Skip to main content

  

ผาชันเป็นหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำโขงอยู่ในเขตอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านแห่งนี้มีเรื่องราวน่าสนใจหลายอย่าง เริ่มแรกเดิมทีก่อนเดินทางไปถึง ผมจินตนาการถึงหมู่บ้านแห่งนี้ในรูปแบบต่างๆ และพอเดินทางไปถึงบ้านผาชันเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ในหน้าฝน ผมก็พบว่า ในฤดูฝนหมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นเกาะขนาดย่อมๆ ชาวบ้านบอกว่า "ในฤดูฝน น้ำจากห้วยจะไหลจนท่วมสะพาน และถนนที่เข้าสู่หมู่บ้าน การเดินทางเข้าหมู่บ้านต้องใช้เรือข้ามลำห้วยแล้วไปต่อรถ"


ร่องรอยของคำพูดปรากฏให้เห็นเมื่อผมเดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน รถข้ามสะพานที่น้ำในลำห้วยเริ่มปริ่มอยู่ใต้สะพาน เสาไฟฟ้าที่พอสันนิษฐานได้ว่าตรงนั้นเคยเป็นถนนมาก่อนถูกน้ำท่วมขึ้นมาถึงครึ่งหนึ่ง


เมื่อไปถึงหมู่บ้าน ผมก็มุ่งหน้าไปยังท่าน้ำ เพราะมีเป้าหมายในการไปดูพื้นที่หาปลา และไปฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับการหาปลาของคนหาปลา แต่ก็น่าเสียดาย เพราะวันที่ไปถึงนั้น น้ำในแม่น้ำโขงท่วมจนเกือบถึงตลิ่ง คนหาปลาจึงน้อย เพราะส่วนมากต้องไปทำนาอันเป็นหน้าที่การงานหลัก แต่ก็ถือว่าโชคดีที่คนหาปลาบางส่วนยังหาปลาอยู่ ผมจึงมีโอกาสได้พูดคุยหลังจากคนหาปลาเดินทางกลับมาจากการไหลมอง การพูดคุยก็มีหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่อง ‘กองทุนปลา' ที่คนหาปลาในหมู่บ้านได้ก่อตั้งขึ้นมา

การก่อตั้งกองทุนปลาขึ้นมาก็เพื่อเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยน และทำการขายปลา โดยปลาที่จับได้จะถูกนำมาขายให้กับกองทุนในราคาที่เหมาะสม และกองทุนก็จะนำปลาที่รับซื้อมาจากคนหาปลาไปขายให้พ่อค้าแม่ค้าอีกทอดหนึ่ง สำหรับพ่อค้าแม่ค้าเมื่อมาถึงแล้วก็รับรองได้ว่าจะมีปลานำกลับไปขายต่อ และคนหาปลาก็ไม่ต้องห่วงว่าปลาที่จับได้จะขายไม่ได้ นอกจากนี้แล้ว การลงทุนในกองทุนปลา เงินทุนที่ได้มายังมาจากชาวบ้านในหมู่บ้านทั้งหมดโดยไม่มีคนนอกเข้ามาร่วมลงทุนในกองทุน เงินปันผลก็จะกลับไปหาผู้ร่วมทุนแตกต่างกันออกไปตามแต่จำนวนหุ้นที่ลงทุนในกองทุน


การพูดคุยกำลังสนุก แต่ดูเหมือนว่าฝนบนฟ้าจะไม่ค่อยเป็นใจ เพราะฟ้าเริ่มมืด และครึ้มฝนมาทุกทิศทุกทาง ราวบ่ายผมจึงเดินทางออกจากหมู่บ้านพร้อมกับปลาเคิงหนัก ๓ กิโลกรัม หลังกลับมาจากหมู่บ้านในคราวนั้น ผมก็ไม่ได้กลับไปอีกเลย แต่ยังมีความหวังว่า ผมจะกลับไปยังหมู่บ้าน เพื่อตามเจาะลึกเรื่องราวกองทุนปลาอีกครั้ง




แล้ววันที่ผมเฝ้ารอจะกลับไปยังบ้านผาชันอีกครั้งก็เดินทางมาถึง จากการไปเยือนบ้านผาชันครั้งแรกกับครั้งล่าสุดที่ผมเดินทางไปนี้ห่างกันเกือบ ๗ เดือน การไปบ้านผาชันครั้งนี้ ผมไม่ได้เดินทางด้วยรถ แต่เป็นการเดินทางไปทางน้ำโดยการล่องเรือจากสามพันโบก บ้านสองคอน ระยะทางจากสามพันโบกไปถึงบ้านผาชันทางน้ำราว ๑ ชั่วโมงของการเดินเรือ


พูดถึงสามพันโบกแล้วผมเองยังไม่อยากเชื่อว่าในแม่น้ำโขงจะมีพื้นที่เช่นนี้อยู่ สามพันโบกเป็นชื่อของหลุมที่อยู่บนแก่งหินที่อาจารย์เรืองประทิน เขียวสดบอกว่า มีถึงสามพันหลุม (ผู้คนทางฝั่งซ้าย และฝั่งขวาของแม่น้ำโขงบริเวณนั้นเรียกหลุมที่เกิดขึ้นบนแก่งหินว่า ‘โบก') การเกิดขึ้นของโบกมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมา โดยมีอาจารย์เรืองประทินเล่าให้ฟังอีกทอดหนึ่งว่า มีปู่กับหลานคู่หนึ่งพากันไปหาปลาตามแก่ง ปู่ไปตักต้องอยู่ริมฝั่งจนเที่ยงก็ไม่ได้ปลา หลานก็หิวข้าว พอปู่รู้ว่าได้เวลากินข้าวสวย (ข้าวเที่ยง) แล้วก็วางเครื่องมือหาปลาขึ้นมาหาหลาน และพอได้รู้ว่าหลานหิวข้าว แต่ปู่ก็ไม่ได้ปลาสักตัว ปู่จึงเดินไปตามแก่งหินและเริ่มลงมือจก (ล้วง) เข้าไปตามแก่งหินเพื่อหาปูไปปิ้งให้หลานกิน การจกของปู่ การล้วงไปล้วงมาจนเกิดเป็นโบก หลังอาจารย์เรื่องประทินเล่าให้ฟังมาถึงตรงนี้ หลายคนแอบยิ้ม และพึมพำว่า ดูท่าปู่จะจกปูหลายปี และหลานคงมีหลายคนจึงเกิดโบกตั้งสามพันโบก


บริเวณที่เรียกว่าสามพันโบกนี้กินบริเวณพื้นที่ราว ๑๐ ตารางกิโลเมตร ในช่วงหน้าแล้งหลังน้ำลด โบกจะโผล่พ้นน้ำไปจนถึงเดือนมิถุนายน และหลังจากนั้นโบกก็จะจมอยู่ใต้น้ำ นอกจากสามพันโบกจะเป็นพื้นที่อันสวยงามในเชิงของการท่องเที่ยวแล้ว สามพันโบกยังเป็นพื้นที่เพาะพันธุ์ปลาที่อาศัยตามโบกในช่วงฤดูแล้ง พอถึงฤดูฝนที่น้ำท่วมหลาก ปลาก็จะเดินทางออกสู่แม่น้ำโขง


การเดินทางไปบ้านผาชันในครั้งนี้ เราใช้เรือ ๓ คัน หลังคนเดินทางขึ้นเรือเรียบร้อย เครื่องยนต์ท้ายเรือก็ดังขึ้น แล้วเรือก็บ่ายหน้าออกจากตลิ่งพาผู้โดยสารราว ๓๐ คนล่องแม่น้ำโขงเพื่อเดินทางสู่บ้านผาชัน การเดินทางบนเรือเหนือแม่น้ำโขงบริเวณนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกสำหรับผม แม้จะเคยเดินทางไปหลายพื้นที่ของแม่น้ำโขงมาแล้ว การเดินทางในครั้งนี้ก็มีความตื่นเต้นเดินทางมาเคาะประตูหัวใจ


ตลอดสองฝั่งน้ำ แก่งหินสูงชันขึ้นไปจากลำน้ำ ในห้วงยามที่เรือเดินทางผ่านแก่งหิน และมีคนหาปลาพักพิงอาศัยตามแก่งหินทำให้ผมหวนนึกถึงเรื่องราวของภาพเขียนบนผนังผาแต้ม ผมแอบสันนิษฐานเพียงลำพังว่า ผู้คนแถบถิ่นนี้ได้อาศัยแม่น้ำโขงเป็นที่อยู่ที่กินมาหลายชั่วอายุคน แม่น้ำคงมีความสำคัญต่อผู้คนในถิ่นนี้มากมายทีเดียว อย่างน้อยๆ ภาพเขียนบนหน้าผาที่ผาแต้มก็คงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ผู้คนไม่ว่ายุคสมัยใดล้วนพึ่งพาแม่น้ำเพื่อการยังชีพมาช้านาน


ตะวันจวนลับขอบฟ้า เรือก็พาคนเดินทางมาถึงบ้านผาชัน หน้าผาสูงชันที่อยู่สูงขึ้นไปจากแม่น้ำถึงขนาดที่ว่า หน้าผาบางแห่งต้องนำบันใดมาปีนขึ้นไปถึงจะปีนข้ามหน้าผาไปยังหมู่บ้านได้


"ผามันสูงชันจริงๆ สมแล้วที่ชื่อว่าบ้านผาชัน" ใครบางคนในขณะร่วมเดินทางเอ่ยออกมา ขณะเรือกำลังตีวง เพื่อเดินทางทวนแม่น้ำไปยังท่าเรือบ้านผาชัน หลังขึ้นจากแม่น้ำโขงมา ผมไม่สงสัยเลยว่าทำไมหมู่บ้านที่ผมเคยมาเยือนเมื่อ ๗ เดือนก่อนจึงได้ชื่อว่า ‘บ้านผาชัน'


จากตัวเลขที่ปรากฏอยู่ตามหน้าผาบางแห่งบอกว่า หน้าผาสูงจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่อยู่ในช่วงหน้าแล้งถึง ๑๕ เมตร


ตะวันตกลับเหลี่ยมภูเขาลงไปแล้ว การเดินทางจากสามพันโบกไปบ้านผาชันสิ้นสุดลงแล้ว คนหาปลาเริ่มทยอยกลับคืนสู่บ้าน ผม และคณะเดินทางออกเดินทางจากหมู่บ้านโดยมีความร้อนของฤดูแล้งแห่งภาคอีสานเป็นแรงหนุนให้รถตู้โดยสารต้องเปิดแอร์แรงสุด


"แปลกจริงๆ เลย พวกนักสร้างเขื่อนนี่ มันชอบทำเขื่อนแต่ตรงที่แม่น้ำสวยๆ ทั้งนั้น อีกหน่อยถ้าทำเขื่อนบ้านกุ่มทั้งสามพันโบก และบ้านผาชันคงจมอยู่ใต้น้ำ" ใครบางคนบนรถตู้รำพึงรำพันด้วยความร้อนกาย และร้อนใจทั้งที่บนรถแอร์เย็นฉ่ำ...

 

ตีพิมพ์ครั้งแรกมติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๒

 

 

 

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
หากท่วงทำนองของสายน้ำในฤดูฝนคือท่วงทำนองของเพลงร๊อคที่โหมกระหน่ำดุเดือดด้วยเสียงกระเดื่องกลองสลับกับเสียงเบสหนักๆ ปนกับเสียงร้องอันแหลมคม และสูงปรี้ดของนักร้อง สำหรับท่วงทำนองของสายน้ำในหน้าแล้งที่อยู่ในฤดูหนาว ท่วงทำนองของสายน้ำอันปกคลุมไปด้วยหมอกหนาวคงเป็นเสียงเพลงบูลล์หม่นเศร้า และในช่วงหน้าแล้ง ท่วงทำนองของสายน้ำคงเป็นท่วงทำนองของเพลงแคนอันเศร้าสร้อยอ้อยอิ่ง ชวนให้คิดถึงบรรยากาศของท้องทุ่ง และดินแตกระแหงของผืนดินอีสาน ฤดูแต่ละฤดูที่ผ่านไป หากแม่น้ำพูดได้ น้ำคงอยากบอกอะไรกับมนุษย์ผู้ได้ชื่อว่าใช้ประโยชน์จากแม่น้ำมากที่สุด อย่างน้อยคนที่ผิดหวังพลาดหวัง…
สุมาตร ภูลายยาว
ในชีวิตผมถือว่า สองปีที่ผ่านมา ผมโชคดีไม่น้อยที่มีโอกาสได้ไปยังสถานที่ที่ตัวเองไม่คาดคิดว่าจะได้ไป สถานที่ที่ว่านั่นคือ ‘สันเขื่อน’ และจุดสำรวจที่จะมีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในตอนล่าง ไล่ตั้งแต่ปากแบ่ง หลวงพระบาง ไซยะบุรี ปากลาย ปากชม และบ้านกุ่ม จำนวนพื้นที่ที่กล่าวมาทั้งหมดแถบทุกพื้นที่ได้มีการสำรวจศึกษาความเป็นไปได้ของพื้นที่ในการก่อสร้างเขื่อนหมดแล้วการไปในแต่ละครั้ง บางทีก็ต้องทำตัวให้กลมกลืนกับพื้นที่โดยการปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยวผู้อยากรู้อยากเห็น และที่สำคัญต้องตีสนิทกับคนท้องถิ่น เพื่อจะได้เดินทางไปสู่เป้าหมายง่ายขึ้น ในจำนวนพื้นที่ที่กล่าวมาทั้งหมด หากไม่นับรวมปากชมแล้ว…
สุมาตร ภูลายยาว
-ห้องพัก ๒๐๑, เฮือนพักเพียงจัน,หลวงพระบาง- สายฝนที่โปรยสายลงมาอย่างหนักตั้งแต่ตอนกลางคืนหายไปเมื่อตอนเช้าตรู่ ฟ้ากลับมาเป็นสีฟ้าใสอีกครั้ง หลังจากผู้คนของเมืองตื่นจากหลับใหลในอ้อมกอดของบ้านพักอบอุ่น ความเคลื่อนไหวจึงปรากฏ ถนนแต่ละสายผู้คนเริ่มพลุกพล่านโดยเฉพาะส่วนที่เป็นตลาด หลายครั้งที่มาถึงเมืองนี้ในการดำรงอยู่ของเมืองยังคงมีเรื่องราวให้น่าค้นหาในมุมมองอันหลากหลายมากขึ้น การมาถึงเมืองนี้ในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันย่อมมีเรื่องเล่าแตกต่างกันออกไปด้วย การมาหลวงพระบางในครั้งนี้ก็เช่นกัน เรามาถึงในตอนเกือบ ๓ ทุ่ม สายฝนยังตกลงมา…
สุมาตร ภูลายยาว
ลมหนาวพัดข้ามยอดเขามา ตอซังข้าวลู่ลงแนบพื้นดิน น้ำในแม่น้ำหมันแห้งขอดลงตามฤดูกาล ถัดจากแม่น้ำขึ้นไปเป็นภูเขา แม่น้ำหมันมีต้นกำเนิดจากภูโลมโลอันเป็นเทือกเขาของเทืือกเขาเพชรบูรณ์ สายน้ำเล็กๆ ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนอำเภอด่านซ้ายไหลเอื่อยช้าคล้ายคนเพิ่งหายจากการป่วยไข้ แม่น้ำหมันช่วงที่ไหลผ่านอำเภอด่านซ้ายไปจนถึงบ้านปากหมัน ตรงที่แม่น้ำหมันเดินทางไปบรรจบกับแม่น้ำเหืองมีความยาวทั้งสิ้น ๖๖ กิโลเมตร ตลอดริมสองฝั่งแม่น้ำจะมีต้นไผ่จำนวนมากขึ้นอยู่เป็นระยะ ต้นไผ่-แม่น้ำหมัน-คนริมฝั่งน้ำมีความสำคัญต่อกันจนแยกขาดจากกันไม่ได้
สุมาตร ภูลายยาว
