Skip to main content
สุมาตร ภูลายยาว
[๑]เมษายน ๒๕๔๗...แสงแดดใกล้ลับขอบฟ้า คนหาปลาบางกลุ่มกำลังเตรียมตัวเอาเรือเข้าฝั่ง เพื่อกลับคืนสู่บ้านผ่อนคลายความเมื่อยล้าจากการหาปลามาตลอดทั้งวัน การหาปลาเป็นกิจวัตรปกติของคนริมฝั่งแม่น้ำโขงมาเนิ่นนาน แต่ในยามเย็นวันนี้ไม่เป็นเหมือนยามเย็นของวันอื่นๆ ที่ผ่านมา ช่วงนี้ริมฝั่งแม่น้ำโขงคึกคักเป็นพิเศษ เพราะข่าวการเดินทางมาของปลาบึก ปลาใหญ่ที่คนหาปลาขนานนามให้ว่า ‘ปลาเทพเจ้าแห่งลำน้ำโขง’ พี่รงค์ จินะราช คนหาปลาบ้านหาดไคร้ได้เอาเรือออกไปไหลมองในแม่น้ำโขงบริเวณดอนแวงตามปกติ มองที่ไหลไปตามกระแสน้ำเป็นมองขนาดเล็ก พอมองไหลไปปะทะกับสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ ชั่วพริบตานั้นฟองอากาศขนาดใหญ่ก็เกิดขึ้นบนผิวน้ำ แล้วมองผืนเล็กก็ขาดเป็นช่องขนาดใหญ่‘ตอนนั้นผมคิดว่าต้องเป็นปลาบึกแน่ เพราะเมื่อ ๒-๓ วันก่อนมีคนเห็นนกนางนวลสัญลักษณ์คู่กันกับปลาบึกบินขึ้นมาสามตัว หลังจากนกนางนวลบินขึ้นมา พวกนกกระยางก็บินตามมา นอกจากนกแล้วยังมีปลาปลาที่ขึ้นมาก่อนปลาบึกก็มีพวกปลาเลิม, ปลาค้าว, และปลาอีกหลายชนิด’ พี่รงค์ เล่าย้อนไปถึงการขึ้นมาของปลาบึกเมื่อปีที่ผ่านมาให้ฟังด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ว่ากันว่าปลาบึกคือ ปลาน้ำจืดชนิดไม่มีเกร็ด ปลาบึกธรรมชาติสามารถพบได้เฉพาะในแม่น้ำโขง (ปัจจุบันปลาบึกสามารถพบได้ตามบ่อเลี้ยงทั่วไป) จากสถิติที่คนหาปลาบ้านหาดไคร้ซึ่งรวมตัวกันเป็นชมรมปลาบึกได้เคยบันทึกไว้ ปลาบึกตัวที่มีน้ำหนักสูงสุดคือ ๒๘๒ กิโลกรัม!, คนหาปลาบ้านหาดไคร้จับได้เมื่อปี ๒๕๓๒ รูปร่างของปลาบึกจะคล้ายกับปลาสวายและปลาเทโพคือ ลักษณะของลำตัวจะแบน ข้างจะงอยปากจะมีป้านใหญ่ปลายกลมมน, หัวยาวใหญ่, นัยน์ตาเล็กอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่ามุมปาก ในปากไม่มีฟัน ตอนที่ยังเล็กปลาบึกจะกินสัตว์เป็นอาหาร แต่พอโตขึ้นมา ปลาบึกจะกลายเป็นปลากินพืชน้ำที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ไก’ สาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่งที่เกิดตามหินผาในแม่น้ำโขง นอกจากไกจะเป็นอาหารของปลาบึกแล้ว ไกยังเป็นอาหารของคนอีกด้วย [๒]เมษายน ๒๕๔๘เสียงเครื่องยนต์เรือหางยาวครางกระหึ่มมาจากตรงหัวดอนแวง และค่อยๆ เบาเสียงลงเมื่อเข้าใกล้ถึงฝั่ง เรียวระลอกคลื่นจากเรือพุ่งเข้ากระทบฝั่งแล้วลับหายไปในความมืด ยามเช้ามืดอย่างนี้สายน้ำทั้งสายคล้ายไหลไปสู่ความเงียบ แต่หากว่าความจริงไม่ได้เป้นอย่างนั้น เพราะตอนนี้เรือหาปลา ๓-๔ ลำสลับกันวิ่งขึ้น-ลงทุกๆ สิบนาที ขณะที่เรือบางลำกำลังเดินทางไปบนสายน้ำ แต่เรืออีกบางลำบนกำลังเดินทางเข้าสู่ฝั่ง เรือลำหนึ่งที่กำลังเดินทางเข้าสู่ฝั่งในตอนนี้ บนเรือมีคนหาปลา ๕ คน และปลาใหญ่น้ำหนัก ๑๐๐ กว่ากิโลกรัมอีกหนึ่งตัว….๕.๓๐ น. ของเช้าวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๘ หากเป็นตอนกลางวัน ผู้คนที่กระจัดกระจายอยู่ตามริมฝั่งน้ำคงเบียดเสียดแย่งกันเข้าไปใกล้ปลาตัวใหญ่ที่นอนทอดร่างอยู่ในลำเรือ เพื่อเฝ้าดูความยิ่งใหญ่ของมัน แต่เพราะยังเช้าอยู่ผู้คนที่ได้ยลโฉมปลาตัวนี้จึงมีเพียงคนหาปลาไม่กี่สิบคนเท่านั้นแสงอาทิตย์ยามเช้าโผล่พ้นขอบฟ้าด้านตะวันออกขึ้นมาเรื่อยๆ พร้อมๆ กับข่าวการจับปลาบึกตัวแรกของปีนี้ได้โดยคนหาปลาบ้านหาดไคร้แผ่กระจายออกไป  สำหรับคนหาปลาที่โชคดีเป็นกลุ่มแรกในปีนี้ เป็นกลุ่มคนหาปลาบ้านหาดไคร้ภายใต้การนำของพี่สนั่น สุวรรณทา อายุ ๔๕ ปี ปลาบึกตัวแรกของปีถูกจับได้เมื่อเวลา ๕.๓๐ น. เป็นปลาบึกเพศผู้ น้ำหนัก ๑๘๔ กิโลกรัม ความยาว ๒.๔๐ เมตร ‘ดีใจอยู่ที่เป็นกลุ่มแรกที่จับปลาได้ ถือว่าเป็นโชคดีนะ เพราะปลามันอยู่ในน้ำไม่รู้ว่าใครจะจับได้’ พี่สนั่น สุวรรณทา เล่าให้ฟังด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม ก่อนที่จะพาลูกทีมเอาเรือตัดผ่านท้องน้ำกลับไปสู่ดอนแวงอีกครั้ง[๓]แดดเดือนเมษายนร้อนปานจะผ่าศีรษะออกเป็นเสี่ยงๆ สายน้ำโขงที่เคยไหลรินมาชั่วนาตาปีค่อยๆ แห้งลงเรื่อยๆ เกาะแก่งน้อยใหญ่รวมทั้งดอนทรายต่างๆ ได้โผล่พ้นน้ำ โดยเฉพาะดอนแวงดอนทรายขนาดใหญ่กลางแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับบ้านหาดไคร้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในความหมายของคนท้องถิ่นแล้ว คำว่า ‘ดอน’ เป็นหนึ่งในระบบนิเวศที่สำคัญของแม่น้ำโขง หมายถึงเกาะกลางน้ำซึ่งเกิดขึ้นจากการทับถมของตะกอนทรายและก้อนหินขนาดเล็กมากมายที่น้ำได้พัดพามากองมาทับถมกันเอาไว้ในช่วงหน้าน้ำหลาก ดอนเป็นตัวบังคับน้ำตามธรรมชาติให้น้ำไหลไปตามร่องน้ำ ในฤดูแล้งบริเวณดอนจะมีทั้งที่เป็นหาดหินและหาดทรายโผล่พ้นน้ำ หากมองจากริมแม่น้ำโขงบริเวณหน้าวัดบ้านหาดไคร้ไปทางด้านทิศตะวันออกจะเห็นดอนแวงและหาดทรายทอดยาวไปตามลำน้ำสวยงาม ในมุมมองที่สูงขึ้นไปจะเห็นแม่น้ำโขงไหลคดเคี้ยวผ่านหัวดอนแวงวกเข้าไปในแผ่นดินของประเทศลาว ในช่วงฤดูกาลจับปลาบึก คนหาปลาทั้งสองฝั่งจะมาตั้งเพิงพัก เพื่อร่วมกันหาปลาอยู่บนดอนแวง การจับปลาบึกของชุมชนริมน้ำโขงจะเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายนพอดี และน้ำในแม่น้ำโขงตรงบริเวณดอนแวงก็จะมีลักษณะกว้าง ไม่ลึกมาก ใต้น้ำเป็นพื้นทรายผสมกรวดจึงทำให้เหมาะที่จะปล่อยมองปลาบึก จึงทำให้อำเภอเชียงของเป็นเพียงอำเภอเดียวในประเทศไทยที่มีพื้นที่เหมาะสมในการจับปลาบึกธรรมชาติในช่วงหน้าแล้ง        [๔]สำหรับวงจรชีวิตของปลาบึก ชีวิตที่ลึกลับแห่งสายน้ำโบราณสายนี้ยังเป็นปริศนาที่ไม่เคยมีใครให้ความกระจ่างได้ คนหาปลาริมฝั่งโขงเชื่อกันว่า ปลาบึกอาศัยอยู่ใต้น้ำลึก ในแก่งที่จมหลับอยู่ใต้น้ำที่เต็มไปด้วยโพรงหินขนาดใหญ่ บางคนเรียกว่า ‘วังปลาบึก’ พ่อผุย บุปผา พรานปลารุ่นลายครามแห่งบ้านปากอิงใต้บอกว่า ‘ปลาบึกที่ขึ้นมาในช่วงนี้ น่าจะอยู่ตามแก่งหินลึกใต้น้ำแถวก่อนถึงเมืองหลวงพระบาง เพราะแถวนั้นมีแก่งเยอะ น้ำมันลึกด้วย พ่อเคยเห็นคนลาวเขาบวงสรวงจับปลาบึกเหมือนกันกับทางประเทศไทย ในช่วงก่อนวันปีใหม่ลาว’แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่บันทึกไว้ชัดเจนว่า ปลาบึกธรรมชาติในแม่น้ำโขงขึ้นไปวางไข่บริเวณไหนหรืออาศัยอยู่ที่ใดของแม่น้ำโขง และปลาบึกธรรมชาติตัวโตเต็มที่พร้อมจะผสมพันธุ์และวางไข่มีอายุเท่าใด แต่ความทรงจำของคนริมน้ำที่เคยพบเห็นปลาบึกตามที่ต่างๆ ก็พอร้อยเรียงให้เห็นถึงเส้นทางของปลาบึกในแม่น้ำโขงได้ลางๆพ่อหนานตา คนหาปลาวัย ๖๕ ปี แห่งบ้านแซวเล่าให้พวกเราฟังหลังจากนั่งครุ่นคิดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับปลาบึกอยู่ไม่นาน ‘สมัยก่อนสักเมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปี ที่บ้านแซวก็มีคนจับปลาบึกอยู่ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว คนหาปลาเคยเห็นปลาบึกผลุบๆ โผล่ๆ อยู่ตรงกว๊านบ้านแซวช่วงเดือนพฤษภาคม ปลาบึกมันน่าจะอยู่ที่นี้นะ หรือไม่อย่างนั้นมันก็มาหื่น (ผสมพันธุ์) กันตรงนี้แล้วก็ขึ้นเหนือไปวางไข่’บริเวณกว๊านบ้านแซวที่พ่อหนานตากล่าวถึงมีลักษณะเป็นคุ้งน้ำใหญ่คล้ายกับคกอยู่ด้านในของแม่น้ำโขง กระแสน้ำในบริเวณกว๊านจะหมุนวนเป็นวงกว้าง กว๊านจะเป็นที่อยู่อาศัย, แหล่งหากิน และแหล่งวางไข่ของปลาหลายชนิดนอกเหนือจากแม่น้ำโขงบริเวณอำเภอเชียงของแล้ว จากงานวิจัยไทบ้านลุ่มน้ำสงคราม จังหวัดนครพนมพบว่า ปลาบึกจะอพยพจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำสงครามและห้วยสาขาในฤดูน้ำหลาก ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และจะอพยพกลับลงสู่แม่น้ำโขงในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ปลาบึกอพยพเข้าไปสู่แม่น้ำสงคราม เนื่องจากป่าทามของลุ่มแม่น้ำสงครามมีระบบนิเวศที่หลากหลายเหมาะต่อการหากิน และในป่าทามยังมีพืชน้ำที่เป็นอาหารของปลาบึกโดยเฉพาะ ‘เทา’ สาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่ง (ทางภาคเหนือเรียกว่า ‘เตา’ )พ่อประพงค์ รัตนะ นักวิจัยไทบ้านลุ่มน้ำสงครามเล่าว่า ‘เมื่อประมาณ ๓๐ ปีที่แล้ว เคยเห็นปลาบึกขนาดใหญ่มาบ้อน--โผล่พ้นผิวน้ำ และหากินอยู่แถวห้วยซิง มีหลายคนจับปลาบึกได้จากห้วยซิงทุกปี แต่ตอนนี้ไม่เห็นปลาบึกในน้ำสงครามาหลายปีแล้ว’เช่นเดียวกันกับหนังสือแม่มูนการกลับมาของคนหาปลาได้บันทึกเรื่องราวของปลาบึกไว้ว่า ช่วงที่มีการเปิดประตูเขื่อนปากมูนตามมติคณะรัฐมนตรีเป็นเวลา ๑ ปี ในช่วงปี ๒๕๔๕ นั้นทำให้มีปลาบึกขึ้นจากแม่น้ำโขงเข้ามาในแม่น้ำมูน มีคนหาปลาหลายคนบังเอิญจับปลาบึกได้หลายตัว บริเวณปากแม่น้ำมูนไหลบรรจบกับแม่น้ำโขง มีบริเวณที่ชาวบ้านเชื่อว่ามีปลาบึกอาศัยอยู่คือ ‘บริเวณเวินบึก’ แม่น้ำโขงตรงบริเวณเวินบึกนั้นมีลักษณะเป็นเหมือนกว๊านในแม่น้ำโขงทางภาคเหนือของประเทศไทยน่าแปลกที่เราต่างก็เคยเห็นปลาบึกธรรมชาติตัวใหญ่ในแม่น้ำโขง แต่สำหรับลูกปลาบึกตัวเล็กแล้วกลับไม่เคยมีใครเห็น! หลังจากพ่อแม่ผสมพันธุ์กันแล้ว, ลูกปลาบึกอพยพกลับลงมาจากด้านตอนเหนือของแม่น้ำโขงในช่วงระยะเวลาใด และมันอพยพไปอยู่ในที่ใด เพื่อเป็นปลาใหญ่ในแม่น้ำโขงต่อไป เรื่องนี้ยังเป็นปริศนาที่เฝ้ารอให้เกิดการค้นพบ![๕] นอกจากเรื่องราวของถิ่นที่อยู่อาศัยของปลาบึกจะเป็นเรื่องราวปริศนาแล้ว คนหาปลาในแต่ละพื้นที่ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับปลาบึกแตกต่างกันออกไปด้วย คนหาปลาบ้านหาดไคร้เชื่อว่า เมื่อนกนางนวลโผบินอยู่เหนือแม่น้ำโขงยามใด ยามนั้นปลาบึกก็จะขึ้นมา และคนหาปลาก็จะลงมือทำการบวงสรวง เพราะคนหาปลาที่บ้านหาดไคร้เชื่อว่า ปลาบึกเป็นปลาที่มีภูตผีคุ้มครอง ดังนั้นจึงต้องทำพิธีเลี้ยงภูตผีเสียก่อนที่จะมีการจับปลาบึก โดยนอกจากจะเลี้ยงภูตผีแล้ว คนหาปลายังได้เลี้ยงเรือที่ใช้ในการหาปลาของตนเองด้วย  ลุงเรียน จินะราช เล่าให้ฟังว่า ‘การเลี้ยงผีลวงก็ทำก่อนช่วงที่จะมีการจับปลาบึกของทุกปี คนจับปลาบึก ลวงนี่แปลว่า ‘ฟ้า’ หรือ ‘ใหญ่’ การเลี้ยงผีลวงก็เลยหมายถึงการเลี้ยงผีที่อยู่บนฟ้า การเลี้ยงผีลวงคนหาปลาก็จะเตรียมเครื่องเซ่น เช่น เหล้าขาว,ไก่,สรวยดอกไม้,สรวยหมาก และสวยพลู วันเลี้ยงนี่คนหา-ปลาจะไปเลี้ยงกันเองเขาไม่บอกใครหรอก พอไปถึงก็ตั้งศาลเพียงตาขึ้น ให้ผู้เฒ่าผู้แก่บอกกล่าวบนบานให้จับปลาบึกได้ แต่ตอนนี้ที่เลี้ยงกันในช่วงวันที่ ๑๘ เมษายนของทุกปี เพราะการท่องเที่ยวเข้ามาส่งเสริมให้ทำ ตั้งแต่ปี ๓๐ มาก็ทำอย่างนี้เรื่อยมา แต่ก็มีบางคนไปทำแบบดั้งเดิมอยู่’ภายหลังที่คนหาปลาจับปลาบึกได้แล้ว พวกเขาก็จะทำการแก้บนตามที่ได้บนบานไว้ คนหาปลาที่จับปลาบึกตัวแรกของปีนี้ได้จึงได้ประกอบพิธีกรรมการเลี้ยงผี ซึ่งคนหาปลาเรียกว่า การเลี้ยงผีโพ้ง, การเลี้ยงผีแม่ย่างนางเรือ, การเลี้ยงผีเจ้าที่ หากจะดูว่าเรือหาปลาลำใดจับปลาบึกได้ก็ให้สังเกตดอกซอมพอสีแดงที่ห้อยพาดอยู่บนหัวเรือ เพราะว่ากันว่าแม่ย่านางเรือชอบดอกไม้แดง เมื่อเรือลำที่ออกสู่แม่น้ำโขงกลับมาพร้อมกับปลาบึก หัวเรือจึงมีดอกไม้แดงห้อยอยู่ใช่ว่าเรื่องของพิธีกรรมเกี่ยวกับปลาบึกจะมีแต่ที่บ้านหาดไคร้ที่เดียว ตามชุมชนริมแม่น้ำมูน ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงยังมีพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับปลาบึกรวมอยู่ด้วย คนหาปลาที่แม่น้ำมูนมีความเชื่อว่า ปลาบึกเป็นปลาศีลธรรม ถ้าบังเอิญปลาบึกไปติดเครื่องมือประมงของใคร คนนั้นต้องปล่อยปลาบึกไปหรือถ้าปลาบึกตายก็ต้องทำบุญทำทานสะเดาะเคราะห์ ถ้าไม่ทำเช่นนั้นเชื่อกันว่าจะต้องมีอันเป็นไปในชีวิตและทรัพย์สินช่วงหลังเมื่อมีปลาบึกว่ายทวนน้ำเข้าสู่แม่มูนมาติดเครื่องมือหาปลา เพราะความที่ปลาบึกถูกกระทำให้เป็นปลามีราคา คนหาปลาจึงเอาปลาบึกไปขาย แต่พอขายได้เงินมาแล้ว คนหาปลาก็จะทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้กับปลาบึกตัวนั้นๆ พิธีกรรมดังกล่าวคนหาปลาต้องรีบทำให้เร็วที่สุด เพราะเชื่อกันว่าถ้าหากทำล่าช้าจะเกิดอันตรายกับครอบครัวการทำบุญให้ปลาบึกนั้นก็ทำเหมือนกับงานศพของคนทุกประการ โดยคนหาปลาที่จับปลาบึกได้ต้องนิมนต์พระสงฆ์มาที่บ้าน เพื่อสวดชักอนิจจาในตอนค่ำและกรวดน้ำหาดวงวิญญาณของปลาบึก เพื่อไม่ให้มีกรรมมีเวรต่อกัน เช้าวันต่อมาเจ้าภาพก็จะจัดให้มีการถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ จากนั้นก็จะจุดไฟเผารูปปลาบึกที่วาดขึ้นบนกระดาษ พระสงฆ์ให้ศีลให้พรเมื่อฉันภัตตาหารเสร็จ ทางผู้เข้าร่วมพิธีร่วมกันรับประทานอาหารเป็นอันเสร็จพิธีจากความเชื่อทั้งสองพื้นที่นั้นได้แสดงให้เห็นว่า ปลาบึกเป็นปลาที่คนหาปลาให้ความเคารพและถือว่าเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์ เพราะความที่ปลาบึกเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์นี่เอง รูปเขียนโบราณที่ผาแต้มจึงมีรูปปลาใหญ่ที่พอสันนิษฐานได้ว่าเป็นรูปปลาบึก ปลาเทพเจ้าแห่งลำน้ำโขงรวมอยู่ด้วย[๖]แม้ว่าในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ที่บ้านหาดไคร้จะมีการเฝ้ารอเพื่อจับปลาบึกของคนหาปลา ซึ่งถูกระหน่ำว่าเขาเหล่านั้นเป็นผู้ล่า--นักล่า ที่พรากชีวิตปลาบึกจากลำน้ำโขงไปนักต่อนักแล้ว แต่หากย้อนกลับไปมองให้ถ้วนถี่แล้วจะพบว่า ธรรมชาติของหน้าแล้ง ปลาในแม่น้ำก็ย่อมมีน้อย และเมื่อมีปลาใหญ่ขึ้นมาและสามารถที่จะทำรายได้ให้กับคนหาปลาได้ ก็คงไม่แปลกนักที่จะมีการจับปลาบึกอยู่ทั้งฝั่งลาวและไทยหลายปีมาแล้วที่บ้านหาดไคร้ คนที่มาเฝ้ารอปลาบึกใช่ว่าจะมีเพียงแต่คนหาปลาเท่านั้น หนึ่งในจำนวนคนที่มาเฝ้ารอนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ของกรมประมงรวมอยู่ด้วย การมาถึงของเจ้าหน้าที่กรมประมงก็เพื่อรีดไข่และน้ำเชื้อเพื่อผสมพันธุ์ปลาบึก โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อการวิจัยและหาแนวทางในการอนุรักษ์ปลาบึกต่อไป ส่วนกลุ่มนักอนุรักษ์กลับมีแนวคิดในการอนุรักษ์ที่ต่างออกไป โดยหลายคนได้นำเสนอถึงแนวคิดพื้นฐานที่ว่า หากเราจะอนุรักษ์ปลาบึก เราต้องอนุรักษ์พื้นที่อันเป็นแหล่งอาศัยของปลาบึก ที่สำคัญคือเราต้องไม่แยกคนออกจากน้ำ เพราะคนหาปลาจะต้องอยู่กับน้ำ รวมทั้งปลาบึกก็ต้องอยู่กับน้ำด้วยเช่นกันในกระแสการอนุรักษ์นั้นหากว่าหลายภาคส่วนร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ปีหน้าเมื่อฤดูกาลจับปลาบึกเวียนมาถึง เราคงได้เห็นปลาบึกอย่างน้อยสักหนึ่งคู่ว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นไปทางเหนือเพื่อสืบสายพันธุ์อันยิ่งใหญ่แห่งสายน้ำ ให้คงอยู่คู่สายน้ำโขงตลอดไป วันนี้เกาะแก่งในแม่น้ำโขง อันเปรียบเป็นบ้านของปลาบึกและปลาน้อยใหญ่อีก๑,๐๐๐ กว่า ชนิดในลำน้ำแห่งนี้ กำลังถูกคุกคามด้วยโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ ซ้ำร้ายระบบการขึ้น-ลงของระดับน้ำตามวัฎจักรฤดูกาลของแม่น้ำก็ถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเขื่อนหลายแห่งที่สร้างขึ้น เพื่อกั้นน้ำทางตอนบนในเขตจีน ความอุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศที่ซับซ้อนของสายน้ำแห่งนี้จะคงอยู่เพื่อหล่อเลี้ยงนานาชีวิตได้อีกนานแค่ไหน?วันนี้ชะตาอนาคตของปลาบึกและสรรพชีวิตแห่งลุ่มน้ำโขงเหมือนอยู่บนเส้นด้ายเส้นเล็กๆ เส้นด้าย ที่เฝ้ารอวันขาดสะบั้น เพราะทิศทางการพัฒนาที่ไม่มุ่งเน้นเพียงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้านเดียว และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และชีวิตที่พึ่งพาสายน้ำนี้มาถึงช้าเหลือเกิน!   แล้วเมื่อวันนั้นมาถึงทุกสิ่งอาจหลงเหลือแต่เพียงตำนานให้ลูกหลานลุ่มน้ำโขงได้เล่าขานกันต่อไปในอนาคตก็เป็นได้?.....[๗]๑๘ เมษายน ๒๕๔๙งานบวงสรวงก่อนการจับปลาบึกของคนหาปลาบ้านหาดไคร้ได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับกระแสว่าชาวบ้านหาดไคร้จะไม่จับปลาบึกอีก แต่ไม่แน่นักว่าหลังจากวันนี้ไปไม่มีใครทำนายทายทักได้ว่า ปลาบึกตัวแรกจะถูกคนหาปลาคนใดจับได้ และเรื่องราวความขัดแย้งในเรื่องการอนุรักษ์ปลาบึกจะยังคงมีอยู่ต่อหรือไม่? นั่นเป็นเรื่องราวที่ต้องติดตามและค้นหาคำตอบกันต่อไป...
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
เปล่า! แม่น้ำสงครามไม่ได้เป็นชื่อที่พ้องกับการสงครามของใคร ..หากโลกใบนี้ได้เพียรสร้างสรรค์ผลงานที่น่าอัศจรรย์...น้ำสงครามมีต้นกำเนิดบนสันภูผาเหล็ก อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ไหลขึ้นไปทางเหนือ ผ่านอำเภอหนองหาน อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ก่อนจะย้อนลงมาที่ อำเภอบ้านม่วง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร จึงมุ่งหน้าเข้าสู่อำเภอพรเจริญ อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย วกลงอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ทะลักล้นเข้าอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม แล้วไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่ไชยบุรี อำเภอท่าอุเทนนับระยะทาง 420 กิโลเมตรและลำน้ำสาขานับร้อยสาย คือ ทุ่งน้ำขนาดกว้างใหญ่ถึง 6 แสนไร่ ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ นครพนม สกลนครและหนองคาย......ทุกๆ ฤดูมรสุม เดือนสิงหาคม-เดือนพฤศจิกายน ท้องทุ่มป่าทามที่มองเห็นเป็นพื้นดินแห้งจะกลายเป็นผืนน้ำ พื้นดินสีน้ำตาลไหม้ที่ใครหลายคนเคยมองว่าไร้ประโยชน์ กลายเป็นแหล่งอาศัยอันชุกชุมของพันธุ์ปลาพื้นบ้านและพันธุ์ปลาที่มุ่งหน้าเข้ามาจากลำน้ำโขงคนแห่งลุ่มน้ำสงครามต่างรอคอยช่วงเวลาเหล่านี้อย่างใจจดจ่อ...มื้อเย็นจะมีปลาดุกตัวเขื่องเอาไว้แกงสำหรับลูกเมีย...เปล่า! แม่น้ำสงครามไม่ได้เป็นชื่อที่พ้องกับการสงครามของใครแต่เป็นความอัศจรรย์ ..เพื่อทุกชีวิตบนโลก ชีวิตคนริมน้ำสงคราม, สาวน้อยกางร่มช่วยพ่อหาปลาลีลาพรานปลาผลิตผลจากสายน้ำปลาน้อย, เหยื่อล่อปลาตัวใหญ่กว่าปลาจำลอง, อบต.บ้านข่า แชมป์หลายสมัยในการแข่งขันประกวดปลา กลไกที่เห็นทำให้มันขยับได้น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก, ทว่า หนองน้ำแห่งนี้ยังเป็นของควายด้วยดูกันใกล้ๆพระอาทิตย์ฤดูหนาวที่บ้านข่า สวยเศร้าอย่างนี้
สุมาตร ภูลายยาว
สายโขงยังตัดไม่ขาด สายสวาทตัดขาดอย่างไรตัดบัวก็ยังไว้ใย ตัดน้ำใจยังมีเมตตาค่อยอิง ค่อยอาศัยกัน เอาไว้รักกันในวันข้างหน้ามาเถิด มาเถิดแก้วตา รำวงดีกว่าร่าเริงหัวใจ รำวงดีว่าร่าเริงหัวใจ....เสียงเพลงแหบพร่าลอยตามสายลมไกลออกไป จนเงียบหายไปกับโค้งขอบฟ้ากลางคืน นานครั้งชายชราจะร้องเพลง แต่บทเพลงที่ชอบร้องสม่ำเสมอคือเพลงนี้ ค่ำคืนนี้อากาศหนาวเย็นลง ชายชราจึงก่อกองไฟ เพื่อผ่อนเบาความหนาว เนิ่นนานที่กองไฟสว่างไสว แต่เมื่อฟืนที่กองสุมไว้ในตอนเย็นใกล้หมด แสงไฟก็สลัวลง เปลวไฟมีอยู่น้อยนิดเหมือนจะมอดดับลงทุกครั้งยามสายลมพัดเข้ามา พอสายลมพัดผ่านไป แสงไฟก็สว่างขึ้นมา หลังแสงไฟสว่าง แสงตะเกียงในกระท่อมก็ดับวูบลง ในกระท่อมมีเสียงกระแอมไอดังขึ้น แล้วทุกอย่างก็เดินทางไปสู่ความเงียบ...ฟ้ากลางคืน พระจันทร์แรมหนึ่งค่ำเปล่งแสงสีเหลืองนวล เงาจันทร์บนสายน้ำสั่นไหวไร้รูปทรงตามแรงไหลของสายน้ำ สายลมกลางคืนหนาวเหน็บอย่างที่เคยเป็นมาเดือนนี้ลมเหนือเริ่มพัดลงใต้เป็นสัญญาณบอกกล่าวการเปลี่ยนผ่าน ฤดูหนาวมาเยือนแล้ว สายน้ำสีขุ่นเหลืองในฤดูฝนลดความขุ่นเหลืองลงบ้าง สายน้ำไหลเอื่อยแผ่วเบา เรียวคลื่นเล็กๆ จากการไหลของน้ำเคลื่อนเข้าหาฝั่งช้าๆ หลังคลื่นลูกเก่าหายไป คลื่นลูกใหม่ก็เข้ามาแทน แม่น้ำได้ทอดตัวข้ามผ่านทุกสิ่งทุกอย่างที่เดินทางไปถึง แม่น้ำเป็นอยู่อย่างนี้มาชั่วนาตาปี และจะเป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยไป...ชีวิตของคนเราก็ไม่ต่างอะไรกับแม่น้ำ เพราะบางครั้งแม่น้ำก็เป็นถนนให้เรือ และสรรพชีวิตได้เดินทางผ่าน แม่น้ำนิ่งเฉยเพื่อรองรับทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ก็นั้นแหละ ในบางครั้งแม่น้ำอาจแสดงความโกรธออกมาบ้าง ทุกครั้งที่แม่น้ำแสดงความโกรธออกมา น้ำจำนวนมหาศาลก็จะไหลบ่าท่วมทุกสิ่งทุกอย่าง ชีวิตคนเราก็เช่นกัน บางครั้งเราต่างทอดกายเป็นถนนให้เรื่องราวต่างๆ ได้ข้ามผ่าน บางครั้งเราก็นิ่งเฉยเพื่อรองรับเรื่องราวทั้งดี-ร้ายเช่นกันเมื่อชายชราเดินทางไปสู่การหลับ เบื้องล่างตรงท่าน้ำ เรือหาปลาถูกผูกโยงอยู่กับเสาไม้ไผ่โคลงเคลงไปตามจังหวะของคลื่น เสียงร้องของแมลงกลางคืนสะท้อนไปทั่วป่าริมฝั่งน้ำ ตุ๊กแกบนต้นไม้ส่งเสียงร้องขึ้นมาอีกครั้ง ความจริงแล้ววันนี้ทั้งวัน มันร้องมาไม่ต่ำกว่า ๕ ครั้ง สิ้นเสียงร้องของตุ๊กแกตัวนั้น ตุ๊กแกอีกตัวหนึ่งที่อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำก็ร้องขึ้นมา เหมือนว่าตุ๊กแกสองตัวกำลังพูดคุยโต้ตอบกันข้ามฝั่งน้ำ หากสามารถรับรู้ภาษาของมันได้ เราคงได้รู้ว่าตุ๊กแกสองตัวพูดคุยโต้ตอบกันเรื่องอะไรฤดูหนาวหลังน้ำลด หาดทรายโผล่พ้นน้ำเป็นแนวยาวไปตามริมฝั่ง หาดทรายบางส่วนมีต้นไคร้ขึ้นคลุม ตรงหาดทรายที่ไม่มีต้นไคร้ขึ้นคลุมและราบเรียบเสมอกัน ชายชราได้สร้างกระท่อมขึ้นมาหลังหนึ่ง ข้างกระท่อมเป็นแปลงผัก ๔-๕ แปลง มีผักหลายอย่างอยู่ในแปลง ผักเหล่านี้ชายชราไม่เคยต้องบำรุงด้วยปุ๋ยชนิดใด เพราะตะกอนทรายที่น้ำพัดมาทับถมกัน ในนั้นจะมีชากพืชที่ถูกน้ำท่วมตายและเป็นปุ๋ยชั้นดี ผักจึงงามไร้สารเคมีพูดถึงเรื่องกระท่อมแล้ว ปีที่ผ่านมา กระท่อมหลังนี้ไม่ได้อยู่ตรงนี้ มันถูกผูกโยงอยู่ในน้ำเป็นเรือนแพ หน้าฝนปีนี้กระท่อมถูกนำกลับขึ้นมาบนฝั่ง โดยเจ้าของกระท่อมให้เหตุผลว่า มันอยู่ในน้ำนานไป ไม้ไผ่ผุ ปีนี้ก็เลยเอาขึ้นมาไว้บนฝั่งเมื่อมองดูกระท่อมและหันกลับมามองดูเจ้าของ ในความคิดของผมทั้งสองสิ่งมีบางอย่างเหมือนและแตกต่างกัน กระท่อมสร้างขึ้นมาเพื่อคุ้มแดดคุ้มฝน เสาของมันโย้ไปโย้มาจะพังแหล่มิพังแหล่ เจ้าของก็เช่นเดียวกัน ด้วยอายุที่มากขึ้น บางครั้งก็เจ็บป่วยนอนซมอยู่หลายวัน แต่กระท่อมและเจ้าของแตกต่างกันตรงที่เจ้าของยังแข็งแรง และยังทำงานที่ตัวเองถนัดได้ดี อีกทั้งสุขภาพก็ยังดี ส่วนกระท่อมโดนฝนโดนลมอีกไม่กี่ครั้งก็คงพังครืนลงบางครั้งการปลูกสร้างบางสิ่งขึ้นมาใช่ว่ามันจะดีพร้อมเสมอไป การสร้างกระท่อมของชายชราก็เช่นเดียวกัน แม้ในสายตาของคนอื่นมันดูไม่แข็งแรง แต่ก็นั่นแหละไม่มีใครเข้าใจชายชราอย่างแท้จริงว่า ทำไมแกจึงไม่สร้างให้แน่นหนาในความรู้สึกของชายชรา แกอาจไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องกระท่อมเท่าใดนัก เพราะกระท่อมที่มีอยู่หาได้เป็นสิ่งที่ชายชรายึดถือในความเป็นอยู่ของมัน ใจต่างหากที่ชายชรายึดถือ เพราะถ้าทำใจให้เป็นสุขพอเพียงกับทุกๆ สิ่งที่มีอยู่ ชีวิตก็จะมีความสุข แม้ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องราวเล็กน้อยก็ตามทีแม้ช่วงนี้จะเป็นหน้าแล้ง แต่สายน้ำก็ยังไหลวนกระทบแก่งหินน่ากลัว ความกลัวเช่นนี้อาจเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงกลางวัน แต่ในเวลากลางคืนคงไม่น่ากลัวมากนัก เพราะมองไม่เห็น บางทีการมองเห็นของมนุษย์ บางครั้งมันก็นำเราไปสู่ความกลัว พูดถึงเรื่องความกลัวแล้ว มีบางคนบอกว่าสิ่งที่มองไม่เห็นน่ากลัวกว่าสิ่งที่มองเห็น เราไม่รู้หรอกว่าในความจริง ความกลัวของมนุษย์เกิดจากอะไรกันแน่ ว่ากันว่า ในฤดูหนาวกลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ขณะเวลาเดินทางผ่านไปจากนาทีเป็นชั่วโมง จากชั่วโมงเป็นหลายชั่วโมง ความหนาวเหน็บยาวนานในค่ำคืนก็ผ่อนคลายลง เมื่อแสงแรกแห่งวันปรากฏขึ้นเหนือยอดดอยด้านทิศตะวันออก เมื่ออรุณเบิกฟ้า นกจอนทรายฝูงหนึ่งก็โผบินขึ้นจากดอนทรายกลางน้ำ การดำเนินชีวิตในวันใหม่ของสิ่งมีชีวิตได้เริ่มขึ้นอีกครั้งแล้วหลังอรุณเบิกฟ้า เปลวไฟจากเตาไฟข้างกระท่อมค่อยๆ ดับลง ควันไฟสีขาวหม่นลอยล่องขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้วจางหายไป ยามเช้าก่อนพระอาทิตย์จะมาเยือน ทุกอย่างรอบกระท่อมสลัวรางในม่านหมอกสีเทา หลังจมอยู่กับการหลับในค่ำคืนตอนค่อนรุ่งชายชราก็ตื่นนอน เพื่อหุงข้าว ก่อนจะออกไปหาปลา หากพูดถึงการนอนของชายชราแล้ว ในความเป็นจริงหนึ่งคืน ชายชราได้นอนเพียงเล็กน้อย เพราะช่วงตี ๒ แกจะเอาเรือออกไปช้อนกุ้งตามฟดที่วางไว้ริมฝั่ง กว่าจะกลับมาก็เกือบตี ๔ พอตี ๕ กว่าก็ตื่นขึ้นมาก่อไฟนึ่งข้าว หลังจากจัดแจงข้าวนึ่งลงในแอ๊ปข้าวเรียบร้อย ชายชราก็เดินลงไปยังเรือที่ผูกไว้ ทุกยามเช้าไม่ว่าฝนตก แดดออก สิ่งที่ชายชราทำมาเป็นประจำคือเอาเรือออกหาปลา เช้านี้ก็เช่นกัน ยามเช้าจึงเป็นจุดหมายสำหรับการเริ่มต้นของสรรพชีวิตรวมทั้งชายชราด้วย...หากสังเกตให้ดีจะพบว่า คนหาปลาที่มีเรือนิยมผูกเรือไว้กับริมฝั่ง เพื่อให้เรือได้โดนน้ำอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าหากเรือไม่ได้โดนน้ำ เวลาเอาไปใช้ ไม้ที่นำมาทำเรืออาจแตก และเรือก็จะใช้การไม่ได้ เพราะต้องนำขึ้นมาอุดรูแตกร้าวด้วยการชัน เพื่อสมานแผลแตกร้าวที่เกิดขึ้นกับเนื้อไม้ เรือหาปลาลำหนึ่งหากดูแลรักษาดีก็จะใช้ได้ ๔-๕ ปี แต่ถ้าดูแลไม่ได้ อย่างมากก็ใช้ได้เกิน ๓ ปี เมื่อพูดถึงเรือ คนหาปลาหลายคนรวมทั้งชายชราด้วย พวกเขาจะมีวิธีการเลือกไม้มาทำเรือแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนมากไม้ที่นำมาทำเรือคือไม้ตะเคียน เพราะไม้ตะเคียนเป็นไม้ที่หนักกว่าไม้อื่น เวลาเอาลงน้ำแล้วจะลอยน้ำดี ทนแดดทนฝน ในการเลือกไม้มาทำเรือ ช่างทำเรือคือ คนชี้เป็นชี้ตายให้กับเรือแต่ละลำ ในการเลือกไม้มาทำเรือ ช่างที่มีความเป็นมืออาชีพจะเลือกสรรไม้ที่ถูกต้องตามตำราเท่านั้น เมื่อเรือแต่ละลำทำจากไม้ถูกต้องตามตำรา พอเอาเรือลงน้ำเจ้าของเรือก็จะหาปลาได้เยอะในการเลือกไม้มาทำเรือแต่ละครั้ง ช่างทำเรือจะเลือกเอาไม้ การเลือกเรือเพื่อใช้หาปลานั้น คนหาปลาที่มีฝีมือ และเป็นช่างไม้จะตัดไม้มาทำเอง ส่วนคนหาปลาที่ไม่ใช่ช่าง และทำเรือไม่เป็นก็จะซื้อหรือให้ช่างทำเรือให้ โดยเจ้าของเรือจะเลือกไม้ทำเรือด้วยตัวเองในการทำเรือนั้น การดู ‘ตาเรือ’ หรือการดูวงรอบที่อยู่ในเนื้อไม้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับคนหาปลาที่คิดจะทำเรือ เพราะตาเรือที่ดีที่ทำให้หมานมีอยู่ไม่กี่แห่งบนไม้หนึ่งแผ่น สำหรับการดูตาไม้มาทำเรือนั้น ช่างทำเรือจะเลือกไม้มีตา ๔ แบบอันเป็นตำราที่ตกทอดกันมา ตาบนไม้ ๔ ลักษณะคือ ‘ตาห้อยเงิบ’ หมายถึงตาบริเวณกาบเรือข้างที่คนหาปลาใช้ห้อยปลา ‘ตาสามเส้า’ หมายถึงตาสามตาบนพื้นเรือเหมือนก้อนเส้า ‘ตาซะน้ำ’ หมายถึงตาที่อยู่ระหว่างเครื่องยนต์เรือกับคนนั่ง     ’ตาปลดปลา’ หมายถึงตาที่อยู่ข้างเรือที่คนหาปลาปลดปลาออกจากเครื่องมือหาปลา คนหาปลาเชื่อว่า ตาเรือที่ทำให้หมานต้องเป็นตาด้านหัวเรือเท่านั้น นอกจากตาเรือทำให้หมาน-หาปลาได้เยอะแล้ว ยังมีตาเรือที่ไม่ทำให้หมานคือ ’ตาจี้ง่อน’ คือหมายถึงไม้ที่มีตาอยู่ข้างหลังบนพื้นเรือ เรือแบบนี้จะทำให้เจ้าของต้องเจ็บป่วยหรือหาปลาได้ไม่หมานอยู่ตลอด ’ตาปั่นพื้น’ ซึ่งอยู่ตรงกลางเรือก็จะทำให้เรือจะล่มได้บ่อย เพราะตาเรือปั่นเจาะลงไปในพื้นคล้ายสว่าน เรือลำใดที่มีตาชนิดนี้ เรือจะเสียบ่อย และหาปลาไม่ค่อยได้ วิ่งก็ไม่ค่อยออก ถึงแม้ว่ากฏเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมาเหล่านี้ คนตั้งขึ้นมา และคนเรานี่เองเปลี่ยนแปลงกฏอันนั้น เมื่อคนหาปลาหรือช่างทำเรือบางคนเลื่อยไม้มาแล้ว แต่ไม้มีตาหมานอยู่ทางโคนไม้ ช่างก็จะแก้เคล็ดด้วยการเอาทางโคนไม้มาเป็นหัวเรือ เพราะมีตาหมานอยู่ แต่ส่วนมากเวลาทำเรือจะไม่ค่อยเอาทางโคนไม้มาไว้ทางหัวเรือหรอก การทำเรือนอกจากช่างทำเรือหรือเจ้าของเรือจะดูลักษณะไม้แล้ว เรือลำหนึ่งยังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่าง แต่องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือ ไม้ที่ถูกเลือกมาทำเรือนั่นเอง หลังจากทำเรือลำหนึ่งเสร็จสิ้นลง เมื่อเอาเรือลงน้ำครั้งแรก เจ้าของเรือก็จะทำการเลี้ยงเรือ การเลี้ยงเรือก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อของเจ้าของเรือแต่ละคน เจ้าของเรือบางคนก็ให้ผู้หญิงเดินเข้าไปเหยียบย่ำตามพื้นเรือตั้งแต่หัวเรือจนถึงท้ายเรือ เวลาเหยียบก็ให้พูดไปด้วยว่า เรือลำนี้ทำไมไม้อ่อนจัง เพื่อจะได้พูดปราบแม่ย่านางเรือ พอพูดเสร็จเวลาจะลงจากเรือก็ให้ออกด้านท้ายเรือไม่ให้กลับมาออกด้านเดิม เมื่อเอาเรือออกหาปลาครั้งแรกหลังจากเลี้ยงเรือเสร็จ ปลาที่ได้ในครั้งแรก คนหาปลาจะนำปลานั้นมาทำอาหารเลี้ยงคนหาปลาคนอื่นๆ เพื่อเอาโชคเอาชัย การเลี้ยงเรือเป็นสิ่งที่คนหาปลาผู้เป็นเจ้าของเรือต้องทำอย่างเคร่งครัด และต้องปฏิบัติอยู่สม่ำเสมอ เรือของชายชราลำนี้เองก็เช่นกัน แม้ว่าไม้ที่นำมาทำเรือจะถูกต้องตามตำราในการทำเรือทุกประการ และในการเอาเรือออกหาปลาครั้งแรก ปลาที่ได้มาแกก็เอาไปทำลาบเลี้ยงคนอื่นจนหมด แต่ก็นั้นแหละในความเชื่อที่กล่าวมา มันคือเส้นแบ่งระหว่างตะวันตกกับตะวันออก และก็เป็นเรื่องยากเต็มทีที่จะให้ด้านตรงกันข้ามทั้งสองด้านเดินทางมาพบกันหลังอรุณเบิกฟ้า เช้านี้เป็นอีกเช้าที่ชายชราเอาเรือออกหาปลา หลังขึ้นไปนั่งบนเรือแล้ว แกก็ค่อยๆ พายเรือออกจากฝั่งแล้วติดเครื่องยนต์ทางด้านท้ายเรือหลังทรงตัวได้ ชายชราก็บังคับเรือเคลื่อนไปข้างหน้า เมื่อใกล้ถึงเป้าหมาย เครื่องยนต์ถูกผ่อนให้เบาลง พอถึงเป้าหมาย ชายชราก็ดับเครื่องปล่อยหางเสือหันมาจับไม้พายแล้วจ้วงพายบังคับเรือไปยังเป้าหมายเป้าหมายของชายชราคือขวดพลาสติกสีขาว ตรงขวดน้ำมีเชือกผูกขอเบ็ดจมอยู่ใต้น้ำยาวหลายเมตร หลังจากเรือจอดนิ่ง ชายชราก็ลุกขึ้นเปลี่ยนที่นั่ง โดยเปลี่ยนจากนั่งทางท้ายเรือมานั่งหัวเรือ หลังจากนั่งเรียบร้อย แกก็ใช้มืออีกข้างหนึ่งดึงเชือกขึ้นมาอย่างช้าๆเชือกที่ดึงขึ้นมาเป็นเชือกผูกขอเบ็ดที่ใส่เหยื่อเอาไว้ตั้งแต่ตอนเย็นวันก่อน เช้านี้จึงเป็นเวลากลับมาดูผลงาน ชายชราดึงสายเบ็ดขึ้นมาจนสุดปลายสายก่อนจะส่ายหน้าไปมา หลังจากปล่อยสายเบ็ดกลับลงน้ำ ชายชราก็บ่ายหัวเรือไปยังเป้าหมายใหม่ต่อไปเสียงเครื่องยนต์เรือดังขึ้นอีกครั้ง แล้วเรือและชายชราก็มุ่งหน้าไปยังเป้าหมายต่อไป เรือเคลื่อนไปข้างหน้าพุ่งตัดสายน้ำหมุนวนกลบแก่งหิน ใบหน้าของชายชราเรียบเฉยไม่หวั่นไหวต่อสายน้ำเบื้องหน้า บางทีคงเป็นความคุ้นชิน บางครั้งประสบการณ์ที่ได้จากการใช้ชีวิตอยู่กับแม่น้ำมาเนิ่นนานจึงทำให้ความหวาดกลัวของชายชราหายไป สำหรับผมแล้ว บนสายน้ำหมุนวนกับครั้งแรกบนเรือลำเล็กกลางแม่น้ำสายใหญ่ ดูเหมือนว่าความกลัวจะเกิดขึ้นทุกชั่วยามแห่งแรงเต้นของหัวใจ
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ท้องฟ้าและท้องน้ำดูจะละลายตัวเข้าหากัน หากไม่มีอ่าวริมน้ำแห่งนั้นขวางกั้นเอาไว้ ...ปลายสุดของสะพานฝั่งมอญ หมู่บ้านคนมอญสงบงัน ไร้เสียง เหมือนชีวิตของพวกเค้า ...\พี่เย็นเกิดที่เมืองไทย พ่อแม่มาจากฝั่งโน้น(ฝั่งพม่า) ถือบัตรสีชมพู (ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า) ก่อนจะแปลงสัญชาติเพิ่งได้สัญชาติไทยมาหนึ่งปี ส่วนสามีไม่มีบัตรอะไรทางอำเภอได้เข้ามาสำรวจแล้วแต่ยังไม่ได้ถ่ายบัตร ตอนนี้ถือหางบัตรพี่เย็นมีลูก 2 คน ชายหนึ่งคน หญิงหนึ่งคน เรียนที่โรงเรียนบ้านเด็กป่าลูกชายมีสูจิบัตรและได้รับสัญชาติไทยพร้อมแม่ ส่วนลูกสาวแจ้งเกินกำหนดไป 2 วันและจะต้องไปหาพยานมายืนยันว่าเกิดที่ดินแดนไทยและต้องจ่ายค่าพยานเป็นเงินจำนวนหนึ่งจนแล้วจนรอดไม่มีใครเป็นพยานให้วันนี้ ลูกสาวของเธอยังเป็นเด็กไม่มีสัญชาติ...เด็กๆ กำลังสนุกสนานกับการกระโดดน้ำบนสะพานมอญผืนน้ำสีเขียวจะแตกกระจายในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าใต้สะพาน ชีวิตพี่เย็นว่างเปล่าลูกชายของเธอสภาพความเป็นอยู่ของพี่เย็น
สุมาตร ภูลายยาว
ปีที่ผ่านมา เหนือสายน้ำเชี่ยวกรากสายหนึ่ง ความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำได้พาให้เดินทางไปสู่ห้วงยามหนึ่งของชีวิต ห้วงยามที่ทำให้ต้องจดจำไม่เคยลืม เพราะใครบ้างจะลืมประสบการณ์เฉียดตายของตัวเองได้ ในความทรงจำนั้น ภาพแม่น้ำแห่งบ้านเกิดผุดพรายขึ้นมา คล้ายภาพขาวดำหม่นมัวที่พาผมเดินทางกลับไปสู่ดินแดนแห่งความหวาดกลัวอันกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยเรือคือความหวั่นไหว...ใช่แล้ว ตอนหัดว่ายน้ำครั้งแรก ผมเกือบจมน้ำตาย เหตุการณ์ครั้งนั้นสอนให้รู้ว่า ความรู้สึกของคนใกล้ขาดใจตายเป็นอย่างไร นี่คือภาพความทรงจำในอดีต แต่ภาพความทรงจำครั้งใหม่ได้เกิดขึ้น หลังจากผมเดินทางมาถึงเมืองริมฝั่งน้ำเหนือสุดในล้านนาเรื่องมีอยู่ว่า...