Skip to main content

 

 

"การจำกัดสื่อคือการเหยียดหยามชาติ การห้ามไม่ให้อ่านหนังสือบางเล่มคือการประกาศให้พลเมืองเป็นพวกงั่งหรือไพร่ทาส" - แอลเวติอุส(Claude Adrien Helvetius), 1715-1771 นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส[1]

 

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมาสื่อมวลชนประจำทำเนียบฯ ร่วมกันสวมเสื้อที่มาข้อความว่า “เสรีภาพบนความรับผิดชอบ” ซึ่งเป็นเสื้อที่จัดทำขึ้นโดย 4 องค์กรสื่อ คือ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ภายใต้สโลแกน “เสรีภาพบนความรับผิดชอบ” เพื่อร่วมรณรงค์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom day) ซึ่งตรงกับวันที่ 3 พ.ค. ของทุกปี[2]

ความรับผิดชอบหรือกระบวนการเซ็นเซอร์สร้างสังคมที่ขาด ‘วิจารณญาณ’

การรณรงค์ฟังดูขัดแย้งกับสถานการณ์ปัจจุบันที่สื่อแทบจะไม่มีเสรีภาพในการนำเสนออะไรเลยภายใต้รัฐบาลทหารนี้ เพราะสุดท้ายมันคือกระบวนการสนับสนุนการเซ็นเซอร์ซ้อนมาอีกชั้นจากที่รัฐคอยเซ็นเซอร์อยู่แล้ว ผ่านอุดมการณ์ของรัฐนี้ที่มักอ้างคำอย่างความมั่นคงและศีลธรรมมาคอยกำกับสื่อและประชาชน

อีกทั้งระบบปกติความรับผิดชอบของสื่อก็ทำงานผ่านกระบวนการฟ้องร้องอยู่แล้วเช่นกัน ดังนั้นการรณรงค์ลักษณะนี้จึงเท่ากับเป็นกระบวนการส่งเสริมให้เซ็นเซอร์กันเองและตัวเองอย่างหนึ่งด้วยซ้ำ โดยความเชื่อที่ว่าพลเมืองในรัฐนี้ที่เสพสื่อขาด ‘วิจารณญาณ’ และการกำกับผ่านการนำเสนอที่อ้างว่ามันต้อง 'ความรับผิดชอบ' ก็จะเป็นารผลิตซ้ำตอกย้ำการขาดวิจารณญาณไปเรื่อยๆ ดังที่ เฮนรี สตีล คอมมาเจอร์(Henry Steel Commager)[3] นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน เคยกล่าวไว้ว่า

"การเซ็นเซอร์ทำลายเป้าหมายของตัวเองเสมอ เพราะถึงที่สุด มันสร้างสังคมแบบที่ไม่สามารถใช้วิจารณญาณได้"

ตัวอย่างกระบวนการจำกัดสื่อในรอบเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา นอกจากที่ มีประเด็น ฐปณีย์ เอียดศรีไชย กับการรายงานกระบวนการค้ามนุษย์ที่รัฐบาลออกมาอัดอย่างหนักแล้ว ยังมีกรณีการขอให้เปลี่ยนตัวผู้ดำเนินรายการ "เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป" จาก ‘ณาตยา แวววีรคุปต์’ ไปเป็นคนอื่น เนื่องจาก ณาตยา ตั้งคำถามพาดพิงการรัฐประหาร ซึ่งกรณีเหล่านี้เป็นที่รับรู้ในสังคมวงกว้าง

แต่ยังมีสื่ออิสระบางคนยังถูกคำสั่ง คสช. เรียกเข้ารายงานตัวในช่วงแรกๆ ของการรัฐประหาร นอกจากถูกสอบสวนโดยไม่เป็นธรรม และกักขังในค่ายทหารแล้ว การออกมายังถูกเงื่อนไข ห้ามชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองแลห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่รับอนุญาต ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะตีความ เพราะการไปทำข่าวในพื้นที่ที่มีการชุมนุมอาจถูกเหมารวมว่าเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมได้

อีกทั้งพฤติกรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ เองที่มาการปฏิบัติกับนักข่าว อย่างการโยนเปลือกกล้วย การบีบหู หรือการพูดข่มขู่ทีเล่นทีจริง ก็อาจเป็นการแสดงให้เห็นมุมมองของผู้มีอำนาจมองสื่อมวลแทบจะไม่ต่างจากคนในบังคับ คนในสังกัดหรือกรมประชาสมัพันธ์ของตนเอง ไม่ได้ปฏิบัติอย่างเสมอหน้ากัน

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97, 103 วิจารณ์ คสช.ก็ต้องโดยสุจริต

รวมทั้ง ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97(ประกาศเมื่อ 18 ก.ค.57) และ 103(ประกาศเมื่อ 21 ก.ค.57) ก็เป็น เป็นอุปสรรคของสื่อในการเชิญบุคคลไปออกรายการทีวี ซึ่ง คสช. ให้งดนำเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะที่ส่งผลต่อความมั่นคง สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะห้ามสื่อเสนอ “การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช.โดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช.ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ” นั่นเท่ากับว่าหากมีเรื่องที่มีการวิจารณ์ คสช.แล้ว คสช.เอาเรื่อง ก็ต้องมาพิสูจน์เจตนาว่าสุจริตด้วย

ไล่ปิดสื่อ ล่าสุดช่อง PEACE TV

หลัง รปห. ใหม่ๆ มีคำสั่งระงับสื่อที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวมวลชนฝ่ายต่างๆ แม้ภายหลังจะอนุญาตให้ออกอากาศได้ แต่คณะทำงานติดตามสื่อในกองทัพบก ก็เคยร้องเรียนกับ กสทช.ให้พิจารณาลงโทษ กรณี ช่อง PEACE TV, ช่อง 24 TV,ช่องฟ้าวันใหม่  ล่าสุด กสช. ก็ถอนใบอนุญาต PEACE TV โดยอ้างว่ากระทำผิดซ้ำมีเนื้อหายุยง[4] และเมื่อดูจากข้อความตัวอย่างที่ กสช. อ้างว่าเป็นการยุยงจนนำมาซึ่งการสั่งปิด 2 ข้อความ ที่ออกในรายการ มองไกล เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา คือ ในนาทีที่ 15 ข้อความว่า "อย่ามองคนมีความเห็นต่างเป็นศตรู บรรยากาศบ้านเมืองจะมีความน่ารักมากกว่านี้ ไม่ใช่พอพูดแบบนี้จะหาเรื่องปิดโทรทัศน์กันอีก" และนาทีที่ 20 ระบุว่า ผู้ดำเนินรายการได้กล่าวในรายการเกี่ยวกับเหตุการณ์วางระเบิดที่เกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี และเหตุการเพลิงไหม้ ที่ จ.สุราษฏร์ธานี ในลักษณะที่ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการสร้างสถานการณ์ของฝ่ายบ้านเมืองและนักการท้องถิ่นเพื่อใส่ร้ายกลุ่มคนเสื้อแดง 

ถ้าข้อความเท่านี้ถึงขั้นถอนใบอนุญาตได้ ผมก็คิดว่าสื่อทุกช่องก็มีโอกาสโดนได้เช่นกัน เพราะยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่ายุยงปลุกปันเลย เป็นเพียงการแสดงความเห็นของผู้ดำเนินรายการธรรมดาเท่านั้น อย่างที่ สุภิญญา กลางณรงค์[5] กรรมการ กสท. เสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการปิดช่องนี้กล่าว่า “..จากที่ดูเนื้อหาด้วยใจเป็นธรรม ช่องการเมืองเลือกข้างทั้งสอง ยังไม่ถึงขั้นปลุกปั่น แบ่งสี หลักๆคือวิจารณ์ผู้มีอำนาจรัฐ คนร่าง รธน. และ กสทช. อาจมีบางสิ่งที่ดูขัดรสนิยมหรือมาตรฐานจรรยาบรรณไป ถ้าผิด ก็ควรลงโทษแบบไต่ระดับ เบาไปหนักตั้งแต่แรก ที่สำคัญควรเปิดให้เขาชี้แจงก่อน”

นอกจากนี้หลังรัฐประหารยังมีวิทยุชุมชนที่ถูกไล่ปิดจำนวนมาก เว็บไซต์ข่าวสารที่ถูกไล่บล็อก ตั้งแต่มีการรัฐประหาร แม้กระทั่งเว็บข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอย่างฮิวแมนไรท์วอชประจำประเทศไทยก็ถูก ICT บล็อก

อีกทั้งยังมีรายละเอียดข้อจำกัดต่างๆที่เพิ่มขึ้น ทำให้เป็นอุปสรรคในการรายงานข่าวหลังรัฐประหาร เช่น เรือนจำมีการออกข้อจำกัดผู้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง ทำให้โอกาสที่ผู้สื่อข่าวจะทำข่าวประเด็นนี้ยากมากขึ้น รวมถึงมีการพิจารณาลับในคดีความผิด ม.112 ในศาลทหาร

ประเด็นเสรีภาพสื่อใน ร่าง รธน. ฉบับใหม่

ประเด็นเรื่อง "เสรีภาพของสื่อมวลชน" ใน ร่าง รัฐธรรมนูญ 58 นี้อยู่ในมาตรา 48 ที่น่าสนใจและต่างจาก ม.39 รธน.40 และ ม.45 รธน.50 คือ

1. เปลี่ยนจากคำว่า "บุคคลยอมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูดการเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมาย" เป็น "เสรีภาพของสื่อมวลชน"

2. มีการระบุว่า 'เสรีภาพ' ดังกล่าวย่อมได้รับการคุ้มครองก็ต่อเมื่อ

2.1. เป็นไปตามจริยธรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

2.2. อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน

2.3. รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคม

ซึ่ง รธน.2 ฉบับก่อนหน้านี้ไม่ระบุไว้ เท่ากับผิดไปจาก 2.1-2.3 แล้วจะไม่ได้รับการคุ้มครอง 

3. ระบุข้อห้ามไว้ด้วยว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน มิได้ ไม่ว่าในนาม ของตนเองหรือให้ผู้อื่น" ซึ่งมีในรธน. 50 แต่ไม่มีใน รธน.40

4. ระบุข้อห้ามผูกขาดสื่ออีกว่า "เจ้าของกิจการสื่อมวลชนต้องเป็นพลเมือง และพลเมืองไม่อาจเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชนหรือผู้ถือหุ้น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หลายกิจการ ในลักษณะที่อาจมีผลเป็นการครอบงำหรือผูกขาดการนำเสนอข้อมูลข่าวสารหรือความคิดเห็นต่อสังคม" ซึ่ง รธน.2 ฉบับก่อนหน้าไม่มี

5. และ ร่าง รธน.58 แถมอีกในมาตรา 49 ให้มีกฎหมายว่าด้วยองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งประกอบด้วยบุคคลในวิชาชีพสื่อมวลชนและผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งผู้แทนองค์การเอกชนและผู้บริโภค เพื่อปกป้องเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชน ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพ และคุ้มครองสวัสดิการของบุคคล

หากดูจากสถานการณ์การจำกัดสื่อหลังรัฐประหาร และดูจากทิศทางการในอนาคตจาก ร่าง รัฐธรรมนูญ ที่มีเงื่อนไขในการคุ้มครองเสรีภาพสื่อว่าต้อง เป็นไปตามจริยธรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคม ถึงจะได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ แล้วผมคิดว่าสื่อมวลชนก่อนที่จะรณรงค์ ‘เสรีภาพบทความรับผิดชอบ’ ควรรณรงค์ให้เรามีเสรีภาพก่อนดีไหม

เว้นแต่ ‘ความรับผิดชอบของสื่อ’ ในที่นี้จะหมายถึงความรับผิดชอบต่อสังคมที่จะสร้างสังคมที่มีวิจารณญาณ ด้วยการเรียกร้องเสรีภาพให้กับประชาชนในฐานะผู้เสพสื่อ เรียกร้องเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อ แล้วให้ประชาชนผู้เสพตัดสินเอง ไม่ใช่ให้ใครมาเป็นคุณพ่อรู้ดีคอยตัดสินว่าอันนั้นมีความรับผิดชอบอันนี้ไม่มี



[1] http://www.bookbrowse.com/quotes/detail/index.cfm?quote_number=199

[2] ASTVผู้จัดการออนไลน์, สื่อทำเนียบสวมเสื้อ“เสรีภาพบนความรับผิดชอบ”รับวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9580000050080

[3] http://en.wikipedia.org/wiki/Henry_Steele_Commager

[4] ประชาไท, เปิดข้อความที่ทำให้ กสท.สั่งปิด ‘PEACE TV’ อ้างยั่วยุปลุกปั่นฯ 'จตุพร' เผยปรับเป็นสื่อ Social Network http://prachatai.org/journal/2015/05/59068

[5] ประชาไท, เสียงแตก ‘สุภิญญา’ ค้านปิดช่อง Peace TV แจง ‘ยังไม่ถึงขั้นปลุกปั่น’ ชี้มติไม่ผ่านอนุฯ ก่อน http://prachatai.org/journal/2015/04/59003

 

บล็อกของ เทวฤทธิ์ มณีฉาย

เทวฤทธิ์ มณีฉาย
รายการมีเรื่องมาเล่าตอนนี้ เสนอตอน เปิด 5 ศพ ทหารเกณฑ์ถูกซ้อมตาย  เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูเกณฑ์ทหาร ซึ่งปีนี้ มีความต้องการทหารกองประจำการ 103,097 นาย ความต้องการนี้เพิ่มขึ้นทุกปี  โดย สิ่งที่มาพร้อมกับการเกณฑ์ทหาร นอกจากสีสันการลุ้นใบดำใบแดง ภาพชายหนุ่มสวยๆ ต่างๆที่ต้องไปเข้าเกณฑ์ทหารแล้ว คือรายชื่อพลทหารที่ถูกซ้อมจนตายหรือบาดเจ็บสาหัส โดยมีเรื่องมาเล่าฯ ตอนนี้จะยกตัวอย่าง พลทหารที่ถูกซ้อมจนตายเท่าที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างน้อย 5 ราย ประกอบด้วย พลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม พลทหารวิเชียร เผือกสม พลทหารทรงธรรม หมุดหมัด  พลทหารอภินพ เครือสุข  และ พลทหารสมชาย ศรีเอื้องดอย เป็นต้น
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
ข้อถกเถียงว่าด้วยเรื่องของประเด็น 1. สู้หรือซ้อม 2. ชัยภูมิ ไม่ใช่รายแรก เดือนที่แล้วก็มีเหตุวิสามัญแบบนี้ 3. เงินจากขายยาบ้าหรือกาแฟ 4. ขนยาหรือโดนยัด 5. กล้องวงจรปิดดทำไมไม่เปิด 6. ลาหู่ และผลกระทบในช่วงสงครามยาเสพติด-โดนคุกคามหนักถึงชีวิต และ 7. ชาวบ้านกับ จนท. ทะเลาะกันบ่อยจนไม่ไว้วางใจ ตั้งแต่เรื่องที่ทำกินยันโพสต์คลิปในเฟซบุ๊ก
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
เปิดข้อมูลอีกด้านก่อนจะปลื้มไปกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่โชว์ว่าไทยมีระดับความทุกข์ยากต่ำที่สุดในโลก หรือมีความสุขที่สุด 3 ปีซื้อ ขณะที่ปัจจัยที่ใช้วัด อย่าง อัตราการว่างงาน ไทยมีปัญหาในการนับ เพราะทำงานอะไรก็ได้แค่ 1 ชม./สัปดาห์ รวมทั้งเศรษฐกิจนอกระบบเราใหญ่มาก รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ กลับเป็นการสะท้อนปัญหาที่จะเป็นเงินฝืด
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
มีเรื่องมาเล่า ตอน สนช.โดนประชุมประจำ หรือไม่ควรเข้าประชุมตั้งแต่ต้นด้วยซ้ำ สื่บเนื่องจากเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ได้เปิดเผยผลสำรวจ เกี่ยวกับการเข้าประชุมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระยะเวลา 2 รอบ (180 วัน) ของปี 2559  พบว่า สมาชิกอย่างน้อย 7 คน ที่ทำการสำรวจ มาลงมติไม่เกินกว่าหนึ่งในสามของการลงมติในแต่ละรอบ 
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
หลังจากเมื่อเดือนที่ผ่านมาประเด็น 'แพะ' หรือความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมจนนำมาสู่การตัดสินลงโทษผู้บริสุทธิ์ เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคม รายการ 'มีเรื่อง มาเล่า' ตอนนี้ นำเสนอ '5 ประเด็นคุมกำเนิดคดีแพะ' โดยรวบรวมข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อลดความผิดพลาดของระบบ มาเล่า ได้แก่ การพิจารณาคดีให้ครบองค์คณะ การบันทึกเป็นภาพและเสียงแทนตัวอักษร ปัญหาของระบบกล่าวหาทำจำเลยตกเป็นเบี้ยล่างตั้งแต่ต้น การนำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ควบคู่ และความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. ... ที่ถูกนำเข้าสู่สภา 
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
รายการ 'มีเรื่อง มาเล่า' ตอน ไทยความเหลื่อมล้ำ อันดับ 3 ของโลก คนรวยสุด 10% ครองทรัพย์สิน 79% ของประเทศ และข้อเสนอของ นิธิ คำตอบอยู่ที่การเมือง
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
รายการ 'มีเรื่อง มาเล่า' ตอนนี้ นำเสนอ เมื่อดัชนีคอร์รัปชั่นรัฐบาลปราบโกงหล่นฮวบ กับข้อเสนอของ ที่ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ผู้ศึกษาเรื่องคอรัปชั่นมากว่า 20 ปี มานำเสนอบางช่วงบางตอน ซึ่งศ.ดร.ผาสุได้พูดถึงประเด็นการแก้ปัญหาคอรัปชั่นกับระชาธิปไตยไว้อย่างน่าสนใจ 
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
คลิปจากรายการ 'มีเรื่อง มาเล่า' ตอนนี้ เสนอ 6 อันดับ รัฐประหารที่ขอเวลานานทีสุด 
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
1. เพื่อไม่ให้เป็นการลงโทษผู้บริสุทธิ์ (ผู้ต้องหายังไม่ถูกพิพากษาถือเป็นผู้บริสุทธิ์) 2. ปิดช่องกลั่นแกล้งโดยผู้มีอำนาจรัฐหรือฝ่ายบริหาร  3. รักษาหลักประกันความยุติธรรม   และ 4. ยังยั้งการบีบให้ผู้ต้องหาเลือกที่จะสารภาพ
เทวฤทธิ์ มณีฉาย
เก็บตกจากงานเสวนา 'เราควรตีความเสียง No vote อย่างไร' อ่านรายละเอียด http://prachatai.org/journal/2016/08/67197