Skip to main content


ลมหนาวพัดข้ามยอดเขามา ตอซังข้าวลู่ลงแนบพื้นดิน น้ำในแม่น้ำหมันแห้งขอดลงตามฤดูกาล ถัดจากแม่น้ำขึ้นไปเป็นภูเขา แม่น้ำหมันมีต้นกำเนิดจากภูโลมโลอันเป็นเทือกเขาของเทืือกเขาเพชรบูรณ์ สายน้ำเล็กๆ ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนอำเภอด่านซ้ายไหลเอื่อยช้าคล้ายคนเพิ่งหายจากการป่วยไข้


แม่น้ำหมันช่วงที่ไหลผ่านอำเภอด่านซ้ายไปจนถึงบ้านปากหมัน ตรงที่แม่น้ำหมันเดินทางไปบรรจบกับแม่น้ำเหืองมีความยาวทั้งสิ้น ๖๖ กิโลเมตร ตลอดริมสองฝั่งแม่น้ำจะมีต้นไผ่จำนวนมากขึ้นอยู่เป็นระยะ ต้นไผ่-แม่น้ำหมัน-คนริมฝั่งน้ำมีความสำคัญต่อกันจนแยกขาดจากกันไม่ได้


คนริมแม่น้ำหมันในอำเภอด่านซ้ายเล่าให้ฟังว่า แม่น้ำหมันในช่วงหน้าแล้งกับหน้าฝนจะต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในหน้าฝนน้ำจากแม่น้ำจะไหลเอ่อเข้าท่วมไร่นา บ้านเรือนทั้งสองฝั่งแม่น้ำ แต่ในช่วงหน้าแล้งน้ำในแม่น้ำจะเหือดลง ถึงอย่างไรก็ตามแม้น้ำจะเหือดลง แต่ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็ได้อาศัยน้ำในแม่น้ำทำนาปรัง เพราะในช่วงหน้าฝนน้ำท่วม ผลผลิตที่ได้จึงน้อย การทำนาปรังในช่วงหน้าแล้งจึงมีผลผลิตที่มาชดเชยในฤดูการทำนาปกติ แน่ละ การทำนาปรัง น้ำย่อมมีส่วนสำคัญอย่างมาก แต่น้ำที่ชาวนาในเขตอำเภอด่านซ้ายผันเข้านานั้นมาจากที่ไหน คำถามถูกเฉลยออกมา เมื่อเราเดินทางออกจากอำเภอด่านซ้ายมุ่งหน้าสู่อำเภอท่าลี่


จากข้อมูลที่เพื่อนร่วมทางได้มาทำให้คำถามนี้กระจ่างขึ้น น้ำที่ชาวนาในเขตอำเภอด่านซ้ายผันเข้านามาจากน้ำในแม่น้ำหมันนั่นเอง แล้วชาวนาผันน้ำจากแม่น้ำขึ้นมาได้ยังไงนั่นเป็นอีกหนึ่งคำถามที่ตามมา


หลังรถวิ่งเรื่อยไปบนถนน เราก็ได้พบคำตอบของคำถามเมื่อมองเห็นชิงช้าสวรรค์ขนาดใหญ่อยู่ริมแม่น้ำ ภายหลังที่รถจอดสงบนิ่งริมข้างทาง ผู้โดยสารทยอยลงจากรถมุ่งหน้าที่สู่ริมฝั่งแม่น้ำ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ชิงช้าสวรรค์ในแม่น้ำ เมื่อไปถึงความจริงของการจัดการน้ำจึงกระจ่างแจ้งขึ้นเป็นลำดับ

 

 

ชาวนาที่ทำนาปรังและนาปีอาศัยผันน้ำจากแม่น้ำหมันโดยวิธีการตามภูมิปัญญาชาวนาคือใช้ระหัดวิดน้ำเข้านาหรือที่คนท้องถิ่นในเขตอำเภอด่านซ้ายเรียกว่า ‘พัด’ การผันน้ำเข้ามาโดยวิธีการใช้พัด ชาวนาเรียกว่า ‘การพัดน้ำ’ การพัดน้ำเป็นภูมิปัญญาในการจัดการน้ำมาแต่โบราณกาล โดยอาศัยธรรมชาติจากการไหลของสายน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์


ส่วนประกอบต่างๆ ของพัดประกอบด้วยขาธนู กงล้อ ใบพัด บั้ง หรือกระบอกตักน้ำ ฮางรินหรือรางสำหรับให้น้ำไหลไปสู่นา ในประเทศไทยระหัดวิดน้ำมีชื่อเรียกต่างๆ กันไป ทางภาคเหนือเรียกว่า ‘หลุก’ ทางภาคกลาง และภาคอีสานเรียกว่า ‘กังหันวิดน้ำ’ หรือ ‘ระหัดวิดน้ำ’ ขณะที่ชาวนาในแถบแม่น้ำหมันอำเภอด่านซ้ายเรียกว่า ‘พัดหรือพัดน้ำ’


การทำพัดจะเริ่มขึ้นในช่วงเดือน ๖ (พฤษภาคม) การทำพัดชาวนาเรียกว่า ‘การตีพัด’ ก่อนการตีพัดแต่ละครั้ง ชาวนาจะเดินทางขึ้นภูเขา เพื่อหาไม้เนื้อแข็งมาทำขาธนู หลังจากนั้นก็จะตัดไม้ไผ่ที่เกิดขึ้นตามริมฝั่งแม่น้ำหมันมาทำเป็นส่วนประกอบต่างๆ ของพัด เช่น ใบพัด บั้งตักน้ำ ฮางรินเป็นต้น


หลังได้วัสดุอุปกรณ์ทั้งหมดมาแล้ว ชาวนาก็จะลงมือประกอบพัดโดยการตัดไม้ไผ่จำนวนมากกั้นเป็นฝายในแม่น้ำ และปล่อยช่องให้น้ำไหลออกหนึ่งช่อง สาเหตุที่ต้องกั้นน้ำเป็นฝายนั้นก็เพื่อบังคับทิศทางการไหลของน้ำให้แคบลง เมื่อน้ำมีทิศทางการไหลแคบลง น้ำก็จะไหลแรงขึ้น หลังกั้นฝายเสร็จก็เริ่มการสร้างกงล้อขนาดใหญ่คล้ายกับชิงช้าสวรรค์ขึ้นในทางน้ำที่เว้นช่องไว้ จากนั้นก็มัดบั้งติดกับกงล้อ และต่อเชื่อมฮางรินรองรับน้ำที่ถูกเทลงจากบั้ง น้ำจากฮางรินก็จะไหลเข้าไปตามพื้นที่ต่างๆ ในผืนนา


ส่วนประกอบของพัดน้ำเกือบทั้งหมดทำขึ้นจากไม้ไผ่ การตีพัดแต่ละครั้งก็จะใช้ไม้ไผ่ใหม่ทั้งหมด ยกเว้นเพลาหรือดุมแกนกลางของพัดที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง ดุมจะใช้อันเก่าไปเรื่อยๆ จนกว่าจะผุพัง การใช้พัดจะใช้ปีต่อปี เมื่อเสร็จหน้านา น้ำเหือดลงก็จะเลิกใช้ พอถึงหน้านาใหม่ก็มาตีพัดใหม่ แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับบางพื้นที่ ชาวนาที่ทำนาปรังบางแปลงก็ยังใช้พัดในหน้าแล้งอยู่เช่นที่บ้านนาดี เจ้าของนาผู้เป็นเจ้าของพัดยังอาศัยน้ำจากพัดเข้านาเพื่อใหน้ำกับข้าวนาปรัง เทคนิคในการทำพัดจะอยู่ที่ต้องตั้งกลง้อด้านหนึ่งให้เอียง เพื่อให้น้ำจากบั้งสามารถถ่ายเทลงมายังฮางรินได้