หลังได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินภาพวาดของเด็กๆ ที่ประกอบไปด้วยเด็กจากช่วงชั้นต่างๆ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ของโรงเรียนบ้านคกเว้า ตำบลหาดคำภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย ข้าพเจ้าเองแบ่งรับแบ่งสู้ในตอนแรก เพราะโดยส่วนตัวแล้วการเป็นกรรมการประเภทนี้มีเงื่อนไขหลายอย่าง สำคัญกรรมการควรมีความรู้ทางศิลปะมาบ้าง เพื่อให้ผลการตัดสินออกมาดูน่าเชื่อถือ แต่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ข้าพเจ้าไม่มีความรู้ทางศิลปะเอาเสียเลย อย่างมากก็พอรู้ว่ารูปไหนสวยไม่สวย ซ้ำร้ายเรื่องของทฤษฏีสีแล้ว ข้าพเจ้าไม่รู้เอาเสียเลย แม้จะเคยลองวาดรูปอยู่บ้าง แต่ก็งูๆ ปลาๆ…
สุมาตร ภูลายยาว
โศกนาฏกรรมสองฝั่งน้ำ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสายน้ำเรื่องหนึ่งที่ผู้เฒ่าปกากะญอ มักเล่าให้ลูกหลานฟังอยู่เสมอ เรื่องเล่าเรื่องนี้มีอยู่ว่า ‘นานมาแล้วมีเจ้าเมืององค์หนึ่งจะตึกแค-กั้นน้ำ เพื่อจับปลาในแม่น้ำสาละวิน ให้ลูกที่อยากกิน ปลาตัวนี้ใหญ่มาก ส่วนหัวของปลาอยู่โจโหละกุย-วังน้ำใหญ่อยู่ในเขตสาละวินตอนกลาง ลำตัวของปลายาวลงไปตามลำน้ำ ส่วนหางอยู่ที่แจแปนทีลอซู แต่ก็มีเรื่องที่ทำให้ชาวบ้านชาวเมืองตกอกตกใจ เพราะหากว่าเลือดหรือน้ำมันจากปลาตัวนี้ไหลลงพื้นดินเมื่อใด แผ่นดินก็จะลุกเป็นไฟ เมื่อชาวบ้านทราบข่าวก็เกิดความกังวลว่า เมื่อน้ำท่วมบ้านแล้วไม่รู้ว่าจะหนีไปอยู่ที่ไหน…
สุมาตร ภูลายยาว
การพัฒนาบนคราบน้ำตาคนชายขอบ ในอดีตอันยาวไกลของแม่น้ำสายนี้เคยไหลอย่างอิสระมาตลอด แต่แม่น้ำนานาชาติสายสำคัญแห่งนี้อาจมิได้ไหลอย่างอิสระต่อไปอีกแล้ว เพราะปัจจุบันแม่น้ำสายนี้ได้ถูกผลักดันให้เข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาต่างๆ แผนพัฒนาที่สำคัญ คือแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะกับประเทศไทย แม่น้ำสาละวินกลายเป็นแม่น้ำยุทธศาสตร์สำคัญสายหนึ่งที่น้ำในแม่น้ำจะถูกนำมาแปรเป็นกระแสไฟฟ้า ภายใต้วาทะกรรมของนักพัฒนาที่ว่า ‘พื้นที่ชายขอบของประเทศมีคนอยู่น้อย และผู้ที่ได้รับผลกระทบย่อมมีส่วนน้อยเช่นกัน’
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้คนแห่งสาละวิน  สาละวิน ถือเป็นสายน้ำแห่งกลุ่มชาติพันธุ์อย่างแท้จริง เพราะสองฟากฝั่งลุ่มน้ำสาละวิน ตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยลงมาจนถึงอ่าวเมาะตะมะ ในเขตหุบเขาอันไกลโพ้นในประเทศจีนก็มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า ๑๔ กลุ่ม โดยส่วนใหญ่เป็นชาวนู ลีซู และตู๋หลง เมื่อล่องตามน้ำลงมาจนถึงพรมแดนพม่า-จีน พม่า-ไทยก็มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อาศัยอยู่มากมายไม่ต่ำกว่า ๑๖ กลุ่ม เช่น นู ลีซู ไทยใหญ่ กะยา กะยัน กะเหรี่ยง และมอญ กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ล้วนมีภาษา ตัวอักษร วรรณคดี ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีของตนเอง ในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่หลากหลายบนลุ่มน้ำแห่งนี้ กลุ่มยินตาเล…
สุมาตร ภูลายยาว
สาละวินบนนิยามของความหลากหลาย สาละวิน บนเส้นทางงานวิจัยชาวบ้าน งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน ตลอดแนวพรมแดนไทย-พม่า โดยได้มีการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในประเด็นพันธุ์ปลา เครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน การทำเกษตร พรรณพืชในป่า และสังคมวัฒนธรรมของชาวปกาะกญอ เพื่อนำมาอธิบายความสลับซับซ้อนของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในลุ่มน้ำสาละวิน และวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมของชุมชนที่ตั้งอยู่บนฐานของระบบนิเวศดังกล่าว ตลอดจนพิธีกรรม และความเชื่อของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผลการศึกษาพบว่า แม่น้ำสาละวิน ตลอดพรมแดนไทย-พม่า มีระบบนิเวศที่สลับซับซ้อน อาทิ แก่ง วังน้ำ หาดทราย…
สุมาตร ภูลายยาว
ระบบนิเวศลุ่มน้ำสาละวิน ระบบนิเวศลุ่มน้ำสาละวิน ถือว่า มีความสำคัญต่อภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากแม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำนานาชาติสายสุดท้ายในภูมิภาคนี้ที่ยังไม่ได้ถูกล่ามโซ่ด้วยเขื่อน นักนิเวศวิทยาได้จัดให้แม่น้ำสาละวินเป็นศูนย์กลางของการกระจายพันธุ์ไม้สักของโลก พื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีระบบนิเวศสลับซับซ้อนเนื่องจากเป็นพื้นที่ต่อเนื่องระหว่างเขตชีวภูมิศาสตร์ย่อยอินโดจีนกับพื้นที่ต่อเนื่องจากชีวภูมิศาสตร์สิโนหิมาลายันหรือเขตชีวภูมิศาสตร์ย่อยอินเดีย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า เกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การศึกษาระบบนิเวศวิทยาของแม่น้ำสาละวิน มีอยู่น้อยมาก…
สุมาตร ภูลายยาว
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหราชอาณาจักรได้คืนอิสรภาพให้กับพม่า ภายหลังพม่าได้รับอิสรภาพ ในปี ๒๔๙๐ นายพลอู่อองซาน ผู้นำพม่าในขณะนั้นก็ถูกสังหารเสียชีวิต การล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิงของสัญญาปางโหลง จึงเกิดขึ้น เมื่อคำมั่นในสัญญาปางโหลงไม่เป็นผล ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ จึงได้จับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลทหารพม่า เพื่อแยกตัวเป็นรัฐอิสระและปกครองตนเอง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน จึงเกิดกองกำลังปลดปล่อยขึ้นหลายกลุ่ม เขตรอยต่อพรมแดนไทย-พม่าริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ด้านตะวันตก เป็นดินแดนที่กล่าวได้ว่า กฎหมายอาจไม่มีความสำคัญ ทุกชีวิตที่ยังมีลมหายใจ จึงอยู่ภายใต้กฎของปืน และความเหลื่อมล้ำในการดำเนินชีวิต…
สุมาตร ภูลายยาว
พ่อตู้เริญได้เล่านิทานเรื่องนี้ให้ผมฟังขณะเรานั่งหย่อนอารมณ์ในบ้านของแก เพื่อรอฝนหายจากฟ้า เดือนตุลาคมแล้ว ฝนยังมิจากจางเลย ลมหนาวมิมีทีท่าว่าจะพัดมา สายฝนเทลงมาจั่กๆ พ่อตู้เริญต้องเล่านิทานเรื่องนี้ด้วยเสียงดัง เพื่อจะให้ผมได้ยินถนัด ผมกดเครื่องบันทึกเสียงเพื่อบันทึกเสียงการเล่านิทานของพ่อตู้เอาไว้ เพราะคิดว่าจะเก็บเอามาเล่าต่อให้คนอื่นได้ฟังด้วย พ่อตู้เริญเล่าว่า... นานมาแล้ว ยุคสมัยก่อนการเกิดขึ้นของพุทธศาสนา องค์อินทร์ผู้เป็นนายของทุกสิ่ง และทรงสร้างทุกสิ่งในจักรวาลได้นั่งตรวจยามสามตา เพื่อตรวจดูทุกสรรพสัตว์ใตอานัติของตนเอง แล้วในญาณนั้นก็ปรากฏการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา…