Skip to main content


ลมหนาวพัดข้ามยอดเขามา ตอซังข้าวลู่ลงแนบพื้นดิน น้ำในแม่น้ำหมันแห้งขอดลงตามฤดูกาล ถัดจากแม่น้ำขึ้นไปเป็นภูเขา แม่น้ำหมันมีต้นกำเนิดจากภูโลมโลอันเป็นเทือกเขาของเทืือกเขาเพชรบูรณ์ สายน้ำเล็กๆ ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนอำเภอด่านซ้ายไหลเอื่อยช้าคล้ายคนเพิ่งหายจากการป่วยไข้


แม่น้ำหมันช่วงที่ไหลผ่านอำเภอด่านซ้ายไปจนถึงบ้านปากหมัน ตรงที่แม่น้ำหมันเดินทางไปบรรจบกับแม่น้ำเหืองมีความยาวทั้งสิ้น ๖๖ กิโลเมตร ตลอดริมสองฝั่งแม่น้ำจะมีต้นไผ่จำนวนมากขึ้นอยู่เป็นระยะ ต้นไผ่-แม่น้ำหมัน-คนริมฝั่งน้ำมีความสำคัญต่อกันจนแยกขาดจากกันไม่ได้


คนริมแม่น้ำหมันในอำเภอด่านซ้ายเล่าให้ฟังว่า แม่น้ำหมันในช่วงหน้าแล้งกับหน้าฝนจะต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในหน้าฝนน้ำจากแม่น้ำจะไหลเอ่อเข้าท่วมไร่นา บ้านเรือนทั้งสองฝั่งแม่น้ำ แต่ในช่วงหน้าแล้งน้ำในแม่น้ำจะเหือดลง ถึงอย่างไรก็ตามแม้น้ำจะเหือดลง แต่ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็ได้อาศัยน้ำในแม่น้ำทำนาปรัง เพราะในช่วงหน้าฝนน้ำท่วม ผลผลิตที่ได้จึงน้อย การทำนาปรังในช่วงหน้าแล้งจึงมีผลผลิตที่มาชดเชยในฤดูการทำนาปกติ แน่ละ การทำนาปรัง น้ำย่อมมีส่วนสำคัญอย่างมาก แต่น้ำที่ชาวนาในเขตอำเภอด่านซ้ายผันเข้านานั้นมาจากที่ไหน คำถามถูกเฉลยออกมา เมื่อเราเดินทางออกจากอำเภอด่านซ้ายมุ่งหน้าสู่อำเภอท่าลี่


จากข้อมูลที่เพื่อนร่วมทางได้มาทำให้คำถามนี้กระจ่างขึ้น น้ำที่ชาวนาในเขตอำเภอด่านซ้ายผันเข้านามาจากน้ำในแม่น้ำหมันนั่นเอง แล้วชาวนาผันน้ำจากแม่น้ำขึ้นมาได้ยังไงนั่นเป็นอีกหนึ่งคำถามที่ตามมา


หลังรถวิ่งเรื่อยไปบนถนน เราก็ได้พบคำตอบของคำถามเมื่อมองเห็นชิงช้าสวรรค์ขนาดใหญ่อยู่ริมแม่น้ำ ภายหลังที่รถจอดสงบนิ่งริมข้างทาง ผู้โดยสารทยอยลงจากรถมุ่งหน้าที่สู่ริมฝั่งแม่น้ำ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ชิงช้าสวรรค์ในแม่น้ำ เมื่อไปถึงความจริงของการจัดการน้ำจึงกระจ่างแจ้งขึ้นเป็นลำดับ

 

 

ชาวนาที่ทำนาปรังและนาปีอาศัยผันน้ำจากแม่น้ำหมันโดยวิธีการตามภูมิปัญญาชาวนาคือใช้ระหัดวิดน้ำเข้านาหรือที่คนท้องถิ่นในเขตอำเภอด่านซ้ายเรียกว่า ‘พัด’ การผันน้ำเข้ามาโดยวิธีการใช้พัด ชาวนาเรียกว่า ‘การพัดน้ำ’ การพัดน้ำเป็นภูมิปัญญาในการจัดการน้ำมาแต่โบราณกาล โดยอาศัยธรรมชาติจากการไหลของสายน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์


ส่วนประกอบต่างๆ ของพัดประกอบด้วยขาธนู กงล้อ ใบพัด บั้ง หรือกระบอกตักน้ำ ฮางรินหรือรางสำหรับให้น้ำไหลไปสู่นา ในประเทศไทยระหัดวิดน้ำมีชื่อเรียกต่างๆ กันไป ทางภาคเหนือเรียกว่า ‘หลุก’ ทางภาคกลาง และภาคอีสานเรียกว่า ‘กังหันวิดน้ำ’ หรือ ‘ระหัดวิดน้ำ’ ขณะที่ชาวนาในแถบแม่น้ำหมันอำเภอด่านซ้ายเรียกว่า ‘พัดหรือพัดน้ำ’


การทำพัดจะเริ่มขึ้นในช่วงเดือน ๖ (พฤษภาคม) การทำพัดชาวนาเรียกว่า ‘การตีพัด’ ก่อนการตีพัดแต่ละครั้ง ชาวนาจะเดินทางขึ้นภูเขา เพื่อหาไม้เนื้อแข็งมาทำขาธนู หลังจากนั้นก็จะตัดไม้ไผ่ที่เกิดขึ้นตามริมฝั่งแม่น้ำหมันมาทำเป็นส่วนประกอบต่างๆ ของพัด เช่น ใบพัด บั้งตักน้ำ ฮางรินเป็นต้น


หลังได้วัสดุอุปกรณ์ทั้งหมดมาแล้ว ชาวนาก็จะลงมือประกอบพัดโดยการตัดไม้ไผ่จำนวนมากกั้นเป็นฝายในแม่น้ำ และปล่อยช่องให้น้ำไหลออกหนึ่งช่อง สาเหตุที่ต้องกั้นน้ำเป็นฝายนั้นก็เพื่อบังคับทิศทางการไหลของน้ำให้แคบลง เมื่อน้ำมีทิศทางการไหลแคบลง น้ำก็จะไหลแรงขึ้น หลังกั้นฝายเสร็จก็เริ่มการสร้างกงล้อขนาดใหญ่คล้ายกับชิงช้าสวรรค์ขึ้นในทางน้ำที่เว้นช่องไว้ จากนั้นก็มัดบั้งติดกับกงล้อ และต่อเชื่อมฮางรินรองรับน้ำที่ถูกเทลงจากบั้ง น้ำจากฮางรินก็จะไหลเข้าไปตามพื้นที่ต่างๆ ในผืนนา


ส่วนประกอบของพัดน้ำเกือบทั้งหมดทำขึ้นจากไม้ไผ่ การตีพัดแต่ละครั้งก็จะใช้ไม้ไผ่ใหม่ทั้งหมด ยกเว้นเพลาหรือดุมแกนกลางของพัดที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง ดุมจะใช้อันเก่าไปเรื่อยๆ จนกว่าจะผุพัง การใช้พัดจะใช้ปีต่อปี เมื่อเสร็จหน้านา น้ำเหือดลงก็จะเลิกใช้ พอถึงหน้านาใหม่ก็มาตีพัดใหม่ แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับบางพื้นที่ ชาวนาที่ทำนาปรังบางแปลงก็ยังใช้พัดในหน้าแล้งอยู่เช่นที่บ้านนาดี เจ้าของนาผู้เป็นเจ้าของพัดยังอาศัยน้ำจากพัดเข้านาเพื่อใหน้ำกับข้าวนาปรัง เทคนิคในการทำพัดจะอยู่ที่ต้องตั้งกลง้อด้านหนึ่งให้เอียง เพื่อให้น้ำจากบั้งสามารถถ่ายเทลงมายังฮางรินได้


ปัจจุบันตลอดระยะทาง ๖๖ กิโลเมตรของลำน้ำหมันจากด่านซ้ายถึงปากหมัน ชาวบ้านยังใช้พัดผันน้ำเข้านาประมาณคร่าวๆ ราว ๑๐๐ ตัว และแนวโน้นในอนาคต จำนวนพัดก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งมาจากเครื่องสูบน้ำเข้ามาแทนที่ของพัด และบางส่วนก็มากจากความตื้นเขินของแม่น้ำจนไม่สามารถที่จะทำพัดได้ พัดจะทำงานได้ดีในช่วงหน้าฝน ส่วนในหน้าแล้งพัดก็ไม่ได้ใช้งาน


หากมองต่างมุมออกไป การจัดการน้ำตามวิธีการโบราณเช่นนี้มักได้รับการปฏิเสธจากหน่วยงานของทางราชการทั้งในระดับล่างสุดจนถึงระดับประเทศ สาเหตุคงเพราะการผันน้ำเข้านาโดยการใช้พัดนั้นเป็นสิทธิแบบปัจเจกที่ชาวบ้านผู้มีนาอยู่ติดน้ำเป็นเจ้าของพื้นที่ในการทำ และอีกสาเหตุหนึ่งการทำพัดไม่ได้ใช้งบของทางราชการ หากทำฝายแล้วทำคลองส่งน้ำ หน่วยงานราชการก็จะได้ประโยชน์จากโครงการอยู่บ้างไม่มากก็น้อย


ในอนาคตคงบอกได้ว่า การทำชิงช้าสวรรค์ผันน้ำเข้านาของชาวนาในลุ่มแม่น้ำหมัน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยคงลดน้อยถอยลงไป ซึ่งการลดลงก็มาจากหลายสาเหตุ และแน่ละหนึ่งในนั้นย่อมมีการพูดถึงมายาคติเรื่องการทำพัดทำให้เกิดน้ำท่วม และแม่น้ำตื้นเขิน แต่ความจริงคงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะการทำพัดในช่วงหน้าฝนน้ำจะท่วมตลิ่งเป็นปกติอยู่แล้ว และส่วนหนึ่งสาเหุตที่น้ำท่วมก็มาจากทั้งสองข้างของแม่น้ำหมันเป็นภูเขา แม่น้ำหมันจึงเป็นพื้นที่รับน้ำที่สำคัญ


อีกอย่างหนึ่ง ตัวพัดไม่ได้ตั้งขวางแม่น้ำ แต่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ความตื้นเขินที่เกิดขึ้นหาได้เป็นความตื้นเขินของแม่น้ำไม่ แต่เป้นความตื้นเขินของหน่วยงานราชการมากกว่าที่พยายามหยัดเยียดความเป็นผู้ร้ายให้กับองค์ความรู้ของชาวนา



จากมายาคติดังกล่าวจึงนำไปสู่ทิศทางในการทำร้ายองค์ความรู้ในการจัดการน้ำของชาวนาในระยะยาว และแน่นอนที่สุด การทำลายองค์ความรู้ของชาวนาจะทำลายจนหมดสิ้นได้ก็คือการสร้างองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมา องค์ความรู้ใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมา คือการผันน้ำเข้านาโดยใช้เครื่องสูบน้ำรวมทั้งการทำฝายแล้วทำคลองส่งน้ำ และแน่ละหลังการทำคอลงส่งน้ำ ชาวนาย่อมได้ใช้น้ำฟรีในช่วงแรก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ พรบ
.น้ำออกมา ชาวนาจะต้องจ่ายค่าน้ำเพิ่มนอกเหนือจากการจ่ายค่าปุ๋ย และค่ายาฆ่าแมลง


