Skip to main content

การยุบพรรคอนาคตใหม่อย่างที่สาธารณชนและแม้แต่นักกฎหมายเองก็เห็นว่าไม่สมเหตุสมผลทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง และความเหลวแหลกของกลไก เกม และสถาบันการเมืองในขณะนี้ คือเงื่อนไขเฉพาะหน้าที่ทำให้เยาวชนจำนวนมาก ซึ่งเป็นคนหน้าใหม่ของการเมืองไทย ในหลายพื้นที่กระจายไปทั่วประเทศ ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่มีความขัดแย้งรอบใหม่ในกลางทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา 

20 ปีที่ผ่านมา คนหน้าใหม่ทางการเมืองเหล่านี้ค่อยๆ เติบโตขึ้นมาในวังวนของการเลือกตั้งและการรัฐประหาร ช่วงเวลานี้การเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในหลายต่อหลายมิติด้วยกัน และปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนใน 20 ปีนี้อย่างหนึ่งก็คือ การตื่นตัวของนักเรียนนักศึกษาในขนาดและความหลากหลายอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ ที่เป็นเช่นนี้น่าจะด้วยสาเหตุเชิงโครงสร้างหลายประการด้วยกัน

1) เงื่อนไขเชิงประชากร คนรุ่นเก่ามีอายุยืนยาวขึ้น คนรุ่นเขาจึงไม่อาจปล่อยวางทางการเมือง ไม่อาจปล่อยวางอนาคตในแบบที่พวกเขาไม่ชอบ ไม่อยากเห็นให้เกิดขึ้น การเปลี่ยนผ่านในปัจจุบันจึงเป็นการเปลี่ยนผ่านที่ พลังอนุรักษนิยมไม่จำเป็นต้องหรือที่จริงก็ไม่สามารถจะจัดตั้งคนรุ่นใหม่มาสานต่อความอนุรักษนิยมอีกต่อไป เพราะพวกเขาคนรุ่นเก่ายังจะมีชีวิตอยู่กับคนรุ่นใหม่ไปอีกนานแสนนาน พวกเขาจะยังคงประวิงอำนาจไว้ให้นานที่สุด ดังนั้น ที่ว่ากันว่า "เวลาอยู่ข้างเรา" น่ะ อาจจะไม่จริง เพราะ "เทคโนโลยีการแพทย์และอำนาจเงินในการยืดอายุอยู่ข้างเขา"

2) เงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรม เงื่อนไขนี้สืบเนื่องกับเงื่อนไขแรก การเกิดช่องว่างระหว่างวัย ช่องว่างระหว่างวัฒนธรรม 2.0 และ 3.5 (คือยังไม่ 4.0 ดีนัก) ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน เกิดการเห็นอนาคตที่แตกต่างกัน เกิดทางเลือกที่แตกต่างกัน ข้อนี้แทบไม่ต้องอธิบายก็เห็นกันอยู่ เช่นว่า โลกของพวกเขาไม่ได้อยู่เฉพาะหน้าจอทีวีที่ยังควบคุมโดยรัฐ ไม่ได้อยู่เฉพาะในขอบเขตประเทศไทย แต่เป็นโลกก้าวที่จะยิ่งกว้างขึ้นเรื่อยๆ เพราะพวกเขาสร้างตัวตนจากความแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ คนรุ่นพ่อแม่พวกเขาส่วนใหญ่พูดได้อย่างมาก 2 ภาษา แต่คนรุ่นหลังค่อยๆ เรียนภาษาที่ 3 กันมากขึ้น 

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงวัฒนธรรมบริโภคที่คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่เติบโตมาเลย พวกเขามองความรักต่างออกไป พวกเขามองความงามต่างออกไป พวกเขามองศาสนา (ถ้าจะยังสนใจกันอยู่) ต่างออกไป

การยืดยาวขยายอายุและจึงนำไปสู่การพยายามรักษาอำนาจของคนรุ่นเก่า จึงยิ่งส่งผลให้เกิดช่องว่างของความคิด อุดมการณ์ ความใฝ่ฝันของคนต่างช่วงวัยที่ขัดแย้งกันมากยิ่งขึ้น โลกเก่าอันงดงามของสังคมพ่อปกครองลูกที่เมื่อลูกๆ ทะเลาะกันก็ให้พ่อตัดสินคดีความนั้น ได้หมดพลังไปจากจินตนาการของคนรุ่นใหม่แล้ว หรือหากพวกเขาจะถูกปลูกฝังมา พวกเขาก็ไม่มีวัน "อิน" กับจินตนาการแบบนั้นอีกต่อไป โลกของคนหน้าใหม่ทางการเมืองไทยเหล่านี้ยึดมั่นในการตัดสินใจของตนเอง การเป็นตัวของตัวเอง การมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

