Skip to main content

วินาทีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ความสำคัญไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองหนึ่งถูกยุบไปหรอก แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้มีอำนาจกำลังสร้างความแตกร้าวครั้งใหม่ที่พวกเขาอาจจะพบปฏิกิริยาโต้ตอบที่ไม่เหลือเศษซากอะไรให้กอบกู้โลกเก่าของพวกเขากลับมาได้อีกต่อไป

หากใครเข้าใจแค่ว่า การยุบพรรคอนาคตใหม่คือการปิดฉากการเมืองของกลุ่มการเมืองที่แหลมคม ก้าวหน้า มองว่านี่เป็นการกำราบและกรรโชกพลังก้าวหน้าของสังคมนี้ได้อีกขั้นหนึ่ง ผมว่าพวกเขากำลังคิดผิด

พรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นมาและเติบโตได้จากความแตกร้าวทางการเมืองครั้งก่อน ที่วางอยู่บนการเมืองสีเสื้อ การเมืองความดี-ความชั่ว การเมืองแบ่งขั้วแบบเก่าถูกแทนที่ไปพ้นการเมืองแบบเก่าในหลายๆ มิติ มีอะไรบ้างที่ใหม่ มีอะไรบ้างที่การยุบพรรคการเมืองหนึ่งที่เป็นตัวแทนของพลังแบบนี้จะไม่สามารถทำลายพลังแบบนี้ได้

ข้อแรก อนาคตใหม่เกิดมากจากการเป็นทางเลือกของการเมืองขัดแย้งสีเสื้อที่ไม่มีทางออก เสียงที่เลือกอนาคตใหม่แสดงความเบื่อหน่ายกับความขัดแย้งแบ่งขั้วตรงข้ามอย่างชัดเจน เสียงอนาคตใหม่เป็นตัวแทนของ "คนเป็นกลางทางการเมือง" แบบหนึ่ง ต่างจากเสียงเลือกพลังประชารัฐ ที่เป็นเสียงอนุรักษนิยมสุดขั้ว กับเสียงเพื่อไทย ที่เป็นพลังสนับสนุน "ทักษิณ" และการเมืองมวลชนจากทศวรรษ 2540 คือ 20 ปีที่แล้วอย่างสุดขั้ว

ถ้าได้คุยกับคนขับแท็กซี่ที่ฟังการอภิปรายทั้งวัน จะได้ยินพวกเขาพูดว่า "การอภิปรายในสภาของพรรคอนาคตใหม่นี่ เปลี่ยนการเมืองไปจริงๆ นะ เข้าประเด็นตรงๆ ไม่เสียเวลาไปกัดคนโน้นคนนี้" นี่คือเสียงของคนที่แสวงหาทางเลือกใหม่ทางการเมือง แล้วเขาพบว่าพรรคอนาคตใหม่คือทางเลือก คนไม่อยากเหลือง คนไม่อยากแดงจำนวนมาก หันมาเลือกอนาคตใหม่

ข้อสอง อนาคตใหม่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจการเมือง ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ทุกคนที่ใส่ใจการเมือง ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ทุกคนที่ใส่ใจการเมืองแล้วเลือกอนาคตใหม่ แต่คนรุ่นใหม่จำนวนมาก มากชนิดที่ผมกล้ายืนยันว่าคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจการเมืองส่วนใหญ่เลือกอนาคตใหม่ การยุบพรรคอนาคตใหม่คือการผลักให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ไปยืนเป็นปฏิปักษ์กับการใช้อำนาจรัฐที่พวกเขาเห็นว่า "อยุติธรรม"

หากคิดแต่เพียงว่าคนรุ่นใหม่หรือผู้ลงคะแนนเสียงหน้าใหม่ยังอ่อนด้อย ไร้เดียงสา ก็เท่ากับว่าคุณไม่อยากให้เขาเติบโตในทางของเขาเอง คุณยังอยากให้ลูกหลานคุณเป็นเด็กแบเบาะให้คุณชักจูงไปทางไหนก็ได้ แต่อันที่จริงแล้ว พวกเขาเติบโตและเห็นโลกกว้างและใหม่กว่าโลกตอนที่พวกคุณอาบน้ำร้อนมาก่อนนั้นมากมายนัก

ข้อสาม อนาคตใหม่มีคนสนับสนุนไม่น้อย และคนที่สนับสนุนไม่น้อยเหล่านี้ส่วนหนึ่งคือคนที่มีปากมีเสียง มีอำนาจต่อรอง มีทุนทางสังคมและวัฒนธรรมสูง ผมไม่ได้จะบอกว่าเสียงของคนที่เลือกพรรคอื่นจะไม่สำคัญ แต่เสียงที่เลือกคนพรรคนี้คือเสียงที่พวกคุณเองเกรงกลัว เพราะพวกเขาอยู่ในเครือข่ายทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ที่ช่วงชิงอำนาจศูนย์กลางของพวกคุณได้

ดูง่ายๆ เฉพาะในกรุงเทพฯ เสียงเลือกอนาคตใหม่เป็นเสียงที่มีคะแนน 1 ใน 3 ของเสียงกรุงเทพฯ ทั้งหมด พรรคเก่าแก่พรรคหนึ่งหมดที่นั่งไปในกรุงเทพฯ ก็เพราะ 1 ใน 3 ของเสียงนี้ การลิดรอนเสียงของคนเหล่านี้ การท้าทายเสียงของคนที่มีทุนทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่ทัดเทียมกับพวกคุณเหล่านี้ จะผลักให้พวกเขาเป็นปฏิปักษ์กับพวกคุณมากยิ่งขึ้น

การทำลายทางเลือกใหม่ การผลักให้พลังของคนรุ่นใหม่ไปเป็นปฏิปักษ์กับพลังอนุรักษนิยมอย่างเปิดเผย การท้าทายพลังของทุนใหม่แบบต่างๆ ที่เติบโตรดต้นคอและในครัวเรือนของคนรุ่นอนุรักษนิยมเอง กำลังสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ 

เรายังไม่รู้หรอกว่าปฏิกิริยาต่อการผลักไสทางการเมืองรอบนี้จะเป็นอย่างไร แต่เราจะได้เห็นกันเร็วๆ นี้ว่า พลังของอนาคตที่ก่อตัวขึ้นเงียบๆ ในรถแท็กซี่ ในโรงภาพยนตร์ ในร้านเบเกอร์รี่ ในร้านนมสด ในทวิตเตอร์ ในนิยายออนไลน์ จะตีกลับและรุกไล่พลังอนุรักษนิยมอย่างไร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา