมืองและไม่สนใจชีวิตของสังคมดิจิทัลออนไลน์ แต่ยังชี้ว่าพวกเขายังมีความหวังต่อประเทศนี้ พวกเขายังรักประเทศนี้ไม่น้อยกว่าคนเฒ่าคนแก่
 
หากเกิดภาวะล้มเหลวของการเมืองในประเทศ จากการทุบทำลายความหวังของคนเฒ่าคนแก่ ของคนที่ต้องการสืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร หากพวกคุณที่ต้องการสืบทอดอำนาจทุบทำลายการเมืองที่ก้าวหน้าซึ่งกำลังเริ่มต้นขึ้นในประเทศไทย ทั้งประชาชนที่อยากเห็นความก้าวหน้าและคนรุ่นใหม่ที่รักประเทศชาติ รักอนาคตตนเอง พวกเขาอาจจะยิ่งสิ้นหวัง แล้วเลือกละทิ้งประเทศนี้ไปมากขึ้นเรื่อยๆ
 
ยอมรับเสียเถอะว่า คนที่ยังยินดีให้เผด็จการกลับมาปกครองน่ะ เหลือน้อยลงเต็มทีแล้ว การดื้อด้านคงความเชื่อของพวกคุณอยู่น่ะ มีแต่จะทำร้ายประเทศไทยที่คนอื่นๆ เขาก็รักไม่น้อยไปกว่าพวกคุณ หยุดทำร้ายประเทศด้วยการพยายามผูกขาดอำนาจได้แล้ว

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา