Skip to main content

อำเภอเชียงของเป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ผู้คนที่นี่ทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เรียนรู้และสืบทอดการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำของนับตั้งแต่การหาปลา เก็บสาหร่ายน้ำของหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไก” ปลูกพืชผักริมของ หรือแม้แต่การสัญจรไปมาของผู้คนแถบนี้ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของลำน้ำสายนี้ต่างก็อาศัยแม่น้ำเป็นสำคัญ ชีวิตของผู้คนที่นี่จึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับแม่น้ำของตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน

เมื่อลมหนาวเริ่มมาเยือนซึ่งเป็นฤดูกาลน้ำลด จิกุ่ง (แมลงชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือนจิ้งหรีดแต่ตัวสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่กว่า) เริ่มลงดอน คือ เริ่มอพยพลงไปยังดอนทรายที่โผล่พ้นน้ำตามริมน้ำของเพื่อขุดรูหลบลมหนาวและวางไข่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปถึงเดือนเมษายน นิมิตหมายแห่งการทำการเกษตรริมฝั่งของของคนทำการเกษตรริมของก็เริ่มขึ้น

ในระหว่างที่น้ำเริ่มลดลงเรื่อย ๆ นั้น ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำทั้งสองฝั่งก็เริ่มลงมือจับจองพื้นที่ในการปลูกพืชผักตามดอนทรายที่โผล่พ้นน้ำและริมตลิ่ง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงเหมาะแก่การทำการเกษตร เพราะเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมตลอดฤดูฝนแล้วมีการสะสมของตะกอนต่าง ๆ เช่น ซากพืช ซากสัตว์ เมื่อน้ำลด พื้นดินที่โผล่พ้นน้ำซึ่งเป็นดินร่วนปนทรายมีความร่วนซุย และอุดมไปด้วยปุ๋ยธรรมชาติ เหมาะแก่การเพาะปลูกโดยเฉพาะการพืชผักสวนครัวทำให้พืชผักริมแม่น้ำของงอกงามและโตเร็ว โดยที่ไม่ต้องใช้สารเคมีในการเพาะปลูกและดูแลรักษา

การใช้ประโยชน์จากที่ดินริมของของชุมชนที่อยู่ริมน้ำ จะใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่มีการผูกขาด การยึดครองเป็นของตัวเองด้วยระบบเอกสารสิทธิ์ เพียงแต่ว่าการจะใช้ประโยชน์จากที่ดินริมน้ำที่โผล่พ้นน้ำนั้นต้องทำการบุกเบิกเอง และถ้าใครบุกเบิกที่บริเวณใด ผู้นั้นก็มีสิทธิที่ใช้ประโยชน์ และสามารถสืบทอดไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานได้ ไม่มีการซื้อขายกัน หากใครไม่มีที่ดินที่บรรพบุรุษบุกเบิกไว้ให้ก็สามารถขอแบ่งพื้นที่จากคนอื่นได้ หรือถ้าหากครอบครัวใดไม่เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่บุกเบิกซึ่งได้รับการสืบทอดกันมา คนอื่นก็สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ เพียงแต่บอกกล่าวเป็นการขออนุญาตจากคนที่เขาเคยใช้ประโยชน์มาก่อนหน้านั้น ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นการให้เกียรติและเคารพต่อกัน

คนในชุมชนริมฝั่งของจะรับรู้กันโดยปริยายว่าที่ดินริมตลิ่งบริเวณไหนเป็นของครอบครัวใด โดยไม่ต้องมีเส้นแบ่งหรือเอกสารสิทธิ์ใด ๆ คงไม่แปลกนักถ้าเราจะเรียกพื้นที่เหล่านี้ว่า "พื้นที่หน้าหมู่"

พื้นที่หนึ่งที่คนปลูกผักริมน้ำของได้ใช้ประโยชน์ คือ พื้นที่สันดอนทรายกลางแม่น้ำของ การทำเกษตรบนดอนทรายนี้ผู้ที่ทำต้องมีการแบ่งพื้นที่ในการทำให้แก่กันและกัน เมื่อถึงเวลาน้ำเริ่มลดลงคือในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ดอนทรายจะโผล่พ้นน้ำชาวบ้านก็จะชักชวนกันไปแบ่งที่ดิน ใครที่ได้มากและมาก่อนก็จะแบ่งพื้นที่ๆ ตัวเองได้ให้กับญาติๆ ของตัวเอง คนที่ต้องการผักจะไดกันทุกคน แต่สำหรับคนที่ไม่ได้แต่มีความต้องการที่จะทำการเพาะปลูกเมื่อน้ำลดลงมากดอนทรายโผล่ขึ้นมาอีกก็จะมีการไปจับจองในภายหลัง

“การแบ่งพื้นที่ในการเพาะปลูกก็ไม่มีอะไรมาก ส่วนมากการแบ่งจะใช้การขีดเส้นลงไปบนดินหรือใช้ไม้ปักเป็นหมุดหมายเท่านั้นเอง” แม่อุ้ยแสง ธรรมวงค์

ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านหาดบ้าย ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทลื้อมีวิธีการจัดสรรที่ดินบนดอนทรายไม่แตกต่างไปจากหมู่บ้านอื่น โดยที่ยังคงยึดหลักว่าพื้นที่เหล่านี้เป็น “พื้นที่หน้าหมู่” ในการแบ่งพื้นที่นั้น ชาวบ้านมีวัฒนธรรมการแบ่งปันที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ร่วมกันของคนในชุมชน ชาวบ้านที่นี่ใช้วิธีการแบ่งพื้นที่ทำการเกษตรบนดอนทรายทุกปี โดยเมื่อน้ำลด คนที่ต้องการทำการเพาะปลูกก็มาขีดเส้นแบ่งสรรที่ดินกัน ในแต่ละปีใครที่จะทำก็จะมาร่วมกันแบ่งสรรและแผ้วถาง ไม่มีการแบ่งสรรไว้ตายตัว เมื่อถึงฤดูน้ำลดการขีดเส้นแบ่งที่ดินก็จะทำกันใหม่ทุกปี

ผลผลิตที่ได้จากการเพาะปลูกบนที่ดินริมของส่วนมากเป็นพืชผักสวนครัว เช่น ถั่วลิสงผักกาด คะน้า สลัด คื่นช่าย ผักบุ้ง มะเขือ ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่

บริเวณเกาะแสนตอที่บ้านหาดบ้าย ชาวบ้านที่นี่นิยมปลูกถั่วลิสงและถั่วแขก ที่นิยมปลูกถั่วลิสง เพราะที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นหาดทรายกว้างขวางเหมาะสำหรับการปลูกถั่วลิสง และถั่วลิสงยังเป็นพืชที่ดูแลค่อนข้างง่าย ไม่ต้องใช้สารเคมีในการดูแลรักษา ทำให้ต้นทุนการปลูกถั่วลิสงไม่สูงนัก ผลตอบแทนที่ได้คุ้มค่ามากกว่าการปลูกอย่างอื่น ส่วนมากคนที่ปลูกถั่วลิสงบริเวณเกาะแสนตอนี้จะเป็นคนเฒ่าคนแก่ และเวลาขายผลผลิตแล้วเงินที่ได้คนแก่ก็จะเก็บเอาไว้ใช้เอง ซึ่งถือว่า หาดทรายบริเวณเกาะแสนตอที่โผล่พ้นน้ำหลังน้ำลดเป็นแหล่งสร้างรายได้อีกแห่งหนึ่งสำหรับคนแก่บ้านหาดบ้าย

แม่อุ้ยแสง ธรรมวงค์ ชาวบ้านหาดบ้ายกล่าวว่า “ส่วนมากจะปลูกถั่วดินบนดอน ปลูกถั่วก็ปลูกเอาไว้กินบ้าง ขายไปบ้าง ขายก็ไม่ได้เงินมากหรอกก็พอได้ใช้ซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ที่ปลูกถั่วเพราะมันรักษาง่ายไม่ต้องใส่ยาปลูกไว้ก็รอเวลาเก็บอย่างเดียวเลย”

