Skip to main content

[๑]

เมษายน ๒๕๔๗...

แสงแดดใกล้ลับขอบฟ้า คนหาปลาบางกลุ่มกำลังเตรียมตัวเอาเรือเข้าฝั่ง เพื่อกลับคืนสู่บ้านผ่อนคลายความเมื่อยล้าจากการหาปลามาตลอดทั้งวัน การหาปลาเป็นกิจวัตรปกติของคนริมฝั่งแม่น้ำโขงมาเนิ่นนาน แต่ในยามเย็นวันนี้ไม่เป็นเหมือนยามเย็นของวันอื่นๆ ที่ผ่านมา ช่วงนี้ริมฝั่งแม่น้ำโขงคึกคักเป็นพิเศษ เพราะข่าวการเดินทางมาของปลาบึก ปลาใหญ่ที่คนหาปลาขนานนามให้ว่า ‘ปลาเทพเจ้าแห่งลำน้ำโขง’

พี่รงค์ จินะราช คนหาปลาบ้านหาดไคร้ได้เอาเรือออกไปไหลมองในแม่น้ำโขงบริเวณดอนแวงตามปกติ มองที่ไหลไปตามกระแสน้ำเป็นมองขนาดเล็ก พอมองไหลไปปะทะกับสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ ชั่วพริบตานั้นฟองอากาศขนาดใหญ่ก็เกิดขึ้นบนผิวน้ำ แล้วมองผืนเล็กก็ขาดเป็นช่องขนาดใหญ่

‘ตอนนั้นผมคิดว่าต้องเป็นปลาบึกแน่ เพราะเมื่อ ๒-๓ วันก่อนมีคนเห็นนกนางนวลสัญลักษณ์คู่กันกับปลาบึกบินขึ้นมาสามตัว หลังจากนกนางนวลบินขึ้นมา พวกนกกระยางก็บินตามมา นอกจากนกแล้วยังมีปลาปลาที่ขึ้นมาก่อนปลาบึกก็มีพวกปลาเลิม, ปลาค้าว, และปลาอีกหลายชนิด’ พี่รงค์ เล่าย้อนไปถึงการขึ้นมาของปลาบึกเมื่อปีที่ผ่านมาให้ฟังด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

ว่ากันว่าปลาบึกคือ ปลาน้ำจืดชนิดไม่มีเกร็ด ปลาบึกธรรมชาติสามารถพบได้เฉพาะในแม่น้ำโขง (ปัจจุบันปลาบึกสามารถพบได้ตามบ่อเลี้ยงทั่วไป) จากสถิติที่คนหาปลาบ้านหาดไคร้ซึ่งรวมตัวกันเป็นชมรมปลาบึกได้เคยบันทึกไว้ ปลาบึกตัวที่มีน้ำหนักสูงสุดคือ ๒๘๒ กิโลกรัม!, คนหาปลาบ้านหาดไคร้จับได้เมื่อปี ๒๕๓๒

รูปร่างของปลาบึกจะคล้ายกับปลาสวายและปลาเทโพคือ ลักษณะของลำตัวจะแบน ข้างจะงอยปากจะมีป้านใหญ่ปลายกลมมน, หัวยาวใหญ่, นัยน์ตาเล็กอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่ามุมปาก ในปากไม่มีฟัน ตอนที่ยังเล็กปลาบึกจะกินสัตว์เป็นอาหาร แต่พอโตขึ้นมา ปลาบึกจะกลายเป็นปลากินพืชน้ำที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ไก’ สาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่งที่เกิดตามหินผาในแม่น้ำโขง นอกจากไกจะเป็นอาหารของปลาบึกแล้ว ไกยังเป็นอาหารของคนอีกด้วย 

[๒]

เมษายน ๒๕๔๘

เสียงเครื่องยนต์เรือหางยาวครางกระหึ่มมาจากตรงหัวดอนแวง และค่อยๆ เบาเสียงลงเมื่อเข้าใกล้ถึงฝั่ง เรียวระลอกคลื่นจากเรือพุ่งเข้ากระทบฝั่งแล้วลับหายไปในความมืด ยามเช้ามืดอย่างนี้สายน้ำทั้งสายคล้ายไหลไปสู่ความเงียบ แต่หากว่าความจริงไม่ได้เป้นอย่างนั้น เพราะตอนนี้เรือหาปลา ๓-๔ ลำสลับกันวิ่งขึ้น-ลงทุกๆ สิบนาที ขณะที่เรือบางลำกำลังเดินทางไปบนสายน้ำ แต่เรืออีกบางลำบนกำลังเดินทางเข้าสู่ฝั่ง

เรือลำหนึ่งที่กำลังเดินทางเข้าสู่ฝั่งในตอนนี้ บนเรือมีคนหาปลา ๕ คน และปลาใหญ่น้ำหนัก ๑๐๐ กว่ากิโลกรัมอีกหนึ่งตัว….

๕.๓๐ น. ของเช้าวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๘ หากเป็นตอนกลางวัน ผู้คนที่กระจัดกระจายอยู่ตามริมฝั่งน้ำคงเบียดเสียดแย่งกันเข้าไปใกล้ปลาตัวใหญ่ที่นอนทอดร่างอยู่ในลำเรือ เพื่อเฝ้าดูความยิ่งใหญ่ของมัน แต่เพราะยังเช้าอยู่ผู้คนที่ได้ยลโฉมปลาตัวนี้จึงมีเพียงคนหาปลาไม่กี่สิบคนเท่านั้น

แสงอาทิตย์ยามเช้าโผล่พ้นขอบฟ้าด้านตะวันออกขึ้นมาเรื่อยๆ พร้อมๆ กับข่าวการจับปลาบึกตัวแรกของปีนี้ได้โดยคนหาปลาบ้านหาดไคร้แผ่กระจายออกไป  

สำหรับคนหาปลาที่โชคดีเป็นกลุ่มแรกในปีนี้ เป็นกลุ่มคนหาปลาบ้านหาดไคร้ภายใต้การนำของพี่สนั่น สุวรรณทา อายุ ๔๕ ปี ปลาบึกตัวแรกของปีถูกจับได้เมื่อเวลา ๕.๓๐ น. เป็นปลาบึกเพศผู้ น้ำหนัก ๑๘๔ กิโลกรัม ความยาว ๒.๔๐ เมตร

‘ดีใจอยู่ที่เป็นกลุ่มแรกที่จับปลาได้ ถือว่าเป็นโชคดีนะ เพราะปลามันอยู่ในน้ำไม่รู้ว่าใครจะจับได้’ พี่สนั่น สุวรรณทา เล่าให้ฟังด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม ก่อนที่จะพาลูกทีมเอาเรือตัดผ่านท้องน้ำกลับไปสู่ดอนแวงอีกครั้ง

[๓]

แดดเดือนเมษายนร้อนปานจะผ่าศีรษะออกเป็นเสี่ยงๆ สายน้ำโขงที่เคยไหลรินมาชั่วนาตาปีค่อยๆ แห้งลงเรื่อยๆ เกาะแก่งน้อยใหญ่รวมทั้งดอนทรายต่างๆ ได้โผล่พ้นน้ำ โดยเฉพาะดอนแวงดอนทรายขนาดใหญ่กลางแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับบ้านหาดไคร้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

ในความหมายของคนท้องถิ่นแล้ว คำว่า ‘ดอน’ เป็นหนึ่งในระบบนิเวศที่สำคัญของแม่น้ำโขง หมายถึงเกาะกลางน้ำซึ่งเกิดขึ้นจากการทับถมของตะกอนทรายและก้อนหินขนาดเล็กมากมายที่น้ำได้พัดพามากองมาทับถมกันเอาไว้ในช่วงหน้าน้ำหลาก ดอนเป็นตัวบังคับน้ำตามธรรมชาติให้น้ำไหลไปตามร่องน้ำ ในฤดูแล้งบริเวณดอนจะมีทั้งที่เป็นหาดหินและหาดทรายโผล่พ้นน้ำ

หากมองจากริมแม่น้ำโขงบริเวณหน้าวัดบ้านหาดไคร้ไปทางด้านทิศตะวันออกจะเห็นดอนแวงและหาดทรายทอดยาวไปตามลำน้ำสวยงาม ในมุมมองที่สูงขึ้นไปจะเห็นแม่น้ำโขงไหลคดเคี้ยวผ่านหัวดอนแวงวกเข้าไปในแผ่นดินของประเทศลาว

ในช่วงฤดูกาลจับปลาบึก คนหาปลาทั้งสองฝั่งจะมาตั้งเพิงพัก เพื่อร่วมกันหาปลาอยู่บนดอนแวง การจับปลาบึกของชุมชนริมน้ำโขงจะเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายนพอดี และน้ำในแม่น้ำโขงตรงบริเวณดอนแวงก็จะมีลักษณะกว้าง ไม่ลึกมาก ใต้น้ำเป็นพื้นทรายผสมกรวดจึงทำให้เหมาะที่จะปล่อยมองปลาบึก จึงทำให้อำเภอเชียงของเป็นเพียงอำเภอเดียวในประเทศไทยที่มีพื้นที่เหมาะสมในการจับปลาบึกธรรมชาติในช่วงหน้าแล้ง        

[๔]

สำหรับวงจรชีวิตของปลาบึก ชีวิตที่ลึกลับแห่งสายน้ำโบราณสายนี้ยังเป็นปริศนาที่ไม่เคยมีใครให้ความกระจ่างได้ คนหาปลาริมฝั่งโขงเชื่อกันว่า ปลาบึกอาศัยอยู่ใต้น้ำลึก ในแก่งที่จมหลับอยู่ใต้น้ำที่เต็มไปด้วยโพรงหินขนาดใหญ่ บางคนเรียกว่า ‘วังปลาบึก’

พ่อผุย บุปผา พรานปลารุ่นลายครามแห่งบ้านปากอิงใต้บอกว่า ‘ปลาบึกที่ขึ้นมาในช่วงนี้ น่าจะอยู่ตามแก่งหินลึกใต้น้ำแถวก่อนถึงเมืองหลวงพระบาง เพราะแถวนั้นมีแก่งเยอะ น้ำมันลึกด้วย พ่อเคยเห็นคนลาวเขาบวงสรวงจับปลาบึกเหมือนกันกับทางประเทศไทย ในช่วงก่อนวันปีใหม่ลาว’

แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่บันทึกไว้ชัดเจนว่า ปลาบึกธรรมชาติในแม่น้ำโขงขึ้นไปวางไข่บริเวณไหนหรืออาศัยอยู่ที่ใดของแม่น้ำโขง และปลาบึกธรรมชาติตัวโตเต็มที่พร้อมจะผสมพันธุ์และวางไข่มีอายุเท่าใด แต่ความทรงจำของคนริมน้ำที่เคยพบเห็นปลาบึกตามที่ต่างๆ ก็พอร้อยเรียงให้เห็นถึงเส้นทางของปลาบึกในแม่น้ำโขงได้ลางๆ

พ่อหนานตา คนหาปลาวัย ๖๕ ปี แห่งบ้านแซวเล่าให้พวกเราฟังหลังจากนั่งครุ่นคิดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับปลาบึกอยู่ไม่นาน ‘สมัยก่อนสักเมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปี ที่บ้านแซวก็มีคนจับปลาบึกอยู่ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว คนหาปลาเคยเห็นปลาบึกผลุบๆ โผล่ๆ อยู่ตรงกว๊านบ้านแซวช่วงเดือนพฤษภาคม ปลาบึกมันน่าจะอยู่ที่นี้นะ หรือไม่อย่างนั้นมันก็มาหื่น (ผสมพันธุ์) กันตรงนี้แล้วก็ขึ้นเหนือไปวางไข่’

บริเวณกว๊านบ้านแซวที่พ่อหนานตากล่าวถึงมีลักษณะเป็นคุ้งน้ำใหญ่คล้ายกับคกอยู่ด้านในของแม่น้ำโขง กระแสน้ำในบริเวณกว๊านจะหมุนวนเป็นวงกว้าง กว๊านจะเป็นที่อยู่อาศัย, แหล่งหากิน และแหล่งวางไข่ของปลาหลายชนิด

นอกเหนือจากแม่น้ำโขงบริเวณอำเภอเชียงของแล้ว จากงานวิจัยไทบ้านลุ่มน้ำสงคราม จังหวัดนครพนมพบว่า ปลาบึกจะอพยพจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำสงครามและห้วยสาขาในฤดูน้ำหลาก ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และจะอพยพกลับลงสู่แม่น้ำโขงในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ปลาบึกอพยพเข้าไปสู่แม่น้ำสงคราม เนื่องจากป่าทามของลุ่มแม่น้ำสงครามมีระบบนิเวศที่หลากหลายเหมาะต่อการหากิน และในป่าทามยังมีพืชน้ำที่เป็นอาหารของปลาบึกโดยเฉพาะ ‘เทา’ สาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่ง (ทางภาคเหนือเรียกว่า ‘เตา’ )

พ่อประพงค์ รัตนะ นักวิจัยไทบ้านลุ่มน้ำสงครามเล่าว่า ‘เมื่อประมาณ ๓๐ ปีที่แล้ว เคยเห็นปลาบึกขนาดใหญ่มาบ้อน--โผล่พ้นผิวน้ำ และหากินอยู่แถวห้วยซิง มีหลายคนจับปลาบึกได้จากห้วยซิงทุกปี แต่ตอนนี้ไม่เห็นปลาบึกในน้ำสงครามาหลายปีแล้ว’

เช่นเดียวกันกับหนังสือแม่มูนการกลับมาของคนหาปลาได้บันทึกเรื่องราวของปลาบึกไว้ว่า ช่วงที่มีการเปิดประตูเขื่อนปากมูนตามมติคณะรัฐมนตรีเป็นเวลา ๑ ปี ในช่วงปี ๒๕๔๕ นั้นทำให้มีปลาบึกขึ้นจากแม่น้ำโขงเข้ามาในแม่น้ำมูน มีคนหาปลาหลายคนบังเอิญจับปลาบึกได้หลายตัว

บริเวณปากแม่น้ำมูนไหลบรรจบกับแม่น้ำโขง มีบริเวณที่ชาวบ้านเชื่อว่ามีปลาบึกอาศัยอยู่คือ ‘บริเวณเวินบึก’ แม่น้ำโขงตรงบริเวณเวินบึกนั้นมีลักษณะเป็นเหมือนกว๊านในแม่น้ำโขงทางภาคเหนือของประเทศไทย

น่าแปลกที่เราต่างก็เคยเห็นปลาบึกธรรมชาติตัวใหญ่ในแม่น้ำโขง แต่สำหรับลูกปลาบึกตัวเล็กแล้วกลับไม่เคยมีใครเห็น! หลังจากพ่อแม่ผสมพันธุ์กันแล้ว, ลูกปลาบึกอพยพกลับลงมาจากด้านตอนเหนือของแม่น้ำโขงในช่วงระยะเวลาใด และมันอพยพไปอยู่ในที่ใด เพื่อเป็นปลาใหญ่ในแม่น้ำโขงต่อไป เรื่องนี้ยังเป็นปริศนาที่เฝ้ารอให้เกิดการค้นพบ!

[๕]

นอกจากเรื่องราวของถิ่นที่อยู่อาศัยของปลาบึกจะเป็นเรื่องราวปริศนาแล้ว คนหาปลาในแต่ละพื้นที่ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับปลาบึกแตกต่างกันออกไปด้วย คนหาปลาบ้านหาดไคร้เชื่อว่า เมื่อนกนางนวลโผบินอยู่เหนือแม่น้ำโขงยามใด ยามนั้นปลาบึกก็จะขึ้นมา และคนหาปลาก็จะลงมือทำการบวงสรวง เพราะคนหาปลาที่บ้านหาดไคร้เชื่อว่า ปลาบึกเป็นปลาที่มีภูตผีคุ้มครอง ดังนั้นจึงต้องทำพิธีเลี้ยงภูตผีเสียก่อนที่จะมีการจับปลาบึก โดยนอกจากจะเลี้ยงภูตผีแล้ว คนหาปลายังได้เลี้ยงเรือที่ใช้ในการหาปลาของตนเองด้วย  

ลุงเรียน จินะราช เล่าให้ฟังว่า ‘การเลี้ยงผีลวงก็ทำก่อนช่วงที่จะมีการจับปลาบึกของทุกปี คนจับปลาบึก ลวงนี่แปลว่า ‘ฟ้า’ หรือ ‘ใหญ่’ การเลี้ยงผีลวงก็เลยหมายถึงการเลี้ยงผีที่อยู่บนฟ้า การเลี้ยงผีลวงคนหาปลาก็จะเตรียมเครื่องเซ่น เช่น เหล้าขาว,ไก่,สรวยดอกไม้,สรวยหมาก และสวยพลู วันเลี้ยงนี่คนหา-ปลาจะไปเลี้ยงกันเองเขาไม่บอกใครหรอก พอไปถึงก็ตั้งศาลเพียงตาขึ้น ให้ผู้เฒ่าผู้แก่บอกกล่าวบนบานให้จับปลาบึกได้ แต่ตอนนี้ที่เลี้ยงกันในช่วงวันที่ ๑๘ เมษายนของทุกปี เพราะการท่องเที่ยวเข้ามาส่งเสริมให้ทำ ตั้งแต่ปี ๓๐ มาก็ทำอย่างนี้เรื่อยมา แต่ก็มีบางคนไปทำแบบดั้งเดิมอยู่’

ภายหลังที่คนหาปลาจับปลาบึกได้แล้ว พวกเขาก็จะทำการแก้บนตามที่ได้บนบานไว้ คนหาปลาที่จับปลาบึกตัวแรกของปีนี้ได้จึงได้ประกอบพิธีกรรมการเลี้ยงผี ซึ่งคนหาปลาเรียกว่า การเลี้ยงผีโพ้ง, การเลี้ยงผีแม่ย่างนางเรือ, การเลี้ยงผีเจ้าที่

หากจะดูว่าเรือหาปลาลำใดจับปลาบึกได้ก็ให้สังเกตดอกซอมพอสีแดงที่ห้อยพาดอยู่บนหัวเรือ เพราะว่ากันว่าแม่ย่านางเรือชอบดอกไม้แดง เมื่อเรือลำที่ออกสู่แม่น้ำโขงกลับมาพร้อมกับปลาบึก หัวเรือจึงมีดอกไม้แดงห้อยอยู่

ใช่ว่าเรื่องของพิธีกรรมเกี่ยวกับปลาบึกจะมีแต่ที่บ้านหาดไคร้ที่เดียว ตามชุมชนริมแม่น้ำมูน ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงยังมีพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับปลาบึกรวมอยู่ด้วย คนหาปลาที่แม่น้ำมูนมีความเชื่อว่า ปลาบึกเป็นปลาศีลธรรม ถ้าบังเอิญปลาบึกไปติดเครื่องมือประมงของใคร คนนั้นต้องปล่อยปลาบึกไปหรือถ้าปลาบึกตายก็ต้องทำบุญทำทานสะเดาะเคราะห์ ถ้าไม่ทำเช่นนั้นเชื่อกันว่าจะต้องมีอันเป็นไปในชีวิตและทรัพย์สิน

ช่วงหลังเมื่อมีปลาบึกว่ายทวนน้ำเข้าสู่แม่มูนมาติดเครื่องมือหาปลา เพราะความที่ปลาบึกถูกกระทำให้เป็นปลามีราคา คนหาปลาจึงเอาปลาบึกไปขาย แต่พอขายได้เงินมาแล้ว คนหาปลาก็จะทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้กับปลาบึกตัวนั้นๆ พิธีกรรมดังกล่าวคนหาปลาต้องรีบทำให้เร็วที่สุด เพราะเชื่อกันว่าถ้าหากทำล่าช้าจะเกิดอันตรายกับครอบครัว

การทำบุญให้ปลาบึกนั้นก็ทำเหมือนกับงานศพของคนทุกประการ โดยคนหาปลาที่จับปลาบึกได้ต้องนิมนต์พระสงฆ์มาที่บ้าน เพื่อสวดชักอนิจจาในตอนค่ำและกรวดน้ำหาดวงวิญญาณของปลาบึก เพื่อไม่ให้มีกรรมมีเวรต่อกัน เช้าวันต่อมาเจ้าภาพก็จะจัดให้มีการถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ จากนั้นก็จะจุดไฟเผารูปปลาบึกที่วาดขึ้นบนกระดาษ พระสงฆ์ให้ศีลให้พรเมื่อฉันภัตตาหารเสร็จ ทางผู้เข้าร่วมพิธีร่วมกันรับประทานอาหารเป็นอันเสร็จพิธี
จากความเชื่อทั้งสองพื้นที่นั้นได้แสดงให้เห็นว่า ปลาบึกเป็นปลาที่คนหาปลาให้ความเคารพและถือว่าเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์ เพราะความที่ปลาบึกเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์นี่เอง รูปเขียนโบราณที่ผาแต้มจึงมีรูปปลาใหญ่ที่พอสันนิษฐานได้ว่าเป็นรูปปลาบึก ปลาเทพเจ้าแห่งลำน้ำโขงรวมอยู่ด้วย

[๖]

แม้ว่าในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ที่บ้านหาดไคร้จะมีการเฝ้ารอเพื่อจับปลาบึกของคนหาปลา ซึ่งถูกระหน่ำว่าเขาเหล่านั้นเป็นผู้ล่า--นักล่า ที่พรากชีวิตปลาบึกจากลำน้ำโขงไปนักต่อนักแล้ว แต่หากย้อนกลับไปมองให้ถ้วนถี่แล้วจะพบว่า ธรรมชาติของหน้าแล้ง ปลาในแม่น้ำก็ย่อมมีน้อย และเมื่อมีปลาใหญ่ขึ้นมาและสามารถที่จะทำรายได้ให้กับคนหาปลาได้ ก็คงไม่แปลกนักที่จะมีการจับปลาบึกอยู่ทั้งฝั่งลาวและไทย

หลายปีมาแล้วที่บ้านหาดไคร้ คนที่มาเฝ้ารอปลาบึกใช่ว่าจะมีเพียงแต่คนหาปลาเท่านั้น หนึ่งในจำนวนคนที่มาเฝ้ารอนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ของกรมประมงรวมอยู่ด้วย การมาถึงของเจ้าหน้าที่กรมประมงก็เพื่อรีดไข่และน้ำเชื้อเพื่อผสมพันธุ์ปลาบึก โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อการวิจัยและหาแนวทางในการอนุรักษ์ปลาบึกต่อไป

ส่วนกลุ่มนักอนุรักษ์กลับมีแนวคิดในการอนุรักษ์ที่ต่างออกไป โดยหลายคนได้นำเสนอถึงแนวคิดพื้นฐานที่ว่า หากเราจะอนุรักษ์ปลาบึก เราต้องอนุรักษ์พื้นที่อันเป็นแหล่งอาศัยของปลาบึก ที่สำคัญคือเราต้องไม่แยกคนออกจากน้ำ เพราะคนหาปลาจะต้องอยู่กับน้ำ รวมทั้งปลาบึกก็ต้องอยู่กับน้ำด้วยเช่นกัน

ในกระแสการอนุรักษ์นั้นหากว่าหลายภาคส่วนร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ปีหน้าเมื่อฤดูกาลจับปลาบึกเวียนมาถึง เราคงได้เห็นปลาบึกอย่างน้อยสักหนึ่งคู่ว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นไปทางเหนือเพื่อสืบสายพันธุ์อันยิ่งใหญ่แห่งสายน้ำ ให้คงอยู่คู่สายน้ำโขงตลอดไป

วันนี้เกาะแก่งในแม่น้ำโขง อันเปรียบเป็นบ้านของปลาบึกและปลาน้อยใหญ่อีก๑,๐๐๐ กว่า ชนิดในลำน้ำแห่งนี้ กำลังถูกคุกคามด้วยโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ ซ้ำร้ายระบบการขึ้น-ลงของระดับน้ำตามวัฎจักรฤดูกาลของแม่น้ำก็ถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเขื่อนหลายแห่งที่สร้างขึ้น เพื่อกั้นน้ำทางตอนบนในเขตจีน ความอุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศที่ซับซ้อนของสายน้ำแห่งนี้จะคงอยู่เพื่อหล่อเลี้ยงนานาชีวิตได้อีกนานแค่ไหน?

วันนี้ชะตาอนาคตของปลาบึกและสรรพชีวิตแห่งลุ่มน้ำโขงเหมือนอยู่บนเส้นด้ายเส้นเล็กๆ เส้นด้าย ที่เฝ้ารอวันขาดสะบั้น เพราะทิศทางการพัฒนาที่ไม่มุ่งเน้นเพียงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้านเดียว และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และชีวิตที่พึ่งพาสายน้ำนี้มาถึงช้าเหลือเกิน!   

แล้วเมื่อวันนั้นมาถึงทุกสิ่งอาจหลงเหลือแต่เพียงตำนานให้ลูกหลานลุ่มน้ำโขงได้เล่าขานกันต่อไปในอนาคตก็เป็นได้?.....

[๗]

๑๘ เมษายน ๒๕๔๙

งานบวงสรวงก่อนการจับปลาบึกของคนหาปลาบ้านหาดไคร้ได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับกระแสว่าชาวบ้านหาดไคร้จะไม่จับปลาบึกอีก แต่ไม่แน่นักว่าหลังจากวันนี้ไปไม่มีใครทำนายทายทักได้ว่า ปลาบึกตัวแรกจะถูกคนหาปลาคนใดจับได้ และเรื่องราวความขัดแย้งในเรื่องการอนุรักษ์ปลาบึกจะยังคงมีอยู่ต่อหรือไม่? นั่นเป็นเรื่องราวที่ต้องติดตามและค้นหาคำตอบกันต่อไป...

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
    ...เสียงปืนดังลั่นเปรี้ยง-คล้ายเสียงชะนีหวน
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง
สุมาตร ภูลายยาว
‘ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้ง’ คนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้ดีตีนแดง-ขอ โทษ เท้าแดง ตะแคงเท้าเดิน เวลาเหยียบปุ่มปมของพรมผืนนุ่มนิ่มราวกับปุยเมฆ นั่นแหละเท้าของผู้ดี และโลกของผู้ดีมีแต่น้ำครำ –น้ำคำ แห่งการหลอกลวง ทั้งผู้ดีจริง และผู้ดีกลวง ขณะเดินย่ำไปบนเส้นทางสู่ร้านอาหารเลิศหรู เมนูไข่คาเวียกับบรั่นดีแก้วทรงสูงดัดจริตวางรอ ผู้ดีน้ำครำละเลียดเมรัยรสคมผ่านลำคอ และละเลียดไข่คาเวียที่มีอยู่นับจำนวนได้บนจานราคาแพงกว่าการขึ้นห้องกับปอง ของโฉน ไพรำ ผู้ดี น้ำครำมองออกไปนอกหน้าต่างสูงลิบของห้องอาหารโรงแรมเสียดฟ้า เบื้องล่างแม่น้ำไหลเอื่อยเหนื่อยปานจะขาดใจตาย ผู้ดีน้ำครำละเลียดไข่คาเวียราคาแพง เพื่อเลิศหรูมีหน้ามีตา…
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมหนาวพัดมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยสายลงมา ว่ากันว่านี่คือฝนหลงฤดู! กาแฟแก้วของวันเป็นคาปูชิโน่ร้อนสองแก้ว แต่ไม่ใช่ของผมเป็นของลูกค้าต่างชาติ รสชาติของกาแฟเป็นอย่างไรในเช้านี้ ผมไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้ชิม หลังสตรีมนมสดจนร้อนได้ที่ กลิ่นกาแฟสดหอมกรุ่นโชยออกมา และพร้อมแล้วสำหรับการดื่ม-กิน
สุมาตร ภูลายยาว
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด
สุมาตร ภูลายยาว
เวลาผ่านไปเร็ว ยามที่เราโตขึ้น เราเชื่อเช่นนั้น เพราะเราโหยหาเวลาของวัยเยาว์ เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นลำดับมีหลายความรู้สึกของวัยเยาว์ที่หล่นหายไปอย่างไม่อาจเรียกคืนกลับมา ราวกับสายน้ำที่ไหลไกลออกไปทุกทีๆ มิอาจหวนกลับมาเป็นสายน้ำได้เช่นเดิม แต่กลายเป็นสายฝนพรำลงมาแทน หากพูดถึงอดีตแล้ว บางด้านที่เลวร้าย เราอยากผ่านเลย แต่กลับจำได้ฝังใจ...
สุมาตร ภูลายยาว
บุนทะนอง ซมไซผล แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว    ๑.ผลน้ำเต้าบุ่ง และวรรณคดีพื้นเมือง ถ้าจะให้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ความเชื่อมโยงด้านวรรณคดีของชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดถึงคือ น้ำเต้าบุ่ง
สุมาตร ภูลายยาว
ดอกเกดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ลำต้นมีลักษณะเหมือนต้นปาล์ม เวลาออกดอก ดอกจะส่งกลิ่นหอม คนเฒ่าคนแก่จะนิยมนำไปบูชาพระและนำมาทัดหู ผมไม่รู้เหมือนกันว่าดอกไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยหรือมีเฉพาะที่ภาคอีสานและประเทศลาว
สุมาตร ภูลายยาว
จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง) เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’