Skip to main content

[๑]

เมษายน ๒๕๔๗...

แสงแดดใกล้ลับขอบฟ้า คนหาปลาบางกลุ่มกำลังเตรียมตัวเอาเรือเข้าฝั่ง เพื่อกลับคืนสู่บ้านผ่อนคลายความเมื่อยล้าจากการหาปลามาตลอดทั้งวัน การหาปลาเป็นกิจวัตรปกติของคนริมฝั่งแม่น้ำโขงมาเนิ่นนาน แต่ในยามเย็นวันนี้ไม่เป็นเหมือนยามเย็นของวันอื่นๆ ที่ผ่านมา ช่วงนี้ริมฝั่งแม่น้ำโขงคึกคักเป็นพิเศษ เพราะข่าวการเดินทางมาของปลาบึก ปลาใหญ่ที่คนหาปลาขนานนามให้ว่า ‘ปลาเทพเจ้าแห่งลำน้ำโขง’

พี่รงค์ จินะราช คนหาปลาบ้านหาดไคร้ได้เอาเรือออกไปไหลมองในแม่น้ำโขงบริเวณดอนแวงตามปกติ มองที่ไหลไปตามกระแสน้ำเป็นมองขนาดเล็ก พอมองไหลไปปะทะกับสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ ชั่วพริบตานั้นฟองอากาศขนาดใหญ่ก็เกิดขึ้นบนผิวน้ำ แล้วมองผืนเล็กก็ขาดเป็นช่องขนาดใหญ่

‘ตอนนั้นผมคิดว่าต้องเป็นปลาบึกแน่ เพราะเมื่อ ๒-๓ วันก่อนมีคนเห็นนกนางนวลสัญลักษณ์คู่กันกับปลาบึกบินขึ้นมาสามตัว หลังจากนกนางนวลบินขึ้นมา พวกนกกระยางก็บินตามมา นอกจากนกแล้วยังมีปลาปลาที่ขึ้นมาก่อนปลาบึกก็มีพวกปลาเลิม, ปลาค้าว, และปลาอีกหลายชนิด’ พี่รงค์ เล่าย้อนไปถึงการขึ้นมาของปลาบึกเมื่อปีที่ผ่านมาให้ฟังด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

ว่ากันว่าปลาบึกคือ ปลาน้ำจืดชนิดไม่มีเกร็ด ปลาบึกธรรมชาติสามารถพบได้เฉพาะในแม่น้ำโขง (ปัจจุบันปลาบึกสามารถพบได้ตามบ่อเลี้ยงทั่วไป) จากสถิติที่คนหาปลาบ้านหาดไคร้ซึ่งรวมตัวกันเป็นชมรมปลาบึกได้เคยบันทึกไว้ ปลาบึกตัวที่มีน้ำหนักสูงสุดคือ ๒๘๒ กิโลกรัม!, คนหาปลาบ้านหาดไคร้จับได้เมื่อปี ๒๕๓๒

รูปร่างของปลาบึกจะคล้ายกับปลาสวายและปลาเทโพคือ ลักษณะของลำตัวจะแบน ข้างจะงอยปากจะมีป้านใหญ่ปลายกลมมน, หัวยาวใหญ่, นัยน์ตาเล็กอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่ามุมปาก ในปากไม่มีฟัน ตอนที่ยังเล็กปลาบึกจะกินสัตว์เป็นอาหาร แต่พอโตขึ้นมา ปลาบึกจะกลายเป็นปลากินพืชน้ำที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ไก’ สาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่งที่เกิดตามหินผาในแม่น้ำโขง นอกจากไกจะเป็นอาหารของปลาบึกแล้ว ไกยังเป็นอาหารของคนอีกด้วย 

[๒]

เมษายน ๒๕๔๘

เสียงเครื่องยนต์เรือหางยาวครางกระหึ่มมาจากตรงหัวดอนแวง และค่อยๆ เบาเสียงลงเมื่อเข้าใกล้ถึงฝั่ง เรียวระลอกคลื่นจากเรือพุ่งเข้ากระทบฝั่งแล้วลับหายไปในความมืด ยามเช้ามืดอย่างนี้สายน้ำทั้งสายคล้ายไหลไปสู่ความเงียบ แต่หากว่าความจริงไม่ได้เป้นอย่างนั้น เพราะตอนนี้เรือหาปลา ๓-๔ ลำสลับกันวิ่งขึ้น-ลงทุกๆ สิบนาที ขณะที่เรือบางลำกำลังเดินทางไปบนสายน้ำ แต่เรืออีกบางลำบนกำลังเดินทางเข้าสู่ฝั่ง

เรือลำหนึ่งที่กำลังเดินทางเข้าสู่ฝั่งในตอนนี้ บนเรือมีคนหาปลา ๕ คน และปลาใหญ่น้ำหนัก ๑๐๐ กว่ากิโลกรัมอีกหนึ่งตัว….

๕.๓๐ น. ของเช้าวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๘ หากเป็นตอนกลางวัน ผู้คนที่กระจัดกระจายอยู่ตามริมฝั่งน้ำคงเบียดเสียดแย่งกันเข้าไปใกล้ปลาตัวใหญ่ที่นอนทอดร่างอยู่ในลำเรือ เพื่อเฝ้าดูความยิ่งใหญ่ของมัน แต่เพราะยังเช้าอยู่ผู้คนที่ได้ยลโฉมปลาตัวนี้จึงมีเพียงคนหาปลาไม่กี่สิบคนเท่านั้น

แสงอาทิตย์ยามเช้าโผล่พ้นขอบฟ้าด้านตะวันออกขึ้นมาเรื่อยๆ พร้อมๆ กับข่าวการจับปลาบึกตัวแรกของปีนี้ได้โดยคนหาปลาบ้านหาดไคร้แผ่กระจายออกไป  

สำหรับคนหาปลาที่โชคดีเป็นกลุ่มแรกในปีนี้ เป็นกลุ่มคนหาปลาบ้านหาดไคร้ภายใต้การนำของพี่สนั่น สุวรรณทา อายุ ๔๕ ปี ปลาบึกตัวแรกของปีถูกจับได้เมื่อเวลา ๕.๓๐ น. เป็นปลาบึกเพศผู้ น้ำหนัก ๑๘๔ กิโลกรัม ความยาว ๒.๔๐ เมตร

‘ดีใจอยู่ที่เป็นกลุ่มแรกที่จับปลาได้ ถือว่าเป็นโชคดีนะ เพราะปลามันอยู่ในน้ำไม่รู้ว่าใครจะจับได้’ พี่สนั่น สุวรรณทา เล่าให้ฟังด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม ก่อนที่จะพาลูกทีมเอาเรือตัดผ่านท้องน้ำกลับไปสู่ดอนแวงอีกครั้ง

[๓]

แดดเดือนเมษายนร้อนปานจะผ่าศีรษะออกเป็นเสี่ยงๆ สายน้ำโขงที่เคยไหลรินมาชั่วนาตาปีค่อยๆ แห้งลงเรื่อยๆ เกาะแก่งน้อยใหญ่รวมทั้งดอนทรายต่างๆ ได้โผล่พ้นน้ำ โดยเฉพาะดอนแวงดอนทรายขนาดใหญ่กลางแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับบ้านหาดไคร้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

ในความหมายของคนท้องถิ่นแล้ว คำว่า ‘ดอน’ เป็นหนึ่งในระบบนิเวศที่สำคัญของแม่น้ำโขง หมายถึงเกาะกลางน้ำซึ่งเกิดขึ้นจากการทับถมของตะกอนทรายและก้อนหินขนาดเล็กมากมายที่น้ำได้พัดพามากองมาทับถมกันเอาไว้ในช่วงหน้าน้ำหลาก ดอนเป็นตัวบังคับน้ำตามธรรมชาติให้น้ำไหลไปตามร่องน้ำ ในฤดูแล้งบริเวณดอนจะมีทั้งที่เป็นหาดหินและหาดทรายโผล่พ้นน้ำ

หากมองจากริมแม่น้ำโขงบริเวณหน้าวัดบ้านหาดไคร้ไปทางด้านทิศตะวันออกจะเห็นดอนแวงและหาดทรายทอดยาวไปตามลำน้ำสวยงาม ในมุมมองที่สูงขึ้นไปจะเห็นแม่น้ำโขงไหลคดเคี้ยวผ่านหัวดอนแวงวกเข้าไปในแผ่นดินของประเทศลาว

ในช่วงฤดูกาลจับปลาบึก คนหาปลาทั้งสองฝั่งจะมาตั้งเพิงพัก เพื่อร่วมกันหาปลาอยู่บนดอนแวง การจับปลาบึกของชุมชนริมน้ำโขงจะเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายนพอดี และน้ำในแม่น้ำโขงตรงบริเวณดอนแวงก็จะมีลักษณะกว้าง ไม่ลึกมาก ใต้น้ำเป็นพื้นทรายผสมกรวดจึงทำให้เหมาะที่จะปล่อยมองปลาบึก จึงทำให้อำเภอเชียงของเป็นเพียงอำเภอเดียวในประเทศไทยที่มีพื้นที่เหมาะสมในการจับปลาบึกธรรมชาติในช่วงหน้าแล้ง        

[๔]

สำหรับวงจรชีวิตของปลาบึก ชีวิตที่ลึกลับแห่งสายน้ำโบราณสายนี้ยังเป็นปริศนาที่ไม่เคยมีใครให้ความกระจ่างได้ คนหาปลาริมฝั่งโขงเชื่อกันว่า ปลาบึกอาศัยอยู่ใต้น้ำลึก ในแก่งที่จมหลับอยู่ใต้น้ำที่เต็มไปด้วยโพรงหินขนาดใหญ่ บางคนเรียกว่า ‘วังปลาบึก’

พ่อผุย บุปผา พรานปลารุ่นลายครามแห่งบ้านปากอิงใต้บอกว่า ‘ปลาบึกที่ขึ้นมาในช่วงนี้ น่าจะอยู่ตามแก่งหินลึกใต้น้ำแถวก่อนถึงเมืองหลวงพระบาง เพราะแถวนั้นมีแก่งเยอะ น้ำมันลึกด้วย พ่อเคยเห็นคนลาวเขาบวงสรวงจับปลาบึกเหมือนกันกับทางประเทศไทย ในช่วงก่อนวันปีใหม่ลาว’

แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่บันทึกไว้ชัดเจนว่า ปลาบึกธรรมชาติในแม่น้ำโขงขึ้นไปวางไข่บริเวณไหนหรืออาศัยอยู่ที่ใดของแม่น้ำโขง และปลาบึกธรรมชาติตัวโตเต็มที่พร้อมจะผสมพันธุ์และวางไข่มีอายุเท่าใด แต่ความทรงจำของคนริมน้ำที่เคยพบเห็นปลาบึกตามที่ต่างๆ ก็พอร้อยเรียงให้เห็นถึงเส้นทางของปลาบึกในแม่น้ำโขงได้ลางๆ

พ่อหนานตา คนหาปลาวัย ๖๕ ปี แห่งบ้านแซวเล่าให้พวกเราฟังหลังจากนั่งครุ่นคิดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับปลาบึกอยู่ไม่นาน ‘สมัยก่อนสักเมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปี ที่บ้านแซวก็มีคนจับปลาบึกอยู่ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว คนหาปลาเคยเห็นปลาบึกผลุบๆ โผล่ๆ อยู่ตรงกว๊านบ้านแซวช่วงเดือนพฤษภาคม ปลาบึกมันน่าจะอยู่ที่นี้นะ หรือไม่อย่างนั้นมันก็มาหื่น (ผสมพันธุ์) กันตรงนี้แล้วก็ขึ้นเหนือไปวางไข่’

บริเวณกว๊านบ้านแซวที่พ่อหนานตากล่าวถึงมีลักษณะเป็นคุ้งน้ำใหญ่คล้ายกับคกอยู่ด้านในของแม่น้ำโขง กระแสน้ำในบริเวณกว๊านจะหมุนวนเป็นวงกว้าง กว๊านจะเป็นที่อยู่อาศัย, แหล่งหากิน และแหล่งวางไข่ของปลาหลายชนิด

นอกเหนือจากแม่น้ำโขงบริเวณอำเภอเชียงของแล้ว จากงานวิจัยไทบ้านลุ่มน้ำสงคราม จังหวัดนครพนมพบว่า ปลาบึกจะอพยพจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำสงครามและห้วยสาขาในฤดูน้ำหลาก ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และจะอพยพกลับลงสู่แม่น้ำโขงในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ปลาบึกอพยพเข้าไปสู่แม่น้ำสงคราม เนื่องจากป่าทามของลุ่มแม่น้ำสงครามมีระบบนิเวศที่หลากหลายเหมาะต่อการหากิน และในป่าทามยังมีพืชน้ำที่เป็นอาหารของปลาบึกโดยเฉพาะ ‘เทา’ สาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่ง (ทางภาคเหนือเรียกว่า ‘เตา’ )

พ่อประพงค์ รัตนะ นักวิจัยไทบ้านลุ่มน้ำสงครามเล่าว่า ‘เมื่อประมาณ ๓๐ ปีที่แล้ว เคยเห็นปลาบึกขนาดใหญ่มาบ้อน--โผล่พ้นผิวน้ำ และหากินอยู่แถวห้วยซิง มีหลายคนจับปลาบึกได้จากห้วยซิงทุกปี แต่ตอนนี้ไม่เห็นปลาบึกในน้ำสงครามาหลายปีแล้ว’