ลมหนาวที่มากับฤดูแล้งพัดแบ่วเบา พอๆ กับพัดตัวสุดท้ายที่บ้านนาดีหลังเสร็จหน้านายังทำงานท่ามกลางลมหนาวเหนือริมน้ำหมันอย่างแบ่วเบาเช่นกัน อีกนานไหมที่องค์ความรู้ของชาวนาในเรื่องการจัดการน้ำโดยการสร้างพัดจะหายไป คำตอบอยู่ที่ชาวนาเอง หากเมื่อใดก็ตามที่ชาวนายังคงแข็งขืนต่อระบบการจัดการน้ำของรัฐได้ ตราบนั้นพัดก็ยังคงหมุนอยู่เช่นเดิม แม้จะลดน้อยลงไปตามกาลเวลาก็ตามที...

 

 

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
ปีที่ผ่านมา เหนือสายน้ำเชี่ยวกรากสายหนึ่ง ความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำได้พาให้เดินทางไปสู่ห้วงยามหนึ่งของชีวิต ห้วงยามที่ทำให้ต้องจดจำไม่เคยลืม เพราะใครบ้างจะลืมประสบการณ์เฉียดตายของตัวเองได้ ในความทรงจำนั้น ภาพแม่น้ำแห่งบ้านเกิดผุดพรายขึ้นมา คล้ายภาพขาวดำหม่นมัวที่พาผมเดินทางกลับไปสู่ดินแดนแห่งความหวาดกลัวอันกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยเรือคือความหวั่นไหว...ใช่แล้ว ตอนหัดว่ายน้ำครั้งแรก ผมเกือบจมน้ำตาย เหตุการณ์ครั้งนั้นสอนให้รู้ว่า ความรู้สึกของคนใกล้ขาดใจตายเป็นอย่างไร นี่คือภาพความทรงจำในอดีต แต่ภาพความทรงจำครั้งใหม่ได้เกิดขึ้น หลังจากผมเดินทางมาถึงเมืองริมฝั่งน้ำเหนือสุดในล้านนาเรื่องมีอยู่ว่า...…
สุมาตร ภูลายยาว
“เอยาวดี” เป็นชื่อท้องถิ่นของแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของพม่า แต่คนภายนอกทั่วไปรู้จักชื่อของแม่น้ำสายนี้ในนาม “อิรวดี” แม่น้ำเอยาวดีเป็นแม่น้ำใหญ่สายหลักของประเทศสหภาพพม่าต้นน้ำ และปลายทางของแม่น้ำอยู่ในประเทศพม่า ไม่แตกต่างกับแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำเอยาวดีไหลผ่านกลางประเทศจากเหนือจรดใต้ แบ่งประเทศพม่าออกเป็นสองส่วน แม่น้ำในตอนบนเกิดจากการละลายของหิมะ นอกจากแม่น้ำเอยาวดีจะเกิดจากการละลายของหิมะแล้ว ยังมีแม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำสายนี้จนกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ แม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำเอยาวดีคือ แม่น้ำมาลี และแม่น้ำมายที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศ รวมระยะทางจากต้นน้ำถึงปากน้ำ ๒,…
สุมาตร ภูลายยาว
อำเภอเชียงของเป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ผู้คนที่นี่ทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เรียนรู้และสืบทอดการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำของนับตั้งแต่การหาปลา เก็บสาหร่ายน้ำของหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไก” ปลูกพืชผักริมของ หรือแม้แต่การสัญจรไปมาของผู้คนแถบนี้ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของลำน้ำสายนี้ต่างก็อาศัยแม่น้ำเป็นสำคัญ ชีวิตของผู้คนที่นี่จึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับแม่น้ำของตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อลมหนาวเริ่มมาเยือนซึ่งเป็นฤดูกาลน้ำลด จิกุ่ง (แมลงชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือนจิ้งหรีดแต่ตัวสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่กว่า) เริ่มลงดอน คือ…