สุมาตร ภูลายยาว
ภาพของชายชราวัย ๗๕ ปี กำลังก้มๆ เงยๆ อยู่บริเวณระเบียงกระท่อมแจ่มชัดขึ้นเมื่อเข้าไปใกล้ กุ้งสีชมพูขนาดนิ้วก้อยหลายสิบตัวนอนนิ่งอยู่ในจานเบื้องหน้าของชายชรา ถัดจากจานกุ้งไปเป็นถ้วยน้ำพริกปลาร้าที่กินเหลือจากเมื่อวานรายการอาหารที่กล่าวมาทั้งหมดคืออาหารมื้อเย็นสำหรับชายชรา ลูกแมวสองตัว ตัวหนึ่งสีน้ำตาล ตัวหนึ่งสีขาว หมอบคลอเคลียอยู่ด้านข้าง นานครั้งมันจะเดินมาหยอกล้อเล่นกัน พอหยอกล้อกันจนหนำใจมันก็กลับไปนอนนิ่งอยู่ที่เดิม บนท้องฟ้าอาทิตย์อัสดงลงไปไม่นานนัก ท้องฟ้าที่เคยกระจ่างเป็นสีฟ้าเริ่มกลายเป็นสีดำหลังจากอิ่มหนำสำราญ ชายชราก็จัดแจงเก็บกระติ๊บข้าวไว้บนกล่องโฟมที่ห้อยแขวนลงมาจากด้านบนของกระท่อม ในกล่องโฟมมีทั้งพริก เกลือ หัวหอม กระเทียม เมื่อจัดแจงเก็บของทุกอย่างเสร็จสิ้น ชายชราก็ลุกไปดื่มน้ำ และกลับมานั่งที่เดิม จากนั้นก็ควักยาเส้นจากกระป๋องมาม้วนดูด เนิ่นนานที่ควันบุหรี่ลอยหายไปในความมืด หลังแสงไฟวูบสุดท้ายจากปลายบุหรี่แดงขึ้น ชายชราก็ดีดบุหรี่มวนนั้นทิ้งออกไปในความมืดพูดเรื่องบุหรี่แล้ว ชายชราคิดมาหลายครั้งว่าจะเลิก และก็ลองทำดูแล้ว แต่เอาเข้าจริงแกก็ไม่เคยทำสำเร็จเลยแม้แต่ครั้งเดียว หาปลาว่ายากแล้ว แต่การเลิกบุหรี่ยังยากกว่าเป็นหลายเท่านอกกระท่อมตอนนี้ความมืดโอบคลุมทุกทิศทุกทางไว้ด้วยอ้อมแขนอันมหึมาแห่งรัตติกาล... หลังดาวประจำเมืองปรากฏ แสงไฟจากไส้ตะเกียงก็สว่างวูบขึ้น ความมืดที่รัศมีของแสงไฟส่องถึงจางหายไป แต่ความสว่างของมันก็กินบริเวณไม่กว้างมากนัก หากมีคนหรือวัตถุสิ่งใดผ่านมาคงไม่อาจรับรู้ได้ หากเจ้าสิ่งแปลกปลอมนั้นไม่เข้ามาในรัศมีของแสงไฟลูกแมวทั้งสองตัวเดินวนรอบตะเกียง ๒-๓ รอบ และเดินกลับไปนอนนิ่งอยู่ริมระเบียงกระท่อมด้านนอก สายลมหนาววูบใหญ่พัดมาเย็นเยือก ชายชรานั่งนิ่งเหม่อมองออกไปนอกกระท่อมอย่างไร้จุดหมายปลายทาง...พระจันทร์เสี้ยวข้างแรมห้อยแขวนอยู่มุมหนึ่งของท้องฟ้า ดาวดวงน้อยกระพริบพร่างพรายระยิบระยับ หลังดีดก้นบุหรี่ก้นที่สองทิ้งไป เสียงกระแอมไอก็ดังขึ้น ในห้วงอารมณ์นั้น ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าชายชราคิดเรื่องใดอยู่ในใจลูกแมวทั้งสองตัวที่นอนนิ่งสะดุ้งตื่นขึ้นมา เมื่อชายชราขยับที่นอน เสื่อผืน หมอนใบ และมุ้งสีขาวเก่าซีดจนความขาวของมันมลายหายไป เครื่องนอนทุกอย่างถูกจัดวางในตำแหน่งเดิมเช่นทุกวันที่ผ่านมา หลังผูกหูมุ้งเรียบร้อย แสงไฟจากตะเกียงก็ดับวูบลง อาณาบริเวณรอบกระท่อมจึงเดินทางไปสู่ความมืดแม้ว่าชายชราจะไม่ใช่ผู้ทรงศีล และวิถีทางที่เป็นอยู่ก็ไม่ใช่วิถีทางของผู้ทรงศีล แต่ก่อนจะล้มตัวลงนอน ชายชราก็ไม่ลืมสวดมนต์ไหว้พระ ในความดึกสงัดของค่ำคืนมีเพียงแมลงกลางคืนระงมร้องขับกล่อมรัตติกาล... เนิ่นนานที่ชายชราเดินทางไปสู่การหลับ หลังจากพระจันทร์ข้างแรมเดินทางมาถึงครึ่งขอบฟ้า แกก็ขยับตัวลุกขึ้น และเดินออกมานอกกระท่อม แสงไฟจากไฟฉายสาดส่องไปตามทางเดินเล็กๆ ลงไปสู่ท่าน้ำ ตรงท่าน้ำมีเรือลำหนึ่งจอดสงบนิ่งอยู่ หลังปรับสายตาให้คุ้นชินกับความมืดได้แล้ว ชายชราก็แก้เชือกที่ผูกเรือไว้กับเสาไม้ไผ่ริมฝั่ง ก่อนจะก้าวขึ้นไปนั่งบนเรือ และค่อยๆ พายออกไปจากท่าเสียงไม้พายกระทบกับสายน้ำดังฝ่าความมืดมา หากไม่เพ่งมองให้แจ่มชัดก็ยากจะรู้ได้ว่าในความมืดนั้นมีคนกับเรือ ชายชราบังคับเรือไม่ให้ไกลจากริมฝั่ง โดยเรือมุ่งหน้าล่องตามน้ำลงไป ไม่นานนักก็ถึงจุดหมาย ห่างออกไปจากริมฝั่งประมาณ ๑ เมตร ตรงนั้นมีเสาไม้ไผ่ขนาดย่อมปักอยู่ในน้ำ บริเวณโคนเสามีเชือกผูกกับกิ่งไม้ติดอยู่ เมื่อไปถึงชายชราก็ยกกิ่งไม้ขึ้น จากนั้นก็ใช้สวิงช้อนเข้าด้านใต้ของกิ่งไม้ และใช้มืออีกข้างหนึ่งเขย่ากิ่งไม้อย่างแรง เพื่อให้กุ้งที่เข้าไปอาศัยในกิ่งไม้หล่นลงในสวิง เมื่อแน่ใจว่ากุ้งในกิ่งไม้หล่นลงในสวิงหมดแล้ว แกก็พายเรือไปสู่เป้าหมายใหม่ต่อไปเวลาในการทำงานของชายชราผ่านไปเรื่อยๆ จากนาทีเป็นชั่วโมง เมื่อไปถึงเป้าหมายสุดท้าย เสียงไก่ขันครั้งแรกของค่ำคืนก็ดังข้ามมาจากอีกฟากฝั่งน้ำ...ชายชราเบนหัวเรือให้กลับมาทางเดิมอีกครั้ง เมื่อมาถึงเสาต้นเดิมก็จัดแจงผูกเรือเข้ากับเสาไม้ไผ่ หลังจากผูกเรือเสร็จก็เอากุ้งใส่ลงในกระชังแช่ไว้ในน้ำ หลังภารกิจเสร็จสิ้น ชายชราก็เดินกลับขึ้นมาตามทางเดิม แสงไฟจากไฟฉายส่องสว่างน้อยลงกว่าเดิม เพราะแบ็ตเตอรี่เหลือน้อยเต็มที แม้ว่าแสงสว่างจะมีน้อย แต่หาได้เป็นอุปสรรคไม่ เพราะทุกตารางเมตรบนพื้นที่แห่งนี้ ชายชราย่ำเหยียบมาหลายร้อยหลายพันครั้ง หากเปรียบเทียบระยะทางเดินขึ้น-ลงจากกระท่อมไปท่าน้ำในแต่ละวัน ชายชราคงเดินทางไกลไม่ต่ำกว่า ๗-๘ กิโลเมตรต่อวันเมื่อมาถึงกระท่อม แมวสองตัวก็ส่งเสียงร้องทักออกมาพร้อมกับเดินเข้ามาหา หลังจากนั่งลงบนพื้นกระท่อมเรียบร้อย แสงไฟจากตะเกียงก็สว่างวูบขึ้นอีกครั้ง เช่นเดียวกันกับแสงไฟจากปลายบุหรี่ที่วูบแดงขึ้นเป็นครั้งคราว เมื่อชายชราสูดควันเข้าปอดหลังจากแสงไฟจากตะเกียงดับลง เสียงไก่ขันครั้งที่ ๒ ของค่ำคืนก็ดังฝ่าความมืดข้ามฝั่งน้ำมา สิ้นเสียงไก่ขัน ชายชราก็ล้มตัวลงนอน และเดินทางไปสู่การหลับ ในห้วงแห่งการหลับไม่มีผู้ใดล่วงรู้ได้ว่า ชายชราฝันถึงเรื่องราวใด แต่หากลองสันนิษฐานดูแล้ว สำหรับคนหาปลา ในห้วงเวลาแห่งการหลับไหล คนหาปลาจะฝันถึงสิ่งใด นอกจากปลาตัวโตติดเบ็ด เพราะปลาที่ได้จะเดินทางออกจากแม่น้ำ เพื่อไปแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นกลับมาสู่ผู้เป็นเจ้าของเบ็ดมีคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า คนแก่นอนน้อยและตื่นเช้า คำกล่าวนี้คงเป็นจริง เพราะก่อนฟ้าสาง แม้ว่าจะหนาวเหน็บ ชายชราก็ลุกขึ้นมาก่อไฟนึ่งข้าว หลังจากคดข้าวใส่กระติ๊บเรียบร้อย แสงแรกของวันก็เริ่มโผล่พ้นขอบฟ้า หลังจากจัดการทุกอย่างเสร็จสิ้น ชายชราก็มุ่งหน้าสู่ท่าน้ำ เพื่อเอาเรือออกเก็บกู้เบ็ด กู้มอง-ตาข่ายที่ใส่ไว้ตั้งแต่ตอนเย็นเมื่อวานเมื่อขึ้นไปนั่งบนเรือเรียบร้อย ชายชราก็ติดเครื่องยนต์เรือ หลังเครื่องยนต์ติดเรียบร้อย ชายชราก็บังคับเรือทวนน้ำขึ้นเหนือ สายน้ำแตกกระเซ็นเป็นสายเข้ามาในเรือทุกครั้ง เมื่อชายชราเร่งเครื่องยนต์เรือ การขับเรือในช่วงหน้าแล้งขับยากกว่าในช่วงหน้าน้ำหลาก เพราะช่วงหน้าแล้งแก่งที่จมอยู่ใต้น้ำจะโผล่พ้นน้ำ คนขับเรือต้องคอยหลบแก่งให้ดี ที่สำคัญน้ำตรงใกล้แก่งจะไหลแรง บางแห่งก็ไหลวน ถ้าบังคับเรือไม่ดีแล้วก็มีสิทธิพลิกคว่ำได้ตลอดเวลา หาการทำสมาธิหมายถึงการนิ่งและตั้งใจแน่วแน่ คงไม่แปลกนักถ้าจะกล่าวว่าการขับเรือก็คือการทำสมาธิอย่างหนึ่งสำหรับชายชราการขับเรือก็ไม่ต่างอะไรจากการขับรถ เพราะเรือต้องถูกบังคับให้วิ่งไปตามร่องน้ำที่เคยวิ่ง เช่นกันรถก็ต้องถูกบังคับให้วิ่งไปตามเลนของถนนที่กำหนดไว้ แต่หากว่าออกนอกเส้นทางเมื่อไหร่ก็ยากจะเป็นการคาดเดาได้ว่าเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น ว่ากันว่าคนที่ขับเรือเก่งๆ ในสายน้ำสายนี้ กลางคืนไร้แสงไฟ พวกเขาสามารถพาเรือกลับถึงหมายปลายทางได้โดยปลอดภัย การขับเรือในเวลากลางคืน คนขับเรือจะอาศัยจดจำทิวทัศน์สองฟากริมฝั่งน้ำเป็นเครื่องหมายในการเดินเรือ ช่วงวัยหนุ่ม ชายชราเป็นคนหนึ่งที่ขับเรือในเวลากลางคืนได้ดี แต่เมื่อสังขารเดินทางมาถึงช่วงปลายของการดำรงอยู่ในสภาพความเป็นมนุษย์ การขับเรือในเวลากลางคืนจึงเป็นสิ่งถูกยกเว้นสำหรับชายชราหากย้อนกลับไปเมื่อวานตอนเย็น หลังจากเรือลำสุดท้ายบนสายน้ำเงียบเสียงลงในตอนค่ำ แม่น้ำก็เหมือนจมอยู่กับความเงียบ เช้านี้แม่น้ำจึงถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาจากความเงียบงันอีกครั้ง...หลังบังคับเรือฝ่าลมหนาวมาประมาณ ๑๐ นาที ชายชราก็ข้ามมาอยู่อีกฝั่งหนึ่งของสายน้ำ ตรงที่ชายชราจอดเรือคือพื้นที่วางเบ็ดที่แกเคยวางเป็นประจำ จากจุดนี้มองกลับไปข้างหลังสามารถมองเห็นกระท่อมที่เพิ่งจากมาได้ พระอาทิตย์ยามเช้าค่อยสูงขึ้นเป็นลำดับ โมงยามของวันเริ่มเคลื่อนย้ายไปตามการหมุนรอบดวงอาทิตย์ของโลก หากลองเปรียบเทียบระหว่างชายชรากับพระอาทิตย์ ในตอนนี้ชายชราไม่ใช่พระอาทิตย์กำลังขึ้น แต่กลับกัน ชายชราคือ พระอาทิตย์ที่กำลังคืบคลานสู่ห้วงยามอัสดงแม้ว่าพระอาทิตย์ยามเช้าของฤดูหนาวจะงดงามเพียงใด ชายชราในวัย ๗๕ คงไม่มีเวลามานั่งชื่นชมความงามของยามเช้ามากนัก คงเพราะชายชราเห็นพระอาทิตย์ขึ้นมาหลายปีแล้ว และยามเช้ามีความสำคัญสำหรับชายชรามากกว่าการมานั่งดูความงาม เพราะการขึ้นมาของพระอาทิตย์ เป็นเครื่องมือเร่งรัดในการทำงานสำหรับชายชราให้เร็วขึ้นกว่าเดิม...หลังพระอาทิตย์พ้นยอดเขาทางทิศตะวันออก นกฝูงหนึ่งก็โผบินจากเหนือลงใต้ เช่นกันเมื่อฟ้าเป็นของนก น้ำก็ย่อมเป็นของปลา นกอพยพมักเดินทางกันเป็นฝูง ปลาก็เช่นเดียวกัน การอพยพขึ้น-ลงของปลาก็ไปเป็นฝูง จะมีปลาบางชนิดเท่านั้นที่อพยพเคลื่อนย้ายเพียงลำพัง การอพยพของปลาไม่ได้อพยพเพียงชนิดเดียว แต่มีปลาหลายชนิดอพยพขึ้นเหนือพร้อมๆ กัน นอกจากปลาจะอพยพขึ้นมาพร้อมกันหลายชนิดแล้ว ปลายังอพยพขึ้นมาพร้อมกับสัตว์ชนิดอื่นด้วย มีเรื่องเล่าจากคนหาปลาว่า ปลากับนกบางชนิดเป็นสิ่งคู่กัน โดยเฉพาะปลาบึกกับนกนางนวล ทุกครั้งเมื่อคนหาปลาจะลงมือจับปลาบึก พวกเขาต้องสังเกตว่านกนางนวลบินขึ้นมาหรือยัง หากนกนางนวลบินขึ้นมาจากทางใต้แล้ว วันต่อมาปลาบึกก็จะขึ้นตามมาหรือบางทีนกนางนวลก็บินมาพร้อมกับปลาบึก หากเห็นนกนางนวล คนหาปลาก็จะลงไหลมองจับปลาบึกเรื่องเล่าเกี่ยวกับการอพยพของปลากับนกหาได้มีในเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศลาวตรงสีพันดอนยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับปลาและนกอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องเล่าที่ว่านี้เป็นเรื่องเล่าของนกสีดาและปลาข่า หากวันใดปลาข่าจะขึ้นมา นกสีดาก็จะขึ้นมา คนเฒ่าคนแก่บอกว่า ในภพชาติที่แล้วปลาข่ากับนกสีดาเป็นคู่รักกัน เมื่อสิ้นภพสิ้นชาติด้วยความมั่นคงในความรัก ในภพชาติปัจจุบันพวกมันจึงเป็นสิ่งเกื้อหนุนกัน เพราะเมื่อปลาข่าขึ้นมา ปลาอีกหลายชนิดก็จะว่ายตามมาด้วย เมื่อปลาข่าว่ายขึ้นมาปลาเล็กๆ ชนิดอื่นก็จะว่ายตามขึ้นมาด้วย พอนกนางสีดามองเห็น มันก็จะคอยไปจับกินปลาอยู่ใกล้ๆ ปลาข่า ธรรมชาติต่างเกิดมาเพื่อเกื้อหนุนสรรพสิ่งไม่เลือกว่าจะเป็นสนิดใด แม่แต่กับมนุษย์เอง ธรรมชาติก็ได้เกื้อหนุนมนุษย์เช่นกันแสงแดดของวันเริ่มแรงขึ้นเป็นลำดับ หลังจมอยู่กับการเก็บกู้เบ็ดเนิ่นนาน ชายชราก็หันหัวเรือมุ่งหน้ากลับมาตามทางเดิม ตอนไปกลับตอนกลับมาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตอนไปเรือวิ่งได้ช้า เพราะวิ่งทวนน้ำ แต่ตอนกลับเรือวิ่งได้เร็วขึ้น เพราะล่องลงมาตามน้ำเมื่อกลับมาถึงท่าน้ำ ชายชราก็จัดแจงผูกเรือกับเสาไม้ไผ่เสาเดิม เมื่อผูกเรือเสร็จ แมวสองตัวก็กระโดดขึ้นไปบนหัวเรือ จากนั้นมันก็ค่อยๆ เดินไปหาชายชรา เมื่อไปถึงชายชราก็หยิบกุ้งจากกระป๋องเอาวางให้มันกิน หลังกินหมด แมวทั้งสองตัวก็เดินกลับมาทางหัวเรืออีกครั้งหลังแมวทั้งสองตัวกระโดดลงจากเรือ ชายชราก็เดินมาทางหัวเรือแล้วนั่งลงใช้มือดึงเชือกผูกกระชังให้เข้ามาใกล้เรือ เมื่อกระชังมาถึงเรือ แกก็หยิบเอาปลาจากท้องเรือใส่ลงในกระชังแล้วปล่อยให้กระชังไหลกลับไปที่เดิมในการเอาเรือออกสู่แม่น้ำแต่ละครั้ง ชายชรามีเป้าหมายอะไรมากไปกว่าการหาปลาหรือไม่ คงไม่มีใครล่วงรู้ได้ บางทีในการออกหาปลาแต่ละครั้ง ชายชราอาจต้องการเพิ่มเติมจำนวนปลาให้มากขึ้นกว่าครั้งก่อน หรือบางทีชายชราอาจต้องการสร้างหลักไมล์ในการเดินทางไปบนแม่น้ำให้กับตัวเอง หรือบางทีชายชราอาจไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่านี้ นี่อาจเป็นการทำงานอย่างหนึ่งที่เคยทำอยู่ทุกวันก็เป็นได้ คำถามนี้ ชายชราคงจะเป็นคนคลี่คลายความสงสัยด้วยตัวแกเอง...
สุมาตร ภูลายยาว
“เอยาวดี” เป็นชื่อท้องถิ่นของแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของพม่า แต่คนภายนอกทั่วไปรู้จักชื่อของแม่น้ำสายนี้ในนาม “อิรวดี” แม่น้ำเอยาวดีเป็นแม่น้ำใหญ่สายหลักของประเทศสหภาพพม่าต้นน้ำ และปลายทางของแม่น้ำอยู่ในประเทศพม่า ไม่แตกต่างกับแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำเอยาวดีไหลผ่านกลางประเทศจากเหนือจรดใต้ แบ่งประเทศพม่าออกเป็นสองส่วน แม่น้ำในตอนบนเกิดจากการละลายของหิมะ นอกจากแม่น้ำเอยาวดีจะเกิดจากการละลายของหิมะแล้ว ยังมีแม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำสายนี้จนกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ แม่น้ำสาขาที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำเอยาวดีคือ แม่น้ำมาลี และแม่น้ำมายที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศ รวมระยะทางจากต้นน้ำถึงปากน้ำ ๒,๑๗๐ กิโลเมตร แม่น้ำเอยาวดีจึงเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงคนพม่ามาหลายชั่วอายุคน มีเรื่องเล่าสืบต่อมาหลายชั่วอายุคนเช่นกันว่า คนพม่าต่างค้อมคารวะแม่น้ำเอยาวดีในฐานะผู้ให้กำเนิดแผ่นดิน และยังให้ประโยชน์ในด้านต่างๆ กับชาวพม่าเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิด และชุบเลี้ยงดูลูกของตัวเอง คนพม่าจำนวนไม่น้อยได้อาศัยแม่น้ำสายนี้ในด้านต่างๆ แตกต่างกันออกไป ในอดีตแม่น้ำสายนี้ก็มิได้ยังประโยชน์ให้กับคนพม่าเพียงอย่างเดียว ครั้งหนึ่งเมื่อราว ๑๐๐ กว่าปีก่อน แม่น้ำเอยาวดีได้ถูกแปรสภาพให้เป็นเส้นทางลำเลียงกองกำลังทหารของอังกฤษ ผู้หมายมั่นปั้นมือว่าว่าจะครอบครองแผ่นดืนเหนือริมฝั่งเอยาวดี ภายหลังเมื่อแม่น้ำกลายเป็นชนวนอันนำผู้คนไปสู่สงคราม อังกฤษก็ได้กลายเป็นเจ้าอาณานิคมเหนือริมฝั่งเอยาวดีสมใจ แต่ก็นั้นแหละด้วยความเป็นเผด็จการของผู้นำพม่าหลายยุคหลายสมัย เรื่องเล่าริมฝั่งเอยาวดีเรื่องนี้จึงถูกทำให้เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนในพม่า และยังมีเรื่องเล่าอันไม่น่าฟังอีกหลายเรื่อง ภายหลังการเข้าครอบครองของเจ้าอาณานิคม เรื่องที่ต้องป้องปากกระซิบกันก็คือ ภายหลังการเข้าครอบครองของเจ้าอาณานิคมทัรพยากรจำนวนดิน-แร่ พลอย ป่า-ไม้สัก จำนวนมากถูกเจ้าอาณานิคมนำกลับไปใช้ประโยชน์ หลังสิ้นยุคของเจ้าอาณานิคมเก่า เมื่อพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษผู้เป็นเจ้าอาณานิคมเก่า จากนั้นไม่นาน พม่าก็ได้มีโอกาสต้อนรับเจ้าอาณานิคมใหม่ ผู้ไม่ได้มาพร้อมกับกองกำลังทหารเช่นในอดีต แต่มาพร้อมการร่วมมือทางธุรกิจกับทหารกลุ่มคนที่ได้รับการขนานนามจากนานาประเทศว่า มือเปื้อนเลือดมากที่สุด เจ้าอาณานิคมใหม่มาพร้อมเงินตราอันสามารถทำให้คนไม่กี่กลุ่มในพม่ามีความร่ำรวยขึ้น ภายหลังการเข้าครอบครองของเจ้าอาณานิคม พม่าก็ไม่ได้แตกต่างเมื่อครั้งที่เจ้าอาณานิคมเก่าเช่นอังกฤษเข้าครอบครองเท่าใดนัก ทรัพยากรของพม่าจำนวนไม่น้อยถูกขนถ่ายออกนอกประเทศเป็นว่าเล่น สุดท้ายยังไม่มีผู้ใดรู้แน่ชัดว่า หากคิดเป็นจำนวนเงินที่ถูกดึงออกไปจากสองฝั่งของแม่น้ำเอยาวดีแล้วเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใดต่อปีแต่ก็นั้นแหละในสิ่งที่เราไม่เคยได้รับรู้ก็มีสิ่งใหม่ให้รับเราได้รับรู้เพิ่มขึ้น ภายหลังการได้รับเอกราชจากอังกฤษ แผ่นดินริมฝั่งเอยาวดีทั้งสองฝั่ง ก็เดินทางไปสู่สนามรบอันไม่รู้จบสิ้นมาถึงปัจจุบันการปกครองภายใต้คอมแบตบนริมฝั่งเอยาวดี ไม่อนุญาตให้ผู้คนกลุ่มใดตัดเฉือนสหภาพพม่าออกเป็นสหพันธรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้คอมแบตอันทรงพลานุภาพยิ่งใหญ่ ในปี ๒๕๓๑ การลุกฮือครั้งใหญ่ของผู้คนริมฝั่งเอยาวดีจึงเกิดขึ้น การลุกฮือขึ้นในครั้งนั้นล้วนหมายยกคอมแบตออกจากการปกครองอันเป็นอยู่ยาวนาน เหตุการณ์ในครั้งนั้นจึงกลายเป็นความทรงจำอันหลากหลายให้กับผู้คนริมฝั่งเอยาวดี เรื่องเล่าจากริมฝั่งเอยาวดีในปี ๒๕๓๑ จึงเป็นเรื่องเล่าอันเต็มไปด้วยความเจ็บปวด คราบน้ำตา ภายใต้การปกครองของคอมแบต ผู้คนจำนวนมากริมฝั่งเอยาวดีที่ลุกฮือขึ้นต่อต้าน บางคนถูกจองจำ บางคนกลายเป็นศพลอยอืดในเอยาวดี บางคนสูญหายไม่เหลือร่องรอยใดไว้ให้ผู้คนได้เห็นอีก ภายหลังการลุกฮือ และมีผู้คนล้มตายในครั้งนั้นทำให้บางคนนึกถึงคำพูดของคนเฒ่าคนแก่ที่คอยย้ำเตือนลูกหลานแห่งริมฝั่งน้ำอยู่เสมอ ผู้เฒ่ารุ่นเก่าก่อนใช้แม่น้ำเอยาวดีเป็นเครื่องเตือนใจลูกหลานให้สามัคคีกันประดุจสายน้ำ เพราะแม่น้ำเอยาวดีกำเนิดเป็นแม่น้ำสายใหญ่ด้วยแม่น้ำสาขาหลายสายเช่นกันสหภาพพม่ากว้างใหญ่ได้ก็เพราะคนหลายเผ่าพันธุ์เช่นกัน แต่เรื่องเล่านี้หาได้ทะลุไปสู่หูข้างใดข้างหนึ่งของเผด็จการทหารพม่าไม่ ท้ายสุดการบุกเข้ายึดครองเพื่อกลืนความหลากหลายจึงเกิดขึ้น เมื่อเผด็จการภายใต้การปกครองของคอมแบตยึดพื้นที่หลายส่วนไว้เด็ดขาด การกอบโกยเพื่อตัวเองของเหล่านักรบสวมคอมแบตจึงเกิดขึ้น นักรบสวมคอมแบตหลายคนกลายเป็นผู้ร่ำรวย แต่ประชาชนพลเรือนริมฝั่งเอยาวดีผู้อยู่ใต้การปกครอง บางคนยังจนไม่มีแม้กระทั่งข้าวกินครบ ๓ มื้อ บางคนกลายเป็นคนพลัดถิ่นในแผ่นดินเกิดของตัวเองลุมาถึงปี ๒๕๕๐ ที่ริมฝั่งเอยาวดีมีเรื่องเล่าอันน่าสะพรึงกลัวเรื่องหนึ่งเกิดขึ้น ในสายฝนพรำของเดือนกันยายน หลังแถวของพระสงฆ์นับหมื่นเดินลงสู่ถนน เพื่อประท้วงการขึ้นค่าน้ำมัน และค่าก๊าช อันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ผู้คนได้ใช้ประโยชน์ของมันเพื่อสนองความสะดวกสบายของตัวเอง เสียงปืนที่ริมฝั่งเอยาวดีก็ดังขึ้นอีกครั้ง ในสายฝน เลือดจำนวนไม่น้อยจึงไหลรวมกับสายฝนสู่เอยาวดี ความเศร้าริมฝั่งเอยาวดีได้ถูกนำกลับมาเล่าอีกครั้ง การเล่าถึงความเศร้าในครั้งนี้คงไม่ใช่การเล่าครั้งสุดท้าย ตราบใดที่เหล่านักรบสวมคอมแบตยังคงเชิดหน้าชูคอล้อลมเหนือริมฝั่งเอยาวดี ตราบนั้นเรื่องเล่าถึงความเศร้าในการสูญเสียจากการลุกฮือขึ้นต่อต้านจะยังคงมีอยู่ไปตราบนานเท่านาน... บนโลกใบเดียวกันแผ่นดินระอุเดือดด้วยเปลวไฟในใจคนยอดดอยจึงหม่นเศร้าหลังลมหนาวแห่งสายฝนพัดเยี่ยมเยือนเสียงปืนสงบเงียบลงแล้วเหนือริมฝั่งเอยาวดีที่ล่องไหลในความงามของแผ่นดินล้วนหมุดหมายการเติบโตของมวลเมล็ดพันธุ์ในความงดงาม-เท่าเทียมของผู้คนล้วนหมุดหมายคือร้างไร้การทุบตี-เข่นฆ่าสายน้ำ และผืนดินไม่เคยแบ่งแยกผู้ใดมนุษย์ต่างหากที่สร้างกฎเกณฑ์เพื่อแบ่งแยกมนุษย์ต่างหากที่สร้างกฎเกณฑ์เพื่อทำลายล้างทิ้งอาวุธในมือแล้วปลอดปล่อยการลุกฮือของความงามในหัวใจให้ลุกโชนกลบฝังความทรงจำอันโหดร้ายด้วยดอกไม้สีขาว-จดจำเรื่องราวเหล่านั้นไว้ในใจเพื่อปลอดปล่อยให้นกพิราบเดินทางสู่สันติ..***คารวาลัยให้กับเสรีภาพเหนือริมฝั่งเอยาวดีอันดับลงภายใต้การปกครองของนักรบสวมคอมแบต
สุมาตร ภูลายยาว
อำเภอเชียงของเป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ผู้คนที่นี่ทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เรียนรู้และสืบทอดการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำของนับตั้งแต่การหาปลา เก็บสาหร่ายน้ำของหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไก” ปลูกพืชผักริมของ หรือแม้แต่การสัญจรไปมาของผู้คนแถบนี้ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของลำน้ำสายนี้ต่างก็อาศัยแม่น้ำเป็นสำคัญ ชีวิตของผู้คนที่นี่จึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับแม่น้ำของตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อลมหนาวเริ่มมาเยือนซึ่งเป็นฤดูกาลน้ำลด จิกุ่ง (แมลงชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือนจิ้งหรีดแต่ตัวสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่กว่า) เริ่มลงดอน คือ เริ่มอพยพลงไปยังดอนทรายที่โผล่พ้นน้ำตามริมน้ำของเพื่อขุดรูหลบลมหนาวและวางไข่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปถึงเดือนเมษายน นิมิตหมายแห่งการทำการเกษตรริมฝั่งของของคนทำการเกษตรริมของก็เริ่มขึ้นในระหว่างที่น้ำเริ่มลดลงเรื่อย ๆ นั้น ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำทั้งสองฝั่งก็เริ่มลงมือจับจองพื้นที่ในการปลูกพืชผักตามดอนทรายที่โผล่พ้นน้ำและริมตลิ่ง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงเหมาะแก่การทำการเกษตร เพราะเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมตลอดฤดูฝนแล้วมีการสะสมของตะกอนต่าง ๆ เช่น ซากพืช ซากสัตว์ เมื่อน้ำลด พื้นดินที่โผล่พ้นน้ำซึ่งเป็นดินร่วนปนทรายมีความร่วนซุย และอุดมไปด้วยปุ๋ยธรรมชาติ เหมาะแก่การเพาะปลูกโดยเฉพาะการพืชผักสวนครัวทำให้พืชผักริมแม่น้ำของงอกงามและโตเร็ว โดยที่ไม่ต้องใช้สารเคมีในการเพาะปลูกและดูแลรักษา การใช้ประโยชน์จากที่ดินริมของของชุมชนที่อยู่ริมน้ำ จะใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่มีการผูกขาด การยึดครองเป็นของตัวเองด้วยระบบเอกสารสิทธิ์ เพียงแต่ว่าการจะใช้ประโยชน์จากที่ดินริมน้ำที่โผล่พ้นน้ำนั้นต้องทำการบุกเบิกเอง และถ้าใครบุกเบิกที่บริเวณใด ผู้นั้นก็มีสิทธิที่ใช้ประโยชน์ และสามารถสืบทอดไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานได้ ไม่มีการซื้อขายกัน หากใครไม่มีที่ดินที่บรรพบุรุษบุกเบิกไว้ให้ก็สามารถขอแบ่งพื้นที่จากคนอื่นได้ หรือถ้าหากครอบครัวใดไม่เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่บุกเบิกซึ่งได้รับการสืบทอดกันมา คนอื่นก็สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ เพียงแต่บอกกล่าวเป็นการขออนุญาตจากคนที่เขาเคยใช้ประโยชน์มาก่อนหน้านั้น ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นการให้เกียรติและเคารพต่อกัน คนในชุมชนริมฝั่งของจะรับรู้กันโดยปริยายว่าที่ดินริมตลิ่งบริเวณไหนเป็นของครอบครัวใด โดยไม่ต้องมีเส้นแบ่งหรือเอกสารสิทธิ์ใด ๆ คงไม่แปลกนักถ้าเราจะเรียกพื้นที่เหล่านี้ว่า "พื้นที่หน้าหมู่" พื้นที่หนึ่งที่คนปลูกผักริมน้ำของได้ใช้ประโยชน์ คือ พื้นที่สันดอนทรายกลางแม่น้ำของ การทำเกษตรบนดอนทรายนี้ผู้ที่ทำต้องมีการแบ่งพื้นที่ในการทำให้แก่กันและกัน เมื่อถึงเวลาน้ำเริ่มลดลงคือในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ดอนทรายจะโผล่พ้นน้ำชาวบ้านก็จะชักชวนกันไปแบ่งที่ดิน ใครที่ได้มากและมาก่อนก็จะแบ่งพื้นที่ๆ ตัวเองได้ให้กับญาติๆ ของตัวเอง คนที่ต้องการผักจะไดกันทุกคน แต่สำหรับคนที่ไม่ได้แต่มีความต้องการที่จะทำการเพาะปลูกเมื่อน้ำลดลงมากดอนทรายโผล่ขึ้นมาอีกก็จะมีการไปจับจองในภายหลัง“การแบ่งพื้นที่ในการเพาะปลูกก็ไม่มีอะไรมาก ส่วนมากการแบ่งจะใช้การขีดเส้นลงไปบนดินหรือใช้ไม้ปักเป็นหมุดหมายเท่านั้นเอง” แม่อุ้ยแสง ธรรมวงค์ ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านหาดบ้าย ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทลื้อมีวิธีการจัดสรรที่ดินบนดอนทรายไม่แตกต่างไปจากหมู่บ้านอื่น โดยที่ยังคงยึดหลักว่าพื้นที่เหล่านี้เป็น “พื้นที่หน้าหมู่” ในการแบ่งพื้นที่นั้น ชาวบ้านมีวัฒนธรรมการแบ่งปันที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ร่วมกันของคนในชุมชน ชาวบ้านที่นี่ใช้วิธีการแบ่งพื้นที่ทำการเกษตรบนดอนทรายทุกปี โดยเมื่อน้ำลด คนที่ต้องการทำการเพาะปลูกก็มาขีดเส้นแบ่งสรรที่ดินกัน ในแต่ละปีใครที่จะทำก็จะมาร่วมกันแบ่งสรรและแผ้วถาง ไม่มีการแบ่งสรรไว้ตายตัว เมื่อถึงฤดูน้ำลดการขีดเส้นแบ่งที่ดินก็จะทำกันใหม่ทุกปีผลผลิตที่ได้จากการเพาะปลูกบนที่ดินริมของส่วนมากเป็นพืชผักสวนครัว เช่น ถั่วลิสงผักกาด คะน้า สลัด คื่นช่าย ผักบุ้ง มะเขือ ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ บริเวณเกาะแสนตอที่บ้านหาดบ้าย ชาวบ้านที่นี่นิยมปลูกถั่วลิสงและถั่วแขก ที่นิยมปลูกถั่วลิสง เพราะที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นหาดทรายกว้างขวางเหมาะสำหรับการปลูกถั่วลิสง และถั่วลิสงยังเป็นพืชที่ดูแลค่อนข้างง่าย ไม่ต้องใช้สารเคมีในการดูแลรักษา ทำให้ต้นทุนการปลูกถั่วลิสงไม่สูงนัก ผลตอบแทนที่ได้คุ้มค่ามากกว่าการปลูกอย่างอื่น ส่วนมากคนที่ปลูกถั่วลิสงบริเวณเกาะแสนตอนี้จะเป็นคนเฒ่าคนแก่ และเวลาขายผลผลิตแล้วเงินที่ได้คนแก่ก็จะเก็บเอาไว้ใช้เอง ซึ่งถือว่า หาดทรายบริเวณเกาะแสนตอที่โผล่พ้นน้ำหลังน้ำลดเป็นแหล่งสร้างรายได้อีกแห่งหนึ่งสำหรับคนแก่บ้านหาดบ้าย แม่อุ้ยแสง ธรรมวงค์ ชาวบ้านหาดบ้ายกล่าวว่า “ส่วนมากจะปลูกถั่วดินบนดอน ปลูกถั่วก็ปลูกเอาไว้กินบ้าง ขายไปบ้าง ขายก็ไม่ได้เงินมากหรอกก็พอได้ใช้ซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ที่ปลูกถั่วเพราะมันรักษาง่ายไม่ต้องใส่ยาปลูกไว้ก็รอเวลาเก็บอย่างเดียวเลย”ระหว่างที่ปลูกถั่วดูแลรักษาถอนหญ้า คนปลูกผักก็จะหาปลาไปด้วย แต่เครื่องมือหาปลาที่ใช้ในการหาปลานั้นเป็นชนิดที่หาอยู่ริมฝั่งน้ำและไม่หนักมาก เช่น ตกจ๋ำ (ยกยอ) ช้อนกุ้ง ปลาสร้อย ปลาตัวเล็ก จากร่องน้ำขนาดเล็กที่ไหลเซาะตามดอนทราย ห่างจากฝั่งไม่มากตรงน้ำตื้น หรืออยู่ริมตลิ่ง ช่วงหลังออกพรรษาเป็นต้นไป เป็นช่วงที่ปลาเล็กว่ายขึ้นมาตามลำแม่น้ำของเป็นช่วงน้ำลด ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและคนแก่จะใช้เครื่องมือหาปลาเหล่านี้ ชาวบ้านเล่าว่า “เมื่อ ๑๐ ปีก่อนด้วยวิธีการนี้สามารถหาปลาได้ประมาณ ๑๐-๒๐ กิโลกรัมในแต่ละวัน”นอกจากบริเวณบ้านหาดบ้ายแล้วที่บ้านเมืองกาญจน์ ก็ยังมีคนปลูกพืชบนดอนทรายริมฝั่งของเช่นกัน แต่พืชที่นิยมปลูกจะเป็นพืชจำพวกกะหล่ำปลี ผักกาด พืชผักสวนครัว โดยส่วนใหญ่เจาะจงปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งในแปลงเดียวกันเป็นบริเวณกว้างมากกว่าการปลูกแบบผสมผสาน โดยเฉพาะกะหล่ำปลีที่ให้ผลผลิตดีและเป็นที่ต้องการของตลาดจึงปลูกกันเป็นบริเวณกว้าง บางครัวเรือนปลูกเฉพาะกะหล่ำปลีเพียงอย่างเดียวผลผลิตที่ได้จากสวนผักริมน้ำในแถบตำบลริมของและตำบลเวียง อำเภอเชียงของส่วนหนึ่งจะถูกนำไปขายยังตลาดเช้าของเทศบาลเชียงของ และอีกส่วนหนึ่งก็จะนำมาบริโภคในครัวเรือน ซึ่งคนปลูกผักต้องตื่นตั้งแต่ตีหนึ่งนำผักออกไปวางขายที่ต้องนำผักไปขายแต่เช้าขนาดนั้น เป็นเพราะแม่ค้ารายย่อยที่มารับซื้อต้องนำผักไปขายต่อยังชุมชนต่างๆ อีกทอดหนึ่ง ซึ่งต้องให้ทันขายในตอนเช้า นอกจากแม่ค้ารายย่อยที่นำไปขายต่อแล้ว ยังมีผู้ที่ซื้อไปทำอาหารขายอีกทอดหนึ่งด้วยเช่น ร้านอาหาร โรงแรม เป็นต้น ผักบางส่วนคนปลูกผักจะนำไปขายยังตลาดเล็กๆ ในชุมชน เช่น ตลาดเย็นบ้านหาดไคร้ เป็นต้น คนปลูกผักบางส่วนได้ขายผักให้กับแม่ค้าในชุมชนที่รับซื้อตามสวนผัก ไม่ได้นำไปขายเองที่ตลาด ซึ่งแม่ค้าอาจรับซื้อผักจากคนปลูกผักหลายๆ คนรวมกันแล้วนำไปขายต่อ ในตลาดสดยามเช้ามืดของเทศบาลเชียงของจึงคราคร่ำไปด้วยพ่อค้าแม่ขายถือได้ว่า ตลาดแห่งนี้เป็นตลาดกลางสำหรับพืชผักก็ว่าได้ เพราะสินค้าที่โดดเด่นและมีปริมาณมากที่สุดในตลาดในช่วงหน้าหนาวจะเป็นสินค้าประเภทพืชผักต่างๆ โดยเฉพาะผักที่ปลูกริมของและริมแม่น้ำสาขาของแม่น้ำของ ซึ่งในปัจจุบันยังเป็นที่ต้องการของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่รับซื้อเป็นอย่างมากถึงขนาดต้องมีการจองไว้ก่อนล่วงหน้า เนื่องจากเป็นผักที่งาม มีความสดใหม่และปลอดภัยจากสารเคมีด้วยจึงเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าผักจากที่อื่นๆ แม่ไหว บุญหนักชาวบ้านหาดไคร้กล่าวว่า “ส่วนมากผักที่ปลูกก็เอาไปขายเองที่ตลาดเชียงของ แต่บางทีก็มีคนมาซื้อถึงสวน บางวันก็ขายแทบไม่ทันเพราะมีคนซื้อมาก ไม่รู้เหมือนกันว่าผักที่ตัวเองปลูกจะเป็นที่ต้องการของคนมากมาย คงเป็นเพราะผักที่ปลูกไม่ใส่ยาคนจึงมาซื้อไปกินกันมาก”เศรษฐกิจของการทำเกษตรริมของการปลูกผักริมของจึงถือว่าสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับคนชุมชนริมของได้เป็นอย่างดี รายได้ต่อวันจะอยู่ที่ประมาณ ๒๐๐ บาท หากวันไหนมีผักมากก็ขายได้ ๕๐๐ ถึง ๑,๐๐๐ บาท ส่วนแม่ค้าคนกลางที่รับซื้อผักจากคนปลูกมาขายก็ได้กำไรมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ดังเช่น แม่อุ้ยเฮือนแก้ว อายุ ๗๐ ปี ชาวบ้านวัดหลวง แม่ใหญ่จะรับซื้อถั่วลิสงและมันมาต้มขาย บวกกับพืชผลที่แม่อุ้ยปลูกเอง เช่น กล้วยที่นำมาขาย ก็สร้างรายได้ประจำให้กับแม่อุ้ยเฮือนแก้ว คนแก่ซึ่งอยู่กันสองคนกับพ่ออุ้ยไม่สามารถไปประกอบอาชีพอื่นเลี้ยงตนได้แล้วจึงอาศัยการซื้อผักและปลูกผักขายเลี้ยงชีพ การขายถั่วลิสงจะมีด้วยกัน ๒ แบบ คือ แบบที่พ่อค้าคนกลางมารับซื้อหรือมาสั่งไว้ก่อนล่วงหน้าเมื่อถึงช่วงที่เก็บถั่ว ราคาขายจะตกอยู่ที่ถังละ ๗๐ ถึง ๘๐ บาท (ราคาขายในปี ๔๖) โดยราคาขายนี้พ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดพ่อพรมมา ศักดิ์สิทธ์ชาวบ้านหาดไคร้เล่าให้ฟังว่า “ผักที่ปลูกนี้ก็ขายได้หลายบาทอยู่มันดีตรงที่เราไม่ต้องเสียค่าเช่าที่ปลูกนี้แหละจึงพอลดค่าใช้จ่ายลงได้บ้าง แต่ถ้าเสียค่าเช่าที่คงไม่มีกำไร แต่ไม่รู้เหมือนกันว่า ๓-๔ ปีข้างหน้าจะได้ปลูกหรือเปล่า เพราะเขาจะเอาที่ริมของไปทำทางเดินหมดแล้ว”แบบที่ ๒ คือคนปลูกเก็บถั่วลิสงเอาไปขายเอง บางคนอาจจะแกะเปลือกถั่วออกแล้วตากถั่วจนแห้งค่อยเอาไปขายก็มี การปลูกถั่วลิสงบนดอนทรายในแต่ละปีจึงทำรายได้ให้กับคนปลูกได้ไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาทุนที่ต้องซื้อเชื้อถัวมาปลูกแล้วก็ถือว่าคุ้มค่า แต่สำหรับคนที่มีเชื้อถั่วอยู่แล้วบางคนก็ลงทุนไม่ถึง ๑,๐๐๐ บาทก็มี รายได้ขนาดนี้ถือว่าคุ้มค่าแล้วสำหรับคนที่รู้จักการพึ่งพาแม่น้ำแบบไม่เบียดเบียนแม่น้ำ“ในปี ๒๕๔๖ เป็นต้นมาที่ดินริมน้ำของเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ เพราะคนก็อยากปลูกมากขึ้นทั้งยังมีการแปลงถนนให้คนเดินบนตลิ่งอีกด้วยที่ดินจึงน้อยลง ปีที่ผ่านมาก็ลงทุนในการปลูกผักไปหลายพันบาท ไม่ได้คิดว่าจะได้กำไรเท่าไหร่ แต่คิดเพียงว่าคงได้ทุนคืนแน่นอน” ป้าบัวจันทร์ จำปาใจชาวบ้านหาดไคร้เล่าให้ฟัง การเกษตรริมแม่น้ำของถือว่าเป็นความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงในชีวิตให้กับหลายครอบครัว ไม่ใช่เฉพาะแต่คนที่ปลูกผักเท่านั้น คนอื่นๆ ในชุมชน ทั้งคนขาย และคนซื้อผักก็ได้รับประโยชน์จากการทำการเกษตรแบบนี้ด้วย ซึ่งหากพิจารณาอย่างถ้วนถี่ก็จะพบว่ามีคนในแขนงอาชีพอื่นๆ ที่ได้ประโยชน์ด้วยไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมเช่นกันการทำเกษตรริมแม่น้ำของเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านในอำเภอเชียงของมาช้านานแล้ว แต่ ในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมาสวนผักริมน้ำของก็เริ่มหายไป เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำของเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมานั้นชาวบ้านรู้ดีว่าในฤดูแล้งโดยธรรมชาติของแม่น้ำของ น้ำจะลดลงและรักษาระดับไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงฤดูฝนในปีถัดไป เมื่อน้ำในแม่น้ำของขึ้น-ลงผิดธรรมชาติ กระแสน้ำและทิศทางน้ำก็เปลี่ยนไป ภายหลังจากมีการระเบิดเกาะแก่ง และสร้างเขื่อนในประเทศจีนก็ส่งผลให้ระบบนิเวศน์ต่างๆ ของแม่น้ำของเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทรัพยากรในแม่น้ำของที่ชาวบ้านได้เคยพึ่งพาก็ค่อยๆ ถูกทำลายหายไป เช่น ไก ปลา พืชผักธรรมชาติ และที่ดินริมตลิ่ง ในขณะที่ชาวบ้านปลูกพืชผักไว้ตามริมตลิ่ง บางแห่งตลิ่งก็พังลง เพราะตลิ่งริมแม่น้ำของนั้นเป็นดินร่วนปนทราย เมื่อตลิ่งพังพืชผักที่ปลูกไว้ก็ร่วงลงน้ำตามไปด้วย หรือบางพื้นที่ก็เกิดหาดทรายงอกขึ้นมาใหม่แทนของเก่า ซึ่งโดยเงื่อนไขทางกฎหมายในอดีตแล้ว เกาะแก่งที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้นคนไทยไม่สามารถที่จะมีสิทธิในการลงไปทำอะไรในพื้นที่นั้นได้เลย ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้ปัจจุบันนี้วิถีชีวิตและการทำมาหากินของชาวบ้านบริเวณนี้เป็นไปด้วยความอยากลำบากเป็นอย่างมาก อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การปลูกพืชผักริมของลดลงไปมากคือ มีการพัฒนาพื้นที่ริมตลิ่ง โดยเฉพาะบริเวณบ้านหาดไคร้ มีการเทคอนกรีตทับตลิ่งเพื่อสร้างถนน และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ รวมทั้งใน ๒-๓ ปีนี้กระแสน้ำของเปลี่ยนแปลง ขึ้น-ลงไม่เป็นธรรมชาติ ทำให้ตลิ่งบางแห่งทรุดตัวลงมา โครงการพัฒนาดังกล่าวยังคงดำเนินการต่อไป ไม่มีใครจะคาดเดาได้ว่า ในอนาคตจะเหลือพื้นที่สำหรับการทำเกษตรริมของอันเป็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของชุมชนริมฝั่งของอีกหรือเปล่าการปลูกพืชผักริมของในบริเวณอำเภอเชียงของปัจจุบันนี้แม้ว่าจะเหลือน้อยลงก็ตามที แต่หลายครอบครัวที่แม้ว่าที่ดินที่ตนเคยใช้ประโยชน์ได้ถูกโครงการพัฒนาเข้ามาแทนที่ ก็ยังพยายามย้ายไปบุกเบิกที่ดินริมของในที่ใหม่เพื่อเพาะปลูกสำหรับยังชีพ หลายครอบครัวย้ายมาหลายที่แล้ว เช่น ครอบครัวของ แม่อุไร ชาวบ้านหาดไคร้ ได้ย้ายที่ปลูกผักจากบริเวณหน้าสถานีตำรวจน้ำมาปลูกผักอยู่ในบริเวณถัดมาอีก และต่อไปก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องย้ายไปอีกกี่ครั้ง และที่สำคัญจะมีที่เหลือให้ย้ายไปได้อีกหรือไม่ก็ไม่รู้ หากไม่มีที่ดินตรงนี้รายได้ของหลายครอบครัวย่อมต้องขาดหายไปด้วย และแน่นอนบางคนก็ต้องดิ้นรนแสวงหาอาชีพใหม่เพื่อดิ้นรนแสวงหาช่องทางของการทำมาหากิน “ช่องทางของการทำมาหากินอย่างอื่นหากใครมีเงินทุนก็สามารถที่จะทำได้ง่าย แต่คนที่เคยหาอยู่หากินอย่างนี้มานานให้พวกเขาเปลี่ยนอาชีพไปลงทุนทำอย่างอื่นก็คงเป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะทุนมันไม่มี” แม่อุไรกล่าวเพิ่มเติม หากธรรมชาติและระบบนิเวศน์ของแม่น้ำของไม่ได้ถูกทำลายอย่างรุนแรงจากโครงการพัฒนาต่างๆ เช่นนี้แล้วคนในชุมชนริมฝั่งน้ำก็คงได้มีที่ดินในการปลูกพืชผักของตนเองต่อไป แต่ในความเป็นจริงแล้วคนที่ทำการเกษตรริมฝั่งแม่น้ำของก็ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่การพัฒนาเหล่านั้นทำอย่างไรจะทำให้เกิดประโยชน์กับผู้คนทุกคนได้มากที่สุดและการพัฒนานั้นต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย ไม่ใช่ว่าปีนี้ทำเสร็จแล้วปีหน้างบมาใหม่ก็รื้อทำกันใหม่อย่างที่เป็นอยู่ผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้กับแม่น้ำย่อมรู้จักการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเป็นอย่างดี การทำเกษตรริมของก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน แม้จะต้องเฝ้ารอให้น้ำลดลงเพื่อว่า หาดทรายจะได้โผล่พ้นน้ำ แต่การเฝ้ารอของคนริมน้ำก็เป็นการเฝ้ารอที่ไม่สูญเปล่า ในอนาคตข้างหน้าใครเล่าจะตอบได้ว่า การเฝ้ารอเพื่อทำการเกษตรของผู้คนริมฝั่งน้ำของจะคงอยู่ หรือว่าเป็นเพียงการเฝ้ารอที่สูญเปล่า ขณะที่กระแสการพัฒนาถาโถมเข้ามาสู่แม่น้ำของอย่างรวดเร็ว และมันได้กลายมาเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของผู้คนที่ทำการเกษตรริมแม่น้ำของไปเสียแล้ว บางทีในอนาคตคนริมน้ำของอาจไม่รู้จักการใช้ประโยชน์ หรืออาจไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาที่ดินริมตลิ่งของแม่น้ำของอีกก็เป็นได้ เมื่อเวลานั้นมาถึงต่อให้จิกุ่งจะลงดอนมากมายขนานไหนมันก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่า นิมิตหมายแห่งการทำการเกษตรริมของเดินทางมาถึงแล้ว