Kitsch

แย้ง อดอร์โน (จบ) : สิ่งที่ดีที่สุดในศิลปะสาธารณ์ คือการสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้

2 February, 2008 - 02:16 -- parid

 Adorno pop art

ที่ผ่านมาผมพูดถึงการที่ดนตรีไม่ได้ทำให้ใครกลายเป็นปัจเจกเทียมก็แล้ว พูดถึงโลกอันหลากหลายหลังปี 1970 ก็แล้ว พูดถึงการที่ตัวดนตรี Serious Music หรือ Popular Music ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการ Liberate อะไรโดยตรง (เว้นแต่วัฒนธรรมที่พ่วงมาด้วย จะว่าไป หากนับวัฒนธรรมที่พ่วงมาด้วย Popular Music น่ะ ช่วย “ปลดปล่อย” ผู้คนได้มากกว่าด้วยซ้ำ) ก็แล้ว

สำหรับในบทนี้ก็จะมาพูดถึงสิ่งที่อดอร์โนทำผิดพลาดมากที่สุด นั่นคือการปฏิเสธดนตรีป็อบโดยสิ้นเชิง ไม่ร่วมสังฆกรรมใด ๆ กับมันอีก เพราะเขาได้ตีกรอบมาแล้วว่าดนตรีป็อบมันย่อมเป็นอะไรที่ถูกทำให้มีมาตรฐานเดียวกัน (Standardize) และความที่มันมีมาตรฐานเดียวกันนี่เอง จึงไม่จำเป็นต้องไปตีความหรือวิจารณ์อะไรมันให้ยุ่งยาก เพราะมันล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตแบบโรงงานที่สร้างมาเพื่อบริโภคแล้วก็รับทุกอย่างไปเท่านั้น

ขอย้ำอีกครั้งว่า นี่คือความผิดพลาดร้ายแรงที่สุดสำหรับอดอร์โน

ผมเชื่ออยู่ระดับหนึ่งว่า ศิลปะไม่ว่าจะแขนงไหน ป็อบหรือไม่ป็อบยังไงก็ตามแต่ มันมีส่วนในการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ อยู่ทั้งนั้น แต่ไม่ถึงขั้นล้างสมองหรือทำให้ผู้คนเกิดยึดถือในมาตรฐานเดียวกันไปหมดได้

การจะทำให้ผู้คนยึดถือมาตรฐานเดียวกันหมด (Standardization) มันเกิดจากการเรียนรู้ตั้งแต่กำเนิด ซึ่งสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกับคน ๆ นั้นก็มีส่วนในตรงนี้

พิธีกรรมยืนเคารพธงชาติ การยืนในสถานการณ์อื่น ๆ ข่าวที่มาเวลาเดิมทุกวัน ภาพ เพลง และชุดสีเดียวซ้ำ ๆ ซาก ๆ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะถ่ายโอนลงในหัวใครได้ทันทีทันใดแบบการโหลดไฟล์ลงคอมพิวเตอร์ แต่มันเป็นเหมือนไวรัสที่ค่อย ๆ แอบครอบครองพื้นที่ความคิดของเราอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอย่างแนบเนียน

แต่กระนั้นก็น่าสงสัยว่าสิ่งที่ผมเพิ่งกล่าวถึงข้างต้น (และไม่ควรกล่าวถึงบ่อย ๆ หากยังรักตัวกลัวตีน) น่าจะเรียกว่าเป็น 'วัฒนธรรมป็อบ' ได้จริงหรือไม่

เพลงของแกรมมี่ อาร์เอส เราสามารถวิพากษ์วิจารณ์มันได้ในที่แจ้ง อาจจะต้องระแวดระวังแฟนคลับแบบสุดโต่งสักเล็กน้อย (แฟนคลับที่ดี ๆ น่าคบหามันก็มี) และถึงแม้ว่าเราจะถูกคุกคามทำร้ายเพียงเพราะวิพากษ์วิจารณ์เพลงป็อบที่คนส่วนใหญ่ชอบ กฏหมายก็พร้อมจะคุ้มครองเรา

แต่กับสิ่งที่ผมได้กล่าวถึงไป (และไม่ควรกล่าวถึงบ่อย ๆ หากยังไม่อยากถูกยัดข้อหา) นั้น วิพากษ์วิจารณ์ในที่แจ้งแทบไม่ได้ และหากเราถูกคุกคามทำร้ายเพราะวิพากษ์วิจารณ์ “…” ล่ะก็ กฏหมายในปัจจุบันก็คงไม่ปราณีเราแน่

น่าสงสัยว่า สิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้นั้น ควรจะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมป็อบ (หรือวัฒนธรรมมวลชน) จริง ๆ หรือ เพราะดนตรีที่เป็นวัฒนธรรมมวลชนจริง ๆ นั้น ไม่ว่ามันจะถูกผลิตมาจาก นายทุนใหญ่ (อาเฮีย อากู๋ ฯลฯ) หรือ นายทุนน้อย (อินด้ง อินดี้) มันก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ผู้คน 'เลือก' เข้าถึงมันได้ ไม่ว่าพวกเขาจะมีความเชื่อหรือทัศนคติแบบใด ไม่จำเป็นต้อง “ยัดเยียด” เปิดตามระบบขนส่งมวลชนที่ล้ำสมัยขัดกับเนื้อหาเพลง

พูดแบบทุนนิยมกระแสหลักเลยก็ได้ ว่าเพลงของ Pink Floyd สำหรับบางคน (รวมถึงผมเอง) อาจกลายเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะทั้งรูปแบบทางดนตรีที่ถูกจริตและเนื้อหาที่ “ตอบสนอง” ความรู้สึกพวกเขาได้ แต่นั่นเป็นเพราะเขาถูกยัดเยียดหรือเปล่า หรือว่าเขาได้ “เลือก” มันเองกันแน่

ขณะเดียวกัน Pink Floyd สำหรับบางคนอาจเป็นแค่ดนตรีที่ฟังแล้วไม่เข้าใจ (น่าจะใช้คำว่า “ไม่อิน” จะถูกกว่า) แต่ก็เป็นเพียงเพราะมัน “ตอบสนอง” คนบางกลุ่มไม่ได้ คนกลุ่มนี้ไม่ได้ดีหรือเลว โง่หรือฉลาดกว่าใคร และหากเขาไม่ต้องการสิ่งที่ตอบสนองเขาไม่ได้ เขาก็แค่ “ไม่เลือก” มันเท่านั้นเอง

ความเชื่อหรือทัศนคติที่แตกต่างกันจะนำมาซึ่งการวิจารณ์ และการสามารถวิจารณ์ได้อย่างไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ เป็นคุณสมบัติที่มีค่ายิ่งของวัฒนธรรมป็อบ การวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความเห็นโต้ตอบได้นี่แหละ ทำให้มันเป็นศิลปะ เป็นวัฒนธรรมของ “มวลชน” เป็นสิ่งที่ “สาธารณะ” อย่างแท้จริง

Pop culture conception and perception

เพลง “มอเตอร์ไซค์รับจ้าง” ของ โลโซ อาจทำให้ใครบางคนเปลี่ยนทัศนคติมามอง วิน-มอเตอร์ไซค์ในแง่ดีขึ้น ขณะที่บางคนอาจจะเคยมีประสบการณ์ร้าย ๆ จากคนทำอาชีพนี้มาก่อน เลยรู้สึกว่าเพลงนี้ไม่น่าเชื่อถือ แม้ทั้งคู่จะเห็นอะไรต่างกันในเพลง ๆ เดียว แต่หากพวกเขาแสดงความคิดเห็นกับมันร่วมกันได้ ย่อมเป็นเรื่องที่ดี

คนเราย่อมมีวิจารณญาณของตนเอง และการที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ มันยังทำให้เกิดการโต้ตอบกับเพลง ๆ นั้น แล้วเรายังสามารถเอาไปถกเถียงกับคนอื่น ๆ ที่ฟังเพลงเดียวกันได้ ทำให้ผู้ที่ฟังเพลงนี้ล้วนแต่เป็นผู้บริโภคที่แอคทีฟ ไม่ได้เป็นแค่ผู้บริโภคแบบสมยอมรับความคิดมาโดยไม่มีการคัดคานแบบที่อดอร์โนว่ามา ไอ่สิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้นี่สิ…น่ากลัว

การเมินเฉยโดยสิ้นเชิงต่อดนตรีป็อบซึ่งเป็นอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม รวมถึงเป็นวัฒนธรรมมวลชน จึงไม่ใช่ทางออกอย่างแน่นอน

หากในพื้นที่ของการเมืองมีเรื่องของระบบตรวจสอบจากแนวราบ มีเรื่องของประชาสังคมในการคัดค้านหรือผลักดันนโยบาย ในพื้นที่ของวัฒนธรรมก็มีการวิจารณ์ การแสดงความเห็น ไม่ว่าจะจาก So-Called professional อย่างนักวิจารณ์ , นักวิเคราะห์ , นักวิชาการ ฯลฯ หรือจากคนทั่วไป (แบบที่เรียกว่า Civil Report) ทั้งหลาย ซึ่งไม่ว่ามันจะผิดจะถูก จะฟังดูโง่หรือฟังดูฉลาดยังไง ก็เป็นเสียงที่มีคุณค่าในตัวมันเอง เพราะอย่างน้อยมันก็มาจากประชาชน

ปัญหาต่อมาคือ เราจะทำยังไงให้เสียงของผู้คนเป็นที่รับฟังโดยเท่าเทียม ไม่ว่ามันจะมีอคติ จะชี้นำ จะมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือจะไปขัดใจใคร เพราะมนุษย์ปุถุชนทุกคนล้วนแต่ยังมีอคติ มีการชี้นำในแบบของตนเอง มีการใส่ใจเรื่องผลประโยชน์ (บางคนอาจสำคัญถึงขั้นเป็นเรื่องของปากท้อง การอยู่รอด) แต่ทั้งหลายเหล่านี้คือความเป็นมนุษย์ที่อยู่ภายใต้ท้องฟ้าผืนเดียวกัน ไม่ได้มีใครอยู่เหนือฟากฟ้าของใคร

งานเขียนของอดอร์โนรวมถึงบทความของผมเอง ก็ล้วนอยู่ภายใต้สิ่งเหล่านี้ด้วย ทั้งผมและอดอร์โนต่างก็ชี้นำผู้อ่านอยู่ในแบบของตัวเอง แต่ผู้อ่านไม่ใช่หุ่นยนต์หรือคอมพิวเตอร์ ทั้งผมและอดอร์โนจึงไม่อาจป้อนข้อมูลชี้นำใครได้ 100% ทุกคนมีวิจารณญาณ มีทัศนคติดั้งเดิมที่ต่างกัน (จากการเรียนรู้ตั้งแต่กำเนิด) และมีเจตจำนงเสรีของตัวเอง

สิ่งที่ผมเพ้อฝันเอามาก ๆ คือจะทำอย่างไรให้คนยอมรับความต่างเหล่านี้ได้ โดยที่ไม่มีความต่างของใครลอยอยู่เหนือฟากฟ้า จนกลายเป็น “ความต่าง” ที่ดีกว่าของคนอื่น และที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ อะไรก็ตามที่มันลอยอยู่เหนือฟากฟ้ามันก็จะสร้าง “ความเหมือน” ขึ้นมาให้ต้องยอมรับแต่โดยดี เพราะว่ามันวิจารณ์ไม่ได้ โต้ตอบไม่ได้ … ในที่แจ้ง

ขอขอบคุณทุกท่านที่ (ทน) อ่านการโต้แย้งอดอร์โน (แบบฝ่ายเดียว เอาเปรียบคนที่ตายไปแล้วน่าดู :P ) มาจนถึงตอนจบ

จะ “เห็นชอบ” หรือ “เห็นแย้ง” อย่างไร ประเด็นไหน

เชิญวิจารณ์ และระบาย ได้ตามสะดวก
;)

(ไม่ค่อย) แย้ง อดอร์โน (3) : เนื้อในและเสียงจากใจของคนกลุ่มน้อย

26 January, 2008 - 02:14 -- parid

 

  

In The Flesh?

"Tell me is something eluding you sunshine?
Is this not what you expected to see?
If you'd like to find out what's behind these cold eyes
You'll just have to claw your way through this disguise"

จากเพลง ‘In The Flesh?'
ของ Pink Floyd

อดอร์โน...ผมศึกษาและเขียนแย้งแนวคิดของคุณในเรื่องป็อบปูล่าร์มิวสิคมาพอสมควร แต่สิ่งที่ผมค้นพบได้จากตัวคุณมันมีแต่เรื่องเกี่ยวกับความคิดทฤษฎีทั้งนั้น

บางขณะที่ผมเคาะแป้นคีย์บอร์ดถกเถียงกับทฤษฎีของคุณ ผมก็ไพล่นึกไปว่า ในช่วงที่คุณมีชีวิตอยู่นั้น อะไรที่ทำให้คุณบันเทิงใจกับดนตรีที่มีซาวด์แบบ Atonal จนคุณถึงกับเขียนชมมันเป็นวรรคเป็นเวรขนาดนี้ (ไม่หรอก ผมยังไม่เชื่ออยู่ดีว่า Atonal music มันจะ Liberate อะไรใครได้ แต่ผมรู้ว่าคุณชอบมัน แบบเดียวกับที่ผมชอบวงร็อคหลายๆ วง) แล้วในแวดวงสังคมที่คุณอยู่ เขายอมรับกับความชอบ ยอมรับกับรสนิยมของคุณขนาดไหน?

อะไรกันที่ทำให้คุณมองดนตรีแจ๊สแบบลบๆ การที่ใครจะมองอะไรแบบลบๆ มีความเป็นไปได้ว่าเขาจะถูกกระทำจากสิ่งนั้นมาก่อน การนำทฤษฎีมาจับในแง่หนึ่งมันเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้ได้มองอะไรจากเหตุผล จากตรรกะ มากกว่าจากอารมณ์หรือความรู้สึก แต่ในอีกแง่หนึ่งมันก็คือการ sublime ทำให้การแสดงทัศนะทางลบต่ออะไรอย่างหนึ่งยอมรับได้ อย่างน้อยก็ในวงวิชาการที่รับได้กับการใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์

เท่าที่ผมรู้มาจากชีวประวัติของคุณ คุณมีโอกาสได้สัมผัสเปียโนตั้งแต่ยังเยาว์วัย แล้วมันก็ทำให้คุณปิติกับเสียงของมัน กับฝีมือเปียโนที่ก้าวหน้าของตัวเอง คุณเป็นนักเรียนที่หลงรักความรู้และตัวหนังสือ เรียนจบออกมาด้วยระดับท็อปและพ่วงเอามิตรทางวิชาการออกมาด้วย

ตอนที่คุณอายุเท่าๆ กับผมในตอนนี้ ช่วงอายุที่คนเรากำลังหาทิศทางก้าวย่างไปสู่วัยทำงานนั้น คุณคิดอยากจะใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาเอามาใช้วิจารณ์ดนตรีมาก แล้วคุณก็ได้เขียนงานวิจารณ์ที่คุณอยากเขียนสมใจ (เช่นเดียวกับผมที่ได้เขียนถึงคุณในตอนนี้) ก่อนที่คุณจะได้พบกับ คนอย่าง Alban Berg และ Arnold Schoenberg โดยเฉพาะคนหลังนี้เป็นผู้ที่นำพาให้คุณได้ค้นพบกับความมหัศจรรย์ของดนตรีแบบ Atonality

ใช่ ! ด้วยความมาดมั่นของคนหนุ่มแน่น คุณจึงเอาความรู้ที่คุณสะสมมาจากการศึกษาบวกกับความคิดคุณเอง มาอธิบายความน่าชื่นชมของดนตรีที่คุณชอบ แต่ดูเหมือนตา Schoenberg เองก็เฉยๆ ไม่ยี่หระกับการที่คุณเอาปรัชญามาจับกับดนตรีของเขาเสียเท่าไหร่ แม้คุณอยากจะพรรณนาถึงความปลาบปลื้มที่คุณมีต่อเพลงๆ หนึ่งอย่างไร มันก็ดูจะเปล่าประโยชน์ในสายตาของศิลปินอีโก้แรงเหล่านั้น คุณถึงหันมาเอาดีทางด้านงานทางสังคมและวิชาการ

กระนั้นผมก็นึกถึงภาพของคุณที่โดดเดี่ยวท่ามกลางฝูงชน ท่ามกลางงานเลี้ยงสวมหน้ากากของดนตรีแจ๊ส ตัวดนตรีเองมันไม่ได้ผิดบาปอะไรหรอก แต่กลุ่มชนที่เชยชมมัน ทั้งๆ ที่พวกเขาอาจจะแค่อยากเข้าสังคม อยากสวมหน้ากากเพื่อให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของงานเลี้ยงนั่นต่างหากใช่ไหม ที่ทำให้คุณรู้สึกแย่

แต่ถ้าคิดในอีกทาง คุณอาจจะแค่สวมหน้ากากได้ไม่เก่งเท่าผมก็ได้...

One of the few

"...make them me, make them you,
make them do what you want them to
make them laugh, make them cry,
make them lie down and die"

- จากเพลง "One of the few"
ของ Pink Floyd

ผมเป็นคนที่เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางที่ฐานะการงานครอบครัวกระท่อนกระแท่นบ้าง แต่ก็เรียกได้ว่ามีอันจะกิน และคงเหมือนๆ กับครอบครัวชนชั้นกลางทั่วไปที่ได้ยินเพลงป็อบตามยุคสมัยจนชินชา โรงเรียนจะจับผมไปเต้นเพลงพี่เบิร์ด ธงไชย ในงานวันเด็ก คอนเสิร์ตในทีวีวันเสาร์อาทิตย์ก็มีนักร้องของค่ายใหญ่สลับกันมาออกทีวีให้ดู ผมตามดูรายการมิวสิควีดิโอของวัยรุ่น (ที่แบ่งค่ายกันชัดเจน) เพื่อที่จะได้มีเรื่องคุยกับเพื่อนตอนไปโรงเรียน

จนกระทั่งพอผมโตขึ้นอีกหน่อย พอจะรู้สึกถึงคำว่า เบื่อ' ผมเริ่มเบื่อเพลงป็อบตลาดแบบเดิมๆ ที่คนพากันพูดถึงซ้ำๆ เพลงที่ฉายในรายการก็แบบเดิมๆ ทำให้รู้สึกอยากค้นหาอะไรใหม่ๆ เพราะเพลงรักเนื้อหาซ้ำๆ เหล่านั้น ไม่ได้ให้คำตอบอะไรกับผมอีกต่อไป แต่ก็มองไม่เห็นว่าจะมีอะไรดีกว่า

พอดีว่าในช่วงหนึ่งที่ครอบครัวต้องย้ายบ้าน ผมได้ไปค้นพบเทปเพลงแปลกๆ เข้า เป็นเทปเพลงที่ไม่มีป้ายแปะบอกว่าเป็นเพลงของใคร

เมื่อความอยากรู้อยากเห็นทำให้ผมเอาเทปม้วนนั้นมาใส่ในเครื่องแล้วกดปุ่มเพลย์ ทันใดนั้นเครื่องเล่นก็แว่วเสียงกีต้าร์โปร่งละมุนหูออกมา มีเสียงนักร้องเหมือนกำลังขับขานออกมาจากดินแดนที่ห่างไกล เนื้อร้องของมันเป็นภาษาอังกฤษที่ผมฟังไม่เข้าใจ แต่กลับทำให้ความรู้สึกปิติเอ่อล้นออกมาอย่างอธิบายไม่ถูก ผมมารู้จากแม่หลังว่านี่เป็นเพลงคันทรี่สมัยก่อนที่เคยชอบฟัง ซึ่งโลกใบเล็กๆ ของผมในตอนนั้นทำให้ผมมองว่าไอ่เทปนี่เป็น "ของแปลก" สำหรับผมไปแล้ว (ซึ่งต่อมาก็จะรู้ว่า โลกนี้มันช่างกว้างขวาง และมีอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ กว่านี้อีกหลายเท่านัก)

  

สิ่งที่ผมคิดว่ามีความสำคัญกับรสนิยม พื้นฐาน การฟังเพลงของแต่ละคน มันมาจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง และสื่อฯ

คนที่อยู่ในสังคมเมืองอย่างผม อิทธิพลที่สำคัญคงไม่พ้นสื่อโทรทัศน์ วิทยุ ซึ่งผมเองก็ได้รับรู้มาเท่าที่สื่อเหล่านี้เสนอมาให้ เพื่อนๆ ที่คุยกันในโรงเรียนก็คือคนที่เสพย์สื่ออันเดียวกับเรานั่นแหละ อาจจะเว้นให้คนที่มีอภิสิทธิ์หน่อยคือคนที่มีเคเบิลทีวี ที่จะคอยเอาวัฒนธรรมป็อบแบบ MTV มากึ่งอวดกึ่งเผยแพร่ ...ยุคสมัยที่ผมเติบโตมาเป็นเช่นนี้จริงๆ จึงไม่แปลกหากเขาจะไม่รู้จักเพลงคันทรี่ และเพลงเก่าอื่นๆ ที่ผมบังเอิญค้นพบจากเทปนิรนาม

ยุคสมัยของผมในเวลาต่อมายังมีการคาบเกี่ยวของยุคบอยแบนด์กับอัลเตอร์เนทีฟ ความทรงจำของทั้งวงบอยแบนด์และอัลเตอร์เนทีฟนั้นมีอยู่แน่ๆ แต่ไม่กระจ่างชัดเท่าวงร็อคเก่าๆ หลายวงที่ผมค่อยๆ ทำความรู้จักมัน ผมจึงรู้จัก Take That, Boyzone ดีพอๆ กับที่รู้จัก Scorpions, The Eagles หรือ Pink Floyd เหมือนผมบิดนาฬิกาย้อนเวลากลับอยู่คนเดียว ขณะที่คนอื่นๆ แห่แหนไปกับอะไรอย่างหนึ่ง ไม่ว่ามันจะมีชื่อว่าอะไรก็ตาม

คุณลองนึกถึงภาพผมในตอนที่ยังเป็นเด็กหนุ่มสวมกางเกงขาสั้นที่สวมหน้ากาก ทำตัวกลมกลืนไปกับกลุ่มคนที่เชยชมอะไรทั้งหลาย ทั้งที่ในใจผมไม่ได้รู้สึกเชยชมไปกับสิ่งเหล่านั้นด้วยจริงๆ เลย ผมจะเดินตัวลีบเวลาที่นึกถึงอารมณ์อันบรรเจิดของเพลง Bohemian Rhapsody (เพลงจากวง Queen) ความเกรี้ยวกราดในเพลงของ Nirvana แต่ไม่สามารถพูดให้ใครฟังได้ มวลชนอันแปลกหน้าเหล่านั้นต่างสวมหน้ากากของสัตว์ประหลาด...หน้ากากอันเดียวกับที่ผมสวมไว้ด้วย