3) เงื่อนไขทางการเมือง ภูมิทัศน์การเมืองใหม่ที่สร้าง "ชนชั้นใหม่" ซึ่งเป็นชนชั้นกลางทางการเมืองและเศรษฐกิจ ให้เติบโตขยายตัว กระจายตัว และหยั่งรากลงลึกในท้องถิ่นต่างๆ ในเขตเมืองของจังหวัดและอำเภอต่างๆ มากยิ่งขึ้น ทำให้ประชาธิปไตยในท้องถิ่นเกิดขึ้น เข้มแข็งมากขึ้น และแผ่กระจายมากขึ้น แม้จะเกิดการรัฐประหาร 2 ครั้งติดกันใน 20 ปีที่ผ่านมา แต่พลังเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ 

ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้งหลังการรัฐประหารปี 2549 และการเลือกตั้งหลังรัฐประหารปี 57 ที่พรรคการเมืองฝ่าย "ก้าวหน้า" ที่เป็นตัวแทนของ "คนนอกกรุงเทพฯ" ก็ยังมีพลังในการท้าทายอำนาจรวมศูนย์ และแม้ในกรุงเทพฯ เอง ก็เกิดการแทรกเข้ามาของพรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้า ที่มีที่นั่งถึง 2 ใน 3 ของพรรคการเมืองฝ่านอนุรักษนิยม 

คนหน้าใหม่ที่ออกมาแสดงความเห็นในขณะนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของพลังชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเมืองนั่นเอง พวกเขาคือลูกหลานของชนชั้นกลางใหม่ทั้งในเมืองและในชนบท ที่ต่อสู้กับพลังอนุรักษนิยมและชนชั้นกลางเก่ามาอย่างยาวนาน พวกเขาจึงกระจายอยู่ทั่วไปไม่ต่างจากชนชั้นใหม่ หากแต่พวกเขามีเครื่องมือสื่อสาร มีความสามารถทางปัญญา และมีเทคโนโลยีทางการเมืองที่ทรงพลังต่างไปจากพ่อแม่ของพวกเขา

4) เงื่อนไขทางเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตที่เชื่อมโยงไม่เฉพาะคนในพื้นที่ออนไลน์ แต่ยังเชื่อมออกมายังคนในพื้นที่ออฟไลน์ การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ชุมชนที่สร้างโดยอินเตอร์เน็ตไม่ได้ทำให้ผู้คนจมจ่อมหรือก้มหน้าอยู่กับจอโทรศัพท์มือถือ แต่ยังดึงให้พวกเขาออกมาร่วมไม้ร่วมมือกันแสดงพลังให้คนเห็นตัวตนของพวกเขาในพื้นที่สาธารณะอีกด้วย เหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนรุ่นใหม่บรรลุผลทางการเมืองของพวกเขาได้แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนหน้า

เงื่อนไขนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการเมืองซึ่งไร้การจัดตั้งขึ้นโดยง่าย ไร้การนำโดยใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มการเมืองใดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยง่าย การรีทวีต การติดแฮชแทก การสร้างแฮชแทก เป็นทั้งการแสดงความเห็นทางการเมืองการทดสอบตรวจสอบวิพากษ์ผู้มีอำนาจทางการเมือง และการสร้างชุมชนทางการเมือง ความแหลมคมของแฮชแทกจำนวนมากสร้างความเห็นทางการเมืองที่ไม่สามารถสร้างได้ก่อนหน้าเทคโนโลยีนี้ นี่ยังไม่นับเครื่องมืออื่นๆ อย่างมีม และการถ่ายทอดสด ที่ทั้งยอกย้อน พลิกอำนาจ และทันท่วงที 

ถึงที่สุดแล้ว ที่สำคัญคือ ในแง่ของความเป็นอิสระทางการเมือง การที่พวกเขาตัดสินใจก้าวออกมาจากโลก "ในจอ" สู่โลกการเมือง "นอกจอ" ออกมาแสดงตัวให้เห็นกันตัวเป็นๆ แสดงถึงการตัดสินใจอย่างที่การสร้างเครือข่ายทางการเมืองด้วยระบบอุปถัมภ์และอุดมการณ์แบบเก่าไม่สามารถทำได้ คุณจะไม่สามารถดูถูกว่าพวกเขาถูกซื้อ ถูกจ้าง ถูกชักจูงมา ถูกสั่งมา ได้ง่ายๆ อีกต่อไป 

ถึงแม้ใครจะปรามาสว่าการแสดงออกของคนหน้าใหม่ของการเมืองไทยยังอยู่เพียงในระดับของอารมณ์โกรธแค้น แต่อารมณ์ทางการเมืองนี่แหละที่จะก่อตัวขึ้นเป็น "โครงสร้างอารมณ์" ที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุดมการณ์ โครงสร้างสังคม และโครงสร้างการเมืองในระยะยาวได้

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
 การที่ประธานรัฐสภาปัดข้อเรียกร้องของประชาชนกว่า 3 หมื่นคน ที่นำโดยคณะนิติราษฎร์และคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ด้านหนึ่งนับเป็นความขลาดเขลาของประธานรัฐสภา ด้านหนึ่งสะท้อนความขลาดเขลาของพรรครัฐบาลที่บอกปัดข้อเสนอนี้มาตั้งแต่ ครก.112 เริ่มรณรงค์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 บ้านเก่าเมืองหลัง เป็นสำนวนของคนไทดำในเวียดนาม เมื่อก่อน พอได้ขึ้นไปเยี่ยมเยือนพี่น้องชาวไทดำที่เซอนลาแต่ละครั้ง ก็จะถูกพวกคนเฒ่าคนแก่ล้อว่า “เหมือนพวกหลานๆ กลับมาเยี่ยมบ้านเก่าเมืองหลังสินะ” ในความหมายที่ว่า เหมือนผมได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนนั่นเอง ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ก็ห่างหายไปแค่เพียงหลายเดือน หรืออย่างมากก็ในรอบปี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  ขอบอกว่า วันนี้นอยกับบูราวอย (Michael Burawoy) พอสมควร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมติดตามละคร "แรงเงา" อย่างใกล้ชิด...จากที่เพื่อนๆ เล่ากันน่ะ ไม่ได้ดูเองหรอก (เพราะไม่มีทีวีดู ไม่ชอบดูทีวี และไม่ดูทีวีมาหลายปีแล้ว) แต่ก็เกิดสงสัยว่า "ทำไมไอ้ผอ.มันโง่งี้(วะ)" ถ้าจะตอบว่า "ผู้ชายหล่อก็เหมือนผู้หญิงสวยนั่นแหละ มันโง่" ก็คงจะดูโง่ไปหน่อย ก็เลยลองคิดต่อดูว่า หนึ่ง ที่จริงไม่ได้มีแต่ ผอ.ในละครแรงเงาโง่อยู่คนเดียวหรอก พระเอกละครไทยกี่เรื่องต่อกี่เรื่อง มันก็โง่แบบนี้กันทั้งนั้นแหละ ส่วนใหญ่เลยนะผมว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดเทอมนี้อดพานักอ่านตัวยงคนหนึ่งที่บ้านไปงานสัปดาห์หนังสือ เพราะเธอขาแพลง เจ็บถึงขั้นเข้าเฝือกและใช้ไม้เท้าเดิน เธอบอก "เอาไว้มีงานอีกครั้งลุงต้องพาหนูไปนะ" วันนี้ก็เลยขอเขียนอวยนักเขียนสักหน่อย (คนเราไม่ต้องคอยหาทางวิจารณ์ข้อด้อยคนอื่นกันทุกเมื่อเชื่อวันก็คงสามารถจรรโลงสังคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผ่านมาสี่วัน ถ้าจะให้บอกว่าประทับใจอะไรกับปราสาทหินบ้าง คงยากที่จะบอก เพราะวิ่งผ่านหินก้อนต่างๆ มากมายเสียจนไม่ทันได้หยุดคิดกับอะไรต่างๆ ดีที่ได้นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักมานุษยวิทยามากมายมาให้ความรู้ข้างๆ หูเวลาท่านถกเถียงกัน จึงพอจะเก็บเกี่ยวเชื่อมโยงอะไรมาได้บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร