Skip to main content

เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด

\\/--break--\>
ภาพท้องทุ่งเขียวชอุ่มหลังจากสิ้นฤดูปักดำข้าวกล้า ต่อจากนั้นท้องทุ่งสีเขียวก็แปรเปลี่ยนเป็นสีทองอร่ามรอบรับหน้าหนาวที่กำลังเดินทางมาเยือน ในฤดูหนาวการวิ่งว่าวกำลังจะเริ่มขึ้น ว่าวปักเป้าตัวนั้น ผมยังจำได้ดี เพราะต้องใช้เวลาเลี้ยงควายแทนพ่ออยู่ถึงครึ่งค่อนวันจึงจะได้มา


พ่อมักมีข้อเสนอสำหรับผมเสมอเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ผมต้องการอยากจะได้สิ่งใด และต้องการให้พ่อทำสิ่งนั้นให้ ผมยังจำภาพของพ่อที่เดินถือมีดขึ้นไปตรงปลายนา เพราะตรงนั้นมีป่าไผ่ขนาดใหญ่ พ่อไปตัดไม้ไผ่มาลำหนึ่ง แล้วนำมาเหลาขึ้นโครงเป็นว่าวอย่างง่ายๆ แต่ดูประณีต หลังจากได้โครงแล้ว พ่อก็จัดการติดกระดาษหนังสือพิมพ์ลงไปบนโครงว่าว กาวที่พ่อใช้ติดกระดาษหนังสือพิมพ์กับโครงว่าวไม้ไผ่คือมะตูมแก่จัดลูกหนึ่ง พ่อบอกว่ายางมะตูมแก่จัดเหนียวและทนกว่ากาว ที่สำคัญเราไม่ต้องเสียเงินซื้อกาว


เมื่อกระดาษหนังสือพิมพ์ถูกนำไปติดกับโครงไม้ไผ่เสร็จเรียบร้อย ว่าวปักเป้าขนาดไม่ใหญ่มากก็พร้อมจะเฉิดฉายอยู่เหนือท้องทุ่งสีทอง ผมรับว่าวมาจากมือของพ่อแล้วเอาเชือกที่มีอยู่มัดติดกับเชือกด้านหน้าของว่าว จากนั้นก็พาว่าววิ่งไปตามคันนา ว่าวต้องลมค่อยสูงขึ้นๆ ยามที่ว่าว อยู่บนท้องฟ้ามันจะแกว่งไปแกว่งมา เมื่อได้ลมดีแล้ว ว่าวจะไม่เหินลงพื้นดินมันจะลอยอยู่อย่างนั้น บางทีอาจถึงข้ามคืน


ในขณะที่บางวันผมเบื่อการวิ่งว่าว พ่อมักจะทำปี่ซังข้าวให้เป่า ผมจะเป่าอยู่อย่างนั้นจนบางครั้งแม่รำคาญต้องไล่ให้ไปเป่าที่อื่น


หน้าหนาวสำหรับวัยเยาว์เช่นพวกเราแล้วมันสำคัญยิ่ง เพราะบางวันแม่จะจับให้อาบน้ำ ตอนที่อาบน้ำแม่มักจะใช้ตอซังข้าวที่พอหาได้นั่นแหละมาถูไปตามตัวของผม เพื่อขจัดคราบขี้ไคล้ ด้วยผิวที่แห้งแตก เมื่อโดนถูอย่างแรงความเจ็บแสบก็เพิ่มขึ้นทวีคูณ


ยามกลางคืนที่อาการหนาว ในตอนที่เราไม่ได้นอนอยู่ที่บ้าน เพราะต้องออกไปนอนอยู่ทุ่งนา ด้วยว่าการเดินทางไป-กลับจากบ้านและนาเป็นเรื่องเสียเวลา การนอนอยู่ที่ทุ่งนา และใช้ห้างนาเป็นบ้านจึงดูสะดวกสบายกว่า ทุกครั้งเมื่อฤดูนี้มาถึง ผมพบว่าโรงเรียนกำลังปิดเทอมพอดี


ยามค่ำคืนที่อากาศหนาว พ่อจะก่อไฟให้เราผิงพร้อมๆ กับการก่อไฟไล่ยุงให้ควายที่นอนอยู่ไม่ไกลจากห้างนา ควายตัวนี้ดูเหมือนว่ามันจะเป็นสมบัติอันมีค่าที่สุดสำหรับครอบครัวเรา แต่วันหนึ่งเมื่อเสร็จสิ้นหน้านา พ่อก็ตัดสินใจขายควายไป ในตอนนั้นที่ผมรู้ข่าว ผมดีใจมาก เพราะจะได้ไม่ต้องเลี้ยงมันอีกต่อไป ผมเองไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมพ่อตัดสินใจขายทั้งๆ ที่พ่อรักมันพอๆ กับรักผม แต่ผมได้ยินชาวบ้านคุยกันว่า พ่อขายควายซื้อรถไถนา


เมื่อได้รถไถนามา ผมดีใจมาก เพราะส่วนหนึ่งตัวผมเองไม่ต้องเลี้ยงควายอีกต่อไป แต่คนที่ไม่ดีใจกลับเป็นพ่อ เพราะบ้านเราต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทั้งค่าซ่อมบำรุงรถ ทั้งค่าน้ำมันรถ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ตามมา ช่วงนี้ผมเห็นพ่อกับแม่ทะเลาะกันมากขึ้น


ก่อนเสร็จสิ้นหน้านา ผมว่าเด็กบ้านนอกหลายคนคงชื่นชอบกับช่วงเวลานี้ เพราะเราจะได้กินขนม และจะได้เล่นขี่ม้าก้านกล้วย สะพานปืนก้านกล้วยไล่ยิงกันไปตามที่ต่างๆ ช่วงเวลาเช่นนี้หมายถึงงานบุญกฐินกำลังเริ่มต้นขึ้น


ม้าก้านกล้วยที่ด้านปลายหางมีใบตองกล้วยติดอยู่นิดหน่อย ส่วนปืนก้านกล้วยนั้นวัดกันที่เสียงดัง ถ้าของใครเสียงดังกว่า คนนั้นต้องได้เป็นหัวหน้า ยามนี้พวกเราเด็กๆ ไม่ต่างอะไรจากคาวบอยผู้อยู่บนหลังม้าตัวที่มีฝีเท้าดีออกเดินทางค้นหาแผ่นดินใหม่ และช่วงชิงเอามา โดยมีลานหน้าบ้านเป็นสมรภูมิรบ


เวลายิ่งผ่านไปจากตอนนั้นถึงตอนนี้ ทุกครั้งเวลาที่คิดถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ไร น้ำตาจะเอ่อเบ้าตาทุกครั้ง บางทีเมื่อคิดถึงเหตุการณ์เหล่านั้น ผมอยากกลับบ้าน แต่บางทีผมก็ไม่อยากกลับ เพราะบ้านที่เป็นอดีตในจินตภาพของผมจากไปแล้ว ตอนนี้มีแต่บ้านที่เป็นปัจจุบันซึ่งสังคมของหมู่บ้านทุกอย่างแปรเปลี่ยนไปหมด ไม่หลงเหลือภาพฝันของวันเยาว์เอาไว้อีกแล้ว มาก้านกล้วยถูกแทนที่ด้วยรถมอเตอร์ไซค์ ปืนก้านกล้วยถูกแทนที่ด้วยปืนจริงที่ยิงกันตายจริงๆ และแว่วว่าคนในหมู่บ้านก็ใช้ปืนยิงกันตายเพิ่มขึ้น แม้แต่เพื่อนในวัยเยาว์ของผมที่เราใช้ปืนก้านกล้วยยิงใส่กันทั้งวัน แต่เขาไม่เคยตายอย่างแท้จริง แต่ตอนนี้เขาตายไปแล้วด้วยการถูกยิงจากปืนจริงอันเป็นฝีมือของเพื่อนเล่นในวัยเยาว์ที่ใช้ปืนก้านกล้วยไล่ยิงกัน


ผมออกเดินทางจากบ้านมาหลายปีแล้ว และยังพยายามบอกกับตัวเองเสมอว่า ผมเป็นคนพเนจรที่ยังคิดถึงบ้านอยู่ตลอดเวลา แต่ในความคิดถึงนั้น ผมมิอาจกลับบ้านได้อีกแล้ว แม้ถนนทุกสายต่างนำคนพเนจรคืนสู่บ้าน ใช่ว่าผมจะไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของบ้านเกิดจนไม่อยากเดินทางกลับไป แต่ทุกครั้งที่เดินทางไปบนถนนสายใหม่ ผมพบว่ามันเป็นถนนสายเดิมที่แปรเปลี่ยนจากทางลูกรังเป็นถนนลาดยาง และมีรถวิ่งมากขึ้นทุกวัน ผู้คนก็มากขึ้น ทั้งรถทั้งคนต่างพากันเดินทางสู่จุดหมายปลายทางของตัวเอง และบนถนนบางเส้น ผมยังคงนั่งนิ่งอยู่บนรถสักคัน


ถนนทุกสายแม้จะมีปลายทางต่างกัน แต่มีจุดเริ่มต้นที่เดียวกันคือ บ้านเกิดและเช่นกัน ถนนทุกสายล้วนนำคนพเนจรผู้เร่ร่อนแรมทางคืนสู่บ้านเกิด แต่หากว่าคนพเนจรเหล่านั้น เขายินดีเดินทางย่ำกลับไปบนเส้นทางเดิมหรือเปล่า คำตอบอยู่ที่ตัวคุณเอง...

 

 

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
    ...เสียงปืนดังลั่นเปรี้ยง-คล้ายเสียงชะนีหวน
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง
สุมาตร ภูลายยาว
‘ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้ง’ คนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้ดีตีนแดง-ขอ โทษ เท้าแดง ตะแคงเท้าเดิน เวลาเหยียบปุ่มปมของพรมผืนนุ่มนิ่มราวกับปุยเมฆ นั่นแหละเท้าของผู้ดี และโลกของผู้ดีมีแต่น้ำครำ –น้ำคำ แห่งการหลอกลวง ทั้งผู้ดีจริง และผู้ดีกลวง ขณะเดินย่ำไปบนเส้นทางสู่ร้านอาหารเลิศหรู เมนูไข่คาเวียกับบรั่นดีแก้วทรงสูงดัดจริตวางรอ ผู้ดีน้ำครำละเลียดเมรัยรสคมผ่านลำคอ และละเลียดไข่คาเวียที่มีอยู่นับจำนวนได้บนจานราคาแพงกว่าการขึ้นห้องกับปอง ของโฉน ไพรำ ผู้ดี น้ำครำมองออกไปนอกหน้าต่างสูงลิบของห้องอาหารโรงแรมเสียดฟ้า เบื้องล่างแม่น้ำไหลเอื่อยเหนื่อยปานจะขาดใจตาย ผู้ดีน้ำครำละเลียดไข่คาเวียราคาแพง เพื่อเลิศหรูมีหน้ามีตา…
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมหนาวพัดมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยสายลงมา ว่ากันว่านี่คือฝนหลงฤดู! กาแฟแก้วของวันเป็นคาปูชิโน่ร้อนสองแก้ว แต่ไม่ใช่ของผมเป็นของลูกค้าต่างชาติ รสชาติของกาแฟเป็นอย่างไรในเช้านี้ ผมไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้ชิม หลังสตรีมนมสดจนร้อนได้ที่ กลิ่นกาแฟสดหอมกรุ่นโชยออกมา และพร้อมแล้วสำหรับการดื่ม-กิน
สุมาตร ภูลายยาว
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด
สุมาตร ภูลายยาว
เวลาผ่านไปเร็ว ยามที่เราโตขึ้น เราเชื่อเช่นนั้น เพราะเราโหยหาเวลาของวัยเยาว์ เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นลำดับมีหลายความรู้สึกของวัยเยาว์ที่หล่นหายไปอย่างไม่อาจเรียกคืนกลับมา ราวกับสายน้ำที่ไหลไกลออกไปทุกทีๆ มิอาจหวนกลับมาเป็นสายน้ำได้เช่นเดิม แต่กลายเป็นสายฝนพรำลงมาแทน หากพูดถึงอดีตแล้ว บางด้านที่เลวร้าย เราอยากผ่านเลย แต่กลับจำได้ฝังใจ...
สุมาตร ภูลายยาว
บุนทะนอง ซมไซผล แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว    ๑.ผลน้ำเต้าบุ่ง และวรรณคดีพื้นเมือง ถ้าจะให้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ความเชื่อมโยงด้านวรรณคดีของชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดถึงคือ น้ำเต้าบุ่ง
สุมาตร ภูลายยาว
ดอกเกดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ลำต้นมีลักษณะเหมือนต้นปาล์ม เวลาออกดอก ดอกจะส่งกลิ่นหอม คนเฒ่าคนแก่จะนิยมนำไปบูชาพระและนำมาทัดหู ผมไม่รู้เหมือนกันว่าดอกไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยหรือมีเฉพาะที่ภาคอีสานและประเทศลาว
สุมาตร ภูลายยาว
จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง) เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’