เช่นเดียวกันกับหนังสือแม่มูนการกลับมาของคนหาปลาได้บันทึกเรื่องราวของปลาบึกไว้ว่า ช่วงที่มีการเปิดประตูเขื่อนปากมูนตามมติคณะรัฐมนตรีเป็นเวลา ๑ ปี ในช่วงปี ๒๕๔๕ นั้นทำให้มีปลาบึกขึ้นจากแม่น้ำโขงเข้ามาในแม่น้ำมูน มีคนหาปลาหลายคนบังเอิญจับปลาบึกได้หลายตัว

บริเวณปากแม่น้ำมูนไหลบรรจบกับแม่น้ำโขง มีบริเวณที่ชาวบ้านเชื่อว่ามีปลาบึกอาศัยอยู่คือ ‘บริเวณเวินบึก’ แม่น้ำโขงตรงบริเวณเวินบึกนั้นมีลักษณะเป็นเหมือนกว๊านในแม่น้ำโขงทางภาคเหนือของประเทศไทย

น่าแปลกที่เราต่างก็เคยเห็นปลาบึกธรรมชาติตัวใหญ่ในแม่น้ำโขง แต่สำหรับลูกปลาบึกตัวเล็กแล้วกลับไม่เคยมีใครเห็น! หลังจากพ่อแม่ผสมพันธุ์กันแล้ว, ลูกปลาบึกอพยพกลับลงมาจากด้านตอนเหนือของแม่น้ำโขงในช่วงระยะเวลาใด และมันอพยพไปอยู่ในที่ใด เพื่อเป็นปลาใหญ่ในแม่น้ำโขงต่อไป เรื่องนี้ยังเป็นปริศนาที่เฝ้ารอให้เกิดการค้นพบ!

[๕]

นอกจากเรื่องราวของถิ่นที่อยู่อาศัยของปลาบึกจะเป็นเรื่องราวปริศนาแล้ว คนหาปลาในแต่ละพื้นที่ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับปลาบึกแตกต่างกันออกไปด้วย คนหาปลาบ้านหาดไคร้เชื่อว่า เมื่อนกนางนวลโผบินอยู่เหนือแม่น้ำโขงยามใด ยามนั้นปลาบึกก็จะขึ้นมา และคนหาปลาก็จะลงมือทำการบวงสรวง เพราะคนหาปลาที่บ้านหาดไคร้เชื่อว่า ปลาบึกเป็นปลาที่มีภูตผีคุ้มครอง ดังนั้นจึงต้องทำพิธีเลี้ยงภูตผีเสียก่อนที่จะมีการจับปลาบึก โดยนอกจากจะเลี้ยงภูตผีแล้ว คนหาปลายังได้เลี้ยงเรือที่ใช้ในการหาปลาของตนเองด้วย  

ลุงเรียน จินะราช เล่าให้ฟังว่า ‘การเลี้ยงผีลวงก็ทำก่อนช่วงที่จะมีการจับปลาบึกของทุกปี คนจับปลาบึก ลวงนี่แปลว่า ‘ฟ้า’ หรือ ‘ใหญ่’ การเลี้ยงผีลวงก็เลยหมายถึงการเลี้ยงผีที่อยู่บนฟ้า การเลี้ยงผีลวงคนหาปลาก็จะเตรียมเครื่องเซ่น เช่น เหล้าขาว,ไก่,สรวยดอกไม้,สรวยหมาก และสวยพลู วันเลี้ยงนี่คนหา-ปลาจะไปเลี้ยงกันเองเขาไม่บอกใครหรอก พอไปถึงก็ตั้งศาลเพียงตาขึ้น ให้ผู้เฒ่าผู้แก่บอกกล่าวบนบานให้จับปลาบึกได้ แต่ตอนนี้ที่เลี้ยงกันในช่วงวันที่ ๑๘ เมษายนของทุกปี เพราะการท่องเที่ยวเข้ามาส่งเสริมให้ทำ ตั้งแต่ปี ๓๐ มาก็ทำอย่างนี้เรื่อยมา แต่ก็มีบางคนไปทำแบบดั้งเดิมอยู่’

ภายหลังที่คนหาปลาจับปลาบึกได้แล้ว พวกเขาก็จะทำการแก้บนตามที่ได้บนบานไว้ คนหาปลาที่จับปลาบึกตัวแรกของปีนี้ได้จึงได้ประกอบพิธีกรรมการเลี้ยงผี ซึ่งคนหาปลาเรียกว่า การเลี้ยงผีโพ้ง, การเลี้ยงผีแม่ย่างนางเรือ, การเลี้ยงผีเจ้าที่

หากจะดูว่าเรือหาปลาลำใดจับปลาบึกได้ก็ให้สังเกตดอกซอมพอสีแดงที่ห้อยพาดอยู่บนหัวเรือ เพราะว่ากันว่าแม่ย่านางเรือชอบดอกไม้แดง เมื่อเรือลำที่ออกสู่แม่น้ำโขงกลับมาพร้อมกับปลาบึก หัวเรือจึงมีดอกไม้แดงห้อยอยู่

ใช่ว่าเรื่องของพิธีกรรมเกี่ยวกับปลาบึกจะมีแต่ที่บ้านหาดไคร้ที่เดียว ตามชุมชนริมแม่น้ำมูน ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงยังมีพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับปลาบึกรวมอยู่ด้วย คนหาปลาที่แม่น้ำมูนมีความเชื่อว่า ปลาบึกเป็นปลาศีลธรรม ถ้าบังเอิญปลาบึกไปติดเครื่องมือประมงของใคร คนนั้นต้องปล่อยปลาบึกไปหรือถ้าปลาบึกตายก็ต้องทำบุญทำทานสะเดาะเคราะห์ ถ้าไม่ทำเช่นนั้นเชื่อกันว่าจะต้องมีอันเป็นไปในชีวิตและทรัพย์สิน

ช่วงหลังเมื่อมีปลาบึกว่ายทวนน้ำเข้าสู่แม่มูนมาติดเครื่องมือหาปลา เพราะความที่ปลาบึกถูกกระทำให้เป็นปลามีราคา คนหาปลาจึงเอาปลาบึกไปขาย แต่พอขายได้เงินมาแล้ว คนหาปลาก็จะทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้กับปลาบึกตัวนั้นๆ พิธีกรรมดังกล่าวคนหาปลาต้องรีบทำให้เร็วที่สุด เพราะเชื่อกันว่าถ้าหากทำล่าช้าจะเกิดอันตรายกับครอบครัว

การทำบุญให้ปลาบึกนั้นก็ทำเหมือนกับงานศพของคนทุกประการ โดยคนหาปลาที่จับปลาบึกได้ต้องนิมนต์พระสงฆ์มาที่บ้าน เพื่อสวดชักอนิจจาในตอนค่ำและกรวดน้ำหาดวงวิญญาณของปลาบึก เพื่อไม่ให้มีกรรมมีเวรต่อกัน เช้าวันต่อมาเจ้าภาพก็จะจัดให้มีการถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ จากนั้นก็จะจุดไฟเผารูปปลาบึกที่วาดขึ้นบนกระดาษ พระสงฆ์ให้ศีลให้พรเมื่อฉันภัตตาหารเสร็จ ทางผู้เข้าร่วมพิธีร่วมกันรับประทานอาหารเป็นอันเสร็จพิธี
จากความเชื่อทั้งสองพื้นที่นั้นได้แสดงให้เห็นว่า ปลาบึกเป็นปลาที่คนหาปลาให้ความเคารพและถือว่าเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์ เพราะความที่ปลาบึกเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์นี่เอง รูปเขียนโบราณที่ผาแต้มจึงมีรูปปลาใหญ่ที่พอสันนิษฐานได้ว่าเป็นรูปปลาบึก ปลาเทพเจ้าแห่งลำน้ำโขงรวมอยู่ด้วย

[๖]

แม้ว่าในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ที่บ้านหาดไคร้จะมีการเฝ้ารอเพื่อจับปลาบึกของคนหาปลา ซึ่งถูกระหน่ำว่าเขาเหล่านั้นเป็นผู้ล่า--นักล่า ที่พรากชีวิตปลาบึกจากลำน้ำโขงไปนักต่อนักแล้ว แต่หากย้อนกลับไปมองให้ถ้วนถี่แล้วจะพบว่า ธรรมชาติของหน้าแล้ง ปลาในแม่น้ำก็ย่อมมีน้อย และเมื่อมีปลาใหญ่ขึ้นมาและสามารถที่จะทำรายได้ให้กับคนหาปลาได้ ก็คงไม่แปลกนักที่จะมีการจับปลาบึกอยู่ทั้งฝั่งลาวและไทย

หลายปีมาแล้วที่บ้านหาดไคร้ คนที่มาเฝ้ารอปลาบึกใช่ว่าจะมีเพียงแต่คนหาปลาเท่านั้น หนึ่งในจำนวนคนที่มาเฝ้ารอนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ของกรมประมงรวมอยู่ด้วย การมาถึงของเจ้าหน้าที่กรมประมงก็เพื่อรีดไข่และน้ำเชื้อเพื่อผสมพันธุ์ปลาบึก โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อการวิจัยและหาแนวทางในการอนุรักษ์ปลาบึกต่อไป

ส่วนกลุ่มนักอนุรักษ์กลับมีแนวคิดในการอนุรักษ์ที่ต่างออกไป โดยหลายคนได้นำเสนอถึงแนวคิดพื้นฐานที่ว่า หากเราจะอนุรักษ์ปลาบึก เราต้องอนุรักษ์พื้นที่อันเป็นแหล่งอาศัยของปลาบึก ที่สำคัญคือเราต้องไม่แยกคนออกจากน้ำ เพราะคนหาปลาจะต้องอยู่กับน้ำ รวมทั้งปลาบึกก็ต้องอยู่กับน้ำด้วยเช่นกัน

ในกระแสการอนุรักษ์นั้นหากว่าหลายภาคส่วนร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ปีหน้าเมื่อฤดูกาลจับปลาบึกเวียนมาถึง เราคงได้เห็นปลาบึกอย่างน้อยสักหนึ่งคู่ว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นไปทางเหนือเพื่อสืบสายพันธุ์อันยิ่งใหญ่แห่งสายน้ำ ให้คงอยู่คู่สายน้ำโขงตลอดไป

วันนี้เกาะแก่งในแม่น้ำโขง อันเปรียบเป็นบ้านของปลาบึกและปลาน้อยใหญ่อีก๑,๐๐๐ กว่า ชนิดในลำน้ำแห่งนี้ กำลังถูกคุกคามด้วยโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ ซ้ำร้ายระบบการขึ้น-ลงของระดับน้ำตามวัฎจักรฤดูกาลของแม่น้ำก็ถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเขื่อนหลายแห่งที่สร้างขึ้น เพื่อกั้นน้ำทางตอนบนในเขตจีน ความอุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศที่ซับซ้อนของสายน้ำแห่งนี้จะคงอยู่เพื่อหล่อเลี้ยงนานาชีวิตได้อีกนานแค่ไหน?

วันนี้ชะตาอนาคตของปลาบึกและสรรพชีวิตแห่งลุ่มน้ำโขงเหมือนอยู่บนเส้นด้ายเส้นเล็กๆ เส้นด้าย ที่เฝ้ารอวันขาดสะบั้น เพราะทิศทางการพัฒนาที่ไม่มุ่งเน้นเพียงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้านเดียว และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และชีวิตที่พึ่งพาสายน้ำนี้มาถึงช้าเหลือเกิน!   

แล้วเมื่อวันนั้นมาถึงทุกสิ่งอาจหลงเหลือแต่เพียงตำนานให้ลูกหลานลุ่มน้ำโขงได้เล่าขานกันต่อไปในอนาคตก็เป็นได้?.....

[๗]

๑๘ เมษายน ๒๕๔๙

งานบวงสรวงก่อนการจับปลาบึกของคนหาปลาบ้านหาดไคร้ได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับกระแสว่าชาวบ้านหาดไคร้จะไม่จับปลาบึกอีก แต่ไม่แน่นักว่าหลังจากวันนี้ไปไม่มีใครทำนายทายทักได้ว่า ปลาบึกตัวแรกจะถูกคนหาปลาคนใดจับได้ และเรื่องราวความขัดแย้งในเรื่องการอนุรักษ์ปลาบึกจะยังคงมีอยู่ต่อหรือไม่? นั่นเป็นเรื่องราวที่ต้องติดตามและค้นหาคำตอบกันต่อไป...

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
วารสารวรรณศิลป์บนแผ่นดินลาว ลมหนาวและความร้อนแล้งโชยผ่านยอดขุนเขาด้านทิศตะวันตกแห่งเมืองหลวงของราชอาณาจักรล้านนามาแผ่วๆ แล้วฤดูกาลแห่งความเหน็บหนาวก็เดินทางมาอีกครั้งพร้อมกับลมสายลมนั้น
สุมาตร ภูลายยาว
สี่พันดอน: บ้านของคนและปลา เมื่อเอ่ยถึงสี่พันดอนเชื่อว่าหลายคนที่เคยไปเยือนคงจินตนาการถึงได้ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยไปเยือนคงงุนงงไม่น้อยว่าหมายถึงอะไร คำว่า ‘สี่พันดอน’ เป็นชื่อเรียกเกาะ ดอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงในเขตเมืองโขง แขวงจำปาสัก ภาคใต้ของประเทศลาว ดินแดนแห่งนี้ได้ถูกเรียกขานว่า สี่พันดอน เพราะเต็มไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ที่มีจำนวนมากมายเรียงรายอยู่ในแม่น้ำโขงที่มีความกว้างกว่า ๑๔ กิโลเมตร เกาะต่างๆ เริ่มขึ้นที่เมืองโขงและยาวลงไปจนถึงชายแดนลาว-กัมพูชาที่บ้านเวินคามกับเมืองสตรึงเตร็ง ในจำนวนเกาะที่มีอยู่มากมาย เกาะใหญ่ที่สุดชื่อ ‘ดอนโขง’ คำว่า ‘ดอน’…
สุมาตร ภูลายยาว
เจ้าม้าศึกสีเทา ๒,๒๐๐ ซีซี ทะยานไปตามทางลูกรังสีแดงเบื้องหลังฝุ่นคลุ้งตลบ หากมีรถวิ่งตามมาคงบอกได้คำเดียวว่า ‘ขอโทษ’ ก่อนจะถึงทางแยกเสียงโทรศัพท์ของผู้ไปถึงก่อนก็บอกให้ตรงมาตามทางอย่าได้เลี้ยวซ้ายเป็นอันขาด เพราะนั่นหมายถึงการหลงทางจะเกิดขึ้น
สุมาตร ภูลายยาว
การเดินทางเที่ยวนี้มีผู้หญิงนำ เช้านี้เป็นอีกวันที่ตื่นเช้ากว่าวันอื่น แต่หากว่าเมื่อเทียบกับชาวบ้านทั่วไปแล้ว ถือว่ายังสาย โดยเฉพาะกับพ่อค้าแม่ค้าการตื่นนอนตอน ๖ โมงเช้านั้นถือว่าสายมากแล้ว เช้านี้กว่าจะเปิดเปลือกตาตื่นช่างหนักหนาสาหัส ราวกับว่าเปือกตาทั้งสองข้างถูกปิดทับไว้ด้วยเทปกาวชั้นดี หลังล้างหน้าแปรงฟันเสร็จ สมองยังคงงุนงง อาจเป็นเพราะช่วงนี้พักผ่อนไม่ค่อยพอ รวมทั้งมีเรื่องหลายเรื่องให้ได้คิด แต่เพราะงานที่ทำจึงต้องบังคับตัวเองให้ลุกจากที่นอน
สุมาตร ภูลายยาว
จะแกคนเลี้ยงวัวผู้ไม่เคยขุ่นมัวในหัวใจ ผมจำได้ว่าพบชายคนนี้ครั้งแรกเมื่อเข้าไปบ้านสองพี่น้อง เขาดูแปลกกว่าคนอื่นในหมู่บ้าน เพราะเขาเป็นผู้ชายคนเดียวในหมู่บ้านที่ไว้ผมยาว เค้าโครงใบหน้าของเขาราวกับถอดแบบออกมาจากหัวหน้าชนเผ่าของอินเดียนแดง
สุมาตร ภูลายยาว
การงานของชีวิตที่ตกค้าง ฝนเทลงมาอีกวันแล้ว...เสียงสังกะสีดังราวกับมีก้อนหินนับล้านร่วงลงมาใส่ เย็นวันนี้มีเรื่องราวให้ขบคิดมากมาย กลับมาจากการประชุมที่เคร่งเครียด อันนับว่าเป็นการงานส่วนหนึ่งของชีวิต เล่นเอาเหนื่อยสายตัวแทบขาด แล้วยังมีงานอะไรที่ยังไม่ได้ทำอีกไหมนี่
สุมาตร ภูลายยาว
บันทึกในค่ำคืนที่เปลี่ยนผ่านกับนิทรรศการที่ไม่ได้จัด สายฝนของเดือนกันยายนโปรยสายลงมาทั้งวัน เราออกเดินทางจากเชียงของมาแต่ตอนเช้าด้วยรถคันเล็ก บนกระบะทางตอนท้ายบรรทุกเอกสารต่างๆ รวมทั้งนิทรรศการมาเต็ม รถต้องจดหลายครั้ง เพื่อห่มผ้ายางกันฝนให้ของบนกระบะรถ เราผ่านมากว่าครึ่งทาง ฝนยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตก ซ้ำร้ายยังตกลงมาหนักกว่าเดิม รถวิ่งทำความเร็วได้ไม่มากนัก ทั้งที่ความเป็นจริงแม้ฝนจะไม่ตก มันก็ไม่เคยวิ่งได้เร็วกว่าที่วิ่งอยู่เท่าใดนัก
สุมาตร ภูลายยาว
เมฆสีดำเหนือฟ้าด้านตะวันออกส่งสายฝนลงมาตั้งแต่เช้าจนล่วงบ่าย แม่น้ำเป็นสีชานมเย็น เศษขยะ ขอนไม้ ท่อนไม้ และต้นไม้ลอยมากับสายน้ำ และไหลไปตามแรงเฉื่อยของกระแสน้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
เช้านี้เหมือนกับทุกเช้าในช่วงนี้พ่อท่อน ยาแก้วเดินทอดน่องในสวนบนดอนทรายริมฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อดูแปลงมะเขือราว ๔ ไร่ ในใจพ่อท่อนเองไม่อยากเก็บมะเขือในตอนนี้แม้ว่าจะถึงช่วงเวลาในการเก็บแล้ว สาเหตุที่ทำให้พ่อท่อนไม่อยากเก็บมะเขือในตอนนี้ เพราะราคามะเขือต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ปีนี้มะเขือหนึ่งหมื่น (๑๒ กิโลกรัม) ขายส่งจากสวนได้เงิน ๑๒ บาท
สุมาตร ภูลายยาว