ปัจจุบันตลอดระยะทาง ๖๖ กิโลเมตรของลำน้ำหมันจากด่านซ้ายถึงปากหมัน ชาวบ้านยังใช้พัดผันน้ำเข้านาประมาณคร่าวๆ ราว ๑๐๐ ตัว และแนวโน้นในอนาคต จำนวนพัดก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งมาจากเครื่องสูบน้ำเข้ามาแทนที่ของพัด และบางส่วนก็มากจากความตื้นเขินของแม่น้ำจนไม่สามารถที่จะทำพัดได้ พัดจะทำงานได้ดีในช่วงหน้าฝน ส่วนในหน้าแล้งพัดก็ไม่ได้ใช้งาน


หากมองต่างมุมออกไป การจัดการน้ำตามวิธีการโบราณเช่นนี้มักได้รับการปฏิเสธจากหน่วยงานของทางราชการทั้งในระดับล่างสุดจนถึงระดับประเทศ สาเหตุคงเพราะการผันน้ำเข้านาโดยการใช้พัดนั้นเป็นสิทธิแบบปัจเจกที่ชาวบ้านผู้มีนาอยู่ติดน้ำเป็นเจ้าของพื้นที่ในการทำ และอีกสาเหตุหนึ่งการทำพัดไม่ได้ใช้งบของทางราชการ หากทำฝายแล้วทำคลองส่งน้ำ หน่วยงานราชการก็จะได้ประโยชน์จากโครงการอยู่บ้างไม่มากก็น้อย


ในอนาคตคงบอกได้ว่า การทำชิงช้าสวรรค์ผันน้ำเข้านาของชาวนาในลุ่มแม่น้ำหมัน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยคงลดน้อยถอยลงไป ซึ่งการลดลงก็มาจากหลายสาเหตุ และแน่ละหนึ่งในนั้นย่อมมีการพูดถึงมายาคติเรื่องการทำพัดทำให้เกิดน้ำท่วม และแม่น้ำตื้นเขิน แต่ความจริงคงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะการทำพัดในช่วงหน้าฝนน้ำจะท่วมตลิ่งเป็นปกติอยู่แล้ว และส่วนหนึ่งสาเหุตที่น้ำท่วมก็มาจากทั้งสองข้างของแม่น้ำหมันเป็นภูเขา แม่น้ำหมันจึงเป็นพื้นที่รับน้ำที่สำคัญ


อีกอย่างหนึ่ง ตัวพัดไม่ได้ตั้งขวางแม่น้ำ แต่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ความตื้นเขินที่เกิดขึ้นหาได้เป็นความตื้นเขินของแม่น้ำไม่ แต่เป้นความตื้นเขินของหน่วยงานราชการมากกว่าที่พยายามหยัดเยียดความเป็นผู้ร้ายให้กับองค์ความรู้ของชาวนา



จากมายาคติดังกล่าวจึงนำไปสู่ทิศทางในการทำร้ายองค์ความรู้ในการจัดการน้ำของชาวนาในระยะยาว และแน่นอนที่สุด การทำลายองค์ความรู้ของชาวนาจะทำลายจนหมดสิ้นได้ก็คือการสร้างองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมา องค์ความรู้ใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมา คือการผันน้ำเข้านาโดยใช้เครื่องสูบน้ำรวมทั้งการทำฝายแล้วทำคลองส่งน้ำ และแน่ละหลังการทำคอลงส่งน้ำ ชาวนาย่อมได้ใช้น้ำฟรีในช่วงแรก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ พรบ
.น้ำออกมา ชาวนาจะต้องจ่ายค่าน้ำเพิ่มนอกเหนือจากการจ่ายค่าปุ๋ย และค่ายาฆ่าแมลง


ลมหนาวที่มากับฤดูแล้งพัดแบ่วเบา พอๆ กับพัดตัวสุดท้ายที่บ้านนาดีหลังเสร็จหน้านายังทำงานท่ามกลางลมหนาวเหนือริมน้ำหมันอย่างแบ่วเบาเช่นกัน อีกนานไหมที่องค์ความรู้ของชาวนาในเรื่องการจัดการน้ำโดยการสร้างพัดจะหายไป คำตอบอยู่ที่ชาวนาเอง หากเมื่อใดก็ตามที่ชาวนายังคงแข็งขืนต่อระบบการจัดการน้ำของรัฐได้ ตราบนั้นพัดก็ยังคงหมุนอยู่เช่นเดิม แม้จะลดน้อยลงไปตามกาลเวลาก็ตามที...

