รายการมีเรื่องมาเล่าตอนนี้ เสนอตอน เปิด 5 ศพ ทหารเกณฑ์ถูกซ้อมตาย เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูเกณฑ์ทหาร ซึ่งปีนี้ มีความต้องการทหารกองประจำการ 103,097 นาย ความต้องการนี้เพิ่มขึ้นทุกปี โดย สิ่งที่มาพร้อมกับการเกณฑ์ทหาร นอกจากสีสันการลุ้นใบดำใบแดง ภาพชายหนุ่มสวยๆ ต่างๆที่ต้องไปเข้าเกณฑ์ทหารแล้ว คือรายชื่อพลทหารที่ถูกซ้อมจนตายหรือบาดเจ็บสาหัส โดยมีเรื่องมาเล่าฯ ตอนนี้จะยกตัวอย่าง พลทหารที่ถูกซ้อมจนตายเท่าที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างน้อย 5 ราย ประกอบด้วย พลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม พลทหารวิเชียร เผือกสม พลทหารทรงธรรม หมุดหมัด พลทหารอภินพ เครือสุข และ พลทหารสมชาย ศรีเอื้องดอย เป็นต้น
1) พลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม
คนนี้สดๆ ร้อนๆ เลย เมื่อ 1 เม.ย. 2560 workpoint news รายงานว่า มีผู้ออกมาเผยแพร่ภาพ พลทหารยุทธกินันท์ ถูกซ้อมจนเสียชีวิตในค่ายวิภาวดีรังสิต มณฑลทหารบกที่ 45 จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจากทำผิดวินัย จึงถูกสั่งขังคุกทหารเพื่อเป็นการลงโทษ จากนั้นพลทหารยุทธกินันท์ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในวันที่ 31 มี.ค. และเสียชีวิตในเวลา 05.00 น. วันที่ 1 เม.ย. นี้
2 เม.ย. 2560 โฆษกกองทัพบก ชี้แจงถึงกรณีนี้หน่วยต้นสังกัดต้องดำเนินการการตามนโยบายของ ผบ.ทบ.ต่อการดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านกำลังพลโดยเคร่งครัด ต่อกรณีการเกิดเหตุในลักษณะดังกล่าว ซึ่งเริ่มจากการสอบสวนในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นซึ่งขอให้มั่นใจถ้าผลสรุปพบว่ามีกำลังพลคนใดได้กระทำความผิด จะถูกดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งกฎหมายบ้านเมือง และกฎหมายของวินัยทหารขั้นรุนแรงสูงสุดอย่างแน่นอน
ผบ.มทบ.45 ได้มีคำสั่งให้นายทหาร 2 นาย ที่คาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุมทำร้ายพลทหารยุทธอินันท์ มาช่วยราชการที่ มทบ.45 พร้อมทั้งมีคำสั่งให้ พ.อ.สมศักดิ์ บุญชรัตน์ หัวหน้าฝ่ายสรรพกำลัง มทบ.45 เป็นหัวหน้ากรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และให้รายงานผลปฎิบัติทันที
ฝั่งญาติ คือ เรณู หมดราคี มารดาของพลทหารยุทธอินันท์ ทางญาติพลทหารยุทธอินันท์ยังไม่ได้กำหนดวันฌาปณกิจศพ เนื่องจากมีความตั้งใจว่าหากคดีความยังไม่กระจ่างจะยังไม่ทำการฌาปณกิจ
พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึง กรณีนี้ด้วยว่า รู้สึกเสียใจต่อการเสียชีวิตของพลทหารยุทธกินันท์เป็นอย่างยิ่ง รายละเอียดต่างๆ อยู่ในระหว่างการสอบสวนขึ้น แต่ได้สั่งการผ่านแม่ทัพภาคที่ 4 ให้ดูแลครอบครัวชีวิตอย่างใกล้ชิด
“ผมเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และต้องขอโทษสังคม เรื่องนี้เป็นนโยบายหลักของผมที่สั่งการไว้ว่า ไม่ให้มีการทำร้ายร่างกาย โดยเฉพาะพลทหาร" พล.อ.เฉลิมชัย
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม 1, 2 และ 3 )
2) พลทหารวิเชียร เผือกสม
กรณีนี้เป็นกรณีดัง เนื่องจากหลานสาวของเขา นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ หรือ เมย์ ออกมาต่อสู้เรียกร้อง จนเป็นคดีความฟ้องร้องกันไปมากับทหารต้นสังกัด พลทหารวิเชียร ถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิตในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2554 เพียงเวลาไม่ถึง 2 เดือนหลังจากที่เขาไปเป็นทหารเกณฑ์ ทางบ้านได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ว่า พลทหารวิเชียรเสียชีวิตเนื่องจากไตวายเฉียบพลัน กล้ามเนื้อฉีกขาดรุนแรง ร่างกายถูกของแข็งกดทับ และมีร่องรอยถูกทำร้ายร่างกาย ต้นเหตุของความสูญเสียเกิดจากการสั่งทำโทษของร้อยโท 1 นายร่วมกับพวกรวม 10 คน โดยบรรดาครูฝึกทหารใหม่อ้างว่าพลทหารวิเชียรถูกลงโทษเพราะหลบหนีการฝึกถึง 2 ครั้ง
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม 1 )
3) พลทหารทรงธรรม หมุดหมัด
2 เม.ย.59 พลทหารทรงธรรม อายุ 23 ปี พลทหารสังกัด ร.152 พัน 1 ค่ายพยัคฆ์ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ถูกทำโทษเนื่องจากกระทำความผิดทางวินัย จนทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส และส่งตัวมายังโรงพยาบาลยะลา แม่พลทหารทรงธรรมเชื่อว่า สภาพร่างกายของลูกชายบอบช้ำจากการถูกทำร้าย มีการใช้ไม้ตี และถูกรุมทำร้าย เนื่องจากมีบาดแผลฟกช้ำตามร่างกายหลายแห่ง และทางแพทย์ยังบอกอีกว่า มีเลือดออกในสมอง ไม่รู้สึกตัว ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 2 วันต่อมา เขาเสียชีวิตลง
จากนั้น 19 ต.ค. 2559 โปรดเกล้าฯ ถอดยศ 'ร.ต.ภัฏณัฐ เลิศชัยกุล สังกัดกองทัพบก ออกจากยศทหาร โดย ร.ต.ภัฏณัฐ ถูกระบุว่าเคยเป็นนายทหารเวร และออกคำสั่งให้ทหารเวรลงโทษ ซึ่งกรณีนี้มี 6 นายทหารร่วมกระทำความผิด ลงโทษวินัย พลทหาร ทรงธรรม ขณะที่กองทัพบกได้มีคำสั่งให้ย้าย พ.ท.สมคิด คงแข็ง ผบ.ร.152 พัน.1 และนายทหารยศร้อยเอก ออกนอกหน่วยแล้ว เพราะถือว่าเป็นผู้ที่ต้องร่วมรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม 1 )
4) พลทหารอภินพ เครือสุข
15 พ.ค.52 นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ หัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจศพ
สรุปสาเหตุการตายของพลทหารอภินพ เกิดจากฐานกะโหลกศีรษะส่วนหลังข้างซ้ายแตกร้าวและมีเลือดออกเหนือเยื่อหุ้ม สมองชั้นหนาด้านซ้าย
พลทหารอภินพ เป็นอดีตทหารรับใช้ประจำบ้านพักแม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งเสียชีวิตที่บ้านพักแม่ทัพภาค 1 ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็ก รักษาพระองค์
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม 1 )
5) พลทหารสมชาย ศรีเอื้องดอย
เหตุเกิดเมื่อ 21-23 ม.ค. 2557 พลทหารสมชาย อายุ 20 ปีเศษ เป็นทหารประจำค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ ถูกซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ทหาร 3 นาย ลงโทษด้วยการใช้ปี๊บคลุมศีรษะ ใช้อาวุธตีที่ศีรษะ แผ่นหลัง หน้าอก จำนวน 20 ครั้ง หลังจากนั้นพลทหารสมชาย ฯ ได้แจ้งให้มารดาทราบว่าตนถูกซ้อมทรมาน จนกระทั่งต่อมาวันที่ 28 มกราคม 2557 พลทหารสมชายถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลค่ายกาวิละ ด้วยอาการไอ เจ็บคอ มีอาการเหนื่อย หอบ และเหงื่อแตก เจ้าหน้าที่พยาบาลโรงพยาบาลกาวิละ ตรวจสอบอาการแล้ว เห็นว่ามีอาการหนัก เข้าใจมีอาการติดเชื้อ จึงส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเทพปัญญา จังหวัดเชียงใหม่ จนกระทั่งพลทหารสมชาย ฯ ถึงแก่กรรมลงเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2557
ซึ่งต่อมา 23 พ.ค. 2558 นางสายสุดา มารดา จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหารผู้กระทำละเมิดต่อศาลแพ่ง โดยเรียกค่าเสียหายต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิต ร่างกายหรือจิตใจ
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม 1 )
นอกจากนี้ยังมี สิบโทกิตติกร สุธีรพันธุ์ ถูกซ้อมจนเสียชีวิตระหว่างการสอบสวนคดี ในขณะที่ถูกควบคุมตัวภายในเรือนจำค่ายวีรวัฒน์โยธิน จ.สุรินทร์ ศาลจังหวัดสุรินทร์ได้อ่านคำสั่งไต่สวนการตายระบุว่า “ผู้ตายคือ สิบโทกิตติกร สุธีรพันธุ์ ตายที่เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 25 เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2559 เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ มีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรงร่วมกับกระเพาะอาหารแตก เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกาย โดยพลทหารและพลอาสาสมัครจำนวน 4 นาย ร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย” พนักงานสอบสวนได้ส่งเรื่องของสิบโทกิตติกร ซึ่งถูกทำร้ายร่างจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไป
พลทหารอิสมาแอ นะดารานิง เหตุการณ์เมื่อ 6 มิ.ย. 2553 พลทหารอิสมาแอ ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่เป็นพลทหาร อยู่ที่สังกัดกองร้อยปืนเล็กที่ 4 กองพันทหารราบที่ 8 ค่ายกรมหลวงสงขลานครินทร์ ซึ่งตั้งอยู่ถนนริมทะเล ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยในวันดังกล่าวมารดาได้ให้ข้อมูลว่าบุตรชายได้โทรศัพท์หาตนเมื่อเวลา 10.00 น. ว่าต้องการกลับบ้าน แต่กลับไม่ได้ เนื่องจากยังอยู่ประจำการไม่ถึงเดือน
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2553 นางอาอีเสาะ ฯได้ไปเยี่ยมบุตรชายที่ค่ายดังกล่าว แต่ไม่พบตัวบุตรชายแต่อย่างใด ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทหารที่ค่ายได้บอกว่า พลทหารอิสมาแอฯได้ออกจากค่ายไปแล้ว เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2553 หลังจากเกิดเหตุการณ์ครอบครัวได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจอำเภอรามัน จังหวัดยะลา และได้ไปร้องเรียนต่อองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือในพื้นที่
จากนั้นปี 58 ญาติขอให้ศาลสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม 1 และ 2)
สำหรับข้อเสนอในการป้องกันปัญหาเหล่านี้ ตั้งแต่ ป้องกันและแสวงหาความจริง โดยกรรมการที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐหรือคนในค่าย เนื่องจากกรณีแบบนี้รัฐถือเป็นจำเลยด้วย จึงต้องตั้งกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงที่ได้รับความไว้วางจากทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งก่อนน้านี้ ก็มีการพยายามผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. ... ที่เพิ่งถูก สนช. โยนกลับไปให้ ครม. ในร่างดังกล่าวนอกจากมีารตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ที่เข้ามาดูกรณีเหล่านี้แล้ว ยังมีในส่วนของการเพิ่มโทษ เช่น มาตรา 5 เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำทรมาน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท หากผู้ถูกทรมานได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 10-30 ปี ปรับตั้งแต่ 2-6 แสนบาท และหากถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต รับตั้งแต่ 6 แสน-1 ล้านบาท
สิ่งสำคัญยังรวมไปถึงคำถามต่อปริมาณการเกณฑ์ทหาร ทำไมต้องการเพิ่มขึ้น และอาจรวมไปถึงความจำเป็นของการมีอยู่ของระบบทหารเกณฑ์ เปลี่ยนเป็นสมัครทั้งหมดได้หรือไม่ เป็นต้น