รถตู้วิ่งไปบนถนนลาดยางมะตอยที่บางช่วงเป็นหลุมเป็นบ่อ ถนนสายนี้เป็นเส้นทางจากจังหวัดกระแจะไปอำเภอสามบอ เพราะถนนไม่ค่อยดีนัก ระยะทาง ๓๕ กิโลเมตรต้องใช้เวลาเกือบ ๑ ชั่วโมงจึงถึงจุดหมาย เมื่อรถตู้ทั้ง ๓ คันจอดสงบนิ่งลงตรงประตูหน้าวัด ผู้โดยสารในรถตู้ก็พากันทยอยลงจากรถ เบื้องล่างของถนนเป็นแม่น้ำสายใหญ่ คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘โตนเลของ-แม่น้ำของ-โขง’ แม้ยังไม่สายมากนัก แต่แสงแดดก็ส่องประกายร้อนแรงเหนือสายน้ำ ฟ้ากว้างเปล่าแปนเป็นสีฟ้าไกลสุดสายตาหยั่งถึง บนสายน้ำเรือหลายลำจอดลอยลำอยู่ ใกล้กับเรือตรงโคนต้นจามจุรีมีเด็ก ๓-๔ คนนั่งอยู่ ถัดจากโคนต้นจามจุรีไปมีเรือลำหนึ่งลอยลำอยู่…
สุมาตร ภูลายยาว
จากพื้นที่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ผู้คนสองฝั่งได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำที่มีความยาว ๔,๙๐๔ กิโลเมตรสายนี้ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ล้าน ลักษณะการใช้ประโยชน์ก็แตกต่างกันออกไปตามแต่สภาพของพื้นที่ ในช่วงที่ไหลผ่านประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดเชียงรายจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี ก็มีผู้คนไม่จำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์ในด้านแตกต่างกันออกไป ผู้ใหญ่ใช้หาปลา และใช้พื้นที่ตามหาดทรายที่โผล่พ้นน้ำ และริมฝั่งทำการเกษตร เด็กๆ ใช้เป็นห้องเรียนสำหรับฝึกหาปลา และว่ายน้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
  ผาชันเป็นหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำโขงอยู่ในเขตอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านแห่งนี้มีเรื่องราวน่าสนใจหลายอย่าง เริ่มแรกเดิมทีก่อนเดินทางไปถึง ผมจินตนาการถึงหมู่บ้านแห่งนี้ในรูปแบบต่างๆ และพอเดินทางไปถึงบ้านผาชันเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ในหน้าฝน ผมก็พบว่า ในฤดูฝนหมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นเกาะขนาดย่อมๆ ชาวบ้านบอกว่า "ในฤดูฝน น้ำจากห้วยจะไหลจนท่วมสะพาน และถนนที่เข้าสู่หมู่บ้าน การเดินทางเข้าหมู่บ้านต้องใช้เรือข้ามลำห้วยแล้วไปต่อรถ" ร่องรอยของคำพูดปรากฏให้เห็นเมื่อผมเดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน รถข้ามสะพานที่น้ำในลำห้วยเริ่มปริ่มอยู่ใต้สะพาน…