Skip to main content

อำเภอเชียงของเป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ผู้คนที่นี่ทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เรียนรู้และสืบทอดการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำของนับตั้งแต่การหาปลา เก็บสาหร่ายน้ำของหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไก” ปลูกพืชผักริมของ หรือแม้แต่การสัญจรไปมาของผู้คนแถบนี้ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของลำน้ำสายนี้ต่างก็อาศัยแม่น้ำเป็นสำคัญ ชีวิตของผู้คนที่นี่จึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับแม่น้ำของตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน

เมื่อลมหนาวเริ่มมาเยือนซึ่งเป็นฤดูกาลน้ำลด จิกุ่ง (แมลงชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือนจิ้งหรีดแต่ตัวสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่กว่า) เริ่มลงดอน คือ เริ่มอพยพลงไปยังดอนทรายที่โผล่พ้นน้ำตามริมน้ำของเพื่อขุดรูหลบลมหนาวและวางไข่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปถึงเดือนเมษายน นิมิตหมายแห่งการทำการเกษตรริมฝั่งของของคนทำการเกษตรริมของก็เริ่มขึ้น

ในระหว่างที่น้ำเริ่มลดลงเรื่อย ๆ นั้น ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำทั้งสองฝั่งก็เริ่มลงมือจับจองพื้นที่ในการปลูกพืชผักตามดอนทรายที่โผล่พ้นน้ำและริมตลิ่ง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงเหมาะแก่การทำการเกษตร เพราะเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมตลอดฤดูฝนแล้วมีการสะสมของตะกอนต่าง ๆ เช่น ซากพืช ซากสัตว์ เมื่อน้ำลด พื้นดินที่โผล่พ้นน้ำซึ่งเป็นดินร่วนปนทรายมีความร่วนซุย และอุดมไปด้วยปุ๋ยธรรมชาติ เหมาะแก่การเพาะปลูกโดยเฉพาะการพืชผักสวนครัวทำให้พืชผักริมแม่น้ำของงอกงามและโตเร็ว โดยที่ไม่ต้องใช้สารเคมีในการเพาะปลูกและดูแลรักษา

การใช้ประโยชน์จากที่ดินริมของของชุมชนที่อยู่ริมน้ำ จะใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่มีการผูกขาด การยึดครองเป็นของตัวเองด้วยระบบเอกสารสิทธิ์ เพียงแต่ว่าการจะใช้ประโยชน์จากที่ดินริมน้ำที่โผล่พ้นน้ำนั้นต้องทำการบุกเบิกเอง และถ้าใครบุกเบิกที่บริเวณใด ผู้นั้นก็มีสิทธิที่ใช้ประโยชน์ และสามารถสืบทอดไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานได้ ไม่มีการซื้อขายกัน หากใครไม่มีที่ดินที่บรรพบุรุษบุกเบิกไว้ให้ก็สามารถขอแบ่งพื้นที่จากคนอื่นได้ หรือถ้าหากครอบครัวใดไม่เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่บุกเบิกซึ่งได้รับการสืบทอดกันมา คนอื่นก็สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ เพียงแต่บอกกล่าวเป็นการขออนุญาตจากคนที่เขาเคยใช้ประโยชน์มาก่อนหน้านั้น ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นการให้เกียรติและเคารพต่อกัน

คนในชุมชนริมฝั่งของจะรับรู้กันโดยปริยายว่าที่ดินริมตลิ่งบริเวณไหนเป็นของครอบครัวใด โดยไม่ต้องมีเส้นแบ่งหรือเอกสารสิทธิ์ใด ๆ คงไม่แปลกนักถ้าเราจะเรียกพื้นที่เหล่านี้ว่า "พื้นที่หน้าหมู่"

พื้นที่หนึ่งที่คนปลูกผักริมน้ำของได้ใช้ประโยชน์ คือ พื้นที่สันดอนทรายกลางแม่น้ำของ การทำเกษตรบนดอนทรายนี้ผู้ที่ทำต้องมีการแบ่งพื้นที่ในการทำให้แก่กันและกัน เมื่อถึงเวลาน้ำเริ่มลดลงคือในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ดอนทรายจะโผล่พ้นน้ำชาวบ้านก็จะชักชวนกันไปแบ่งที่ดิน ใครที่ได้มากและมาก่อนก็จะแบ่งพื้นที่ๆ ตัวเองได้ให้กับญาติๆ ของตัวเอง คนที่ต้องการผักจะไดกันทุกคน แต่สำหรับคนที่ไม่ได้แต่มีความต้องการที่จะทำการเพาะปลูกเมื่อน้ำลดลงมากดอนทรายโผล่ขึ้นมาอีกก็จะมีการไปจับจองในภายหลัง

“การแบ่งพื้นที่ในการเพาะปลูกก็ไม่มีอะไรมาก ส่วนมากการแบ่งจะใช้การขีดเส้นลงไปบนดินหรือใช้ไม้ปักเป็นหมุดหมายเท่านั้นเอง” แม่อุ้ยแสง ธรรมวงค์

ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านหาดบ้าย ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทลื้อมีวิธีการจัดสรรที่ดินบนดอนทรายไม่แตกต่างไปจากหมู่บ้านอื่น โดยที่ยังคงยึดหลักว่าพื้นที่เหล่านี้เป็น “พื้นที่หน้าหมู่” ในการแบ่งพื้นที่นั้น ชาวบ้านมีวัฒนธรรมการแบ่งปันที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ร่วมกันของคนในชุมชน ชาวบ้านที่นี่ใช้วิธีการแบ่งพื้นที่ทำการเกษตรบนดอนทรายทุกปี โดยเมื่อน้ำลด คนที่ต้องการทำการเพาะปลูกก็มาขีดเส้นแบ่งสรรที่ดินกัน ในแต่ละปีใครที่จะทำก็จะมาร่วมกันแบ่งสรรและแผ้วถาง ไม่มีการแบ่งสรรไว้ตายตัว เมื่อถึงฤดูน้ำลดการขีดเส้นแบ่งที่ดินก็จะทำกันใหม่ทุกปี

ผลผลิตที่ได้จากการเพาะปลูกบนที่ดินริมของส่วนมากเป็นพืชผักสวนครัว เช่น ถั่วลิสงผักกาด คะน้า สลัด คื่นช่าย ผักบุ้ง มะเขือ ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่

บริเวณเกาะแสนตอที่บ้านหาดบ้าย ชาวบ้านที่นี่นิยมปลูกถั่วลิสงและถั่วแขก ที่นิยมปลูกถั่วลิสง เพราะที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นหาดทรายกว้างขวางเหมาะสำหรับการปลูกถั่วลิสง และถั่วลิสงยังเป็นพืชที่ดูแลค่อนข้างง่าย ไม่ต้องใช้สารเคมีในการดูแลรักษา ทำให้ต้นทุนการปลูกถั่วลิสงไม่สูงนัก ผลตอบแทนที่ได้คุ้มค่ามากกว่าการปลูกอย่างอื่น ส่วนมากคนที่ปลูกถั่วลิสงบริเวณเกาะแสนตอนี้จะเป็นคนเฒ่าคนแก่ และเวลาขายผลผลิตแล้วเงินที่ได้คนแก่ก็จะเก็บเอาไว้ใช้เอง ซึ่งถือว่า หาดทรายบริเวณเกาะแสนตอที่โผล่พ้นน้ำหลังน้ำลดเป็นแหล่งสร้างรายได้อีกแห่งหนึ่งสำหรับคนแก่บ้านหาดบ้าย

แม่อุ้ยแสง ธรรมวงค์ ชาวบ้านหาดบ้ายกล่าวว่า “ส่วนมากจะปลูกถั่วดินบนดอน ปลูกถั่วก็ปลูกเอาไว้กินบ้าง ขายไปบ้าง ขายก็ไม่ได้เงินมากหรอกก็พอได้ใช้ซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ที่ปลูกถั่วเพราะมันรักษาง่ายไม่ต้องใส่ยาปลูกไว้ก็รอเวลาเก็บอย่างเดียวเลย”

ระหว่างที่ปลูกถั่วดูแลรักษาถอนหญ้า คนปลูกผักก็จะหาปลาไปด้วย แต่เครื่องมือหาปลาที่ใช้ในการหาปลานั้นเป็นชนิดที่หาอยู่ริมฝั่งน้ำและไม่หนักมาก เช่น ตกจ๋ำ (ยกยอ) ช้อนกุ้ง ปลาสร้อย ปลาตัวเล็ก จากร่องน้ำขนาดเล็กที่ไหลเซาะตามดอนทราย ห่างจากฝั่งไม่มากตรงน้ำตื้น หรืออยู่ริมตลิ่ง ช่วงหลังออกพรรษาเป็นต้นไป เป็นช่วงที่ปลาเล็กว่ายขึ้นมาตามลำแม่น้ำของเป็นช่วงน้ำลด ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและคนแก่จะใช้เครื่องมือหาปลาเหล่านี้ ชาวบ้านเล่าว่า “เมื่อ ๑๐ ปีก่อนด้วยวิธีการนี้สามารถหาปลาได้ประมาณ ๑๐-๒๐ กิโลกรัมในแต่ละวัน”

นอกจากบริเวณบ้านหาดบ้ายแล้วที่บ้านเมืองกาญจน์ ก็ยังมีคนปลูกพืชบนดอนทรายริมฝั่งของเช่นกัน แต่พืชที่นิยมปลูกจะเป็นพืชจำพวกกะหล่ำปลี ผักกาด พืชผักสวนครัว โดยส่วนใหญ่เจาะจงปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งในแปลงเดียวกันเป็นบริเวณกว้างมากกว่าการปลูกแบบผสมผสาน โดยเฉพาะกะหล่ำปลีที่ให้ผลผลิตดีและเป็นที่ต้องการของตลาดจึงปลูกกันเป็นบริเวณกว้าง บางครัวเรือนปลูกเฉพาะกะหล่ำปลีเพียงอย่างเดียว

ผลผลิตที่ได้จากสวนผักริมน้ำในแถบตำบลริมของและตำบลเวียง อำเภอเชียงของส่วนหนึ่งจะถูกนำไปขายยังตลาดเช้าของเทศบาลเชียงของ และอีกส่วนหนึ่งก็จะนำมาบริโภคในครัวเรือน ซึ่งคนปลูกผักต้องตื่นตั้งแต่ตีหนึ่งนำผักออกไปวางขายที่ต้องนำผักไปขายแต่เช้าขนาดนั้น เป็นเพราะแม่ค้ารายย่อยที่มารับซื้อต้องนำผักไปขายต่อยังชุมชนต่างๆ อีกทอดหนึ่ง ซึ่งต้องให้ทันขายในตอนเช้า นอกจากแม่ค้ารายย่อยที่นำไปขายต่อแล้ว ยังมีผู้ที่ซื้อไปทำอาหารขายอีกทอดหนึ่งด้วยเช่น ร้านอาหาร โรงแรม เป็นต้น ผักบางส่วนคนปลูกผักจะนำไปขายยังตลาดเล็กๆ ในชุมชน เช่น ตลาดเย็นบ้านหาดไคร้ เป็นต้น คนปลูกผักบางส่วนได้ขายผักให้กับแม่ค้าในชุมชนที่รับซื้อตามสวนผัก ไม่ได้นำไปขายเองที่ตลาด ซึ่งแม่ค้าอาจรับซื้อผักจากคนปลูกผักหลายๆ คนรวมกันแล้วนำไปขายต่อ

ในตลาดสดยามเช้ามืดของเทศบาลเชียงของจึงคราคร่ำไปด้วยพ่อค้าแม่ขายถือได้ว่า ตลาดแห่งนี้เป็นตลาดกลางสำหรับพืชผักก็ว่าได้ เพราะสินค้าที่โดดเด่นและมีปริมาณมากที่สุดในตลาดในช่วงหน้าหนาวจะเป็นสินค้าประเภทพืชผักต่างๆ โดยเฉพาะผักที่ปลูกริมของและริมแม่น้ำสาขาของแม่น้ำของ ซึ่งในปัจจุบันยังเป็นที่ต้องการของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่รับซื้อเป็นอย่างมากถึงขนาดต้องมีการจองไว้ก่อนล่วงหน้า เนื่องจากเป็นผักที่งาม มีความสดใหม่และปลอดภัยจากสารเคมีด้วยจึงเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าผักจากที่อื่นๆ

แม่ไหว บุญหนักชาวบ้านหาดไคร้กล่าวว่า “ส่วนมากผักที่ปลูกก็เอาไปขายเองที่ตลาดเชียงของ แต่บางทีก็มีคนมาซื้อถึงสวน บางวันก็ขายแทบไม่ทันเพราะมีคนซื้อมาก ไม่รู้เหมือนกันว่าผักที่ตัวเองปลูกจะเป็นที่ต้องการของคนมากมาย คงเป็นเพราะผักที่ปลูกไม่ใส่ยาคนจึงมาซื้อไปกินกันมาก”

เศรษฐกิจของการทำเกษตรริมของ
การปลูกผักริมของจึงถือว่าสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับคนชุมชนริมของได้เป็นอย่างดี รายได้ต่อวันจะอยู่ที่ประมาณ ๒๐๐ บาท หากวันไหนมีผักมากก็ขายได้ ๕๐๐ ถึง ๑,๐๐๐ บาท ส่วนแม่ค้าคนกลางที่รับซื้อผักจากคนปลูกมาขายก็ได้กำไรมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ดังเช่น แม่อุ้ยเฮือนแก้ว อายุ ๗๐ ปี ชาวบ้านวัดหลวง แม่ใหญ่จะรับซื้อถั่วลิสงและมันมาต้มขาย บวกกับพืชผลที่แม่อุ้ยปลูกเอง เช่น กล้วยที่นำมาขาย ก็สร้างรายได้ประจำให้กับแม่อุ้ยเฮือนแก้ว คนแก่ซึ่งอยู่กันสองคนกับพ่ออุ้ยไม่สามารถไปประกอบอาชีพอื่นเลี้ยงตนได้แล้วจึงอาศัยการซื้อผักและปลูกผักขายเลี้ยงชีพ

การขายถั่วลิสงจะมีด้วยกัน ๒ แบบ คือ แบบที่พ่อค้าคนกลางมารับซื้อหรือมาสั่งไว้ก่อนล่วงหน้าเมื่อถึงช่วงที่เก็บถั่ว ราคาขายจะตกอยู่ที่ถังละ ๗๐ ถึง ๘๐ บาท (ราคาขายในปี ๔๖) โดยราคาขายนี้พ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนด

พ่อพรมมา ศักดิ์สิทธ์ชาวบ้านหาดไคร้เล่าให้ฟังว่า “ผักที่ปลูกนี้ก็ขายได้หลายบาทอยู่มันดีตรงที่เราไม่ต้องเสียค่าเช่าที่ปลูกนี้แหละจึงพอลดค่าใช้จ่ายลงได้บ้าง แต่ถ้าเสียค่าเช่าที่คงไม่มีกำไร แต่ไม่รู้เหมือนกันว่า ๓-๔ ปีข้างหน้าจะได้ปลูกหรือเปล่า เพราะเขาจะเอาที่ริมของไปทำทางเดินหมดแล้ว”

แบบที่ ๒ คือคนปลูกเก็บถั่วลิสงเอาไปขายเอง บางคนอาจจะแกะเปลือกถั่วออกแล้วตากถั่วจนแห้งค่อยเอาไปขายก็มี การปลูกถั่วลิสงบนดอนทรายในแต่ละปีจึงทำรายได้ให้กับคนปลูกได้ไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาทุนที่ต้องซื้อเชื้อถัวมาปลูกแล้วก็ถือว่าคุ้มค่า แต่สำหรับคนที่มีเชื้อถั่วอยู่แล้วบางคนก็ลงทุนไม่ถึง ๑,๐๐๐ บาทก็มี รายได้ขนาดนี้ถือว่าคุ้มค่าแล้วสำหรับคนที่รู้จักการพึ่งพาแม่น้ำแบบไม่เบียดเบียนแม่น้ำ

“ในปี ๒๕๔๖ เป็นต้นมาที่ดินริมน้ำของเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ เพราะคนก็อยากปลูกมากขึ้นทั้งยังมีการแปลงถนนให้คนเดินบนตลิ่งอีกด้วยที่ดินจึงน้อยลง ปีที่ผ่านมาก็ลงทุนในการปลูกผักไปหลายพันบาท ไม่ได้คิดว่าจะได้กำไรเท่าไหร่ แต่คิดเพียงว่าคงได้ทุนคืนแน่นอน” ป้าบัวจันทร์ จำปาใจชาวบ้านหาดไคร้เล่าให้ฟัง

การเกษตรริมแม่น้ำของถือว่าเป็นความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงในชีวิตให้กับหลายครอบครัว ไม่ใช่เฉพาะแต่คนที่ปลูกผักเท่านั้น คนอื่นๆ ในชุมชน ทั้งคนขาย และคนซื้อผักก็ได้รับประโยชน์จากการทำการเกษตรแบบนี้ด้วย ซึ่งหากพิจารณาอย่างถ้วนถี่ก็จะพบว่ามีคนในแขนงอาชีพอื่นๆ ที่ได้ประโยชน์ด้วยไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมเช่นกัน

การทำเกษตรริมแม่น้ำของเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านในอำเภอเชียงของมาช้านานแล้ว แต่ ในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมาสวนผักริมน้ำของก็เริ่มหายไป เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำของเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมานั้นชาวบ้านรู้ดีว่าในฤดูแล้งโดยธรรมชาติของแม่น้ำของ น้ำจะลดลงและรักษาระดับไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงฤดูฝนในปีถัดไป

เมื่อน้ำในแม่น้ำของขึ้น-ลงผิดธรรมชาติ กระแสน้ำและทิศทางน้ำก็เปลี่ยนไป ภายหลังจากมีการระเบิดเกาะแก่ง และสร้างเขื่อนในประเทศจีนก็ส่งผลให้ระบบนิเวศน์ต่างๆ ของแม่น้ำของเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทรัพยากรในแม่น้ำของที่ชาวบ้านได้เคยพึ่งพาก็ค่อยๆ ถูกทำลายหายไป เช่น ไก ปลา พืชผักธรรมชาติ และที่ดินริมตลิ่ง

ในขณะที่ชาวบ้านปลูกพืชผักไว้ตามริมตลิ่ง บางแห่งตลิ่งก็พังลง เพราะตลิ่งริมแม่น้ำของนั้นเป็นดินร่วนปนทราย เมื่อตลิ่งพังพืชผักที่ปลูกไว้ก็ร่วงลงน้ำตามไปด้วย หรือบางพื้นที่ก็เกิดหาดทรายงอกขึ้นมาใหม่แทนของเก่า ซึ่งโดยเงื่อนไขทางกฎหมายในอดีตแล้ว เกาะแก่งที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้นคนไทยไม่สามารถที่จะมีสิทธิในการลงไปทำอะไรในพื้นที่นั้นได้เลย ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้ปัจจุบันนี้วิถีชีวิตและการทำมาหากินของชาวบ้านบริเวณนี้เป็นไปด้วยความอยากลำบากเป็นอย่างมาก

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การปลูกพืชผักริมของลดลงไปมากคือ มีการพัฒนาพื้นที่ริมตลิ่ง โดยเฉพาะบริเวณบ้านหาดไคร้ มีการเทคอนกรีตทับตลิ่งเพื่อสร้างถนน และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ รวมทั้งใน ๒-๓ ปีนี้กระแสน้ำของเปลี่ยนแปลง ขึ้น-ลงไม่เป็นธรรมชาติ ทำให้ตลิ่งบางแห่งทรุดตัวลงมา โครงการพัฒนาดังกล่าวยังคงดำเนินการต่อไป ไม่มีใครจะคาดเดาได้ว่า ในอนาคตจะเหลือพื้นที่สำหรับการทำเกษตรริมของอันเป็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของชุมชนริมฝั่งของอีกหรือเปล่า

การปลูกพืชผักริมของในบริเวณอำเภอเชียงของปัจจุบันนี้แม้ว่าจะเหลือน้อยลงก็ตามที แต่หลายครอบครัวที่แม้ว่าที่ดินที่ตนเคยใช้ประโยชน์ได้ถูกโครงการพัฒนาเข้ามาแทนที่ ก็ยังพยายามย้ายไปบุกเบิกที่ดินริมของในที่ใหม่เพื่อเพาะปลูกสำหรับยังชีพ หลายครอบครัวย้ายมาหลายที่แล้ว เช่น ครอบครัวของ แม่อุไร ชาวบ้านหาดไคร้ ได้ย้ายที่ปลูกผักจากบริเวณหน้าสถานีตำรวจน้ำมาปลูกผักอยู่ในบริเวณถัดมาอีก และต่อไปก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องย้ายไปอีกกี่ครั้ง และที่สำคัญจะมีที่เหลือให้ย้ายไปได้อีกหรือไม่ก็ไม่รู้ หากไม่มีที่ดินตรงนี้รายได้ของหลายครอบครัวย่อมต้องขาดหายไปด้วย และแน่นอนบางคนก็ต้องดิ้นรนแสวงหาอาชีพใหม่เพื่อดิ้นรนแสวงหาช่องทางของการทำมาหากิน

“ช่องทางของการทำมาหากินอย่างอื่นหากใครมีเงินทุนก็สามารถที่จะทำได้ง่าย แต่คนที่เคยหาอยู่หากินอย่างนี้มานานให้พวกเขาเปลี่ยนอาชีพไปลงทุนทำอย่างอื่นก็คงเป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะทุนมันไม่มี” แม่อุไรกล่าวเพิ่มเติม

หากธรรมชาติและระบบนิเวศน์ของแม่น้ำของไม่ได้ถูกทำลายอย่างรุนแรงจากโครงการพัฒนาต่างๆ เช่นนี้แล้วคนในชุมชนริมฝั่งน้ำก็คงได้มีที่ดินในการปลูกพืชผักของตนเองต่อไป แต่ในความเป็นจริงแล้วคนที่ทำการเกษตรริมฝั่งแม่น้ำของก็ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่การพัฒนาเหล่านั้นทำอย่างไรจะทำให้เกิดประโยชน์กับผู้คนทุกคนได้มากที่สุดและการพัฒนานั้นต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย ไม่ใช่ว่าปีนี้ทำเสร็จแล้วปีหน้างบมาใหม่ก็รื้อทำกันใหม่อย่างที่เป็นอยู่

ผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้กับแม่น้ำย่อมรู้จักการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเป็นอย่างดี การทำเกษตรริมของก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน แม้จะต้องเฝ้ารอให้น้ำลดลงเพื่อว่า หาดทรายจะได้โผล่พ้นน้ำ แต่การเฝ้ารอของคนริมน้ำก็เป็นการเฝ้ารอที่ไม่สูญเปล่า ในอนาคตข้างหน้าใครเล่าจะตอบได้ว่า การเฝ้ารอเพื่อทำการเกษตรของผู้คนริมฝั่งน้ำของจะคงอยู่ หรือว่าเป็นเพียงการเฝ้ารอที่สูญเปล่า

ขณะที่กระแสการพัฒนาถาโถมเข้ามาสู่แม่น้ำของอย่างรวดเร็ว และมันได้กลายมาเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของผู้คนที่ทำการเกษตรริมแม่น้ำของไปเสียแล้ว บางทีในอนาคตคนริมน้ำของอาจไม่รู้จักการใช้ประโยชน์ หรืออาจไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาที่ดินริมตลิ่งของแม่น้ำของอีกก็เป็นได้ เมื่อเวลานั้นมาถึงต่อให้จิกุ่งจะลงดอนมากมายขนานไหนมันก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่า นิมิตหมายแห่งการทำการเกษตรริมของเดินทางมาถึงแล้ว

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
วารสารวรรณศิลป์บนแผ่นดินลาว ลมหนาวและความร้อนแล้งโชยผ่านยอดขุนเขาด้านทิศตะวันตกแห่งเมืองหลวงของราชอาณาจักรล้านนามาแผ่วๆ แล้วฤดูกาลแห่งความเหน็บหนาวก็เดินทางมาอีกครั้งพร้อมกับลมสายลมนั้น
สุมาตร ภูลายยาว
สี่พันดอน: บ้านของคนและปลา เมื่อเอ่ยถึงสี่พันดอนเชื่อว่าหลายคนที่เคยไปเยือนคงจินตนาการถึงได้ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยไปเยือนคงงุนงงไม่น้อยว่าหมายถึงอะไร คำว่า ‘สี่พันดอน’ เป็นชื่อเรียกเกาะ ดอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงในเขตเมืองโขง แขวงจำปาสัก ภาคใต้ของประเทศลาว ดินแดนแห่งนี้ได้ถูกเรียกขานว่า สี่พันดอน เพราะเต็มไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ที่มีจำนวนมากมายเรียงรายอยู่ในแม่น้ำโขงที่มีความกว้างกว่า ๑๔ กิโลเมตร เกาะต่างๆ เริ่มขึ้นที่เมืองโขงและยาวลงไปจนถึงชายแดนลาว-กัมพูชาที่บ้านเวินคามกับเมืองสตรึงเตร็ง ในจำนวนเกาะที่มีอยู่มากมาย เกาะใหญ่ที่สุดชื่อ ‘ดอนโขง’ คำว่า ‘ดอน’…
สุมาตร ภูลายยาว
เจ้าม้าศึกสีเทา ๒,๒๐๐ ซีซี ทะยานไปตามทางลูกรังสีแดงเบื้องหลังฝุ่นคลุ้งตลบ หากมีรถวิ่งตามมาคงบอกได้คำเดียวว่า ‘ขอโทษ’ ก่อนจะถึงทางแยกเสียงโทรศัพท์ของผู้ไปถึงก่อนก็บอกให้ตรงมาตามทางอย่าได้เลี้ยวซ้ายเป็นอันขาด เพราะนั่นหมายถึงการหลงทางจะเกิดขึ้น
สุมาตร ภูลายยาว
การเดินทางเที่ยวนี้มีผู้หญิงนำ เช้านี้เป็นอีกวันที่ตื่นเช้ากว่าวันอื่น แต่หากว่าเมื่อเทียบกับชาวบ้านทั่วไปแล้ว ถือว่ายังสาย โดยเฉพาะกับพ่อค้าแม่ค้าการตื่นนอนตอน ๖ โมงเช้านั้นถือว่าสายมากแล้ว เช้านี้กว่าจะเปิดเปลือกตาตื่นช่างหนักหนาสาหัส ราวกับว่าเปือกตาทั้งสองข้างถูกปิดทับไว้ด้วยเทปกาวชั้นดี หลังล้างหน้าแปรงฟันเสร็จ สมองยังคงงุนงง อาจเป็นเพราะช่วงนี้พักผ่อนไม่ค่อยพอ รวมทั้งมีเรื่องหลายเรื่องให้ได้คิด แต่เพราะงานที่ทำจึงต้องบังคับตัวเองให้ลุกจากที่นอน
สุมาตร ภูลายยาว
จะแกคนเลี้ยงวัวผู้ไม่เคยขุ่นมัวในหัวใจ ผมจำได้ว่าพบชายคนนี้ครั้งแรกเมื่อเข้าไปบ้านสองพี่น้อง เขาดูแปลกกว่าคนอื่นในหมู่บ้าน เพราะเขาเป็นผู้ชายคนเดียวในหมู่บ้านที่ไว้ผมยาว เค้าโครงใบหน้าของเขาราวกับถอดแบบออกมาจากหัวหน้าชนเผ่าของอินเดียนแดง
สุมาตร ภูลายยาว
การงานของชีวิตที่ตกค้าง ฝนเทลงมาอีกวันแล้ว...เสียงสังกะสีดังราวกับมีก้อนหินนับล้านร่วงลงมาใส่ เย็นวันนี้มีเรื่องราวให้ขบคิดมากมาย กลับมาจากการประชุมที่เคร่งเครียด อันนับว่าเป็นการงานส่วนหนึ่งของชีวิต เล่นเอาเหนื่อยสายตัวแทบขาด แล้วยังมีงานอะไรที่ยังไม่ได้ทำอีกไหมนี่
สุมาตร ภูลายยาว
บันทึกในค่ำคืนที่เปลี่ยนผ่านกับนิทรรศการที่ไม่ได้จัด สายฝนของเดือนกันยายนโปรยสายลงมาทั้งวัน เราออกเดินทางจากเชียงของมาแต่ตอนเช้าด้วยรถคันเล็ก บนกระบะทางตอนท้ายบรรทุกเอกสารต่างๆ รวมทั้งนิทรรศการมาเต็ม รถต้องจดหลายครั้ง เพื่อห่มผ้ายางกันฝนให้ของบนกระบะรถ เราผ่านมากว่าครึ่งทาง ฝนยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตก ซ้ำร้ายยังตกลงมาหนักกว่าเดิม รถวิ่งทำความเร็วได้ไม่มากนัก ทั้งที่ความเป็นจริงแม้ฝนจะไม่ตก มันก็ไม่เคยวิ่งได้เร็วกว่าที่วิ่งอยู่เท่าใดนัก
สุมาตร ภูลายยาว
เมฆสีดำเหนือฟ้าด้านตะวันออกส่งสายฝนลงมาตั้งแต่เช้าจนล่วงบ่าย แม่น้ำเป็นสีชานมเย็น เศษขยะ ขอนไม้ ท่อนไม้ และต้นไม้ลอยมากับสายน้ำ และไหลไปตามแรงเฉื่อยของกระแสน้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
เช้านี้เหมือนกับทุกเช้าในช่วงนี้พ่อท่อน ยาแก้วเดินทอดน่องในสวนบนดอนทรายริมฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อดูแปลงมะเขือราว ๔ ไร่ ในใจพ่อท่อนเองไม่อยากเก็บมะเขือในตอนนี้แม้ว่าจะถึงช่วงเวลาในการเก็บแล้ว สาเหตุที่ทำให้พ่อท่อนไม่อยากเก็บมะเขือในตอนนี้ เพราะราคามะเขือต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ปีนี้มะเขือหนึ่งหมื่น (๑๒ กิโลกรัม) ขายส่งจากสวนได้เงิน ๑๒ บาท
สุมาตร ภูลายยาว

รถตู้วิ่งไปบนถนนลาดยางมะตอยที่บางช่วงเป็นหลุมเป็นบ่อ ถนนสายนี้เป็นเส้นทางจากจังหวัดกระแจะไปอำเภอสามบอ เพราะถนนไม่ค่อยดีนัก ระยะทาง ๓๕ กิโลเมตรต้องใช้เวลาเกือบ ๑ ชั่วโมงจึงถึงจุดหมาย เมื่อรถตู้ทั้ง ๓ คันจอดสงบนิ่งลงตรงประตูหน้าวัด ผู้โดยสารในรถตู้ก็พากันทยอยลงจากรถ เบื้องล่างของถนนเป็นแม่น้ำสายใหญ่ คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘โตนเลของ-แม่น้ำของ-โขง’ แม้ยังไม่สายมากนัก แต่แสงแดดก็ส่องประกายร้อนแรงเหนือสายน้ำ ฟ้ากว้างเปล่าแปนเป็นสีฟ้าไกลสุดสายตาหยั่งถึง บนสายน้ำเรือหลายลำจอดลอยลำอยู่ ใกล้กับเรือตรงโคนต้นจามจุรีมีเด็ก ๓-๔ คนนั่งอยู่ ถัดจากโคนต้นจามจุรีไปมีเรือลำหนึ่งลอยลำอยู่…
สุมาตร ภูลายยาว
จากพื้นที่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ผู้คนสองฝั่งได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำที่มีความยาว ๔,๙๐๔ กิโลเมตรสายนี้ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ล้าน ลักษณะการใช้ประโยชน์ก็แตกต่างกันออกไปตามแต่สภาพของพื้นที่ ในช่วงที่ไหลผ่านประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดเชียงรายจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี ก็มีผู้คนไม่จำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์ในด้านแตกต่างกันออกไป ผู้ใหญ่ใช้หาปลา และใช้พื้นที่ตามหาดทรายที่โผล่พ้นน้ำ และริมฝั่งทำการเกษตร เด็กๆ ใช้เป็นห้องเรียนสำหรับฝึกหาปลา และว่ายน้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
  ผาชันเป็นหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำโขงอยู่ในเขตอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านแห่งนี้มีเรื่องราวน่าสนใจหลายอย่าง เริ่มแรกเดิมทีก่อนเดินทางไปถึง ผมจินตนาการถึงหมู่บ้านแห่งนี้ในรูปแบบต่างๆ และพอเดินทางไปถึงบ้านผาชันเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ในหน้าฝน ผมก็พบว่า ในฤดูฝนหมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นเกาะขนาดย่อมๆ ชาวบ้านบอกว่า "ในฤดูฝน น้ำจากห้วยจะไหลจนท่วมสะพาน และถนนที่เข้าสู่หมู่บ้าน การเดินทางเข้าหมู่บ้านต้องใช้เรือข้ามลำห้วยแล้วไปต่อรถ" ร่องรอยของคำพูดปรากฏให้เห็นเมื่อผมเดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน รถข้ามสะพานที่น้ำในลำห้วยเริ่มปริ่มอยู่ใต้สะพาน…