ผมมาเมืองริมฝั่งน้ำในช่วงต้นฤดูฝนปี ๔๖ ฝนบนฟ้าโปรยสายลงมาหนักหน่วง จากบ่ายจนถึงยามสายของอีกวัน หลังจากดวงอาทิตย์จมอยู่กับความมืดเบื้องหลังเมฆสีดำโผล่พ้นขอบเมฆส่องแสงออกมา ฟ้าหลังฝนก็กลับมางดงามเป็นสีฟ้า ไม่ต่างอะไรกับความหม่นเศร้าได้จางหายไปจากดวงใจอันบอบช้ำ หลังฝนหยุดตก ตะวันคล้อยค่ำลง ผมนั่งอยู่ริมฝั่งน้ำเฝ้ามองฉากชีวิตของใครหลายคนบนท่วงทำนองของสายน้ำที่กำลังเดินทางไปสู่ปลายทาง เรือใหญ่ ๒ ลำบรรทุกนักท่องเที่ยวกำลังเดินทางกลับจากหลวงพระบางวิ่งตามกันมา ตรงท่าเรือคนแบกของกำลังจะเดินทางกลับบ้าน หลังการทำงานแลกเงินจำนวนไม่มากของพวกเขาเสร็จสิ้นลง จังหวะชีวิตของผู้คนที่เคลื่อนไหวไปตามฉากแต่ละฉากของชีวิต จึงเป็นเหมือนท่วงทำนองของสายน้ำอันบรรเลงโดยนักดนตรีแห่งฤดูกาล เมื่อสองวันก่อนหลังจากมาถึงเมืองริมแม่น้ำ ผมได้เห็นยามเช้าแห่งชีวิตของผู้คนแตกต่างกันออกไป ยามเช้าของบางเช้า คนหาปลาบางคนก็ออกเรือไหลมองหาปลา ส่วนคนขับเรือรับจ้างก็กำลังทดสอบเครื่องยนต์เรือ พ่อค้าแม่ค้าเปิดร้านขายของ รถขนของจอดเรียงรายอยู่ข้างถนน แถวพระสงฆ์เดินกลับเข้าประตูวัด หลังการโปรดสัตว์ในตอนเช้าจบสิ้นลง ยามเช้าเช่นนี้ บางคนก็เร่งร้อนเร่งรีบ เพื่อให้ทันเวลาทำงานตามเข็มนาฬิกา ในจำนวนของผู้คนที่เร่งรีบ คนแบกของตรงท่าเรือดูเหมือนว่าจะเป็นกลุ่มคนกลุ่มเดียวที่เร่งรีบมากที่สุด เพราะพวกเขาต้องเร่งรีบ เพื่อไปให้ทันเรือสินค้า แน่ละในความเป็นจริงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า หลายคนล้วนเร่งรีบ เพื่อกิจธุระการงานของตัวเองแทบทั้งสิ้นขณะนั่งมองฉากชีวิตของผู้คนอยู่ริมฝั่งน้ำ เวลาแต่ละนาทีผ่านไปอย่างเชื่องช้า ดวงตะวันยามเย็นพาดผ่านขอบฟ้าทำมุม ๓๕ องศากับพื้นดิน เงาของต้นจามจุรีทอดทาบลงบนพื้นดิน หลังทอดอารมณ์ลอยไปกับสายน้ำ ผมก็หวนคิดถึงความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำสายนี้ ความทรงจำลางๆ บอกกับผมว่า แท้จริงแล้ว แม่น้ำสายนี้มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาหิมะอันไกลโพ้นบนหลังคาโลก ต้นกำเนิดของแม่น้ำคือต้นธารของตำนานเล่าเรื่องการกำเนิดแม่น้ำ  เมื่อพูดถึงแม่น้ำสายนี้ หากไม่กล่าวถึงนาคก็ดูเหมือนความเป็นไปในแม่น้ำสายนี้ขาดอะไรบางอย่าง ผู้คนที่พึ่งพาอาศัยแม่น้ำสายนี้ต่างเชื่อกันว่า ‘นาค’ มีอยู่จริง แต่ความมีอยู่จริง บางครั้งนาคก็ถูกเรียกให้แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของภูมิประเทศ คนจีนโพ้นทะเลเรียกว่า ‘มังกร’ ส่วนคนท้ายน้ำทั้งลาว-ไทยเรียกว่า ‘พญานาค’นอกจากพวกเขาจะมีความคิด ความเชื่อคล้ายกันหลายเรื่องแล้ว คนในลุ่มน้ำนี้บางกลุ่มยังเชื่อว่า บรรพบุรุษของพวกเขาเป็นนาค  ในตำนานของลาวเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับนาคเอาไว้ว่า เย็นวันหนึ่งมีหญิงสาวคนหนึ่งได้ไปว่ายน้ำในทะเลสาบหนองแสใกล้บ้าน และเธอได้สัมผัสสิ่งหนึ่งที่เธอเองคิดว่าเป็นซุงลอยน้ำ หลังจากเธอได้สัมผัสวัตถุต้องสงสัยในวันนั้น หลายเดือนต่อมาเธอก็ตั้งท้องและให้กำเนิดทารกเพศชาย หลังจากเด็กชายลืมตาขึ้นมาดูโลกได้ไม่นาน พญานาคตนหนึ่งก็ปรากฏตัวขึ้น และกล่าวอ้างว่า เด็กคนนี้เป็นลูกของตนเอง พอเด็กคนนั้นเติบโตขึ้น เขาก็กลายเป็นผู้นำเผ่าที่พาผู้คนอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศลาว ด้วยความเชื่อนี้ ผู้ชายในลาวบางคนจึงนิยมสักรูปนาคไว้ตามร่างกาย ชาวกัมพูชาก็มีความเชื่อเช่นกันว่า บรรพบุรุษของพวกเขาคือนาค ชาวกัมพูชาจึงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับนาคชื่อว่า ‘พระทองนาคนาง’ ส่วนคนไทยก็มีความเชื่อไม่ได้แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นก่อนผู้ชายจะได้บวชในพระพุทธศาสนา มีบทบัญญัติในพระไตรปิฎกว่า คนที่จะบวชต้องไปอยู่วัด เพื่อท่องคำขอบวชให้ได้เสียก่อน คนที่ไปอยู่วัด ชาวชนบททั่วไปเรียกว่า ‘ไปเป็นนาค’ ส่วนคนไทลื้อบริเวณหนองแส- ตือเจียง ในเขตสิบสองพันนา เรียกคนด้านท้ายน้ำที่พวกเขาพบเจอว่า ‘นาค’ เช่นกันหากผมไม่กล่าวจนเกินเลยมากนัก นาคกับแม่น้ำสายนี้ต่างเป็นสิ่งคู่กันมานาน และแม่น้ำสายใดจะมีตำนานเรื่องนาคได้เท่ากับแม่น้ำสายนี้ แม่น้ำที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ชื่อว่า ’แม่น้ำโขง’ สายน้ำสายหนึ่งที่เป็นเหมือนพรมแดนแผ่นดินความลึกล้ำตลอดความยาว ๔,๙๐๙ กิโลเมตรของแม่น้ำ ดูเหมือนว่ายังเป็นปริศนาเฝ้ารอการค้นพบว่า สะดือของสายน้ำลึกเท่าใด อยู่ที่ไหน เช่นกันในความลึกล้ำของสายน้ำล้วนมีความลึกลับซ่อนอยู่ โดยเฉพาะความลึกลับในคืนวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ คืนที่ลูกไฟมหัศจรรย์พุ่งขึ้นจากสายน้ำ คนท้องถิ่นแถบนั้นทั้งลาว-ไทยบอกว่า ลูกไฟเหล่านี้คือบั้งไฟที่พญานาคจุดขึ้นมาจากใต้บาดาล เพื่อเป็นพุทธบูชาในวันออกพรรษาหากพูดถึงบั้งไฟพญานาค หลายคนคงเคยได้ฟังเรื่องเล่าปรัมปราเกี่ยวกับการปรากฏกายของนาคต่อหน้าสิทธารัตถะ ผู้เป็นปฐมบทของพุทธศาสนา การปรากฏตัวของนาคเข้ามาเกี่ยวโยงในศาสนาได้ยังไง เรื่องนี้มีเรื่องเล่าปรัมปราว่า ชาติภพของมหาบุรุษผู้นี้ เขาเคยเกิดในตระกูลนาคชื่อว่า พระภูริทัต พอสิ้นชีพจึงเกิดมาเป็นสิทธารัตถะ และเป็นมหาศาสดาของศาสนาพุทธในลำดับต่อมา จากการจุติของภพชาติอันเกี่ยวเนื่องกันกับนาค เราจึงได้เห็น ได้ฟังเรื่องราวของนาคกับศาสนาพุทธมาจนบัดนี้ก่อนเดินทางมาเยือนแม่น้ำสายนี้ เพื่อนของผมเล่าให้ฟังว่า แม่น้ำสายน้ำนี้ไหลเป็นเส้นแบ่งพรมแดนพม่า-ลาว-ไทย ถ้าไม่กล่าวให้เกินเลยมากนัก แม่น้ำสายนี้ก็เป็นเหมือนเส้นพรมแดนแผ่นดิน แม้ว่า แม่น้ำจะถูกขีดเพื่อเป็นเส้นแบ่งพรมแดนประเทศ แต่ภายใต้เส้นแบ่ง มันเป็นเพียงเส้นแบ่งบางๆ อันถูกห่อหุ้มด้วยนิยามของคำว่า ‘รัฐชาติ’ และนิยามอันนี้เองความเป็นเครือญาติของผู้คนจึงถูกตัดขาดจากกันสิ้นเชิง ในแต่ละปีเดือนของแม่น้ำ ผู้คนริมฝั่งน้ำต่างข้ามไปมาหาสู่กัน หากพูดเรื่องพรมแดนแล้ว แม่น้ำไม่เคยแบ่งพรมแดนของคนออกจากกัน มีเพียงคนด้วยกันเท่านั้นแบ่งคนออกจากกัน ทุกพื้นที่ที่แม่น้ำไหลผ่าน ผู้คนริมฝั่งน้ำต่างได้ใช้ประโยชน์แตกต่างกันออกไป บางคนก็หาปลา บางคนก็ปลูกผัก บางคนก็ขับเรือรับจ้าง ในบรรดาผู้คนที่ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้ ดูเหมือนว่าคนหาปลาจะเป็นสัญลักษ์อยู่คู่กับแม่น้ำมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะบริเวณสบรวก คนหาปลาบางคนได้อาศัยพื้นที่ตรงปากน้ำวางเบ็ด วางมองจับปลา ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่งก็ใช้จอดเรือรับ-ส่งนักท่องเที่ยว ตรงจุดนี้ แม่น้ำไหลเป็นเส้นแบ่งพรมแดนประเทศถึงสามประเทศจึงมีชื่อเรียกว่า ‘สามเหลี่ยมทองคำ’เรื่องราวของสามเหลี่ยมทองคำในอดีตที่ผู้คนได้รู้จักล้วนเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับยาเสพติด และสิ่งผิดกฎหมายแทบทั้งสิ้น แต่ความเป็นจริงแล้ว สามเหลี่ยมทองคำยังมีสิ่งให้ค้นหามากกว่าความเป็นพื้นที่ค้าขายยาเสพติดอันยิ่งใหญ่ ในปัจจุบันเรื่องราวยาเสพติดแห่งสามเหลี่ยมทองคำค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน การหายไปของเรื่องราวในอดีตที่สามเหลี่ยมทองคำก็คงไม่ต่างกับการหายไปของคนหาปลาที่สบรวกเช่นกัน ๓-๔ ปีที่ผ่านมาทันทีที่โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ เพื่อขนส่งสินค้าจากจีนตอนใต้มาถึงเชียงแสนแล้วเสร็จลง คนหาปลาก็เห็นเรือลำใหญ่น้ำหนักบรรทุกเป็นร้อยต้นคืบคลานมาตามสายน้ำ คลื่นของเรือใหญ่ได้ดูดกลืนเรื่องราวของเรือหาปลาลำเล็กไปเสียสิ้น คลื่นจากเรือใหญ่ได้พัดพาเรื่องราวของปลา และคนหาปลาให้จมหายไปกับสายน้ำ คนหาปลาหลายคนหาปลาไม่ได้ บางคนก็ตัดสินใจทิ้งเครื่องมือหาปลาบ่ายหน้าไปหาเรือลำใหญ่ เพื่อแลกกับค่าจ้างที่จะได้รับหลังจากแบกของลงเรือลำใหญ่ ไม่มีใครรู้ว่าขณะก้าวเดินแต่ละก้าวของคนหาปลาบนพื้นของเรือลำใหญ่ ภายใต้ดวงใจเท่าหนึ่งกำปั้นของเขา เขาจะเจ็บปวดกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นเพียงใดหลังเรือใหญ่สัญจรหลายเที่ยวมากขึ้น แม่น้ำเคยสงบเงียบก็ค่อยๆ แปรเปลี่ยนไป หลังแม่น้ำแปรเปลี่ยน วิถีทางของคนหาปลาอันเต็มไปด้วยเรื่องเล่า และตำนานจึงยุติลงพร้อมกับเรือหาปลาบางลำกลายเป็นที่ปลูกผักสวนครัว ห้วงยามเช่นนี้คนหาปลาจึงได้เพียงแต่ถอยร่นออกจากวิถีแห่งการพึ่งพาแม่น้ำไปทีละคนสองคน แน่ล่ะ น้ำในแม่น้ำย่อมมีขึ้น-ลงเป็นจังหวะของมัน ชีวิตของคนก็เช่นกัน ล้วนมีขึ้น-ลงมีจังหวะของการโลดเต้นแตกต่างกัน บางคนหาปลาตั้งแต่หนุ่มจนแก่เฒ่ายังหาปลาอยู่เช่นเดิม บางคนขับเรือรับจ้างก็ยังขับอยู่เช่นเดิม สายน้ำมีลีลา ชีวิตคนก็เช่นกัน หลายชีวิตที่กล่าวมา พวกเขาล้วนมีจังหวะชีวิตโลดแล่นบนนาวาชีวิตแตกต่างกันตามแต่จังหวะชีวิตของใครของมันกล่าวถึงแม่น้ำสายนี้แล้ว ในหน้าน้ำหลาก น้ำจะเป็นสีเหลืองขุ่น และไหลเชี่ยวกรากรุนแรง เสียงโครมครามของสายน้ำจะเกิดขึ้นเสมอเมื่อโถมเข้าสู่แก่งหิน เสียงสายน้ำโถมเข้าหาแก่งหินสามารถฉุดห้วงหัวใจของคนอ่อนไหวให้เดินทางไปสู่ความหวาดกลัวได้ดีเป็นยิ่งนักแต่ก็นั่นแหละ แม้ว่าสายน้ำจะโถมเข้าหาแก่งหิน และส่งเสียงดังน่ากลัวปานใด แต่คนหาปลาผู้มาพร้อมกับเรือหาปลาลำเล็กบนสายน้ำเชี่ยวกราก พวกเขาก็ยังคงทำงานเหมือนเช่นเคยเป็นมา ขณะเรือเล่นไปบนสายน้ำเชี่ยวกราก ไม่มีใครสามารถรู้ได้แน่ชัดว่า พวกเขาจะหวาดกลัวต่อสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าหรือไม่ หากเปรียบเทียบคนหาปลากับผมแล้ว ผมสามารถบอกได้ว่า ถ้าใจไม่กล้าพอก็อย่าได้หวังว่าการนั่งอยู่บนเรือเหนือสายน้ำเชี่ยวจะมีความสุข หากว่าแม่น้ำเบื้องหน้าผมคือ สายน้ำแห่งชะตากรรมอันเต็มไปด้วยความหวาดกลัวแล้ว นาวาอารมณ์ที่ค่อยๆ จมดิ่งลงสู่ก้นบึ้งแห่งสำนึกภายในก็คงเป็นจังหวะชีวิตหนึ่งของสายน้ำเช่นกันเมื่อตอนผมนั่งอยู่บนเรือเหนือสายน้ำเชี่ยว หัวใจที่เคยใหญ่เท่ากำปั้นของตัวเอง หดแคบลงเหลือเท่ามดแดงตัวหนึ่งเท่านั้น สองมือเกาะกุมแคมเรือไม่ยอมปล่อย แม้ว่ามันจะดูเป็นเรื่องตลกขบขันสำหรับคนอื่นก็ตามที แต่ผมก็ยินดีจะทำเช่นนั้นเมื่อเครื่องยนต์เรือค่อยผ่อนเบาเครื่องลงก่อนจะถูกเร่งความเร็วผ่านสายน้ำหมุนวน หัวใจของผมก็ไม่ได้ต่างกัน ทุกครั้งที่หัวเรือบ่ายหน้าเข้าหาแก่งหรือน้ำวน หัวใจของผมเหมือนมันจะเต้นช้าลง แต่พอเรือพ้นออกมาจากแก่งและสายน้ำหมุนวนแล้ว การเต้นของหัวใจก็กลับมาเป็นปกติอีกครั้งผมจำได้ว่า ในสมัยเป็นเด็ก ผมอยากมีเรือวิเศษสักลำที่สามารถเดินทางไปตามที่ต่างๆ ได้ตามใจปรารถนา แต่เมื่อโตขึ้นมาและได้มาล่องเรือในแม่น้ำสายนี้ ความคิดเรื่องของการมีเรือวิเศษได้หายไปอย่างสิ้นเชิง คงไม่ต้องเสียเวลามาอธิบายเพิ่มเติมว่า ทำไมผมจึงทิ้งความฝันนั้นไปเสียหลังกลับจากล่องเรือคราวนั้น ในลมดึกของคืนหนึ่ง ผมได้นั่งดูภาพถ่ายหลายภาพ และเมื่อภาพใบหนึ่งกำลังจะผ่านตาไป ผมก็หยิบภาพใบนั้นขึ้นมาเพ่งพิจารณา ไม่นานนักเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับคนในภาพถ่ายก็วนเวียนเข้ามาในความรู้สึก