Skip to main content
ทศพล ทรรศนพรรณ
การบังคับใช้ พรบ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ผลักดันออกมาในปี พ.ศ.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
ขณะที่เรายังไม่มีเสรีภาพ แต่องค์กรสื่อรณรงค์ 'เสรีภาพบนความรับผิดชอบ' จะกลายกระบวนการเซ็นเซอร์สร้างสังคมที่ขาด ‘วิจารณญาณ’ หรือไม่? พร้อมสำรวจประเด็นการจำกัดเสรีภาพสื่อหลังรัฐประการ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97, 103 วิจารณ์ คสช.ก็ต้องโดยสุจริต การปิด PEACE TV และ ร่าง รธน. ฉบับใหม่
ประกายไฟ
...ดูๆไปแล้วดันไปสะดุดตรงเหตุการณ์ทางการเมืองในเวลานั้นที่ดันตรงกับช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครองพอดี แหมมมมมมมมมมมม เล่นเล่าซะ คณะผู้ก่อการดูเป็นตัวร้ายไปถนัดตา แถม ร.7 ยังดูน่าสงสารจนเกินเหตุ “ตั้งแต่เกิดมาไอ้เคนยังไม่เห็นว่าในหลวงท่านจะทำอะไรไม่ดีเลย” “เหาจะกินกระบาล” 5555 เอาละวะ ...  
นายกรุ้มกริ่ม
              “The productive forces of material life conditions the social, political and intellectual life process in general. It is not the consciousness of men that determines their being, but, on the contrary, their social being that determines their consciousness” Karl Marx Preface to A Contribution to the Critique of Political Economy     ถ้าหากปรัชญาของคาร์ล มาร์กซ์ ยังพอมีส่วนถูกอยู่บ้าง คนที่มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมอันประกอบด้วยวัตถุทางรูปธรรมแบบหนึ่งๆ จะไม่สามารถแยกแยะ(Determine) ความถูกผิดดีงามทางศีลธรรม (Consciousness) และตัดสินเรื่องความต้องการแทนคนจากที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมอีกอย่างหนึ่งได้ ขณะที่ไม่มีใครปฏิเสธว่าความแตกต่างระหว่างชนชั้นในสังคมไทยมีสูงเพียงใด การวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นปัญหาเรื่องการเซ็นเซอร์สื่อสารมวลชนในปัจจุบันกลับปรากฏชัดมากว่ามาจากผู้คนเฉพาะในชนชั้นกลางถึงระดับสูงเท่านั้น ไม่ปรากฏการเปิดพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้โอกาสคนในทุกชนชั้นได้เสนอความคิดเห็นกันอย่างเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพถูกยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นหลักการพื้นฐาน ในระบบวิธีคิดของปัจเจกบุคคลที่ท้องอิ่ม โดยลืมคำนึงไปว่ากฎหมายและกฎเกณฑ์ทุกชนิดที่ออกมาใช้บังคับย่อมมีผลเป็นการทั่วไปต่อบุคคลทุกเพศ ทุกวัย ทุกฐานะ ที่อยู่อาศัยร่วมกันภายในราชอาณาจักร และในอีกแง่หนึ่งของกฎหมาย หลักกฎหมายมหาชนพื้นฐานประการสำคัญมีอยู่ว่า ประโยชน์ของมหาชนต้องอยู่เหนือประโยชน์เอกชน ทั้งนี้เท่าที่ไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของเอกชนมากจนเกินไป เพราะฉะนั้นแล้วแค่ไหนเพียงไรที่รัฐควรจะเข้ามามีบทบาทในการควบคุมสื่อสารมวลชนที่ผู้บริโภคคือประชาชนทั้งหมดจากสิ่งแวดล้อมทางวัตถุที่แตกต่างกัน “ละเมิด” เท่าใดจึงจะถือว่า “มากเกินไป” สิทธิเสรีภาพย่อมฟังดูหอมหวานเสมอ ตราบเท่าที่ผู้กล่าวอ้างไม่นับให้สับสนกับการเรียกร้องเพื่อขอดูภาพโป๊เปลือย   ยามบ่ายวันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2551 ณ บ้านพักของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ศูนย์ชุมชนวัดดวงแข เด็กนักศึกษากลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ที่มีผมและเพื่อนๆ ร่วมอยู่ในคณะ ได้เดินทางมาเยี่ยมเยือนชุมชนแออัดแห่งหนึ่งข้างๆ หัวลำโพง แม้จะอยู่ใจกลางเมืองหลวง แต่สภาพบ้านเรือนที่นี่ไม่ใคร่จะน่าอยู่นัก ที่อยู่อาศัยปลูกติดๆ กันอย่างไม่เป็นระเบียบ มีทางเดินแคบๆ ขนาดคนเดินสวนกันไม่ได้ตัดกันสะเปะสะปะ แสงแดดไม่เคยส่องถึงพื้นทางเดิน ภายในตึกหลังหนึ่งจะซอยย่อยออกเป็นห้องเล็กๆ สำหรับให้เช่า ขนาดเล็กกว่าครึ่งหนึ่งของหอพักเอเชี่ยนเกมส์โซนซี ซึ่งคนที่นี่จะอาศัยอยู่กันทั้งครอบครัวหรือบางห้องก็แบ่งกันอยู่หลายครอบครัว ห้องเล็กๆ เรียงติดๆ กันแทบไม่มีที่ว่างหลงเหลือ ระหว่างห้องกั้นด้วยไม้อัดผุๆ ในห้องยังมีห้อง และด้านหลังก็ยังมีห้อง ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ ไม่มีห้องน้ำ ไม่มีระบบสาธารณูปโภคใดๆ ด้วยหัวใจอาสา พร้อมกับกิจกรรมเล็กๆ ตามแบบฉบับของเยาวชนยุคปัจจุบัน เรามาเพื่อมอบความสนุกสนานเล็กๆ น้อยๆ ให้กับเด็กๆ ในชุมชนที่นี่ และเรียนรู้แลกเปลี่ยนระหว่างกัน มีน้องผู้หญิงตัวเล็กๆ อยู่คนหนึ่ง ชื่อน้องจ๋า สูงเลยเข่ามาเล็กน้อย ตากลมโต ผิวดำกร้าน เนื้อตัวมอมแมม ดังเช่นเด็กตามชุมชนแออัดทั่วไป แต่มีแววตาสดใส เป็นประกาย และมีบุคลิกร่าเริง ทำให้กลายเป็นดาวเด่นเป็นขวัญใจสำหรับพี่ๆ ที่แวะเวียนเข้ามาเป็นครั้งคราว น้องจ๋าชอบเต้นเพลง “ไก่ย่าง” ด้วยท่าเต้นแบบที่นักศึกษาอย่างเราๆ รู้จักกันดี ทุกครั้งที่พูดเรื่องจะให้เต้น น้องจ๋าจะลุกขึ้นมาก่อนพร้อมตะโกนร้องขอจะเต้นเพลงไก่ย่าง จนพี่ๆ ต้องยอมตามใจให้ทุกครั้ง เพราะเหตุที่ตัวเล็ก จึงเต้นท่าเต้นที่อาจจะดูทะลึ่งบ้างในสายตาของผู้ใหญ่ ออกมาได้น่ารักน่าเอ็นดูโดยที่คนเต้นเองไม่จำต้องรู้ความหมาย ในช่วงที่แอบหลบร้อน ผมนั่งลงในมุมหนึ่งของห้องกับน้องจ๋า ติดกันเป็นชั้นหนังสือ ผมจึงพยายามเปิดสมุดนิทานหาภาพการ์ตูนรูปสัตว์ต่างๆ แล้วชี้ชวนเล่นไปแบบเด็กๆ “นี่ตัวอารายยย.......” ??!!?? ไร้ซึ่งคำตอบจากทุกภาพ ...แต่เมื่อผมเริ่มชี้นำ “นก”  “นกใช่มั๊ยครับ?” “น๊ก?” น้องจ๋าส่งประกายตาอยากรู้อยากเห็นอย่างเต็มที่ “นก...” เด็กน้อยทวนอีกครั้ง พร้อมฉีกยิ้มหวานหลังพูดจบ “หมา…”“แมว...” “เสือ...” และสัตว์อื่นๆ ตามมาในลักษณะเดียวกันเท่าที่ผมจะเปิดหาเจอและน้องจะมีสมาธิรับรู้ได้ในวันนั้น หลังจบกิจกรรมในวันนั้น เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับ ป้าหมีและป้าติ๋ม เจ้าหน้าที่ผู้ปกครองของมูลนิธิ ที่ทำหน้าที่คอยสอดส่องดูแลเด็กๆ ผมเล่าเรื่องประสบการณ์ในวันนี้ให้คุณป้าผู้ใจดีฟัง คุณป้าทั้งสองจึงช่วยกันเล่าข้อเท็จจริงเพิ่มเติมความรู้ให้ผมฟังว่า จริงๆ แล้วน้องจ๋าอายุ 6 ขวบแล้วแต่ตัวเล็กกว่าอายุ และมีกิริยาท่าทางเหมือนเด็ก 2-3 ขวบ เพราะว่ามีพัฒนาการช้า เนื่องจากไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่สมบูรณ์ จึงไม่ได้เติบโตไปตามวัยอย่างเหมาะสม คุณพ่อของน้องจ๋าทิ้งครอบครัวหนีไปนานแล้ว ตั้งแต่นั้นมาคุณแม่ของน้องจ๋าก็มีอาการทางจิตไม่ค่อยปกติ เป็นโรคซึมเศร้าและไม่ค่อยสนใจลูกตัวเอง วันไหนขี้เกียจเลี้ยงก็เปิดโทรทัศน์ให้นั่งดูทั้งวันไม่ต้องทำอะไร โทรทัศน์มีหนังมีละคร ตบตีอะไรกันน้องจ๋าก็ดูอยู่เท่านั้นทั้งวัน ส่วนคุณแม่ก็ไปติดกาวเมาเสเพล นอกจากคุณแม่แล้ว ในห้องเช่าเล็กๆ ก็ไม่มีคนอื่นอีก แต่ละวันน้องจ๋าจะเดินเล่นไปในชุมชน ถ้าหิว พอเจอผู้ใหญ่คนไหนก็จะไปขอข้าวขอน้ำกิน คนในชุมชนเห็นก็สงสารก็แบ่งข้าวให้อยู่เรื่อยๆ เติบโตมาอย่างนี้ตลอด ดังนั้นจึงไม่มีใครคอยเลี้ยงดูอบรมสั่งสอน ทั้งๆที่อายุขนาดนี้ก็ควรจะเข้าเรียนชั้นประถมแล้ว แต่การที่ที่น้องจ๋ายังไม่รู้จักนก ไม่รู้จักเสือ ก็ไม่แปลก เพราะไม่มีใครเคยบอกให้ฟัง ป้าหมีกับป้าติ๋มยังฝากบอกอีกว่า ก็ต้องอาศัยน้องๆ รุ่นใหม่ๆ ถ้ามีเวลาก็เข้ามาช่วยกันสอนอะไรให้เท่าที่จะสอนได้ เพราะลำพังคุณป้าสองคนอายุก็มากแล้ว ดูแลเด็กที่เข้ามาวิ่งเล่นในบ้านพักหลายสิบคนไม่ไหว   เพื่อนของผมอีกคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า วันนี้เขาได้ทำกิจกรรมหลายอย่างกับน้องผู้ชายคนหนึ่ง ชื่อน้องอ๊อด น้องอ๊อดเป็นเด็กผู้ชาย ดูจากภายนอกน่าจะอยู่ประมาณป. 3-4 ตัดผมเกรียนแต่ทำไฮไลต์สีทอง ผิวดำกร้าน แววตาเศร้าหมอง เลื่อนลอยและยิ้มไม่เก่งเหมือนน้องจ๋า ด้วยความที่น้องอ๊อดอ่านหนังสือไม่ออกเลยสักคำเดียว วันนี้จึงถูกจับไปเรียนภาษาไทย แม้พี่ๆ จะใช้ความพยายามเคี่ยวเข็ญ และใช้กลเม็ดสารพัดก็ยังไม่สามารถหลอกล่อให้ท่อง กอไก่ถึงฮอนกฮูกได้สำเร็จ น้องอ๊อดเป็นเด็กสมาธิสั้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ค่อยยอมเข้าร่วมกิจกรรมที่ทำเป็นหมู่คณะ เรียกร้องสิ่งต่างๆ ให้ตัวเอง และไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ อยากทำนู่นอยากทำนี่อยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่ยอมอยู่กับที่ อยากเล่นฟุตบอล อยากเล่นกีต้าร์ แต่พอพาไปเล่นก็เลิก น้องอ๊อดติดนิสัยชอบความรุนแรง ชอบเล่นแบบรุนแรง ที่ติดตาติดใจเป็นที่สงสัยคือเวลาเล่นเอาปืนมาเล่นไล่ยิง จะบอกว่าไล่ยิงตำรวจ ไม่ใช่ยิงผู้ร้าย เพื่อนของผมฟ้องคุณป้าผู้ดูแลอีกว่า เวลาเรียนน้องอ๊อดก็เอาแต่จะมุดลงไปเล่นใต้โต๊ะ ไม่ตั้งใจเรียน คุณป้าทั้งสองหัวเราะคิกคักขึ้นมาพร้อมกัน สบตากันเล็กน้อยก่อนจะหันไปพึมพำๆ “ว่าแล้ว... เพราะวันนี้พี่ๆ ใส่กางเกงขาสั้น!”  และแล้วผมกับเพื่อนๆ ก็ได้ฟังวงเวียนชีวิตจริงอีกเรื่องหนึ่ง น้องอ๊อดที่เห็นตัวเล็กๆ จริงๆ อายุ 13 ขวบแล้ว แต่พัฒนาการช้าเช่นเดียวกับน้องจ๋า ทำให้ดูผ่านๆ ก็ เหมือนเด็กเล็ก คุณพ่อของน้องอ๊อดติดคุกเพราะค้ายา ส่วนคุณแม่เสียไปแล้ว น้องอ๊อดอาศัยอยู่กับยายซึ่งต้องทำมาหากินด้วยจึงไม่ค่อยมีเวลาดูแล น้องอ๊อดไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่เคยเข้าโรงเรียนเลย จึงอ่านหนังสือไม่ออก และก็แน่นอนว่า ไม่เคยได้รับการอบรมสั่งสอนใดๆ มาจากครูที่โรงเรียนอีกเช่นกัน พ่อและคนอื่นๆ ที่บ้านของน้องอ๊อดก็ค้ายากันทั้งบ้านแล้วก็สอนลูกสอนหลานกันว่าตำรวจคือศัตรู ตำรวจคืออันตราย เด็กก็ซึมซับอยู่ทุกวันจึงถูกฝังหัวเชื่อให้ไปอย่างนั้นแล้ว เห็นตำรวจที่ไหนก็จะวิ่งหนีไว้ก่อน น้องอ๊อดเรียนรู้เรื่องเพศจากการที่คนอื่นๆ ที่อยู่ในห้องเช่าเดียวกันดูหนังโป๊ แล้วก็เปิดให้เด็กนั่งดูด้วยโดยไม่มีการสอนอย่างถูกต้อง หรือบางครั้งคนในห้องเช่าแคบๆ ก็โชว์ของจริงให้ดู ใครอยู่ใครไปก็เห็นกันหมด รวมถึงเคยได้ยินมาว่าน้องอ๊อดเคยถูกกระทำทางเพศด้วย ป้าหมีกับป้าติ๋มบอกว่าจริงๆ แล้วน้องเค้าไม่เข้าใจหรอกว่ามันคืออะไร แล้วเค้ากำลังทำอะไรอยู่ แต่ด้วยธรรมชาติของเด็กอายุเข้า 13 ปี ก็เริ่มอยากรู้อยากเห็น และก็เล่นไปเรื่อยเท่า   ในนาทีเล็กๆ ที่เกิดคำถามผุดขึ้นในใจ เราจะช่วยให้น้องมีชีวิตดีขึ้นได้อย่างไร? คงต้องใช้อีกหลายสิบปีในการแสวงหาคำตอบอันยืดยาวกว่าคำถาม ไม่อาจจะกระดิกนิ้วทีเดียวแล้วรักษาโลกได้ดั่งใจนึก แต่ระหว่างทางนั้นเราทำอะไรได้ก็ต้องพยายามทำกันไปก่อน อะไรบ้างที่เราจะยอมสละได้ และอะไรบ้างที่จะปกป้องเค้าให้ได้มากที่สุด คิดอะไรได้ก็ทำไปในขอบเขตที่มีสิ่งแวดล้อมทางวัตถุในแบบของเรา และเผื่อใจไว้เล็กน้อย เว้นพื้นที่เล็กๆ ไว้ให้เห็นบ้างว่ามีคนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ต่างจากเราอีกมาก เท่านั้นเอง...       นายกรุ้มกริ่ม                      เขียนขึ้นตามคำขอของ ปรีดี จากนิตยาสาร echo ประมาณกลางปี 2551 กองบรรณาธิการอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่ได้รับพิจารณาให้ตีพิมพ์