ระหว่างที่ปลูกถั่วดูแลรักษาถอนหญ้า คนปลูกผักก็จะหาปลาไปด้วย แต่เครื่องมือหาปลาที่ใช้ในการหาปลานั้นเป็นชนิดที่หาอยู่ริมฝั่งน้ำและไม่หนักมาก เช่น ตกจ๋ำ (ยกยอ) ช้อนกุ้ง ปลาสร้อย ปลาตัวเล็ก จากร่องน้ำขนาดเล็กที่ไหลเซาะตามดอนทราย ห่างจากฝั่งไม่มากตรงน้ำตื้น หรืออยู่ริมตลิ่ง ช่วงหลังออกพรรษาเป็นต้นไป เป็นช่วงที่ปลาเล็กว่ายขึ้นมาตามลำแม่น้ำของเป็นช่วงน้ำลด ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและคนแก่จะใช้เครื่องมือหาปลาเหล่านี้ ชาวบ้านเล่าว่า “เมื่อ ๑๐ ปีก่อนด้วยวิธีการนี้สามารถหาปลาได้ประมาณ ๑๐-๒๐ กิโลกรัมในแต่ละวัน”

นอกจากบริเวณบ้านหาดบ้ายแล้วที่บ้านเมืองกาญจน์ ก็ยังมีคนปลูกพืชบนดอนทรายริมฝั่งของเช่นกัน แต่พืชที่นิยมปลูกจะเป็นพืชจำพวกกะหล่ำปลี ผักกาด พืชผักสวนครัว โดยส่วนใหญ่เจาะจงปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งในแปลงเดียวกันเป็นบริเวณกว้างมากกว่าการปลูกแบบผสมผสาน โดยเฉพาะกะหล่ำปลีที่ให้ผลผลิตดีและเป็นที่ต้องการของตลาดจึงปลูกกันเป็นบริเวณกว้าง บางครัวเรือนปลูกเฉพาะกะหล่ำปลีเพียงอย่างเดียว

ผลผลิตที่ได้จากสวนผักริมน้ำในแถบตำบลริมของและตำบลเวียง อำเภอเชียงของส่วนหนึ่งจะถูกนำไปขายยังตลาดเช้าของเทศบาลเชียงของ และอีกส่วนหนึ่งก็จะนำมาบริโภคในครัวเรือน ซึ่งคนปลูกผักต้องตื่นตั้งแต่ตีหนึ่งนำผักออกไปวางขายที่ต้องนำผักไปขายแต่เช้าขนาดนั้น เป็นเพราะแม่ค้ารายย่อยที่มารับซื้อต้องนำผักไปขายต่อยังชุมชนต่างๆ อีกทอดหนึ่ง ซึ่งต้องให้ทันขายในตอนเช้า นอกจากแม่ค้ารายย่อยที่นำไปขายต่อแล้ว ยังมีผู้ที่ซื้อไปทำอาหารขายอีกทอดหนึ่งด้วยเช่น ร้านอาหาร โรงแรม เป็นต้น ผักบางส่วนคนปลูกผักจะนำไปขายยังตลาดเล็กๆ ในชุมชน เช่น ตลาดเย็นบ้านหาดไคร้ เป็นต้น คนปลูกผักบางส่วนได้ขายผักให้กับแม่ค้าในชุมชนที่รับซื้อตามสวนผัก ไม่ได้นำไปขายเองที่ตลาด ซึ่งแม่ค้าอาจรับซื้อผักจากคนปลูกผักหลายๆ คนรวมกันแล้วนำไปขายต่อ