ผมได้แต่ซ่อนความรู้สึกเหน็ดหน่ายไว้ใต้หน้ากากนั่น รู้สึกอยากจะก่นด่าไอ่เพลงมองโลกในแง่ดีตอหลดตอแหล จากวงที่เขาไม่สนว่ามันจะมาจากค่ายเพลงกระแสหลัก หรือ So-Called อินดี้ (คำว่า "อินดี้" ในวงการเพลงไทยสำหรับผมมันไม่มีความหมายอะไรเท่าไหร่ หลายๆ วงที่เรียกตัวเองว่าเป็นอินดี้ก็มีดนตรีธรรมดาๆ ไม่ค่อยต่างจากในกระแสหลัก นานๆ ทีจะเจอที่แหวกๆ ออกมา หรืออีกนัยหนึ่งคือคำๆ นี้ถูกบิดเบือนไปสู่การค้าในรูปแบบที่เนียนและดูมีระดับกว่าเท่านั้น) ใจจะขาด หากแต่กระแสมวลชนสวมหน้ากากพวกนั้นคงกลืนกินเสียงของผมไปหมด

หน้ากากสัตว์ประหลาดที่เขาสวมนั้น มันช่างคับ (แคบ), หนัก, หนา และวันหนึ่งก็จะทำให้ผมเจ็บปวดกับมันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

โชคร้ายที่อดอร์โนอยู่ได้ไม่ถึงยุคของอินเตอร์เน็ต และโชคดีที่อินเตอร์เน็ตทำให้ผมได้พบกับคนที่เรียกได้ว่าเป็น "พวกเดียวกัน" ในทางรสนิยม ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอีกต่อไป

การที่ผมเขียนแย้งอดอร์โนเรื่องป็อบปูล่าร์มิวสิคนั้น ไม่ได้หมายความว่าอะไรที่เป็นกระแสนิยมมันคือสิ่งที่ดีและน่าชื่นชมเสมอไป ผมอยากให้รู้ไว้ว่า คนที่รู้สึกถูกกระทำจากวัฒนธรรมกระแสนิยมมันก็มีอยู่ และอย่าได้เอาชนชั้นล่าง เอาคนจนมาอ้างเลย ผมจะบอกให้ก็ได้ว่าผู้นำเทรนด์กระแสหลักจริงๆ มันก็คือชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อนี่แหละ

ผมอยากจะบอกอีกว่า ไอ่วัฒนธรรมกระแสรองทั้งหลายส่วนหนึ่งมันมีที่มาจากคนที่รู้สึกถูกกระทำจากกระแสหลักนั่นแหละ แล้วชนชั้นกลางที่พวกคุณชอบด่าๆ กันมันก็มีหลายจำพวก เพราะฉะนั้นการที่เอะอะอะไรก็ด่าวัฒนธรรมกระแสรองแบบไม่ลืมหูลืมตา ไม่แยกแยะ มันก็ฟังดูตื้นเขินและเหมารวม ไม่ต่างกับที่อดอร์โนด่าเพลงป็อบเลย

In The Flesh

"...And they sent us along as a surrogate band
We're gonna find out where you folks really stand"

- จากเพลง "In The Flesh" 
ของ Pink Floyd

อดอร์โน...ผมเชื่อว่าทั้งผมและคุณต่างเคยมีความเจ็บปวดอันเดียวกัน มีความเกลียดชังคล้ายๆ กัน ผมอาจจะเขียนแย้งคุณ แต่ผมไม่ได้ปฏิเสธความคิดของคุณไปหมดทุกอย่าง ในแง่การพยายามเชื่อมโยงเรื่องดนตรีกับการปลดปล่อยตัวเองและสังคมอะไรของคุณนั่นมันฟังดูลักลั่นก็จริง แต่ในแง่วัฒนธรรมคุณมีส่วนถูก

การผลิตซ้ำของมายาคติในเนื้อหา มันช่วยตอกย้ำภาพของอะไรบางอย่าง ไม่ว่าภาพอันนั้นมันจะบิดเบือนไปจากความเข้าใจที่แท้จริงของคนสักเพียงใดก็ตาม เพลง "ฤดูที่แตกต่าง" อาจทำให้ใครหลายคนเชื่อเอาเองว่าคนเรามันมีทุกข์ต้องมีสุข เราจงได้แต่รอคอย' ไอ่ความสุขนั้นมาเองเหมือนแสงแดดในฤดูร้อนแล้วกันนะ ซึ่งคนที่เชื่อในเนื้อหาเพลงนี้บางคนเอาความเชื่อนี้ไปตัดสินคนที่เรียกร้องหาความสุข ว่าทำไมไม่รู้จักมองโลกในแง่ดี ทั้งที่ไม่เคยรู้เลยว่า อีกหลายๆ คนในโลกมีฝนตกอยู่ตรงที่เขาตลอดเวลา และไม่เคยพบไอ่ ฟ้าสว่าง' ที่ว่าเลยแม้แต่น้อย

แต่ขณะเดียวกันก็น่าสงสัยว่า เพลงที่พูดถึงความเจ็บปวดจากคนระดับล่างในสังคมบางเพลง มันก็เป็นการตอกย้ำความต้อยต่ำของพวกเขาหรือไม่ หรือว่าจริงๆ แล้วมันเป็นแค่การช่วย "สะท้อน" ภาพหรือความรู้สึกของพวกเขาออกมาได้เท่านั้นเอง

แต่ก็นะ...อดอร์โน...ศิลปะหรือวัฒนธรรม มันไม่ใช่อะไรแข็งๆ หรือตรงทื่อแบบที่จะใช้อธิบายเหมารวมแบบโต้งๆ ได้ ถึงผมจะเชื่อว่าสื่อสาธารณ์ ป็อบปูล่าร์มิวสิค อะไรพวกนี้มันมีส่วนในการปรับเปลี่ยน บิดเบือน การรับรู้และความเชื่อ ของผู้คน แต่การปฏิเสธศิลปะหรือสื่อสาธารณ์โดยสิ้นเชิงมันคงไม่ใช่ทางออกที่ดี 

 แล้วทางออกของพวกเราคืออะไรน่ะหรือ?

คราวหน้าผมจะมาบอกคุณ...

 

ระหว่าง 'สาระ' และ 'สาธารณ์'

ตติกานต์ เดชชพงศ

คงรู้กันหมดแล้วว่า สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีถูกยึด และต่อจากนี้ ทีวีช่องนี้จะไม่มีรายการบันเทิง ไร้แก่นสาร' อีก จะมีก็แต่รายการที่มีประโยชน์ สร้างสรรค์สังคม มีคุณค่า ประเทืองปัญญากว่ารายการทีวีแบบเดิมๆๆๆๆ ฯลฯ แล้วทีวีช่องนั้นก็ถูกเรียกเสียใหม่ว่า ทีวีสาธารณะ'

ในฐานะประชาชนคนหนึ่งซึ่งเติบโตมากับสิ่งที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับ รสนิยมสาธารณ์' ไม่ว่าจะเป็น ละครน้ำเน่า (ผ่านยุคของ พจมาน สว่างวงศ์, ดาวพระศุกร์ หรือ โสรยา ใน จำเลยรัก' มามากกว่าหนึ่งยุค!) รวมถึงเกมโชว์ที่ ได้รับแรงบันดาลใจ' มาจากต่างประเทศ และการ์ตูนญี่ปุ่นที่เอะอะก็ต่อสู้กัน (แม้แต่การ์ตูนแมวหุ่นยนต์ โดราเอมอน' ที่ไม่มีฉากต่อสู้ ก็ยังอุตส่าห์มีฉากยั่วยุทางเพศอย่าง ฉากอาบน้ำ' จนต้องเซ็นเซอร์เบลอๆ ให้เป็นที่เลื่องลือ) ฯลฯ ต้องสารภาพว่า...สิ่งที่เห็นในทีวีบ้านเราตอนนี้ ไม่ได้แตกต่างหรือพัฒนาจากที่เคยเห็น (หรือเคยเป็น) เมื่อหลายปีก่อนสักกี่มากน้อย

เชื่อว่าน่าจะมีประชาชนไทยอีกหลายสิบล้านคนที่เติบโตมาในยุคไล่เลี่ยกัน และมีความรู้สึกทำนองเดียวกันนี้อยู่บ้าง...

การตั้งเป้าหมายของทีวีสาธารณะว่าจะผลิตรายการที่มี สาระ' ออกสู่สังคม เพื่อยกระดับทางความคิดความอ่านและให้ความรู้กับผู้เสพสื่ออันทรงอิทธิพลอย่างโทรทัศน์เป็นประจำ จึงเป็นเรื่องที่ดีและน่าสนับสนุน

ความบันเทิงที่เราเคยเสพ ผ่านทางละครน้ำเน่า ละครเกาหลี-ญี่ปุ่นสุดรันทด การ์ตูนบ้าพลัง รวมถึงเกมโชว์ที่ระดมกำลังดารานักร้องมาเล่นเกมกระชากเรตติ้ง จึงถูกจัดหมวดหมู่ให้อยู่ นอกกลุ่ม' สาระ อย่างไม่มีทางเลี่ยง โทษฐานที่รายการเหล่านี้ ไม่สร้างสรรค์' ในสายตาของคนที่ (ถูกเรียกว่า) เป็นปัญญาชน

แต่คำถามหนึ่งซึ่งซ้อนทับขึ้นมาก็คือว่า รสนิยมสาธารณ์ซึ่งปรากฏอยู่ในทีวีมาเนิ่นนาน กลับกลายเป็น ความสามานย์' ที่ต้องกำจัดให้สิ้นซากไปเสียแล้วหรือ...

ถ้าอย่างนั้นหมายความว่า คนที่เติบโตมากับสื่อด้อยคุณภาพซึ่งยึดครองพื้นที่ฟรีทีวีมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีคือคนไม่มีคุณภาพ ไร้สาระ และถูกมอมเมา อย่างนั้นหรือ?

อีกคำถามที่น่าสนใจก็คือ บรรดาคนใหญ่คนโตผู้มีอำนาจตัดสินชี้ขาดให้ทีวีช่องหนึ่ง-ซึ่งเคยสร้างความบันเทิงให้กับคนจำนวนมาก-ต้องมากลายเป็น ทีวีในฝัน' ที่พวกเขาอยากจะเห็นนั้น เติบโตมากับทีวียุคไหน?

การหล่อหลอมแบบไหนที่ทำให้พวกเขากล้าตัดสินใจ ทั้งๆ ที่ไม่เคยได้ถกเถียงกันอย่างจริงจังเลยว่า ระหว่าง สาระ' และ สาธารณ์' อย่างไหนที่คนดูต้องการมากกว่ากัน?

เพราะอะไร พวกเขาถึง ลืมถาม' ความเห็นของพนักงานกว่า 800 คนที่มีชะตากรรมเกี่ยวพันกับสถานีโทรทัศน์ที่กำลังจะเป็นทีวีสาธารณะนั่นด้วย

000

สิ่งที่สร้างความบันเทิงให้กับคนส่วนใหญ่ได้ง่ายๆ ไม่ต้องอาศัยประสบการณ์หรือความรู้ขั้นสูงก็สามารถเข้าถึงได้ทุกคน ถูกมองว่าเป็นสิ่งไร้สาระ มักง่าย ฉาบฉวย ไม่ต่างอะไรกับการกล่าวหาว่า รสนิยมสาธารณ์มีส่วนในการมอมเมาให้คนในสังคมคุ้นชินกับความตื้นเขินและรสชาติสีสันอันฉาบฉวยของลูกกวาดที่หวานหอมแต่ขาดแคลนคุณค่าทางโภชนาการ?

แต่ถึงแม้ว่าลูกกวาดจะไม่มีประโยชน์เมื่อเทียบกับอาหารมื้อหลัก ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะทำให้ลูกกวาดหายสาบสูญไปจากการรับรู้ของ ผู้บริโภค' เพราะถึงที่สุดแล้ว ลูกกวาดก็ให้รสชาติที่อาหารจานหลักไม่มีทางให้ได้

ถ้ามีทีวีสาธารณะแล้ว เราไม่จำเป็นต้องพูดถึง การพัฒนาระบบการศึกษา, การเปิดพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็น หรือการปรับระบบโครงสร้างให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรหรือองค์ความรู้ต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน อย่างนั้นหรือ?

คำตอบก็คือ ไม่ใช่' เพราะปัจจัยที่จะสร้างคุณภาพให้กับคนในประเทศ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ทีวีสาธารณะเท่านั้น

ส่วนความคลุมเครือประการอื่นๆ ที่จะต้องสร้างความเข้าใจให้กับสาธารณชนกันอีกยาว ก็คงจะเป็นเรื่องของงบประมาณจำนวนมากมาย ปีละ 2 พันล้านบาท คิดกันหรือยังว่าจะจัดการกับมันอย่างไร? และจะมีกลไกการตรวจสอบขั้นตอนบริหารจัดการสถานีแบบไหน? โปร่งใสหรือเปล่า?

ประเด็นคำถามเหล่านี้ ถือเป็นแรงเสียดทานอย่างหนึ่ง ซึ่ง (อาจ) ทำให้ทีวีสาธารณะคืบหน้าไปได้ช้ากว่าที่คิด

ลำพังแค่การเอาชนะใจสาธารณชนในขั้นแรกก็ทำไม่ได้เสียแล้ว...

ต่อให้จุดหมายปลายทางทีวีสาธารณะสวยหรูอย่างไรก็ตาม จะมีคนยอมเดินไปด้วยจนตลอดรอดฝั่งล่ะหรือ?

000

คำว่า สาธารณ์' ปรากฏในงานเขียนเรื่อง The Unbearable Lightness of Being ของ มิลาน คุนเดอรา' ซึ่งถูกแปลออกมาเป็นภาษาสวยงามโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์

ส่วนรากศัพท์ในภาษาเยอรมันคือคำว่า Kitsch และได้รับการอธิบายว่าเป็น ความดาษดื่น' การเลียนแบบ' หรือการเสแสร้งว่ามีรสนิยมต่ำ' (ในกรณีที่พูดถึงงานศิลปะ) หรือแม้กระทั่งการถูกเรียกว่า ความตื้นเขินทางอารมณ์'

แต่ถึงที่สุดแล้ว คนที่มีจิตใจฝักใฝ่รสนิยมสาธารณ์ก็มีความสุขดีี่ ในการที่ได้ซึมซับและชื่นชมสิ่งต่างๆ ซึ่งถูกจัดประเภทว่าเป็น Kitsch เหล่านั้น...

Subscribe to Kitsch