เปิดข้อมูลอีกด้านก่อนจะปลื้มไปกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่โชว์ว่าไทยมีระดับความทุกข์ยากต่ำที่สุดในโลก หรือมีความสุขที่สุด 3 ปีซื้อ ขณะที่ปัจจัยที่ใช้วัด อย่าง อัตราการว่างงาน ไทยมีปัญหาในการนับ เพราะทำงานอะไรก็ได้แค่ 1 ชม./สัปดาห์ รวมทั้งเศรษฐกิจนอกระบบเราใหญ่มาก รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ กลับเป็นการสะท้อนปัญหาที่จะเป็นเงินฝืด
จากกรณีเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (ฺBloomberg) ได้เผยแพร่ดัชนีความทุกข์ยาก (Misery Index) ประจำปี 2560 ว่า ประเทศไทยมีระดับความทุกข์ยากต่ำที่สุดในโลก หรือมีความสุขที่สุดนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบข้อมูลแล้ว โดยรู้สึกพอใจและชื่นชมหน่วยงานของรัฐที่สามารถรักษาระดับอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อได้ดีเป็นปีที่ 3 ต่อเนื่องกัน
สำหรับ 10 ประเทศที่มีระดับความทุกข์ยากต่ำที่สุดในโลก ประกอบด้วย 1.ไทย 2.สิงคโปร์ 3.สวิตเซอร์แลนด์ 4.ญี่ปุ่น 5.ไอซ์แลนด์ 6.ไต้หวัน 7.เดนมาร์ก 8.อิสราเอล 9.เกาหลีใต้ 10.ฮ่องกง
อย่างไรก็ตามการจัดอันดับดังกล่าว ยังมีข้อถกเถียงจากการใช้เกณฑ์ของตัวเลขอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อ
บลูมเบิร์ก ตั้งข้อสังเกตไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่มาก
บลูมเบิร์ก รายงานว่า ไทยมีอัตราว่างงานต่ำกว่า 1 เปอร์เซนต์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 โดยจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นว่า มีสาเหตุมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ดังนี้ เศรษฐกิจนอกระบบของไทยมีอัตราส่วนแรงงานสูงถึง 64 เปอร์เซนต์จากจำนวนแรงงานทั้งหมดในปี พ.ศ. 2556 สะท้อนถึงขนาดเศรษฐกิจนอกระบบที่สามารถดูดซับแรงงานที่หลุดจากการจ้างงานในระบบ แรงงานในเศรษฐกิจนอกระบบยังรวมถึงร้านค้ารถเข็น แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้างและเจ้าของธุรกิจส่วนบุคคลบางจำพวก ประกอบกับไทยไม่มีโครงสร้างสวัสดิการเพื่อรองรับผู้ว่างงาน จึงไม่มีแรงจูงใจต่อภาวะตกงานเป็นเวลานาน ท้ายที่สุดจึงต้องไปเข้าตลาดแรงงานนอกระบบซึ่งจะไม่ถูกนับเป็นบุคคลว่างงาน
ประชากรไทยมากกว่า 40 เปอร์เซนต์ทำงานอยู่ในภาคการเกษตร โดยภาคส่วนนี้จะมีสัดส่วนของแรงงานไม่เต็มเวลา (Underemployment) และอัตราว่างงานนอกฤดูเกษตรกรรมสูง โดยแรงงานไม่เต็มเวลาถูกรวมอยู่กับแรงงานปรกติ และมีสัดส่วนถึง 0.5 เปอร์เซนต์ ยกตัวอย่างเช่น คนตกงานที่กลับไปทำการเกษตรที่บ้านเกิดวันละไม่กี่ชั่วโมงก็ถูกนับว่าได้รับการว่าจ้าง
วิโรจน์ชี้ว่างงานต่ำเป็นภาพลวงตา
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เคยให้สัมภาษณ์กับประชาไทไว้เมื่อปี 2556 ถึงประเด็นอัตราการว่างงานที่ต่ำ โดย ดร.วิโรจน์ ตั้งข้อสังเกตุว่า ปัจจุบันเรามีอัตราการว่างงานที่ต่ำมาก ซึ่งตนก็คิดว่าจริง แต่ที่บอกว่าไม่ค่อยไว้ใจสถิติของเมืองไทยก็เพราะว่า ตนเข้าใจว่าในการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติยังคงกำหนดนิยามคนที่มีงานทำ ว่าคือคนทำงานมากกว่า 1 ชม.ต่อสัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งพอใช้นิยามแบบนี้ ก็จะแยกคนมีงานทำกับคนที่ว่างงานได้ไม่ชัดพอ ดังนั้นการที่เราบอกว่าเรามีอัตราการว่างงานน้อยมาก แค่ 1%ก็อาจจะเป็นภาพลวงตา
