Skip to main content
พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ
๑. หลวงพ่อปัญญาพระเดชพระคุณ พระพรหมมังคลาจารย์ หรือ “หลวงพ่อปัญญา” ของศิษยานุศิษย์ ละสังขาร หรือมรณภาพเสียแล้ว เมื่อเช้าวันที่ ๑๐ ตุลาคม ท่ามกลางความรู้สึกสูญเสียของผู้เกี่ยวข้องผู้เขียนไม่เคยมีโอกาสศึกษาธรรมะจากท่านโดยตรงไม่ว่าโดยการฟัง พูดคุย หรืออ่านหนังสืออีกทั้งยังไม่เคยได้รับใช้ใกล้ชิด หรือมีโอกาสได้จำพรรษาร่วมอารามกับท่านแม้สักพรรษาเดียวแต่ด้วยความที่เติบโตมาในจังหวัดบ้านเกิดของท่านบวชเรียนในวัดที่หลวงพ่อเคยชี้ให้ดูโคนต้นขนุนชราแล้วบอกว่า… ครั้งที่ท่านยังเป็นเด็กเลี้ยงวัว เคยนั่งพักร่มขนุนต้นนี้บ่อยๆในคราวหนึ่ง เมื่อท่านแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนวัดเล็กๆ วัดนั้นหลวงพ่อปัญญา เป็นคนภาคใต้ และคงไม่น่าเกลียดอะไรนักหากจะบอกว่า นับตั้งแต่รุ่นหนุ่ม จนถึงปูนชราท่านก็ยังคงความเป็น “คนใต้” หรือ “นักเลงปักษ์ใต้” ชนิดของแท้และดั้งเดิมเอาไว้เสมอคำว่า “นักเลงปักษ์ใต้” นี้มิได้หมายถึงอันธพาล ชนิดตีหัวหมาด่าแม่เจ๊กแต่หมายรวมเอาความเป็น “คนจริง” “คนตรง” “พูดและทำตรงไปตรงมา”อย่างรักษาเกียรติ และโอ่อ่าเปิดเผย ยากที่จะก้มหัวให้กับใครโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความไม่ถูกต้อง หรือคนไม่ถูกต้องวาจาขวานผ่าซาก ของหลวงพ่อนั้นอาจลดลงไปตามวัยแต่เนื้อหาใจความที่ “ผ่าซาก” นั้น เชื่อว่าหลายคนที่ติดตามชีวิตและผลงานคงเข้าใจได้ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงผู้นำ พูดถึงบ้านเมือง หรือกระทั่งเมื่อพูดถึงการพระศาสนาและคณะสงฆ์นอกจากความตรงและแรงแล้ว ในความเป็นนักเลงนั้นเองเมื่อมาศึกษาและปฏิบัติธรรม ท่านก็พกเอาความมีน้ำใจ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มาด้วยอย่างเต็มเปี่ยมดังการที่หลวงพ่อผลักดันให้อาจารย์เจ้าอาวาสวัดที่ผู้เขียนบวชได้มีสมณศักดิ์เป็นพระครู ทั้งที่ท่านผู้เฒ่าไม่มีคุณวุฒิตามการศึกษาคณะสงฆ์หรือเป็นพระนักก่อสร้าง ดังที่ทางราชการชอบนับจำนวนอาคารเป็นผลงานกระทั่งคณะสงฆ์ไทยมีพระครูส้วม พระครูโบสถ์ พระครูวิหาร กันคราวละหลายๆ ท่านหลวงพ่อบอกกับผู้เขียนว่า“ท่านกลั่นท่านเป็นพระแบบเก่า ชอบสร้างคน ส่งเสริมการศึกษา มัวส่งเสริมคนอื่นจนตัวไม่ได้เรียน…”สมณศักดิ์ที่ท่านพระครูผู้เฒ่าได้รับก่อนมรณภาพไม่นาน จึงเป็น “พัฒนภารพิจิตร”“พิจิตร” หรือ “วิจิตร” ตรงการส่งเสริมการศึกษา สร้างมหาเปรียญ และนักธรรมไว้นับพันๆ รูปซึ่งบัดนี้เป็นครูบาอาจารย์ เป็นเจ้าคณะปกครอง เป็นฆราวาสข้าราชการ อยู่ที่นี่ที่นั่น นับไม่ถ้วนคุณูปการของหลวงพ่อปัญญานั้นมีมากมายมหาศาลนักเมื่อท่านมรณภาพลงคงมีใครต่อใครที่ได้รับอานิสงส์จากความเป็น “หลวงพ่อปัญญา” กล่าวถึงกันไปอีกนานไม่ว่าจะเป็นชาวสวนโมกข์ ชาววัดอุโมงค์ ชาววัดชลประทานฯหรือศิษยานุศิษย์ ทั้งฝ่ายคฤหัสถ์และบรรพชิตการกล่าวถึงการจากไปสำหรับพระภิกษุ “ผู้ยิ่งใหญ่ในทางธรรม”คงไม่ใช่เรื่องของการโหยหารำพันพิลาป หากแต่ควรถือเอาเป็นโอกาสที่จะเรียนรู้ ศึกษา เพื่อสานต่อ หรือเดินตามรอยท่าน อันจะเป็นกุศล ทั้งต่อผู้ยังอยู่ และผู้ที่จากไปแล้ว…หากมีคนติดตามศึกษาชีวิตและผลงานของท่านด้วยความตั้งอกตั้งใจ อย่างมีฉันทะ และกุศลเจตนาแล้ว“หลวงพ่อปัญญา” คงจะร่วมยินดีกับความตั้งใจเช่นนั้นไม่ใช่น้อย๒. พระพม่ามีหลายคนสอบถามผู้เขียนอยู่เสมอเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ของพระภิกษุ หรือคณะสงฆ์ในพม่าคำถามออกจะแตกต่างกันไปตามแต่ภูมิรู้และภูมิธรรมตลอดจนประสบการณ์ในทางการเมือง ที่เกิดจากการเรียนรู้ฝึกฝน และสติปัญญาความสามารถคำถามหลักๆ คงไม่พ้นไปจากเรื่องความเหมาะสมกับสมณสารูป และความจำเป็นที่ต้องลงมือกระทำซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ชาวพุทธไทยจะสงสัยในเรื่องเช่นนี้ ค่าที่ว่า สำหรับวัฒนธรรมไทยๆ ในยุคร้อยปีเศษที่ผ่านมา“พระภิกษุสามเณร” ดูจะมีหน้าที่อย่างพราหมณ์เป็นด้านหลักกล่าวคือ พระไทย หากมิใช่พัฒนาตนจนกลายเป็นนักวิชาการ เป็นผู้ชำนาญการด้านศาสนา ก็จะไต่เต้า เข้ารับใช้รัฐในฐานะข้าราชการฝ่ายสงฆ์ กลายเป็นขุนนางมียศศักดิ์อัครฐานหรือไม่ ก็ค่อยๆ แก่กล้าในทางประกอบพิธีกรรม ตั้งแต่ที่เป็นกิจของสงฆ์(แบบไทยๆ)ไปจนถึงระดับหมอผี มีอวิชชาเป็นเจ้าเรือนอย่างเต็มตัวสังคมไทยยุคหลังสังคมสยามคุ้นชินกับพระเช่นนี้มากกว่าจะคุ้นเคยกับ “ภิกขุ” ใน “สังฆะ” ของพระอริยเจ้าดังเช่นที่เคยมีมาในครั้งพุทธกาล…นี่ยังไม่นับรวมเอาความวิปริตผิดธรรมของฝ่ายคฤหัสถ์ หรือฝ่ายผู้ครองเรือนเองที่ยากจะกล่าวได้เต็มปาก ว่าตนเป็น อุบาสก-อุบาสิกา อยู่หรือไม่ตั้งแต่ผู้ลากมากดียันไพร่บ้านพลเมืองนั่นแลก็คนไทยเป็นชาวพุทธกันอย่างนี้แล้วจะเข้าใจ “พระพม่า-ชาวพุทธพม่า” กันได้อย่างไร? “พระพม่า” ซึ่งยังมีผู้ท่องจำพระไตรปิฎกได้ทั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์“ชาวพุทธพม่า” ซึ่งยังมีศรัทธาแก่กล้า ที่จะนำหลักพุทธธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวันและยังพยายามอย่างยิ่งยวด ที่จะสร้างเหตุปัจจัยเพื่อนิพพานอยู่ทุกขณะจิต ฯลฯเอากันง่ายๆ แค่การ “ถอดรองเท้า” เข้าวัด เข้าวิหารลานเจดีย์หนุ่มสาวเฒ่าแก่ของไทยก็แทบจะลืมเลือนไปเสียหมดแล้วจะพึงหวังให้ชาวพุทธไทยออกมาเดินขบวนเป็นโล่ห์มนุษย์คุ้มครองพระเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เพื่อประกาศคว่ำบาตรรัฐ ฯลฯ เล่นกันถึงเลือดถึงเนื้อขนาดนั้นจะเกิดขึ้นได้ล่ะหรือ? จะกล้ากันล่ะหรือ?อย่าว่าแต่คนวัดคนวาเลย คนชั้นกลางคอขาวเข่าเกลี้ยงทั้งหลายนั่นล่ะแค่ “คิดด้วยหลักพุทธธรรม” จะเคยบ้างไหมก็ไม่รู้วีรกรรมความอาจหาญของ “ชาวพุทธพม่า” นั้นเหลือวิสัย หรือเกินพรมแดนความรู้ “ชาวพุทธไทยๆ” ไปมากนักผู้เขียนเองครั้งที่ยังศรัทธาจะเชิญชวนคนหนุ่มสาวเข้ามาหาธรรมและพยายามนำเสนอ “การประยุกต์ธรรมให้สมสมัย” มีโอกาสได้พูดคุยกับพระและหนุ่มสาวพม่าอยู่บ้างระลึกคราวใดก็ต้องยกย่องคนเหล่านั้นอยู่เสมอหากปัจจุบันหมดไฟ เลิกชวนใครต่อใครทวนกระแสเสียแล้ว…“หลวงพ่อปัญญา” กับ “พระพม่า” เกี่ยวข้องกันบ้างไหม? และอย่างไร?ก็อาจจะบอกว่า ความวีระอาจหาญในทางธรรม หรือมโนธรรมสำนึกแบบ “พระพม่า” นั้นเทียบเคียงในบ้านเรา ก็พอมีบ้างในคราว “หลวงพ่อปัญญา” ในคราว “ท่านอาจารย์พุทธทาส” โน่น ปัจจุบันพุทธบริษัทชาวไทยเป็นอย่างไรก็พอจะรู้ๆ กันอยู่จะต้องเอามาประจานกันให้แสลงปากทำไม...
พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ
หลายองค์กรชาวพุทธออกมา “คัดค้าน”การประกวด การตัดสิน และการให้รางวัล ผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งอย่างรุนแรง และต่อเนื่องกล่าวโทษถึงขั้นมุ่งร้าย และ/หรือ ทำลายพระพุทธศาสนาค่าที่ศิลปินผู้นั้นเขียนภาพ “ภิกษุสันดานกา”ในลักษณะอาการ ตำหนิ หรือติเตียน การกระทำสำหรับพฤติกรรมอันน่ารังเกียจอย่างที่ชาวโลกเห็นว่าผู้เป็น “สมณะ” ไม่ควรประพฤติแต่ในที่สุด กลุ่มบุคคล หรือองค์กร รวมทั้งหน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติก็ได้พบว่า…มีชาวพุทธจำนวนหนึ่งเช่นกันที่ไม่เห็นด้วย เอือมระอา หรือรังเกียจ “การแสดงออก” ของตน หรือของพวกตน และมีบ้าง ที่ถึงขั้นกล่าวว่าเป็นอาการ “ร้อนตัว” “วัวสันหลังหวะ” หรือ “กินปูนร้อนท้อง” ทำนองว่ากลัวคนอื่นจับได้ไล่ทัน จึงออกมาปกป้อง “หม้อข้าว” ของตน และพรรคพวกนี่คงไม่ใช่ครั้งแรกหรือครั้งสุดท้าย…สำหรับการแสดงออก และการมีความเห็นที่แตกต่างต่อสิ่งที่เรียกว่า “การปกป้องพระศาสนา” และ/หรือ “ความยึดมั่นถือมั่น” เพราะด้านหนึ่งชาวพุทธและสังคมของพวกเขา ในฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะตามไม่ทัน และขัดแย้ง กับ “สังคมสมัยใหม่” (หรือสังคมหลังสมัยใหม่?) พร้อมๆ กับอีกด้านหนึ่ง ที่ “พุทธนอนุรักษ์นิยม” ก็ขัดแย้ง หรือตามไม่ทัน “พุทธก้าวหน้า” ที่พยายามแก้ปัญหาหรือนำเสนอทางออก ให้ “พระพุทธศาสนา” อยู่ในโลกที่เป็นจริงชนิดที่สามารถนำพาสังคม หรือเสนอทางออกให้สังคม และสมาชิกในสังคมได้เช่นเดิมแน่ล่ะว่าการ “ปกป้อง-รักษา” เป็นภารกิจสูงเกียรติ และน่ายกย่อง แต่ใช่หรือไม่ว่า หากพลั้งพลาด สะดุดเท้าตนเองเข้าก็จะกลายเป็น “ยึดมั่น-ไร้เดียงสา” ไปได้โดยง่าย และอย่างคาดไม่ถึง…อยากให้กำลังใจกับทุกฝ่ายว่าการ “แสดงออก” อย่าง “เปิดเผย สงบ และสันติ” ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากประกอบไปด้วย “สติ ปัญญา สัมปชัญญะ และสมาธิ” ตลอดจนมีกระบวนการศึกษา วิเคราะห์ และสรุปบทเรียน ที่เหมาะสมการเอาชนะคะคานนั้นมีรสชาติ แต่ท้ายสุด ก็แค่การ “สร้างผู้แพ้” จำนวนหนึ่งขึ้นมาเท่านั้น และจับพลัดจับผลู ดีไม่ดีจะแพ้ “กิเลส” เอาทุกฝ่ายเสียด้วยซ้ำพุทธธรรมมีไว้ปฏิบัติ และปฏิบัติเพื่อดับทุกข์เท่านั้น !!!