Skip to main content

  

ผาชันเป็นหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำโขงอยู่ในเขตอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านแห่งนี้มีเรื่องราวน่าสนใจหลายอย่าง เริ่มแรกเดิมทีก่อนเดินทางไปถึง ผมจินตนาการถึงหมู่บ้านแห่งนี้ในรูปแบบต่างๆ และพอเดินทางไปถึงบ้านผาชันเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ในหน้าฝน ผมก็พบว่า ในฤดูฝนหมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นเกาะขนาดย่อมๆ ชาวบ้านบอกว่า "ในฤดูฝน น้ำจากห้วยจะไหลจนท่วมสะพาน และถนนที่เข้าสู่หมู่บ้าน การเดินทางเข้าหมู่บ้านต้องใช้เรือข้ามลำห้วยแล้วไปต่อรถ"


ร่องรอยของคำพูดปรากฏให้เห็นเมื่อผมเดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน รถข้ามสะพานที่น้ำในลำห้วยเริ่มปริ่มอยู่ใต้สะพาน เสาไฟฟ้าที่พอสันนิษฐานได้ว่าตรงนั้นเคยเป็นถนนมาก่อนถูกน้ำท่วมขึ้นมาถึงครึ่งหนึ่ง


เมื่อไปถึงหมู่บ้าน ผมก็มุ่งหน้าไปยังท่าน้ำ เพราะมีเป้าหมายในการไปดูพื้นที่หาปลา และไปฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับการหาปลาของคนหาปลา แต่ก็น่าเสียดาย เพราะวันที่ไปถึงนั้น น้ำในแม่น้ำโขงท่วมจนเกือบถึงตลิ่ง คนหาปลาจึงน้อย เพราะส่วนมากต้องไปทำนาอันเป็นหน้าที่การงานหลัก แต่ก็ถือว่าโชคดีที่คนหาปลาบางส่วนยังหาปลาอยู่ ผมจึงมีโอกาสได้พูดคุยหลังจากคนหาปลาเดินทางกลับมาจากการไหลมอง การพูดคุยก็มีหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่อง ‘กองทุนปลา' ที่คนหาปลาในหมู่บ้านได้ก่อตั้งขึ้นมา

การก่อตั้งกองทุนปลาขึ้นมาก็เพื่อเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยน และทำการขายปลา โดยปลาที่จับได้จะถูกนำมาขายให้กับกองทุนในราคาที่เหมาะสม และกองทุนก็จะนำปลาที่รับซื้อมาจากคนหาปลาไปขายให้พ่อค้าแม่ค้าอีกทอดหนึ่ง สำหรับพ่อค้าแม่ค้าเมื่อมาถึงแล้วก็รับรองได้ว่าจะมีปลานำกลับไปขายต่อ และคนหาปลาก็ไม่ต้องห่วงว่าปลาที่จับได้จะขายไม่ได้ นอกจากนี้แล้ว การลงทุนในกองทุนปลา เงินทุนที่ได้มายังมาจากชาวบ้านในหมู่บ้านทั้งหมดโดยไม่มีคนนอกเข้ามาร่วมลงทุนในกองทุน เงินปันผลก็จะกลับไปหาผู้ร่วมทุนแตกต่างกันออกไปตามแต่จำนวนหุ้นที่ลงทุนในกองทุน


การพูดคุยกำลังสนุก แต่ดูเหมือนว่าฝนบนฟ้าจะไม่ค่อยเป็นใจ เพราะฟ้าเริ่มมืด และครึ้มฝนมาทุกทิศทุกทาง ราวบ่ายผมจึงเดินทางออกจากหมู่บ้านพร้อมกับปลาเคิงหนัก ๓ กิโลกรัม หลังกลับมาจากหมู่บ้านในคราวนั้น ผมก็ไม่ได้กลับไปอีกเลย แต่ยังมีความหวังว่า ผมจะกลับไปยังหมู่บ้าน เพื่อตามเจาะลึกเรื่องราวกองทุนปลาอีกครั้ง




แล้ววันที่ผมเฝ้ารอจะกลับไปยังบ้านผาชันอีกครั้งก็เดินทางมาถึง จากการไปเยือนบ้านผาชันครั้งแรกกับครั้งล่าสุดที่ผมเดินทางไปนี้ห่างกันเกือบ ๗ เดือน การไปบ้านผาชันครั้งนี้ ผมไม่ได้เดินทางด้วยรถ แต่เป็นการเดินทางไปทางน้ำโดยการล่องเรือจากสามพันโบก บ้านสองคอน ระยะทางจากสามพันโบกไปถึงบ้านผาชันทางน้ำราว ๑ ชั่วโมงของการเดินเรือ


พูดถึงสามพันโบกแล้วผมเองยังไม่อยากเชื่อว่าในแม่น้ำโขงจะมีพื้นที่เช่นนี้อยู่ สามพันโบกเป็นชื่อของหลุมที่อยู่บนแก่งหินที่อาจารย์เรืองประทิน เขียวสดบอกว่า มีถึงสามพันหลุม (ผู้คนทางฝั่งซ้าย และฝั่งขวาของแม่น้ำโขงบริเวณนั้นเรียกหลุมที่เกิดขึ้นบนแก่งหินว่า ‘โบก') การเกิดขึ้นของโบกมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมา โดยมีอาจารย์เรืองประทินเล่าให้ฟังอีกทอดหนึ่งว่า มีปู่กับหลานคู่หนึ่งพากันไปหาปลาตามแก่ง ปู่ไปตักต้องอยู่ริมฝั่งจนเที่ยงก็ไม่ได้ปลา หลานก็หิวข้าว พอปู่รู้ว่าได้เวลากินข้าวสวย (ข้าวเที่ยง) แล้วก็วางเครื่องมือหาปลาขึ้นมาหาหลาน และพอได้รู้ว่าหลานหิวข้าว แต่ปู่ก็ไม่ได้ปลาสักตัว ปู่จึงเดินไปตามแก่งหินและเริ่มลงมือจก (ล้วง) เข้าไปตามแก่งหินเพื่อหาปูไปปิ้งให้หลานกิน การจกของปู่ การล้วงไปล้วงมาจนเกิดเป็นโบก หลังอาจารย์เรื่องประทินเล่าให้ฟังมาถึงตรงนี้ หลายคนแอบยิ้ม และพึมพำว่า ดูท่าปู่จะจกปูหลายปี และหลานคงมีหลายคนจึงเกิดโบกตั้งสามพันโบก


บริเวณที่เรียกว่าสามพันโบกนี้กินบริเวณพื้นที่ราว ๑๐ ตารางกิโลเมตร ในช่วงหน้าแล้งหลังน้ำลด โบกจะโผล่พ้นน้ำไปจนถึงเดือนมิถุนายน และหลังจากนั้นโบกก็จะจมอยู่ใต้น้ำ นอกจากสามพันโบกจะเป็นพื้นที่อันสวยงามในเชิงของการท่องเที่ยวแล้ว สามพันโบกยังเป็นพื้นที่เพาะพันธุ์ปลาที่อาศัยตามโบกในช่วงฤดูแล้ง พอถึงฤดูฝนที่น้ำท่วมหลาก ปลาก็จะเดินทางออกสู่แม่น้ำโขง


การเดินทางไปบ้านผาชันในครั้งนี้ เราใช้เรือ ๓ คัน หลังคนเดินทางขึ้นเรือเรียบร้อย เครื่องยนต์ท้ายเรือก็ดังขึ้น แล้วเรือก็บ่ายหน้าออกจากตลิ่งพาผู้โดยสารราว ๓๐ คนล่องแม่น้ำโขงเพื่อเดินทางสู่บ้านผาชัน การเดินทางบนเรือเหนือแม่น้ำโขงบริเวณนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกสำหรับผม แม้จะเคยเดินทางไปหลายพื้นที่ของแม่น้ำโขงมาแล้ว การเดินทางในครั้งนี้ก็มีความตื่นเต้นเดินทางมาเคาะประตูหัวใจ


ตลอดสองฝั่งน้ำ แก่งหินสูงชันขึ้นไปจากลำน้ำ ในห้วงยามที่เรือเดินทางผ่านแก่งหิน และมีคนหาปลาพักพิงอาศัยตามแก่งหินทำให้ผมหวนนึกถึงเรื่องราวของภาพเขียนบนผนังผาแต้ม ผมแอบสันนิษฐานเพียงลำพังว่า ผู้คนแถบถิ่นนี้ได้อาศัยแม่น้ำโขงเป็นที่อยู่ที่กินมาหลายชั่วอายุคน แม่น้ำคงมีความสำคัญต่อผู้คนในถิ่นนี้มากมายทีเดียว อย่างน้อยๆ ภาพเขียนบนหน้าผาที่ผาแต้มก็คงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ผู้คนไม่ว่ายุคสมัยใดล้วนพึ่งพาแม่น้ำเพื่อการยังชีพมาช้านาน


ตะวันจวนลับขอบฟ้า เรือก็พาคนเดินทางมาถึงบ้านผาชัน หน้าผาสูงชันที่อยู่สูงขึ้นไปจากแม่น้ำถึงขนาดที่ว่า หน้าผาบางแห่งต้องนำบันใดมาปีนขึ้นไปถึงจะปีนข้ามหน้าผาไปยังหมู่บ้านได้


"ผามันสูงชันจริงๆ สมแล้วที่ชื่อว่าบ้านผาชัน" ใครบางคนในขณะร่วมเดินทางเอ่ยออกมา ขณะเรือกำลังตีวง เพื่อเดินทางทวนแม่น้ำไปยังท่าเรือบ้านผาชัน หลังขึ้นจากแม่น้ำโขงมา ผมไม่สงสัยเลยว่าทำไมหมู่บ้านที่ผมเคยมาเยือนเมื่อ ๗ เดือนก่อนจึงได้ชื่อว่า ‘บ้านผาชัน'


จากตัวเลขที่ปรากฏอยู่ตามหน้าผาบางแห่งบอกว่า หน้าผาสูงจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่อยู่ในช่วงหน้าแล้งถึง ๑๕ เมตร


ตะวันตกลับเหลี่ยมภูเขาลงไปแล้ว การเดินทางจากสามพันโบกไปบ้านผาชันสิ้นสุดลงแล้ว คนหาปลาเริ่มทยอยกลับคืนสู่บ้าน ผม และคณะเดินทางออกเดินทางจากหมู่บ้านโดยมีความร้อนของฤดูแล้งแห่งภาคอีสานเป็นแรงหนุนให้รถตู้โดยสารต้องเปิดแอร์แรงสุด


"แปลกจริงๆ เลย พวกนักสร้างเขื่อนนี่ มันชอบทำเขื่อนแต่ตรงที่แม่น้ำสวยๆ ทั้งนั้น อีกหน่อยถ้าทำเขื่อนบ้านกุ่มทั้งสามพันโบก และบ้านผาชันคงจมอยู่ใต้น้ำ" ใครบางคนบนรถตู้รำพึงรำพันด้วยความร้อนกาย และร้อนใจทั้งที่บนรถแอร์เย็นฉ่ำ...

 

ตีพิมพ์ครั้งแรกมติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๒

 

 

 

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
    ...เสียงปืนดังลั่นเปรี้ยง-คล้ายเสียงชะนีหวน
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง
สุมาตร ภูลายยาว
‘ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้ง’ คนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้ดีตีนแดง-ขอ โทษ เท้าแดง ตะแคงเท้าเดิน เวลาเหยียบปุ่มปมของพรมผืนนุ่มนิ่มราวกับปุยเมฆ นั่นแหละเท้าของผู้ดี และโลกของผู้ดีมีแต่น้ำครำ –น้ำคำ แห่งการหลอกลวง ทั้งผู้ดีจริง และผู้ดีกลวง ขณะเดินย่ำไปบนเส้นทางสู่ร้านอาหารเลิศหรู เมนูไข่คาเวียกับบรั่นดีแก้วทรงสูงดัดจริตวางรอ ผู้ดีน้ำครำละเลียดเมรัยรสคมผ่านลำคอ และละเลียดไข่คาเวียที่มีอยู่นับจำนวนได้บนจานราคาแพงกว่าการขึ้นห้องกับปอง ของโฉน ไพรำ ผู้ดี น้ำครำมองออกไปนอกหน้าต่างสูงลิบของห้องอาหารโรงแรมเสียดฟ้า เบื้องล่างแม่น้ำไหลเอื่อยเหนื่อยปานจะขาดใจตาย ผู้ดีน้ำครำละเลียดไข่คาเวียราคาแพง เพื่อเลิศหรูมีหน้ามีตา…
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมหนาวพัดมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยสายลงมา ว่ากันว่านี่คือฝนหลงฤดู! กาแฟแก้วของวันเป็นคาปูชิโน่ร้อนสองแก้ว แต่ไม่ใช่ของผมเป็นของลูกค้าต่างชาติ รสชาติของกาแฟเป็นอย่างไรในเช้านี้ ผมไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้ชิม หลังสตรีมนมสดจนร้อนได้ที่ กลิ่นกาแฟสดหอมกรุ่นโชยออกมา และพร้อมแล้วสำหรับการดื่ม-กิน
สุมาตร ภูลายยาว
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด
สุมาตร ภูลายยาว
เวลาผ่านไปเร็ว ยามที่เราโตขึ้น เราเชื่อเช่นนั้น เพราะเราโหยหาเวลาของวัยเยาว์ เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นลำดับมีหลายความรู้สึกของวัยเยาว์ที่หล่นหายไปอย่างไม่อาจเรียกคืนกลับมา ราวกับสายน้ำที่ไหลไกลออกไปทุกทีๆ มิอาจหวนกลับมาเป็นสายน้ำได้เช่นเดิม แต่กลายเป็นสายฝนพรำลงมาแทน หากพูดถึงอดีตแล้ว บางด้านที่เลวร้าย เราอยากผ่านเลย แต่กลับจำได้ฝังใจ...
สุมาตร ภูลายยาว
บุนทะนอง ซมไซผล แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว    ๑.ผลน้ำเต้าบุ่ง และวรรณคดีพื้นเมือง ถ้าจะให้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ความเชื่อมโยงด้านวรรณคดีของชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดถึงคือ น้ำเต้าบุ่ง
สุมาตร ภูลายยาว
ดอกเกดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ลำต้นมีลักษณะเหมือนต้นปาล์ม เวลาออกดอก ดอกจะส่งกลิ่นหอม คนเฒ่าคนแก่จะนิยมนำไปบูชาพระและนำมาทัดหู ผมไม่รู้เหมือนกันว่าดอกไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยหรือมีเฉพาะที่ภาคอีสานและประเทศลาว
สุมาตร ภูลายยาว
จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง) เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’