พิชิต ไขว่างงานต่ำเขาทำกันอย่างไร
พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ปีที่ล้ว นี้ด้วยเช่นกันถึงประเด็นนนี้ว่า คำถามคือ เขานับยังไงว่า คนนี้มีงานทำ คนโน้นว่างงาน “คนมีงานทำ” เขานิยามว่า มีอายุ 15 ปีขึ้นไปและในช่วง 7 วันก่อนถูกสัมภาษณ์ทำงานตั้งแต่ 1 ชม.ขึ้นไปโดยได้ค่าจ้าง หรือทำงานอย่างน้อย 1 ชม.ในกิจการของครอบครัวโดยไม่ได้ค่าจ้าง
ทำงานอะไรก็ได้แค่ 1 ชม./สัปดาห์ ก็ถูกนับว่า 'มีงานทำ'
พิชิต ยังระบุต่อว่า ผู้ว่างงาน นิยามไว้สองอย่างคือ อายุ 15 ปีขึ้นไปและในช่วง 7 วันก่อนถูกสัมภาษณ์ ไม่ทำงานและกำลังหางานในระหว่าง 30 วันก่อนสัมภาษณ์หรือไม่ทำงานและไม่ได้หางานทำในระหว่าง 30 วัน แต่พร้อมจะทำงานในช่วง 7 วันก่อนสัมภาษณ์ ฉะนั้น ถ้าคนที่กำลังตกงานหรือเป็นบัณฑิตจบการศึกษาแล้ว อยู่ในระหว่างหางานประจำทำ แต่มีลักษณะต่อไปนี้ ถือว่า “มีงานทำ” ทำงานไม่ประจำ รับงานจร เป็นจ๊อบ สัพเพเหระ อย่างน้อย 1 ชม.ในสัปดาห์ ช่วยงานพ่อแม่ญาติพี่น้อง ในไร่นา ร้านค้าของครอบครัว 1 ชม.ในสัปดาห์ เปิดท้ายรถขายของ แผงลอย เดินเร่ขายของริมถนน 1 ชม.ในสัปดาห์ เปิดเว็บไซต์ ขายของทางเน็ต ไลน์ เฟซบุ๊คโดยใช้เวลา 1 ชม.ในสัปดาห์ คนพวกนี้จัดเป็น “แรงงานนอกระบบ” ซึ่งมีขนาดใหญ่มากในประเทศไทย ถึง 21.4 ล้านคน ราว 56% ของแรงงานทั้งหมด ทำให้ตัวเลขคนว่างงานในไทยต่ำมาก ทั้งที่คนพวกนี้มีรายได้ต่ำ ไม่แน่นอน ไม่มีสวัสดิการมั่นคงใดๆ
เงินเฟ้อที่ต่ำ หรือสะท้อนปัญหาที่จะเป็นเงินฝืด
เรื่องนี้ เมื่อมี.ค.ปีที่แล้ว มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโทการจัดการภาครัฐและเอกชน (MPPM) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า จากการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ส่งสัญญาณไม่ดีนัก สะท้อนได้จากระดับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลงลดติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน จากระดับเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับตัวลดลงจาก 0.96 ในเดือน ก.ย.58 มาอยู่ที่ 0.68% ในเดือน ก.พ.59 และระดับเงินเฟ้อทั่วไปในปัจจุบันอยู่ที่ -0.5% ผันผวนติดลบติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 14 เดือน นับตั้งแต่ต้นปี 2558 ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นในเดือน ก.พ.59 ก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน มาอยู่ที่ระดับ 63.5 ซึ่งเป็นการปรับลดลงติดต่อกันตั้งแต่เดือน ธ.ค.8
ทั้งนี้ จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ภาคครัวเรือนมีความกังวลถึงภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม และปัญหาระดับหนี้ภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง และยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในภาคครัวเรือนซบเซา เกิดการชะลอตัวในอุปสงค์ภายในประเทศ บ่งชี้ได้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :