Skip to main content

จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง)

 

เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’

\\/--break--\>
หลังยุคของการเปลี่ยนแปลงปี ๑๘ งานวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมีหลายชิ้นที่เดินทางมาสู่แผ่นดินฝั่งขวาแม่น้ำโขง และการเดินทางข้ามพรมแดนอันมีเพียงสายน้ำขวางกั้นมาสู่ความรับรู้ของคนไทยล้วนเป็นงานวรรณกรรมเก่า-ใหม่ที่ถูกถ่ายทอดโดยนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ของลาวมีทั้งคนที่ผ่านการปฏิวัติ บางคนก็อยู่ร่วมในเหตุการณ์ บางคนก็อยู่ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงแต่ได้รับอิทธิพลทางความคิดในงานเขียนมาจากนักเขียนที่อยู่ในขบวนการปฏิวัติเป็นส่วนใหญ่


เมื่อประเทศลาวก้าวเข้าสู่ยุคของการเปิดประเทศ งานเขียนในยุคนี้จึงมีหลายชิ้นที่มีกลิ่นอายของงานเขียนรับใช้พรรค หรือที่เราเรียกกันว่างานเขียนแนวเพื่อชีวิต ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากงานเขียนของนักเขียนบนแผ่นดินฝั่งขาวแม่น้ำโขงในช่วงยุคก่อนเดือนตุลาคมปี ๑๖ และปี ๑๙


ในรอยต่อของยุคสมัยที่กล่าวมา ผลงานของนักเขียนบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่เดินทางมาบุกเบิกพรมแดนของการรับรู้ให้กับนักอ่านบนแผ่นดินฝั่งขวาแม่น้ำโขงคือผลงานหลายต่อหลายชิ้นของอุทิน บุนยาวง นอกจากจะมีผลงานของอุทิน บุนยาวงแล้วก็มีผลงานอีกหลายชิ้นของนักเขียนหลายคนตามมาด้วย


หนังสือรวมเรื่องสั้น ‘ฮักแพง ฮักหลายๆ’ อันเป็นงานเขียนของนักเขียนลาวก็ถือว่าเป็นงานเขียนที่รวมผลงานของนักเขียนลาวไว้มากที่สุด และหลากหลายวิธีการในการนำเสนอมากที่สุด แม้ว่ายอดในการขายยังมีไม่มากเท่าที่ควรก็ตามที


นอกจากหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มที่กล่าวมา ภายหลังเมื่อนักเขียนบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเดินทางเข้าสู่กระบวนการของรางวัลซีไรต์ ผลงานของนักเขียนบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงก็แพร่หลายบนแผ่นดินฝั่งขวาแม่น้ำโขง และมีผลงานของนักเขียนซีไรต์หลายคนที่ได้รับการกล่าวถึง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ว่าจะมีรางวัลซีไรต์เป็นเครื่องการันตี ผลงานของนักเขียนบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงก็ไม่ค่อยได้เดินทางมาสู่การรับรู้ของนักอ่านบนแผ่นดินฝั่งขวาแม่น้ำโขงเป็นวงกว้างเท่าใดนัก


ขณะที่งานเขียนทางฝั่งลาวแผ่วเบาลงในสายตาของนักอ่านฝั่งไทย แต่แล้วปรากฏการณ์ของเรื่องสั้นซีไรต์ก็สร้างความตื่นเต้นให้กับนักอ่านทางฝั่งไทยที่ชื่นชอบวรรณกรรมของทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงอยู่ได้ไม่น้อย แม้จะเป็นชั่วลมหายใจขณะหนึ่ง เมื่อผลงานเรื่องสั้นซีไรต์ของบุญเสิน แสงมะณี ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย


เมื่อมองไปที่งานเขียนของบุญเสิน แสงมะณี ถือว่าเขายังเป็นนักเขียนที่คนไทยรับรู้น้อยและผลงานเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลซีไรต์ของเขาก็ยังมีคนไทยได้อ่านไม่มากนัก


บุญเสิน แสงมะณีได้นำเสนอเรื่องราวอย่างใดไว้ในรวมเรื่องสั้น ‘ใบไม้ใบสุดท้าย’ ของเขาจนได้รับรางวัลซีไรต์ในประเภทเรื่องสั้น


หลังจากได้อ่านรวมเรื่องสั้นต้นฉบับภาษาลาวจบลง สิ่งที่ได้รับรู้ในงานเรื่องสั้นชิ้นนี้คือฉากแต่ละฉากที่บุญเสินใช้ในงานเขียนของเขา เพราะฉากของเรื่องสั้น ‘ใบไม้ใบสุดท้าย’ เป็นฉากของกรุงมอสโค ประเทศรัสเซีย เมื่ออ่านไปถึงตอนจบก็ได้รู้ว่าบุญเสินเขียนเรื่องสั้นเรื่องนี้ขณะไปศึกษาต่อที่ประเทศรัสเซีย ฉากที่เขาใช้ในงานเขียนจึงสมจริงอย่างที่สุด รวมทั้งการบรรยายลักษณะของตัวละครแต่ละตัว อีกทั้งในการสร้างความขัดแย้งของตัวละครอันถือว่าเป็นปมให้กับตัวละครได้คลี่คลายในตอนจบ เรื่องสั้นใบไม้ใบสุดท้ายถือได้ว่าบุญเสิน แสงมะณีทำได้ดีพอสมควร


แม้ว่างานรวมเรื่องสั้นเรื่องนี้จะได้รับการแปลเป็นภาษาไทยกลับไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงมากนัก อาจเป็นเพราะว่านักอ่านบนแผ่นดินฝั่งขวาแม่น้ำโขงได้อ่านงานที่ไปไกลกว่าที่จะรับรู้งานเขียนของบ้านใกล้เรือนเคียง แม้จะใกล้กันเพียงสายน้ำกั้นเราก็ยิ่งห่างกันออกไปเรื่อยๆ


รงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนนามเอกอุเคยกล่าวไว้ว่า ‘การเดินทางเป็นสายตาของนักเขียน’ ถ้อยคำนี้คงใช้ได้จริงกับงานเขียนชิ้นนี้ และอีกหลายๆ เรื่องในรวมเรื่องสั้นของบุญเสิน แสงมะณี


ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ว่างานเขียนของนักเขียนลาวจะขายไม่ค่อยได้บนแผ่นดินทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง แต่งานเขียนเรื่องสั้นของนักเขียนบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงสืบต่อกันมาเรื่อยๆ และตามร้านหนังสือยังคงมีงานใหม่ๆ ออกมาประปราย แต่หนังสือรวมเรื่องสั้นที่ออกมาใหม่ๆ นั้นส่วนมากเป็นของนักเขียนรุ่นเก่า งานเขียนของนักเขียนรุ่นใหม่กลับมีไม่มากนัก


หลังสิ้นยุคงานเขียนใบไม้ใบสุดท้าย และรอบของการประกวดเรื่องสั้นซีไรต์เวียนมาอีกครั้งในวาระครบครอบ ๓๐ ปีรางวัลซีไรต์ งานวรรณกรรมเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลในปี ๕๑ ก็ตกเป็นของนักเขียนใหม่ แต่ไม่ใหม่ในแวดวงวรรณกรรมลาว เพราะคนที่ได้รับรางวัลเรื่องสั้นในปีนี้ชื่อ รุ่งอรุณ แดนวิไล กับผลงานเรื่องสั้น ‘ซิ่นไหมผืนเก่าๆ’


ปรากฏการณ์เรื่องสั้นซีไรต์ในปีนี้ถือเป็นสิ่งท้าทาย และเป็นสิ่งใหม่สำหรับนักเขียนบนแผ่นดินซ้ายแม่น้ำโขงด้วย เพราะกฏเกณฑ์ที่ทางคณะกรรมการได้ตั้งขึ้นมาใหม่ เช่น งานเขียนที่จะส่งเข้าชิงรางวัลในปีนี้ต้องผ่านการรวมเล่มมาก่อน แม้ว่ากรรมการจะอ่านเรื่องสั้นที่นักเขียนต้องการส่งเพียงเรื่องเดียว (กติกาเก่าคือนักเขียนสามารถส่งเรื่องสั้นของตัวเองเข้าประกวดโดยไม่ต้องมีการรวมเล่ม ส่งเป็นต้นฉบับบนกระดาษเพียงเรื่องเดียว)


ซิ่นไหมผืนเก่าๆ’ มีดีอะไรถึงได้ฝ่าด่านการเปลี่ยนกฏเกณฑ์ครั้งใหม่ของกรรมการจนก้าวขึ้นรับรางวัล หากมองไปถึงชื่อเสียงของผู้เขียนแล้ว รุ่งอรุณไม่ได้ใหม่ในแวดวงของนักเขียน นักอ่านลาว เพราะเขาคลุกคลีอยู่ในแวดวงวรรณกรรมลาวมายาวนานพอสมควร เนื่องเพราะว่าเขาทำงานอยู่ในวารสารวรรณศิลป์ หนังสืออันเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างนักเขียนและนักอ่านที่ยืนหยัดมานานกว่า ๓๐ ปี


ความต่างของใบไม้ใบสุดท้ายกับซิ่นไหมผืนเก่าๆ นั้นหากเทียบกันแล้ว โดยเนื้อหาที่ผู้เขียนต้องการนำเสนออาจไม่แตกต่างกันมากนัก แต่หากว่าน้ำเสียงในการเล่าเรื่อง ‘ซิ่นไหมผืนเก่าๆ’ ได้แสดงให้เห็นถึงอัตตลักษณ์ของความเป็นชนชาติลาวอย่างแท้จริง และงานเขียนชิ้นนี้ก็ได้แสดงให้เราเห็นว่า แม้สังคมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่วิถีชีวิตของผู้คนก็ไม่ได้เปลี่ยนไปตามจนหลงลืมอัตตลักษณ์ของตัวเอง


งานเขียนก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร งานเขียนบนฝั่งแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงก็ยังคงเป็นอยู่ดุจเดิม คือเป็นงานเขียนที่แสดงถึงความเป็นชนชาติลาวอย่างแท้จริง แม้จะใช้ฉากของเรื่องแตกต่างออกไปเพียงใดก็ตามที


หากได้อ่านงานเรื่องสั้นทั้งสองเรื่องจบลง ผู้อ่านคงได้รับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารหาผู้อ่าน อารมณ์ที่แสดงออกมาล้วนเป็นอารมณ์แห่งการถวิลหาสิ่งที่สูญหายไปแล้วทั้งจากผู้คน และสังคม


วรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงก็คงไม่ได้แตกต่างกับแวดวงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งขวาแม่น้ำโขงเช่นกัน หากเปรียบการเคลื่อนไหวของวรรณกรรมจากแผ่นดินทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงกับลมหายใจของคนเรา มันคงเป็นลมหายใจรวยรินของคนป่วยที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะหายป่วยกลับมาสดใสเช่นเดิมได้อีกครั้งเมื่อใด...


------------------------------------------------------------------------------


บุญเสิน แสงมะณี ในอดีตเขาเป็นทั้งนักศึกษา เป็นทั้งผู้นำนักศึกษาหนุ่ม–สาวลาวที่ศึกษาอยู่ในประเทศรัสเซีย เป็นทั้งนักประพันธ์ลาว และเป็นผู้ก่อตั้งวารสารนักศึกษาลาว บทประพันธ์ของเขาปรากฏอยู่ในที่ต่างๆ มากมาย


เรื่องสั้น ‘ใบไม้ใบสุดท้าย’ ได้รับรางวัลซีไรต์ในปี ๒๐๐๕ และเป็นเรื่องสั้นที่เขาเขียนขึ้นระหว่างอยู่ในกรุงมอสโค และพิมพ์รวมเล่มอยู่ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด ’ใบไม้ใบสุดท้าย’


ปี ๑๙๘๐ ยังเป็นผู้ชนะเลิศการประกวดเรื่องสั้นของวารสารวรรณศิลป์

ปี ๑๙๙๔ เป็นผู้ชนะเลิศการประกวดเรื่องสั้นของกองทัพประชาชนลาว

รุ่งอรุณ แดนวิไล มีชื่อจริงว่า โอทอง คำอินซู เกิดเมื่อปี ๑๙๖๒ ในครอบครัวชาวนา ที่เมืองนาทรายทอง กำแพงนครเวียงจัน จบปริญญาตรีวิชาวรรณคดี-ภาษาลาว จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติในปี ๑๙๙๗

ปี ๑๙๘๖ เริ่มมีผลงานทั้งที่เป็นเรื่องสั้น และบทกวีปรากฏตามหน้าวารสารและหนังสือพิมพ์ต่างๆ

ปี ๑๙๙๓ มีรวมเรื่องสั้นอออกมา ๑ เล่มในชื่อ ’สาวขายยาสูบ’ และบทกวีชื่อ ‘น้ำใจ’


นอกจากนั้นยังมีผลรวมเล่มในรูปแบบต่างทั้งบทกวี หนังสือสำหรับเด็ก คำกลอนสอนใจ รวม ๒๐ เล่ม

เรื่องสั้น ‘ซิ่นไหมผืนเก่าๆ’ ได้รับรางวัลซีไรต์ในปี ๒๐๐๘ และรวมอยู่ในหนังสือรวมเรื่องสั้น ‘ลมหายใจที่บ่มีกลิ่นเหล้า’

 

 

 

 

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
    ...เสียงปืนดังลั่นเปรี้ยง-คล้ายเสียงชะนีหวน
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง
สุมาตร ภูลายยาว
‘ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้ง’ คนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้ดีตีนแดง-ขอ โทษ เท้าแดง ตะแคงเท้าเดิน เวลาเหยียบปุ่มปมของพรมผืนนุ่มนิ่มราวกับปุยเมฆ นั่นแหละเท้าของผู้ดี และโลกของผู้ดีมีแต่น้ำครำ –น้ำคำ แห่งการหลอกลวง ทั้งผู้ดีจริง และผู้ดีกลวง ขณะเดินย่ำไปบนเส้นทางสู่ร้านอาหารเลิศหรู เมนูไข่คาเวียกับบรั่นดีแก้วทรงสูงดัดจริตวางรอ ผู้ดีน้ำครำละเลียดเมรัยรสคมผ่านลำคอ และละเลียดไข่คาเวียที่มีอยู่นับจำนวนได้บนจานราคาแพงกว่าการขึ้นห้องกับปอง ของโฉน ไพรำ ผู้ดี น้ำครำมองออกไปนอกหน้าต่างสูงลิบของห้องอาหารโรงแรมเสียดฟ้า เบื้องล่างแม่น้ำไหลเอื่อยเหนื่อยปานจะขาดใจตาย ผู้ดีน้ำครำละเลียดไข่คาเวียราคาแพง เพื่อเลิศหรูมีหน้ามีตา…
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมหนาวพัดมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยสายลงมา ว่ากันว่านี่คือฝนหลงฤดู! กาแฟแก้วของวันเป็นคาปูชิโน่ร้อนสองแก้ว แต่ไม่ใช่ของผมเป็นของลูกค้าต่างชาติ รสชาติของกาแฟเป็นอย่างไรในเช้านี้ ผมไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้ชิม หลังสตรีมนมสดจนร้อนได้ที่ กลิ่นกาแฟสดหอมกรุ่นโชยออกมา และพร้อมแล้วสำหรับการดื่ม-กิน
สุมาตร ภูลายยาว
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด
สุมาตร ภูลายยาว
เวลาผ่านไปเร็ว ยามที่เราโตขึ้น เราเชื่อเช่นนั้น เพราะเราโหยหาเวลาของวัยเยาว์ เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นลำดับมีหลายความรู้สึกของวัยเยาว์ที่หล่นหายไปอย่างไม่อาจเรียกคืนกลับมา ราวกับสายน้ำที่ไหลไกลออกไปทุกทีๆ มิอาจหวนกลับมาเป็นสายน้ำได้เช่นเดิม แต่กลายเป็นสายฝนพรำลงมาแทน หากพูดถึงอดีตแล้ว บางด้านที่เลวร้าย เราอยากผ่านเลย แต่กลับจำได้ฝังใจ...
สุมาตร ภูลายยาว
บุนทะนอง ซมไซผล แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว    ๑.ผลน้ำเต้าบุ่ง และวรรณคดีพื้นเมือง ถ้าจะให้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ความเชื่อมโยงด้านวรรณคดีของชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดถึงคือ น้ำเต้าบุ่ง
สุมาตร ภูลายยาว
ดอกเกดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ลำต้นมีลักษณะเหมือนต้นปาล์ม เวลาออกดอก ดอกจะส่งกลิ่นหอม คนเฒ่าคนแก่จะนิยมนำไปบูชาพระและนำมาทัดหู ผมไม่รู้เหมือนกันว่าดอกไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยหรือมีเฉพาะที่ภาคอีสานและประเทศลาว
สุมาตร ภูลายยาว
จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง) เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’