Skip to main content

  

ผาชันเป็นหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำโขงอยู่ในเขตอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านแห่งนี้มีเรื่องราวน่าสนใจหลายอย่าง เริ่มแรกเดิมทีก่อนเดินทางไปถึง ผมจินตนาการถึงหมู่บ้านแห่งนี้ในรูปแบบต่างๆ และพอเดินทางไปถึงบ้านผาชันเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ในหน้าฝน ผมก็พบว่า ในฤดูฝนหมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นเกาะขนาดย่อมๆ ชาวบ้านบอกว่า "ในฤดูฝน น้ำจากห้วยจะไหลจนท่วมสะพาน และถนนที่เข้าสู่หมู่บ้าน การเดินทางเข้าหมู่บ้านต้องใช้เรือข้ามลำห้วยแล้วไปต่อรถ"


ร่องรอยของคำพูดปรากฏให้เห็นเมื่อผมเดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน รถข้ามสะพานที่น้ำในลำห้วยเริ่มปริ่มอยู่ใต้สะพาน เสาไฟฟ้าที่พอสันนิษฐานได้ว่าตรงนั้นเคยเป็นถนนมาก่อนถูกน้ำท่วมขึ้นมาถึงครึ่งหนึ่ง


เมื่อไปถึงหมู่บ้าน ผมก็มุ่งหน้าไปยังท่าน้ำ เพราะมีเป้าหมายในการไปดูพื้นที่หาปลา และไปฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับการหาปลาของคนหาปลา แต่ก็น่าเสียดาย เพราะวันที่ไปถึงนั้น น้ำในแม่น้ำโขงท่วมจนเกือบถึงตลิ่ง คนหาปลาจึงน้อย เพราะส่วนมากต้องไปทำนาอันเป็นหน้าที่การงานหลัก แต่ก็ถือว่าโชคดีที่คนหาปลาบางส่วนยังหาปลาอยู่ ผมจึงมีโอกาสได้พูดคุยหลังจากคนหาปลาเดินทางกลับมาจากการไหลมอง การพูดคุยก็มีหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่อง ‘กองทุนปลา' ที่คนหาปลาในหมู่บ้านได้ก่อตั้งขึ้นมา

การก่อตั้งกองทุนปลาขึ้นมาก็เพื่อเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยน และทำการขายปลา โดยปลาที่จับได้จะถูกนำมาขายให้กับกองทุนในราคาที่เหมาะสม และกองทุนก็จะนำปลาที่รับซื้อมาจากคนหาปลาไปขายให้พ่อค้าแม่ค้าอีกทอดหนึ่ง สำหรับพ่อค้าแม่ค้าเมื่อมาถึงแล้วก็รับรองได้ว่าจะมีปลานำกลับไปขายต่อ และคนหาปลาก็ไม่ต้องห่วงว่าปลาที่จับได้จะขายไม่ได้ นอกจากนี้แล้ว การลงทุนในกองทุนปลา เงินทุนที่ได้มายังมาจากชาวบ้านในหมู่บ้านทั้งหมดโดยไม่มีคนนอกเข้ามาร่วมลงทุนในกองทุน เงินปันผลก็จะกลับไปหาผู้ร่วมทุนแตกต่างกันออกไปตามแต่จำนวนหุ้นที่ลงทุนในกองทุน


การพูดคุยกำลังสนุก แต่ดูเหมือนว่าฝนบนฟ้าจะไม่ค่อยเป็นใจ เพราะฟ้าเริ่มมืด และครึ้มฝนมาทุกทิศทุกทาง ราวบ่ายผมจึงเดินทางออกจากหมู่บ้านพร้อมกับปลาเคิงหนัก ๓ กิโลกรัม หลังกลับมาจากหมู่บ้านในคราวนั้น ผมก็ไม่ได้กลับไปอีกเลย แต่ยังมีความหวังว่า ผมจะกลับไปยังหมู่บ้าน เพื่อตามเจาะลึกเรื่องราวกองทุนปลาอีกครั้ง




แล้ววันที่ผมเฝ้ารอจะกลับไปยังบ้านผาชันอีกครั้งก็เดินทางมาถึง จากการไปเยือนบ้านผาชันครั้งแรกกับครั้งล่าสุดที่ผมเดินทางไปนี้ห่างกันเกือบ ๗ เดือน การไปบ้านผาชันครั้งนี้ ผมไม่ได้เดินทางด้วยรถ แต่เป็นการเดินทางไปทางน้ำโดยการล่องเรือจากสามพันโบก บ้านสองคอน ระยะทางจากสามพันโบกไปถึงบ้านผาชันทางน้ำราว ๑ ชั่วโมงของการเดินเรือ


พูดถึงสามพันโบกแล้วผมเองยังไม่อยากเชื่อว่าในแม่น้ำโขงจะมีพื้นที่เช่นนี้อยู่ สามพันโบกเป็นชื่อของหลุมที่อยู่บนแก่งหินที่อาจารย์เรืองประทิน เขียวสดบอกว่า มีถึงสามพันหลุม (ผู้คนทางฝั่งซ้าย และฝั่งขวาของแม่น้ำโขงบริเวณนั้นเรียกหลุมที่เกิดขึ้นบนแก่งหินว่า ‘โบก') การเกิดขึ้นของโบกมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมา โดยมีอาจารย์เรืองประทินเล่าให้ฟังอีกทอดหนึ่งว่า มีปู่กับหลานคู่หนึ่งพากันไปหาปลาตามแก่ง ปู่ไปตักต้องอยู่ริมฝั่งจนเที่ยงก็ไม่ได้ปลา หลานก็หิวข้าว พอปู่รู้ว่าได้เวลากินข้าวสวย (ข้าวเที่ยง) แล้วก็วางเครื่องมือหาปลาขึ้นมาหาหลาน และพอได้รู้ว่าหลานหิวข้าว แต่ปู่ก็ไม่ได้ปลาสักตัว ปู่จึงเดินไปตามแก่งหินและเริ่มลงมือจก (ล้วง) เข้าไปตามแก่งหินเพื่อหาปูไปปิ้งให้หลานกิน การจกของปู่ การล้วงไปล้วงมาจนเกิดเป็นโบก หลังอาจารย์เรื่องประทินเล่าให้ฟังมาถึงตรงนี้ หลายคนแอบยิ้ม และพึมพำว่า ดูท่าปู่จะจกปูหลายปี และหลานคงมีหลายคนจึงเกิดโบกตั้งสามพันโบก


บริเวณที่เรียกว่าสามพันโบกนี้กินบริเวณพื้นที่ราว ๑๐ ตารางกิโลเมตร ในช่วงหน้าแล้งหลังน้ำลด โบกจะโผล่พ้นน้ำไปจนถึงเดือนมิถุนายน และหลังจากนั้นโบกก็จะจมอยู่ใต้น้ำ นอกจากสามพันโบกจะเป็นพื้นที่อันสวยงามในเชิงของการท่องเที่ยวแล้ว สามพันโบกยังเป็นพื้นที่เพาะพันธุ์ปลาที่อาศัยตามโบกในช่วงฤดูแล้ง พอถึงฤดูฝนที่น้ำท่วมหลาก ปลาก็จะเดินทางออกสู่แม่น้ำโขง


การเดินทางไปบ้านผาชันในครั้งนี้ เราใช้เรือ ๓ คัน หลังคนเดินทางขึ้นเรือเรียบร้อย เครื่องยนต์ท้ายเรือก็ดังขึ้น แล้วเรือก็บ่ายหน้าออกจากตลิ่งพาผู้โดยสารราว ๓๐ คนล่องแม่น้ำโขงเพื่อเดินทางสู่บ้านผาชัน การเดินทางบนเรือเหนือแม่น้ำโขงบริเวณนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกสำหรับผม แม้จะเคยเดินทางไปหลายพื้นที่ของแม่น้ำโขงมาแล้ว การเดินทางในครั้งนี้ก็มีความตื่นเต้นเดินทางมาเคาะประตูหัวใจ


ตลอดสองฝั่งน้ำ แก่งหินสูงชันขึ้นไปจากลำน้ำ ในห้วงยามที่เรือเดินทางผ่านแก่งหิน และมีคนหาปลาพักพิงอาศัยตามแก่งหินทำให้ผมหวนนึกถึงเรื่องราวของภาพเขียนบนผนังผาแต้ม ผมแอบสันนิษฐานเพียงลำพังว่า ผู้คนแถบถิ่นนี้ได้อาศัยแม่น้ำโขงเป็นที่อยู่ที่กินมาหลายชั่วอายุคน แม่น้ำคงมีความสำคัญต่อผู้คนในถิ่นนี้มากมายทีเดียว อย่างน้อยๆ ภาพเขียนบนหน้าผาที่ผาแต้มก็คงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ผู้คนไม่ว่ายุคสมัยใดล้วนพึ่งพาแม่น้ำเพื่อการยังชีพมาช้านาน


ตะวันจวนลับขอบฟ้า เรือก็พาคนเดินทางมาถึงบ้านผาชัน หน้าผาสูงชันที่อยู่สูงขึ้นไปจากแม่น้ำถึงขนาดที่ว่า หน้าผาบางแห่งต้องนำบันใดมาปีนขึ้นไปถึงจะปีนข้ามหน้าผาไปยังหมู่บ้านได้


"ผามันสูงชันจริงๆ สมแล้วที่ชื่อว่าบ้านผาชัน" ใครบางคนในขณะร่วมเดินทางเอ่ยออกมา ขณะเรือกำลังตีวง เพื่อเดินทางทวนแม่น้ำไปยังท่าเรือบ้านผาชัน หลังขึ้นจากแม่น้ำโขงมา ผมไม่สงสัยเลยว่าทำไมหมู่บ้านที่ผมเคยมาเยือนเมื่อ ๗ เดือนก่อนจึงได้ชื่อว่า ‘บ้านผาชัน'


จากตัวเลขที่ปรากฏอยู่ตามหน้าผาบางแห่งบอกว่า หน้าผาสูงจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่อยู่ในช่วงหน้าแล้งถึง ๑๕ เมตร


ตะวันตกลับเหลี่ยมภูเขาลงไปแล้ว การเดินทางจากสามพันโบกไปบ้านผาชันสิ้นสุดลงแล้ว คนหาปลาเริ่มทยอยกลับคืนสู่บ้าน ผม และคณะเดินทางออกเดินทางจากหมู่บ้านโดยมีความร้อนของฤดูแล้งแห่งภาคอีสานเป็นแรงหนุนให้รถตู้โดยสารต้องเปิดแอร์แรงสุด


"แปลกจริงๆ เลย พวกนักสร้างเขื่อนนี่ มันชอบทำเขื่อนแต่ตรงที่แม่น้ำสวยๆ ทั้งนั้น อีกหน่อยถ้าทำเขื่อนบ้านกุ่มทั้งสามพันโบก และบ้านผาชันคงจมอยู่ใต้น้ำ" ใครบางคนบนรถตู้รำพึงรำพันด้วยความร้อนกาย และร้อนใจทั้งที่บนรถแอร์เย็นฉ่ำ...

 

ตีพิมพ์ครั้งแรกมติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๒

 

 

 

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
วารสารวรรณศิลป์บนแผ่นดินลาว ลมหนาวและความร้อนแล้งโชยผ่านยอดขุนเขาด้านทิศตะวันตกแห่งเมืองหลวงของราชอาณาจักรล้านนามาแผ่วๆ แล้วฤดูกาลแห่งความเหน็บหนาวก็เดินทางมาอีกครั้งพร้อมกับลมสายลมนั้น
สุมาตร ภูลายยาว
สี่พันดอน: บ้านของคนและปลา เมื่อเอ่ยถึงสี่พันดอนเชื่อว่าหลายคนที่เคยไปเยือนคงจินตนาการถึงได้ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยไปเยือนคงงุนงงไม่น้อยว่าหมายถึงอะไร คำว่า ‘สี่พันดอน’ เป็นชื่อเรียกเกาะ ดอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงในเขตเมืองโขง แขวงจำปาสัก ภาคใต้ของประเทศลาว ดินแดนแห่งนี้ได้ถูกเรียกขานว่า สี่พันดอน เพราะเต็มไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ที่มีจำนวนมากมายเรียงรายอยู่ในแม่น้ำโขงที่มีความกว้างกว่า ๑๔ กิโลเมตร เกาะต่างๆ เริ่มขึ้นที่เมืองโขงและยาวลงไปจนถึงชายแดนลาว-กัมพูชาที่บ้านเวินคามกับเมืองสตรึงเตร็ง ในจำนวนเกาะที่มีอยู่มากมาย เกาะใหญ่ที่สุดชื่อ ‘ดอนโขง’ คำว่า ‘ดอน’…
สุมาตร ภูลายยาว
เจ้าม้าศึกสีเทา ๒,๒๐๐ ซีซี ทะยานไปตามทางลูกรังสีแดงเบื้องหลังฝุ่นคลุ้งตลบ หากมีรถวิ่งตามมาคงบอกได้คำเดียวว่า ‘ขอโทษ’ ก่อนจะถึงทางแยกเสียงโทรศัพท์ของผู้ไปถึงก่อนก็บอกให้ตรงมาตามทางอย่าได้เลี้ยวซ้ายเป็นอันขาด เพราะนั่นหมายถึงการหลงทางจะเกิดขึ้น
สุมาตร ภูลายยาว
การเดินทางเที่ยวนี้มีผู้หญิงนำ เช้านี้เป็นอีกวันที่ตื่นเช้ากว่าวันอื่น แต่หากว่าเมื่อเทียบกับชาวบ้านทั่วไปแล้ว ถือว่ายังสาย โดยเฉพาะกับพ่อค้าแม่ค้าการตื่นนอนตอน ๖ โมงเช้านั้นถือว่าสายมากแล้ว เช้านี้กว่าจะเปิดเปลือกตาตื่นช่างหนักหนาสาหัส ราวกับว่าเปือกตาทั้งสองข้างถูกปิดทับไว้ด้วยเทปกาวชั้นดี หลังล้างหน้าแปรงฟันเสร็จ สมองยังคงงุนงง อาจเป็นเพราะช่วงนี้พักผ่อนไม่ค่อยพอ รวมทั้งมีเรื่องหลายเรื่องให้ได้คิด แต่เพราะงานที่ทำจึงต้องบังคับตัวเองให้ลุกจากที่นอน
สุมาตร ภูลายยาว
จะแกคนเลี้ยงวัวผู้ไม่เคยขุ่นมัวในหัวใจ ผมจำได้ว่าพบชายคนนี้ครั้งแรกเมื่อเข้าไปบ้านสองพี่น้อง เขาดูแปลกกว่าคนอื่นในหมู่บ้าน เพราะเขาเป็นผู้ชายคนเดียวในหมู่บ้านที่ไว้ผมยาว เค้าโครงใบหน้าของเขาราวกับถอดแบบออกมาจากหัวหน้าชนเผ่าของอินเดียนแดง
สุมาตร ภูลายยาว
การงานของชีวิตที่ตกค้าง ฝนเทลงมาอีกวันแล้ว...เสียงสังกะสีดังราวกับมีก้อนหินนับล้านร่วงลงมาใส่ เย็นวันนี้มีเรื่องราวให้ขบคิดมากมาย กลับมาจากการประชุมที่เคร่งเครียด อันนับว่าเป็นการงานส่วนหนึ่งของชีวิต เล่นเอาเหนื่อยสายตัวแทบขาด แล้วยังมีงานอะไรที่ยังไม่ได้ทำอีกไหมนี่
สุมาตร ภูลายยาว
บันทึกในค่ำคืนที่เปลี่ยนผ่านกับนิทรรศการที่ไม่ได้จัด สายฝนของเดือนกันยายนโปรยสายลงมาทั้งวัน เราออกเดินทางจากเชียงของมาแต่ตอนเช้าด้วยรถคันเล็ก บนกระบะทางตอนท้ายบรรทุกเอกสารต่างๆ รวมทั้งนิทรรศการมาเต็ม รถต้องจดหลายครั้ง เพื่อห่มผ้ายางกันฝนให้ของบนกระบะรถ เราผ่านมากว่าครึ่งทาง ฝนยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตก ซ้ำร้ายยังตกลงมาหนักกว่าเดิม รถวิ่งทำความเร็วได้ไม่มากนัก ทั้งที่ความเป็นจริงแม้ฝนจะไม่ตก มันก็ไม่เคยวิ่งได้เร็วกว่าที่วิ่งอยู่เท่าใดนัก
สุมาตร ภูลายยาว
เมฆสีดำเหนือฟ้าด้านตะวันออกส่งสายฝนลงมาตั้งแต่เช้าจนล่วงบ่าย แม่น้ำเป็นสีชานมเย็น เศษขยะ ขอนไม้ ท่อนไม้ และต้นไม้ลอยมากับสายน้ำ และไหลไปตามแรงเฉื่อยของกระแสน้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
เช้านี้เหมือนกับทุกเช้าในช่วงนี้พ่อท่อน ยาแก้วเดินทอดน่องในสวนบนดอนทรายริมฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อดูแปลงมะเขือราว ๔ ไร่ ในใจพ่อท่อนเองไม่อยากเก็บมะเขือในตอนนี้แม้ว่าจะถึงช่วงเวลาในการเก็บแล้ว สาเหตุที่ทำให้พ่อท่อนไม่อยากเก็บมะเขือในตอนนี้ เพราะราคามะเขือต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ปีนี้มะเขือหนึ่งหมื่น (๑๒ กิโลกรัม) ขายส่งจากสวนได้เงิน ๑๒ บาท
สุมาตร ภูลายยาว

รถตู้วิ่งไปบนถนนลาดยางมะตอยที่บางช่วงเป็นหลุมเป็นบ่อ ถนนสายนี้เป็นเส้นทางจากจังหวัดกระแจะไปอำเภอสามบอ เพราะถนนไม่ค่อยดีนัก ระยะทาง ๓๕ กิโลเมตรต้องใช้เวลาเกือบ ๑ ชั่วโมงจึงถึงจุดหมาย เมื่อรถตู้ทั้ง ๓ คันจอดสงบนิ่งลงตรงประตูหน้าวัด ผู้โดยสารในรถตู้ก็พากันทยอยลงจากรถ เบื้องล่างของถนนเป็นแม่น้ำสายใหญ่ คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘โตนเลของ-แม่น้ำของ-โขง’ แม้ยังไม่สายมากนัก แต่แสงแดดก็ส่องประกายร้อนแรงเหนือสายน้ำ ฟ้ากว้างเปล่าแปนเป็นสีฟ้าไกลสุดสายตาหยั่งถึง บนสายน้ำเรือหลายลำจอดลอยลำอยู่ ใกล้กับเรือตรงโคนต้นจามจุรีมีเด็ก ๓-๔ คนนั่งอยู่ ถัดจากโคนต้นจามจุรีไปมีเรือลำหนึ่งลอยลำอยู่…
สุมาตร ภูลายยาว
จากพื้นที่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ผู้คนสองฝั่งได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำที่มีความยาว ๔,๙๐๔ กิโลเมตรสายนี้ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ล้าน ลักษณะการใช้ประโยชน์ก็แตกต่างกันออกไปตามแต่สภาพของพื้นที่ ในช่วงที่ไหลผ่านประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดเชียงรายจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี ก็มีผู้คนไม่จำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์ในด้านแตกต่างกันออกไป ผู้ใหญ่ใช้หาปลา และใช้พื้นที่ตามหาดทรายที่โผล่พ้นน้ำ และริมฝั่งทำการเกษตร เด็กๆ ใช้เป็นห้องเรียนสำหรับฝึกหาปลา และว่ายน้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
  ผาชันเป็นหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำโขงอยู่ในเขตอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านแห่งนี้มีเรื่องราวน่าสนใจหลายอย่าง เริ่มแรกเดิมทีก่อนเดินทางไปถึง ผมจินตนาการถึงหมู่บ้านแห่งนี้ในรูปแบบต่างๆ และพอเดินทางไปถึงบ้านผาชันเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ในหน้าฝน ผมก็พบว่า ในฤดูฝนหมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นเกาะขนาดย่อมๆ ชาวบ้านบอกว่า "ในฤดูฝน น้ำจากห้วยจะไหลจนท่วมสะพาน และถนนที่เข้าสู่หมู่บ้าน การเดินทางเข้าหมู่บ้านต้องใช้เรือข้ามลำห้วยแล้วไปต่อรถ" ร่องรอยของคำพูดปรากฏให้เห็นเมื่อผมเดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน รถข้ามสะพานที่น้ำในลำห้วยเริ่มปริ่มอยู่ใต้สะพาน…