ในตลาดสดยามเช้ามืดของเทศบาลเชียงของจึงคราคร่ำไปด้วยพ่อค้าแม่ขายถือได้ว่า ตลาดแห่งนี้เป็นตลาดกลางสำหรับพืชผักก็ว่าได้ เพราะสินค้าที่โดดเด่นและมีปริมาณมากที่สุดในตลาดในช่วงหน้าหนาวจะเป็นสินค้าประเภทพืชผักต่างๆ โดยเฉพาะผักที่ปลูกริมของและริมแม่น้ำสาขาของแม่น้ำของ ซึ่งในปัจจุบันยังเป็นที่ต้องการของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่รับซื้อเป็นอย่างมากถึงขนาดต้องมีการจองไว้ก่อนล่วงหน้า เนื่องจากเป็นผักที่งาม มีความสดใหม่และปลอดภัยจากสารเคมีด้วยจึงเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าผักจากที่อื่นๆ

แม่ไหว บุญหนักชาวบ้านหาดไคร้กล่าวว่า “ส่วนมากผักที่ปลูกก็เอาไปขายเองที่ตลาดเชียงของ แต่บางทีก็มีคนมาซื้อถึงสวน บางวันก็ขายแทบไม่ทันเพราะมีคนซื้อมาก ไม่รู้เหมือนกันว่าผักที่ตัวเองปลูกจะเป็นที่ต้องการของคนมากมาย คงเป็นเพราะผักที่ปลูกไม่ใส่ยาคนจึงมาซื้อไปกินกันมาก”

เศรษฐกิจของการทำเกษตรริมของ
การปลูกผักริมของจึงถือว่าสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับคนชุมชนริมของได้เป็นอย่างดี รายได้ต่อวันจะอยู่ที่ประมาณ ๒๐๐ บาท หากวันไหนมีผักมากก็ขายได้ ๕๐๐ ถึง ๑,๐๐๐ บาท ส่วนแม่ค้าคนกลางที่รับซื้อผักจากคนปลูกมาขายก็ได้กำไรมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ดังเช่น แม่อุ้ยเฮือนแก้ว อายุ ๗๐ ปี ชาวบ้านวัดหลวง แม่ใหญ่จะรับซื้อถั่วลิสงและมันมาต้มขาย บวกกับพืชผลที่แม่อุ้ยปลูกเอง เช่น กล้วยที่นำมาขาย ก็สร้างรายได้ประจำให้กับแม่อุ้ยเฮือนแก้ว คนแก่ซึ่งอยู่กันสองคนกับพ่ออุ้ยไม่สามารถไปประกอบอาชีพอื่นเลี้ยงตนได้แล้วจึงอาศัยการซื้อผักและปลูกผักขายเลี้ยงชีพ

การขายถั่วลิสงจะมีด้วยกัน ๒ แบบ คือ แบบที่พ่อค้าคนกลางมารับซื้อหรือมาสั่งไว้ก่อนล่วงหน้าเมื่อถึงช่วงที่เก็บถั่ว ราคาขายจะตกอยู่ที่ถังละ ๗๐ ถึง ๘๐ บาท (ราคาขายในปี ๔๖) โดยราคาขายนี้พ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนด

พ่อพรมมา ศักดิ์สิทธ์ชาวบ้านหาดไคร้เล่าให้ฟังว่า “ผักที่ปลูกนี้ก็ขายได้หลายบาทอยู่มันดีตรงที่เราไม่ต้องเสียค่าเช่าที่ปลูกนี้แหละจึงพอลดค่าใช้จ่ายลงได้บ้าง แต่ถ้าเสียค่าเช่าที่คงไม่มีกำไร แต่ไม่รู้เหมือนกันว่า ๓-๔ ปีข้างหน้าจะได้ปลูกหรือเปล่า เพราะเขาจะเอาที่ริมของไปทำทางเดินหมดแล้ว”

แบบที่ ๒ คือคนปลูกเก็บถั่วลิสงเอาไปขายเอง บางคนอาจจะแกะเปลือกถั่วออกแล้วตากถั่วจนแห้งค่อยเอาไปขายก็มี การปลูกถั่วลิสงบนดอนทรายในแต่ละปีจึงทำรายได้ให้กับคนปลูกได้ไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาทุนที่ต้องซื้อเชื้อถัวมาปลูกแล้วก็ถือว่าคุ้มค่า แต่สำหรับคนที่มีเชื้อถั่วอยู่แล้วบางคนก็ลงทุนไม่ถึง ๑,๐๐๐ บาทก็มี รายได้ขนาดนี้ถือว่าคุ้มค่าแล้วสำหรับคนที่รู้จักการพึ่งพาแม่น้ำแบบไม่เบียดเบียนแม่น้ำ

“ในปี ๒๕๔๖ เป็นต้นมาที่ดินริมน้ำของเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ เพราะคนก็อยากปลูกมากขึ้นทั้งยังมีการแปลงถนนให้คนเดินบนตลิ่งอีกด้วยที่ดินจึงน้อยลง ปีที่ผ่านมาก็ลงทุนในการปลูกผักไปหลายพันบาท ไม่ได้คิดว่าจะได้กำไรเท่าไหร่ แต่คิดเพียงว่าคงได้ทุนคืนแน่นอน” ป้าบัวจันทร์ จำปาใจชาวบ้านหาดไคร้เล่าให้ฟัง

การเกษตรริมแม่น้ำของถือว่าเป็นความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงในชีวิตให้กับหลายครอบครัว ไม่ใช่เฉพาะแต่คนที่ปลูกผักเท่านั้น คนอื่นๆ ในชุมชน ทั้งคนขาย และคนซื้อผักก็ได้รับประโยชน์จากการทำการเกษตรแบบนี้ด้วย ซึ่งหากพิจารณาอย่างถ้วนถี่ก็จะพบว่ามีคนในแขนงอาชีพอื่นๆ ที่ได้ประโยชน์ด้วยไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมเช่นกัน

การทำเกษตรริมแม่น้ำของเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านในอำเภอเชียงของมาช้านานแล้ว แต่ ในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมาสวนผักริมน้ำของก็เริ่มหายไป เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำของเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมานั้นชาวบ้านรู้ดีว่าในฤดูแล้งโดยธรรมชาติของแม่น้ำของ น้ำจะลดลงและรักษาระดับไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงฤดูฝนในปีถัดไป

เมื่อน้ำในแม่น้ำของขึ้น-ลงผิดธรรมชาติ กระแสน้ำและทิศทางน้ำก็เปลี่ยนไป ภายหลังจากมีการระเบิดเกาะแก่ง และสร้างเขื่อนในประเทศจีนก็ส่งผลให้ระบบนิเวศน์ต่างๆ ของแม่น้ำของเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทรัพยากรในแม่น้ำของที่ชาวบ้านได้เคยพึ่งพาก็ค่อยๆ ถูกทำลายหายไป เช่น ไก ปลา พืชผักธรรมชาติ และที่ดินริมตลิ่ง

ในขณะที่ชาวบ้านปลูกพืชผักไว้ตามริมตลิ่ง บางแห่งตลิ่งก็พังลง เพราะตลิ่งริมแม่น้ำของนั้นเป็นดินร่วนปนทราย เมื่อตลิ่งพังพืชผักที่ปลูกไว้ก็ร่วงลงน้ำตามไปด้วย หรือบางพื้นที่ก็เกิดหาดทรายงอกขึ้นมาใหม่แทนของเก่า ซึ่งโดยเงื่อนไขทางกฎหมายในอดีตแล้ว เกาะแก่งที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้นคนไทยไม่สามารถที่จะมีสิทธิในการลงไปทำอะไรในพื้นที่นั้นได้เลย ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้ปัจจุบันนี้วิถีชีวิตและการทำมาหากินของชาวบ้านบริเวณนี้เป็นไปด้วยความอยากลำบากเป็นอย่างมาก

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การปลูกพืชผักริมของลดลงไปมากคือ มีการพัฒนาพื้นที่ริมตลิ่ง โดยเฉพาะบริเวณบ้านหาดไคร้ มีการเทคอนกรีตทับตลิ่งเพื่อสร้างถนน และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ รวมทั้งใน ๒-๓ ปีนี้กระแสน้ำของเปลี่ยนแปลง ขึ้น-ลงไม่เป็นธรรมชาติ ทำให้ตลิ่งบางแห่งทรุดตัวลงมา โครงการพัฒนาดังกล่าวยังคงดำเนินการต่อไป ไม่มีใครจะคาดเดาได้ว่า ในอนาคตจะเหลือพื้นที่สำหรับการทำเกษตรริมของอันเป็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของชุมชนริมฝั่งของอีกหรือเปล่า

การปลูกพืชผักริมของในบริเวณอำเภอเชียงของปัจจุบันนี้แม้ว่าจะเหลือน้อยลงก็ตามที แต่หลายครอบครัวที่แม้ว่าที่ดินที่ตนเคยใช้ประโยชน์ได้ถูกโครงการพัฒนาเข้ามาแทนที่ ก็ยังพยายามย้ายไปบุกเบิกที่ดินริมของในที่ใหม่เพื่อเพาะปลูกสำหรับยังชีพ หลายครอบครัวย้ายมาหลายที่แล้ว เช่น ครอบครัวของ แม่อุไร ชาวบ้านหาดไคร้ ได้ย้ายที่ปลูกผักจากบริเวณหน้าสถานีตำรวจน้ำมาปลูกผักอยู่ในบริเวณถัดมาอีก และต่อไปก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องย้ายไปอีกกี่ครั้ง และที่สำคัญจะมีที่เหลือให้ย้ายไปได้อีกหรือไม่ก็ไม่รู้ หากไม่มีที่ดินตรงนี้รายได้ของหลายครอบครัวย่อมต้องขาดหายไปด้วย และแน่นอนบางคนก็ต้องดิ้นรนแสวงหาอาชีพใหม่เพื่อดิ้นรนแสวงหาช่องทางของการทำมาหากิน

“ช่องทางของการทำมาหากินอย่างอื่นหากใครมีเงินทุนก็สามารถที่จะทำได้ง่าย แต่คนที่เคยหาอยู่หากินอย่างนี้มานานให้พวกเขาเปลี่ยนอาชีพไปลงทุนทำอย่างอื่นก็คงเป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะทุนมันไม่มี” แม่อุไรกล่าวเพิ่มเติม

หากธรรมชาติและระบบนิเวศน์ของแม่น้ำของไม่ได้ถูกทำลายอย่างรุนแรงจากโครงการพัฒนาต่างๆ เช่นนี้แล้วคนในชุมชนริมฝั่งน้ำก็คงได้มีที่ดินในการปลูกพืชผักของตนเองต่อไป แต่ในความเป็นจริงแล้วคนที่ทำการเกษตรริมฝั่งแม่น้ำของก็ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่การพัฒนาเหล่านั้นทำอย่างไรจะทำให้เกิดประโยชน์กับผู้คนทุกคนได้มากที่สุดและการพัฒนานั้นต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย ไม่ใช่ว่าปีนี้ทำเสร็จแล้วปีหน้างบมาใหม่ก็รื้อทำกันใหม่อย่างที่เป็นอยู่

ผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้กับแม่น้ำย่อมรู้จักการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเป็นอย่างดี การทำเกษตรริมของก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน แม้จะต้องเฝ้ารอให้น้ำลดลงเพื่อว่า หาดทรายจะได้โผล่พ้นน้ำ แต่การเฝ้ารอของคนริมน้ำก็เป็นการเฝ้ารอที่ไม่สูญเปล่า ในอนาคตข้างหน้าใครเล่าจะตอบได้ว่า การเฝ้ารอเพื่อทำการเกษตรของผู้คนริมฝั่งน้ำของจะคงอยู่ หรือว่าเป็นเพียงการเฝ้ารอที่สูญเปล่า

ขณะที่กระแสการพัฒนาถาโถมเข้ามาสู่แม่น้ำของอย่างรวดเร็ว และมันได้กลายมาเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของผู้คนที่ทำการเกษตรริมแม่น้ำของไปเสียแล้ว บางทีในอนาคตคนริมน้ำของอาจไม่รู้จักการใช้ประโยชน์ หรืออาจไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาที่ดินริมตลิ่งของแม่น้ำของอีกก็เป็นได้ เมื่อเวลานั้นมาถึงต่อให้จิกุ่งจะลงดอนมากมายขนานไหนมันก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่า นิมิตหมายแห่งการทำการเกษตรริมของเดินทางมาถึงแล้ว

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
    ...เสียงปืนดังลั่นเปรี้ยง-คล้ายเสียงชะนีหวน
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง
สุมาตร ภูลายยาว
‘ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้ง’ คนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้ดีตีนแดง-ขอ โทษ เท้าแดง ตะแคงเท้าเดิน เวลาเหยียบปุ่มปมของพรมผืนนุ่มนิ่มราวกับปุยเมฆ นั่นแหละเท้าของผู้ดี และโลกของผู้ดีมีแต่น้ำครำ –น้ำคำ แห่งการหลอกลวง ทั้งผู้ดีจริง และผู้ดีกลวง ขณะเดินย่ำไปบนเส้นทางสู่ร้านอาหารเลิศหรู เมนูไข่คาเวียกับบรั่นดีแก้วทรงสูงดัดจริตวางรอ ผู้ดีน้ำครำละเลียดเมรัยรสคมผ่านลำคอ และละเลียดไข่คาเวียที่มีอยู่นับจำนวนได้บนจานราคาแพงกว่าการขึ้นห้องกับปอง ของโฉน ไพรำ ผู้ดี น้ำครำมองออกไปนอกหน้าต่างสูงลิบของห้องอาหารโรงแรมเสียดฟ้า เบื้องล่างแม่น้ำไหลเอื่อยเหนื่อยปานจะขาดใจตาย ผู้ดีน้ำครำละเลียดไข่คาเวียราคาแพง เพื่อเลิศหรูมีหน้ามีตา…
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมหนาวพัดมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยสายลงมา ว่ากันว่านี่คือฝนหลงฤดู! กาแฟแก้วของวันเป็นคาปูชิโน่ร้อนสองแก้ว แต่ไม่ใช่ของผมเป็นของลูกค้าต่างชาติ รสชาติของกาแฟเป็นอย่างไรในเช้านี้ ผมไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้ชิม หลังสตรีมนมสดจนร้อนได้ที่ กลิ่นกาแฟสดหอมกรุ่นโชยออกมา และพร้อมแล้วสำหรับการดื่ม-กิน
สุมาตร ภูลายยาว
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด
สุมาตร ภูลายยาว
เวลาผ่านไปเร็ว ยามที่เราโตขึ้น เราเชื่อเช่นนั้น เพราะเราโหยหาเวลาของวัยเยาว์ เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นลำดับมีหลายความรู้สึกของวัยเยาว์ที่หล่นหายไปอย่างไม่อาจเรียกคืนกลับมา ราวกับสายน้ำที่ไหลไกลออกไปทุกทีๆ มิอาจหวนกลับมาเป็นสายน้ำได้เช่นเดิม แต่กลายเป็นสายฝนพรำลงมาแทน หากพูดถึงอดีตแล้ว บางด้านที่เลวร้าย เราอยากผ่านเลย แต่กลับจำได้ฝังใจ...
สุมาตร ภูลายยาว
บุนทะนอง ซมไซผล แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว    ๑.ผลน้ำเต้าบุ่ง และวรรณคดีพื้นเมือง ถ้าจะให้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ความเชื่อมโยงด้านวรรณคดีของชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดถึงคือ น้ำเต้าบุ่ง
สุมาตร ภูลายยาว
ดอกเกดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ลำต้นมีลักษณะเหมือนต้นปาล์ม เวลาออกดอก ดอกจะส่งกลิ่นหอม คนเฒ่าคนแก่จะนิยมนำไปบูชาพระและนำมาทัดหู ผมไม่รู้เหมือนกันว่าดอกไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยหรือมีเฉพาะที่ภาคอีสานและประเทศลาว
สุมาตร ภูลายยาว
จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง) เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’