 

 

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
    ...เสียงปืนดังลั่นเปรี้ยง-คล้ายเสียงชะนีหวน
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง
สุมาตร ภูลายยาว
‘ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้ง’ คนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้ดีตีนแดง-ขอ โทษ เท้าแดง ตะแคงเท้าเดิน เวลาเหยียบปุ่มปมของพรมผืนนุ่มนิ่มราวกับปุยเมฆ นั่นแหละเท้าของผู้ดี และโลกของผู้ดีมีแต่น้ำครำ –น้ำคำ แห่งการหลอกลวง ทั้งผู้ดีจริง และผู้ดีกลวง ขณะเดินย่ำไปบนเส้นทางสู่ร้านอาหารเลิศหรู เมนูไข่คาเวียกับบรั่นดีแก้วทรงสูงดัดจริตวางรอ ผู้ดีน้ำครำละเลียดเมรัยรสคมผ่านลำคอ และละเลียดไข่คาเวียที่มีอยู่นับจำนวนได้บนจานราคาแพงกว่าการขึ้นห้องกับปอง ของโฉน ไพรำ ผู้ดี น้ำครำมองออกไปนอกหน้าต่างสูงลิบของห้องอาหารโรงแรมเสียดฟ้า เบื้องล่างแม่น้ำไหลเอื่อยเหนื่อยปานจะขาดใจตาย ผู้ดีน้ำครำละเลียดไข่คาเวียราคาแพง เพื่อเลิศหรูมีหน้ามีตา…
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมหนาวพัดมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยสายลงมา ว่ากันว่านี่คือฝนหลงฤดู! กาแฟแก้วของวันเป็นคาปูชิโน่ร้อนสองแก้ว แต่ไม่ใช่ของผมเป็นของลูกค้าต่างชาติ รสชาติของกาแฟเป็นอย่างไรในเช้านี้ ผมไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้ชิม หลังสตรีมนมสดจนร้อนได้ที่ กลิ่นกาแฟสดหอมกรุ่นโชยออกมา และพร้อมแล้วสำหรับการดื่ม-กิน
สุมาตร ภูลายยาว
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด
สุมาตร ภูลายยาว
เวลาผ่านไปเร็ว ยามที่เราโตขึ้น เราเชื่อเช่นนั้น เพราะเราโหยหาเวลาของวัยเยาว์ เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นลำดับมีหลายความรู้สึกของวัยเยาว์ที่หล่นหายไปอย่างไม่อาจเรียกคืนกลับมา ราวกับสายน้ำที่ไหลไกลออกไปทุกทีๆ มิอาจหวนกลับมาเป็นสายน้ำได้เช่นเดิม แต่กลายเป็นสายฝนพรำลงมาแทน หากพูดถึงอดีตแล้ว บางด้านที่เลวร้าย เราอยากผ่านเลย แต่กลับจำได้ฝังใจ...
สุมาตร ภูลายยาว
บุนทะนอง ซมไซผล แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว    ๑.ผลน้ำเต้าบุ่ง และวรรณคดีพื้นเมือง ถ้าจะให้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ความเชื่อมโยงด้านวรรณคดีของชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดถึงคือ น้ำเต้าบุ่ง
สุมาตร ภูลายยาว
ดอกเกดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ลำต้นมีลักษณะเหมือนต้นปาล์ม เวลาออกดอก ดอกจะส่งกลิ่นหอม คนเฒ่าคนแก่จะนิยมนำไปบูชาพระและนำมาทัดหู ผมไม่รู้เหมือนกันว่าดอกไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยหรือมีเฉพาะที่ภาคอีสานและประเทศลาว
สุมาตร ภูลายยาว
จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง) เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’